เรื่องเล่า ผัสสะ และความทรงจำของการสูญพันธุ์
ความกังวลด้านการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อาจเปรียบได้ดั่งการสูญพันธุ์ครั้งที่หก (Sixth mass extinction) ในประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาโลก ที่แตกต่างจากห้าครั้งก่อนหน้า ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แต่ในครั้งที่หกนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยมีมนุษย์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อพัฒนาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นำมาสู่การสูญหายของสายพันธุ์ที่เคยดำรงอยู่ในโลกใบเดียวกันอันเป็นผลมาจากเงื้อมมือของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ การทยอยลดลงและสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ สร้างแรงกระเพื่อมทางการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ภายใต้ห้วงเวลาที่การศึกษาในหลายพื้นที่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่าโลกกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 20 Paul J. Crutzen และ Eugene F.Stoermer เสนอแนวคิด Anthropocene หรือที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่ามนุษยสมัยหรือยุคสมัยของมนุษย์ (แอนโทรโพซีน) ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของมนุษย์ในฐานะตัวการหลักของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้ห้วงเวลาที่แนวคิดเรื่องแอนโทรโพซีนกลายมาเป็นหมุดหมายของการศึกษา และข้อเสนอของครุตเซนก็ได้ดึงดูดให้ผู้คน นักวิชาการหลากสาขาวิชา หันมาศึกษาวิกฤตสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2564, หน้า 11 และ ตรงใจ หุตางกูร, เล่มเดียวกัน, หน้า 25-26)
การลดลง-สูญพันธุ์กับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่องทั่วโลกสร้างปัญหาให้กับความพยายามในการอนุรักษ์สายพันธุ์ต่าง ๆ ให้ดำรงอยู่ต่อไปในธรรมชาติ ท่ามกลางกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์อื่นอย่างรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันกิจกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างสุดโต่งก็สร้างปัญหาการกีดกันการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของคนพื้นถิ่นจนนำมาสู่ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน สิทธิการเข้าถึงทรัพยากร ความขัดแย้งกับรัฐ ความมั่นคงทางอาหาร การสูญเสียอัตลักษณ์และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ฯลฯ
แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (Biocultural diversity) ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งมีจุดกำเนิดจากความพยายามในการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ทางธรรมชาติ (Natural sites) และพื้นที่ทางวัฒนธรรม (Cultural sites) ที่เดิม UNESCO เคยวางระบบคิดให้แยกออกจากกัน การจัดการพื้นที่ทางธรรมชาติด้วยแนวคิดธรรมชาตินิยมสุดโต่งอย่างธรรมชาติบริสุทธิ์และป่าปลอดคน ได้นำมาสู่ปัญหาต่อคนพื้นถิ่นนานาประการ ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยพึ่งพาและใช้ประโยชน์ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์โดยรัฐ แนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมจึงพยายามนำเสนอแนวคิดทางวัฒนธรรมที่มีต่อธรรมชาติที่แตกต่างจากแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ และพยายามแสดงให้เห็นบทบาทของมนุษย์ต่อการอนุรักษ์และคงสภาพความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ โดยอาศัยวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาสภาวะความหลากหลาย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบอกเล่าความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทั้งสองมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (Bridgewater & Rotherham, 2019)
หากให้กล่าวโดยย่อ แนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม อธิบายถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติว่าเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติในห้วงเวลาและสถานที่หนึ่ง ที่ไม่ได้หยุดนิ่งหากแต่มีการโต้ตอบกันระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง การแบ่งพื้นที่วิเคราะห์ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมออกเป็นสองฝั่งของแนวคิดนี้เป็นไปเพื่อพยายามอธิบายปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติหรือวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในฝั่งใดฝั่งหนึ่งล้วนสร้างแรงกระเพื่อมให้ส่งผลต่ออีกด้านหนึ่งที่สัมพันธ์กันด้วย (Bridgewater & Rotherham, 2019, p.302)
ในเวลาต่อมาแนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมจะถูกนำไปประยุกต์ใช้คู่กับความหลากหลายของผู้คน สังคมและธรรมชาติ ที่ต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทสังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรหรือธรรมชาติในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง กรณีที่เห็นชัดที่สุดคือการหันมาให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองในฐานะหลักฐานอ้างอิงถึงหน้าที่ทางวัฒนธรรมและคุณค่าของพื้นที่ทางธรรมชาติ งานศึกษากลุ่มหลังนี้ถูกนำเสนอผ่านการศึกษาพื้นที่ทางธรรมชาติของชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ทางวัฒนธรรมหรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณรูปแบบต่าง ๆ ทำให้งานศึกษาแนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในระยะหลัง มักถูกศึกษาผ่านองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนพื้นเมือง องค์ความรู้เหล่านี้เองที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของความเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางระบบนิเวศ กับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญเชิงคุณค่า ความหมายและคุณประโยชน์ต่อเจ้าของวัฒนธรรม
การเพิ่มขึ้นของงานศึกษาในหลายพื้นที่ หลายสังคม ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปริมาณของความหลากหลายที่มีอยู่และกำลังถูกสั่นคลอนจากปัญหาสมัยใหม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคน-วัฒนธรรม กับทรัพยากรธรรมชาติ จนนำไปสู่แนวความคิดที่ว่า พื้นที่ใดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ย่อมจะต้องมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงตามไปด้วยเช่นเดียวกัน (ยศ สันตสมบัติ ใน โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ(บก.), 2564, หน้า 199) แนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการศึกษาองค์ความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้าน ชื่อท้องถิ่น ปฏิทินนิเวศและกิจกรรมตามฤดูกาล ที่มักศึกษาสิ่งที่มีลักษณะของความเป็นของเก่าดั้งเดิมของชุมชน/กลุ่มคน และปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของความเป็นสมัยใหม่ในด้านต่าง ๆ อาทิ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง วัฒนธรรมจากภายนอก การอธิบายปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ถูกอธิบายในลักษณะของการที่ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยองค์ความรู้แบบใหม่ มากกว่าการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง และเน้นการศึกษาวัฒนธรรมองค์ความรู้ภูมิปัญญาและแนวปฏิบัติเป็นหลัก (ดูเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Case Studies in Biocultural Diversity from Southeast Asia Traditional Ecological Calendars, Folk Medicine and Folk Names , 2022)
สูญพันธุ์ศึกษากับการเล่าเรื่องแบบชาติพันธุ์วรรณนา
ด้วยข้อจำกัดและจำนวนการศึกษาตามแนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมดังที่กล่าวไปข้างต้น มีนักวิชาการหลายคนพบว่า ในห้วงเวลาที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งที่หายไปจากชีวิตถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงออกหรือเรื่องเล่าของผู้คน ที่เดิมเคยมีปฏิสัมพันธ์และใช้ประโยชน์สายพันธุ์ดังกล่าวในด้านต่าง ๆ การสูญพันธุ์ก็มิใช่เพียงแค่การที่สายพันธุ์หนึ่งหายไปจากโลกใบนี้อย่างสิ้นเชิงในลักษณะเดียว หากแต่การให้ความหมายของการสูญพันธุ์นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างสังคม การสูญพันธุ์จึงมีหลายบริบทให้เราสามารถนำมาพิจารณา เผชิญหน้า และทำความเข้าใจในกรณีศึกษาที่มีบริบทแตกต่างกัน (Cary wolfe in Van Dooren et al., 2017) ตลอดจนวิถีปฏิบัติที่ผู้คนมีเมื่อกำลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์ การหาหนทางแก้ไขปัญหา การชะลอการสูญพันธุ์ ตลอดจนการอยู่ร่วมกับปัญหาการสูญพันธุ์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสายสูญพันธุ์ศึกษาทั้งสิ้น
The Extinction Studies Working Group เป็นกลุ่มนักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ที่เน้นศึกษาแนวปฏิบัติของมนุษย์ที่เกิดจากการเข้าไปพัวพันกับกระบวนการสูญเสียหรือสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ ในหนังสือเรื่อง Extinction studies: Stories of time, death, and generations (2017) เสนอว่าการสูญพันธุ์มิได้เป็นไปในลักษณะเดียวหรือเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับสายพันธุ์อื่น ๆ ในโลกหลากสายพันธุ์ด้วย กลุ่ม Extinction Studies นำเสนอประสบการณ์การเข้าไปพัวพันกับการสูญพันธุ์กรณีศึกษาต่าง ๆ โดยใช้วิธีการนำเสนอผ่านเรื่องเล่าเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ที่กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวพบเจอระหว่างการทำวิจัย ชาติพันธุ์วรรณนาเปิดพื้นที่ในการอธิบายและการสื่อสารรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงอนุญาตให้สิ่งมีความหมายต่าง ๆ สามารถเดินทางควบคู่กัน โดยไร้ซึ่งการปฏิเสธการเรื่องเล่าและรูปแบบการเล่าเรื่องของผู้อื่น
เรื่องเล่าจึงมีพลังในการเปิดกว้างและเชิญชวนให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของวิถีชีวิตของผู้อื่นที่แตกต่างออกไปจากตัวผู้อ่านเอง วิธีการที่พวกเขาใช้ชีวิต เผชิญหน้ากับปัญหา และเลือกสรรวิธีการแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์และพื้นที่เฉพาะ ช่วยให้การสูญพันธุ์ไม่จำเป็นจะต้องถูกมองว่าเป็นวิทยาศาสตร์เสมอไป สำนึกของผู้คนต่างวัฒนธรรมล้วนสามารถให้ความหมายของการสูญพันธุ์ได้เช่นเดียวกันกับที่นักวิทยาศาสตร์ใช้หลักการต่าง ๆ เพื่ออธิบายการสูญพันธุ์ การเล่าเรื่องแบบชาติพันธุ์วรรณนาจึงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอภาพการสูญพันธุ์ผ่านการสร้างความหมายอื่น ๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การสูญหายของสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแบบที่นักวิทยาศาสตร์หรือนักชีววิทยาใช้ระบุหรือประกาศสถานะการสูญพันธุ์
ผัสสะและความทรงจำการสูญพันธุ์ของพืชในไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง
ช่วงปี 2565 ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัยเชิงนิเวศวัฒนธรรม-นิเวศการเมืองในชุมชนกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งประสบปัญหาความขัดแย้งด้านที่ดินกับรัฐ การสูญเสียที่ดินทำกิน และการสูญเสียอัตลักษณ์วัฒนธรรมชาติพันธุ์ ด้วยโจทย์การวิจัยที่ต้องมุ่งเน้นการศึกษาภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ผู้เขียนจึงเลือกศึกษาตามแนวทางความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการศึกษาพลวัตของชุมชนผ่านแนวคิดนิเวศการเมือง การไปลงภาคสนามและอยู่ในชุมชนเป็นระยะเวลาหลายวันในช่วงเริ่มแรก ผู้เขียนไม่รู้ว่าควรจะเริ่มศึกษาหรือตั้งคำถามแบบใดเพื่อที่จะได้ข้อมูลสำหรับมาเขียนงานวิจัย จึงเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวจากการศึกษาเรื่องเล่าความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่ถูกบอกเล่าแก่คนภายนอกราวกับเป็นบทพูดที่เตรียมมาอย่างดี และพร้อมพูดในรูปแบบเดิมกับคนภายนอกคนอื่น ๆ หรือวัตถุดิบและแหล่งที่มาของอาหารในแต่ละมื้อ ที่สมาชิกชุมชนทำมาให้ผู้เขียนรับประทานระหว่างอยู่ในชุมชน
เมื่อโจทย์และเค้าโครงการเขียนชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง ผู้เขียนเริ่มศึกษาการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่และสายพันธุ์จากพืชชนิดต่าง ๆ ของสมาชิกชุมชนรายหนึ่งที่กำลังรื้อและสร้างกระท่อมหลังใหม่ ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ ผู้เขียนพบว่า สมาชิกชุมชนดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์กับพืชเกินหนึ่งร้อยสายพันธุ์ ในสมุดบันทึกของผู้เขียนระบุชื่อสายพันธุ์ตามความรู้เดิมที่ผู้เขียนมีและสอบถามจากชุมชน บ้างก็ได้คำตอบที่มีชื่อเรียกในภาษาไทยกลาง บ้างก็มาเป็นชื่อกะเหรี่ยงที่ไม่รู้ว่าชื่อภาษากลางคืออะไร การจดบันทึกส่วนใหญ่เป็นการจดบันทึกแบบแยกสายพันธุ์ต่าง ๆ ตามคำบอกเล่าและการสังเกตการณ์ แต่จุดที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และสายพันธุ์อื่น เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้เขียนขอนัดสัมภาษณ์แบบกลุ่มเพื่อขอข้อมูลการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ได้ข้อมูลจากสมาชิกเพียงคนเดียว
ในระหว่างที่กำลังสัมภาษณ์การใช้ประโยชน์จากพืชเพิ่มเติม ผู้เขียนพบว่า ชาวกะเหรี่ยงในชุมชนนี้มีการใช้ประโยชน์พืชชนิดเดียวกันแตกต่างกันตามสำนึกเรื่องพื้นที่ด้วย พืชที่ปลูกไว้ริมรั้วบ้านกับพืชที่ปลูกในไร่แม้จะชนิดเดียวกันแต่ก็มีการวางรูปแบบการใช้ประโยชน์ต่างกัน รวมถึงจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชนในสำนึกความเป็นเจ้าของ และการอนุญาตให้สมาชิกชุมชนคนอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ การใช้วิธีการสัมภาษณ์การใช้ประโยชน์จากพืชรายชนิด คงทำให้สมาชิกชุมชนหลายคนเข้าใจว่า ผู้เขียนต้องการที่จะรับรู้เรื่องพืชต่าง ๆ ของชุมชน และการพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการที่ผู้ถามไม่มีชุดคำถามที่ชัดเจน เปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนได้เล่าถึงการใช้ประโยชน์จากพืชในมุมที่ชุมชนต้องการที่จะบอกกล่าวแก่ผู้เขียน ที่เรื่องเล่าการใช้ประโยชน์จากพืช การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การใช้ประโยชน์ของชุมชนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่และความขัดแย้งของชุมชนที่ก่อตัวขึ้นในช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงชุมชน
การทำสัมปทานป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเกษตรกรรม ความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ล้วนส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนได้ตามเดิม และถูกบีบบังคับให้หันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อรักษาสิทธิในที่ดินทำกินแทน (ดูเพิ่มเติมได้จากบทความ ในชุมชนพุเม้ยง์, ยุคเกษตรนิคมเริ่มต้นจากป่าสงวนแห่งชาติ, https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/471 ) การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมนำมาซึ่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุมชน ความขัดแย้งกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจของสมาชิกชุมชน โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุที่มีชีวิตอยู่ทันช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากไร่หมุนเวียนสู่ไร่เชิงเดี่ยว และเมื่อมีบุคคลภายนอกให้ความสนใจการใช้ประโยชน์จากพืช จึงทำให้ประเด็นในวงสนทนาเปลี่ยนจากการพูดถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชในปัจจุบัน มาเป็นบาดแผลและความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงและการถูกกระทำ มาสู่การพูดถึง “พืชที่สูญพันธุ์ไปจากชุมชน” ในที่สุด
สมาชิกชุมชนทั้งหมดในวงสนทนาให้เหตุผลของการสูญพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อจากนั้นไปว่า การสูญพันธุ์ของพืชมีเพียงส่วนหนึ่งที่หายไปจากชุมชนจากปัญหาความยากในการปลูกเมื่อไม่มีระบบเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน มีพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เน้บ่องคลุ ที่ไม่สามารถหาชื่อภาษาไทยกลางเพื่ออ้างอิงได้ รูปพรรณสัณฐานของพืชชนิดนี้ รู้เพียงแค่ว่าเป็นพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ที่ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ประโยชน์จากหัวดังกล่าว โดยนำมาตัดเป็นก้อนแล้วกวน เพื่อทำเป็นขนม สมาชิกที่เอ่ยถึงพืชชนิดนี้บรรยายถึงความอร่อยของพืชดังกล่าวอย่างมาก การนำเน้บ่องคลุมากวนเพื่อทำขนมเป็นกรรมวิธีการที่ใช้เฉพาะกับพืชชนิดนี้เท่านั้น เมื่อเน้บ่องคลุหายไปและข้อจำกัดด้านภาษาของชุมชน ทำให้ไม่สามารถหาพันธุ์พืชชนิดนี้จากภายนอกมาทดแทนได้ อีกทั้งการทดลองนำพืชชนิดอื่นมาใช้แทนเน้บ่องคลุ ก็ประสบกับความผิดหวังเนื่องจากพืชชนิดอื่นไม่สามารถเทียบเคียงความอร่อยของเน้บ่องคลุได้ เช่นนั้นแล้วเมื่อไม่มีเน้บ่องคลุ กรรมวิธีการทำขนม รวมถึงขนมชนิดนี้ก็หายไปจากวิถีชีวิตชุมชนตามไปด้วย
ถัดจากเน้บ่องคลุ สมาชิกชุมชนพูดถึงพืชอีกหลายชนิดที่หายสาบสูญไปจากการทำไร่หมุนเวียน หากแต่ยังคงพบเห็นอยู่ตามริมรั้วบ้าน เนื่องจากสมาชิกชุมชนได้นำเอาพันธุ์พืชมาเพาะไว้ริมบ้านในช่วงที่มีปัญหาความขัดแย้ง ไก้โบ่ง (มันสำปะหลังกะเหรี่ยง) เฉ่อทึง (พืชหัว) พืชทั้งสามชนิดนี้ชุมชนเคยปลูกในไร่หมุนเวียน หากแต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ริมรั้วบ้านเพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์เอาไว้ โดยสาเหตุที่ไม่นำไปปลูกในไร่อีกเนื่องมาจากพอไม่มีการทำไร่หมุนเวียน การปลูกพืชเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ผลผลิต ดังคำที่ว่า “โต แต่ไม่ออกผล ปลูกแล้วไม่งาม” แม้จะมีความพยายามในการทดลองปลูกโดยไม่พึ่งพาระบบนิเวศแบบไร่หมุนเวียน แต่ส่วนมากมักประสบความล้มเหลว สมาชิกชุมชนคนหนึ่งเล่าว่า ตนเองเคยนำ ลองขุ้ย (เครื่องเทศชนิดหนึ่งของชุมชน) จากการเสาะหาต้นพันธุ์ในชุมชนกะเหรี่ยงอื่นมาปลูกในชุมชน แต่ก็มีผลลัพธ์เช่นเดียวกับไก้โบ่งและเฉ่อทึง จนที่สุดชาวกะเหรี่ยงก็พูดขึ้นมาว่า “พอเอาพันธุ์ที่ไม่ใช่พันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนมาปลูก ปลูกยังไงก็ปลูกไม่ขึ้น” จึงน่าสนใจว่า แนวคิดเรื่องการสูญพันธุ์ของชาวกะเหรี่ยงนั้นอาจเทียบเคียงกับคำว่าการสูญหาย ที่พืชหลากชนิดสูญหายไปจากวิถีชีวิตหรือวิถีปฏิบัติของชุมชน การหายไปของพันธุ์พืชชนิดหนึ่งเปรียบเสมือนการสูญพันธุ์ที่ไม่สามารถหาสิ่งใหม่มาทดแทนได้ ขิงและข่าที่เคยพบเห็นได้ในไร่ซาก(ไร่หมุนเวียนที่ปล่อยทิ้งร้างให้มีสภาพเป็นป่า ก่อนจะเวียนกลับมาทำไร่ใหม่ในอีกหลายปีให้หลัง) ในความทรงจำทางผัสสะของชุมชนก็ฉุนกว่าขิงที่วางขายในตลาดหรือมากับรถพุ่มพวง
ผู้เขียนสังเกตว่า การเล่าเรื่องการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ต่าง ๆ ชาวกะเหรี่ยงมักบอกเล่าผ่านผัสสะที่ฝังอยู่ในความทรงจำที่เป็นประสบการณ์รายบุคคลของสมาชิกชุมชน ที่สมาชิกชุมชนหลายคนเห็นพ้องต้องกันและกลายเป็นวิถีปฏิบัติร่วมของชุมชน ความหอมของขิงป่าที่มากกว่าขิงตลาด ความอร่อย หวาน มัน กรอบ ของเน้บ่องคลุที่ปัจจุบันไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ การเน้นย้ำถึงพืชที่เคยเป็นอาหารที่หายไป อาจเป็นเพราะว่าความมั่นคงทางอาหารของชาวกะเหรี่ยงในชุมชนแห่งนี้ พึ่งพาอาหารจากธรรมชาติมากกว่าระบบตลาด ที่มีแหล่งที่มาวัตถุดิบและทรัพยากรจากภายนอก การพึ่งพาระบบตลาดทำให้เกิดการแทนที่และเกิดการเปรียบเทียบ นำไปสู่การจัดวางระบบคุณค่าและความหมายต่อพืชชนิดใหม่ที่เข้ามาแทนที่ของเดิมที่สูญหายไป
เมื่อได้มีโอกาสนึกย้อนไป ผู้เขียนเริ่มเข้าใจภาพของการสูญพันธุ์มากขึ้น จากเดิมที่การสูญพันธุ์ในทางวิทยาศาสตร์หมายถึงการที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งหายไปจากโลกอย่างสิ้นเชิง โดยอาศัยวิธีการสำรวจหลักฐานและพิสูจน์ว่าไม่พบสิ่งมีชีวิตดังกล่าวอยู่ ณ แห่งหนใดในโลกนี้อีกแล้วจึงประกาศว่าสูญพันธุ์ ในที่นี้คำว่า “โลก” ในทางวิทยาศาสตร์หมายถึงโลกที่มนุษย์ทุกคนกำลังอาศัยอยู่ โลกในนิยามแบบดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง (Planet) ที่ทุกสรรพชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกัน หากแต่ในมุมมองของชาวกะเหรี่ยงหรือคนในสังคมอื่น ๆ โลกอาจหมายถึงชีวิตทางโลก (Life world) หรือโลกในมุมมองของพวกเขา เช่นเดียวกับการมองมนุษยสมัยหรือแอนโทรโพซีนแบบหย่อมย่าน (Patchy Anthropocene) ที่ผู้ได้รับผลกระทบหรือความเป็นมนุษยสมัยไม่ได้เกิดขึ้นหรือมีผู้ได้รับผลกระทบเท่ากัน (ณภัค เสรีรักษ์, 2566, หน้า 28-29) การสูญพันธุ์ในหลายสังคมจึงเกิดขึ้นไม่เท่ากัน และไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเหมารวมทั้งดาวเคราะห์ตามแบบที่นักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาใช้ได้
การหายไปของไร่หมุนเวียนที่ส่งผลให้เกิดการสูญหายของพืชสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เคยดำรงอยู่ในไร่หมุนเวียนและไร่ซาก อาจเปรียบได้ดั่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (mass-extinction) ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับพืชของพวกเขาก็สูญหายตามไปด้วย พืชนานาชนิด ความเชื่อ องค์ความรู้ วัฒนธรรมที่ครั้งหนึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เชื่อมโยงชาวกะเหรี่ยงเข้ากับโลกหลากสายพันธุ์ผ่านระบบคุณค่าและความหมาย ได้พังทลายลงและเหลือแต่เพียงความทรงจำที่ผู้ที่เคยสัมผัสพยายามบอกเล่าถึงคุณค่าและความดีงามของวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน หรือ “โลก” ของพวกเขาในอดีตก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ผู้เขียนสังเกตว่า การพยายามถ่ายทอดเรื่องเล่าความทรงจำกลายเป็นเรื่องยากในการส่งต่อเรื่องราวหรือถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังหรือบุคคลภายนอก การนำเสนอคุณค่าและความสำคัญของ เน้บ่องคลุ ที่แม้จะพยายามนำเสนอว่าอร่อยขนาดไหน แต่เป็นการสื่อสารผ่านเรื่องเล่า มิใช่ผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ในทางผัสสะนั้น เมื่อที่มาของผัสสะนั้นสูญหายไป ก็เป็นการยากที่จะถ่ายทอดและทำให้คนอื่นเข้าใจร่วมตามไปด้วย ผู้เขียนสังเกตบรรยากาศของวงสนทนาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีอารมณ์ร่วมในบทสนทนา อาจด้วยคนเหล่านี้มีผัสสะและประสบการณ์ร่วมกันที่เคยได้ชิม เน้บ่องคลุ หากแต่ในกลุ่มวัยรุ่นและเด็กกลับแสดงสีหน้ามึนงง หรือเมินเฉยบทสนทนาในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไกลเกินจะเข้าใจ การสูญหายของตัวอย่างเชิงกายภาพของพืชที่ชื่อว่า เน้บ่องคลุจึงกลายเป็นเส้นแบ่งทางความรู้และวัฒนธรรมระหว่างผู้ที่เคยพบเห็นหรือเกี่ยวข้องกับเน้บ่องคลุ กับผู้ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ดังเช่นตัวผู้เขียนเองก็ไม่สามารถจินตนาการถึงรูปร่างหน้าตา ผิวสัมผัส และรสชาติของเน้บ่องคลุไม่ออกเช่นเดียวกับวัยรุ่นและเด็กเหล่านั้น
ชาวกะเหรี่ยงได้นำเสนอมุมมองและแนวคิดด้านการสูญพันธุ์ของตนเอง ผ่านเรื่องเล่าและความทรงจำในอดีตที่ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับพืชนานาชนิดในหลากหลายรูปแบบ ชาวกะเหรี่ยงในชุมชนที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลเองก็เข้าใจว่า เน้บ่องคลุ และพืชชนิดอื่น ๆ มิได้สูญพันธุ์ในความหมายทางวิทยาศาสตร์หรือทางสากลที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่การที่พืชเหล่านั้นไปปรากฎอยู่ต่างพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากชุมชนเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าชุมชนจะเข้าใช้ประโยชน์จากพืชเหล่านั้นได้ การสูญพันธุ์จึงมีนัยยะเชิงพื้นที่ ที่ชาวกะเหรี่ยงมองผ่าน “พื้นที่” ของกลุ่มตนเองที่พวกตนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ มิใช่พื้นที่ในระดับโลกหรือดาวเคราะห์แบบสากล ในชุมชน เน้บ่องคลุยังคงมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในความทรงจำร่วมของผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้อง อยู่ในเรื่องเล่าในวงสนทนาผู้สูงอายุเพียงไม่กี่คนที่ไม่สามารถสืบทอดเรื่องเล่านี้ต่อไปยังคนรุ่นถัดไปได้ และยังคงมีอยู่ ณ ที่ใดสักแห่งภายนอกชุมชน แต่นั่นก็เป็นเน้บ่องคลุในอีกความหมายหนึ่ง มิใช่ เน้บ่องคลุ“ของชุมชน”ที่ชุมชนให้ข้อสรุปว่าสูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว การสูญพันธุ์ในมุมของชาวกะเหรี่ยงจึงหมายถึง “การที่สายพันธุ์ดังกล่าว “ขาดหายไปจากความเชื่อมโยงกับมนุษย์ พื้นที่ และวัฒนธรรม” หายไปจากการเข้าถึงหรือการใช้ประโยชน์ มิใช่การที่สายพันธุ์ดังกล่าว “สูญหายไปจากโลก” ตามความหมายแบบที่นักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาให้คำนิยาม
รายการอ้างอิง
Bridgewater, P., & Rotherham, I. D. (2019). A critical perspective on the concept of biocultural diversity and its emerging role in nature and heritage conservation. People and Nature, 1(3), 291-304.
Franco, F. M., Knudsen, M., & Hassan, N. H. (2022). Case Studies in Biocultural Diversity from Southeast Asia: Traditional Ecological Calendars, Folk Medicine and Folk Names. Springer Nature.
Van Dooren, T., Rose, D. B., & Chrulew, M. (Eds.). (2017). Extinction studies: Stories of time, death, and generations. Columbia University Press.
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (บก.). (2566). แอนโทรโปซีน บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และ อาทิตย์ เคนมี (บรรณาธิการ). 2564. สืบทฤษฎี สาววิธีคิด: การเดินทางของมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ณภัค เสรีรักษ์. 2566. ธรรมชาติสถาปนา : การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ และ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. (2566, 19 พฤศภาคม). ในชุมชนพุเม้ยง์, ยุคเกษตรนิคมเริ่มต้นจากป่าสงวนแห่งชาติ. https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/471.
ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ เรื่องเล่า ผัสสะ ความทรงจำ การสูญพันธุ์ ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์