มานุษยวิทยาเมียน้อยและการมีชู้ (Anthropology of Infidelity)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 5578

มานุษยวิทยาเมียน้อยและการมีชู้ (Anthropology of Infidelity)

ความสัมพันธ์นอกการแต่งงาน

           การแต่งงานและความสัมพันธ์ที่มีพันธสัญญามาพร้อมกับความคาดหวังของบุคคลที่ต้องแสดงความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีต่อความรักและความสัมพันธ์ทางเพศที่มีให้กันและกัน ในมิติสังคมจะพบว่า เมื่อคนสองคนแต่งงานและจดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว สิ่งที่คู่รักต้องแสดงให้เห็นคือการไม่ทำลายและละเมิดข้อตกลงที่มีต่อกัน รวมทั้งต้องไม่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นที่มิได้อยู่ในพันธสัญญา เมื่อใดที่มีการฝ่าฝืนข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การไม่ซื่อสัตย์และทำลายการครองคู่ของคนสองคน ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นที่มิใช่คนในพันธสัญญาถือว่าเป็น “คนนอกใจ” หรือ “การมีชู้” สังคมจะประณามและไม่ยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว การมีชู้ในสังคมสมัยใหม่จึงเปรียบเสมือนเป็นการทำลายสถาบันครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว (Fife, 2016) ในหลายวัฒนธรรมให้ความหมายกับการมีชู้และการนอกใจต่างกัน แต่สาระสำคัญของการมีชู้คือ การไม่มีความซื่อสัตย์ต่อสามีหรือภรรยาถือเป็นพฤติกรรมต้องห้ามที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวสั่นคลอน อย่างไรก็ตาม การนอกใจ การมีชู้ และการมีความสัมพันธ์กับคนที่มิใช่สามีภรรยาตามกฎหมายมักจะเริ่มตนจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศหรือความผูกพันทางใจกับคนที่มิใช่สามีและภรรยา เช่น การนัดพบกันในที่ส่วนตัว แอบมีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ เป็นต้น

           Hertlein, Wetchler, and Piercy (2005) จัดประเภทของการมีชู้ในสังคมสมัยใหม่เป็น 3 รูปแบบ คือ (1) การนอกใจทางร่างกาย (2) การนอกใจทางอารมณ์ และ (3) การนอกใจทางอินเทอร์เน็ต การนอกใจทางร่างกายหมายถึงการที่สามีหรือภรรยาได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนอื่นโดยไม่เปิดเผยให้คู่ครองที่ถูกต้องตามกฎหมายรับรู้การนอกใจทางอารมณ์หมายถึงการที่สามีหรือภรรยามีความชื่นชอบหลงใหลและเสน่หาต่อคนอื่น อาจพบได้ในการแสดงความสนิทสนมอย่างใกล้ชิดกับคนบางคนจนกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิต การนอกใจทางอินเทอร์เน็ตหมายถึงการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ที่ทำให้บุคคลได้พบและพูดคุยกับคนอื่น ทำให้เกิดความผูกพันและพัฒนาจนกลายเป็นความชอบ บางกรณีอาจนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ทางเพศผ่านการสื่อสารออนไลน์ เช่น ใช้กล้องสำเร็จความใคร่หรือโชว์เรือนร่างให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นอย่างเปิดเผย  รวมไปถึงการดูคลิปวิดีโอโป๊ การแชทและส่งข้อความ การเล่นเกมออนไลน์ การเล่นเว็บแคม เป็นต้น (Hertlein & Stevenson, 2010; Maheu & Subotnik, 2001)

           การศึกษาของ Mileham (2007) พบว่า การคุยในสื่อสังคมออนไลน์ยุคปัจจุบันคือช่องทางสำคัญที่ทำให้บุคคลค้นพบคนที่ตนเองพอใจ ในกรณีที่คู่สามีภรรยามีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น การเข้าไปคุยกับคนอื่นในอินเทอร์เน็ตจะช่วยระบายความอึดอัดใจและสร้างจินตนาการให้กับชายหญิง นอกจากนั้น การคุยกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ยังเป็นการกระทำแบบลับ ๆ ที่สามารถปกปิดมิให้คนรักของตนเองรู้ ประเด็นสำคัญคือการคุยออนไลน์เป็นการไม่สัมผัสเรือนร่าง ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งนี้มิใช่การมีชู้และมีความปลอดภัย

           ผลกระทบที่เกิดจากการมีชู้และการนอกใจ มักจะทำให้คู่สามีภรรยาหย่าร้างและยุติความสัมพันธ์ คำสอนของศาสนามักจะตำหนิและไม่ยอมรับพฤติกรรมมีชู้ เช่นในพุทธศาสนาเถรวาทของไทย บัญญัติไว้เป็นข้อห้ามในศีล 5 คือ กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ คืองดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม รวมทั้งมีการจำแนกหน้าที่หลักของสามีที่พึงปฏิบัติต่อภรรยา (สุทิน ไชยวัฒน์ และคณะ 2564) จากการสำรวจความคิดของประชาชน 24 ประเทศในสหรัฐอเมริกาและยุโรปพบว่า คนส่วนใหญ่ 80-90 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า การมีชู้คือสิ่งผิด (Fife, 2016) ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าสังคมจะไม่ยอมรับการมีชู้ แต่ในการปฏิบัติพบว่า ชาวอเมริกันที่นอกใจสามีหรือภรรยามีประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ (Atkins, Baucom, & Jacobson, 2001) นอกจากนั้น ในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายมักจะมีการนอกใจภรรยาและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากกว่าหนึ่งคน ในขณะที่ผู้หญิงที่นอกใจสามีจะถูกมองว่าเป็นหญิงชั่ว การศึกษาของ Wiederman (1997) พบว่า ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตนเองสูงกว่าผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นที่มิใช่สามี เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการมีชู้และการนอกใจคนรักคือ ความทุกข์ของการอยู่ด้วยกันของสามีภรรยา เช่น วิธีคิดและการใช้ชีวิตที่เข้ากันไม่ได้ เป็นต้น ทำให้สามีหรือภรรยาหันไปหาคนอื่นที่เป็นที่พึ่งทางใจ (Fife, 2016)

           นักจิตวิทยามักอธิบายว่าการมีชู้และการนอกใจคนรักส่งผลให้บุคคลได้รับความทุกข์ทรมานและเจ็บปวดทางจิตใจ การศึกษาในสังคมไทย เช่น สุภาวดี มนัสปิยะเลิศ (2548) อธิบายการตัดสินใจของผู้หญิงเพื่อเป็นเมียน้อย เหตุผลสำคัญคือ ความรู้สึกรักและผูกพัน ทำให้ผู้หญิงต้องการใช้ชีวิตอยู่กับผู้ชายที่มีภรรยาแล้ว ถึงแม้ว่าสังคมไม่ยอมรับ  การศึกษาของปวีณา กุดแถลง (2561) อธิบายว่า เมียน้อยหรืออนุภรรยาคือ บุคคลที่กฎหมายไม่รับรอง ถึงแม้ว่าในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาจะกล่าวถึง “เมียพระราชทาน” (เมียนาง) หมายถึงกษัตริย์พระราชทานหญิงให้เป็นรางวัลให้กับข้าราชการที่ทำความดีความชอบ  เมียประเภทนี้มีฐานะที่สูงกว่าเมียหลวง นอกจากนั้น ยังพบว่า สมัยพระเจ้าอู่ทองแบ่งภรรยาเป็น 3 ประเภท คือ (1) เมียกลางเมือง หมายถึง เมียหลวง ได้แก่หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย (2) เมียกลางนอก หมายถึง เมียน้อย (อนุภรรยา) ซึ่งได้แก่ชายขอหญิงมาเป็นอนุภรรยา หลั่นเมียหลวงลงมา (3) เมียกลางทาสี หมายถึง เมียที่เป็นทาส ได้แก่หญิงใดมีทุกข์ยาก ชายช่วยไถ่ได้มา เป็นหมดหน้าเลี้ยงเป็นเมีย รองลงมาจากเมียน้อย (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2566)

           สุภาวดี มนัสปิยะเลิศ (2548) กล่าวว่า ความคาดหวังของเมียน้อยต่อผู้ชายที่เธอรักคือผู้ชายควรมีเวลาอยู่กับเธอ แต่เธอจะไม่แสดงความเป็นเจ้าของต่อผู้ชายคนนั้น อย่างไรก็ตาม สังคมไทยมักจะตีตราและมองเมียน้อยเป็นคนที่หวังในทรัพย์สินเงินทองของผู้ชาย เห็นได้จากกรณีที่ผู้ชายที่ร่ำรวยมักจะมีเมียน้อยเป็นหญิงสาวและส่งเสียเลี้ยงดู ภาพลักษณ์นี้ปรากฏอยู่ในสื่อนิยาย ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ ในการศึกษาของ Pazhoohi (2022) อธิบายว่า ความหมายของการนอกใจสัมพันธ์กับแบบแผนทางวัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคม การนำบรรทัดฐานและอุดมการณ์ของสังคมหนึ่งไปตัดสินความสัมพันธ์นอกการสมรสของวัฒนธรรมอื่นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นการประณามพฤติกรรมของบุคคล ดังนั้น การทำความเข้าใจความสัมพันธ์แบบคบชู้หรือความพอใจคนอื่นนอกเหนือจากคนรักตนเองแล้วจำเป็นต้องอธิบายความหลากหลายของความรู้สึก


การมีชู้ในมิติมานุษยวิทยา

           การศึกษาทางมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการมีชู้กับระบบที่ให้สิทธิกับผู้ชาย ทำให้การมีเมียมากกว่าหนึ่งคนมิใช่สิ่งที่แปลกและเป็นสิ่งที่สังคมรับรู้ได้ เพราะผู้ชายเชื่อว่าผู้หญิงคือทรัพย์สมบัติส่วนตัว และมีการควบคุมผู้หญิงให้อยู่ในกฎระเบียบที่ผู้ชายกำหนดขึ้น เช่น ค่านิยมเรื่องพรหมจารี การทำหน้าที่แม่บ้านและเลี้ยงลูก ห้ามผู้หญิงเกี่ยวข้องกับงานของผู้ชาย เป็นต้น (Bourdieu, 2001; Smuts, 1992) ในหลายสังคม ความสัมพันธ์นอกการแต่งงานมักจะเป็นสิ่งต้องห้าม (Harrell, 1997) ในเขตวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อิตาลี พบว่าศักดิ์ศรีของผู้ชายมีความสำคัญมาก สิ่งที่ทำให้ผู้ชายมีความภูมิใจคือการเป็นผู้นำครอบครัวและการดูแลปกป้องภรรยา ลูก และญาติพี่น้อง ถ้าภรรยานอกใจสามีจะถือว่าผู้ชายคนนั้นทำหน้าที่ล้มเหลวและเป็นการเสียศักดิ์ศรี (Brandes, 1980) ในสังคมดังกล่าว ผู้หญิงจึงเปรียบเสมือนเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ชายทำหน้าที่ทางสังคมสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าผู้หญิงมีความสัมพันธ์กับชายอื่นที่มิใช่สามีของตนจะถือว่าเป็นความอับอายของครอบครัว (Goddard, 1987) สังคมเมดิเตอร์เรเนียนมองความสัมพันธ์ของสามีภรรยาในฐานะเป็นศักดิ์ศรีทางสังคม การจัดระเบียบผู้หญิงจึงมีความสำคัญต่อครอบครัว แต่นักสิทธิสตรีสมัยใหม่มองว่าสังคมดังกล่าวมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ และไม่สนใจความรู้สึกที่ผู้หญิงมีต่อตนเองและคนรอบข้าง (Rehbun, 1999)

           Bourdieu (2001) อธิบายว่า สังคมที่ให้อำนาจผู้ชาย กฎระเบียบที่ใช้ควบคุมผู้หญิงจะเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงทางสังคม ทำให้ผู้ชายเคยชินกับการบงการและควบคุมผู้หญิง โดยเฉพาะการสอดส่องและคุมเข้มมิให้ภรรยาไปมีความสัมพันธ์กับชายอื่น จะเห็นว่า สังคมที่ผู้ชายมีอำนาจ การมีชู้ของผู้หญิงจะถูกตำหนิอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ชายและหญิงจะสอดส่องตรวจตราคู่สามีและภรรยาของตนมิให้ไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่นพบได้ในหลานสังคม การครองคู่แบบสามีภรรยาหรือระบบผัวเดียวเมียเดียวให้ความสำคัญกับเอกภาพและความมั่นใจของการอยู่ด้วยกันแบบสองคน (dyadic bond) ความสัมพันธ์รูปแบบนี้วางอยู่บนการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างเพศชายและหญิง ขณะเดียวกันก็ยึดถือการแลกเปลี่ยนระหว่างคนสองคนทั้งเรื่องงานและเซ็ก (de Munk & Korotoyev, 2000) การครอบคู่แบบผัวเมียยังทำให้เกิดการควบคุมซึ่งกันและกัน หากคนใดคนหนึ่งทำให้การคู่ครองสั่นคลอนและล่มสลาย คนนั้นจะถูกตำหนิ ดังนั้น วัฒนธรรมที่เน้นการครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว ความตึงเครียดจากการนอกใจและการมีชู้จะเป็นเรื่องที่รุนแรง ความซื่อสัตย์ต่อกันจึงเป็นสิ่งที่มีค่าในการครองคู่ดังกล่าว

           การศึกษาของ Caughey (1977) พบว่า ชนเผ่า Faanakka ในหมู่เกาะไมโครนีเซีย มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อภรรยาพบว่าสามีของตนมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอจะใช้กำลังตบตีและดึงผมของผู้หญิงที่มีชู้กับสามีของเธอ และบางครั้งภรรยาจะท้าทายหญิงอื่นว่าอวัยวะเพศของเธอใหญ่กว่า โดยการเปิดผ้านุ่งให้เห็นอวัยวะเพศ ในวัฒนธรรมของชนอาปาเช่ในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อภรรยารู้ว่าสามีของตนมีผู้หญิงอื่น เธอจะเรียกสามีมาคุยและสั่งให้เขาหยุดความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่เป็นชู้ ถ้าสามีไม่ยอมหยุด เธอจะใช้ก้อนหินขว้างทำร้าย หรือใช้มีดฟันสามี เธอจะสั่งให้สามีหยุดไปดื่มสังสรรค์กับญาติพี่น้อง ถ้าภรรยาจับได้ว่าสามีแอบไปดื่ม เธอจะเข้าทำร้ายร่างกายและถอดเสื้อผ้าสามีออก การทำเช่นนี้ถือเป็นการลงโทษสามีที่ไม่ซื่อสัตย์กับเธอ ในทางกลับกัน ถ้าสามีจับได้ว่าภรรยาของตนมีชายอื่น สามีจะทุบตีภรรยาเป็นการลงโทษ ในบางกรณี สามีอาจฆ่าภรรยาและชู้ไปพร้อมกัน บางครั้งภรรยาจะถูกตัดจมูกจนเสียโฉม แต่การใช้ความรุนแรงแบบนี้พบเห็นได้น้อยมาก (Goodwin,1969)

           Scelza (2014) พบว่า ในสังคมชนเผ่าขนาดเล็ก เช่น ชนเผ่าฮิมบาในประเทศนามิเบีย ทวีปแอฟริกา ชายหญิงจะรู้สึกทุกข์ทรมานใจถ้าสามีหรือภรรยาของตนเองมีชู้ หากเปรียบเทียบความทุกข์ของสามีกับภรรยา จะพบว่าสามีที่รู้ว่าภรรยามีชายอื่นค่อนข้างเจ็บปวดมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงคิดว่าเมื่อสามีนอกใจและมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอจะรู้สึกขาดความมั่นคงและวิตกกังวลว่าจะขาดผู้ดูแลครอบครัว ในการศึกษาข้ามวัฒนธรรมเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของหญิงชายต่อการมีชู้ พบว่าทั้งหญิงและชายเกือบทุกวัฒนธรรมทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนเผ่ารู้สึกไม่พอใจเมื่อพบว่าคนรักของตนมีความสัมพันธ์กับคนอื่น

           การศึกษาของ Jankowiak, Nell, and Buckmaste (2002) พบว่า ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ไม่อยากรู้ว่าสามีของตนไปเที่ยวหญิงขายบริการ ขณะเดียวกันผู้หญิงก็พยายามบอกให้สามีตนเองอย่าไปลุ่มหลงและเลี้ยงดูหญิงขายบริการ ในประเทศไนจีเรีย ผู้หญิงที่รู้ว่าสามีไปมีสัมพันพ์กับหญิงอื่น เธอจะให้สามีดื่มยาสมุนไพรบางชนิดที่ทำให้องคชาตของเขาแข็งตลอดเวลา หากสามียินยอมที่จะเลิกสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอจะยอมให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการแข็งตัวขององคชาต ผู้หญิงในมาเลเซียเมื่อพบว่า สามีของตนไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอจะติดตามเขาไปเพื่อดูพฤติกรรมของสามีที่หลับนอนกับหญิงอื่นเมื่อเห็นคาหนังคาเขา เธอจะทำให้สามีเกิดความอับอายต่อสาธารณะ เช่น แก้กางเกง เช่นเดียวกับผู้หญิงในบราซิล เมื่อรู้ว่าสามีมีหญิงอื่น

           ในหลายสังคมพบว่า ผู้หญิงสามารถจัดการกับปัญหาที่สามีตนเองมีชู้หรือมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น โดยพวกเธอจะใช้วิธีที่ตนเองทำได้เพื่อทำให้สามีเลิกพฤติกรรมนอกใจ ความพยายามดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อำนาจของผู้ชายมิได้ทำให้ผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างหรือเป็นผู้เชื่อฟังสามีเสมอไป แต่ภรรยาสามารถตอบโต้และทำให้สามีรู้สึกหวาดระแวงและขาดความมั่นใจในการแสดงความสัมพันธ์กับหญิงอื่น จะเห็นว่า ความสัมพันธ์นอกการแต่งงานเป็นพฤติกรรมเชิงสังคมมากกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะการตรวจสอบ การควบคุม และการทำลายความสัมพันธ์ที่ชายหญิงมีกับคนที่มิได้เป็นสามีภรรยาของตนเองล้วนแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ มีการรับรู้จากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงและคนในชุมชน การขัดขวางและต่อต้านความสัมพันธ์นอกการแต่งงานอาจถือเป็นการจัดการความสัมพันธ์ประเภทหนึ่งในสังคมสมัยใหม่ การแก้ปัญหาการมีชู้ของสามีและภรรยา อาจใช้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ในกรณีที่ผู้หญิงฟ้องหย่าสามีที่มีเมียน้อย เธอคาดหวังว่าสามีจะต้องรับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดูลูกตามหน้าที่ของพ่อ (Jankowiak, Nell, & Buckmaste, 2002)

           การศึกษาของ Scelza (2014) พบว่า ในสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจ ความรู้สึกของสามีต่อการมีชู้ของภรรยาค่อนข้างรุนแรง เช่นเดียวกับสังคมที่ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชาย ภรรยาจะรู้สึกทุกข์ใจมากเมื่อรู้ว่าสามีมีหญิงอื่น นอกจากนั้น การซุบซิบนินทาคือกลไกในการจัดการกับพฤติกรรมนอกใจ โดยเฉพาะผู้ชายจะรู้สึกหงุดหงิดถ้าผู้หญิงนำเรื่องการนอกใจของสามีไปพูดนินทากับคนอื่น สามีรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของผัวเมียไม่ควรนำไปพูดกับคนอื่นเพราะการเปิดเผยว่าภรรยามีชู้อาจสะท้อนว่าสามีไม่มีความสามารถที่จะดูแลภรรยาได้ ผู้ชายจะรู้สึกอายและเสียเกียรติ (Jankowiak, Nell, & Buckmaste, 2002) ในสังคมที่หญิงและชายมีฐานะเท่าเทียมกัน เช่น สังคมอุตสาหกรรม บุคคลจะมีอิสระที่จะเลือกคู่ครองและคนรักของตัวเอง ในสถานการณ์นี้จะพบว่า เมื่อคนรักแสดงการนอกใจหรือมีความสัมพันธ์กับคนอื่น บุคคลจะรู้สึกเจ็บปวดและวุ่นวายใจ (Scelza, 2014) ความปวดร้าวใจจากการทรยศ หักหลังและไม่ซื่อสัตย์ต่อความรักจะมีนัยว่า ความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลโหยหา ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าลัทธิปัจเจกนิยม ทำให้บุคคลเลือกวิธีการที่จะทำให้ตนเองพบความสุข ถ้าครองคู่มิได้ก็จะยกเลิกความสัมพันธ์ได้ทันที

           การศึกษาของ Keefe (2015, 2019) พบว่า ในสังคมแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา คู่รักชายหญิงรุ่นใหม่ชาวสวาฮีลีคาดหวังในความรัดโรแมนติกที่ยึดมั่นในรักเดียวใจเดียวเมื่อฝ่ายหญิงพบว่าคนรักของตนมีใจให้กับหญิงอื่น พวกเธอจะรู้สึกกระวนกระวายใจและไม่พอใจหญิงอื่นที่มาแสดงความรักกับผู้ชายของตน แต่ในสังคมมุสลิมที่อนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาหลายคน ผู้หญิงจะต้องอยู่กับความรู้สึกนี้และทำให้เห็นแนวโน้มการหย่าร้างของสามีภรรยาเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงสวาฮีลีคิดว่าการมีชีวิตอิสระของตัวเองดีกว่าการใช้ชีวิตอยู่กับผู้ชายที่มีภรรยาหลายคน ในปัจจุบันจะพบว่าผู้หญิงที่หย่ากับสามีแล้ว พวกเธอจะต้องทำงานเลี้ยงดูตนเองและลูก ทำให้ต้องแสดงบทบาทเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อผู้หญิงสวาฮีลีเริ่มมีความรู้และมีทักษะทำงานมากขึ้น จะทำให้พวกเธอกล้าหย่าขาดกับสามีและเลือกใช้ชีวิตด้วยตนเอง  ระบบที่ทำให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนกำลังกลายเป็นสิ่งที่ผู้หญิงในแทนซาเนียวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น ในทางปฏิบัติ ผู้หญิงที่กลายเป็นภรรยาคนที่สอง คนที่สามของผู้ชาย พวกเธอจะไม่ติดต่อสื่อสารกัน กล่าวคือ บรรดาภรรยาที่มีสามีคนเดียวกันพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกัน หากต้องพบเจอกัน พวกเธอก็จะแสดงความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อกัน ในประสบการณ์ของผู้หญิงที่เป็นภรรยาคนที่สองหรือมีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่แต่งงานแล้ว พวกเธอตัดสินใจคบหาและใช้ชีวิตกับผู้ชายด้วยเหตุผลอื่น เช่น ความฉลาดและความสนุกสนานของผู้ชาย  ผู้หญิงที่รู้ว่าตนเองเป็นภรรยาคนที่สอง เธอจะรู้สึกไม่มั่นใจที่จะพบเจอกับภรรยาคนแรก

           การศึกษาของ Keefe (2015, 2019) ช่วยแสดงให้เห็นว่า แม้ในสังคมที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน กลุ่มผู้หญิงที่กลายเป็นภรรยาคนที่สอง พวกเธอก็มิได้ชื่นชอบระบบที่เป็นอยู่ ผู้หญิงคิดว่าความรักเดียวใจเดียวมีความสำคัญมากกว่า ถ้าคนรักมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ผู้หญิงมักจะเลือกยุติความสัมพันธ์และใช้ชีวิตที่เป็นอิสระ การหย่าร้างจึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสังคมของชาวสวาฮีลี ในสถานการณ์โลกที่อุดมการณ์ความรักโรแมนติกและความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นบรรทัดฐานสังคม เราจะพบว่าผู้หญิงยอมสละทิ้งความรักที่ล้มเหลวและตัดใจจากผู้ชายที่ไม่ซื่อสัตย์ (Cole & Thomas, 2009)


บรรณานุกรม

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2566). “เมียพระราชทาน” มาทีหลัง แต่มาแรง แม้แต่ “เมียหลวง” ยังต้องหลบ! สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_121950

ปวีณา กุดแถลง. (256). มโนทัศน์รักเดียวใจเดียวและปัญหาเมียน้อยในทศวรรษ 2490 – 2530. วารสารประวัติศาสตร์, 2562, 49-62.

สุทิน ไชยวัฒน์ และคณะ. (2564). การวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์เพื่อการครองเรือนกับกฎหมายการฟ้องหย่า.วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น, 8(1), 138-151.

สุภาวดี มนัสปิยะเลิศ. (2548). เมียน้อย: กระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Atkins, D., Baucom, D., & Jacobson, N. (2001). Understanding Infidelity: Correlates in a National Random Sample. Journal of Family Psychology, 15, 735–749.

Bourdieu, P. (2001). Masculine Domination. Stanford.

Brandes, S. (1980). Metaphors of Masculinity. Philadelphia.

Caughey, J. (1977). Fa'a'nakkar: Cultural Values in a Micronesia Society. Philadelphia.

Cole, J., & Thomas, L.M. (eds.) (2009). Love in Africa. University of Chicago Press.

de Munk, V., & Korotoyev. A. (2000). Sexual Equality and Romantic Love: A Re-Analysis of Rosenblatt's Study on the Function of Romantic Love. Cross-Cultural Research, 33, 1-2.

Fife, S. (2016). Cultural Views of Adultery. In Nancy A. Naples (Ed.). The Wiley Blackwell Encyclopedia of Gender and Sexuality Studies. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons, Ltd.

Goddard, V. (1987). Honour and Shame: The Control of Women's Sexuality and Group Identity in Naples. In P. Caplan (Ed.) The Cultural Construction of Sexuality, (pp. 166-92). New York.

Goodwin, G. (1969). The Social Organization of the Western Apache. Tucson.

Harrell, S. (1997). Human Families. Boulder.

Hertlein, K., & Stevenson, A. (2010). The Seven ‘As’ Contributing to Internet-Related Intimacy Problems: A Literature Review. Cyberpsychology: Journal of Psycho-social Research on Cyberspace, 4(1), article 1.

Hertlein, K., Wetchler, J. & Piercy, F. (2005). Infidelity: An Overview. Journal of Couple and Relationship Therapy, 4(2/3): 5–16.

Jankowiak, W., Nell, M.D., & Buckmaste, B. (2002). Managing Infidelity: A Cross-Cultural Perspective. Ethnology, 41(1), 85-101.

Keefe, S. (2015). Being a good Muslim man: Modern aspirations and polygynous intentions in a Swahili Muslim village.” In Erin Stiles and Katrina Thompson, (eds.). Gendered lives in the western Indian Ocean: Islam, marriage, and sexuality on the Swahili Coast. Ohio University Press.

Keefe, S. (2019). Looking Outside the Marriage:” Polygyny, Infidelity, and Divorce in Coastal Tanzania. Working Paper 314. Retrieved from https://gencen.isp.msu.edu/files/4515/5551/5617/WP314_Final.pdf

Maheu, M. M., & Subotnik, R. B. (2001). Infidelity on the Internet: Virtual relationships and real betrayals. Naperville, IL: Source book.

Mileham, B. L. A. (2007). Online infidelity in Internet chat rooms: An ethnographic exploration. Computers in Human Behavior, 23(1), 11–31.

Pazhoohi, F. (2022). Cultural Differences and Similarities in the Nature of Infidelity. In Tara DeLecce and Todd K. Shackelford. (Eds.). The Oxford Handbook of Infidelity. Oxford: Oxford University Press.

Rehbun, L. (1999). The Heart is Unknown Country. Stanford.

Scelza, B. (2014). Jealousy in a small-scale, natural fertility population: the roles of paternity, investment and love in jealous response. Evolution and Human Behavior, 35, 103-108.
Smuts, B. (1992). Male Aggression Against Women. Human Nature, 3(1), 1-44.

Wiederman, M. W. (1997). Extramarital Sex: Prevalence and Correlates in a National Survey. Journal of Sex Research, 34, 167–174.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ เมียน้อย ชู้ การแต่งงาน อำนาจ ความสัมพันธ์หลายคน นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share