ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเกษตรกรรมท้องถิ่น (Impacts of climate change on local agriculture)
บทนำ
ในปัจจุบันผู้คนทั่วโลกตระหนักได้ถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในแต่ละพื้นที่บนโลกกายภาพสัมผัสได้ถึงภัยคุกคามครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตและในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การถกเถียงถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการหลากหลายสาขา เพื่อหาลู่ทางการใช้ชีวิตต่อไปในโลกอนาคตที่ไม่แน่นอน การเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคการเกษตรกรรมท้องถิ่นมีโอกาสได้รับผลกระทบสูงเนื่องจากมีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศ พื้นที่กายภาพทางภูมิศาสตร์ ความรู้เฉพาะตัว รัฐบาลมีส่วนสนับสนุนจริงแต่ไม่ครอบคลุมโดยเฉพาะรัฐบาลในแถบอเมริกาใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากหลายประเทศเคยถูกขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศโดยเจ้าอาณานิคมในบริบททางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง ต้นศตวรรษที่ 20 การพัฒนาตามแบบเจ้าอาณานิคม การทำลายความหลากหลายของความรู้ ทำให้ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมหลายประเทศพัฒนาช้ากว่าปกติหากไม่มีรัฐบาลที่ดีอันมาจากกลไกทางประชาธิปไตยเพื่อช่วยฟื้นฟูศักยภาพของคนในประเทศ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยเฉพาะคนทำเกษตรกรรมท้องถิ่นที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ของคนท้องถิ่นตามมา เช่น ความมั่นคงของชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร บาดแผลทางใจ ความยากจน เป็นต้น IPCC (2007 as cited in Liaqat, 2022: 2) ได้คาดการณ์ถึงปรากฏการณ์และความเป็นไปได้ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นบนโลกของเรา ดังนี้ 1. ผลกระทบจากภัยแล้งจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 2. ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 3. อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 4. พายุเขตร้อนรุนแรงขึ้น 5. ฝนตกหนัก 7. คลื่นความร้อนจะเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมในระดับท้องถิ่นและภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ตามในมุมมองของ Raza et al. (2019 as cited in Liaqat, 2022: 3) การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แบ่งเป็น 2 ประเภทที่ 1. เชิงบวก ได้แก่ การได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น การสุกงอมของพืชผลไวขึ้น ฤดูกาลเพาะปลูกยาวนานและอบอุ่นขึ้น ความเป็นไปได้ในการปลูกพืชใหม่ ๆ ลดความเข้มข้นของความชื้นในบางพื้นที่ การผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น และ 2. เชิงลบ ได้แก่ สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรเนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น การพังทลายของดิน พายุหนักและน้ำท่วม โรคพืชเพิ่มขึ้น ฤดูกาลปลูกนานขึ้น ปัญหาการวางแผนเนื่องจากสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ได้ยาก วัชพืชเติบโต ความเครียดจากความร้อน ศักยภาพของแรงงานลดลง ฝนตกหนัก การระบาดของแมลงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลกระทบทางลบยังมากกว่าผลกระทบเชิงบวกเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่งต่อการทำเกษตรกรรมของแต่ละท้องถิ่น และในแต่ละพื้นที่ในท้องถิ่นเผชิญกับปัญหาทางด้านเกษตรกรรมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน
มุมมองการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศมนุษย์เห็นปัญหาเหมือนกันแต่การรับรู้หรือวิธีการรับรู้นั้นแตกต่างกัน สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราอยู่คนละสังคม หรืออาศัยในบริบทที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนในแต่ละสังคมสำหรับการตีความและอธิบายโลก ทำให้เราสร้างภาพแทนโลกคนละแบบได้ส่งผลให้การตีความปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน การรับรู้โลกทางสายตามิได้หมายความว่าเราจะเข้าใจโลกและการดำรงอยู่ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากสิ่งที่เรารับรู้นั้นมีคุณสมบัติผิวเผินส่งผลอย่างมากต่อการให้ความหมายของสิ่งที่เรารับรู้ ฉะนั้นเราจะรับรู้ความหมายลึกขึ้นก็ต่อเมื่อสิ่งที่รับรู้เกิดปฏิกิริยากับเราจริงไม่ใช่แค่สายตามอง (Schnegg, 2021: 1-4) นอกจากนี้ความหมายที่เรารับรู้นั้นยังขึ้นอยู่กับการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ตำแหน่งทางการเมือง ด้วยสำหรับกการเล่าเรื่อง (Sullivan 2000, 2002 as cited in Schnegg, 2021: 1-4) เช่น นักวิทยาศาสตร์อ้างว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ชาวนามิเบียอ้างว่ามาจากอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ความล้มเหลวของรัฐหลังอาณานิคม และความตึงเครียดของสังคมการเมือง (Schnegg, 2021: 1)
ล่าสุดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate change Conference of the Parties) (Praewpan Sirilurt, 2024) การประชุม COP 29 ที่ผ่านมาได้เผยถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในส่วนของ SMEs (เกษตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งของ SMEs) มีจุดมุ่งหมายจะช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กผลักดันให้เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีแคมเปญ Climate-Proofing SMEs ช่วยสนับสนุนความสามารถสำหรับปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้รวบรวมองค์กรมากถึง 40 องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจ การเงิน มหาวิทยาลัย เมือง และการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยผลักดัน SMEs ในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยมลพิษ และสร้างความยืดหยุ่นสำหรับการรับมือปัญหาด้านภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงทางด้านสภาพภูมิอากาศทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจของเกษตรกรในบทความ Economic consequences of climate change impacts on South Asian agriculture: A computable general equilibrium analysis Abeysekara, Siriwardana and Meng (2023: 77-100) ได้ใช้โมเดลโครงการวิเคราะห์การค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจําลองผลกระทบการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ย 2°C ทั่วโลกภายในปี 2050 โมเดลนี้ช่วยให้เห็นถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจและการค้าประกอบด้วย เงื่อนไขสินค้า เงื่อนไขรายได้ เงื่อนไขการจัดสรรทรัพยากรในบริบทเฉพาะ เงื่อนไขผู้กระทำการทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้ผลิต ผู้ชื้อ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุน ผลการวิจัยจากการใช้โมเดลนี้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจเผยให้เห็นถึงแนวโน้มผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ว่าภาคการเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม ทั้งยังทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายและแรงงานมีกำลังการผลิตลดลงอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจมาก เมื่อเทียบกับความสูญเสียกำลังการผลิตในที่ดินที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลอาจนำไปสู่การผลิตอาหารที่ลดลงในอนาคต ทำให้ราคาอาหารต่อรองยากขึ้นและแพงขึ้น รวมถึงการบริโภคอาหารในระดับครัวเรือนลดลงถือว่าเป็นภัยคุกคามความมั่งคงทางอาหารของภูมิภาคนี้ในอนาคต ประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือประเทศยากจนจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงในภาคการเกษตรกรรม
นอกจากนี้หากมองประเทศในแถบภูมิภาค NENA เช่น แอลจีเรีย บาห์เรน อียิปต์ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย มอริเตเนีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซูดาน สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกันโดยเฉพาะการผลิตทางการเกษตร สามารถส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดภัยแล้งในระยะยาว ปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างคาดเดาไม่ได้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทำให้น้ำทะเลแทรกซึมเข้ามาให้พื้นที่ปกติสามารถอยู่อาศัยได้ สิ่งเหล่านี้จะสร้างข้อจำกัดการทำเกษตรกรรมในภูมิภาค (FAO, 2024)
หันกลับมาที่ประเทศไทย Waqas et al. (2024: 1-3) ได้อธิบายถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรกรรมในบทความ “A comprehensive review of the impacts of climate change on agriculture in Thailand” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างความเสี่ยงต่อภาคการเกษตรของไทย เช่น ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม และแมลงศัตรูพืชจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยยังคงพึ่งพิงฝนในการทำเกษตรกรรมอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นวิถีแบบดั้งเดิมแล้วถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความมั่นคงชีวิต ความมั่นคงทางการเงินในบริบทเศรษฐกิจระดับความเรือนและความไม่มั่นคงทางอาหารในอนาคต อย่างไรก็ตามการทบทวนผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อประเมินความเสี่ยงเตรียมรับมือจะช่วยให้คนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมีวิธีการรับมืออย่างยืดหยุ่น เช่น การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนากลยุทธ์การรับมือในระดับภูมิภาคจากการศึกษาที่มีความครอบคลุม อย่างไรก็ตามในแต่ละปีประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สร้างข้อจำกัดสำหรับการทำเกษตรกรรมท้องถิ่น
บาดแผลทางจิตใจจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Trauma) ต่อผู้ทำเกษตรกรรมท้องถิ่น
Climate catastrophe works on ecologies and bodies alike as a kind of wounding, one not simply or solely to the everyday stuff of biological life but to the very constitution of experience and expression. This wounding is not so much traumatic as it is traumatically affecting. It is a wounding that manifests in jarring, rupturing, disjunctive encounters with future crisis in the contemporary moment.
(Richardson, 2018: 1)
อีกหนึ่งในผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่มิอาจละเลยได้คือเรื่องสุขภาพจิตที่สามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มผู้ทำเกษตรกรรมท้องถิ่น แม้ว่าวิกฤติทางด้านสภาพภูมิอากาศบนโลกกายภาพจะส่งผลต่อท้องถิ่นแตกต่างกัน เหตุการณ์ (event) ที่ปรากฏและการสัมผัสได้ถึงผลกระทบต่อจิตใจ สามารถกระตุ้นบาดแผลทางใจหรือปัญหาสุขภาพจิตของเกษตรกรท้องถิ่นได้ เช่น โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความเศร้าเชิงซ้อน ความเศร้าจากการเป็นผู้รอดชีวิต ภาวะบาดแผลทางใจแทนผู้อื่น ความเหนื่อยล้าจากการฟื้นฟู การคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น (Hayes et al., 2018: 2) ปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตั้งใจและกระตือรือร้นยังคงไม่มากพอในระดับปัจเจกไปจนถึงระดับโครงสร้างของแต่ละประเทศนำไปสู่ความเฉื่อยชาทางสังคม (social inertia)
เนื่องจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมที่ยืดเยื้อส่งผลต่อพฤติกรรมคนในสังคม (Brulle and Norgaard, 2019: 1) การวิเคราะห์เชิงสถาบันมุ่งเน้นที่องค์กรรัฐบาลทั้งท้องถิ่น/ภูมิภาค องค์กรภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน สถาบันมีส่วนสำคัญในการออกแบบระเบียบทางสังคมที่ตายตัวสร้างความเฉื่อยชาทางสังคมผ่านวิธีการประจำขององค์กร (organizational routines) ที่เปลี่ยนแปลงได้ยากจึงทำให้เกิดสังคมที่เฉื่อยชาทางด้านสิ่งแวดล้อม หากวิเคราะห์เชิงสังคมจะมุ่งเน้นปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง รวมถึงอุดมการณ์ การประสานความร่วมมือกันเพื่อลดความตึงเครียดทางด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความยืดหยุ่นสำหรับการรับมือเป็นไปได้ยากหากมีการแข่งขันกันเกิดขึ้น และมีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกันทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการทางด้านสภาพภูมิอากาศ (Levy, 2008, Knight and Greenberg, 2011 as cited in Brulle and Norgaard, 2019: 5) ในระดับประเทศและระดับนานาชาติการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจสังคม (Brulle 2014, Anshelm and Hultman 2015, Caniglia et al. 2015 as cited in Brulle and Norgaard, 2019: 5) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการพยายามแสวงหาความร่วมมือของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์เชิงปัจเจกมุ่งเน้นที่ตัวบุคคล ความเฉื่อยชาทางสังคมจึงมาจากการขาดข้อมูลและการเผยแพร่เพียงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจสิ่งที่จะสื่อหากยังคงความเป็นทางการหรือใช้ศัพท์เฉพาะ และไม่ได้บูรณาการกับความรู้ชุดอื่น (Bulkeley, 2000 as cited in Brulle and Norgaard, 2019: 3) โดยเฉพาะคนชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ คนจน ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน สิ่งเหล่านี้ล้วนเห็นถึงความเฉื่อยชาทางสังคมเหมือนกัน แม้ว่าจะมีวิธีการอธิบายแตกต่างกันในท้ายที่สุดนำไปสู่ปัญหาบาดแผลทางวัฒนธรรมจากการผลิตซ้ำทางสังคม ทำให้คนมีพฤติกรรมเฉื่อยชาต่อปัญหาทางด้านสภาพภูมิอากาศ การรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่การทำเกษตรกรรมของคนท้องถิ่นไม่ใช่เพียงธุรกิจแต่เป็นเรื่องปากท้อง ฉะนั้นมิอาจปฏิเสธเรื่องชนชั้นทางสังคมได้เพราะไม่ใช่เกษตรกรท้องถิ่นทุกคนมีฐานะยากจนแต่เกษตรท้องถิ่นมีฐานะทางชนชั้นที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมเมื่อเกิดวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศหรือเผชิญกับภัยพิบัติจึงได้รับผลกระทบทางจิตใจที่แตกต่างกัน เนื่องจากทุนของแต่ละครัวเรือนหรือบุคคลนั้นไม่เท่ากัน
นอกจากนี้การวิเคราะห์องค์ประกอบบาดแผลทางจิตใจที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมควรคำนึงถึงความเปราะบางของชีวิตหรือปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่เดิม และปัจจัยป้องกันส่วนบุคคล การเข้าไปการปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรง เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า พายุ ทำให้เราได้สัมผัสอย่างเปิดรับแบบสะสม (cumulative exposure) เมื่อเราอยู่บนโลกกายภาพที่มีเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศแบบยาวนานทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางอ้อม เช่น เกิดนิเวศความวิตกกังวล พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า ความเปราะบางของชุมชน เป็นต้น ส่วนผลกระทบทางตรง เช่น การสูญเสียงาน โครงสร้างพื้นฐานและบ้านเรือนเสียหาย ปัญหาเศรษฐกิจภาคครัวเรือน เป็นต้น (O’Donnell and Palinkas, 2024: 2) เกษตรกรรมของชุมชนท้องถิ่นมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรในวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศอาจนำไปสู่ปัญหาความยากจน การย้ายถิ่น ความขัดแย้งในครัวเรือน และปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น
เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่จะนำไปสู่ผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตของเกษตรกรท้องถิ่นสามารถถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเฉียบพลัน เช่น ไฟป่า น้ำท่วม พายุฤดูร้อน ฝนตกหนัก เป็นเหตุการณ์ที่อาจทำให้คนวิตกกังวล ความเครียดเพราะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคต และภายหลังการเผชิญเหตุกการณ์ 2) ผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศกึ่งเฉียบพลัน เช่น คลื่นความร้อนและอุณภูมิเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ของคนในสังคมและการปฏิสัมพันธ์กัน รวมถึงการเรียนรู้และกำลังการผลิตของคน 3) ผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่ยาวนาน เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ภัยแล้ง จะส่งผลต่อสภาพทางเศรษฐกิจ การย้ายถิ่น ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งทางสังคม ความยากจน (Palinkas and Wong, 2020: 12-14) จากทั้ง 3 ระยะกลุ่มคนที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มคนเปราะบางทางสังคม
Climate change กับการทำให้ทุกที่กลายเป็นท้องถิ่น
“think globally, act locally.”
(Kokozos, 2019)
ภาวะโลกร้อนสามารถเข้าถึงมนุษย์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมคำว่าท้องถิ่นถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของโลกและการเติบโตของระบบทุนนิยมโลก ทุกรัฐบนโลกถูกทำให้เป็นท้องถิ่นที่มีบริบทเฉพาะตัวในการปกครองตนเองผ่านอำนาจอธิปไตย แม้กระทั่งสายน้ำ ผืนดิน ป่าไม้ หุบเขา ล้วนถูกครอบงำผ่านแผนที่ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับบ่งบอกถึงอำนาจที่มีขอบเขต การแสดงออกถึงความเป็นท้องถิ่นหรือการกระทำในท้องถิ่น เช่น การเคลื่อนไหว การทำมาหากิน การมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเอง ผู้คน วัตถุ การเดิน การนั่ง การยืน การนอน การใช้ภาษา ต่างก็มีความเป็นท้องถิ่น อย่างไรก็ตามความเป็นท้องถิ่นสามารถลื่นไหลได้เนื่องจากมนุษย์สามารถถูกหล่อหลอมด้วยสังคม และมนุษย์สามารถเคลื่อนย้าย หรือย้ายถิ่นได้ จึงทำให้ความเป็นท้องถิ่นที่ถูกสะสมในตัวตนสามารถเปิดรับสิ่งใหม่ เรียนรู้ ปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในบริบทที่แตกต่างไปจากเดิมได้ ความก้าวหน้าของโลกทำให้มนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นสามารถสัมผัสถึงพื้นที่อื่นได้ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ วัตถุเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจและการรับรู้ของสมองของเรา เรากำลังถูกวัตถุเหล่านี้บงการอยู่หรือเปล่า ?
Yanis Varoufakis นักเศรษฐศาสตร์ นักเขียน และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกรีก (The Beautiful Truth, 2024) ได้อธิบายถึง Technofeudalism ว่าการเติบโตของระบบทุนนิยมบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกมีลักษณะการทำงานเหมือนพวกขุนนางในระบบฟิลดัลยุคกลางของยุโรปตะวันตก สิ่งนี้คือระบบศักดินารูปแบบดิจิทัลที่พยายามควบคุมมนุษย์ผ่านปัญญาประดิษฐ์ หรืออัลกอริทึม ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ผู้ที่กำลังใช้เทคโนโลยีที่มีแพลตฟอร์ม Varoufakis เห็นว่าสิ่งนี้คือการปกครองทางอ้อมของการปกปิดการแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูล และการทำให้ข้อมูลส่วนตัวเป็นทุนรูปแบบหนึ่งเพื่อจะใช้แสวงหาผลประโยชน์จากพฤติกรรมมนุษย์เพื่อสนองสิ่งที่เราชอบหรือสนใจ อย่างไรก็ตามการเป็นเจ้าของคลาวด์บนแพลตฟอร์มร่วมกันคือคำตอบในการเข้าไปมีส่วนร่วม แม้ว่าการกระทำของเราในปัจจุบันจะอยู่ในสถานที่ที่แตกต่าง แต่เราสามารถคิดในระดับโลกได้เพราะท้องถิ่นที่เราอยู่อาศัยคือส่วนหนึ่งของโลกเหมือนกัน ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้เป็นระบบขนาดใหญ่เรียกว่า Big data กลายเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคและพฤติกรรมแนวโน้มทางการเมืองในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อบริบทการทำเกษตรกรรมอย่างมหาศาลในท้องถิ่น แต่ละพื้นที่ท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมความหลากหลายของทุนทางสังคม ซึ่งทุนทางสังคมมีความสำคัญสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดความยืดหยุ่น แล้วทุนทางสังคมคืออะไร ? ทุนทางสังคมคือการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของมนุษย์ทำให้เกิดความสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วก่อรูปร่างเป็นเครือข่ายและชุมชน อย่างไรก็ตามการทำให้เกิดทุนทางสังคมขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต้องเป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่เป็นพิษ (Toxic) เช่น มีไมตรีจิต ความเป็นมิตรภาพ ความเห็นอกเห็นใจ เป็นต้น มักเกิดขึ้นในหน่วยทางสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น (Hanifan, 1916 อ้างอิงใน นฤมล ขุนวีช่วย, 2566: 35-36) นอกจากนี้ในเรื่องความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สำคัญของการก่อรูปการกระทำของผู้กระทำการ (agent) ซึ่งอยู่ในสนามความสัมพันธ์ (อันเป็นต้นต่อทุนทางสังคมและการสะสมทุน) ปิแอร์ บูร์ดิเยอ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้อธิบายถึงผู้กระทำการว่า ทุน สนามความสัมพันธ์ ฮาบิตุสที่ได้รับรู้ เรียนรู้ สะสมภายในตัว เป็นตัวหล่อหลอมผู้กระทำการ ปฏิกิริยาผู้กระทำการ เช่น การแสดงออกของอารมณ์ การสื่อสาร และนิสัยใจคอ ล้วนมาจากอิทธิพลของเงื่อนไขเหล่านี้ รวมถึงโครงสร้างทางสังคมที่ดำรงอยู่รอบตัวมนุษย์ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทำให้มนุษย์ไม่ได้มีความเป็นปัจเจก และมนุษย์ถูกสร้างตัวตนจากเงื่อนไขทางสังคมที่อาศัยอยู่ ฉะนั้นผู้กระทำการจึงเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ (ฐานิดา บุญวรรโณ, 2565: 1-28) และมาพร้อมกับการเติมแต่งสัญลักษณ์ทางสังคมขึ้นผ่านความชอบธรรมทางกฎหมายเพื่อให้ทราบถึงสถานะทางสังคมและสร้างการรับรู้แก่บุคคลอื่น ๆ ให้เกิดการเห็นคุณค่าหรืออำนาจของบุคคลหรือกลุ่มผู้นำ (นฤมล ขุนวีช่วย, 2566: 37)
การเกิดขึ้นของเครือข่ายทางสังคมมากจากการมีสมาชิกในสังคมสร้างความสัมพันธ์กัน และยอมรับซึ่งกันและกันนำไปสู่การมีประสบการณ์ร่วมกัน ทั้งนี้ในสังคมมีทุนทางสัญลักษณ์ที่เกิดจากการรับรู้และเห็นคุณค่าโดยมวลสมาชิกในสังคมนำไปสู่การกำหนดทุนรูปแบบอื่น ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการยอมรับบนฐานะทางสังคมเนื่องจากการมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายเป็นทุนรูปแบบหนึ่งที่สัมพันธ์กับทุนทางสัญลักษณ์ การมีอยู่ของทุนทางสังคมสามารถขยายและต่อยอดในทางเศรษฐกิจได้ (Portes, 1998 อ้างอิงใน นฤมล ขุนวีช่วย, 2566: นฤมล ขุนวีช่วย, 2566: 37-38) อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปัจจุบันสามารถแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เป็นทุนทางสังคมในระดับท้องถิ่นได้ง่ายขึ้นเนื่องจากความไม่แน่นอนทางสภาพภูมิอากาศที่ไม่คงที่คาดเดาไม่ได้ และการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของชุมชนส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรในแต่ละสังคม
สรุป
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้การทำเกษตรกรรมในท้องถิ่นยากขึ้นและในหลายพื้นที่ต้องใช้ต้นทุนที่สูงในการปรับตัวหรือรับมือ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน การเข้าใจถึงเงื่อนไขของชีวิตผู้ทำเกษตรกรรมท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีทั้งระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และระยะยาว ทุกระยะต่างส่งผลต่อตัวเกษตรกรทำให้กำลังการผลิตลดลง (productivity) เกิดการย้ายถิ่นและภาวะความยากจนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสงผลต่อสุขภาพจิต เช่น ความแปรปรวนของอารมณ์ บาดแผลทางใจก่อนและหลังการเกิดภัยพิบัติ การเกิดภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่โลกกายภาพจึงแสดงให้เห็นถึงการกลายเป็นท้องถิ่นซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโลกเสมือนจิ๊กซอว์ ทั้งยังกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นและทุนทางสังคมทำให้เห็นถึงความเปราะบางมากขึ้นในชุมชนระดับรากหญ้าหรือชุมชนที่ทุนทางสังคมไม่มีเข้มแข็ง
รายการอ้างอิง
ภาษาไทย
ชาญ พนารัตน์. 2565. บนทางสู่อารยะ: สังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ในทัศนะของนอร์เบิร์ต เอไลอัส. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์.
ฐานิดา บุญวรรโณ. 2565. “ความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์หลักของปิแอร์ บูร์ดิเยอThe Relationshipsamong the Core Concepts of Pierre Bourdieu.” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 18 (1): 1-33.
นฤมล ขุนวีช่วย. 2566. ถกทุนทางสังคม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
Praewpan Sirilurt. 2024. เปิดฉากการประชุม ‘COP29’ จับตาประเด็นการจัดหาเงินทุน – เร่ง แก้ปัญหา Climate Change ในประเทศกำลังพัฒนา. Accessed December 9 https://www.sdgmove.com/2024/11/12/start-cop29-key-points/
ภาษาต่างประเทศ
Abeysekara W. C. S. M., Siriwardana, M., Meng, S. 2023. “Economic consequences of climate change impacts on South Asian agriculture: A computable general equilibrium analysis.” The Australian Journal of Agricultural and Resource Economics, 68 (1): 77-100.
Brulle, R. J. and Norgaard, K. M. 2019. “Avoiding cultural trauma: climate change and social inertia.” Environmental Politics, 28 (5): 886–908.
Bradshaw, S., Gardner, J., Gergis, J. and Blashki, G. 2023. CLIMATE TRAUMA: THE GROWING TOLL OF CLIMATE CHANGE ON THE MENTAL HEALTH OF AUSTRALIANS. n.p.: the Climate Council of Australia Limited. https://www.climatecouncil.org.au/resources/climate-trauma/
Donnell, M. and Palinkas, L. 2024. “Taking a trauma and adversity perspective to climate change mental health.” European Journal of Psychotraumatology, 15 (1): 1-6.
Ewis, P., Monem, M.A., Impiglia, A. 2018. Impacts of climate change on farming systems and livelihoods in the Near East North Africa. With a special focus on small-scale family farming. Rome, Italy: FAO.
FAO. 2024. The NENA region. Accessed December 15. https://www.fao.org/in-action/nenfire/countries/en/
Garcia, A. 2020. The Environmental Impacts of Agricultural Intensification. Rome: Standing Panel on Impact Assessment. https://cgspace.cgiar.org/items/fc6b3e67-2cf2-473b-8bba-528aa838b0a3
Hayes, K., Blashki, G., Wiseman, J., Burke, S. and Reifels, L. 2018. “Climate change and mental health: risks, impacts and priority actions.” International Journal of Mental Health Systems, 12 (28): 1-12.
Kokozos, M. 2019. Compassion in Action: Humanizing Politics and Inspiring Global Change. Accessed December 15. https://www.nytimes.com/2019/10/08/learning/compassion-humanizing- politics.html
Liaqat, Waqas et al. 2022. “Climate change in relation to agriculture: A review.” Spanish Journal of Agricultural Research, 20 (2): 1-15.
Palinkas, L. A. and Wong, W. 2020. “Global climate change and mental health.” Current Opinion in Psychology, 32: 12-16.
Ruane, A. C., Rosenzweig, C. 2018. “Climate Change Impactson Agriculture.” In Agriculture & Food Systems to 2050, Serraj, R., Pingali, P. 161-191. Toh Tuck Link: World Scientific Publishing Co. Pte. Ltd.
Richardson, M. 2018. “Climate Trauma, or the Affects of the Catastrophe to Come.” Environmental Humanities, 10 (1): 1-19.
Schnegg, M. 2021. “Ontologies of climate change: Reconciling indigenous and scientific for the lack of rain in Namibia.” American Ethnologist , 48 (3): 260-273.
The Beautiful Truth. 2024. What is Technofeudalism?. Accessed December 6. https://thebeautifultruth.org/the-basics/what-is-technofeudalism/
UNFCCC. (2024). Summary of Global Climate Action at COP 29. High-level climate champions. UN Climate Change Conference - Baku, November 2024. (pp. 1-22). n.p.: UN Climate Change.
Waqas, M. et al. 2024. “A comprehensive review of the impacts of climate change on agriculture in Thailand.” Farming System, 3 (1): 1-16
ผู้เขียน
นายเดชศมงคล สาโล
นักศึกษาฝึกประสบการณ์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ป้ายกำกับ ผลกระทบ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรรมท้องถิ่น Impacts climate change local agriculture เดชศมงคล สาโล