เทคนิคเชิงจักรวาลทัศน์ (Cosmotechnics)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2184

เทคนิคเชิงจักรวาลทัศน์ (Cosmotechnics)

           Yuk Hui นักปรัชญาชาวฮ่องกงและอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเอราสมุส ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขียนบทความเรื่อง Cosmotechnics as Cosmopolitics อธิบายความหมายของการเมืองโลก (Cosmopolitics) เป็น 2 ลักษณะคือ (1) การเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยระบอบการค้า และ (2) การเมืองที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สถานการณ์โลกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีการถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ พร้อมกับการทบทวนสถานะและบทบาทของมนุษย์ที่กระทำต่อโลกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งรู้จักในนามมนุษยสมัย (Anthropocence) รวมทั้งการเคลื่อนข้ามพรมแดนสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งมิได้มีตะวันตกเป็นผู้ชี้นำและกำหนดกฎเกณฑ์เพียงฝ่ายเดียว แต่รวมถึงสังคมในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีบทบาทนำในการต่อสู้และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ Hui มองเห็นความปั่นป่วน ความไม่มั่นคง และการเสื่อมคลายอำนาจของตะวันตก ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าโลกจะเดินหน้าไปอย่างไรท่ามกลางความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำ

           ความรุ่งโรจน์ของทุนนิยมตะวันตกกำลังเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับกลุ่มอำนาจใหม่ที่เติบโตขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ กลุ่มมุสลิมอนุรักษ์นิยม กลุ่มนายทุนจีนและรัสเซีย กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางเพศ (Thiel, 2007) อำนาจอธิปไตยของรัฐแบบเก่าซึ่งอิงแอบอยู่กับกลุ่มชนชั้นปกครองและชนชั้นกฎุมพีกำลังถูกท้าทายด้วยกลุ่มอำนาจใหม่ที่หลากหลาย เทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์กำลังตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนข้ามชาติและมิจฉาชีพที่แอบแฝงเข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ Huiกล่าวว่าการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีตัวละครใหม่ที่มิใช่มนุษย์เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล การแสวงหาความรู้ในสถานการณ์นี้จึงไม่สามารถนำเอาวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ตะวันตกมาใช้ได้อีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถบ่งชี้ถึงความมีเอกภาพหรือความสมบูรณ์ได้ แต่ในทางกลับกันการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่คงที่และยากต่อการจัดให้อยู่ในระเบียบ

           การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ดังกล่าว Hui (2017a, 2020) เสนอว่าควรตรวจสอบการเมืองของเทคโนโลยี และเทคนิคเชิงจักรวาลทัศน์ (cosmotechnics) ซึ่งมีพรมแดนความรู้ที่ต่างไปจากตรรกะเดิม กล่าวคือเทคโนโลยีมิใช่เรื่องราวที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งต่าง ๆ มิใช่เครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์ได้ประโยชน์หรือความสะดวกสบาย แต่เป็นเรื่องเฉพาะของเทคโนโลยีที่ดำรงอยู่ในแบบของตัวเอง ในวัฒนธรรมต่าง ๆ เทคโนโลยีดำรงอยู่ในโลกทัศน์และวัฒนธรรมของคน มิได้มีเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่มนุษย์ใช้เพื่อสร้างความก้าวหน้า Hui (2020) เสนอว่า cosmotechnics คือการผนวกเข้าด้วยกันของระเบียบจักรวาลและระเบียบศีลธรรมผ่านกิจกรรมทางเทคนิค ที่ผ่านมาเทคโนโลยีถูกนิยามในฐานะวัฒนธรรมเทคโนโลยีเชิงเดี่ยว (mono-technological culture) เป็นพลังของการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับมนุษย์โดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน ซึ่งส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยการธรรมชาติอย่างหนักหน่วงและเกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม

           cosmotechnics สนใจความหลากหลายของการดำรงอยู่ของเทคโนโลยี (technodiversity) หลีกหนีความเป็นสากลของเทคโนโลยี (Hui & Lemmens, 2021) ในยุคเรืองปัญญาของตะวันตก (The age of Enlightenment) ซึ่งสนใจระบบเหตุผลและการค้นหาความจริงเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะทฤษฎีของ Immanuel Kant สิตปัญญาและการคิดของมนุษย์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้พิสูจน์ความจริงในโลกธรรมชาติ ในแง่นี้ ยุคสมัยใหม่เชื่อว่าเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์มีความสามารถและมีอิสระทางสติปัญญามากขึ้น Hui (2017a) กล่าวว่าตรรกะของ Kant มองธรรมชาติเป็นเอกภาพ หมายถึงเป็นวัตถุที่เหมือน ๆ กันไม่ว่าธรรมชาตินั้นจะดำรงอยู่ในพื้นที่ใด ทำให้การมองโลกเป็นการสร้างมาตรฐานของวัตถุซึ่งให้คุณค่าธรรมชาติในฐานะเป็น “สิ่งของ” ที่มนุษย์เข้าไปจัดการในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตรรกะจากยุคเรืองปัญญาได้เป็นรากฐานที่ทำให้ระบบทุนนิยมขยายตัวและควบคุมกลไกการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

           ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับเทคโนโลยีในระบบเหตุผลนิยมของ Kant ยึดหลักความเป็นสากลนิยม และมองข้ามลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น Hui (2017a) เสนอว่าควรมองเห็นการดำรงอยู่ที่หลากหลายของธรรมชาติ โดยคำนึงถึงโลกทัศน์ของท้องถิ่นที่ให้คุณค่ากับธรรมชาติไม่เหมือนกัน เช่นธรรมชาติในชีวิตของชนพื้นเมืองในป่าแอมะซอนมีความหมายและคุณค่าต่างไปจากธรรมชาติในสังคมอุตสาหกรรมแบบตะวันตก นอกจากนั้น ในช่วงจุดเปลี่ยนทางภววิทยา นักมานุษยวิทยาหลายคนได้วิพากษ์โลกทัศน์วิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่ครอบงำวิธีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ชี้ให้เห็นมายาคติของการแบ่งแยกวัฒนธรรมออกจากธรรมชาติ การแยกมนุษย์ออกจากสิ่งต่าง ๆ และเสนอให้เห็นความหลากหลายของการดำรงอยู่ของธรรมชาติ (Descola, 2003; Holbraad & Pedersen, 2017) การดำรงอยู่ของธรรมชาติไม่ใช่การเป็นทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจ แต่ธรรมชาติยังดำรงอยู่ด้วยคุณค่าอื่น ๆ เช่น จิตวิญญาณและความศักดิ์สิทธิ์ คนพื้นเมืองหลายกลุ่มต่างมีวิธีคิดต่อธรรมชาติที่สอดคล้องกับระเบียบกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมและแบบแผนทางวัฒนธรรม

           อย่างไรก็ตาม Hui (2017a) ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีมักจะไม่ถูกพูดถึงในข้อถกเถียงเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของธรรมชาติ เพื่อที่จะทำความเข้าใจเทคโนโลยี จำเป็นต้องมองเห็นการเมืองของเทคโนโลยีที่เข้าไปมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ในความคิดของ Hui (2017a) การมองเห็นความหลายหลายของภววิทยาหรือจักรวาลวิทยายังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับธรรมชาติ แต่ต้องมองเห็นการใช้เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย กล่าวคือ รูปแบบของเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องภูมิปัญญาที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนั้น Hui (2017a) ได้นำประสบการณ์ในวัฒนธรรมจีนมาอธิบายให้เข้าใจว่าโลกทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีของจีนเป็นเรื่องของศิลปะของการมีชีวิต เทคโนโลยีมิใช่เรื่องวัตถุหรือเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์ทำงาน แต่เป็นความเข้าใจที่จะอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ถึงแม้มนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าและทันสมัยเพียงใด แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีโดยปราศจากความเข้าใจการใช้ชีวิต เทคโนโลยีนั้นก็ไม่มีประโยชน์

           Hui (2017a) ยกตัวอย่างการใช้มีดแล่เนื้อ วิธีการแล่แบบฟันไปที่กระดูก จะทำให้มีดมีรอยสึกหรอและลดความคมขอมีด มีดที่แล่ไปตามช่องว่างของเนื้อโดยไม่เฉือนโดนกระดูกที่แข็ง มีดนั้นก็ยังสภาพความคมไว้นาน สิ่งสำคัญคือผู้ที่เป็นคนแล่จะต้องมีทักษะในการใช้มีดเพื่อที่จะรู้วิธีเฉือนที่ไม่ทำให้มีดฟันที่ที่กระดูก ตัวอย่างนี้คือการใช้เทคโนโลยีที่ผู้ใช้ให้ความสำคัญกับทักษะและความเข้าใจต่อการเฉือนเนื้ออย่างมีศิลปะ เทคโนโลยีประเภทอื่นก็เช่นกัน ถ้าผู้ใช้เทคโนโลยีเข้าใจคุณค่าของการกระทำต่าง ๆ ผู้ใช้ก็จะเข้าใจเป้าหมายของการกระทำมากกว่าที่จะสนใจความทันสมัยของเทคโนโลยี คำอธิบายของ Hui (2017a) ช่วยให้เห็นว่าการเมืองของเทคโนโลยี คือวิธีคิดของมนุษย์ที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์บางอย่าง และประโยชน์เหล่านั้นเพื่อส่วนตัวหรือส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับศีลธรรมหรือลดทอนศีลธรรม การใช้เทคโนโลยีจะมีส่วนทำให้มนุษย์ยกระดับจิตใจของตนเองหรือเพื่อการแสวงหาความสุขส่วนตัว คำถามเหล่านี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่อง cosmotechnics ซึ่งขยายขอบเขตของเทคโนโลยีที่ไม่จำกัดอยู่ในระบบทุนนิยมเท่านั้น และแสวงหาวิธีใช้เทคโนโลยีที่ไม่ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวและความเหลื่อมล้ำของมนุษย์

           Cosmotechnics มีส่วนที่เชื่อมโยงกัน 3 ส่วนคือ ระเบียบจักรวาล (cosmic order) ระเบียบศีลธรรม (moral order) และกิจกรรมทางเทคนิค (technical activities) ทั้งสามส่วนนี้คือรากฐานที่ดำรงอยู่ในโลกทัศน์ทางวัฒนธรรม ระเบียบศีลธรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับโลกทำให้การปฏิบัติทางเทคนิคเกิดขึ้นอย่างมีความหมาย ถ้าการกระทำและการปฏิบัติใดมิได้ยึดโยงทางศีลธรรมและโลกทัศน์ของการมีชีวิต การกระทำนั้นก็ตัดขาดไปจากคุณค่าทางศีลธรรม (Pavanini, 2020) ดังนั้น Cosmotechnics คือกระบวนการที่ทำให้มนุษย์ใช้และเรียนรู้ประสบการณ์ทางสังคมผ่านการปฏิบัติทางเทคนิค จะเห็นว่าการกระทำผ่านเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายมิใช่การใช้วัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แต่ยังเป็นการเรียนรู้ว่าสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้นทำให้มนุษย์มองเห็นคุณค่าของตนเองและสิ่งรอบตัวอย่างไร ในแต่ละวัฒนธรรม จึงมีระบบศีลธรรมบางอย่างที่คอยกำกับวิธีปฏิบัติและการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่สอดคล้องกับแบบแผนการดำรงชีวิต กล่าวโดยสรุปคือ เทคโนโลยีในวัฒนธรรมต่าง ๆ มีระบบศีลธรรมและแบบแผนการมีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

           ดังนั้น การทำให้เทคโนโลยีหลุดออกไปจากวิธีคิดทางวัฒนธรรมและระเบียบศีลธรรมจึงเป็นเรื่องที่อันตราย เห็นได้จากสังคมอุตสาหกรรมของตะวันตกที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความพอใจส่วนตัว ปราศจากการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและความรับผิดชอบทางศีลธรรม เทคโนโลยีจึกลายเป็นเพียงวัตถุที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์ Hui (2017a) พยายามชี้ว่า Cosmotechnics ได้รวมเอามิติทางจิตวิญญานเข้ามาอยู่ร่วมกับมิติทางวัตถุ เพื่อทำให้เห็นว่าการปฏิบัติทางเทคนิคจำเป็นต้องเห็นคุณค่าทางจิตใจไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์ทางวัตถุ ในความคิดของ Hui มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตทางเทคนิค (technical beings) ซึ่งเรียนรู้จากประสบการณ์ของการกระทำซึ่งหล่อหลอมจากโลกทัศน์และระบบศีลธรรมที่ถูกสั่งสอนกันมาจากรุ่นสู่รุ่น กล่าวคือ มนุษย์ให้ความหมายต่อโลกและการมีชีวิตผ่านเทคโนโลยีที่ถูกสร้างและนำมาปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ การทำความเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยีจึงจำเป็นต้องมองเห็นแบบแผนเฉพาะทางวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์ใช้เทคโนโลยีด้วยระเบียบศีลธรรมและจักรวาลทัศน์ที่ต่างกัน

           การพัฒนาสมัยใหม่ในระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน มีการถ่ายเทและส่งออกเทคโนโลยีที่ตะวันตกเป็นผู้กำหนดและควบคุม ซึ่งไม่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมและแบบแผนชีวิตของคนท้องถิ่น เมื่อเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นด้วยระบบอุตสาหกรรมเข้าไปอยู่ในท้องถิ่นจึงทำให้เกิดความแปลกแยกและเกิดการทำลายธรรมชาติจนเกิดความหายนะ Hui (2017b) กล่าวว่าโลกปัจจุบันถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยีทุนนิยมซึ่งมักจะแปลกแยกจากโลกทัศน์และคุณค่าทางศีลธรรมที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมท้องถิ่นและประสบการณ์ชีวิตของผู้คน ทำให้การใช้เทคโนโลยีมิได้ยึดโยงกับภูมิความรู้และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือภูมิศาสตร์เชิงจักรวาลทัศน์ (cosmo-geographic) ที่คนท้องถิ่นปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยคุณค่าทางศีลธรรม Hui (2017b) เสนอว่าการปฏิบัติทางเทคโนโลยีจำเป็นต้องให้เครื่องไม้เครื่องมือดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ขณะเดียวกันก็ควรทำให้ธรรมชาติในท้องถิ่นเข้ามาเป็นผู้ร่วมปฏิบัติในเทคโนโลยีด้วย

           Hui (2017b) กล่าวว่าภูมิศาสตร์เชิงจักรวาลทัศน์ มีความเกี่ยวข้องกับ Cosmotechnics ในท้องถิ่นต่าง ๆ ล้วนมีสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศที่ต่างกัน วิธีคิดและโลกทัศน์เกี่ยวกับธรรมชาติของผู้คนย่อมไม่เหมือนกัน ทำให้การกระทำเชิงเทคนิคถูกหล่อหลอมด้วนระบบศีลธรรม ญาณวิทยา และภูมิความรู้ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในธรรมชาติ ฉะนั้น การฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงโลกในยุคสมัย Anthropocene จำเป็นต้องนำเอาจักรวาลทัศน์เชิงเทคนิคที่หลากหลาย (multiplicity of cosmotechnics) ที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ กลับมาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์กับธรรมชาติไม่แยกขาดจากกัน เทคโนโลยีอุตสาหกรรมแบบทุนนิยมในปัจจุบันทำให้เกิดมาตรฐานเดียวของการมีชีวิต เห็นได้จากแพลตฟอร์มสื่อสังคมของเฟสบุ๊ค ซึ่งสร้างขึ้นจากโลกทัศน์แบบปัจเจกนิยม ทำให้การปฏิบัติทางเทคนิคของบุคคลเน้นเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจและได้ประโยชน์ มากกว่าจะเปิดกว้างยอมรับการอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่าง (Hui, 2015) ตัวอย่างนี้ชี้ว่าเทคโนโลยีทางทุนนิยมมองข้ามการทำประโยชน์สาธารณะ แต่มุ่งเน้นให้ปัจเจกแสวงหาความสุขส่วนตัว

           คุณค่าของส่วนรวมเป็นระบบศีลธรรมที่ค่อยๆเลือนหายไปในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน Hui (2017b) จึงเสนอแนะว่าเราต้องนำจักรวาลทัศน์เชิงเทคนิคที่เห็นความรู้สึกของคน มนุษย์ต้องรู้จักอ่อนโยนและใจกว้างพอ ไม่ควรยึดมั่นแต่คุณค่าทางวัตถุและความสำเร็จที่วัดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการฟื้นฟูจิตวิญญาณและภูมิความรู้พื้นบ้านเพื่อนำมาปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคารพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แนวคิด cosmotechnics คือการตระหนักรู้ว่ามนุษย์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ (co-naturality)


บรรณานุกรม

Descola, P. (2003). Beyond Nature and Culture. Chicago: University of Chicago Press.

Holbraad, M. & Pedersen, M. A. (2017). The Ontological Turn an Anthropological Exposition. Cambridge: Cambridge University Press.

Hui, Y. (2015). Modulation after Control. New Formations, 84–85, 74–91.

Hui, Y. (2017a). Cosmotechnics as Cosmopolitics. e-Flux Journal, 86, November.

Hui, Y. (2017b). On Cosmotechnics: For a Renewed Relation between Technology and Nature in the Anthropocene. Techné: Research in Philosophy and Technology, 21, 2-3.

Hui, Y. (2020). Cosmotechnics. Journal of the Theoretical Humanities, 25.

Hui, Y., & Lemmens, P. (Ed.). (2021). Cosmotechnics For a Renewed Concept of Technology in the Anthropocene. London: Routledge.

Pavanini, M. (2020). Cosmotechnics from an Anthropotechnological Perspective. Angelaki: Journal of Theoretical Humanities, 25(4), 26-38.

Thiel, P. (2007). The Straussian Moment. in Robert Hamerton-Kelly (Ed.) Studies in Violence, Mimesis, and Culture: Politics and Apocalypse. (East Lansing: Michigan State University Press.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ เทคนิค จักรวาลทัศน์ Cosmotechnics ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา