ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์: กลมกลืน หรือ แบ่งแยก?

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 382

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์: กลมกลืน หรือ แบ่งแยก?

           สัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาตั้งแต่โลกถูกสร้างขึ้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์มีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ (Species) ของสัตว์ สัตว์บางสายพันธุ์อาจเป็นศัตรูของมนุษย์ สัตว์บางสายพันธุ์อาจเป็นเพื่อนของมนุษย์ สัตว์บางสายพันธุ์อาจเป็นอาหารของมนุษย์ หรือสัตว์บางสายพันธุ์อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ควรได้รับการปกป้องทะนุถนอม เป็นต้น ดังนั้น เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว จึงดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์มีลักษณะที่สอดคล้องกลมกลืนกันตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมมองของมานุษยวิทยา จะเห็นว่าการที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ย่อมขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของสัตว์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการกำหนดโดยมนุษย์และเพื่อมนุษย์เองทั้งสิ้น ปรากฏการณ์นี้พบมากในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งถือว่าธรรมชาติทั้งหลายบนโลกใบนี้ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมากที่สุด มนุษย์จึงมีสิทธิในการเป็นผู้ควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติเหล่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์จึงมีลักษณะของการแบ่งแยกมากกว่า

           บทความนี้ จะทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ซึ่งมีทั้งลักษณะที่กลมกลืนและลักษณะที่แบ่งแยก กล่าวคือ บางสังคม โดยเฉพาะสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ยังคงถือว่ามนุษย์กับสัตว์คือสิ่งมีชีวิตที่มีความเป็นเครือญาติ (Kinship) กันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ขณะที่บางสังคม โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ ก็ยังคงยืนยันเช่นเดียวกันว่ามนุษย์ไม่เหมือนกับสัตว์ มนุษย์สามารถเป็นเจ้าของสัตว์ได้ ขณะเดียวกันสัตว์สามารถถูกมนุษย์ลงโทษได้หากสัตว์ตัวนั้นมีท่าทีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทั้งนี้ บทความจะปิดท้ายด้วยการชี้ให้เห็นว่า แล้วในทางมานุษยวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ควรเป็นไปในลักษณะใด


ความสัมพันธ์อันกลมกลืนระหว่างมนุษย์และสัตว์: ความเป็นเครือญาติ (Kinship)

           งานมานุษยวิทยาหลายชิ้นในปัจจุบัน มีข้อค้นพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ในสังคมก่อนสมัยใหม่นั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้การดำรงอยู่ในธรรมชาติอย่างเดียวกัน งานมานุษยวิทยาของ Donna Haraway กล่าวถึงกรณีของสุนัขว่า สุนัขบ้านที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มีวิวัฒนาการมาจากสุนัขป่าซึ่งเดินทางเข้ามาในชุมชนของมนุษย์เพื่อมาหาซากอาหาร เมื่อสุนัขป่าได้พบกับมนุษย์ สุนัขป่าจึงเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์เพื่อปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับมนุษย์จนกลายเป็นสุนัขบ้าน ควรกล่าวด้วยว่า แม้กระทั่งกระบวนการการทำงานของร่างกายและโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างของสุนัขก็มีความเปลี่ยนแปลงจนเหมือนกับมนุษย์เสียด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็เริ่มเรียนรู้พฤติกรรมของสุนัขป่าเพื่อการดำรงชีพด้วย เช่น การกำหนดอาณาเขตและการรวมกลุ่มล่าสัตว์ เป็นต้น (ภาคิน นิมมานนรวงศ์, 2561, น.339-340) ดังนั้น แม้ว่ามนุษย์กับสัตว์จะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกัน แต่จากความสัมพันธ์อันกลมกลืนดังกล่าวก็เปรียบเสมือนว่าพวกเขามีความเป็นเครือญาติกันมาเสมอ

           Radhika Govindrajan เป็นนักมานุษยวิทยาอีกคนหนึ่งซึ่งได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์นานาสายพันธุ์กับชาวปาฮารี (Pahari) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเทือกเขาหิมาลัยของประเทศอินเดีย Govindrajan พบว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความกลมกลืนกันมากจนเสมือนพวกเขามีความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์ที่สังคมสมัยใหม่อาจไม่สามารถทำความเข้าใจได้ โดย Govindrajan ได้ศึกษาเรื่องแพะ แพะของชาวปาฮารีจะได้รับการเชือดเพื่อบูชายัญถวาย เทพเจ้า พิธีนี้ถูกสังคมภายนอกวิจารณ์ว่าป่าเถื่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า ชาวปาฮารีไม่ได้ฆ่าแพะโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร แพะของชาวปาฮารีนั้นได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีตั้งแต่เกิดจนชาวปาฮารีรู้สึกผูกพันเสมือนเป็นลูกคนหนึ่ง การบูชายัญแพะจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าชาวปาฮารียอมเสียสละความรักของพวกเขาให้แก่เทพเจ้า การบูชายัญแพะเป็นเรื่องที่สร้างความโศกเศร้าให้แก่ชาวปาฮารีเป็นอย่างมาก (พนา กันธา, 2567, น.184-186) นอกจากแพะแล้ว Govindrajan ยังศึกษาเรื่องวัว โดยสำหรับชาวปาฮารีแล้ว วัวเปรียบเสมือนเป็นแม่คนหนึ่ง เพราะวัวเป็นผู้ให้นมแก่พวกเขา นมทำให้จิตวิญญาณของชาวปาฮารีได้รับการเติมเต็มและทำให้พวกเขามีร่างกายเติบโตแข็งแรง วัวของชาวปาฮารียังถือเป็นผู้นำพาพวกเขาไปสู่โลกหลังความตายด้วย วัวของชาวปาฮารีคือสิ่งที่ต้องได้รับความรักและการปกป้อง ถึงแม้รัฐบาลจะเข้ามาเพาะพันธุ์วัวสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่าเจอร์ซี่ (Jerseys) เพื่อขยายธุรกิจนมวัวของประเทศก็ตาม แต่ชาวปาฮารีก็มองว่านั่นไม่ใช่วัวของพวกเขา เพียงแค่น้ำนมก็มีคุณภาพด้อยกว่าวัวของชาวปาฮารีแล้ว ชาวปาฮารีนิยามวัวเจอร์ซี่ว่าเป็นวัวธุรกิจ (Business Cows) หรือวัวสมัยใหม่ (Modern Cows) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันนี้ด้วย ทั้งนี้ นอกจากแพะกับวัวแล้ว Govindrajan ก็ยังศึกษาเรื่องสัตว์ชนิดอื่นอีก เช่น เรื่องของลิง ซึ่งชาวปาฮารีเปรียบเสมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งซึ่งอยู่ร่วมกันมาตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ ชาวปาฮารีจึงทราบดีว่าลิงตัวไหนคือลิงของชาวปาฮารี ลิงตัวไหนคือลิงที่คนเมืองเอามาปล่อยทิ้งไว้เพื่อเลี่ยงปัญหากรณีที่ลิงจำนวนมากทำลายสิ่งของของคนเมือง ลิงของชาวปาฮารียังรู้จักการที่จะไม่ทำลายสิ่งของภายในชุมชน แตกต่างจากลิงภายนอกที่ถูกแอบนำเข้ามา เป็นต้น ( Govindrajan, 2018, p.62-118)

           ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ จึงยังคงมีลักษณะของความเชื่อมโยงจนเกิดความกลมกลืนกันอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว มีความตรงข้ามกับสังคมสมัยใหม่ซึ่งมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์แบบแบ่งแยก ดังจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป


ความสัมพันธ์แบบแบ่งแยกระหว่างมนุษย์และสัตว์ในสังคมสมัยใหม่

“ใช่ ปัญหามันเริ่มจากจุดนั้น เพราะหมูที่เลี้ยงไว้ เข้าไปในป่า และตอนนี้ทางการก็มาบอกพวกเราว่าพวกเราไม่สามารถฆ่าหมูเหล่านี้ได้แล้วนะ เพราะพวกมันเป็นสัตว์ป่า ตอนนี้คุณบอกพวกเราได้มั้ยว่าพวกเราหรือพวกเขาที่บ้าไปแล้ว”

(แปลจาก Radhika Govindrajan, 2018, p.121)

           ในสังคมสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์กลายเป็นเรื่องของการแบ่งแยก มนุษย์เชื่อว่าตนเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชาญฉลาดและสามารถควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติได้ สัตว์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ง่าย ๆ ว่ามันคิดอะไรและจะกระทำการอะไร ดังนั้น สัตว์ทุกสายพันธุ์จึงต้องได้รับการนิยามและควบคุมโดยมนุษย์ วิชาชีววิทยาก็เป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายความเป็นสัตว์โดยการนำเอาความรู้แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของมนุษย์มาประยุกต์ใช้ สัตว์ป่าถูกนำมาจัดแสดงในสวนสัตว์ให้มนุษย์ได้จับจ้องและเรียนรู้ แต่สัตว์ป่าเหล่านี้ก็ถูกมนุษย์พยายามทำให้เชื่องหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เข้ากับมนุษย์ได้ในระดับหนึ่งมาก่อนแล้ว สัตว์ป่าเหล่านี้จะไม่สามารถกลับเข้าไปดำรงชีวิตในป่าได้อีกต่อไป สัตว์ป่ากลายสภาพเป็นสัตว์โลกน่ารัก กลายเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคของมนุษย์ไปโดยปริยาย ตัวอย่างเช่น ครอบครัวฮิปโปแคระตัวอ้วนกลมดุ๊กดิ๊ก ลูกเสือโคร่งสายแบ๊ว เป็นต้น

           ในสังคมสมัยใหม่ซึ่งระบบทุนนิยมได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้วนั้น สัตว์ย่อมถือเป็นทรัพย์สินของมนุษย์หากทรัพย์สินนั้นมีการใส่กำลังแรงงานในการเลี้ยงดูของตนลงไป ทั้งนี้ การประกาศใช้กฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อยืนยันว่าสัตว์สามารถเป็นทรัพย์สินของมนุษย์ได้ โดยเจ้าของสัตว์ต้องมีภาระรับผิดชอบในการดูแลให้ดีที่สุด และผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของก็ไม่สามารถเข้ามาล่วงละเมิดได้ คำว่าการมีภาระรับผิดชอบในการดูแล ยังส่งผลให้สัตว์สามารถที่จะถูกเจ้าของรักษาคุ้มครอง ปรับปรุงสายพันธุ์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และซื้อขายได้ตลอดเวลาอีกด้วย (พนา กันธา, 2567, น.155-161)

           ถึงแม้การนิยามว่าสัตว์คือทรัพย์สิน เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะกลุ่มผู้ปกป้องคุ้มครองสิทธิสัตว์มองว่าสัตว์ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง จึงไม่ควรปฏิบัติต่อสัตว์เหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง แต่กระแสปกป้องคุ้มครองสิทธิสัตว์นั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่ยังคงมีลักษณะของการแบ่งแยก ในทางตรงกันข้าม กระแสการปกป้องคุ้มครองสิทธิสัตว์กลับทำให้ความสัมพันธ์อันแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์มีเพิ่มมากขึ้น โดย พนา กันธา ได้ชี้ให้เห็นว่าแนวทางในการคุ้มครองสัตว์ในหลายประเทศนั้น มักใช้อารมณ์ความรู้สึกของสัตว์เป็นเกณฑ์ในการจำแนก โดยสัตว์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด จะได้รับการพิจารณาคุ้มครองก่อน นอกจากนั้น การคุ้มครองสัตว์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับมนุษย์ ก็ไม่ได้หมายความว่าสัตว์สายพันธุ์นั้นจะได้รับการคุ้มครองเสมอไป เพราะหากวันหนึ่ง สัตว์ตัวนั้นมีพฤติกรรมทำลายทรัพย์สินและความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์ตัวนั้นก็สามารถถูกกำจัดได้เช่นเดียวกัน (พนา กันธา, 2567, น.166-174) เช่น สุนัข ซึ่งเป็นสัตว์ที่มนุษย์มองว่าเป็นเพื่อนรู้ใจมากที่สุด แต่หากเป็นสุนัขดุร้ายไล่กัดคน สุนัขตัวนั้นอาจถูกนำไปบำบัด เปลี่ยนเจ้าของ ปล่อยทิ้งที่อื่น กระทั่งทำร้ายและทำให้ตาย

           อาจมีการตั้งคำถามว่าทำไมการปกป้องคุ้มครองสัตว์ ถึงไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์อันแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์ไปเสียทั้งหมด เพราะการปกป้องคุ้มครองก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่มนุษย์มอบความรักเพื่อตอบแทนความรักที่สัตว์มีให้แก่มนุษย์มิใช่หรือ? คำตอบของคำถามนี้ อาจพิจารณาจากข้อคิดของ Donna Haraway กล่าวคือ มนุษย์มีความคิดว่าสัตว์หลายสายพันธุ์ รู้จักที่จะรักมนุษย์โดยไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Love) ตัวอย่างเช่น สุนัข ซึ่งมักมีลักษณะของความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของเป็นอย่างมาก พร้อมที่จะปกป้องและตายแทนเจ้าของได้ ดังนั้น เมื่อสัตว์รู้จักที่จะรักมนุษย์ มนุษย์ก็รู้จักที่จะให้ความรักแก่สัตว์เป็นการตอบแทนเช่นการปกป้องคุ้มครองไม่ให้ได้รับความอันตรายจากสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย บางครั้งมนุษย์ยังเรียกสัตว์เหล่านี้ว่าเป็นลูกหรือเป็นน้อง เสมือนว่าพวกเขากำลังสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตาม Haraway มองว่าความรักโดยไม่มีเงื่อนไขนี้ เป็นเพียงความรักในแบบของมนุษย์ซึ่งนำไปครอบทับให้แก่สัตว์ เป็นการคาดหวังเพียงฝ่ายเดียวว่าสัตว์ต้องรักและซื่อสัตย์ต่อมนุษย์ตลอดไป (Donna Haraway, 2003, p.33) แต่หากเมื่อใดก็ตามที่สัตว์ไม่สามารถมอบความรักให้แก่มนุษย์ได้ตามที่คาดหวัง มนุษย์อาจสามารถเปลี่ยนความรักนั้นให้กลายเป็นความโกรธเคืองอันนำไปสู่บทลงโทษต่าง ๆ และบางครั้งอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้ จึงไม่แปลกแต่อย่างใด หากจะมีข่าวเช่นสุนัขตั้งท้องถูกเจ้าของจับล่ามเชือกแล้วราดน้ำร้อนใส่ เพราะเหตุผลว่าสุนัขตัวนี้ไม่เชื่อฟังตน (PPTV Online, 5 มิถุนายน 2567) หรือกรณีที่มีคนโยนแมวลงมาจากตึกสูงจนตาย เนื่องจากต้องการเรียกร้องความสนใจจากแฟน (Thairath Online, 14 พฤษภาคม 2567) แมวเคราะห์ร้ายตัวนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความรักที่คู่รักคู่หนึ่งมอบให้ แต่เมื่อคู่รักคู่นี้มีปัญหาขัดแย้งกัน แมวตัวนี้จึงไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความรักอีกต่อไป แต่กลายเป็นเหยื่อแห่งความผิดหวังของมนุษย์ กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้มนุษย์จะพูดถึงความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองสิทธิสัตว์มาโดยตลอด แต่มนุษย์ก็ยังคงสถาปนาตนเองให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอำนาจเหนือกว่าสัตว์เช่นเดิม


มนุษย์และสัตว์ กับ ความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นในมุมมองมานุษยวิทยา

           ในมุมมองของมานุษยวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ควรจะเป็นไปในลักษณะของความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะมนุษย์และสัตว์ต่างก็มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวตนทั้งของตนเองและของอีกฝ่ายขึ้นมาเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ธรรมชาติอย่างเดียวกัน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์จึงไม่ใช่เรื่องของความรักโดยไม่มีเงื่อนไข หากแต่เป็นการเรียนรู้ว่าแต่ละฝ่ายกำลังเผชิญอยู่กับสภาพแวดล้อมอะไร ต้องการอะไร และจะร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างไรเพื่อให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมนั้นได้

           Bruno Latour ได้เสนอทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการ (Actor-Network theory) ไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลก มาจากการกระทำการของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตต่าง ๆ มากมายซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนยุ่งเหยิง การปรากฏขึ้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งบนโลกใบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้กระทำการมีเพียงแค่ฝ่ายเดียว ( Latour, 2007) เช่น ปุ๋ยซึ่งใช้เป็นอาหารของพืชนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์เท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากมูลของสัตว์ จุลินทรีย์ที่ใช้ย่อยสลาย วัตถุและอุปกรณ์สำหรับการทำปุ๋ย, หรือการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ซึ่งจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์บางชนิดเข้ามาช่วยย่อยสลายสารในร่างกาย เป็นต้น ทฤษฎีของ Latour ได้รับการตอบสนองจาก Donna Haraway โดย Haraway ได้เห็นพ้องว่าทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็เป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของโลก ดังที่เคยยกตัวอย่างกรณีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขซึ่งต่างก็ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความเชื่อเชื่อง (Domesticate) ต่อกัน สุนัขป่าเรียนรู้เรื่องของมนุษย์จนกลายเป็นสุนัขบ้านและมีกระบวนการทางร่างกายบางอย่างที่เหมือนมนุษย์ ขณะที่มนุษย์ก็เรียนรู้เรื่องของสุนัขเพื่อนำพฤติกรรมบางอย่างมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต Harawayได้สรุปว่า มนุษย์จึงควรปฏิบัติต่อสัตว์ในฐานะที่เป็นเพื่อนต่างสายพันธุ์ (Companion Species) สัตว์มีความรู้สึกนึกคิดต่อการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมหนึ่ง มนุษย์จึงต้องทำความเข้าใจการตอบสนองต่อความรู้สึกนึกคิดของสัตว์เหล่านั้น มนุษย์จะต้องทำให้สัตว์เชื่อมั่นว่ามนุษย์กำลังทำความเข้าใจมันและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อหาหนทางอันเหมาะสมให้แก่การดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น การปรับพฤติกรรมสัตว์โดยการบีบบังคับ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้นแต่ประการใด (Donna J. Haraway, 2008)

           ในงานเขียนเรื่อง Staying with The Trouble: Making Kin in the Chthulucene (2016) เป็นอีกผลงานหนึ่งของ  Haraway ซึ่งพยายามแสดงให้เห็นว่าถึงที่สุดแล้ว ในปัจจุบัน มนุษย์ควรดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้อย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงไปทุกขณะ คำตอบต่อคำถามนี้ก็ยังคงคล้ายเดิมคือการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน มองความสัมพันธ์ให้เป็นเครือญาติหรือเป็นเพื่อนต่างสายพันธุ์ที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายของธรรมชาติ ตลอดจนพร้อมที่จะร่วมกันเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการมีชีวิตรอดบนโลกใบนี้ โดยมนุษย์ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่ามนุษย์ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้อย่างชัดเจน (จนบางทีมนุษย์อาจไม่เคยมีอยู่จริงเลยเสียด้วยซ้ำ) เพราะมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ก็ล้วนเปรียบเสมือนสัตว์ประหลาดที่เกิดขึ้นจากการประกอบสร้างโดยสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์มากมายเต็มไปหมด อย่างน้อยแบคทีเรียและจุลินทรีย์หลายชนิดก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์มาตั้งแต่เกิดจนตาย การทำงานร่วมกันของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์เหล่านี้มีทั้งที่เข้ากันได้และขัดแย้งกันเองเสมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่ง แต่ในที่สุดก็จะมีวิวัฒนาการไปตามธรรมชาติ ทั้งนี้ อย่าพยายามควบคุมธรรมชาติให้เป็นไปตามทิศทางที่คาดหวัง เพราะธรรมชาติก็เปรียบเสมือนเทพีไกอา (Gaia) ผู้ซึ่งเป็นพระแม่ธรณีแห่งการสร้างและพร้อมทำลายทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ตลอดเวลา จึงไม่มีผู้ใดจะสามารถพิชิตธรรมชาติได้อย่างแท้จริง เมื่อธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรมลงจะด้วยปัจจัยใดก็ตามแต่ ธรรมชาติก็ยังสามารถกลับมาเอาคืนได้อย่างสาสมเสมอ ดังนั้น การเผชิญหน้ากับความจริงของปัญหาทางธรรมชาติที่ปรากฏ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในฐานะเพื่อนต่างสายพันธุ์ คือหนทางแก้ปัญหาที่ควรจะเป็น ถึงแม้ในระหว่างทางอาจต้องพบกับความสูญเสีย และยังไม่ทราบว่าปลายทางของความเปลี่ยนแปลงจากการเผชิญหน้านั้นคืออะไรก็ตาม


สรุป

           ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากต่อการจัดวางความสัมพันธ์ดังกล่าวให้เกิดความเหมาะสม ความสัมพันธ์อันแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ส่งผลให้สัตว์ถูกนิยามและควบคุมโดยมนุษย์ ทั้งนี้ กระแสการปกป้องคุ้มครองสิทธิสัตว์ก็อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เช่นนี้ด้วย ความสัมพันธ์อันแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์จึงยังคงเป็นความสัมพันธ์แบบกระแสหลัก (Mainstream) ซึ่งในสังคมสมัยใหม่ยึดถืออยู่จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ซึ่งให้ความสำคัญกับความกลมกลืน แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์พยายามทำความเข้าใจตัวตนของสัตว์ในฐานะที่เป็นเครือญาติของตน แต่ในบางมุมมอง ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ตัวอย่างเช่น การเชือดบูชายัญแพะที่มนุษย์ให้ความใส่ใจในการเลี้ยงดูมาโดยตลอดเพื่อแสดงให้เทพเจ้าได้เห็นถึงการเสียสละความรักของมนุษย์นั้น เป็นการปฏิบัติต่อสัตว์ในฐานะที่เป็นเครือญาติหรือในฐานะเพื่อนจริงหรือไม่

           สำหรับข้อเสนอของ Danna Haraway ซึ่งว่าด้วยการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์อยู่บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนเชื่อมั่นในการประสานพลังร่วมกันในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์นั้น เป็นข้อเสนอที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ในทางปฏิบัติ ข้อเสนอของ Haraway อาจใช้ได้กับสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าบางสายพันธุ์หรือไม่ แม้ Haraway ต้องการให้มนุษย์เข้าใจตัวตนของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในฐานะผู้กระทำการสร้างความเปลี่ยนแปลงของโลกและในฐานะเพื่อนต่างสายพันธุ์ที่ย่อมมีทั้งที่มนุษย์รักและชังก็ตาม เพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์คงไม่อยากทำความเข้าใจหนูท่อมากเท่ากับหนูแฮมสเตอร์

           ผู้เขียนบทความไม่ได้ให้ข้อสรุปตายตัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ควรเป็นไปในทิศทางใด แต่ผู้เขียนบทความเห็นด้วยว่าในเบื้องต้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ควรอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ เชื่อใจ และสามารถสื่อสารเพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้ สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมสำหรับการนำไปสู่หนทางในการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างมนุษย์กับสัตว์บนโลกที่มีความผันผวนตลอดเวลา


บรรณานุกรม

พนา กันธา. “รูพรุนของเส้นขอบ: เงื่อนไขทางจริยศาสตร์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์.” ใน โลกหลากสายพันธุ์ ผัสสะ จริยศาสตร์ และการอยู่ร่วมกัน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2567.

ภาคิน นิมมานนรวงศ์. “ดอนนา ฮาราเวย์: วัฒนธรรมชาติกับคำถามว่าด้วยความเป็นมนุษย์.” ใน รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการปริทรรศน์นักทฤษฏีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2561.

Govindrajan, Radhika. Animal Intimacies: Interspecies Relatedness in India’s Central Himalayas. Chicago: The University of Chicago Press, 2018.

Latour, Bruno. Reassembling the Social: An Introduction to Actor-Network-Theory. UK: Oxford University Press, 2007.

Haraway, Donna. The Companian Species Manifesto: Dogs, People, and Significant Otherness. Chicago: Prickly Paradigm Press, 2003.

Haraway, Donna J. When Species Meet. USA: University of Minesota Press, 2008.

Haraway, Donna. Staying with The Trouble: Making Kin in the Chthulucene. Durham and London: Duke University Press, 2016.

PPTV Online. “แจ้งความเจ้าของหมาไซบีเรียนเอาน้ำร้อนราด.” สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/225453 (5 มิถุนายน 2567).

Thairath Online. “สาวไม่ทน แจ้งความแฟนทำร้ายร่างกาย โยนน้องแมวสุดรัก “มินจู” จากคอนโดฯ ชั้น 21.” สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.thairath.co.th/news/society/2785578 (14 พฤษภาคม 2567).


ผู้เขียน
ธนวัฒน์ รุงเรืองตันติสุข
นักวิจัย. ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความสัมพันธ์ มนุษย์ สัตว์ กลมกลืน แบ่งแยก ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา