วิถีการ/ความรู้ในโลกทางสังคม

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 3155

วิถีการ/ความรู้ในโลกทางสังคม

           ในชีวิตประจำวัน การรับรู้ (perception) สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นในกระบวนการทางชีวภาพผ่านการใช้ประสาทสัมผัสของผู้คน แต่การรู้ (knowing) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการประมวลข้อมูลที่ได้จากการรับรู้จนเกิดเป็นความเข้าใจในระดับต่าง ๆ กระนั้นเอง ความเข้าใจที่เกิดขึ้นก็อาจผันแปรต่างกันไปได้ในบรรดาผู้คนซึ่งมีอัตวิสัยแตกต่างกัน ความเข้าใจที่เกิดจากการตีความสิ่งที่รับรู้ได้เหมือน ๆ กันจึงเป็นเรื่องของการประมวลข้อมูลในระดับที่ปัจจัยต่าง ๆ เข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่มีอยู่ก่อนหน้า ประสบการณ์ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม รสนิยม ความนิยมชมชอบ ตลอดจนเงื่อนไขในชีวิต กล่าวได้ว่าปัจจัยเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในกระบวนการตีความที่เกิดขึ้น การพูดถึงความรู้ (knowledge) ซึ่งเกิดจากการประมวลข้อมูลที่ซับซ้อนจึงเป็นเรื่องของมุมมองที่การรู้ของผู้คนดำรงอยู่ในโลกทางสังคม

           ในอดีตที่ผ่านมา การพิจารณาความรู้ของมนุษย์ดำรงอยู่ในอาณาบริเวณการศึกษาของวิชาปรัชญา ที่พยายามตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอุดมการณ์ความเชื่อ ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของคำกล่าวอ้าง (claim) ของข้อมูลต่อโลกภายนอกบนพื้นฐานของการรับรู้ ข้อสันนิษฐานที่จะนำไปสู่การสร้างความรู้ รวมถึงการใช้ภาษาในการประกอบสร้างคำกล่าวอ้างในฐานะที่เป็นความรู้ชุดหนึ่ง ๆ ความรู้และการรู้ในทางปรัชญาจึงเป็นการพิจารณาความรู้เชิงนามธรรมและมักลดรูปความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับทฤษฎี รวมไปถึงผู้รู้ (the knower) กับสิ่งที่ถูกรู้ (the known) (Stehr & Meja 2009) อย่างไรก็ตาม การก่อตัวขึ้นของความคิดที่ว่าความรู้เป็นสิ่งสร้างทางสังคมแบบหนึ่ง นำมาซึ่งการเติบโตของการพิจารณาผลกระทบแบบต่าง ๆ ที่ความรู้มีต่อสังคมและการทำความเข้าใจโลก การตระหนักถึงบทบาททางสังคมของความรู้จึงนำมาซึ่งการมองหาการพิจารณาความรู้ที่เชื่อมโยงกับความเป็นจริงในโลกทางสังคมมากขึ้น

***

           โดยทั่วไปแล้ว ความรู้ หมายถึงความเข้าใจหรือข้อมูลที่ถูกประมวลแล้วโดยที่บุคคลอาจได้รับผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์ หรือแม้แต่บอกต่อ ๆ กัน แต่ในทางสังคมวิทยา โรเบิร์ต เค เมอร์ตัน (Robert K. Merton) ([1945]2009) บอกว่านิยามของความรู้ถูกตีความอย่างกว้างในขอบเขตของผลผลิตทางวัฒนธรรม นอกจากความรู้จะหมายถึงข้อมูลที่ถูกประมวลในลักษณะต่าง ๆ แล้ว ความรู้เองยังหมายรวมปริมณฑลทางความคิด (ideational realm) อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา (philosophy) ทฤษฎี (theories) และกรอบความคิดต่าง ๆ (mentalities) อาทิ อุดมการณ์ หลักศีลธรรมจรรยา ความยุติธรรม รวมไปถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย (Merton [1945]2009; McCarthy 2005) สังคมวิทยาความรู้ (sociology of knowledge) จึงให้แนวทางในการทำความเข้าใจว่าปริมณฑลทางความคิดมีความสัมพันธ์เป็นการเฉพาะต่อพลังทางการเมืองและสังคมอย่างไร รวมไปถึงชีวิตทางความคิด (mental life) ของผู้คน ก่อตัวขึ้นภายในบริบทของกลุ่มหรือสถาบันทางสังคมซึ่งพวกเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างไรด้วย สาระสำคัญของสังคมวิทยาความรู้คือการอธิบายว่าความรู้สัมพันธ์กับปัจจัยและเงื่อนไขทางสังคมอย่างไร เคิร์ท วอล์ฟฟ์ (Kurt Wolff) (1953) เห็นว่าสังคมวิทยาความรู้เป็นสังคมศาสตร์ที่พยายามเข้าใจธรรมชาติทางสังคมของความคิด (social nature of mind) อย่างเป็นระบบ พร้อม ๆ กับสะท้อนและก่อรูปพัฒนาการของยุคสมัยใหม่ (modernity) กล่าวคือ ในขณะที่สังคมวิทยาโดยรวมนำเสนอมุมมองและทฤษฎีว่าที่สนทนากับบริบทและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สังคมวิทยาความรู้มุ่งชำระวิถีทางที่ผู้คนมองดูตนเองกับโลกและช่วยนิยามสถานการณ์อุบัติใหม่ ๆ

           ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ (Peter Berger) กับโทมัส ลัคแมนน์ (Thomas Luckmann) ([1966]1989) อธิบายว่าความเป็นจริง (reality) เป็นสิ่งสร้างทางสังคม ทั้งสองเห็นว่าสังคมวิทยาความรู้ต้องตระหนักว่าอะไรนำมาซึ่งความรู้ในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น คือการอธิบายว่าความรู้นำมาซึ่งการสร้างความเป็นจริงทางสังคมอย่างไร ข้อเสนอดังกล่าวกลับทิศทางคำอธิบายแต่เดิมที่ว่าความเป็นจริงเป็นตัวกำหนดความคิดทางสังคม อีกทั้งยังชี้ว่าความรู้กับความเป็นจริงดำรงอยู่ในความสัมพันธ์แบบวิภาษลักษณ์ (dialectics) นอกจากนี้ ข้อเสนอของเบอร์เกอร์และลัคแมนน์ยังขยับขยายขอบข่ายของสังคมวิทยาความรู้ไปสู่ระบบความหมาย (signifying system) ซึ่งรูปแบบและการสื่อสารผ่านการผลิตซ้ำระเบียบทางสังคม (social order) มีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นจริงทางสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม คลิฟฟอร์ด เกียร์ทซ์ (Clifford Geertz) ([1994]2014) วิจารณ์ว่า แนวทางดังกล่าวของสังคมวิทยาความรู้หลบอยู่ในข้อสันนิษฐานที่ไม่นำไปสู่ความเข้าใจความรู้ในมิติทางวัฒนธรรม เขาเห็นว่าการศึกษาความรู้ไม่ใช่เรื่องของการค้นหากฎเกณฑ์ แต่เป็นเรื่องของการค้นหาความหมายซึ่งต้องอาศัยการตีความด้วย

***

           ท่ามกลางสังคมศาสตร์ทั้งหลายที่ถือกำเนิดขึ้นในรอบสองศตวรรษที่ผ่านมา มานุษยวิทยาอาจเป็นศาสตร์เดียวที่ยังคงครุ่นคิดถึงคำจำกัดความของสิ่งที่ตนเองศึกษา (Descola 2005) นิยามที่ไม่จำกัดของมนุษย์นำมาซึ่งการพูดถึงความรู้ในทางมานุษยวิทยาซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางความรู้มากมายเกี่ยวกับคนอื่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การพิจารณาความรู้ดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างของสังคมชนเผ่าและสังคมที่พัฒนาแล้ว อาทิ การตั้งคำถามกับการรู้ กระบวนการ และความเป็นสากลของมนุษย์ กล่าวคือสังคมชนเผ่าต่าง ๆ มีความสามารถเชิงตรรกะและสำนึกรู้เช่นเดียวกับผู้คนที่พัฒนาแล้วหรือไม่ ความรู้ของคนเหล่านี้ทำงานต่างกันหรือไม่และอย่างไร (Frazer 1992) ลูเซียน เลวี-บรูห์ล (Lucien Levy-Bruhl) (1910) อธิบายว่าสังคมชนเผ่ามีความสามารถเชิงตรรกะและสำนึกรู้ไม่ต่างไปจากผู้คนในสังคมที่พัฒนาแล้ว หากแต่พวกเขามีการประยุกต์ใช้ที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ พอล ราดิน (Paul Radin) ([1927]2002) แย้งว่าคนเหล่านี้มีความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่ไม่อาจพบได้ในสังคมที่พัฒนาแล้ว แนวทางอย่างหลังชี้ให้เห็นข้อโต้แย้งแบบสัมพัทธนิยมแทนที่จะเป็นมุมมองแบบวิวัฒนาการซึ่งเสื่อมความนิยมลง

           การศึกษาความรู้ในมานุษยวิทยาพัฒนามาจากแนวคิดของมานุษยวิทยาปรัชญา (philosophical anthropology) ซึ่งเห็นว่าความรู้ควรก้าวพ้นไปกว่าวิธีคิดเรื่องคู่ตรงข้ามแบบคาร์ทีเซียน (Cartesian opposition) เมื่อจิตหรือความคิดไม่อาจแยกออกจากร่างกาย ความรู้ของมนุษย์จึงไม่อาจแยกจากเงื่อนไขของโลกภายนอก ในบทสนทนาระหว่างเกียร์ทซ์กับฟรีดริก บาร์ธ (Fredrik Barth) เขาเห็นว่าความรู้และบทบาทของความรู้ในทัศนะของบาร์ธดูเหมือนจะไม่สามารถแยกออกจากสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมได้ (Barth 2002) กล่าวคือความรู้เป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยให้ผู้คนจัดการกับวัตถุรอบ ๆ ตัว บนสมมติฐานและปฏิบัติการแบบต่าง ๆ ในขณะที่วัฒนธรรมเองก็เป็นสิ่งที่โอบอุ้มสมมติฐานและปฏิบัติการเหล่านั้นเอาไว้ การพิจารณาความรู้จึงไม่ควรมองแบบวัตถุวิสัย ในทำนองว่ามีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้อยู่อย่างนั้นอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องพิจารณาถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้อย่างเป็นอัตวิสัยด้วย เคิร์สเตน ฮาสท์รัป (Kursten Hastrup) (2004) บอกว่า ในการทำงานภาคสนาม หากนักมานุษยวิทยาได้ความรู้มาจากการใช้ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็วางอยู่บนกระบวนการที่ข้อเท็จจริงต่าง ๆ จะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่แรก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้จึงถูกบิดกลับ (bend back) ไปสู่การรับรู้ถึงสิ่งที่ถูกรู้และถูกทำให้คงรูปไว้โดยการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณนา

           สำหรับมานุษยวิทยาแล้ว ความรู้ถูกสร้างขึ้นจากข้อค้นพบในการทำงานภาคสนามทางชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งมีแนวคิดทฤษฎีเป็นพื้นหลัง ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) (2013) เห็นว่างานเขียนทางชาติพันธุ์วรรณนาซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานภาคสนาม และเนื้อหาของมานุษยวิทยาเป็นหนทางที่ขัดแย้งต่อกันในวิถีของการรู้ กล่าวคืองานเขียนทางชาติพันธุ์วรรณนาได้สร้างพื้นที่ปลายเปิดสำหรับการเปรียบเทียบและการวิพากษ์ ในขณะที่เนื้อหาของมานุษยวิทยาเป็นการแปลงข้อมูลจากการทำงานภาคสนามไปสู้ข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อที่จะยกระดับการวิเคราะห์ในทางทฤษฎี ความเข้าใจดังกล่าวมีส่วนในการเปิดบทสนทนาว่าสนามที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำงาน ตอบสนองต่อการสร้างความรู้อย่างไร

***

           โยฮันเนส ฟาเบียน (Johannes Fabian) (2012) บอกว่าจากประสบการณ์ของเขา มานุษยวิทยาไม่ต่างไปจากงานเลี้ยงเครื่องแต่งกายขนาดมหึมา (gargantuan costume party) กล่าวคือ ความมหึมาสื่อถึงความกระหายใคร่รู้ในขอบข่ายของประเด็นอันกว้างใหญ่ เครื่องแต่งกายสื่อถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะหลายอย่างที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปแฝงตัว ในขณะที่งานเลี้ยงสื่อถึงความตื่นเต้นและสนุกสนานที่นักมานุษยวิทยาได้ล่วงรู้หรือพยายามแสวงหาความรู้ งานเลี้ยงนี้ดำเนินไปด้วยการพูดคุยถกเถียงระหว่างความรู้แบบหน้าที่นิยม โครงสร้างนิยม สัมพัทธนิยม วัตถุนิยม ตลอดจนมาร์กซิสต์ คำอธิบายและการตีความดำเนินไปอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งคำถามต่อความรู้ถูกเอื้อนเอ่ยและนำไปสู่การวิพากษ์ญาณวิทยาโดยแขกที่ไม่ได้รับเชิญ

           ในขณะที่เกียร์ทซ์ (1988) เห็นว่าคำถามเชิงญาณวิทยาที่ว่า คุณรู้ได้อย่างไรว่าคุณรู้ ไม่ใช่คำถามที่นักมานุษยวิทยาคุ้นเคย อะไรคือหลักฐาน มันถูกรวบรวมขึ้นอย่างไร หลักฐานแต่ละชิ้นแสดงให้เห็นอะไร ฟาเบียน (2012) ถามว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับวิธีการที่พวกเขารู้ว่าเขารู้ ความรู้คืออะไร เป็นของใคร และการกล่าวอ้างว่ารู้หมายถึงอะไร การพิจารณาความรู้มีอยู่หลายแนวทางตั้งแต่สภาวะ (state) ปฏิบัติการ (practice) และสิ่งที่สามารถถือครองเป็นเจ้าของได้ (possession) อย่างไรก็ตาม มุมมองแต่ละแบบชี้ให้เห็นข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป เพราะไม่มีความรู้ใดที่บางคนสามารถรู้ได้เพียงคนเดียว ความรู้จึงมีลักษณะเป็นปรากฏการณ์ซึ่งทุกคนมีโอกาสหรือสามารถรู้ได้ เผยแพร่ได้ และปกปิดได้ ในทางมานุษยวิทยา วิถีแห่งการรู้เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับประสบการณ์ในการทำงานภาคสนามเพื่อเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากโลกของคนอื่น สำหรับมานุษยวิทยา ความรู้จึงเป็นเรื่องราวของคนอื่นผ่านการรู้และเข้าใจโลกทัศน์ที่แตกต่างออกไป นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่เห็นว่าความรู้คือความเป็นจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นผ่านการรู้ อย่างไรก็ตาม ในการรู้บนข้อมูลหลักฐานที่เป็นวัตถุวิสัยในการนำมาใช้อธิบาย การตีความข้อมูลที่มียังคงดำเนินไปผ่านการประมวลผลและการตีความโดยอัตวิสัยแบบต่าง ๆ ความรู้จึงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากข้อมูลหลักฐาน แต่ยังอยู่ในการรวบรวม เรียบเรียง และข้อจำกัดต่าง ๆ ของการรู้ด้วย

 

รายการอ้างอิง

Barth, F. (2002). An Anthropology of Knowledge. Current Anthropology, 43(1), 1-18.

Berger, P. & Luckmann, T. ([1966]1989). The Social Construction of Reality: A Treatise in the Sociology of Knowledge. New York: Anchor Books.

Descola, P. (2005). On Anthropological Knowledge. Social Anthropology, 13(1), 65-73.

Fabian, J. (2012). Cultural Anthropology and the Question of Knowledge. Journal of the Royal Anthropological Institute, 18(2), 439-453.

Frazer, J. G. (1922). The Golden Bough. Palgrave Macmillan UK.

Geertz, C. (1988). Works and Lives: The Anthropologist as Author. California: Stanford University Press.

Geertz, C. ([1994]2014). Ideology as a Cultural System. In Ideology. Routledge.

Josephides, L. (2020). The Ethics of Knowledge Creation: Anthropological Perspectives. Journal of Knowledge Structures & Systems. 1(1), 98-116.

Levy-Bruhl, L. (1910). How Natives Think. New York: Routledge.

McCarthy, E. D. (2005). Knowledge as Culture: The New Sociology of Knowledge. New York: Routledge.

Radin, P. (2002). Primitive Man as Philosopher. Courier Corporation.

Stehr, N. & Meja, V. (2009). Introduction: The Development of Sociology of Knowledge and Science. In Society and Knowledge: Contemporary Perspectives in the Sociology of Knowledge and Science. Transaction Publishers.

Wolff, K. H. ([1953]1974). A Preliminary Inquiry into the Sociology of Knowledge from the Standpoint of the Study of Man. In K. H. Wolff (Ed.), Trying Sociology. New York: Wiley.

Merton, R. K. ([1945]2009). Sociology of Knowledge. In Society and Knowledge: Contemporary Perspectives in the Sociology of Knowledge and Science. Transaction Publishers.


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ วิถีการ ความรู้ โลกทางสังคม วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา