แนวคิดการเปลี่ยนสภาพ (metamorphosis)
Ulrich Beck กับ Metamorphosis
Ulrich Beck (2016) เสนอแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนสภาพ (metamorphosis) เพื่อใช้อธิบายสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งในเชิงกายภาพ ความคิด และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ถือเป็นการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ถอนรากถอนโคน (radical transformation) (Kravchenko, 2020) ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนรูปจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง Beck เริ่มต้นด้วยการอธิบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาในยุคสมัยใหม่ โดยย้อนกับไปทบทวนแนวคิดเรื่อง “สังคมเสี่ยง” (risk society) ที่เขาเคยเสนอไว้ในปี ค.ศ.1986 โดยพิจารณาว่าความเสี่ยงคือตัวแทนของการเปลี่ยนสภาพ ในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเยียวยารักษาโลกในเวลาเดียวกัน Beck คิดว่า “ความหายนะที่ปลดปล่อยออกมา” (emancipatory catastrophe) นำมาซึ่งผลลัพธ์ทั้งบวกและลบในเวลาเดียวกัน ในเวลาปัจจุบัน มนุษย์จึงเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน และในช่วงมนุษยสมัย (Anthopocene) โลกกำลังพบกับภัยร้ายแรงทางสังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนนี้ คือ “การเปลี่ยนสภาพ” จากแนวคิด metamorphosis ทำให้ Beck อธิบายว่าโลกกำลังเปลี่ยนรูปร่างตัวเอง กล่าวคือ ความมั่นคงและความชัดเจนในรูปแบบของสรรพสิ่งในโลกจะสิ้นสุดลง และโลกกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่ล้ำลึก (deep transformation) ดังนั้น การเปลี่ยนสภาพของโลกคือภาพสะท้อนของข้อจำกัดในระบบเหตุผล
การทำความเข้าใจแนวคิด metamorphosis สามารถดูตัวอย่างได้จากการเปลี่ยนรูปร่างของหนอนผีเสื้อที่เริ่มจากการเป็นตัวหนอนที่เกาะบนกิ่งไม้ เปลี่ยนสภาพเป็นดักแด้ และสร้างรูปร่างใหม่กลายเป็นผีเสื้อที่มีปีกบินได้อย่างอิสระ การเปลี่ยนรูปร่างจากหนอนไปเป็นผีเสื้อ เสมือนการทำลายรูปแบบเก่าและสร้างรูปแบบใหม่ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แนวคิด metamorphosis สามารถนำมาอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมได้ โดย Beck กล่าวว่าโลกที่ผ่านมาล้วนแบ่งพรมแดนความเป็นชาติที่แข็งตัว หรือเรียกว่า “ชาตินิยมเชิงระเบียบวิธี” (methodological nationalism) แต่เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของประชากรและแรงงานข้ามชาติ ความเป็นพลเมืองโลกจึงปรากฎขึ้น และทำให้เห็นรูปแบบใหม่ของสังคมที่มนุษย์สามารถย้ายที่อยู่อาศัยได้ตลอดโดยไม่ยึดติดกับความเป็นชาติที่ตายตัว การเปลี่ยนจากขอบเขตชาติไปสู่ขอบเขตของโลกยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายข้อมูลเป็นไปอย่างฉับพลันและยากต่อการคาดเดา เมื่อมนุษย์เคลื่อนย้ายที่ตลอดเวลาทำให้เกิดกระบวนการกลายเป็นพลเมืองโลก (cosmopolitization) ที่รื้อถอนรูปแบบความสัมพันธ์แบบเดิม (Blok, 2015)
แนวคิด metamorphosis ยังทำให้เห็นรูปแบบใหม่ของความเหลื่อมล้ำ การแบ่งแยกกีดกัน และอำนาจทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน ประเด็นความไม่เท่าเทียมของมนุษย์จะเปลี่ยนสภาพจากเดิมที่พิจารณาจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจไปสู่ความไม่เท่าเทียมของการอยู่กับความเสี่ยง กล่าวคือ ภูมิภาคบางแห่งจะเต็มไปด้วยอันตรายและความไม่ปลอดภัย นอกจากนั้น ชาติต่าง ๆ พยายามต่อสู้ในเชิงอำนาจ (เกมแห่งอำนาจ) มีการเร่งรัดและแข่งขันกันเชิงเศรษฐกิจที่รัฐจะผลักความรับผิดชอบไปให้ประชาชน ทั้งนี้ ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนภูมิอากาศโลก จะพบว่าชาติต่าง ๆ พยายามสร้างกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิกับประเทศยากจน สภาวะดังกล่าวคือความเสี่ยง Beck เสนอว่าเมืองต่าง ๆ ในโลกจะต้องประสานความร่วมมือกันและเปิดกว้างในการรับฟังและการมีส่วนร่วมของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤตของสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น Beck ยังชี้ให้เห็นการเกิดขึ้นของมนุษย์เมือง หรือ Homo cosmopoliticus หมายถึงคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนรุ่นเก่า ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างทักษะทางเทคโนโลยี คนรุ่นเก่าไม่สามารถทำงานกับเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วเท่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล
Metamorphosis ในระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์
ในยุคเรืองปัญญาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปร่างของสิ่งต่าง ๆ มักเชื่อว่ามีพลังหรือแรงกระทำจากภายนอกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนรูปและกลายสภาพ แต่การเอาชนะการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย มนุษย์จะต้องมีความรู้ ส่งผลให้วิชาวิทยาศาสตร์มีบทบาทต่อการอธิบายการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ บนโลก ความรู้จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือในการควบคุมและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือมนุษย์ต้องการควบคุมการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ระเบียบแบบแผนและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ดำรงอยู่อย่างถาวรและสืบทอดต่อไป (Kravchenko, 2020) ความคิดนี้สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น จึงแสวงหาวิธีการและความรู้ใหม่ ๆ มาจัดการกับการเปลี่ยนแปลง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การควบคุมไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสมือนเป็นการควบคุมโลก มนุษย์มองว่าตนเองคือผู้สามารถควบคุมธรรมชาติ วัตถุต่าง ๆ ในโลกจึงถูกมองเป็นเพียงสิ่งที่ส่งเสริมให้มนุษย์มีชีวิตอยู่
คาร์ล มาร์กซ์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นผลมาจากพัฒนาการในช่วงเวลาต่าง ๆ และเกิดขึ้นบนเงื่อนไขของการค้า เห็นได้จากการเปลี่ยนวิธีค้าขายจากการใช้สิ่งของแลกเปลี่ยน ไปสู่การใช้เงินตรา ระบบการค้าจะประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับสินค้า การค้าขายถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งนี้ ผู้ทำหน้าที่นำสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมมาจำหน่ายให้กับลูกค้า คือคนที่เปลี่ยนอำนาจในการผลิตไปเป็นอำนาจในการซื้อขาย (Burnham, 1941) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนี้ วัตถุสิ่งของจะถูกทำให้เปลี่ยนสภาพเป็นสินค้าที่มีราคาในการซื้อขาย สำหรับวัฒนธรรมบริโภคปัจจุบัน สินค้าถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นความหมายที่ส่งเสริมการมีชีวิต (Baudrillard, 1981) ปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนว่าการเปลี่ยนสภาพทางสังคมหลายอย่าง เป็นผลมาจากทัศนคติที่มนุษย์มองธรรมชาติเป็นวัตถุทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นแปลงเพาะปลูกพืข
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1950 Goffman (1952) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงฐานะทางชนชั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนสัญลักษณ์และความหมาย เมื่อบุคคลประพฤติสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลคือการถูกสังคมประณามและให้ความหมายเชิงลบ นอกจากนั้น Goffman ยังเปรียบเทียบสังคมประเพณีกับสังคมสมัยใหม่ โดยระบุว่า คนที่เปลี่ยนฐานะทางสังคมในสังคมประเพณีจะไม่สามารถกลับมามีฐานะเดิมได้ แต่สังคมสมัยใหม่ การเปลี่ยนฐานะค่อนข้างยืดหยุ่นและไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางสังคม ข้อสังเกตนี้ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนสภาพคือสิ่งที่มนุษย์เข้าไปควบคุมจัดการ แต่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความปั่นป่วนและไร้ระเบียบของโลก ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ใช่หรือไม่ เห็นได้จาก การเสื่อมลงของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ มนุษย์ไม่สามารถทำให้ธรรมชาติกลับมาเหมือนเดิมได้ (Sassen, 2014) รวมทั้งการเกิดโรคระบาดชนิดใหม่ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติและการที่มนุษย์เข้าไปคุกคามสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไป
Sztompka (1991) กล่าวว่ามนุษย์คือตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ จึงเป็นผู้ก่อการทางสังคม สิ่งที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ ย่อมจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ในสถานการณ์ที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารดิจิทัล สิ่งเหล่านี้กลายเป็นผู้กระทำการร่วม (actants) และมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้ (Latour, 1988) สิ่งที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและการกระทำของมนุษย์ทำให้การเปลี่ยนแปลงมีความซับซ้อนและยุ่งหยิง เช่น หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ การกระทำเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความหมายและคุณค่าในการใช้ชีวิตทางสังคม ตัวอย่างในสื่อสังคมออนไลน์ที่มนุษย์และเทคโนโลยีเข้ามาพัวพันกัน ทำให้เกิดประสบการณ์ทางความรู้สึกและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ต่างไปจากเดิม รวมทั้งขอบเขตและนิยามของความจริงเป็นสิ่งที่โต้แย้งได้
ในยุคโลกาภิวัตน์ ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือการเคลื่อนที่ของมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ สังคมโลกจะไม่ยึดติดอยู่กับเขตแดนของประเทศและพื้นที่ทางกายภาพ แต่เคลื่อนย้ายถ่ายเทข้ามพรมแดนต่าง ๆ (Roudometof, 2016) สภาวะการไม่หยุดนิ่งและผันแปร รัฐมิใช่ตัวละครหลักในการสร้างขอบเขตของสังคมอีกต่อไป เห็นได้จากเครือข่ายชุมชนและกลุ่มสังคมที่อยู่นอกระเบียบมีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจ (Bauman, 2011) สังคมโลกในยุคโลกภิวัตน์จึงเคลื่อนตัวไปบนรอยแยกและความไม่มั่นคงของสังคม (Bauman, 2009; Urry, 2003) สภาพดังกล่าวส่งผลให้รูปแบบ รูปทรง และขอบเขตของสิ่งต่าง ๆ แตกสลายไป เช่น ผู้อพยพมิใช่พลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่ง Ritzer (2004) กล่าวว่าโลกาภิวัตน์ของระบบทุนนิยมโลก สินค้าและบริการข้ามชาติเป็นเรื่องที่ชินชาและน่าเบื่อ สินค้าจะไม่มีความหมายพิเศษ เพราะคนในพื้นที่ต่าง ๆ ล้วนเสพและใช้สอยเหมือน ๆ กัน
ในขณะที่ Beck (2016) อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ไม่สามารถอธิบายได้จากแนวคิดวิวัฒนาการ การปฏิวัติ และการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง แต่การเปลี่ยนสภาพที่พบเห็นมิใช่สิ่งที่คาดเดาได้อย่างถูกต้อง ไม่สามารถอธิบายเชิงเหตุกับผล ไม่สามารถประเมินถึงผลดีหรือผลเสียแบบขาวกับดำ เนื่องจากสิ่งที่เปลี่ยนเกิดขึ้นในระดับความคิด เป็นการท้าทายและรื้อถอนกรอบความคิดแบบเหตุผล ทำลายความเป็นแบบแผนและกฎเกณฑ์ที่ตายตัว โดยเฉพาะการข้ามขอบเขตของความเป็นรัฐ การเปลี่ยนสภาพของโลกจึงมีลักษณะไร้ทิศทางที่แน่นอนและทำให้เกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง รวมทั้งการเปลี่ยนสภาพยังเกิดขึ้นในบางพื้นที่ บางแห่งเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดด แต่บางแห่งยังคงอยู่ในสภาวะเชื่องช้า โลกจึงมิได้คลี่คลายไปในทิศทางเดียวกัน สภาพดังกล่าวคือความไม่ลงรอยของโลก Beck อธิบายว่าในความคิดของผู้คนคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่น การสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่บ่งชี้ถึงความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรือง (Mythen, 2018) การคิดเช่นนี้มักจะมองไม่เห็นผลกระทบที่คาดไม่ถึงของสิ่งประดิษฐ์ เช่น ระเบิดปรมาณู เป็นต้น
Beck คิดว่าความทันสมัยและการพัฒนาแบบวิทยาศาสตร์ สร้างผลกระทบในเชิงลบตามมามากมาย ซึ่งสวนทางกับความคิดเรื่องความเจริญก้าวหน้า ความแปลกแยกจากระบบเหตุผลและสิ่งที่คาดเดาไม่ได้คือคุณลักษณะของ Metamorphosis ทั้งนี้ ผลกระทบที่ไม่คาดคิดจากการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคือประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้มนุษย์มองเห็นความขัดแย้ง ความแตกแยก และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนที่คุ้นชิน สภาวะของความไม่แน่นอนนี้ปรากฎอยู่ในพื้นที่เปิด ข้ามพ้นไปจากความเป็นรัฐและประเทศ แต่เคลื่อนที่ข้ามพรมแดนและเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกกลุ่ม Beck เสนอให้ทบทวนการมองปัญหาของโลกที่แบ่งแยกประเทศ ไปสู่การพิจารณาการอยู่ร่วมกันแบบพลเมืองโลก แต่ปัจจุบัน รัฐของแต่ละประเทศติดกับดักวิธีคิดแบบเหตุผลที่มองเฉพาะความเจริญก้าวหน้า แต่มองไม่เห็นผลเสียของความก้าวหน้าทางวัตถุ ดังนั้น การก้าวข้ามวิธีคิดเดิมที่ใช้รัฐเป็นกรอบในการทำความเข้าใจสังคมจึงเป็นเรื่องท้าทาย Beck เชื่อว่า แนวคิด Metamorphosis จะทำให้ก้าวข้ามวิธีคิดแบบเดิม
ประเด็นสำคัญที่ Beck ต้องการผลักดันคือ การเมืองระหว่างประเทศ, ชนชั้น, และเมืองแห่งโลก (world cities) สิ่งเหล่านี้เคลื่อนตัวไปตลอดเวลาและทำให้เกิดความไม่แน่นอนของผลกระทบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยง การเป็นพลเมืองโลก และการกลายเป็นปัจเจกชน อย่างไรก็ตาม ความหมายของความเสี่ยงในที่นี่ไม่ควรตัดสินจากมนุษย์ แต่ควรรวมเอาสิ่งอื่นเข้ามาอยู่ในความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิธีมองโลกแบบใหม่อาจใช้การสะท้อนย้อนคิดสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ยังต้องแสวงหาวิธีคิดที่หลากหลายในการทำความเข้าใจโลก ตัวอย่างปัญหา “ความเสี่ยงของดิจิทัล” ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถสัมผัสได้เหมือนวัตถุที่มองเห็น เพราะดิจิทัลคือระบอบอำนาจแบบใหม่ กฎระเบียบและนโยบายของรัฐแบบเดิมไม่สามารถจัดการปัญหาความเสี่ยงของดิจิทัลได้ เพราะรัฐจะพยายามควบคุมดิจิทัลด้วยกลไกอำนาจแบบเก่าที่ปิดกั้นและกดทับการแสดงออกในดิจิทัล เรื่องท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ความเสี่ยงดิจิทัลปรากฎเห็นชัดเจน
Beck (2013) อธิบายว่าโลกสมัยใหม่ดำรงอยู่บนความไร้เสถียรภาพ ปราศจากความมั่นคง ระบบเหตุผลแบบเก่าไม่สามารถทำความเข้าใจสถานการณ์เหล่านี้ได้ เพราะความเสี่ยงที่ถูกนิยามโดยมนุษย์ เป็นความเสี่ยงที่ปราศจากเหตุผล ความเสี่ยงมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และไม่สามารถค้นหาวิธีป้องกันความเสี่ยงได้ กล่าวคือ ยิ่งหาวิธีกำจัดความเสี่ยง มนุษย์ก็จะไม่พบวิธีเหล่านั้น Beck เชื่อว่าความหมายของความเสี่ยงไม่สามารถอธิบายได้จากความคิดเรื่องความเจริญก้าวหน้า เพราะความเสี่ยงมิใช่สิ่งขัดขวางความเจริญ แต่ความเสี่ยงคือสภาวะเปิดและการปลดปล่อย (emancipatory) ที่ทำให้เห็นวิธีการมีชีวิตที่ต่างไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามประเมินและตรวจเช็คก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ในอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ จากนั้นได้ระบุต้นเหตุของการปล่อยก๊าซที่เกิดจากอุตสาหกรรม รัฐจะเข้าควบคุมพื้นที่อุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยก๊าซชนิดนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กระจายข้ามเขตพื้นที่ไปอย่างกว้างขวาง ไม่สามารถกำหนดพื้นที่ที่ตายตัวได้ ผู้ที่รับผิดชอบการแก้ไขมลพิษทางอากาศจึงมิผู้ปล่อยก๊าซเท่านั้น แต่ยังมีองค์กรจำนวนมากที่ต้องเข้ามาแก้ไข
แนวคิด Metamorphosis อาจช่วยทำให้เห็นภาวะความเสี่ยงที่ต่างไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกมิใช่เรื่องของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นพื้นที่โลกทั้งหมด ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีหรือไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กระจายตัวไปทุกพื้นที่และทำให้โลกเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม Beck กล่าวว่าการมองสภาพอากาศโลกที่ไม่เหมือนเดิม ควรใช้มุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจ โดยเสนอการมองแบบความเป็นสากลทางวิธีวิทยา (methodological cosmopolitanism) และโลกที่ร่วมมือกัน (cooperative globe) กล่าวคือ การคิดว่าจะอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วอย่างไรมากกว่าจะคิดแก้ไขเพื่อที่จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหรือในเอกลักษณ์แบบเดิมBeck (2016) เชื่อว่า Metamorphosis มิใช่การเปลี่ยนแปลงของวัตถุสิ่งของ แต่เป็นสภาวะของ “การไม่เหมือนเดิม” ดังนั้น การจะอยู่กับสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมจึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ ไม่นำเอากรอบรัฐชาติมาเป็นกลไกในการแก้ปัญหา
อาจกล่าวได้ว่าข้อเสนอและวิธีคิดของ Beck มองว่าการประสานความร่วมมือของชาติต่าง ๆ มีความสำคัญเหนือกว่าการแยกตัวออกจากกัน กล่าวคือ การก้าวข้ามพรมแดนและขอบเขตของรัฐเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ต่างจากเดิม และอาจเป็นหนทางที่จะอยู่กับความผันแปรที่คาดเดาไม่ได้ ปัญหาที่ผ่านมาของวิกฤตโลกก็เพราะชาติต่าง ๆ ไม่พยายามร่วมคิดร่วมทำ ทำให้ปัญหาสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงอากาศโลกกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรับผิดชอบ Beck เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกมิใช่หายนะของโลก แต่เป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้มนุษย์หันหน้าเข้าหากัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ Beck อาจมองข้ามไปคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงอากาศโลกมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมกับประเทศที่ยากจนและไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาอพยพย้ายถิ่นของคนยากจนไปสู่ประเทศมหาอำนาจความไม่เท่าเทียมนี้จะถูกแก้ไขอย่างไรภายใต้แนวคิด cooperative globe
ข้อเสนอของ Beck อาจเป็นไปได้สำหรับประเทศตะวันตกที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่อาจใช้ไม่ได้กับประเทศเล็ก ๆ ที่ถูกกระทำภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ภายใต้สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ซับซ้อนในยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศต่าง ๆ มีประวัติศาสตร์สังคม การเมือง และเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน ทำให้การจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ดำเนินไปบนประสบการณ์ที่หลากหลาย Honeybun-Arnolda (2017) กล่าวว่าความพยายามที่จะนำแนวคิดสากลแบบ methodological cosmopolitanism มาใช้กับทุกประเทศ อาจเป็นเรื่องที่ยากและไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคมที่ต่างกัน รวมทั้ง ในประเทศต่าง ๆ ยังมีความไม่เท่าเทียมทางสังคมด้วย เมื่อเอ่ยถึงความเป็นชาติ จึงไม่สามารถยืนยันในความเป็นสังคมที่เป็นปึกแผ่นได้ ความซับซ้อนจากความเหลื่อมล้ำดังกล่าวไม่ได้ถูกกล่าวถึงในงานของ Beck โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ คนไร้อำนาจ และคนไร้สิทธิ ซึ่งถูกกีดกันออกไปจากระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
Baudrillard, J. (1981). For a Critique of the Political Economy of the Sign. St. Louis: Telos press Ltd.
Bauman Z. (2009). Liquid Times. Living in an Age of Uncertainty. Cambridge: Polity Press.
Bauman, Z. (2011). Collateral Damage. Social Inequalities in a Global Age. Cambridge: Polity Press.
Beck, U. (2013). World at Risk. Cambridge: Polity.
Beck, U. (2016). The Metamorphosis of the World: How Climate Change Is Transforming Our Concept of the World. Cambridge: Polity.
Blok, A. (2015). Towards cosmopolitan middle-range theorizing: A metamorphosis in the practice of social theory? Current Sociology, 63(1), 110-114.
Burnham, J. (1941). The Managerial Revolution. New York: Day.
Goffman, E. (1952). On Cooling the Mark Out: Some Aspects of Adaptation to Failure. Psychiatry, 1952, 15(4).
Honeybun-Arnolda, E. (2017). Book Review: The Metamorphosis of the World: How Climate Change is Transforming Our Concept of the World. The AAG Review of Books, 5(3), 177-179.
Kravchenko, S.A. (2020). Metamorphization of society: The factor of ‘side effects’ and globalization of nothing. RUDN Journal of Sociology, 20(2), 201-211.
Latour, B. (1988). The Pasteurization of France. Cambridge: Harvard University Press.
Mythen, G. (2018). Exploring the Theory of Metamorphosis: In Dialogue with Ulrich Beck. Theory, Culture & Society, 0(0), 1-16.
Ritzer, G. (2004). The globalization of nothing. Thousand Oaks: Pine Forge Press.
Roudometof, V. (2016). Glocalization A Critical Introduction. London: Routledge.
Sassen, S. (2014). Expulsions: Brutality and Complexity in the Global Economy. Cambridge: Harvard University Press.
Sztompka, P. (1991). Society in Action: A Theory of Social Becoming. Chicago: University of Chicago Press.
Urry, J. (2003). Global Complexity. Cambridge: Polity Press.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ แนวคิดการเปลี่ยนสภาพ metamorphosis ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ