ข้ามพรมแดนความรู้ด้วยมุมมองข้ามศาสตร์ผ่านเลนส์ “ทฤษฎีเครือข่าย – ผู้กระทำการ (Actors - Network Theory)”

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2680

ข้ามพรมแดนความรู้ด้วยมุมมองข้ามศาสตร์ผ่านเลนส์ “ทฤษฎีเครือข่าย – ผู้กระทำการ (Actors - Network Theory)”


 

           เมื่อพูดถึง “ศาสตร์ ” หรือองค์ความรู้ที่มนุษย์เราเล่าเรียน ค้นคว้าวิจัย เส้นแบ่งที่เราพบตั้งแต่การเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาคือการแยกองค์ความรู้ต่าง ๆ เป็นสองขั้ว คือฝั่งของวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ยิ่งก้าวขึ้นไปในวงการการศึกษาระดับสูงเท่าไหร่เส้นแบ่งของทั้งสองศาสตร์ก็ยิ่งถูกลากให้ชัดเจนขึ้นจนคล้ายเป็นเรื่องของน้ำคลองกับน้ำทะเลที่ไม่มีความเชื่อมโยงหรือไม่อาจมาบรรจบกัน ตัวอย่างเชิงประจักษ์ของคำกล่าวนี้พบเห็นได้ไม่ยากเย็นเช่น ในระบบการศึกษาภาคบังคับของไทยที่นักเรียนจะต้องเลือกทางเดินในการเรียนของตนเองให้ชัดเจนในช่วงมัธยมว่าจะเป็นนักเรียนในสายวิทยาศาสตร์ หรือสายศิลป์ ซึ่งคำว่า “สายศิลป์” นี้หมายรวมเอาว่าหมายถึงทุกศาสตร์สาขาวิชาที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์กลุ่มคณิต ฟิสิกส์ เคมี และชีวะ อาทิ วิชาสายภาษาต่างประเทศ วิชาศิลปะหรือดนตรี เป็นต้น หลังกระบวนการเลือกสายในชั้นเรียน นักเรียน นักศึกษา ก็ถูกนำเข้าสู่ระบบการผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ศึกษาแบบเจาะลึกลงไปเรื่อย ๆ แต่แน่นอนว่าเมื่อให้ความสำคัญกับความลุ่มลึกอย่างเฉพาะทางกับศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง กระบวนการมองโลกและปัญหาต่าง ๆ ย่อมถูกจำกัดลงด้วย คล้ายการใช้แว่นขยายกำลังสูงที่เห็นชัดเจนละเอียดมากในจุดที่โฟกัสกลางเลนส์ แต่ภาพโดยรวมก็ถูกมองข้ามหรือทำให้พร่าเลือนไปโดยปริยาย

           เมื่อรูปแบบการเล่าเรียนตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำกล่อมเกลากระบวนทัศน์มาว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นฝั่งตรงข้ามกันทำให้รูปแบบการเรียนรู้ จนถึงวิธีการทำงานในสังคมของผู้คนถูกแยกขั้วออกจากกันมากขึ้น จนส่งผลต่อกระบวนการพัฒนา การแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมให้ถูกจัดการแบบแยกส่วน (Scattering) ที่แก้ปัญหาได้เป็นหย่อม ๆ แต่ไม่อาจมองหาทางออกที่อธิบายถึงภาพรวมของทั้งระบบได้ ตัวอย่างคลาสสิคปรากฏในงานศึกษากลุ่มสำนักคิดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฝั่งยุโรป (Science and Technology Studies: STS) ที่มีคำถามตั้งต้นว่า เพราะเหตุใดเมื่อเกิดนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ทดลองในห้องแลปแล้วว่าได้ผลสูงอย่างยาปฏิชีวนะ เมื่อนำมาใช้รักษาโรคในคนในบริบทชีวิตประจำวันแล้วกลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร นักคิดกลุ่มนี้พยายามไขปริศนาดังกล่าวด้วยการแกะรอยตั้งแต่ต้นทางในห้องแลปที่ผลิตยา ไปสู่กระบวนการบริโภคยาในระดับบุคคล พิจารณาปัจจัยแวดล้อมระดับครัวเรือน จนถึงระดับสังคมก็พบว่า แม้ตัวยาจะไม่ได้มีภาวะเสื่อมสภาพลงด้วยตัวของมันเอง แต่เมื่อผู้ใช้ยาขาดความเข้าใจถึงกรรมวิธีการใช้ หรือมีรูปแบบความเชื่อ การใช้ชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อให้ยาจะถูกผลิตมาดีแค่ไหนก็ไม่อาจแก้ปัญหาโรคภัยได้โดยลำพัง เช่น เมื่อเราต้องทานยาปฏิชีวนะ ตามหลักการแพทย์เราต้องทานยาให้ตรงเวลา และทานต่อเนื่องจนกว่าจะครบจำนวนที่หมอสั่ง (Dose) เพื่อให้เชื้อถูกกำจัดออกจากระบบต่าง ๆ ในร่างกายอย่างหมดจด และไม่กลับมาดื้อยาอีก นอกจากนี้เมื่อทานยาแล้วในรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันก็ต้องลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยง อย่างการทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค จึงจะสามารถแก้ปัญหาตัดวงจรโรคระบาดที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวได้ข้อสรุปจากการสังเกตุนี้ก็กลายเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดใหม่ที่มองว่าแท้จริงแล้ว ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์นั้นล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้นในระนาบปฏิบัติการทางสังคมไม่อาจแยกขาดจากกัน

           แนวคิดนี้ภายหลังพัฒนาเป็นกรอบทฤษฎีที่เรียกว่า เครือข่ายผู้กระการ (Actor-Network Theory: ANT) อันกลายเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของสำนักคิดข้ามศาสตร์ และเริ่มมีการศึกษาอย่างแพร่หลายในงานศึกษาวิจัยทางสังคมวิทยาในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ในปี ค.ศ. 1980 ภายใต้การพัฒนาของนักคิดสำนักศึกษาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (STS) ชื่อดังในฝรั่งเศส 3 คนได้แก่ Bruno Latour, Michel Callon และ John Law โดยคำถามตั้งต้นของนักคิดกลุ่มนี้คือ เพราะเหตุใดประสิทธิภาพของการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในสังคมจึงแตกต่างกัน เพราะเหตุใดการค้นพบเทคโนโลยีบางเรื่องสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนได้เป็นวงกว้าง ในขณะที่บางเรื่องกลับล้มเหลวและถูกปฏิเสธจากสังคมนั้น ๆ ข้อสรุปของการศึกษานี้พบว่า เทคโนโลยีนั้นจะสามารถส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อถูกผนวกเข้ากับเครือข่ายเดิมของสังคมก่อน ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวหมายถึงทั้งตัวมนุษย์เอง ความเชื่อ สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในบริบทของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมนั้น ๆ จึงจะสามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างราบรื่น เช่น การค้นพบวัคซีน หากผู้ค้นพบไม่ได้รับความรู้จากองค์ความรู้เดิมที่มีผู้ศึกษาทดลองไว้ก็ไม่อาจพัฒนาวิจัยได้ ผ่านการวิจัย การทำงานกับเพื่อนร่วมงาน การสนับสนุนของสถาบันในสังคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐบาลที่สนับสนุนให้ทุนวิจัย และเปิดช่องทางให้มีการทดลองในสัตว์หรือกลุ่มชุมชนผู้เป็นอาสาสมัคร วัคซีนจึงได้ถูกค้นพบ หลังการค้นพบองค์ความรู้เรื่องวัคซีนก็ไม่อาจใช้ได้หากนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแปรสารเรื่องคุณประโยชน์ของวัคซีนในการป้องกันโรคให้กับสมาชิกในสังคมเข้าใจและยอมรับ วัคซีนย่อมไม่เกิดการใช้อย่างแพร่หลายและไม่อาจสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมได้ เป็นต้น แต่เมื่อวัคซีนเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย โรคร้ายหลายโรคถูกยับยั้งป้องกัน ภายใต้กระบวนการนำวัคซีนมาใช้สอยนี้ เกิดการสร้างความหมายใหม่ภายในเครือข่ายที่ได้ผนวกเอาวัคซีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายดั้งเดิมในสังคม กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายรองรับให้วัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขแห่งชาติที่ประชากรแต่ละช่วงวัยต้องได้รับย่อมก่อให้เกิดการรู้สึกยอมรับ เชื่อถือในความปลอดภัยของวัคซีนในสังคมนั้น ต่อมาเมื่อมีการใช้อย่างแพร่หลายโรคร้ายแรงที่เคยเป็นภัยคุกคาม หรือมองว่าเป็นต้นทางแห่งความตายของผู้คนในสังคมก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นโรคร้ายแรงต่อมนุษย์อีกต่อไป ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้การดำรงอยู่ของวัคซีนได้สร้างความหมายใหม่ให้กับโรคนั้น ๆ และเปลี่ยนวิถีปฏิบัติในการใช้ชีวิตต่อไปของผู้คน (Latour, 1996)

           จากงานนี้จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นวัตกรรม จะต้องเผชิญกับกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้น ถ้าจะประสบความสำเร็จ ผู้กระทำการทางเทคโนโลยี หรือผู้นำนวัตกรรม (Change Maker) ทั้งหลายจะต้องสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงเป็นระบบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องทั้งกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Non-Human) และมนุษย์ในสังคม (Human) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เทคโนโลยีใหม่หรือวัตถุที่สร้างขึ้นนั้นต้องปฏิสัมพันธ์ ปรับตัวเข้ากับเครือข่าย-ผู้กระทำการดั้งเดิมในระบบสังคมได้อย่างเหมาะสมก่อน จึงจะกลายเป็นจุดของผู้กระทำการ (Node) ใหม่ในระบบเครือข่ายนั้นได้อย่างเต็มที่ ความหมายของวัตถุ นวัตกรรมใดใดจึงไม่อาจอธิบายได้โดยปราศจากบริบทของความสัมพันธ์ทางสังคม (McMullin, 2019 ) ในมิตินี้อาจสรุปได้ว่า ANT ไม่แยกเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัตถุออกจากบริบทของสังคม และสังคมก็ถูกประกอบสร้างไปด้วยเครือข่ายของความรู้ เทคโนโลยี ดังนั้นการจะอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมให้ถ่องแท้จึงควรเลี่ยงการตัดตอนพิจารณาแยกส่วนเพียงแค่มิติทางสังคม (Social Determinism) หรือ วิเคราะห์เพียงแค่วัตถุ นวัตกรรมโดยลำพัง (Technological Determinism)

           การนำเอาแนวคิด ANT มาใช้ในฐานะกรอบทฤษฎีวิจัยส่งผลต่อกระบวนการศึกษาทางสังคมศาสตร์ใน 2 ประการหลัก คือ เป็นการละลายเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ธรรมชาติ กับศาสตร์ด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา ด้วยการพิจารณาศาสตร์ทั้ง 2 ร่วมกันไม่แยกขาดจากกัน ประการที่สอง คือ แนวคิดนี้เปิดพื้นที่ในการวิเคราะห์ให้กับผู้กระทำการที่ไม่ใช่มนุษย์ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าทุกสิ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่ลื่นไหล มีการแลกเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ (Simandan, 2017) โดยภายใต้เครือข่ายนั้น ๆ ตัวแสดงไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือไม่ใช่มนุษย์ อาทิ อุดมการณ์ นวัตกรรม หรือในกรณีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เช่น สะพานข้ามแดน โครงข่ายระบบโทรคมนาคม ระบบการขนส่งคมนาคม เหล่านี้ต่างก็มีแรงกระทำต่อตัวแสดงอื่น ๆ ในระบบความสัมพันธ์ที่มีการแลกเปลี่ยน และประกอบสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ มนุษย์ในระบบความสัมพันธ์นี้มิได้รับหน้าที่เป็นผู้กระทำ หรือผู้กำหนดความหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้รับอิทธิพลจากผู้กระทำการที่ไม่ใช่มนุษย์ แล้วประมวลผลแปลความออกมาเป็นการกระทำรูปแบบต่าง ๆ เพราะเหตุนี้ Latour จึงได้บัญญัติศัพท์ใหม่ ขึ้นมาแทนคำว่า Actor ที่โดยทั่วไปมีนัยยะสื่อถึงเพียงผู้กระทำการที่เป็นมนุษย์ คือคำว่า Actant (Latour, 2005) ถือเป็นแนวคิดที่นำเสนอภววิทยาแบบใหม่ให้กับวงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นภววิทยาแบบที่ไม่ได้ให้ความพิเศษกับมนุษย์เหนือสิ่งอื่นในสังคม ปฏิเสธการจัดลำดับขั้นของการวิเคราะห์ศึกษาแบบดั้งเดิมที่เชื่อว่ามนุษย์คือที่มาของการเปลี่ยนแปลงและกำหนดพฤติกรรมทางสังคมที่ทรงพลังที่สุดอยู่ชั้นบนสุดของพีระมิด ในกระบวนการศึกษา ANT นำเสนอการศึกษาแนวราบ (Flat Ontology) ที่เปิดความเป็นไปได้ของทุกตัวแสดงในระบบเครือข่าย

           ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการตามแนวทาง ของ Bruno Latour ที่ทำให้แนวคิดนี้มีความแตกต่างออกไปจากกลุ่มทฤษฎีดั้งเดิม (Classical Theories) ที่มุ่งพัฒนากรอบการวิเคราะห์ที่มีหลักเกณฑ์ รายละเอียดแบบตายตัว (Fix or Solid Frame) ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ผ่านการศึกษาเส้นทางของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำการทั้งหลายในสังคมระดับปฏิบัติการ (Practical Process) ไม่ยึดกรอบตายตัวของนิยาม หรือทฤษฎีว่าเครือข่ายต้องมีรูปร่าง บทบาท หรือองค์ประกอบแบบใดที่เฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นกรอบที่ลื่นไหล (Moving Frame) ที่มองปรากฏการณ์จริงในพื้นที่ก่อนจะมองหาชุดคำอธิบาย ผ่านระบบปฏิสัมพันธ์ในประเด็นนั้น ๆ ดังปรากฏในงานของ Robert D. Putnam ที่ได้เรียกกรอบแนวคิดนี้ว่าเป็นกรอบที่ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ กระบวนการเชิงปฏิบัติ (Practical Enlightenment) (Fenwick, 2018) ก่อนจะนำมาถอดรหัส หรือแปลความ กระบวนการสร้างความหมายที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ ให้ความสนใจกับการวิเคราะห์คู่ความสัมพันธ์ที่ดำเนินการภายในปรากฏการณ์ จนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นสังคมวิทยาของการคบค้าสมาคม (Sociology of Association) อันเป็นการพิจารณาสังคมตามความหมายดั้งเดิมของรากศัพท์ภาษาละตินที่คำว่า Socio หมายถึง ร่องรอยแห่งการเชื่อมโยง หรือหลักฐานแห่งการสมาคม (Latour, 2005)

           ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้ทฤษฎีนี้น่าจับตามองในฐานะกรอบการศึกษาวิจัยในปัจจุบันคือความท้าทายเชิงทฤษฎี เนื่องจากสมมติฐานหลักของแนวคิด ANT ได้ขยายขอบเขตการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดที่นำพาผู้ศึกษาก้าวข้ามข้อจำกัดของกรอบการมองปรากฏการณ์แบบแยกพิจารณาระหว่างโครงสร้าง และตัวแสดง (Structure and Agency) อันเป็นแนวทางดั้งเดิมของกรอบแนวคิดทางสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งที่มุ่งศึกษาวัตถุ โครงสร้าง หรือปรากฏการณ์แบบแยกส่วน ที่เน้นการสร้างคำอธิบายด้วยการจัดหมวดหมู่ คล้ายการตัดชิ้นส่วนของปรากฏการณ์ไปศึกษาแยกเดี่ยวขาดออกจากบริบททางสังคมอื่น ๆ ซึ่งหากพิจารณาตามหลักที่กล่าวมาแล้วนี้จะขัดกับหลักการรากฐานของสำนักพัฒนศาสตร์ที่ยึดมั่นในทฤษฎีระบบ (System Theory) อันเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกัน มีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างเป็นชุดระบบ

           ในแง่นี้ ANT จึงถือว่าเป็นแนวคิดที่มีความสอดคล้องกับจริตการศึกษาทางการพัฒนาในบริบทสังคม (Development Sciences) และการวิเคราะห์นโยบายไล่เรียงไปตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับโลก (Policy Studies) เนื่องจากแนวคิดเครือข่าย-ผู้กระทำการมิได้มุ่งสร้างคำอธิบายวัตถุใดภายใต้บริบทของตัววัตถุนั้นโดยลำพัง (Puritan) แต่วางสมมติฐานการศึกษาไว้ที่ความยึดโยงกันของทุกสิ่งในเครือข่ายความสัมพันธ์ โดยเชื่อว่าวัตถุ หรือผู้กระทำการนั้นสามารถเป็นแรงผลักดัน หรือส่งผลให้เกิดการกระทำ ความเปลี่ยนแปลงในแต่ละจุดของเครือข่ายความสัมพันธ์ (Node)ได้ ทั้งนี้แต่ละตัวกระทำการไม่ว่าจะเป็นบุคคล สถาบัน สิ่งของ ต่างก็ถูกพิจารณาในฐานะที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการเป็นผู้กระทำการต่อระบบอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น

           ในนัยยะหนึ่ง ANT เป็นเสมือนแผนที่ความสัมพันธ์ที่กระบวนการสร้างความหมาย และการปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นในแต่ละจุดของเครือข่าย ซึ่งจุดนั้นสามารถเป็นได้ทั้งมนุษย์ แนวคิด หรือ สิ่งของ (Material- Semiotic Relations) และไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ (Macro Level) อย่างนโยบายรัฐ ราคาน้ำมันในตลาดโลก หรือระดับจุลภาค (Micro Level) อย่างสิ่งของส่วนตัวเช่น รถยนต์ หรืออาหารที่บริโภคในครัวเรือนก็ไม่ได้ถูกแบ่งแยกพิจารณาแบบต่างระนาบ (Hierarchy) ไม่มีความสัมพันธ์แบบบนลงล่าง (Top-Down) หรือล่างขึ้นบน (Bottom-Up) แบบทิศทางตายตัว มีเพียงความเข้มข้นของปฏิสัมพันธ์ที่สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญในการพิจารณารูปแบบปรากฏการณ์ผ่านวิธีการเช่นนี้ (Olsen , 1996) หน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ของการวิเคราะห์ตามแนวคิดเครือข่าย-ผู้กระทำการ คือ เครือข่าย (Network) เนื่องจากวัตถุประสงค์พื้นฐานของทฤษฎีคือ การมุ่งอธิบายการก่อตัวและยืนระยะดำรงสภาพอยู่ (Enduring) ของชุดเครือข่ายความสัมพันธ์และกระบวนการที่เครือข่ายนั้น ๆ สร้างความหมาย ดำรงอยู่ และดำเนินกิจกรรมไปจนบรรลุเป้าหมายเฉพาะของเครือข่ายได้ (Carrol, 2012) ผ่านกรอบการวิเคราะห์ เช่นนี้จะทำให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจถึงกลไกและปัจจัยที่ประกอบขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม

           ทั้งนี้ในงานชิ้นสำคัญของ Latour (2007) ได้ย้ำว่าในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยแนวคิด ANT นั้นผู้เลือกใช้จำเป็นต้องตระหนักถึงการตีความตามความหมายใหม่ของ 3 สิ่งสำคัญที่มักถูกใช้ประกอบการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมนั่นคือ

           1. ความหมายของความใกล้และไกล (Far - Close): โดยปกติแล้วคำทั้งคู่นี้มักถูกใช้ในความหมายของการวัดระยะทางเชิงกายภาพ อย่างความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ หรือตำแหน่งที่ตั้ง (Location Proximity) แต่ในบริบทการศึกษาของ ANT นั้นความไกลหรือใกล้ไม่ได้ถูกวัดหรือกำหนดโดยระยะทางในความหมายดังกล่าว หากแต่ถูกพิจารณาผ่านร่องรอยของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำการ และความเชื่อมโยงผ่านการร่วมสร้างความหมาย กล่าวโดยสรุปก็คือ ระยะทางในเครือข่าย-ผู้กระทำการนั้นเป็นการวิเคราะห์ให้ความหมายในมิติของการเกี่ยวพันทางสังคม (Association) แทนที่ความหมายด้านระยะทางเชิงกายภาพ (Real Space) นั่นเอง

           ตัวอย่างวิธีการพิจารณาอย่างไม่ซับซ้อนนัก อาทิ นาย A ยืนอยู่ใกล้กับนาย B บนรถไฟใต้ดินในระยะห่าง 10 เมตร ในขณะที่อยู่ห่างจากนาย C ไปถึง 500 กิโลเมตร หากพิจารณาตามความหมายทั่วไปที่เข้าใจกันอาจกล่าวได้ว่า A ใกล้กับ B โดยมีตัวชี้วัดคือระยะทางเชิงประจักษ์ แต่หากพิจารณาต่อตามเส้นทางของการปฏิสัมพันธ์ จะพบว่า A กับ B แค่บังเอิญมาพบกันระหว่างทางไปทำงานไม่ได้มีการทักทาย พูดคุย ในขณะที่ A กับ C นั้นเป็นเพื่อนร่วมงานที่กำลังติดต่อเจรจาทำโครงการร่วมกัน ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอมาเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือน โดยทั้งคู่กำลังร่วมกันร่างข้อตกลงทำสัญญาเงินกู้สำหรับพนักงานในบริษัท ในแง่นี้หากมองผ่านกรอบของ ANT จะกล่าวได้ว่า A มีความใกล้กับ C มากกว่า B เพราะมีการติดต่อ แลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างกัน อีกทั้งยังมีการกำหนดความหมายใหม่ในกระบวนการแลกเปลี่ยนคุณค่าร่วมกันด้วย

           2. ขนาดและระนาบของผู้กระทำการไม่ได้เป็นตัวควบคุมระดับอิทธิพล หรือทิศทางภายในเครือข่ายความสัมพันธ์ (Small-Large Scale): ในกระบวนการศึกษาทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อาจคุ้นเคยกับคำว่า มหภาคและจุลภาค ที่บ่อยครั้งถูกยกมาใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งระดับชั้นประกอบการศึกษา เช่น การแบ่งระดับตัวแสดงทางการเมืองออกเป็นระดับชาติ ระดับท้องถิ่น การแบ่งระดับสั่งการหรือลำดับการวิเคราะห์เชิงนโยบายออกเป็นระดับชั้นจากโครงสร้างทางสังคมส่วนบนลงล่าง (Top - Down) หรือ จากล่างขึ้นบน (Bottom - Up) เป็นการจัดลำดับความสำคัญ (Priori - Order Relation) แต่ในการศึกษาผ่านกรอบ ANT นั้นตัวแสดงทุกตัวถูกวางไว้ในระนาบเดียวกันบนเครือข่าย และมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันได้แบบรอบด้าน ไม่มีระดับ (Hierarchy) ที่ควบคุมทิศทางการปฏิสัมพันธ์แบบทิศทางเดียวเช่น ความเชื่อที่ว่าหน่วยงานระดับรัฐมีอิทธิพลต่อท้องถิ่นด้วยระบบลำดับชั้นการปกครองและไม่มีทางที่หน่วยงานระดับท้องถิ่นจะส่งอิทธิพลกำหนดพฤติกรรมรัฐบาลได้ ในเครือข่าย ANT หน่วยงานระดับรัฐและท้องถิ่นต่างมีอำนาจยึดโยงระหว่างกัน ตัวกำหนดอิทธิพลของผู้กระทำการในเครือข่ายคือความเข้มข้น และมิติของความยึดโยงกันระหว่างตัวแสดงนั้น ๆ กับตัวแสดงอื่น ๆ ในเครือข่าย แม้วิธีคิดเช่นนี้จะถูกวิพากษ์ว่าทำให้กรอบการศึกษาไร้ระเบียบ ขาดการจัดลำดับความสำคัญ (Law and Hassard, 1999) แต่ในขณะเดียวกันนี่คือการสลายกำแพงของกรอบการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมที่จะช่วยอธิบายความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจที่ลักลั่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ของการปะทะกันระหว่างท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) กับ โลกาภิวัตน์ (Globalization) ในชุมชนท้องถิ่น ปรากฏการณ์การต่อต้านขัดขืนของคนชายขอบที่อาศัยความเป็นสากลมาเปลี่ยนค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคมดั้งเดิมเช่น กลุ่ม LGBT ในสังคมมุสลิม ที่อาศัยความเป็นสากลมาบีบรัดให้สังคมในประเทศเปิดกว้าง หรือยอมรับตนเองได้สำเร็จ ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจริงโดยไม่สามารถอธิบายได้เลยหากเราอาศัยการมองผ่านกรอบที่จัดระดับขั้นแบบเดิมที่มองแบบแยกส่วน

           3. มุมมองแบบคนนอก – คนใน: ในงานด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา การกำหนดตำแหน่งแห่งที่ (Positioning) ของผู้ทำการศึกษา หรือการเลือกศึกษาจากมุมมองแบบคนนอก-คนในนั้นเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ และแม้กระทั่งการขีดเส้นแบ่งระหว่างกระบวนการศึกษาว่าสิ่งใดคือปัจจัยภายใน หรือปัจจัยภายนอก แต่ในกรณีของ ANT นั้นผู้ศึกษาต้องสมาทานไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือเครือข่ายแห่งการปฏิสัมพันธ์ ทุกสิ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องยึดโยงผ่านกระบวนการปฏิสัมพันธ์และสร้างความหมายทางสังคมร่วมกัน ดังนั้นแล้วจึงไม่มีคำว่าภายนอกหรือภายในปรากฏอีก เพราะไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือเครือข่ายทางสังคมแบบตัดขาดได้แบบไร้เยื่อใยยึดโยง

           ความแตกต่างจากกรอบแนวคิดอื่นทั้ง 3 ประการที่ว่ามานี้ทำให้ ANT เป็นทั้งความท้าทายของผู้เลือกใช้และเป็นโอกาส โดยความท้าทายคือการที่ผู้ใช้ต้องสมาทานนิยาม ความหมาย และฐานคิดแบบใหม่อันอาจคัดง้างไปจนถึงทุบทำลายกรอบแนวคิดภววิทยาดั้งเดิมที่มีอยู่ในรากฐานการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ ส่วนในแง่ของโอกาสนั้น กล่าวได้ว่า ANT ได้ขยายพรมแดนในการศึกษาวิเคราะห์ออกไปไกลกว่าระบบที่ยึดมั่นในมนุษย์ การแยกศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคมจนย่นย่อให้บริบททางสังคมอื่น ๆ เป็นเพียงที่รองรับความหมายหรือการกระทำที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นเท่านั้น ถือเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมอันอาจนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาที่สามารถรับมือกับโลกที่กำลังมีความผันผวนสูงในหลากมิติ


บรรณานุกรม

Barad, K. (2014). Diffracting diffraction: Cutting together-apart. Parallax, 20(3), 168-187.

Barad, K. (2007). Meeting the Universe Half-way. Durham, NC: Duke University Press.

Bruno Latour (1992). Where are the Missing Masses? Sociology of a Few Mundane Artefacts InShaping Technology-Building Society. In Bijker, W. E., & Law, J.(Eds.). Shapingtechnology/building society: Studies in sociotechnical change. (pp. 225-259). Cambridge Mass: MIT Press.

Bruno Latour. (1986). The Power of Associations. In John Law (Eds.). Power, Action and Belief. ANew Sociology of Knowledge? Sociological Review Monograph, Keele, (32), 261-277.

Bruno Latour and Milton Keynes. (1987). Science in Action, Harvard: Harvard University Press.

Bruno Latour. (1998). Keynote Speech on Recalling ANT. Lancaster: Lancaster University Press.

Bruno Latour. (1996). On Actor- Network Theory: A few Clarifications. Retrieve 8 October, 2020.from https://www.jstor.org/stable/40878163

Casper Bruun Jensen. (). New Ontologies? Reflections on Some Recent 'Turns' in STS,Anthropology and Philosophy. Retrieve 8 October, 2020. from https://www.academia.edu/25710614/New_Ontologies_Reflections_on_Some_Recent_Turns_in_STS_Anthropology_and_Philosophy.

Fenwick, T., Edwards, R., & Sawchuk, P. (2011). Emerging approaches to educational research: Tracing the socio-material. London: Routledge.

Graham Harman. (2014). Entanglement and Relation: A Response to Bruno Latour and IanHodder. New Literary History, pp. 37-49. The Johns Hopkins University Press

Harvey, P., Jensen, C. B., & Morita, A. (2016). Infrastructures and social complexity: Acompanion. London: Taylor & Francis.

Jensen, C. B., & Winthereik, B. R. (2013). Monitoring movements in development aid: recursive partnerships and infrastructures. Cambridge Mass: MIT Press.

John, L. (2009). Actor network theory and material semiotics. Retrieve 13 June, 2016 From http://www.heterogeneities.net/publications/Law2007ANTandMaterialSemiotics.pdf

Mathews, D. (1996). Elements of a strong civil society and healthy public life. Kettering Foundation, 1-26.


ผู้เขียน
พรรณยุพา ธรรมวัตร
สำนักพหุภาษาและศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


 

ป้ายกำกับ พรมแดน ความรู้ มุมมองข้ามศาสตร์ ทฤษฎีเครือข่าย–ผู้กระทำการ Actors-Network Theory พรรณยุพา ธรรมวัตร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา