มานุษยวิทยาของเวลา (Anthropology of Time)
งานศึกษา “เวลา” ของมานุษยวิทยาที่สำคัญมาจากงานของ Johannes Fabian (1983) ที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปทำงานภาคสนามและอยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมของคนพื้นเมือง สิ่งที่นักมานุษยวิทยาปฏิบัติในเรื่องเวลาคือการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่น เสมือนว่ากำลังอยู่ในเวลาเดียวกับคนท้องถิ่น การปฏิบัตินี้คือการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอื่น ตัวตนของนักมานุษยวิทยากับคนอื่นได้มาปะทะบรรจบกัน กล่าวคือ เวลาของนักมานุษยวิทยาในฐานะการทำงานวิจัยกำลังเชื่อมต่อกับเวลาของชาวบ้านที่กำลังดำเนินชีวิตในแบบที่ต่างออกไป ถือเป็นเวลาของอัตวิสัยที่ต่างกันและเชื่อมเข้าหากัน (intersubjective time) ประเด็นนี้ Fabian กล่าวว่าในขณะที่นักมานุษยวิทยาเก็บข้อมูลเพื่อนำมาเขียนเป็นคำอธิบายทางชาติพันธุ์วรรณนา สิ่งที่เขียนคือการสร้างเวลาขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่ออธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนอื่น ซึ่งมิใช่เวลาของนักมานุษยวิทยา ข้อสังเกตนี้ทำให้เกิดคำถามว่า “เวลา” ของชาวบ้าน ถูกอธิบายโดยนักมานุษยวิทยาได้อย่างไร
หากพิจารณาประวัติศาสตร์การทำงานของนักมานุษยวิทยาในอดีตตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ในช่วงลัทธิอาณานิคม การลงไปอยู่ในชุมชนท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมต่างไปจากตะวันตก นักมานุษยวิทยาจะลงไปพร้อมกับการแยกตัวเองออกจากคนพื้นเมือง นักมานุษยวิทยาในฐานะ “คนนอก” จะอยู่ตรงข้ามกับคนพื้นเมืองที่ถูกศึกษา สิ่งนี้คือการวางเวลาและพื้นที่ของคนพื้นเมืองออกจากนักมานุษยวิทยา (Eriksen & Nielsen, 2013; Kuper, 2018) ถือเป็นการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างเวลาพื้นบ้านกับเวลาตะวันตก ซึ่งเป็นตรรกะใหญ่ที่ครอบงำการแสวงหาความรู้ในยุควิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เห็นได้จากคำอธิบายเรื่องความดั้งเดิม (primitive) กับความมีอารยะ ตรรกะนี้ค่อย ๆ เสื่อมพลังลงไปในโลกวิชาการหลังยุคสมัยใหม่ และเริ่มตรวจสอบเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่หลากหลายที่สร้างการรับรู้เรื่องเวลาที่แตกต่างกัน นักมานุษยวิทยาเริ่มวิพากษ์อคติทางเชื้อชาติและปัญหาของการเอาตะวันตกเป็นศูนย์กลาง และชี้ให้เห็นว่ายุคสมัยใหม่เป็นช่วงเวลาของอุดมการณ์ทุนนิยมและการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Lushaba, 2006) ซึ่งมองเวลาในฐานะเป็นพัฒนาการไปสู่ความก้าวหน้า ส่งผลให้ตะวันตกแบ่งแยกสังคมเป็นสองประเภท คือสังคมที่ทันสมัยกับสังคมจารีตประเพณี ชุมชนพื้นเมืองจึงถูกจัดอยู่ในจารีตประเพณีที่อยู่ในลำดับเวลาที่ล้าหลังกว่าสังคมตะวันตก (Gupta, 1998)
การแบ่งประเทศเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา ก็เป็นผลผลิตจากความคิดสมัยใหม่ ที่มองตะวันตกก้าวหน้ากว่าสังคมอื่น (Escobar, 1995) ผนวกกับทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมทำให้เกิดการจัดแบ่งประเทศด้วยช่วงชั้นเวลาที่ไม่เท่ากัน เช่น สังคมในทวีปแอฟริกาถูกจัดเป็นสังคมล้าสมัย โง่เขลา ไม่มีอารยะและความเจริญทางวัตถุ นักมานุษยวิทยารุ่นแรกก็นำทฤษฎีวิวัฒนาการมาอธิบายสังคมชนเผ่าในฐานะเป็นสังคมบรรพกาล เช่น คำอธิบายของ Edward B. Tylor และ Lewis Henry Morgan นักมานุษยวิทยาบางคนจึงโต้แย้งกับทฤษฎีดังกล่าว โดยเฉพาะ Franz Boas (1938) ที่มองวัฒนธรรมแต่ละแห่งว่ามีลักษณะเฉพาะต่างกันโดยไม่สามารถตัดสินได้ว่าวัฒนธรรมใดจะก้าวหน้าหรือล้าหลัง Schulz (2012) อธิบายว่าการแบ่งแยกระหว่างความทันสมัยกับความล้าหลัง เป็นการแบ่งชาวตะวันตกออกจากคนอื่น ถือเป็นวิธีการสถาปนาความไม่เท่าเทียมและการยกย่องตะวันตกให้สูงกว่าสังคมอื่น
ในช่วงทศวรรษ 1920-1950 แนวคิดหน้าที่นิยมและการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม มีบทบาทในการอธิบายความแตกต่างทางสังคม เช่น การแพร่กระจายวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปในชุมชนพื้นเมือง (Koppers, 1955) มีความเชื่อว่าวัฒนธรรมจากที่หนึ่งแพร่เข้าไปอีกที่หนึ่งทำให้เกิดการผสมทางวัฒนธรรม ส่งผลให้แบบแผนของวัฒนธรรมมีความหลากหลาย วัฒนธรรมเดิมกับใหม่ดำรงอยู่พร้อมกันภายใต้เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง การผสมผสานวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นักมานุษยวิทยาวิพากษ์วิจารณ์การแบ่งแยกสังคมเป็นสองชนิดระหว่างความทันสมัยและความล้าหลัง และชี้ว่าตะวันตกมักจะมองตนเองว่ามีความเจริญและมั่งคั่ง นัยยะของสิ่งนี้คือการตอกย้ำว่าตะวันตกคือทุนนิยม เป็นช่วงเวลาของการสร้างความร่ำรวย ในขณะที่สังคมชนเผ่าพื้นเมืองยังคงอยู่กับการทำเกษตกรรมและเลี้ยงสัตว์ หรือยังชีพแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ (Smith, 1982) ทฤษฎีโครงสร้างนิยมของ Lévi-Strauss (1963) มักแบ่งแยกคู่ตรงข้ามโดยตอกย้ำว่าสังคมชนเผ่าเป็นสังคมที่ไม่เจริญและงมงายอยู่กับจารีตประเพณี นักมานุษยวิทยาที่เชื่อในทฤษฎีโครงสร้างนิยมจึงมองชนเผ่าพื้นเมืองเป็นการย่ำอยู่กับเวลาเดิม ๆ เช่น การจัดพิธีกรรมซ้ำ ๆ วนเวียนกลับมาที่เดิม ทำให้เวลามีลักษณะหมุนเวียน (cyclical time) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ในขณะที่เวลาในสังคมทุนนิยมตะวันตกจะมีลักษณะเป็นการก้าวไปข้างหน้า (linear time) เปลี่ยนจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ (Gell, 1996)
Munn (1992) กล่าวว่าเวลาแบบหมุนเวียนไม่สามารถแยกขาดจากเวลาเส้นตรงได้ ในบางวัฒนธรรม เช่น ชนเผ่าในลุ่มน้ำแอมะซอน เวลาเป็นทั้งวงจรที่หมุนกลับมาได้และก้าวเดินไปข้างหน้าได้ เช่นเดียวกับสังคมตะวันตกที่มีการทำสิ่งต่าง ๆ ในเวลาที่เป็นวงจร เช่นในเทศกาลคริสต์มาสที่จะทำซ้ำตลอดทุกปี และมีการทำสิ่งใหม่ ๆ ตามประสบการณ์และช่วงวัยของบุคคล (Adam, 1994) ดังนั้น การทำซ้ำเดิมจึงมิใช่สิ่งตรงข้ามกับการก้าวไปข้างหน้า แต่มันอาจเป็นส่วนที่ช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการทำสิ่งเดิมในแต่ละช่วงเวลา การทำความเข้าใจโลกทัศน์เกี่ยวกับเวลาอาจแยกเป็น 3 ส่วน คือ (1) ส่วนที่เป็นสากล ในฐานะที่มนุษย์ทุกวัฒนธรรมมีวิธีคิดเกี่ยวกับเวลา (2) ส่วนที่เป็นแบบแผนทางวัฒนธรรมที่มีส่วนกำหนดความหมายของเวลาที่ต่างกัน (El Guindi, 2008) (3) ส่วนที่เป็นความหลากหลายภายในวัฒนธรรมเดียวกัน ประสบการณ์ของคนต่อเวลาจึงไม่เหมือนกัน (Fabian, 1983)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในยุคสังคมโลก พื้นที่ต่าง ๆ เชื่อมเข้าหากันภายใต้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ แบบแผนเวลาของตะวันตก (Western temporal models) ยังคงถูกใช้อย่างกว้างขวางและเป็นบรรทัดฐานสากล (Mughal, 2023) การศึกษาเวลาในโลกตะวันตก ก่อกำเนิดจากความรู้ทางดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ รวมถึงปรัชญา เวลาจะถูกอธิบายในฐานะปรากฎการณ์ความจริงตามธรรมชาติ (Mughal, 2009; Rosen, 2004) การศึกษาความสัมพันธ์ของเวลาและสถานที่เริ่มชัดเจนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักมานุษยวิทยาที่สนใจศึกษาเวลามักจะได้รับอิทธิพลความคิดมาจาก Durkheim ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์คือผู้กำหนดและถูกควบคุมโดยเวลา (Schmaus, 2004) เวลาในฐานะเป็นวิธีการจัดแบ่งหมวดหมู่ ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปจะถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนช่วงเวลา เวลาแต่ละช่วงจะสัมพันธ์กับการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ การทำงานและการพักผ่อนของมนุษย์ก็ถูกแบ่งเป็นเวลาที่แตกต่างกัน ชีวิตทางสังคมของมนุษย์จึงถูกกำกับด้วยการทำกิจกรรมในเวลาที่ต่างกัน อิทธิพลของ Durkheim ส่งผลให้การทำความเข้าใจเวลาเป็นเรื่องเดียวกับการดำรงอยู่ของสังคม เพราะเวลาปรากฎขึ้นภายใต้กิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ คนแต่ละคนจะรู้ว่าต้องมาทำกิจกรรมเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป
ปฏิทินคือสัญลักษณ์ของการแบ่งช่วงเวลา ทำให้มนุษย์รู้และเข้าใจว่าต้องพบความเปลี่ยนแปลงของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ปฏิทินเป็นเหมือนกฎเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้รู้ว่าจะนับจำนวนเวลาได้อย่างไร จำนวนตัวเลขวัน เดือน ปี ชั่วโมง นาที และ วินาทีคือผลผลิตของการแบ่งหมวดหมู่เวลาที่ทำให้มนุษย์เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ร่างกาย และธรรมชาติ ปฏิทินยังเป็นเรื่องเชิงสังคมที่บุคคลจะรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวกับคนอื่นอย่างไร ต้องทำงานอะไรเมื่อเวลาเปลี่ยน นักมานุษยวิทยาในช่วงหลังโต้แย้งว่าความคิดเรื่องเวลาของ Durkheimใช้ความคิดแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ในสังคมอื่น การให้ความหมายของเวลาอาจต่างออกไป นักมานุษยวิทยาพิจารณาว่าหมวดหมู่ของ “เวลา” เป็นผลผลิตจากสังคม (Gingrich & Swedlund, 2002) ในสังคมชนเผ่าหลายแห่งมีวิธีคิดสร้างปฏิทินและการนับเวลาในแบบของตัวเอง เช่นเดียวกับอารยธรรมใหญ่ ๆ ในอดีต ก็มีวิธีนับเวลาที่ต่างกัน (Adam, 1994)
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ประเทศใต้อาณานิคมตะวันตกจำนวนมากได้รับอิสรภาพ เรื่องสำคัญของสังคมที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นก็คือการพัฒนาประเทศของตัวเอง และเอาตะวันตกเป็นต้นแบบ หลายประเทศถูกนิยามว่าเป็น “โลกที่สาม” ซึ่งชาวตะวันตกได้เข้าไปสนับสนุนและส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Escobar, 1995) องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศจำนวนมากเติบโตและมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนา ปรากฎการณ์นี้ถือเป็น “ลิทธิอาณานิคมใหม่” (neo-colonialism) ที่ชาวตะวันตกมีอิทธิพลชี้นำและควบคุมการพัฒนาของประเทศโลกที่สาม โดยทำให้ประเทศเหล่านั้นปฏิบัติตามเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่ตะวันตกสร้างไว้ Sartre (2001) กล่าว่าภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงลัทธิอาณานิคมใหม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจทุนนิยมข้ามชาติ การเป็นผู้ยอมจำนนต่อวัฒนธรรมของคนผิวขาวผ่านธุรกิจการค้าและพัฒนาอุตสาหกรรม โดยที่ชาวผิวขาวไม่ต้องใช้กำลังทหารขู่บังคับอีกต่อไป Emmanuel Wallerstein (1974) อธิบายปรากฎการณ์นี้แนวคิดเรื่อง “ระบบโลก” (world-systems) โดยระบุว่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกคือศูนย์กลางที่กำกับและชี้นำประเทศยากจนที่เป็นชายขอบทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์จะมุ่งไปสู่ตะวันตกอย่างเต็มที่
McLuhan (1964) อธิบายสถานการณ์โลกด้วยแนวคิด “หมู่บ้านโลก” (global village) เพื่อชี้ว่าอิทธิพลของเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ทำให้ประเทศต่าง ๆ สื่อสารกันด้วยข้อมูลที่รวดเร็ว ในขณะที่ Giddens (1984) อธิบายสิ่งนี้ว่าเป็นระยะห่างของพื้นที่กับเวลาที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์แบบใกล้ชิดพร้อมกับการสื่อสารข้ามเขตแดนที่ห่างไกล (remote interactions) ประเด็นนี้นำไปสู่ความสนใจเรื่อง “การเชื่อมต่อกัน” และ “การพึ่งพิงกัน” Harvey (1991) เสนอความคิดเรื่อง “การบีบอัดของพื้นที่และเวลา” (time-space compression) เพื่อชี้ให้เห็นถึงโลกที่มิได้แยกขาดจากกัน มนุษย์ สังคม และวัฒนธรรมจากที่ต่าง ๆ จะมาปะทะประสานกันภายใต้ระบบโลกาภิวัตน์ (Appadurai, 1996) ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับพื้นที่และเวลาในฐานะเป็นการเชื่อมเข้าหากัน ระยะทางและเวลาจะมิใช่อุปสรรคของการติดต่อทางสังคม รวมทั้งการชี้ให้เห็นอำนาจที่มากขึ้นของระบบทุนนิยมข้ามชาติ (Stiglitz, 2002) นอกจากนั้น การปะทะกันของวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มปรากฎชัดเจนอย่างแพร่หลายในส่วนต่าง ๆ ของโลก การนับเวลาตามปฏิทินตะวันตกกลายเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นนำไปใช้เป็นกฎเกณฑ์เพื่อที่จะใช้ชีวิตปัจจุบัน (Mughal, 2017)
การไหลเวียนของแรงงานข้ามชาติและทรัพยากร ทำให้เห็นความไม่แน่นอนของเวลา (Hodges, 2008) ปัจจุบันจึงมีการตั้งคำถามว่าการทับซ้อนของเวลาหลายแบบ (multiple temporalities) จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไร โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมทางสังคม (Awasis, 2020) กรณีนี้ Leitenberg (2023) อธิบายตัวอย่างการท่องเที่ยวเทือกเขาแอลป์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีคน 3 กลุ่มที่เข้ามามีบทบาทคือ คนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และแรงงานอพยพ ในมุมมองของคนท้องถิ่น พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับนักท่องเที่ยวในขณะที่ต้องใช้ชีวิตทำงานส่วนตัว สำหรับนักท่องเที่ยวคือกลุ่มที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่เพื่อแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ ถ่ายภาพ นอนพักในรีสอร์ท กินอาหาร และจับจ่ายใช้สอย ส่วนแรงงานอพยพจะเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการต่าง ๆ ในแหล่งท่องที่ยว ประสบการณ์ของคนสามกลุ่มนี้สะท้อนวิธีคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเวลาและพื้นที่ต่างกัน สิ่งที่น่าคิดคือ ระบบทุนนิยมในการท่องเที่ยวเทือกเขาแอลป์สร้างเวลาทับซ้อนของคนสามประเภท เวลาของคนท้องถิ่นคือการใช้ชีวิตประจำวันและทำงานหาเลี้ยงชีพ เวลาของนักท่องเที่ยวคือการสันทนาการ พักผ่อน จับจ่ายใช้สอย บริโภคสินค้าวัฒนธรรม เวลาของแรงงานอพยพคือการทำงานในหน้าที่เพื่อบริการและต้อนรับนักท่องเที่ยว
เวลาของระบบทุนนิยมจึงสร้างความลักลั่นและความย้อนแย้งของการปฏิบัติเกี่ยวกับเวลาของคนหลายกลุ่ม(Guyer, 2007) ความไม่ลงรอยระหว่างเวลาหลายแบบนี้สะท้อนให้เห็นความไม่แน่นอนของระบบทุนนิยม ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทับซ้อนของเวลาลักษณะนี้คือ ชนชั้นแรงงานได้ประโยชน์น้อยกว่ากลุ่มนายทุน กล่าวคือ การแสวงหาผลกำไรของทุนนิยมมักจะสร้างกฎเกณฑ์ที่มิใช่สวัสดิภาพของแรงงาน ตัวอย่างการท่องเที่ยวในสวิตเซอร์แลนด์ย่อมสะท้อนว่าเวลาแห่งความสุขเกิดขึ้นเฉพาะนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ในขณะที่แรงงานอพยพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างไร้ความมั่นคง
เอกสารอ้างอิง
Adam, B. (1994). Perceptions of time. In T. Ingold, (ed.). Companion encyclopedia of anthropology, (pp.503–526). London; New York: Routledge.
Appadurai, A. (1996). Modernity at large: Cultural dimensions of globalization. Minneapolis: University of Minnesota Press.
Awasis, S. 2020. ‘Anishinaabe time’: temporalities and impact assessment in pipeline reviews. Journal of Political Ecology, 27 (1), 830–852.
Boas, F. (1938). The mind of primitive man. New York: The Macmillan Company.
El Guindi, F. (2008). By noon prayer: the rhythm of Islam. Oxford: Berg.
Eriksen, T.H., & Nielsen, F.S. (2013). A history of anthropology. London; Sterling: Pluto Press.
Escobar, A. (1995). Encountering development: the making and unmaking of the third world. Princeton: Princeton University Press.
Fabian, J. (1983). Time and the other: how anthropology makes its object. New York: Columbia University Press.
Gell, A. (1996). The anthropology of time: Cultural constructions of temporal maps and images. Oxford: Berg Publishers.
Giddens, A. (1984). Constitution of society: introduction of the theory of structuration. Cambridge: Polity Press.
Gingrich, A. E., and A. Swedlund. (2002). Repertoires of timekeeping in anthropology. Current Anthropology, 43 (S4), S3–S4.
Gupta, A. (1998). Postcolonial developments: agriculture in the making of modern India. Durham; London: Duke University Press.
Guyer, J. I. (2007). Prophecy and the Near Future: Thoughts on Macroeconomic, Evangelical, and Punctuated Time. American Ethnologist, 34 (3), 409–421.
Hodges, M. (2008). Rethinking time’s arrow: Bergson, Deleuze and the anthropology of time. Anthropological Theory, 8(4), 399–429.
Koppers, W. (1955). Diffusion: transmission and acceptance. Yearbook of Anthropology, 1955, 169–181.
Kuper, A. (2018). Anthropology: scope of the discipline. In The international encyclopedia of anthropology, 1–25. Oxford: Wiley.
Lévi-Strauss, C. (1963). Structural anthropology. New York: Basic Books.
Lushaba, L. S. (2006). Development as modernity, modernity as development. ASC Working Paper 69 / 2006. Leiden: African Studies Centre.
McLuhan, M. (1964). Understanding media: the extensions of man. Cambridge: MIT Press.
Mughal, M. A. Z. (2009). Time, absolute. In J. Birx (ed.), Encyclopedia of time: Science, philosophy, theology, and culture, (pp.1254–1255). Thousand Oaks: Sage Publications.
Mughal, M. A. Z. (2017). Time in flux: daily and weekly rhythms in rural Pakistan. Asian Ethnology, 76(2), 261–287.
Mughal, M. A. Z. (2023). The western and non-western dichotomization of time in anthropology. International Journal of Anthropology and Ethnology, 7(7), https://doi.org/10.1186/s41257-023-00086-z
Munn, N. D. (1992). The cultural anthropology of time: a critical essay. Annual Review of Anthropology, 21(1), 93–123.
Ramble, C. (2002). Temporal disjunction and collectivity in Mustang, Nepal. Current Anthropology, 43 (Supplement), S75–S84.
Rosen, R.M. (2004). Time and temporality in the ancient world. Philadelphia: University of Pennsylvania Museum of Archaeology and Anthropology.
Sartre, J.-P. (2001). Colonialism and neocolonialism. London; New York: Routledge.
Schmaus, W. (2004). Rethinking Durkheim and his tradition. New York: Cambridge University Press.
Schulz, Y. (2012). Time representations in social science. Dialogues in clinical neuroscience, 14 (4), 441–447.
Smith, M. F. (1982). Bloody time and bloody scarcity: capitalism, authority, and the transformation of temporal experience in a Papua New Guinea Village. American Ethnologist, 9 (3), 503–518.
Stiglitz, J. E. (2002). Globalization and its discontents, 1st ed. New York: W. W. Norton.
Wallerstein, I. M. (1974). Capitalist agriculture and the origins of the European world-economy in the sixteenth century. London; New York: Academic Press.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ มานุษยวิทยา เวลา Anthropology Time ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ