วิสัยทัศน์
สร้างสังคมที่เคารพในความแตกต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
พันธกิจ
สร้างสรรค์วิชาการ สื่อสารสังคม ระดมเครือข่าย ขยายความรู้สู่สาธารณะ
ค่านิยมหลัก
Caring Creativity Quality
ศมส. ในฐานะองค์กรวิชาการด้านมานุษยวิทยาที่มีภารกิจในการส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันเป็นหัวใจของสาขาวิชามานุษยวิทยา ศมส. จึงได้กำหนดค่านิยมองค์กรไว้ 3 ประการ ได้แก่ Caring ดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ภาคีเครือข่าย และสังคม โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมในสังคมและความยั่งยืนของระบบนิเวศ Creativity ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แสวงหาแนวทางใหม่ๆ และสร้างนวัตกรรมการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม Quality มุ่งวัฒนธรรมคุณภาพในองค์กร เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและบริการอย่างต่อเนื่องให้สามารถตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้บริการและสังคม
อำนาจหน้าที่
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗ ให้ศูนย์มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการและสนับสนุน การรวบรวม การศึกษา การวิจัย การจัดการ การเผยแพร่และให้บริการข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(๒) สร้างความร่วมมือ สนับสนุนและขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายทางวิชาการ ในการสร้างและจัดการความรู้ด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนของชุมชนและประโยชน์ทางวิชาการ
(๓) ดำเนินการจัดและสนับสนุนการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติอย่างยั่งยืน
(๔) บริหารจัดการ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง
(๕) เป็นแหล่งค้นคว้าและแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง
(๖) ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดพิมพ์เอกสาร การจัดทำสื่อโสตทัศน์ การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการจัดนิทรรศการ”
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๘ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ ให้ศูนย์มีอำนาจกระทำกิจการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
(๓) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการดำเนินงานของศูนย์
(๔) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศหรือต่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
(๕) เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของศูนย์
(๖) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
(๗) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการ
(๘) กระทำการอื่นใดที่จําเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์
การเข้าร่วมทุนตาม (๕) และการกู้ยืมเงินตาม (๖) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรี กำหนด