มานุษยวิทยาพ้นสังคม (Post-Social Anthropology) กับการท้าทายของมานุษยวิทยาชายขอบ

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2358

มานุษยวิทยาพ้นสังคม (Post-Social Anthropology) กับการท้าทายของมานุษยวิทยาชายขอบ

           ในปี ค.ศ.2006 Eduardo Viveiros de Castro อธิบายว่าในการสอนทฤษฎีทางมานุษยวิทยาซึ่งเริ่มอธิบายกำเนิดของวิชามาจนถึงทฤษฎีโครงสร้างนิยมของ Claude Lévi-Strauss หลังจากนั้นทิศทางความรู้มานุษยวิทยาอาจสะท้อนให้เห็นในเรื่องการสะท้อนย้อนคิด การย้อนกลับ เครือข่ายผู้กระทำการ ความซับซ้อนเพิ่มจำนวนอย่างไม่รู้จบ และการเชื่อมต่อกันของสิ่งต่าง ๆ Viveiros de Castro กล่าวถึงการสอนมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยสหพันธรัฐแห่งเมือง ริโอ เดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งร่วมมือกับเครือข่ายมานุษยวิทยาอาบาเต้ (Abaeté Network of Symmetrical Anthropology) เพื่อสอนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับมานุษยวิทยาข้ามพ้นสังคม (post-social anthropology) ซึ่งหมายถึงมานุษยวิทยาที่ยังไม่มีใครรู้จัก เป็นการทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตแต่ไม่สามารถคาดเดาและประเมินได้อย่างแน่ชัด สิ่งนี้ทำให้เกิดการสร้างเนื้อหามานุษยวิทยาแบบใหม่ (Viveiros De Castro & Goldman, 2012)

           Viveiros de Castro ชี้ว่านักมานุษยวิทยาเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ความสมดุล 2) การย้อนกลับ และ 3) การสะท้อนตัวตน เรื่องแรกคือความสมดุลที่เห็นได้จากแนวคิดของ Bruno Latour เรื่องที่สองคือการย้อนกลับ เห็นได้จากความคิดของ Roy Wagner และเรื่องที่สามคือการสะท้อนตัวตน เห็นได้จากความคิดของ Marilyn Strathern  นักมานุษยวิทยาทั้งสามคนนี้ถือเป็นผู้มีอิทธิพลจากโลกตะวันตกที่ชี้นำแนวทางการศึกษาทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน ในขณะที่นักมานุษยวิทยาในดินแดนอื่นเช่น ลาตินอเมริกาเป็นกลุ่มที่อยู่ชายขอบของศูนย์กลางความรู้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ Viveiros de Castro เรียกร้องให้เกิดการรื้อวิชามานุษยวิทยาโดยปลดแอกจากการอยู่ใต้การชี้นำของความรู้ตะวันตก ในแง่นี้ การเคลื่อนไหวของเครือข่ายมานุษยวิทยา อาบาเต้จึงเกิดแถลงการณ์ที่แสดงจุดยืนที่แตกต่างของมานุษยวิทยาชายขอบ คำว่า Abaeté มาจากคำย่อ ABA ที่เป็นการสลับคำของคำว่า “Brazilian Association of Anthropology” และเติมคำท้ายว่า eté ทำให้เกิดคำใหม่ว่า “Abaeté” ซึ่งเป็นคำในภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตลุ่มน้ำแอมะซอน คำนี้มีความหมายถึงความจริง ความถูกต้อง และความเป็นของแท้

           คำว่า eté เป็นคำที่ชาวบราซิลใช้อย่างแพร่หลายเพื่อใช้เรียกภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม พืช สัตว์ และสิ่งที่พบเห็นในธรรมชาติ เช่นคำว่า Tietê หมายถึงแม่น้ำใหญ่ที่ไหลผ่านเมืองเซาเปาโล ถือเป็นแม่น้ำของความจริง เพราะให้ปริมาณน้ำมากมายมหาศาล คำว่า iauaretê หมายถึงเสือจากัวร์ที่มีลายทั้งตัว ตรงข้ามกับเสือจากัวร์สีดำและเสือพูม่าที่ไม่มีลาย คำว่า jaguara เป็นคำในภาษาถิ่นทูปีที่ใช้เรียกเสือจากัวร์ Viveiros de Castro พยายามใช้ภาษาถิ่นเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่บ่งบอกการเป็นมานุษยวิทยาที่แตกต่าง และการฉีกตัวออกจากมานุษยวิทยากระแสหลักที่มีชาวตะวันตกเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด มานุษยวิทยาอาบาเต้ (Abaeté) ที่มาจากคำ ABA หากดูจากคำท้องถิ่นจะตรงกับคำว่า awa หรือ avá หมายถึงมนุษย์ ส่วนคำว่า Abaeté จะหมายถึงมนุษย์ที่แท้จริง หรือมนุษย์ที่ถูกต้อง แต่ในภาษาทูปีที่พูดในเขตเมืองบาเฮีย คำว่า Abaeté หมายถึง ผี วิญญาณ และสัตว์ประหลาด จะเห็นว่าคำที่เรียก Abaeté ของคนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความหมายไม่เหมือนกัน คำนี้กลายเป็นจุดยืนสำคัญในการสถาปนามานุษยวิทยาที่อยู่นอกสังคมตะวันตก พร้อมตั้งคำถามและตรวจสอบความหมายของ Anthropos ที่อาจเป็นทั้งมนุษย์และผี เป็นทั้งพวกเราและพวกเขา

           เครือข่ายมานุษยวิทยา Abaeté ในบราซิลจึงเป็นความร่วมมือกันของนักมานุษยวิทยาจากหลายสถาบันซึ่งพยายามเสนอวิธีที่จะก้าวพ้นไปจากการสอนมานุษยวิทยาแบบเดิม โดยเรียกว่ามานุษยวิทยาข้ามพ้นสังคม หมายถึงการสอนแนวคิดมานุษยวิทยาที่ไม่ยึดกรอบเดิม ทั้งนี้ นักมานุษยวิทยาบราซิลพยายามตรวจสอบขอบเขตของมานุษยวิทยาโดยอาศัยความคิดของ Deleuze เกี่ยวกับการเป็นฝ่ายซ้ายซึ่งอธิบายว่าเป้าหมายของฝ่ายซ้ายคือการเปิดโปงปัญหาของฝ่ายขวาที่ซุกอยู่ใต้พรม (Deleuze, 1997) จากแนวคิดนี้ทำให้ Viveiros de Castro นำมาเป็นแรงผลักดันเพื่อเปิดเผยให้เห็นปัญหาทางทฤษฎีมานุษยวิทยาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความน่าจะเป็นที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ประเด็นสำคัญที่ถูกท้าทายคือการตรวจสอบวิทยาศาสตร์และการทำงานของนักมานุษยวิทยา รวมทั้งตรวจสอบวิธีคิดแบบตะวันตกที่แบ่งแยก “วิทยาศาสตร์” ออกจาก “สิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” เช่น ภูตผีวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา วิธีคิดนี้ส่งผลให้เกิดการแยกสังคมตะวันตกที่ทันสมัยออกจากดินแดนอื่น ๆ ที่ถูกมองเป็นความล้าหลังป่าเถื่อน

           Viveiros de Castro กล่าวว่าอัตลักษณ์ของตะวันตกเกิดขึ้นจากการผลิตซ้ำความคิดที่แบ่งแยกโลกออกเป็นสองด้านระหว่างความทันสมัยกับความล้าสมัย หมายรวมถึง การแยกความเจริญกับความเสื่อมถอย คู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ วิธีคิดนี้ตกทอดมาสู่มานุษยวิทยาที่ทำให้เกิดการแบ่งสิ่งต่าง ๆ เป็นสองด้าน เช่น ความเจริญกับจารีตประเพณี นักมานุษยวิทยาจึงศึกษาโลกด้วยความคิดที่แยกมนุษย์ออกจากสิ่งอื่นตลอดเวลา แต่ความเข้าใจมนุษย์ของนักมานุษยวิทยาก็ยังคงเป็นเรื่องที่คลุมเครือ ดังนั้น การเป็นมนุษย์จะเป็นเรื่องของสายพันธุ์หรือเป็นเรื่องภายใต้ความสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ คำอธิบายของมานุษยวิทยามักจะโน้มเอียงเข้าหาลัทธิคานต์ (Kantianism) ซึ่งให้ความสำคัญกับความมีเหตุผลโดยไม่รู้ตัว เช่นการอธิบายคำพูดของคนพื้นเมืองที่ซ่อนความคิดแบบเหตุผลไว้ Viveiros de Castro จึงเสนอให้ถอยห่างจากการอธิบายในแนวทางนี้และแสวงหาการอธิบายที่ไม่ใช่การผลิตซ้ำการมีเหตุผล มิใช่การแสวงหาหมวดหมู่และการแบ่งประเภท

           Viveiros de Castro กล่าวถึงนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ Gabriel Tarde ซึ่งเสนอแนวคิดเรื่อง “จิตใจของกลุ่ม” (group mind) และเป็นผู้โต้แย้งคำอธิบายของ Émile Durkheim ที่เชื่อในความเป็นวิทยาศาสตร์ของสังคมวิทยา แต่ความคิดของ Gabriel Tarde มีอิทธิพลต่อ Deleuze และ Bruno Latour ในการทำความเข้าใจความหมายของสังคมที่ต่างจาก Durkheim แต่ในแวดวงวิชาการความคิดของ Tarde มิได้รับความสนใจแต่ถูกลืมเลือนไปเสมือนเป็นผู้พ่ายแพ้ ในขณะที่ Durkheim ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย ในกรณีของเครือข่าย Abaeté คำว่า post-social ดูเหมือนเป็นการพูดแบบเสียดสีเพื่อตั้งคำถามและรื้อความหมายเดิมเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับข้อสังเกตของ Ingold (1996) ที่ชี้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับสังคมเป็นเรื่องที่ล้าสมัย แนวคิดที่ถูกกล่าวถึงแทนในแวดวงวิชาการปัจจุบัน สนใจเรื่องเครือข่าย, การเพิ่มจำนวน (multiplicities) การสร้างสมมาตร (symmetrizations) การย้อนกลับ (reversibility) การสะท้อนภาพ (reflexivity) แนวคิดเหล่านี้ได้รับการอธิบายในแวดวงวิชาการสาขาต่าง ๆ มานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เป็นที่ถกเถียงคือการตรวจสอบและตั้งคำถามกับแนวคิด เช่น การเสนอแนวคิดของ Latour เรื่อง actor-network theory ที่ชี้ให้เห็นการเชื่อมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตภายใต้เครือข่ายผู้กระทำการ ส่งผลให้เกิดการตอบโต้ไปมาแบบไม่หยุดนิ่ง และไม่ใช่คุณลักษณะของสังคมในแบบเดิม

           แนวคิดสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) เป็นแนวคิดสำคัญในการศึกษามานุษยวิทยา เนื่องจากชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ต่างวัฒนธรรมมีความคิดที่ต่างกัน ทั้งนี้มาจากฐานคิดของชาวตะวันตกที่พยายามแบ่งแยกโลกทัศน์ระหว่างวิธีคิดแบบเหตุผลของตะวันตกกับวิธีคิดแบบไสยศาสตร์ของคนพื้นเมือง ทำให้เกิดการแยกขั้วระหว่างความจริงหนึ่งเดียวกับความจริงที่มากกว่าหนึ่ง Deleuze and Guattari (1987) อธิบายว่าโลกทัศน์ที่มีหนึ่งเดียววางอยู่บนการสร้างความเข้มข้น (intensivity) ของสิ่งเดิมซึ่งอธิบายด้วยแนวคิดการเพิ่มจำนวน (multiplicities) กล่าวคือ สิ่งที่มีอยู่เดิมกำลังสร้างความเข้มข้นให้กับตัวเอง Deleuze and Guattari เชื่อว่าสิ่งที่มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวมีคุณสมับติของการสร้างความเข้มข้น เห็นได้จากการเปรียบเปรยเรื่องรากใต้ดินของพืชที่แตกสาขายุ่งเหยิงอยู่ใต้ดิน รากฝอยที่แตกตัวจากรากแก้วคือวิธีการที่รากกำลังสร้างความเข้มข้นและช่วยทำให้มันอยู่ในสภาวะของเอกฐาน (singularities) ในทัศนะของ Deleuze and Guattari มองว่าแนวคิดการเพิ่มพูนของสิ่งต่าง ๆ มิได้ทำลายการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างความเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นสิ่งที่หลากหลาย

           เช่นเดียวกัน Roy Wagner (1981) อธิบายว่าสัมพัทธนิยมที่นักมานุษยวิทยาใช้อธิบายความหลากหลายของโลกทัศน์อาจมิใช่สิ่งเดียวกับการมีโลกทัศน์ที่มากกว่าหนึ่ง เขาจึงเสนอ ความคิดเรื่อง “สัมพัทธภาพ” (relativity) หมายถึงมนุษย์ในวัฒนธรรมหนึ่งย่อมมีโลกทัศน์ภายใต้เงื่อนไขของวัฒนธรรมนั้น วัฒนธรรมในความคิดของ Wagner เกิดขึ้นจากข้อโต้แย้งระหว่าง อัตบุคคลกับสังคม กล่าวคือสิ่งที่บุคคลกระทำวางอยู่บนเงื่อนไขของการคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ (people-as-inventors) ซึ่งถือว่าเป็นการก่อตัวของวัฒนธรรม แต่สังคมวางอยู่บนกฎเกณฑ์และข้อบังคับที่ควบคุมให้คนหมู่มากปฏิบัติตาม ความไม่ลงรอยดังกล่าวคือสิ่งที่ Wagner ใช้เป็นฐานคิดเพื่ออธิบายสัมพัทธภาพทางวัฒนธรรม (cultural relativity)

           แนวคิดการสมมาตร คือแนวคิดที่พบได้แพร่หลายในคำอธิบายของมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการพูดถึงความยุติธรรม เป็นการแสวงหาความสมดุลและเอกภาพของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งพบได้ในการอธิบายของ Latour จะเห็นว่าแนวคิดเครือข่าย การเพิ่มจำนวนและการสมมาตรเป็นแนวคิดที่กล่าวถึงความมีเอกภาพ (Viveiros De Castro & Goldman, 2012) Latour นำความคิดเรื่อง Rhizome ของ Deleuze and Guattari มาพัฒนาเป็นกรอบคิดเรื่องเครือข่ายผู้กระทำการ (actor-network-theory) แต่ทั้ง Latour และ Deleuze and Guattari มิได้ทำงานภาคสนามแบบมานุษยวิทยา ในขณะที่ความคิดเรื่องการสะท้อนภาพ บ่งบอกให้ทราบว่านักมานุษยวิทยากำลังตรวจสอบสิ่งที่ตนเองกำลังทำทั้งการทำงานและการเขียน เห็นได้จากข้อสังเกตของ Strathern (1987b) ทำให้การสะท้อนย้อนคิดเสมือนการสร้างความเป็นระเบียบให้กับความคิด Strathern และ Wagner นักมานุษยวิทยาที่ทำงานสนามในหมู่เกาะเมลานีเซียพยายามเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เช่น ภาวะสังคม (sociality) และบุคคคลที่แตกเป็นเสี่ยง (fractal person)

           Marcio Goldman กล่าวว่าการสะท้อนภาพเสมือนกับการค้นหาเรื่องราวในอดีตคล้ายกับการขุดเจาพพื้นดืนเพื่อดูชั้นทางธรณีวิทยา การสะท้อนภาพต่างจากการเรียกซ้ำ (recursivity) ตัวอย่างการศึกษาของ Bourdieu (2008) บ่งชี้ว่านักสังคมวิทยาพยายามสะท้อนภาพชีวิตของคนท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจความหมายของการกระทำต่าง ๆ ของเขาเหล่านั้นซึ่งพวกเขาอาจไม่ตระหนักรู้ได้เอง ดังนั้น หน้าที่การสะท้อนภาพและความคิดต่าง ๆ จึงเหมือนเป็นการทำให้ชีวิตของคนอื่นเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ในแง่นี้ การสะท้อนภาพคือวิธีการทำให้สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นรูปธรรม (objectivation) ซึ่งนักมานุษยวิทยาในช่วงทศวรรษ 1980 พยายามใช้วิธีการนี้ในการศึกษาวัฒนธรรมของคนอื่น แต่ในปัจจุบันการทำให้เป็นอัตบุคคล (subjectivation) กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น นักมานุษยวิทยาในช่วงหลังสมัยใหม่จึงแสวงหาการสนทนาระหว่างคนท้องถิ่นกับผู้ศึกษาเพื่อทำให้เห็นการตอบโต้ของอัตบุคคลที่มีชีวิต อย่างไรก็ตามการตอบโต้นี้มิได้เกิดขึ้นจากคนสองคน แต่ยังมีคนอื่นที่ร่วมอยู่ด้วย คำถามคือ นักมานุษยวิทยาจะทำให้เห็นการตอบโต้ระหว่างคนที่หลากหลายได้อย่างไรโดยมิให้เป็นเพียงการนำเสนอคำบอกเล่าของนักมานุษยวิทยากับคำพูดของคนท้องถิ่นที่เป็นปัจเจก

           จะเห็นว่าการสะท้อนย้อนคิดที่เป็นเพียงการรำพึงรำพันระหว่างนักมานุษยวิทยากับคนที่ถูกศึกษา อาจเป็นการผลิตซ้ำความคิดคู่ตรงข้าม ซึ่งคนอื่นที่อยู่ในชุมชนอาจถูกปกปิดไว้ Goldman กล่าวว่านักมานุษยวิทยาเคยชินกับการสร้างโลกให้กับคนอื่นและตอกย้ำโลกของตัวเองที่ต่างจากคนอื่น ความคิดแนวนี้อาจต้องรื้อถอน Viveiros de Castroและ Goldman จึงเสนอว่าการมองเห็นโลกที่หลากหลายคือจุดเริ่มต้น โดยเฉพาะทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกทัศน์ที่มากกว่า 1 แบบ นั่นคือการไม่เอากรอบคิดแบบตะวันตกมาเป็นบรรทัดฐาน แต่แสวงหาความคิดที่หลากหลายในการทำความเข้าใจโลก แนวทางศึกษาของมานุษยวิทยาในทัศนะของ Viveiros de Castro และ Goldman จึงเป็นการศึกษา “ภาพของความคิด” (image of thought) ที่ชี้ให้เห็นถึง “ธรรมชาติของมนุษย์” มิใช่การพรรณาวัฒนธรรมมนุษย์ด้วยกรอบคิดทฤษฎี

           ในหนังสือ Reassembling the Social (2005) ของ Latour ชี้ให้เห็นความหมายของสังคมที่ต่างจากเดิม ซึ่งมิใช่สิ่งที่เกิดและดำรงอยู่อย่างตายตัว แต่เป็นสภาวะของการรวมตัว การตั้งข้อสงสัยเรื่องการนำแสดงภาพของสังคมและวัฒนธรรมผ่านการเขียน George Marcus และ James Clifford (1986) เขียนเรื่องนี้ในหนังสือ Writing Culture เพื่ออธิบายว่าภาษาเขียนเสมือนเป็นภาพแทนของความจริงที่นักมานุษยวิทยาใช้แสดงถึงเรื่องราวของคนอื่น การเขียนจึงไม่สามารถนำเสนอความจริงได้ตรงไปตรงมา แต่แฝงด้วยความคิดและความรู้สึกของผู้เขียน ถึงแม้ว่าการโต้แย้งนี้จะมีอิทธิพลต่อการทบทวนความรู้ทางมานุษยวิทยา แต่คำถามที่ตามมาคืออะไรคือการนำเสนอที่ดีกว่าการเขียน การนำเสนอควรจะมีวิธีการอย่างไร มานุษยวิทยามาถึงทางตันหรือไม่ สิ่งที่นักมานุษยวิทยาจะเขียนถึงได้เป็นแค่เรื่องสะท้อนย้อนคิดการทำงานของตัวเองหรือไม่ คำถามเหล่านี้ทำให้ต้องตรวจสอบงานชาติพันธุ์วรรณนาซึ่งล้วนใช้การเขียนเป็นวิธีการนำเสนอเรื่องราววัฒนธรรมของคนอื่น วิธีที่เป็นไปได้สำหรับนักมานุษยวิทยาคือการสร้างวิธีทำงานขึ้นมาใหม่ (reinvent anthropology) (Strathern, 1987a)

           การแสดงจุดยืนของ Viveiros de Castro และ Goldman ที่ต้องการล้มล้างกระบวนทัศน์ตะวันตกที่ครอบงำการทำงานทางมานุษยวิทยาอย่างยาวนาน มีแรงบันดาลใจและเจตจำนงค์เกี่ยวกับการเชื่อว่ามี “ความจริง” ที่ต่างไปจากวิธีคิดแบบตะวันตก ความจริงเหล่านั้นยังดำรงอยู่ในส่วนอื่นที่นักมานุษยวิทยาต้องเข้าไปสำรวจ และแสวงหาทางเลือกที่ต่างไปจากเดิมโดยการคิดค้นสิ่งใหม่ (reinvention) แต่ Viveiros de Castro และ Goldman ยังมิได้ระบุว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ในประเด็นนี้ David Graeber (2015) ตั้งข้อสังเกตว่าจุดเปลี่ยนทางภววิทยาทำให้นักมานุษยวิทยาต้องเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนเองศึกษา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อภววิทยากำลังเปลี่ยนเป็นกรอบคิดทฤษฎีกระแสหลักในปัจจุบัน ทำให้เกิดความชอบธรรมเหนือกว่าวิธีคิดอื่น ๆ และกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมว่านักมานุษยวิทยาจะพูดอะไรได้หรือไม่ได้ ในกรณีของ Viveiros de Castro เคยกล่าวถึงการตัดสินในตัวเองทางภววิทยา (ontological self-determination) และมองภววิทยาในฐานะเป็นการปฏิวัติ (Holbraad, Pedersen, & Viveiros de Castro, 2014)

           ดูเหมือนว่าการปรากฎตัวของจุดเปลี่ยนทางภววิทยาจะเป็นการโค่นล้มและตัดทิ้งการศึกษาแนวสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน Graeber ตั้งข้อสังเกตว่า Viveiros de Castro กำลังทำให้คนท้องถิ่นเข้าใจและมองเห็นภววิทยาที่ตนเองดำรงอยู่ ในแง่นี้ทฤษฎีทางสังคมอาจดูเหมือนเป็นเกมประเภทหนึ่ง และคนที่จะชนะเกมนี้ได้อาจดูจากการความดุร้ายที่แสดงออกมา แต่มันยังไม่สามารถโค่นล้มระบบอำนาจที่มีอยู่ นักมานุษยวิทยาคุ้นเคยกับการเล่นสิ่งนี้มาก แต่เกมนี้เราไม่รู้ว่าความคิดที่อันตรายนั้นจะเป็นอย่างไร Graeber ยังให้แง่คิดว่าความจริงทางภววิทยาสามารถทำให้การพูดบางอย่างเป็นความจริงและบางอย่างเป็นความเท็จ มันทำลายข้อห้ามของสิ่งที่พูดไม่ได้ในงานเขียนทางมานุษยวิทยา เช่น เวทมนต์คาถาและการเล่นไสยศาสตร์ของคนพื้นเมือง นักมานุษยวิทยาอาจสงสัยว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้หรือที่เวทมนต์และการเสกคาถาอาคมเพื่อทำให้บุคคลมีโชคร้ายหรือได้รับการคุ้มครองจากวิญญาณที่มองไม่เห็น

           ดังเช่น Evans-Pritchard (1937) เคยกล่าวว่าเวทมนต์ของแม่มดหมอผีไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้ แต่สิ่งที่ Evans-Pritchard ได้พบเจอคือลำแสงในตอนกลางคืนเมื่ออยู่ในหมู่บ้านของชาว Zande เขาสงสัยว่ามันจะเป็นแสงของตะเกียงหรือไม่ เขาจึงไปสอบถามชาวบ้านว่าเมื่อคืนมีใครออกมาตอนดึกและถือตะเกียงหรือไม่ แต่ชาวบ้านตอบว่าไม่มีใครออกนอกบ้านเมื่อคืน Evans-Pritchard จึงคาดเดาว่ามันอาจะเป็นจุดไฟเผาหญ้าแห้ง แต่นี่เป็นเพียงการหาเหตุผลอธิบายสิ่งเร้นลับที่ชาวตะวันตกไม่เข้าใจ ประสบการณ์ของ Evans-Pritchard อาจทำให้เห็นความเป็นไปได้ของสิ่งที่ยังคลุมเครือ Peter Winch (1964) กล่าวว่าเวทมนต์สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดในอำนาจของมนุษย์และมันยังเป็นอำนาจที่ดำรงอยู่ในข้อจำกัดของความรู้ที่มนุษย์มี Graeber (2007) กล่าวว่าการเข้าใจ “ความจริง” ของคนอื่นล้วนดำเนินไปพร้อมกับสิ่งที่ไม่สามารถเดาเดาได้อย่างชัดเจน ซึ่งมันคือความไม่รู้ (unknowability) ที่ดำรงอยู่รอบตัวเราทุกคน


เอกสารอ้างอิง

Bourdieu, P. (2008). Sketch for a self-analysis. Translated by Richard Nice. Chicago: University of Chicago Pres.

Clifford, J. & Marcus, G.E. (eds). (1986). Writing culture. The poetics and politics of ethnography. Berkeley: University of California Press.

Deleuz, G. (1997). Negotiations 1972–1990. Translated by Martin Joughin. New York: Columbia University Pres.

Deleuze, G. & Guattari, F. (1987). A thousand plateaus. Translated by Brian Massumi. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Evans-Pritchard, E. E. (1937). Witchcraft, oracles and magic among the Azande. Oxford: Clarendon Press.

Graeber, D. (2007). Lost people: Magic and the legacy of slavery in Madagascar. Bloomington: Indiana University Press.

Graeber, D. (2015). Radical alterity is just another way of saying “reality” A reply to Eduardo Viveiros de Castro. Hau: Journal of Ethnographic Theory, 5 (2), 1–41.

Holbraad, M., Pedersen, M.A., & Viveiros de Castro, E. (2014). The politics of ontology: Anthropological positions. Theorizing the Contemporary, Fieldsights, January 13. https://culanth.org/fieldsights/the-politics-of-ontology-anthropological-positions

Ingold, T. (1996). Key debates in anthropology. London: Routledge.

Latour, B. (2005). Reassembling the social. Oxford: Oxford University Press.

Strathern, M. (1987a). Out of context: The persuasive fictions of anthropology. Current Anthropology, 28 (3), 251–81.

Strathern, M. (1987b). The limits of auto-anthropology. In Anothony Jackson (ed.) Anthropology at home, (pp.59–67). London: Tavistock Publication.

Viveiros De Castro, E. & Goldman, M. (2012). Introduction to Post-Social Anthropology: Networks, Multiplicities, and Symmetrizations, HAU: Journal of Ethnographic Theory, 2 (1), 421–433.

Wagner, R. (1981). The invention of culture. Chicago: University of Chicago Press.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยาพ้นสังคม Post-Social Anthropology มานุษยวิทยา ชายขอบ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา