ประวัติความเป็นมา

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ประวัติความเป็นมา

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัดตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา ในปี พ.ศ. 2534 โดยมีพระราชปรารภว่าประเทศไทยยังไม่มีศูนย์ข้อมูลทางด้านมานุษยวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้องทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ซึ่งผู้ที่ต้องการข้อมูลจะสามารถสืบค้นได้โดยสะดวก ศมส. ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) และจัดตั้งขึ้นเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 โดยมีสถานภาพเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร กับได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการ ณ ถนนปิ่นเกล้า - นครชัยศรี (ถนนบรมราชชนนี)

           ต่อมา มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เจรจาขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อปรับรูปแบบการดำเนินงานและการบริหารงบประมาณให้เป็นองค์การนอกระบบราชการ โครงการปรับรูปแบบการดำเนินงานและการบริหารงบประมาณของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พ.ศ. 2538 - 2542 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 ศมส. ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่ปรึกษาและเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในวันที่ 9 มีนาคม 2542

 

การจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน

           หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการของโครงการปรับรูปแบบการดำเนินงานและการบริหารงบประมาณของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พ.ศ. 2538 - 2542 ได้มีการประเมินผลการดำเนินงานและคณะกรรมการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพิจารณาเห็นว่า การจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนจะสามารถส่งเสริมศักยภาพของ ศมส. ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก

           1) มีความคล่องตัวในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

           2) มีการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาล เนื่องจากศมส. เป็นองค์กรเพื่อการศึกษาวิจัยให้บริการทางวิชาการ และเผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจและสังคมโดยส่วนรวม ซึ่งการดำเนินงานต่าง ๆ มิได้มุ่งหวังผลกำไรเป็นหลัก

           3) อำนาจในการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ที่เบ็ดเสร็จภายในองค์กร จะช่วยให้มีความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน

           4) การบริหารงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนเอื้ออำนวยให้องค์กรมีศักยภาพในการวางแผนการใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า

           คณะกรรมการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จึงได้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นองค์การมหาชน และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2543 ให้จัดตั้งเป็นองค์การมหาชนในกำกับของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ต่อมา เมื่อมีการปฏิรูประบบบริหารราชการในปี พ.ศ. 2545 จึงได้โอนมาอยู่ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกับงานวัฒนธรรม

           “การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข”

           พระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2542

           เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะให้ประเทศไทยมีหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลทางด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ผ่านการศึกษาด้านสังคมวัฒนธรรม ภารกิจของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงครอบคลุมทั้งการรวบรวม จัดระบบ เผยแพร่ และสนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างความรู้ใหม่ทางด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ความรู้ท้องถิ่นของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมีแนวนโยบายว่า ความรู้เกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อนบ้านใกล้เคียง และมนุษยชาติ รวมถึงกลุ่มคนชั้นสูง ชาวบ้านทั่วไป และคนกลุ่มน้อย ควรมีการรวบรวมเก็บรักษาไว้และสนับสนุนให้มีการศึกษาเรียนรู้ต่อไป เพื่อให้ประชาชนรู้จักความเป็นมาของตนเอง อีกทั้งยังเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้ ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ที่มีปรัชญาและวิถีชีวิตที่เคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน แต่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกร่วมสมัยและเตรียมรับอย่างมีสติปัญญา