มานุษยวิทยากับการศึกษากลิ่น

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2476

มานุษยวิทยากับการศึกษากลิ่น

           การให้ความสนใจต่อการศึกษา “กลิ่น (odor)” ถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผัสสะซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มนักจิตวิทยาให้ความสนใจต่อการศึกษาเป็นกลุ่มแรก โดยเป็นการศึกษาเชิงกายภาพในลักษณะการทำความเข้าใจกลไกล และพฤติกรรมของร่างกายที่มีผลต่อการแสดงความรู้สึก การรับรู้และการตอบสนองต่อโลกรอบตัว โดยไม่ได้มุ่งศึกษามุมมองทางสังคมและวัฒนธรรมที่ผัสสะดำรงอยู่ในฐานะประสบการณ์ที่มนุษย์ให้ความหมายหลากหลายรูปแบบตามสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แม้ในช่วงศตวรรษที่ 17 ทิศทางของโลกเริ่มขยับไปให้ความสนใจต่อการศึกษาประสบการณ์และวิธีคิดเกี่ยวกับผัสสะต่าง ๆ ประกอบด้วยการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การลิ้มรส และการได้กลิ่นมากขึ้น แต่ด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตกที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น จึงทำให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญของอวัยวะในการรับรู้ผัสสะต่าง ๆ ขึ้น โดยการมองเห็นถูกยกย่องให้เป็นการรับรู้ที่มีคุณค่าสูงสุด  ในขณะที่การรับรู้อื่น ๆ จะถูกด้อยค่าให้เป็นเพียงการรับรู้ที่ป่าเถื่อนและไร้ความสำคัญต่อการทำความเข้าใจ (Harvey, 2003)

           จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา งานศึกษาทางมานุษยวิทยากลุ่มแรกที่ว่าด้วยผัสสะ (The Anthropology Of The Senses) เริ่มเสนอให้หันมาทำความเข้าใจการรับรู้เชิงผัสสะของสังคมต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ เช่น ในโลกตะวันตกอาจให้ความสำคัญต่อการมองเห็นและการได้ยินเหนือกว่าผัสสะอื่น ๆ ในขณะที่ซีกโลกอื่น ๆ การได้กลิ่น การสัมผัส และการลิ้มรสต่างมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับการมองเห็นและการได้ยิน อีกทั้งในทศวรรษนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่นักมานุษยวิทยาหลาย ๆ คนเริ่มตั้งคำถามและสะท้อนถึงข้อจำกัดของงานทางมานุษยวิทยาที่ใช้ “ภาษาเขียน” ในฐานะเครื่องมือหลักในการบันทึกและถ่ายทอดความรู้ผ่านตัวหนังสือ  ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจมิติทางอารมณ์และความรู้สึกของผู้คน (Howes, 2003) นักมานุษยวิทยาจึงเริ่มค้นหาวิธีวิทยาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นในการศึกษาผัสสะ ซึ่งพบแนวทางสำคัญประการหนึ่งคือผู้ศึกษาจำเป็นต้องร่วมรู้สึกไปกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและเจ้าของวัฒนธรรมทางผัสสะที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ (Pink, 2009, 2013) เพื่อที่จะทำความเข้าใจผัสสะรูปแบบต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

           การให้ความสนใจต่อการศึกษา “กลิ่น” ถือเป็นการศึกษาประสบการณ์ทางผัสสะ (sensory experience) ที่มีความน่าสนใจต่อการศึกษาในทางมานุษยวิทยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากแต่เดิมกลิ่นมักจะถูกจัดให้เป็นเพียงกลไกการรับรู้ที่เฉื่อยชาหนึ่งของ “ร่างกาย (body) ” มนุษย์ แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราต่างใช้ร่างกายเข้าไปรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวก่อให้เกิดเป็นประสบการณ์ที่แต่ละคนเข้าใจโลกและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันแตกต่างกัน ดังนั้นกลิ่นจึงถือเป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์รับรู้ได้ผ่าน “การได้รับกลิ่น” นั้น ๆ เข้ามาและสร้างความหมายและคุณค่าต่อกลิ่นที่ได้รับขึ้น ดังเช่นพิธีกรรมรักษาโรคของชนเผ่าชีพิโบ-โคนิโบ  ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับความรู้สึกของผู้ป่วย หมอพื้นบ้านจะต้องคอยจัดเตรียมสถานที่เพื่อให้ผู้ป่วยสัมผัสถึงความรู้สึกที่เรียกว่า quiquin หรือการที่ผู้ป่วยได้สัมผัสกับบรรยากาศที่มีกลิ่นหอมตลอดการรักษา ดังนั้นก่อนกระบวนการรักษาจะเริ่มต้นขึ้นหมอพื้นบ้านจึงต้องเตรียมอบสมุนไพรหอมด้วยความร้อนที่พอเหมาะให้ติดกลิ่นควันจาง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและรู้สึกมีความสุขขณะการรักษา โดยญาติพี่น้องจะคอยอยู่เคียงข้างเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด องค์ประกอบเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์ทางผัสสะของการได้รับกลิ่นที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัว และทำให้การรักษาผู้ป่วยในแต่ละครั้งของเผ่าชีพิโบ-โคนิโบสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี (Gebhart-Sayer, 1985)

           Kelvin Low นักมานุษยวิทยาผัสสะผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นยังได้นำเสนอประเด็นกลิ่นกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันและการตีความเชิงสัญลักษณ์ไว้ว่า หลาย ๆ ครั้งคุณลักษณะของกลิ่นในแง่มุมทางสังคมมักจะถูกอธิบายในลักษณะคู่ตรงข้ามหรือเป็นการแบ่งแยกเพื่อระบุความแตกต่าง เช่น กลิ่นความสะอาดและกลิ่นความสกปรก หรือแม้แต่กลิ่นในขอบเขตพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์และอิสลามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ กลิ่นหอมถือเป็นตัวแทนของความสะอาด (cleanliness) และเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเลื่อมใสและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า (godliness) ในขณะที่กลิ่นเหม็นหรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์มักจะถูกตีความในฐานะตัวแทนของบาป (heresy) ปีศาจหรือความชั่วร้ายทั้งปวง ดังนั้นกลิ่นจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางจิตวิทยาหรือเป็นเพียงเรื่องเฉพาะของปัจเจกบุคคล แต่กลิ่นถือเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างความหมายร่วมกันผ่านทางวัฒนธรรมขึ้น (Low, 2009)

           นอกจากนี้ Brian Moeran นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษได้เสนอถึงกระบวนการสร้างความหมายของกลิ่นในการศึกษาเชิงผัสสะไว้อย่างน่าสนใจว่า โดยทั่วไปแล้วกระบวนการรับกลิ่นมีความละเอียดและซับซ้อน การทำความเข้าใจกลิ่นจึงอาจเริ่มต้นจากทำความเข้าใจความรู้สึกและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกลิ่นนั้น ๆ อาทิ รู้สึกผ่อนคลายภายหลังจากได้สูดดมกลิ่นดอกไม้ หรือรู้สึกหายใจไม่สะดวกภายหลังจากสูดดมควันบางชนิด เป็นต้น อีกประการหนึ่ง คือ กลิ่นต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรามักจะถูกเชื่อมโยงและแฝงฝังเข้าไปในความทรงจำของผู้รับกลิ่นผ่านการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ปัจจัยทางสังคม เช่น ค่านิยม กฎเกณฑ์ รวมไปถึงผู้คนรอบตัว ส่งผลให้กลิ่นไม่ได้มีความหมายด้วยตัวมันเอง หากแต่ปัจจัยต่าง ๆ จากภายนอกและความทรงจำของเราต่างมีส่วนสำคัญในการสร้างคำอธิบายต่อกลิ่นหนึ่ง ๆ ซึ่งนำไปสู่การกระทำหรือแบบแผนทางสังคมถือยึดถือและปฏิบัติกันได้ในบางรูปแบบ (Moeran, 2007)

           ดังจะเห็นได้จาก งานศึกษาการนำเสนอตัวตนและการบริหารจัดการความสะอาดในชีวิตประจำวันชาวพื้นเมืองเกาะโบโฮลประเทศฟิลิปปินส์ที่สัมพันธ์กับกลิ่น ในอดีตเกาะโบโฮลเป็นเกาะที่เคยอุดมไปด้วยกลิ่นดอกไม้ ต้นไม้ และสมุนไพรพื้นเมืองนานาชนิด อาจกล่าวได้ว่า เป็นกลิ่นธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะประจำเกาะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปชาวพื้นเมืองเริ่มพยายามที่จะควบคุมและจัดการกลิ่นตามแนวคิดที่ให้ความสำคัญต่อความสะอาดของเกาะ หรือที่เรียกเป็นภาษาฟิลิปปินส์ว่า Hinlo model ซึ่งเป็นการรณรงค์ทางการเมืองโดยรัฐบาลให้หมู่บ้าน เมือง และเกาะต่าง ๆ แข่งขันกันในเรื่องของความสะอาด โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันชาวโบโฮลจึงเริ่มเปลี่ยนไป พวกเขามักจะมีการเผาเพื่อทำลายขยะ เช่น พลาสติก และใบไม้รอบ ๆ บ้านเพื่อทำให้ทุกมุมของเกาะสะอาด แม้ขยะจะลดลงไปเป็นจำนวนมากและเมืองเรียบร้อยสะอาดตา แต่การกระทำเหล่านี้กลับส่งผลให้บรรยากาศของเกาะโบโฮลเต็มไปด้วยกลิ่นพืชและกลิ่นของใบไม้ไหม้ อีกทั้งกลิ่นควันของรถโดยสารประจำทาง รถจักรยานยนต์และรถยนต์ของนักท่องเที่ยวรอบ ๆ เกาะ การบริหารจัดการความสะอาดที่เพิ่มมากขึ้นนี้  จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลิ่นและการสูดดมกลิ่นของชาวพื้นเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ (Beer, 2014)

           นอกจากนี้งานศึกษาของ Stanley Finger (2001) ยังสะท้อนให้เห็นมิติของการดมกลิ่นในฐานะวิธีการในการจัดการและต่อสู้กับโรคระบาดของบุคลากรทางการแพทย์ โดย Finger เล่าว่าในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงที่โลกตะวันตกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดครั้งสำคัญ ซึ่งทำให้มนุษย์ล้มตายเป็นจำนวนมากเกิดเป็นกลิ่นเน่าเปื่อยคละคลุ้งไปทั่ว ซึ่งการสูดดมกลิ่นดังกล่าวเข้าไปจะก่อให้อันตรายต่อสุขภาพและเกิดโรคติดต่อตามมา ด้วยความกังวลต่อภาวะดังกล่าวนอกจากการพยายามจัดการและควบคุมโรคแล้ว ยังมีการนำสมุนไพรหอมมาใช้เพื่อลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ขณะแพทย์สนามลงปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน โดยนอกจากแพทย์สนามจะสวมชุดคลุมอย่างมิดชิด สวมหมวกปีกกว้างที่ทำจากหนังแพะ และถุงมือหนังแพะ เพื่อป้องกันการสัมผัสตัวผู้ป่วยแล้ว ตัวสมุนไพรหอมจะถูกนำมาอัดใส่บริเวณหน้ากากของแพทย์สนามที่ถูกออกแบบให้เป็นปากแหลมคล้ายปากนกเพื่อสูดดมและป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์เล็ดลอดเข้าไป (Finger, 2001: 149-155)

ชุดแพทย์สนามช่วงโรคระบาดในศตวรรษที่ 17-18
ที่มา : https://ngthai.com/history/30009/plague-mask-face/
 

           มากไปกว่านั้นการสูดดมและเข้าถึงกลิ่นหอมในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาของการเกิดโรคระบาดยังสะท้อนให้เห็นมิติการแบ่งลำดับของชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน เนื่องจากในศตวรรษที่ 18 การเข้าถึงกลิ่นหอม เช่น สมุนไพรหอมและน้ำหอมเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากมีราคาสูง และบางครอบครัวเท่านั้นจึงจะมีห้องอาบน้ำในบ้านเพื่อชำระล้างเชื้อโรคและสร้างกลิ่นหอมให้ร่างกาย ในขณะที่การใช้ห้องน้ำตามพื้นที่สาธารณะอย่างห้องน้ำตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น โบสถ์ วัด ถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างหลีกเลี่ยงเนื่องจากกังวลว่าจะติดโรคระบาดอย่างรุนแรง จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 กลิ่นถือเป็นเรื่องที่รัฐเข้ามาควบคุมและจัดการมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากการจัดระเบียบกลิ่นในสังคมเมืองสอดคล้องกับการทำเมืองให้เข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ (modernity) การให้ความสำคัญต่อการจัดการกลิ่น จึงเป็นเรื่องของความสะอาด สุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดี ของประชากรในประเทศ ในขณะที่กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์มักจะถูกควบคุมและจัดการให้อยู่ในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นเช่น ท่อระบายน้ำ ตลอดจนพื้นที่ที่มักจะถูกละเลยและมองข้ามอย่างเช่น พื้นที่ในชุมชนแออัด เป็นต้น (Finger, 2001: 177-180)

           กล่าวโดยสรุป การศึกษา “กลิ่น” ในทางมานุษยวิทยาถือเป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาในกลุ่มมานุษยวิทยาผัสสะซึ่งมีหัวใจสำคัญคือ ผู้ศึกษาจำเป็นต้องร่วมรู้สึกไปเจ้าของวัฒนธรรมทางผัสสะที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยการศึกษากลิ่นในทางมานุษยวิทยา จะมุ่งทำความเข้าใจกลิ่นและการดมกลิ่นในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่กลิ่นดำรงอยู่ในฐานะการกระทำทางสังคมและประสบการณ์ที่มนุษย์ให้ความหมายหลากหลายรูปแบบ กลิ่นจึงไม่ได้เป็นเพียงกลไกการรับรู้ที่เฉื่อยชา แต่เต็มไปด้วยมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมและช่วงเวลา ดังจะเห็นได้ว่า บางสังคมกลิ่นถือเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมการบำบัดและรักษาโรค ในขณะที่บางสังคมกลิ่นถือเป็นเครื่องมือในการนำเสนออัตลักษณ์ของชนพื้นเมือง บางช่วงเวลากลิ่นถูกนำไปใช้ในฐานะเครื่องมือในการต่อสู้กับโรคระบาดของบุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้แต่ในหลาย ๆ สังคมกลิ่นมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการในระดับสังคมเพื่อสร้างความสะอาดและบรรยากาศของกลิ่นที่ถูกสุขอนามัยให้กับคนในเมือง แต่อย่างไรก็ดีการพยายามบริหารจัดการกลิ่นในระดับสังคมถือเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวัง ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งแยกทางสังคมให้กลุ่มผู้เปราะบาง ๆ กลุ่มต้องเผชิญกับกลิ่นที่ไม่ถูกสุขอนามัยหรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์อย่างที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้


เอกสารอ้างอิง

Beer, Bettina. (2014). Boholano Olfaction: Odor Terms, Categories, and Discourses. Senses &Society. 9(2), 151–73.

Harvey, E. D. (2003). Sensible Flesh: On Touch in Early Modern Culture. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Howes, D. (2003). Sensual Relations: Engaging the Senses in Culture and Social Theory. Ann Arbor: University of Michigan Press.

Moeran, Brian. (2007). Marketing Scents and the Anthropology of Smell. Social Anthropology. 15(2),153–168.

Pink, S. (2009). Doing Sensory Ethnography. London: Sage.

Pink, S. (2013). Engaging the Senses in Ethnographic Practice. The Senses and Society, 8(3), 261-267.

Finger, Stanley. (2001). Origins of Neuroscience: A History of Explorations. In BrainFunction. Oxford UP.

Gebhart-Sayer, A. (1985). The Geometric Designs of the Shipibo-Conibo in Ritual Context. Journal of Latin-American Lore, 11(2), 143–175.

Low, Kelvin E. Y. (2009). Scents and Scent-sibilities: Smell and Everyday Life Experiences. Newcastleupon Tyne: Cambridge Scholars.


ผู้เขียน
ณัฐนรี ชลเสถียร
ผู้ช่วยนักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ กลิ่น ผัสสะ การรับรู้ ร่างกายและมนุษย์ การรักษา ณัฐนรี ชลเสถียร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share