ยุติ-ธรรมที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในยุคนิเวศวิบัติ (Multispecies justice)
สิ่งมีชีวิตที่คิดได้และเจ็บเป็นหาได้มีแค่มนุษย์ รวมไปถึงทักษะการคิด การเห็น การรับรู้ และการสื่อสารก็ไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำได้ (Kohn, 2013) ดังที่วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเผยให้เห็นว่านอกจากมนุษย์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ชนชั้นล่าง) จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแล้ว สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็พลอยโดนร่างแหไปด้วย หากมนุษย์ใช้ศิลปะในการสดับรับฟังและรับรู้อย่างใส่ใจย่อมพบว่าสารแห่งความวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ มิได้ถูกส่งผ่าน วัจนภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน หากแต่มาจากการสื่อสารในลักษณะอื่นซึ่งมีความดังและชัดเจนไม่แพ้ภาษาของมนุษย์ อาทิ การสื่อสารผ่านการสูญพันธุ์ อัคคีภัย ภัยแล้ง ธรณีพิโรธ และปลาตายจำนวนมหาศาลอันเนื่องมาจากการจัดการน้ำที่ผิดพลาดและทะเลที่ร้อนระอุมากขึ้น (Celermajer et all., 2020)
กระนั้นก็ตาม ครั้นย้อนมองแนวคิดและหลักปฏิบัติของความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ทั้งที่ปรากฏผ่านตัวอักษรในกฎหมาย นโยบาย ปรัชญาและทฤษฎีการเมือง หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์พบว่ายังคงให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลัก ขณะที่ธรรมชาติเป็นเพียงกระโถนรองรับความต้องการของมนุษย์ เหตุดังนี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและทุนนิยม โลกวิชาการจำเป็นต้องสร้างจินตภาพใหม่ในเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในรูปเครือข่ายระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhumans) ซึ่งถือเป็นการแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการเข้าใจมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และวิกฤตสิ่งแวดล้อม (ยุกติ มุกดาวิจิตร และชัชชล อัจนากิตติ, 2564: 17, 21-22)
บทความชิ้นนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นแนวคิดความยุติธรรมหลากสายพันธุ์ (multispecies justice) เพื่อชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มิได้เผชิญหน้ากับนิเวศวิบัติเพียงลำพัง การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาจึงต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เนื้อหาส่วนแรกมุ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมบนฐานภววิทยาสมัยใหม่ ส่วนที่สองคือการชี้ให้เห็นสาระสำคัญของแนวคิดความยุติธรรมหลากสายพันธุ์
สรรพสิ่งอื่นที่ถูกทำให้เป็นอื่นภายใต้ภววิทยาสมัยใหม่
แม้แต่ คาร์ล มาร์กซ์ บุคคลซึ่งมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ปรัชญาและทฤษฎีการเมือง นักปฏิวัติความคิดก้าวหน้าและถอนรากถอนโคนยังมองว่าสัตว์ทำหน้าที่เพียงดัชนีวัดขั้นต่ำสุดที่มนุษย์ไม่ควรจะถูกลดค่าให้ต่ำเช่นนั้น เหตุเพราะสัตว์ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ผลิตตามสัญชาตญาณและตามธรรมชาติบังคับ แตกต่างจากมนุษย์ที่มีความสามารถในการผลิตโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตามใจปรารถนา และตามอารมณ์สุนทรีย์ ในแง่นี้ จากความจริงทางประวัติศาสตร์และสังคมตั้งแต่ยุคการผลิตแบบบุพกาลสู่ยุคการผลิตแบบทุนนิยมชี้ให้เห็นว่าสัตว์คือสิ่งมีชีวิตที่มีสถานะต่ำกว่ามนุษย์ ไร้ความรู้สึก และคอยรับใช้ผลประโยชน์ของมนุษย์ (ปวงชน อุนจะนำ, 2563)
จวบจนปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ยังคงถูกครอบงำโดยแนวคิดแบบเดิม หรือเรียกว่าภววิทยาสมัยใหม่ (modernist ontology) ซึ่งตั้งอยู่บนฐานปรัชญา ทวิภาวะนิยมแบบ Cartesianism โดยจัดวางมนุษย์กับธรรมชาติบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบลำดับชั้นสูงต่ำ (hierarchy) มนุษย์ สังคม และธรรมชาติแยกขาดจากกัน ธรรมชาติถูกจัดการเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ มนุษย์เท่านั้นที่มีศักยภาพในการเห็น คิด วิเคราะห์ และรู้สึก กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือมีเพียงมนุษย์บางกลุ่มเท่านั้นที่คิดได้และเจ็บเป็น ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น พืช สัตว์ วัตถุ กลับอยู่อย่างเฉื่อยชาในโลกธรรมชาติ เหตุดังนี้ภววิทยาสมัยใหม่จึงส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติบางแบบปรากฏชัดขึ้น ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแบบอื่นได้ถูกทำให้พร่าเลือนหายไป (DePuy et all., 2022)
ยกตัวอย่างเช่น การจัดการน้ำบนฐานคิดสมัยใหม่ (modern water) ทำให้การดำรงอยู่ (being) ของ “น้ำ” ซึ่งมีหลายแบบและแตกต่างไปตามเงื่อนไขของแต่ละสังคม ให้กลายเป็นเพียงวัตถุหรือสสาร (substance) น้ำจึงมีอัตลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง (timeless identity) เหตุดังนี้ น้ำถูกทำให้แยกขาด (disentangling) จากเงื่อนไขท้องถิ่น ระบบนิเวศ ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคม (Linton, 2014)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 วงวิชาการได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนทางภววิทยา (ontological turn) การศึกษาทางมานุษยวิทยาหลายชิ้นได้ท้าทายภววิทยาแบบสมัยใหม่ โดยการตั้งคำถามต่อสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์และสังคมซึ่งตกอยู่ภายใต้วิธีคิดการแยกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมและการเห็นว่ามนุษย์เหนือกว่าสิ่งอื่น ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษากลุ่มที่สนใจภววิทยาและภาวะพ้นมนุษย์ (posthumanism) เสนอว่าภววิทยาสมัยใหม่ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางเป็นเพียงหนึ่งในภววิทยาหลายแบบที่ดำรงอยู่ในสังคม (ยุกติ มุกดาวิจิตร และชัชชล อัจนากิตติ, 2564: 17)
ยกตัวอย่างเช่น ภววิทยาแบบไม่สมัยใหม่ (non-modernist ontologies) ชี้ให้เห็นสภาวะเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ รวมถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโครงข่ายความสัมพันธ์ที่ใหญ่กว่า (wider relational webs) ซึ่งมนุษย์ยากที่จะหลุดพ้น มนุษย์จึงไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่อิสระจากสิ่งอื่นอย่างแท้จริง (DePuy et all., 2022) รูปธรรมของความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์คือ การเปลี่ยนธรรมชาติของแม่น้ำโดยการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวประมง และคนกลุ่มอื่นที่ดำรงชีวิตในแถบนั้น รวมถึงหากแม่น้ำปนเปื้อนสารปรอทจะพบว่าสรรพชีวิตอื่นก็ปนเปื้อนสารปรอทไปด้วย มนุษย์จึงได้รับผลกระทบจากการกินปลาเช่นกัน ในแง่นี้ ความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากปัจจัยทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ จึงส่งผลกระทบด้านลบต่อห่วงโซ่ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (all species) (Pellow, 2018) เหตุดังนี้ มนุษย์จึงจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนและสร้างจิตนภาพใหม่ว่าด้วยแนวคิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้นที่คิดได้และเจ็บเป็น
ยุติ-ธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (multispecies justice)
หากมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่คิดได้และเจ็บเป็น คำถามต่อมาคือ ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมพ้นมนุษย์ (justice beyond the human) หรือแนวคิดความยุติธรรมหลากสายพันธุ์ (multispecies justice) ควรมีหน้าตาอย่างไรท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเฉกเช่นปัจจุบัน เพื่อไม่ให้การดำรงอยู่ (being) ของสรรพสิ่งอื่นถูกกีดกันออกไปจากพรมแดนของความเป็นธรรม การศึกษาของ Celermajer et all. (2020) ชี้ให้เห็นสาระสำคัญของความยุติธรรมหลากสายพันธุ์ (multispecies justice) 4 ประการ ดังนี้
1. จินตภาพใหม่ว่าด้วยความยุติธรรมอย่างแรดิคัล (Radically reimagine the subject of justice)
ชีวิตของมนุษย์คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากการพึ่งพิงสรรพสิ่งอื่น เช่น การทำงานของจุลชีพ (microbiome) ภายในร่างกายของเรา ในแง่นี้มนุษย์จึงไม่เคยแยกขาดจากสิ่งอื่น (we have never been individual) กระนั้นก็ตาม เมื่อย้อนมองปรัชญาตะวันตกตั้งแต่สมัยกรีกโบราณพบว่า แนวคิดความยุติธรรมกลับให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลัก สิ่งใดไม่เข้าเกณฑ์ “มนุษย์” ที่ตั้งอยู่บนฐานของการจัดประเภทแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) ย่อมถูกกีดกันออกจากแนวคิดความยุติธรรม มนุษย์บางกลุ่มคนและการดำรงอยู่ของสิ่งอื่น (beings) จึงไม่ได้ถูกนับรวม แม้ต่อมาความยุติธรรมจะถูกนิยามให้กว้างขึ้นเพื่อนับรวมสัตว์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก หรือ sentient animals กระนั้นก็ดี การทบทวนแนวคิดความยุติธรรมข้างต้นยังคงตั้งอยู่บนฐานคิดที่แยกระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น เหตุเพราะสิ่งที่ถูกนับคือสัตว์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น
ด้วยเหตุดังนี้ ความยุติธรรมหลากสายพันธุ์ (multispecies justice) จึงเสนอแนวคิดความเป็นธรรมใหม่ให้โอบรับการดำรงอยู่ของสิ่งอื่น เพื่อไม่ให้ติดกับดักการแยกระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น (Individual) และมุ่งไปสู่ความเป็นจริงทางระบบนิเวศซึ่งมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในแง่นี้ แนวคิดความเป็นธรรมจึงต้องครอบคลุมมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น สัตว์ สปีชีย์ จุลชีพ ระบบนิเวศ มหาสมุทร แม่น้ำ และระบบนิเวศ เป้าหมายคือการตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุดความสัมพันธ์ขนาดใหญ่ (broad array of relations) ของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ซึ่งไม่ได้แยกขาดจากกัน
2. การรับรู้ การสื่อสาร และกระตุ้นให้เกิดการยอมรับตัวตนของสรรพสิ่งอื่น
ความเป็นธรรมไม่ใช่แค่เรื่องการกระจายทรัพยากรเท่านั้น (distribution) หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการยอมรับตัวตน (recognition) หรือการได้รับการมองเห็นและความเคารพ เหตุเพราะการไม่ยอมรับตัวตนของสิ่งอื่นถือเป็นต้นตอของความไม่เป็นธรรม (the whys of maldistribution) ในแง่นี้การถูกลดทอนและการกดขี่ (deprivation and oppression) ที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์จึงไม่สามารถมองข้ามได้ อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่าการไม่ยอมรับตัวตน (misrecognition) ไม่ใช่แค่เรื่องการดูหมิ่นเหยียดหยามระดับปัจเจกซึ่งแยกขาดจากสิ่งอื่นเท่านั้น (individual affront) หากแต่เป็นเรื่องความเสียหายและผลกระทบในภาพใหญ่ (a larger status injury) ซึ่งเกี่ยวพันกับสรรพสิ่งอื่น อันเป็นผลมาจากการครอบงำ การไม่ยอมรับตัวตน และการไม่ได้รับการเคารพ
ตัวอย่างของการไม่ยอมรับตัวตนของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์สามารถพบเห็นได้อย่างดาษดื่น เช่น กฎหมาย และแนวคิดที่มุ่งเน้นการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการลดทอนและไม่เคารพต่อการดำรงอยู่ของสิ่งอื่น ดังนั้น การสร้างความยุติธรรมหลากสายพันธุ์จึงไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเท่านั้น หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นโดยเฉพาะการยอมรับตัวตนในทางวัฒนธรรม (cultural recognition)
3. การรับรู้ การสื่อสาร และการตระหนักถึงการยอมรับตัวตนของสรรพสิ่งอื่น
หากเราใช้ศิลปะแห่งการยอมรับตัวตนจะพบว่า สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มีตัวตน จิตสำนึก ความปรารถนา ความตั้งใจ ความรู้สึก การสร้างสรรค์ ความตระหนักรู้ และสามารถสื่อสารได้ และหากเรานิยามการสื่อสารให้กว้างกว่าภาษามนุษย์ย่อมเห็นได้ว่าการสื่อสารของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็เสียงดังและชัดเจนไม่แพ้ภาษาพูดของมนุษย์ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการสูญพันธุ์ อัคคีภัย ภัยแล้ง ความร้อนของนำทะเลที่สูงขึ้นจนนำมาสู่การตายของปลาจำนวนมหาศาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจการเป็นของสิ่งต่าง ๆ โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางกลับไม่ช่วยให้เข้าใจการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ มากนัก แนวคิดนี้มองสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นดั่งของเล่น ไร้ความรู้สึก ไร้สำนึก ไร้ความเห็น และเป็นของตาย ด้วยเหตุดังนี้ เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับวิถีการรับรู้และวิถีการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ อย่างจริงจัง พร้อมทั้งตระหนักถึงข้อจำกัดของความสามารถมนุษย์ในการเข้าใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้น แนวคิดความยุติธรรมหลากสายพันธุ์ (multispecies justice) จึงให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่าสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์รับรู้โลกใบนี้อย่างไรเพื่อให้มนุษย์สามารถสื่อสารกับสปีชีส์อื่นได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
4. การถอดรื้อและถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม
องค์ความรู้ของชนพื้นเมืองรุ่มรวยไปด้วยขุมทรัพย์ทางปัญญาที่วิพากษ์เพื่อเปลี่ยนแปลงความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ซึ่งถูกครอบงำโดยแนวคิดแบบอาณานิคม และชวนให้เราจินตนาการถึงทางเลือกที่เป็นไปได้อื่น ๆ ของสังคม ยกตัวอย่างเช่น ปรัชญาของชาวเมารีซึ่งตีแผ่ให้เห็นถึงความยุติธรรมระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ mauri หมายถึงพลังชีวิต tapu หมายถึงความสามารถที่จะเป็น mana หมายถึงการคู่ควรแก่การเคารพ (respectworthiness) ดังนั้น mauri คือ พลังที่ฉายให้เห็นความพันธ์ระหว่างการดำรงอยู่ (beings) ของมนุษย์ สัตว์ ผัก และแร่ธาตุ ความยุติธรรมจึงเป็นการเคารพต่อคุณค่าและสิทธิในการเลือกที่จะเป็นของสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวม (right-to-be of all things) เช่น การเคารพต่อศักดิ์ศรีของภูเขาไม่ใช่แค่เรื่องภูเขา เหตุเพราะภูเขาได้สัมพันธ์กับสรรพสิ่งอื่น อาทิ มนุษย์ ปลา ไก่ พืช และแม่น้ำ ฯลฯ การเคารพความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของสรรพสิ่งข้างต้น จึงไม่ใช่การเคารพแบบแยกส่วน (the individual) หากแต่เป็นการเคารพความสัมพันธ์แบบองค์รวม (the vast interconnecting sets of relationships) ในแง่นี้ การไม่เคารพบางอย่างจึงหมายถึงการไม่เคารพต่อทุกอย่าง เช่น บรรพบุรุษ จิตวิญญาณ การดำรงอยู่ และวัตถุ
ด้วยเหตุดังนี้ การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและหลักปฏิบัติแบบอาณานิคมซึ่งไม่เคารพ (disrespect) องค์ความรู้ว่าด้วยมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ของชนพื้นเมือง จึงต้องให้ความสำคัญกับการถอดรื้อและถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคมที่ครอบงำอยู่เพื่อเปลี่ยนแปลงความหมายของความยุติธรรมให้โอบรับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
บทสรุป
การครอบงำของระบบทุนนิยมซึ่งขูดรีดธรรมชาติเพื่อสนองการสะสมทุนที่ไม่สิ้นสุด อุตสาหกรรมขุดเจาะซึ่งถลุงล้างผลาญทรัพยากรเพื่อนำไปขายในตลาด การพัฒนาอย่างไร้ขอบเขต สารพิษปนเปื้อในดิน น้ำ และชั้นบรรยากาศ และความวิบัติของระบบนิเวศ ได้นำมาสู่ข้อกังวลถึงจุดจบของอารยธรรมมนุษย์ ระบบนิเวศ และสปีชีส์อื่น ๆ (Celermajer, 2022)
ภายใต้ข้อกังวลข้างต้น แนวคิดความยุติธรรมหลากสายพันธุ์ได้ตั้งคำถามต่อการกดขี่และขูดรีดสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์บนฐานคิดที่มองว่าพวกเขาเป็นเพียงสิ่งของ ทรัพย์สิน และทรัพยากร ด้วยเหตุดังนี้ ความยุติธรรมหลากสายพันธุ์จึงเสนอจินตนาการใหม่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในยุคนิเวศวิบัติ ซึ่งเป็นความยุติธรรมที่นับรวมการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นเข้ามาโดยไม่ได้มองแบบแยกส่วน ทั้งนี้ มิได้หมายความว่ามนุษย์กับต้นไม้เหมือนกัน หรือสรรพสิ่งต่าง ๆ มีความเหมือนกัน หากแต่เราต้องการการยอมรับและการเคารพต่อการดำรงอยู่ที่หลากหลาย (beings) ในโลกกว้างใหญ่ใบนี้ มนุษย์หาได้เป็นศูนย์กลางที่เหนือกว่าโลกและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะมนุษย์อยู่ในชุดความสัมพันธ์ที่มีสิ่งอื่นรวมอยู่ด้วย ดังนั้น มนุษย์จึงต้องธำรงรักษาชุดความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะความยุติธรรมสำหรับมนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากการให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและของสัตว์ (Celermajer, 2022)
เอกสารอ้างอิง
ยุกติ มุกดาวิจิตร และชัชชล อัจนากิตติ. (2564). มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน).
ปวงชน อุนจะนำ. (2563). สัตว์กับสิทธิ: ทฤษฎีการเมืองกว่าด้วยการปลดปล่อยสัตว์. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 16(1), 119-160.
Celermajer, D., Schlosberg, D., Rickards, L., Stewart-Harawira, M., Thaler, M., Tschakert, P., ... & Winter, C. (2022). Multispecies justice: theories, challenges, and a research agenda for environmental politics. Trajectories in environmental politics, 116-137.
Celermajer, D. (2022). What is multispecies justice, and why does it matter?. Retrieved from https://www.sydney.edu.au/arts/news-and-events/news/2022/06/01r.html (11 April 2025).
DePuy, W., Weger, J., Foster, K., Bonanno, A. M., Kumar, S., Lear, K., ... & German, L. (2022). Environmental governance: Broadening ontological spaces for a more livable world. Environment and Planning E: Nature and Space, 5(2), 947-975.
Kohn, E. (2013). How forests think: Toward an anthropology beyond the human. Univ of California Press.
Linton, J. (2014). Modern water and its discontents: a history of hydrosocial renewal. Wiley Interdisciplinary Reviews: Water, 1(1), 111-120.
Pellow, D. N. (2017). What is critical environmental justice?. John Wiley & Sons
ผู้เขียน
อาทิตย์ ภูบุญคง
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ยุติธรรม มนุษย์ ศูนย์กลาง ยุคนิเวศวิบัติ Multispecies justice อาทิตย์ ภูบุญคง