Posthuman Anthropology: ข้อสังเกตของ Alf Hornborg
Alf Hornborg คือนักมานุษยวิทยาชาวสวีเดนที่สนใจระบบทุนนิยมโลกที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีประสบการณ์ทำงานสนามในชุมชนพื้นเมืองในบราซิล เปรู และแคนาดา และต้องการชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้บดบังกลไกที่ไม่เป็นธรรมและสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับคนจำนวนมาก ในปี ค.ศ.2021 เขาได้เขียนบทความเรื่อง Objects Don't Have Desires: Toward an Anthropology of Technology beyond Anthropomorphism เพื่อที่จะตั้งคำถามและทบทวนกระแสความคิดของมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ และกลับมาใคร่ครวญใหม่ว่าวัตถุในระบบทุนนิยมที่มีเงินตราครอบกำกับนั้น เป็นอิสระจากการรับรู้ของมนุษย์จริงหรือไม่
ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจากกระแสวิพากษ์และข้ามพ้นคู่ตรงข้าม (postdualism) (Escobar, 2018) ภายใต้การเคลื่อนไหวของจุดเปลี่ยนทางวัตถุ (material turn) จุดเปลี่ยนทางภววิทยา (ontological turn) และการพ้นมนุษยนิยม (posthumanism) นักวิชาการต่างสนใจศึกษาวัตถุและความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อสิ่งต่าง ๆ แต่สิ่งที่ล่อแหลมและน่ากังวลมากที่สุดคือการค้นหาสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตนของวัตถุ” (object agency) (Hornborg, 2021) ในเจตนารมย์ของจุดเปลี่ยนความคิดที่จะก้าวพ้นการแยกคู่ตรงข้ามและรื้อถอนอำนาจของตะวันตกที่เคยครองโลกตั้งแต่ยุคEnlightenment จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้การแยกมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์เป็นเรื่องที่ล้าสมัย การศึกษาวัตถุในฐานะสิ่งที่ดำรงอยู่ด้วยตัวเองจึงทำให้เกิดการรื้อความคิดที่แยกสิ่งมีชีวิตออกจากสิ่งไร้ชีวิต และเกิดความสนใจศึกษาเครือข่ายที่ซับซ้อนและพึ่งพากันของสิ่งต่าง ๆ (Latour, 1993; 1996) ทำให้ทุกสิ่งกลายสภาพเป็นเอกลักษณ์เดียวนั่นคือการดำรงอยู่เชิงอัตตะ เกิดการสลายความแตกต่างระหว่างการเป็นอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุ และละทิ้งความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่
นักมานุษยวิทยาซึ่งทำงานใกล้ชิดกับคนต่างวัฒนธรรมและมีวิธีคิดที่ต่างไปจากตะวันตก ค้นพบว่าการค้นหาตัวตนของวัตถุไม่อาจละทิ้งการศึกษาปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การสลายคู่ตรงข้ามของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตอาจกลบเกลื่อนระบอบอำนาจที่กระทำต่อสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Hornborg, 2021) การดำรงอยู่ของเงินที่มีทั้งเหรียญตรา ธนบัตร ไปจนถึงเงินในระบบออนไลน์ สิ่งนี้คือวัตถุที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและมีอำนาจต่อการกำหนดว่าใครคือคนรวยและคนจน ปัญหานี้เป็นเรื่องที่กระแสพ้นมนุษย์ไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนว่าทำไมวัตถุเชิงเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมในโลกปัจจุบัน
Bruno Latour เคยมีบทบาททางความคิดอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เนื่องจากเขาโต้แย้งการมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเสนอการศึกษาเทคโนโลยีในฐานะผู้กระทำการที่มีเจตจำนงค์ของตัวเอง Hornborg(2021) ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่ Latour เสนอไว้ยังไม่สามารถอธิบายปรากกฏการณ์สังคมขนาดใหญ่ที่กำลังขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมที่มีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมและกำหนดมาตรการต่าง ๆ เช่น การกีดกันทางการค้า การจ้างแรงงานต่างด้าว การผูกขาดราคาในตลาด การควบคุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร เป็นต้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้จำเป็นต้องมองมิติของอำนาจที่มนุษย์ยังเป็นผู้บ่งการ นอกจากนั้น Latour ยังทำให้ปฏิบัติการและการกระทำของมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์มีความเป็นกลาง เช่น ภูเขาไฟระเบิดมีนัยยะที่ไม่ต่างกับการคอร์รัปชั่นของมนุษย์ สิ่งที่ถูกละทิ้งไปคือ “การสื่อสารเชิงเป้าหมาย” (purposive communication) ที่มักพบในการปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์ เป้าหมายในที่นี้มักมาพร้อมกับกลไกของกฎระเบียบและการควบคุมเพื่อให้ได้ประโยชน์ สิ่งนี้มักจะเป็นพฤติกรรมที่มนุษย์มีต่างไปจากสิ่งที่มิใช่มนุษย์
ถึงแม้ว่า Latour จะสลายคู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์เพื่อที่จะโต้แย้งวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และระบบเหตุผลที่เกิดจากทวินิยมแบบคาร์ทีเซียน (Cartesian dualism) แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามหรือละทิ้งไปคือความแตกต่างระหว่าง “สังคม” กับ “โลกธรรมชาติ” เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่ไม่เหมือนกันที่มนุษย์ทำขึ้นและธรรมชาติแสดงออกมา เช่น ผลกระทบของระบบทุนนิยมย่อมต่างจากผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ถึงแม้ว่าทั้งสองส่วนนี้เกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนก็ตาม Hornborg (2021) ตั้งข้อสังเกตว่าการอธิบายของ Latour ดูราวกับการทำให้ความรู้สึกนึกคิดมีฐานะที่เหนือกว่าสิ่งที่เป็นวัตถุที่ไร้ความรู้สึก เช่น สิ่งมีชีวิตย่อมมีความรู้สึก ขณะที่ก้อนหินไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้ ในหนังสือของ Latour เรื่อง Facing Gaia: Eight Lectures on the New Climatic (2017) และ Down to Earth: Politics in the New Climatic Regime (2018) ชี้ให้เห็นว่าสังคมของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมโยงใยเข้าหากันอย่างซับซ้อน แต่ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่มีความรู้สึกและไร้ความรู้สึกก็ยังคงเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ชัดเจน
ปัจจุบันแนวการศึกษาของ Latour คือการข้ามพ้นทวิภาวะนิยม (postdualist approaches) และทำให้เกิดการกระตือรือร้นที่จะค้นหาและทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของสิ่งที่มิใช่มนุษย์ให้มากขึ้น แนวทางดังกล่าวนี้ทำให้เกิดพรมแดนและขอบเขตของ “สิ่งที่มิใช่มนุษย์” (nonhuman) ทำให้เกิดการศึกษา “การดำรงอยู่เชิงวัตถุ” (material entity) มีความพยายามที่จะอธิบายการหลอมรวมผสมเข้าหากันของสิ่งต่าง ๆ และทำลายความเข้าใจโลกในแบบเดิม (Danowski & Viveiros de Castro, 2017) คำถามคือ เรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่มิใช่มนุษย์จะมีส่วนทำให้มนุษย์มีชีวิตที่อยู่รอดได้อย่างยาวนาน หรือทำให้สังคมมีความมั่นคงและสมดุลมากขึ้น ถ้าสิ่งที่มิใช่มนุษย์มีส่วนทำในสิ่งเหล่านี้ได้ อะไรคือแบบแผนหรือกลไกที่จะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ประเด็นนี้ Jane Bennett (2010) กล่าว่าวัตถุต่าง ๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงและกลายสภาพได้เหมือนกัน เพราะวัตถุคือสิ่งที่มีพลังและมีอิสระในตัวเอง ประเด็นนี้คือคำอธิบายเกี่ยวกับการเป็นผู้กระทำการของวัตถุ เช่น กระแสไฟฟ้าขัดข้องทำให้เกิดไฟดับ
คำอธิบายของ Bennett ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมความผิดพลาดของเทคโนโลยีได้ หมายถึง วัตถุต่าง ๆ เช่น กระแสไฟฟ้าที่มนุษย์ใช้งานล้วนมีพลังและอิสระที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ดังนั้น การหยุดชะงักหรือการเสื่อมของวัตถุอาจมิใช่สิ่งที่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่วัตถุเองก็มีส่วนที่จะทำให้ตนเองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คำอธิบายแนวนี้ทำให้เข้าใจว่าวัตถุทำสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากการบงการของมนุษย์ Hornborg (2021) วิจารณ์ว่าทั้ง Latour และ Bennett กำลังผลักความรับผิดชอบไปให้กับวัตถุที่ดูเหมือนมีพลังอำนาจที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ ในทางกลับกัน Eduardo Kohn (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าความแตกต่างระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นไม่ควรจะถูกลดทอนให้เหลือเพียงความเป็นวัตถุที่ดูเหมือน ๆ กัน กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์จะใช้สัญลักษณ์เพื่อสร้างความหมายของการอยู่ในโลก ในขณะที่สิ่งอื่นอาจดำรงอยู่ด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนกัน Kohn พิจารณาว่ากระบวนทัศน์พ้นมนุษย์ที่เกิดขึ้นอาจกำลังผลิตซ้ำและสืบทอดวิธีคิดทวิลักษณ์แบบคาร์ทีเซียนโดยไม่รู้ตัว
มนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่มิใช่มนุษย์มีความเหมือนกันตรงที่ “มีสำนึกของตัวตน” สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ล้วนตระหนักและรับรู้ได้ว่าตนเองดำรงอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร ในแง่นี้ความแตกต่างระหว่าง “การมีชีวิต” (Being) และ “การเป็นวัตถุ” (Thing) จึงมีนัยยะสำคัญ Hornborg (2021) และ Kohn (2013) พิจารณาว่าการนำความแตกต่างของสองสิ่งนี้มาสลายออกเพื่อทำให้มันเป็น “วัตถุ” ที่เหมือนกันอาจละเลยคุณลักษณะที่มันมีต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สำนึกรู้ในตัวตน” (Selves) ไม่สามารถลดทอนให้เป็นเพียงวัตถุ ถึงแม้ว่าแนวคิดพ้นมนุษย์ของ Latour และ Bennettจะพยายามสร้างความเสมอภาคของมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ แต่มิได้หมายความว่า “ความเป็นมนุษย์” จะถูกมองเป็นเพียงวัตถุภาวะอย่างหนึ่งที่ดำรงอยู่ร่วมกับสิ่งอื่นในโลก ลักษณะเฉพาะของมนุษย์ยังเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เมื่อมนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์และสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างไม่รู้จบ สิ่งนี้ทำให้มนุษย์ไม่เหมือนกับสิ่งของและวัตถุอื่น ๆ
Hornborg (2021) ยังชี้ว่าวิธีคิดเรื่องการพ้นมนุษย์ทำให้สิ่งที่แตกต่างกลายเป็นวัตถุที่เหมือนกัน และยังทำให้เกิดการสร้างความจริงหรือภววิทยาอีกแบบหนึ่งที่ทุกสิ่งดูแบนราบและปราศจากลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน ในช่วงเวลาของ “มนุษยสมัย” (Anthropocene) ที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนของธรรมชาติและระบบนิเวศ นักวิชาการแนวพ้นมนุษย์ต่างสนใจเรื่องปัญหาการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางและอำนาจผูกขาดของระบบทุนนิยมโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นล้วนขับเคลื่อนด้วยความหมายที่มนุษย์นิยามว่าอะไรคือการทำลายสิ่งแวดล้อมและการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ดังนั้น ความหมายของการพ้นมนุษย์อาจจะเป็นเรื่องการพร่าเลือนของพรมแดนระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ซึ่งเริ่มชัดเจนมาตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีไซเบอร์เนติกส์ในทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา Wolfe (2010) ตั้งขอสังเกตว่าเทคโนโลยีไซเบอร์เนติกส์คือความพยายามที่จะเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การคิดคำนวณ การเดินทาง การจำ และการประมวลผล ไซเบอร์เนติกส์ทำให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ มาจนถึงปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ทั้งสิ้น
Donna Haraway (1985) เคยกล่าวว่าไซบอร์กคือเบอร์เนติกส์ที่มีชีวิต (cybernetic organism) บ่งบอกสภาวะผสมกันของสิ่งมีชีวิตกับเครื่องจักรกล คำอธิบายดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าความเป็นมนุษย์พัวพันกับวัตถุสิ่งของอื่น ๆ ในหนังสือของ Haraway (2016) เรื่อง Staying with the Trouble: Making Kin in the Chthulucene ได้ท้าทายการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์และเสนอให้เห็นว่าวิกฤตการณ์โลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกับกระตุ้นและเชิญชวนให้มนุษย์ร่วมกับรับผิดชอบและสร้างความหลากหลายของสายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม Hornborg (2021) กล่าวว่า Haraway จัดอยู่ในกลุ่มความคิดเดียวกับ Latour ที่ต้องการรื้อวิธีคิดคู่ตรงข้ามและสลายเส้นแบ่งระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต แต่สิ่งที่ถูกละเลยไปก็คือการตระหนักถึง “มิติทางสังคม” ที่สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตเข้ามาประสานกัน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีภายใต้โครงสร้างอำนาจของทุนนิยมโลกที่ควบคุมการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ท้าทายจุดเปลี่ยนทางวัตถุก็คือ การมองเห็นวัตถุภาวะที่อยู่ในระบบการค้าโลก (materiality of world trade) ซึ่งมีการสะสมทุนและการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
Hornborg (2021) วิจารณ์ว่าความก้าวหน้าและบทบาทของเทคโนโลยีกำลังบดบังอำนาจทางการเมืองและการกระจายตัวของทรัพยากรที่บิดเบี้ยว การรวมตัวของสิ่งมีชีวิตและเทคโนโลยีในปัจจุบันมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น การสลายความแตกต่างของมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์เพื่อที่จะเห็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งต่าง ๆ อย่างเสมอภาค อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกลายเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับโดยปริยาย ข้อสังเกตนี้ทำให้ต้องกลับไปย้อนคิดถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นในช่วงคริสต์ศวตรรษที่ 18 ซึ่งมนุษย์สร้างและใช้เทคโนโลยีในฐานะความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า เทคโนโลยจึงกลายเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนเดียวกับการมีชีวิตในสังคม ความเข้าใจนี้กลายเป็นแนวคิดเรื่องกระบวนการกลายเป็นเครื่องมือ (instrumentalization) ซึ่งสนใจว่าเทคโนโลยีจะถูกใช้อย่างไร กระแสความคิดพ้นมนุษย์ล้วนนำความเข้าใจดังกล่าวมาขยายความเพื่ออธิบายว่าวัตถุมีตัวตนและสามารถกระทำสิ่งต่างๆได้เหมือนกับมนุษย์ ในแง่นี้อาจเป็นการตอกย้ำตรรกะของทุนนิยมที่เชื่อในความก้าวหน้าและประสิทธิภาพของวัตถุ
การข้ามพ้นคู่ตรงข้ามและการสลายเส้นแบ่งของมนุษย์กับสิ่งมิใช่มนุษย์จะถูกอธิบายให้เข้าใจด้วยการทำให้วัตถุมีตัวตนหรือมีชีวิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ถูกทำให้เป็นเครื่องบ่งชี้ของการผสมรวมกันของมนุษย์กับวัตถุ Hornborg (2021) ตั้งข้อสังเกตว่าการรวมตัวกันของมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์วางอยู่บนระบบของเทคโนโลยี หมายถึงความเป็นมนุษย์จะมีสถานะเท่ากับความเป็นวัตถุซึ่งไม่สนใจว่าทั้งสองส่วนนี้จะมีพื้นฐานและเงื่อนไขของการดำรงอยู่ต่างกันอย่างไร กล่าวคือคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกันของสิ่งต่าง ๆ จะไม่ใช่สิ่งสำคัญ ยกเว้นการมีตัวตนภายในเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กระทำต่อกัน ดังนั้น การอธิบายจากจุดเปลี่ยนทางวัตถุภาวะจึงสนใจเฉพาะปฏิบัติการที่สิ่งต่าง ๆ ตอบโต้และปะทะสังสรรค์กัน แรงกระทำที่มีต่อกันจึงมีความสำคัญและตอกย้ำเรื่อง “การเป็นวัตถุที่มีพลังในตัวเอง” (autonomous objects) เป็นการเน้นย้ำว่าวัตถุคืออรรถประโยชน์ (functional utility) ที่ใช้สร้างสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น การรวมตัวกันของมนุษย์และวัตถุจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในพรมแดนเทคโนโลยี กลุ่มความคิดแบบมาร์กซิสต์เคยวิพากษ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมภายใต้โครงสร้างการผลิตแบบทุนนิยมและการมีอำนาจครอบงำโดยใช้วัตถุและสินค้าเป็นเครื่องมือ เช่นเดียวกับความคิดของ Heidegger ที่เสนอแนวคิดเรื่องการกลายเป็นเครื่องมือที่สถาปนาวัตถุให้เป็น “ผู้กระทำการ” ทำให้ตัวเองมีมูลค่า ตรรกะดังกล่าวล้วนมองวัตถุเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งถือเป็นหัวใจของความเป็นสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จะเห็นว่านักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ และนักสังคมวิทยา สนใจระบบการแลกเปลี่ยนทางวัตถุเพื่อทำให้เกิดรายได้และการสะสมทุน การใช้วัตถุสิ่งของในสังคมมนุษย์จึงถูกอธิบายในฐานะเป็นความสัมพันธ์ที่มีการแลกเปลี่ยน เมื่อพิจารณาการโต้แย้งของแนวคิดพ้นมนุษย์ จะเห็นว่ามีการวิพากษ์ระบบทุนนิยมที่เป็นต้นเหตุของการปัญหาการเสื่อมโทรมของโลก นักวิชาการเช่น Escobar (2018) เคยกล่าวว่ามนุษย์กับสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นสะท้อนให้เห็นภววิทยาเชิงสัมพันธ์ (relational ontology) ที่บ่งบอกการเชื่อมต่อและโยงใยของมนุษย์กับวัตถุ ตอกย้ำอย่างชัดเจนว่ามนุษย์กับโลกต่างเป็นส่วนสร้างซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม กระแสความคิดพ้นมนุษย์ให้ความสำคัญกับ “การมีตัวตน” ของวัตถุและสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ขณะเดียวกันก็พยายามเสนอการมีชีวิตอยู่ร่วมกันที่สร้างสรรค์และไม่เกิดการทำลายล้าง Escobar (2018) เชื่อว่ามนุษย์สามารถออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ แต่มิได้ตั้งคำถามหรือรื้อถอนความคิดเรื่องเงินในระบบทุนนิยม Escobar (2018) มิได้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์จะปรับแก้ไขวัตถุที่เรียกว่าเงินให้ต่างไปจากเดิมอย่างไร Hornborg (2021) ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการโต้แย้งของกระแสข้ามพ้นคู่ตรงข้ามและการพ้นมนุษย์คือการกลับมาจัดระเบียบมนุษย์ใหม่เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมิตรกับโลก แต่ยังไม่เห็นข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการกับวัตถุที่เรียกว่าเงิน หรือชี้ให้เห็นว่าตัวตนของเงินเกิดขึ้นอย่างไรและมันกระทำการในสังคมได้อย่างไร ทำให้เกิดความย้อนแย้งของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุที่ด้านหนึ่งเห็นศักยภาพที่มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงโลก แต่อีกด้านหนึ่งมองไม่เห็นว่าวัตถุจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อโลกได้อย่างไร
ทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการ (actor–network theory) ของ Latour มองว่าวัตถุทุกประเภทล้วนมีตัวตน ตัวตนในที่นี้คือความหมาย (signification) ที่ดำรงอยู่ในวัตถุ เป็นความหมายที่สะท้อนการกระทำของวัตถุ Hornborg (2021) ตั้งข้อสังเกตว่าการดำรงอยู่ของวัตถุในทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการเป็นเรื่องเดียวกับการมีความหมายและการมีตัวตน ในแง่นี้การพูดถึงการดำรงอยู่ก็เท่ากับการพูดถึงการมีตัวตน สิ่งนี้อาจเป็นความซ้ำซ้อนที่ปรากฎขึ้นของทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการ สิ่งที่เรียกว่า “ความหมาย” ที่เทียบเท่ากับการมีตัวตนนั้น ล้วนถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบทที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ความหมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองแต่ถูกทำให้เป็นตัวตนของวัตถุอาจเป็นเรื่องที่ล่อแหลมต่อการทำความเข้าใจว่าการดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองของวัตถุดำเนินไปอย่างไร Hornborg (2021) ถ้าความหมายมาจากการประกอบสร้าง การดำรงอยู่ของวัตถุก็มิใช่เรื่องเอกเทศ แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ที่อาศัยประสบการณ์ ความคิด การรับรู้ และการสื่อสารที่ตอบโต้กันระหว่างวัตถุและมนุษย์ (Ingold, 2000; 2001) การศึกษาเชิงปรากฎการณ์วิทยาเคยชี้ให้เห็นว่าการทำงานของความหมายจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ของมนุษย์ (subjective experience) ดังนั้น การระบุว่าความหมายของสิ่งเดียวกับตัวตนของวัตถุจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก
Hornborg (2021) กล่าวว่าตัวตนของวัตถุเป็นเพียงผลกระทบเชิงความหมาย (semiotic effects) ที่ปรากฎขึ้นกับวัตถุ การที่วัตถุบ่งบอกถึงคุณสมบัติและคุณลักษณะบางอย่าง หรือถูกใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ มิได้หมายความว่ามันคือการแสดงตัวตน แต่เป็นการปฏิบัติที่มนุษย์กระทำต่อวัตถุ และเป็นสื่อกลางที่นำพาความหมายแผ่กระจายออกไป ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตที่มีเจตจำนงค์ (purposive beings) กับวัตถุที่มีความหมาย (significant objects) เป็นเรื่องพื้นฐานของการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ (Appadurai, 1986) วัตถุที่ดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์ล้วนมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความหมายของวัตถุถูกสร้างใหม่ให้สอดคล้องกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้กระแสจุดเปลี่ยนทางวัตถุ คำอธิบายเรื่องตัวตนที่เกิดขึ้นเองของวัตถุกลายเป็นคำอธิบายใหม่ที่ต่างไปจากการศึกษาเดิมที่มองวัตถุในฐานะผลผลิตของความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น จะเห็นว่าการมีตัวตนของวัตถุในกรอบคิดพ้นมนุษย์ วัตถุคือสิ่งที่สามารถคิด กระทำ รู้สึก และมีประสบการณ์ไม่ต่างจากมนุษย์
ในกรณีวัตถุในระบอบทุนนิยมโลกปัจจุบัน เงินก็คือวัตถุที่มีตัวตนที่ปรารถนาจะครอบครองสิ่งต่าง ๆ เพื่อทำให้สิ่งอื่นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากนำคำอธิบายของกระบวนทัศน์พ้นมนุษย์มาอธิบาย จะพบว่าเงินได้ทำลายความเท่าเทียมและสร้างความเหลื่อมล้ำ วัตถุที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจะดำรงอยู่ในฐานะสิ่งที่มีพลังอำนาจ ทำให้วัตถุบางอย่างเป็นทรัพย์สิน บางอย่างเป็นขยะ บางอย่างเป็นของไร้ค่า คำอธิบายดังกล่าวอาจไม่ต่างจากข้อสังเกตของมาร์กซิสต์ที่กล่าวถึง Fetishism โดยมนุษย์หลงติดอยู่กับวัตถุและใช้วัตถุเพื่อความปรารถนาของตน ในความคิดแบบพ้นมนุษย์ วัตถุที่มีตัวตนอาจทำให้ความปรารถนาของมนุษย์เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือ ระหว่างความปรารถนาของมนุษย์กับการกระทำของวัตถุ ผลกระทบและคุณค่าของสองสิ่งนี้ถูกวางในระนาบเดียวกันได้หรือไม่ ในความคิดของ Hornborg (2021) ถ้าสองสิ่งมีค่าไม่ต่างกัน สิ่งที่เป็นความเหลื่อมล้ำจาก Fetishism จะไม่มีความหมายใด ๆ นั่นคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุในทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการจะมองไม่เห็นประสบการณ์และความรู้สึกของการครอบครองทรัพย์สินที่ไม่เท่ากัน
Hornborg (2021) อธิบายว่าการรับรู้ของมนุษย์ต่อการดำรงอยู่ของวัตถุมีความสำคัญ ถ้าปราศจากการรับรู้ สิ่งที่เรียกว่า “ตัวตนของวัตถุ” จะเกิดขึ้นไม่ได้ ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับวัตถุจึงดำเนินไปโดยมีมนุษย์เป็นริ่เริ่ม ไม่ว่าจะนิยาม “การริเริ่ม” นี้ด้วยกรอบคิดแบบไหน การเคลื่อนตัวของปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวก็ตัดทิ้งมนุษย์ไม่ได้ คำถามสำคัญคือ ในการเห็นตัวตนของวัตถุจะช่วยให้เห็นระบบโลกที่มีความไม่เท่าเทียมกันได้ด้วยหรือไม่ หน้าที่ของนักวิชาการคงไม่หยุดอยู่แค่การทำความเข้าใจว่าวัตถุต่าง ๆ บนโลกมีปฏิสัมพันธ์และกระทำการต่อกันอย่างไรเท่านั้น แต่ควรเปิดโปงและชี้ให้เห็นความเป็นธรรมและความฉ้อฉลที่เป็นผลจากการใช้วัตถุเหล่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การศึกษาว่าคนพื้นเมืองรับรู้และให้ความหมายต่อการดำรงอยู่ของวัตถุในสภาพแวดล้อมที่เขามีชีวิตอยู่ มิใช่คำตอบเดียวกันที่จะนำไปวิพากษ์โครงสร้างอำนาจและการเอารัดเอาเปรียบของระบบทุนนิยม เช่น การใช้ชีวิตในวัฒนธรรมบริโภคของชาวอเมริกันซึ่งใช้สินค้าเพื่อตอบสนองชีวิตที่สะดวกสบาย ไม่สามารถวางอยู่ในระนาบเดียวกันการใช้ชีวิตของคนพื้นเมืองในป่าแอมะซอน ถึงแม้ว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุที่แตกต่างหลากหลาย
Hornborg (2021) กล่าวว่าการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของวัตถุในโครงสร้างของทุนนิยมโลก จำเป็นต้องรื้อถอนความคิดเรื่อง “ตัวตนของวัตถุ” เพราะสิ่งประดิษฐ์มิได้ถูกใช้โดยเจตจำนงค์ของตัวมันเอง แต่ถูกมนุษย์นำไปใช้เพื่อตอบสนองความต้องการ ดังนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องแยกแยะว่า “วัตถุ” กับ “ความปรารถนา” ของมนุษย์ไม่เหมือนกัน ลักษณะเฉพาะของมนุษย์ที่สามารถสร้างสัญญะและความหมายให้กับโลก คือเรื่องราวที่ไม่ควรละทิ้งไป ถึงแม้ว่า Latour จะเสนอว่ามนุษย์จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ แต่สิ่งนี้เห็นได้ในพรมแดนของการพึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศและภูมิศาสตร์ ในกรณีของนักเศรษฐศาสตร์ มักจะแยกธรรมชาติออกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กรณีของวิศวกร การพัฒนาเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องศึกษาระบบอำนาจของโลก จะเห็นว่าการแยกสองสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในพรมแดนของทุนนิยม สิ่งสำคัญคือ เงินจำนวนมหาศาลถูกใช้ไปเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือในอุตสาหกรรมและการค้า ฉะนั้น มนุษย์คือตัวการสำคัญที่ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยี ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด การทำความเข้าใจความปรารถนาและทะเยอทะยานของมนุษย์ไม่ควรถูกลดทอนให้เป็นเพียงปฏิสัมพันธ์ที่เท่ากันระหว่างมนุษย์กับวัตถุ
ที่ผ่านมา มานุษยวิทยาเทคโนโลยีให้ความสนใจกับสิ่งประดิษฐ์และวัตถุที่ถูกสร้างและใช้ในสังคมสมัยใหม่ แต่สิ่งที่ยังขาดการศึกษาคือการเปรียบเทียบการใช้วัตถุที่พบในสังคมก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งถูกให้ความหมายผ่านประสบการณ์ทางสังคมของมนุษย์ การเปรียบเทียบนี้อาจช่วยให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมิได้เป็นอิสระจากระบอบอำนาจและการควบคุมของมนุษย์ เทคโนโลยียังคงมีปฏิสัมพันธ์กับคุณค่า อุดมการณ์ และความรู้สึกที่มนุษย์กระทำต่อมัน ภายใต้ปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นล้วนวางอยู่บนบริบทการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เทคโนโลยีมิได้หลุดลอยออกไปจากเครือข่ายสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น Hornborg (2021) เน้นย้ำว่าการศึกษาวัตถุในฐานะผู้กระทำการนั้น จำเป็นต้องเข้าใจว่าการดำรงอยู่ของวัตถุได้รับการค้ำจุนและจัดการโดยกิจกรรมทางสังคม ศักยภาพและพลังของวัตถุอาจเป็นความสามารถที่จะอำพรางและปิดบังวิธีการต่าง ๆ ที่มันต้องพึ่งพาการรับรู้ของมนุษย์ ในระบบทุนนิยมโลก จะพบว่าเทคโนโลยีผนวกตัวเองเข้าไปอยู่ในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรและผลประโยชน์ เทคโนโลยีเหล่านั้นจึงมีส่วนสร้างการเอารัดเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้น เทคโนโลยีอาจเปรียบเสมือนเป็นเวทมนต์คาถาที่ทำให้มนุษย์ได้รับความสุขสำราญและความทุกข์ทรมานได้ในเวลาเดียวกัน (Hornborg, 2016)
ในทัศนะของ Hornborg (1992, 2015, 2016, 2021) วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีในสังคมอุตสาหกรรม มีศักยภาพและพลังในตัวเองเหมือนกับเครื่องรางของขลังและวัตถุที่ปลุกเสกขึ้นมาเพื่อมนุษย์นำไปใช้สำหรับสร้างสรรค์และทำลายล้าง ประสิทธิภาพทางวัตถุ (material efficacy) ที่ดำรงอยู่ในเครื่องจักรและสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายมิได้เกิดขึ้นได้เอง แต่มันต้องอาศัยการกระทำจากมนุษย์ที่มีความเชื่อและความรู้สึก ในแง่นี้สถานะของวัตถุและประสบการณ์ของมนุษย์ไม่สามารถลดทอนให้เป็นเพียงผู้กระทำการที่ไร้คุณสมบัติที่ต่างกัน Hornborg (2021) เชื่อว่าการทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จำเป็นต้องเห็นเครือข่ายของอำนาจที่เข้ามาพัวพันกับปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอำนาจของระบบทุนนิยมโลกที่สร้างความจริงเกี่ยวกับการใช้เงินเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การตั้งคำถามต่อภววิทยาของทุนนิยมปัจจุบันจึงสำคัญพอ ๆ กับการสลายเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และวัตถุ สิ่งที่นักมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ควรตระหนักก็คือ ภายใต้แนวคิด “ตัวตนของวัตถุ” เราจะทำความเข้าใจการกระจายทรัพยากรในโลกที่ไม่เท่าเทียมกันได้อย่างไร
แนวคิดเรื่อง machine fetishism และ Technofetishism ที่เสนอโดย Hornborg (1992, 2015) เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดความไม่ลงรอยระหว่างการเจริญเติบโตทางวัตถุกับความถดถอยของความเท่าเทียมทางสังคม เทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ที่มีบทบาทในระบบทุนนิยมถูกใช้เพื่อการสะสมทุนและการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เทคโนโลยีจึงเสมือนเครื่องรางของขลังที่เสกให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมโทรมทางสังคมได้พอ ๆ กัน ดังนั้น การศึกษาตัวตนของวัตถุอาจมิใช่การค้นหา “ตัวตนที่เป็นอิสระ” (autonomous agents) แต่ควรพิจารณาว่ามนุษย์กระทำต่อวัตถุด้วยความรู้สึกและรับรู้การมีอยู่ของวัตถุผ่านประสบการณ์ทางสังคม สิ่งนี้นำไปสู่ความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกปลุกเสกด้วยเวทมนต์ (fetishized social relations) ในประเด็นนี้ Hornborg ต้องการชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ของ “การมีอยู่ของวัตถุ” ผ่านประสบการณ์ของมนุษย์นั้นยังเป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้ว่าจุดเปลี่ยนทางภววิทยาจะโต้แย้งว่า “การดำรงอยู่ของวัตถุ” อยู่นอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์ก็ตาม
Hornborg (2015, 2021) ได้ยกตัวอย่าง “เงิน” ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ของระบบทุนนิยมโลก มันไม่สามารถมองเป็นแค่ตัวตนที่เป็นอิสระและการดำรงอยู่ที่อยู่นอกการรับรู้ของมนุษย์ได้ เพราะเงินได้ทำให้มนุษย์บางคนมีอำนาจทางเศรษฐกิจและทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส เงินจึงเต็มไปด้วยประสบการณ์และการรับรู้ที่มนุษย์กระทำต่อมัน นอกจากนั้น กระแสจุดเปลี่ยนทางภววิทยาดูเหมือนจะจัดวางเทคโนโลยีให้อยู่นอกพรมแดนการเมืองและการใช้อำนาจ ส่งผลให้การดำรงอยู่ของวัตถุหลุดลอยออกไปจากสังคม ด้วยเหตุนี้ Hornborg จึงเชิญชวนให้หันกลับมาทบทวนสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตนของวัตถุ” เพื่อที่จะมองเห็นประสบการณ์ของมนุษย์ที่กระทำต่อวัตถุเหล่านั้นและทำให้วัตถุกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจ วัตถุภายใต้กลไกและตรรกะของเงิน (logic of the money) มิได้เป็นอิสระจากความโลภและความทะเยอทะยานของมนุษย์แต่อย่างใด
เอกสารอ้างอิง
Appadurai, A. (ed.). (1986). The Social Life of Things: Commodities in Cultural Perspective. Cambridge: Cambridge University Press.
Bennett, J. (2010). Vibrant Matter: A Political Ecology of Things. Durham, NC: Duke University Press.
Escobar, A. (2018). Designs for the Pluriverse: Radical Interdependence, Autonomy, and the Making of Worlds. Durham, NC: Duke University Press.
Danowski, D. & Viveiros de Castro, D. (2017). The Ends of the World. Cambridge: Polity.
Haraway, D. J. (1985) 2014. A Cyborg Manifesto: Science, Technology, and Socialist Feminism in the Late Twentieth Century. In Robert C. Scharff and Val Dusek (Eds.) Philosophy of Technology—the Technological Condition: An Anthology, (pp. 610–30). Oxford: Wiley Blackwell.
Haraway, D. J. (2016). Staying with the Trouble: Making Kin in the Chthulucene. Durham, NC: Duke University Press.
Hornborg, A. (1992). Machine Fetishism, Value, and the Image of Unlimited Good: Toward a Thermodynamics of Imperialism. Man, 27, 1–18.
Hornborg, A. (2015). The Political Economy of Technofetishism: Agency, Amazonian Ontologies, and Global Magic. HAU: Journal of Ethnographic Theory, 5 (1), 47–69.
Hornborg, A. (2016). Global Magic: Technologies of Appropriation from Ancient Rome to Wall Street. Houndmills: Palgrave Macmillan.
Hornborg, A. (2021). Objects Don't Have Desires: Toward an Anthropology of Technology beyond Anthropomorphism. American Anthropologist, 123(3), 1-11.
Ingold, T. (2000). The Perception of the Environment: Essays in Livelihood, Dwelling and Skill. London: Routledge.
Ingold, T. (2011). Being Alive: Essays on Movement, Knowledge and Description. London: Routledge.
Kohn, E. (2013). How Forests Think: Toward an Anthropology beyond the Human. Berkeley: University of California Press.
Latour, B. (1993). We Have Never Been Modern. Cambridge, MA: Harvard University Press.
Latour, B. (1996). Aramis, or the Love of Technology. Cambridge, MA: Harvard University Press.
Latour, B. (2017). Facing Gaia: Eight Lectures on the New Climatic Regime. Cambridge: Polity.
Latour, B. (2018). Down to Earth: Politics in the New Climatic Regime. Cambridge: Polity.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ Posthuman Anthropology ข้อสังเกต Alf Hornborg ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ