ทฤษฎีสมคบคิดในมุมมองมานุษยวิทยา

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 6142

ทฤษฎีสมคบคิดในมุมมองมานุษยวิทยา

           ใครอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) มนุษยชาติเคยขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์จริงหรือไม่ ความลับในแอเรีย 51 (Area 51) คืออะไร อะไรขับเคลื่อนเหตุการณ์ 9/11 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าเกิดจากสาเหตุใด คำถามเหล่านี้เป็นข้อสงสัยจากทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้เรียกคำอธิบายเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างว่าเป็นผลมาจากแผนการหรือภารกิจลับของผู้มีอำนาจ หรือไม่ก็คือยืนยันว่ามีเรื่องราวสำคัญบางอย่างที่ถูกผู้มีอำนาจปกปิดไว้เป็นความลับจากสาธารณชน แอนดริว แม็คเคนซี่-แม็คฮาร์ก (Andrew McKenzie-McHarg) (2020) บอกว่าแนวคิดดังกล่าวเกิดจากการประกอบขึ้นของคำสองคำ นั่นคือ คำว่าสมคบคิด (conspiracy) เป็นคำที่แสดงรูปลักษณ์หรือที่มาที่ไปของสิ่งที่ถูกอธิบาย ในขณะที่คำว่าทฤษฎี เป็นความพยายามยกระดับคำอธิบายผ่านการเชื่อมโยงความคิดซึ่งเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยรวมแล้ว กล่าวได้ว่า ทฤษฎีสมคบคิดเป็นโครงสร้างของเรื่องเล่าแบบหนึ่งที่เกิดจากการรวบรวมเงื่อนงำเล็ก ๆ และข้อสงสัย เข้าด้วยกันผ่านการใช้จินตนาการเพื่ออธิบายการกระทำของผู้มีอำนาจที่ไม่ปรากฏหรือมองไม่เห็น (Jameson 1992) ซึ่งความจริงของเรื่องเล่านั้นมักเป็นปริศนาหรือไม่กระจ่างชัด บทความนี้ไม่ได้มุ่งตอบคำถามที่เป็นข้อสงสัยในข้างต้น แต่ต้องการสำรวจทฤษฎีสมคบคิดในมุมมองทางมานุษยวิทยา


ที่มาและพัฒนาการ

           แม้การใช้คำว่าทฤษฎีสมคบคิดในความหมายข้างต้นจะเริ่มขึ้นโดยสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (CIA) หลังจากที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ถูกลอบสังหารในปี 1963 ภายใต้ข้อสงสัยว่าผู้ลอบสังหารซึ่งเป็นอดีตนาวิกโยธินของสหรัฐเพียงคนเดียวจะสามารถลงมือได้เองโดยปราศจากการหนุนหลังจริงหรือไม่ การบริหารของประธานาธิบดีที่ขัดแย้งกับอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำจบลงด้วยการลอบสังหารหรือไม่ (The Telegraph 2018) แม็คเคนซี่-แม็คฮาร์ก (2020) อธิบายว่าพัฒนาการของแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการทำข้อสงสัยให้เป็นศาสตร์ (scientisation) ในสองลักษณะ โดยลักษณะแรกเกิดขึ้นในนิติวิทยาศาสตร์ทางอาชญากรรม (criminal forensics) ในทศวรรษ 1970 คำว่าทฤษฎีสมคบคิดที่ปรากฏและแพร่หลายอยู่ก่อนแล้วตามหนังสือพิมพ์ กลายเป็นแม่แบบให้กับการสร้างคำอธิบายชั่วคราวต่อข้อสันนิษฐานในอาชญากรรมต่าง ๆ การสำรวจบทความในหนังสือพิมพ์ของแม็คเคนซี่-แม็คฮาร์ก พบหัวข้อข่าวที่ใช้รูปแบบการประกอบคำแบบเดียวกับทฤษฎีสมคบคิดในการอธิบายคดีอาชญากรรมหนึ่ง ๆ เป็นการเฉพาะ คือ ทฤษฎี+ลักษณะอาชญากรรม (crime+theory) เช่น ทฤษฎีการฆาตกรรม (murder theory) ทฤษฎีการลักพาตัว (abduction theory) และทฤษฎีการขู่กรรโชก (blackmail theory) คำว่าทฤษฎีในที่นี้จึงมีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานที่จำเพาะต่อบริบท ในขณะที่การสมคบคิดเป็นเรื่องของการสุมหัวหรือร่วมกันก่ออาชญากรรมที่ผิดต่อกฎหมาย กล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของทฤษฎีสมคบคิดในลักษณะแรกนี้ยังไม่มีลักษณะเป็นคำศัพท์เชิงแนวคิด

           พัฒนาการในลักษณะที่สองเกิดขึ้นในสังคมศาสตร์ แม็คเคนซี่-แม็คฮาร์ก (2020) บอกว่าสำหรับสังคมศาสตร์แล้ว ทฤษฎีสมคบคิดไม่ใช่แนวคิดธรรมดา แต่เป็นแนวคิดที่ให้ความหมายทางลบในฐานะตัวแบบของการอธิบายอาชญากรรมหรือเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองระดับมหภาค ทฤษฎีสมคบคิดในความหมายนี้จึงไม่ใช่สมมติฐานที่อธิบายเหตุการณ์อันจำเพาะต่อบริบทหนึ่ง ๆ แต่เป็นการสร้างเค้าโครงของเรื่องเล่าหรือกรอบความคิดสำหรับหว่านล้อมผู้คนที่หลงเชื่อ แม็คเคนซี่-แม็คฮาร์ก ยังเห็นว่านัยของทฤษฎีสมคบคิดแต่ละเรื่องจะเผยตัวเมื่อเราถอยห่างออกมาจากเนื้อหาของเรื่องเล่าหรือกรอบความคิด และจัดวางทฤษฎีสมคบคิดนั้นไว้ในบริบทที่กว้างกว่า คาร์ล ป๊อปเปอร์ (Karl Popper) (1994) ชี้ให้เห็นสาระสำคัญของพัฒนาการในลักษณะนี้ว่า ทฤษฎีสมคบคิดเป็นมุมมองที่อธิบายว่าปรากฏการณ์ทางสังคมประกอบขึ้นจากการค้นพบว่ามีคนบางกลุ่มจะได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ พวกเขาจึงวางแผนและลงมือให้มีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความขัดแย้ง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนความแร้นแค้น ล้วนเป็นผลมาจากความต้องการของผู้มีอำนาจ การพิจารณาทฤษฎีสมคบคิดจึงต้องมองว่ามีบริบทแวดล้อมอะไรที่ทำให้สังคมต้องหวาดระแวงต่อการกระทำของผู้มีอำนาจซึ่งแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ต่าง ๆ


จักรวาลทัศน์ลี้ลับในมานุษยวิทยา

           ในยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารแพร่หลายและทฤษฎีสมคบคิดได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นเป็นลำดับ เหตุการณ์บางอย่างในสังคมที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน หรือเป็นปริศนาที่ไม่กระจ่างชัด มักถูกอธิบายด้วยทฤษฎีสมคบคิดว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์ของผู้มีอำนาจบางอย่าง อย่างไรก็ตาม แทนที่จะพิสูจน์ทราบความไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไรหรือเป็นอย่างไรกันแน่ มานุษยวิทยาสนใจทฤษฎีสมคบคิดในระดับของการสร้างความหมาย ในทางหนึ่ง แอนนิกา ราโบ (Annika Rabo) (2020) บอกว่าการค้นคว้าเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในมานุษยวิทยาพัฒนาขึ้นมาจากความสนใจเรื่องเวทมนตร์คาถาและพลังปีศาจ จักรวาลทัศน์ลี้ลับ (occult cosmology) ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ที่พบในสังคมบรรพกาลเท่านั้น แต่ยังปรากฏในสังคมร่วมสมัยด้วย ราโบเห็นว่าจักรวาลทัศน์ลี้ลับไม่เพียงแพร่หลายในสังคมร่วมสมัย แต่ยังปรากฏตัวในฐานะทฤษฎีสมคบคิดด้วย

           อี อี อีแวนส์-พริทชาร์ด (E. E. Evans-Pritchard) (1937) เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาจักรวาลทัศน์ลี้ลับผ่านการศึกษาสังคมของชาวอาซานเด (Azande) ทางตอนใต้ของซูดาน ในบริบทของยุคสมัยที่สังคมบรรพกาลถูกวางอยู่ตรงข้ามกับสังคมสมัยใหม่ อีแวนส์-พริทชาร์ด อธิบายว่าการใช้เวทมนตร์คาถาในสังคมอาซานเดมีระบบของตรรกะและเหตุผลรองรับในตัวเอง การที่ชาวอาซานเดไม่เชื่อในเรื่องเหตุบังเอิญ สิ่งที่นับเป็นอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย ความตาย และเรื่องโชคร้ายต่าง ๆ ถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากการใช้เวทมนตร์คาถา จักรวาลทัศน์ของชาวอาซานเดดังกล่าวข้างต้นนี้ใกล้เคียงกับความคิดที่ว่า เมื่อมีเหตุไม่ดีบางอย่างเกิดขึ้น สาเหตุล้วนมาจากการที่ใครบางคนหรือบางกลุ่มกระทำการหรือสมคบกันในที่ลับเพื่อใช้คาถาอาคมให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น

           ในช่วงทศวรรษ 1980 คดีความว่าด้วยการล่วงละเมิดจนถึงการฆาตกรรมเด็กปรากฏขึ้นในภาคกลาง (midland) ของสหราชอาณาจักร หนึ่งในคำอธิบายที่แพร่หลายในช่วงเวลานั้นคือการเชื่อมโยงคดีความดังกล่าวเข้ากับลัทธิบูชาซาตาน (satanic cult) อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่การกล่าวหายังคงเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ฌ็อง ลา ฟอนเทน (Jean La Fontain) (1998) แกะรอยเรื่องราวดังกล่าว พบว่าความคิดเรื่องการบูชาซาตานไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เดิมในสหราชอาณาจักร แต่เป็นแนวคิดที่แพร่มาจากสหรัฐอเมริกา สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และขยายผลแนวคิดนี้ ผ่านการสร้างความสงสัยและข้อกล่าวหาที่เชื่อมโยงคดีเข้ากับลัทธิที่แพร่เข้ามา เจ้าหน้าที่และนักวิชาการที่พูดถึงคดีความแต่ไม่เชื่อมโยงไปยังลัทธิจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกที่ไม่จริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งผู้ที่ปฏิเสธความเชื่อมโยงและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมายและข้อมูลหลักฐานก็จะถูกใส่ความว่าพยายามปกป้องบุคคลสำคัญและผู้มีอำนาจในสังคมซึ่งน่าจะเป็นสมาชิกของลัทธิ เมื่อสถานการณ์เริ่มนิ่งในอีก 20 ปีต่อมา นิกกี้ ฟอลคอฟ (Nicky Falkof) (2019) อธิบายว่าบริบทของลัทธิบูชาซาตานในช่วงทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 คือการล่มสลายลงของระบอบการแบ่งแยกสีผิว (apartheid regime) ในแอฟริกาใต้ จักรวาลทัศน์ของการบูชาซาตานกลายเป็นภาพแทนของสงครามระหว่างพระเจ้าและปีศาจซึ่งสะท้อนผ่านอุดมการณ์ที่คนผิวขาวควรแยกออกจากคนผิวสีอื่น อารมณ์ความรู้สึกที่ตกค้างทำให้เกิดการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทฤษฎีสมคบคิดปรากฏขึ้นในคราบของอุดมการณ์แบบอื่นและบีบให้ความคิดของผู้คนต้องไหลตาม ๆ กันไป

           ในโลกปัจจุบัน ความลี้ลับในทฤษฎีสมคบคิดเปลี่ยนจากเวทมนตร์คาถาไปสู่การเมืองและทุนนิยม ความพลิกผันทางการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจ มักถูกเชื่อมโยงกับความชั่วร้ายของผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ สังคมถูกอธิบายว่าเป็นละครเวทีที่มีคนเขียนบทและผู้กำกับนิรนามอยู่เบื้องหลัง จีน โคมารอฟ (Jean Comaroff) และจอห์น โคมารอฟ (John Comaroff) (1999) อธิบายว่าเราอยู่ในยุคทุนนิยมที่ตีคู่กันมากับการมองโลกในแง่ร้ายแบบหลังสมัยใหม่ (postmodern pessimism) ความร่ำรวยที่ไม่กระจ่างชัดหรือมีช่องทางให้เกิดความสงสัยของบางคนจะถูกตั้งแง่ว่าได้มาด้วยกลโกงหรือวิธีการที่ผิดหรือไม่ ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำในสังคมแอฟริกาใต้ภายหลังการล่มสลายลงของระบอบการแบ่งแยกสีผิวถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากการสมรู้ร่วมคิดกันของคนรวยและผู้มีอำนาจ แทนที่จะเป็นความเชื่อและเวทมนตร์คาถาอย่างที่ผ่านมา เงินตราและอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็นปีศาจตัวใหม่ที่อยู่เบื้องหลังคำอธิบายของทฤษฎีสมคบคิด


ความลับ (ที่ทุกคนรู้)

           กล่าวได้ว่า ด้านตรงข้ามของการสมคบคิด (conspiracy) ที่เป็นเรื่องของการกระทำแบบลับ ๆ คือความโปร่งใส (transparency) ซึ่งเอื้อต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด ธีโอโดรอส ราโคโปลอส (Theodoros Rakopoulos) (2022) อธิบายว่าฐานความคิดของทฤษฎีสมคบคิดคือการเชื่อว่ามีความจริงอยู่ข้างนอก (out there) ซึ่งเราสามารถเข้าไปค้นหาได้ แต่การไปไม่ถึงความจริงนั้นด้วยอุปสรรคของอำนาจและปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เนื้อหาของทฤษฎีสมคบคิดเกิดขึ้นจากความสิ้นหวังในการแสวงหาความจริงนั้น ๆ ของนักฝันกลางวันเชิงทฤษฎี ในขณะเดียวกัน สาเหตุที่ทฤษฎีสมคบคิดได้รับความเชื่อถือ นอกจากเนื้อหาสาระที่ชวนเชื่อแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากระดับความน่าเชื่อถือที่ตกต่ำ (low-credibility) ของกลุ่มคนที่ถูกกล่าวถึง เช่นเดียวกับที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่รู้ (ignorance) ของผู้รับสารด้วย กล่าวได้ว่า ความคลุมเครือ น่าสงสัย ไม่กระจ่างชัด เป็นสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่สำคัญและเอื้อต่อทฤษฎีสมคบคิด เพราะความไม่รู้ ไม่ว่าจะด้วยเพราะความอคติ การขาดข้อมูลที่จะรู้หรือการสืบสาวเข้าไปไม่ถึงข้อมูลที่เป็นความลับ ได้สร้างทางเลือกให้กับทฤษฎีสมคบคิดผ่านการสร้างความจริงทางสังคมขึ้นมาในคำอธิบาย (Kirsh & Dilley 2015) นั่นคือการสร้างคำอธิบายว่าความลับในเรื่องหนึ่ง ๆ คืออะไรแล้วเผยแพร่ออกไปโดยบอกว่าเรื่องนี้เป็นความลับ

           สมมติฐานที่กลายเป็นคำอธิบายในทฤษฎีสมคบคิดจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในขณะที่ทฤษฎีสมคบคิดพยายามอธิบายให้เห็นความไม่กระจ่างชัดของเรื่องราวบางอย่างซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ การอธิบายแบบเชื่อมโยงองค์ประกอบและเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยปราศจากหลักฐานที่แน่ชัดจนเกิดเป็นเรื่องราวบางอย่างเป็นสิ่งที่คนทั่วไปต้องระมัดระวัง ในพันธะที่สังคมศาสตร์ต้องให้คำอธิบายที่ลึกไปกว่าสามัญสำนึกและพื้นผิวของข้อเท็จจริง ป๊อปเปอร์ (2014) เห็นว่าสังคมศาสตร์ไม่ควรทำแบบเดียวกับทฤษฎีสมคบคิด หรือก็คือการมุ่งอธิบายว่าความจริงทางสังคมหนึ่ง ๆ เป็นผลมาจากการกระทำอย่างลับ ๆ ของผู้มีอำนาจ เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นตามความประสงค์ของใคร ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและใครได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่สังคมศาสตร์ควรให้ความสนใจคือการชี้ให้เห็นและอธิบายผลที่ไม่คาดคิดของการกระทำที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง ดิดิแยร์ ฟาแซง (Didier Fassin) (2021) เห็นว่าทฤษฎีสมคบคิดเป็นเรื่องการต่อสู้กันของความหมาย ในบางกรณีที่ความรู้บางอย่างถูกปกปิดไว้ ความรู้อีกอย่างก็ถูกสร้างขึ้นมาในรูปของทฤษฎีสมคบคิดเช่นกัน การเกิดขึ้นของศาสตร์อย่างยูโฟวิทยา (Ufology) เป็นตัวอย่างของการสร้างความหมายให้กับข้อสงสัยและความไม่รู้เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวและวัตถุลึกลับจากห้วงอวกาศ (Roth 2005) สิ่งที่เราควรทำคือการอธิบายว่าทฤษฎีสมคบคิดแต่ละเรื่องต้องการบอกอะไร อยู่ภายใต้บริบทแบบใด และกำลังสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความรู้และความรับรู้ในสังคมอย่างไร


รายการอ้างอิง

Comaroff, J & Comaroff, J. 1999. Occult Economies and the Violence of Abstraction: Notes from the South African Postcolony. American Ethnologist. 26(2): 279-303.

Evans-Pritchard, E. 1937. Witchcraft, Oracles, and Magic Among the Azande. Oxford: Clarendon Press.

Falkof, N. 2018. The Satanism Scare in Apartheid South Africa. In Handbook of Conspiracy Theory and Contemporary Religion. Leiden: Brill.

Fassin, D. 2021. Of Plots and Men: The Heuristics of Conspiracy Theories. Current Anthropology, 62(2): 128-137.

Jameson, F. 1992. The Geopolitical Aesthetic: Cinema and Space in the World System. London: BFI & Indiana University Press.

Kirsch, T. G. & Dilley, R. 2015. Regimes of Ignorance. Regimes of Ignorance: Anthropological Perspectives on the Production and Reproduction of Non-knowledge. New York: Berghahn Books.

La Fontain, J. 1998. Speak of the Devil: Tales of Satanic Abuse in Contemporary England. Cambridge: Cambridge University Press.

McKenzie-McHarg, A. 2020. Conceptual History and Conspiracy Theory. In Routledge Handbook of Conspiracy Theories. New York: Routledge.

Popper, K. 1994. The Open Society and Its Enemies. New Jersey: Princeton University Press.

Popper, K. 2014. Conjectures and Refutations: The Growth of Scientific Knowledge. New York: Routledge.

Rabo, A. 2020. Conspiracy Theory as Occult Cosmology in Anthropology. In Routledge Handbook of Conspiracy Theories. New York: Routledge.

Rakopoulos, T. 2022. Of Fascists and Dreamers: Conspiracy Theory and Anthropology. Social Anthropology, 30(1): 45-62.

Roth, C. F. 2005. Ufology as Anthropology: Race, Extraterrestrials, and the Occult. ET Culture: Anthropology in Outerspaces, 38-93.

The Telegraph. 2018. History's Greatest Conspiracy Theories.  https://www.telegraph.co.uk/news/2016/03/16/historys-greatest-conspiracy-theories/


 

ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ทฤษฎีสมคบคิด มานุษยวิทยา วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา