ธรณีสั่นไหว: ไทยในรอยแยกของภัยพิบัติ
วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.28 น.
"แผ่นดินไหว วิ่งลงก่อน ๆ" เสียงโหวกเหวกของใครสักคนในอาคารร้องดังขึ้น ก่อนที่ผมและเพื่อนร่วมงานนับสิบต่างพากันวิ่งกรูออกไปบริเวณด้านนอกอาคารด้วยความผวาและตื่นตระหนก
ก่อนหน้านั้นไม่กี่นาที ขณะผมกำลังจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ รู้สึกเหมือนตัวเองจะวูบเป็นลมอย่างไม่มีสาเหตุ ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าเป็นแผ่นดินไหวจริงหรือไม่ แต่พอมองดูรูปที่ติดอยู่ผนังสั่นไปมา และอาคารเริ่มส่ายซ้ายขวาอย่างช้า ๆ ราวกับว่ามันเคลื่อนตัวอย่างมีชีวิต ภาพในหนังพิบัติ ฉากแผ่นดินแยกแตกร้าว หรือฉากอาคารถล่มวิ่งเข้ามาในหัวเป็นชุด
จะเอายังไงดี หมอบใต้อาคารจะปลอดภัยไหม ถ้าแผ่นดินไหวแรงขึ้นอาคารพังลงเราจะทำอย่างไร เสี้ยววินาทีการตัดสินใจ พร้อมกับเสียงเพื่อนร่วมงานที่ต่างก็พูดว่า "วิ่ง ๆ" "วิ่งลงก่อน" ดึงสติให้ผมวิ่งทั้งที่รองเท้ายังทับส้นเท้าตัวเองอยู่
...ลงมาถึงใต้อาคาร มีผู้คนกลุ่มใหญ่รออยู่แล้ว ทุกคนต่างมุ่งสู่บริเวนที่โล่งกลางถนน ด้านหลังยังมีอีกหลายคนทยอยวิ่งตามลงมาอย่างใกล้ชิด ขณะนั้นผมและเพื่อนร่วมงานยืนเกร็งเท้าจิกพื้นไม่ให้ร่างกายสั่นไหว มองไปที่ต้นไม้ข้างตึกมันยังโยกโคลงเคลง ถ้าแผ่นดินไหวแรงกว่านี้แล้วอาคารถล่มเราจะหลบจากตรงนี้อย่างไร ในใจนึกภาวนาให้มันจบแค่นั้น เท่านั้นพอแล้ว
เวลา 13.45 น. สถานการณ์แผ่นดินไหวผ่านไปสักระยะ แต่ความตื่นตระหนกของผู้คนหลายร้อยชีวิตเรียงรายอยู่เต็มถนนยังคงอยู่ หลายคนจับกลุ่มคุยกันถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา หลายคนยกโทรศัพท์แนบหูโทรหาใครซักคน
"ฮัล-โหลแม่ แผ่นดินไหวแฮงแม่ แต่เฮาบ่เป็นหยังแล้ว แล่นลงมาบ่อนปลอดภัยแล้ว แล้วอยู่พุ่นเด๋ เป็นแนวใด ฮู้สึกว่ามันไหวอยู่บ่ เบิ่งแยงกันแน่เด้อแม่" ผมวางหูเสร็จรีบค้นข้อมูลข่าวแผ่นดินไหว เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า "แผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์(ประเทศ)พม่าขนาดความแรง 7.7 ริกเตอร์" ก่อนอีกคนจะสมทบ "เราต้องรอดูอาฟเตอร์ช็อคอีก" ยังไม่ใช่ระยะปลอดภัยที่จะเข้าไปหลบใต้อาคารได้
จากรอยเลื่อนสะกายสู่อาฟเตอร์ช็อคกรุงเทพฯ
ภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวผ่านไปราว 2 ชั่วโมง ผมจำได้มีคนบอกว่าตึกที่กำลังก่อสร้างย่านจตุจักรถล่ม พร้อมกับคลิปเหตุการณ์ตึกสูงใหญ่ถล่มลงมาสู่พื้นดินอย่างรวดเร็วและประชาชนที่วิ่งหนีตายอย่างจ้าละหวั่น บางคลิปที่จับภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เห็นคอนโดใหญ่สักที่สั่นไหวไปมา คลิปน้ำในสระชั้นบนคอนโดกระเพื่อมร่วงหล่นลงราวกับน้ำตกห่าใหญ่ หรือคลิปที่รถไฟฟ้าโยกรุนแรง ตลอดจนคลิปวิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว และอื่น ๆ ทั้งหมดถูกแชร์ต่อกันเป็นทอดในโลกโซเชียล เชื่อเลยว่าข่าวสารและข้อมูลแผ่นดินไหวประชาชนรับรู้ผ่านสื่อจากการอัพโหลดโดยพวกเขาเอง กว่าที่ภาครัฐจะแถลงการณ์ เช่นเรื่องการเฝ้าระวังแผ่นดินไหวในระยะ 2 ชั่วโมงก็ถูกแชร์ในสื่อโซเชียลตั้งแต่ 10 - 20 นาทีหลังเหตุการณ์แล้ว หรือเรื่องความล่าช้าในการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน SMS บางคนได้รับช่วงสี่ทุ่ม บางคนได้ช่วงเที่ยงของวันถัดไป บางคนก็ไม่ได้เลย
แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เมืองมัณฑะเลย์ รอยเลื่อนนี้พาดผ่านประเทศเมียนมาสองฝั่งตามแนวตะวันตกและตะวันออก ตามรายงานข่าวชี้ว่าแรงสั่นสะเทือนมีขนาด 7.7 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 10 กม. แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายแก่เมืองมัณฑะเลย์อย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตในเมียนมาเพิ่มขึ้นหลักพันคน และประเทศไทยในกรณีตึกย่านจตุจักรถล่มก็มีผู้เสียชีวิตแล้ว 18 คน ผู้สูญหายอีก 76 คน แรงสั่นสะเทือนรับรู้ไกลถึงประเทศอินเดีย จีน และไทย (ดู BBC, 2568a; 2568b) อาฟเตอร์ช็อคที่ส่งมายังประเทศไทย ไม่เพียงแค่แรงไหวสะท้านของแผ่นดิน แต่ยังส่งผลต่ออาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ หลายจังหวัดได้รับความเสียหายอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ เสาคอนโดบางแห่งได้รับความเสียหายหนัก หรือในกรุงเทพฯ ตึกสูงหลายแห่งโยกไหวไปมาอย่างน่ากลัว
เมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ เกิดความโกลาหลอย่างต่อเนื่อง หลังภัยพิบัติรถไฟฟ้าต้องหยุดให้บริการ เพราะโครงสร้างรางและตัวรถไฟฟ้าอาจได้รับความเสียหาย เพื่อความปลอดภัยจึงต้องหยุดให้บริการและตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน ผนวกกับสภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ผู้คนจึงมุ่งทยอยกลับที่พักพร้อมกัน เป็นผลให้รถเต็มถนน การจราจรในกรุงเทพฯ เป็นอัมพาตไปหลายชั่วโมง ต่อจากนั้นยังมีอาฟเตอร์ช็อคทางเศรษฐกิจที่เขย่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นในการซื้อคอนโดน้อยลง ผู้คนกังวลเรื่องความเสี่ยงในการอาศัยอยู่ตึกสูงมากขึ้น คนจำนวนไม่น้อยทยอยขายห้องที่อยู่ในอาคารสูง ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินด้านอสังหาริมทรัพย์ดิ่งลง กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศด้วย (มติชน, 2568ก) ส่วนกรณีตึกที่กำลังก่อสร้างย่านจตุจักรถล่ม ภายหลังมีข้อมูลว่าเป็นอาคารสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ โดยมีบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งไม่เคยมีประวัติการก่อสร้างมาก่อนเป็นผู้รับเหมาสร้างให้กับภาครัฐจากการชนะการประกวดราคาด้วยเงินราว 2,000 ล้านบาท การถล่มลงของตึกเดียวท่ามกลางสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้างโดยบริษัทจีน ชาวเน็ตในจีนชี้ว่าในประเทศจีนเกิดปัญหาตึกหรืออาคารถล่มจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหลายครั้ง จนได้ฉายานามว่าเป็น ‘ตึกเต้าหู้’ กระทั่งเมื่อทางเจ้าหน้าที่ตรวจดูคุณภาพของเหล็กเส้นที่ใช้การก่อสร้างยังพบว่าตึกสตง. ใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว (ดู มติชน, 2568ข: 2568ค และ MGR Online, 2568)
การเกิดขึ้นอาฟเตอร์ช็อคทางเศรษฐกิจและสังคมถือเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ นักวิชาการต่างประเทศบางท่านเรียกว่าเป็น ‘งานของภัยพิบัติ’ (work of disaster) ผลกระทบที่ภัยพิบัติเป็นผู้กระทำ ซึ่งนอกจากสร้างความเสียหายทางกายภาพแก่ผู้คน สัตว์ และธรรมชาติอื่นแล้ว ผลจากภัยพิบัติยังก่อให้เกิดการเปิดเผยปัญหาเดิมที่มีอยู่แต่มองไม่เห็นให้ปรากฏเห็น หรือสร้างผลกระทบที่รุนแรงแต่ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่จากที่มันทำลาย (Seale-Feldman, 2020) ฉะนั้น ในกรณีไทยภัยพิบัตินอกจากจะกระทบโดยต่ออาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มันยังเผยให้เห็นมิติทางสังคม เช่น การใช้สื่อโซเชียลของประชาชนขณะที่เกิดแผ่นดินไหวถูกใช้เป็นเครื่องมือความรู้ด้านภัยพิบัติและแบ่งปันกันอย่างรวดเร็ว หรือการเกิดอาฟเตอร์ช็อคทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาใต้พรมของภาครัฐจากเหตุการณ์ตึกสตง.ถล่ม งานของแผ่นดินไหวที่มาจากการเคลื่อนตัวของรอยแยกในแผ่นเปลือกโลกได้ส่งผลลัพธ์มากกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยตรง
ทบทวนความเข้าใจต่อภัยพิบัติ
หากพิจารณาการศึกษาภัยพิบัติ (disasters) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบเช่น วาตภัย อุทกภัย อัคคีภัย และธรณีพิบัติภัย เหตุการณ์เหล่านี้สร้างผลกระทบในระนาบที่คล้ายกันคือความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์กายภาพ และต่อเนื่องสู่ผลกระทบทางสังคมในบางลักษณะ รูปแบบหายนะเกิดขึ้นโดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ (nature) ภัยพิบัติยังเกิดขึ้นได้จากผลผลิตทางสังคมและการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกของมนุษย์ (Barrios, 2017) เช่น เหตุการณ์การระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบีล หรือเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งทางกายภาพและชีวิตของสังคมมนุษย์ สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมอื่น
ด้านคุณลักษณะของภัยพิบัติประกอบไปด้วยความแปรปรวนภายนอก (external variability) ระดับความผันผวนรุนแรงของธรรมชาติและเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางกายภาพรูปแบบต่าง ๆ และความวุ่นวายภายใน (internal complexity) ซึ่งเป็นความทับซ้อนของกระบวนการที่อยู่ภายใต้การเกิดขึ้นของภัยพิบัติต่าง ๆ ได้แก่ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ภัยพิบัติจึงเชื่อมโยงกับความโกลาหลของสภาพอากาศหรือความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และผลของเหตุการณ์ก็สร้างความเปาะบาง (vulnerability) และความอันตราย (hazard) ต่อทุกสิ่ง ทั้งมนุษย์และสิ่งอื่น (Barrios, 2017 ; Oliver-Smith, 1999: 2022)
ฉะนั้น เมื่อมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติชีวิตมนุษย์สัมพันธ์กับหายนะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังที่ Oliver-Smith and Hoffman (2002) ชี้ว่าท้ายที่สุดแล้ววิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมมนุษย์ก็ไม่สามารถตัดขาดจากความอันตรายของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ มนุษย์จึงเชื่อมกับหายนะ พอ ๆ กับที่หายนะเชื่อมในเชิงผลกระทบแก่มนุษย์
ถ้าเราจะถอดบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทยโดยพิจารณาจากสังคมอื่น เราต้องสนใจว่าผู้คนในประเทศอื่นอยู่กับภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์และควบคุมการเกิดขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะหมู่ประเทศที่กำลังพัฒนาหรืออาจไม่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีในการรับมือกับภัยพิบัติ หลังเหตุการณ์หายนะสังคมจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยจะยกกรณีแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลปี 2015 เป็นตัวอย่างหลัก
แผ่นดินเขย่าเนปาล ความเปราะบางของผู้คนท่ามกลางธรณีพิบัติภัย
ในปี 2015 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในประเทศเนปาลขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนเมษายนความรุนแรง 7.8 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองจาจาร์กอต (Jajarkot) ฝั่งตะวันตกของประเทศ และครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคม ความรุนแรงอยู่ที่ 7.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางคือบริเวณเมืองหลวงกาฐมาณฑุ (Kathmandu) ต่อเนื่องถึงเมืองมักวานปูร์ (Makwanpur) แผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองอย่างหนัก ประชาชนเสียชีวิตราว 9,000 คน ระบบสาธารณูปโภคล้มเหลว ความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลเป็นไปอย่างล้าช้า จนต้องร้องขอให้ประเทศสหภาพอื่นเข้าช่วยเหลือ (BBC, 2016) ส่วนอาร์ฟเตอร์ช็อคที่มุ่งสู่ปัญหาการจัดการและประสบการณ์ทางสังคม กลายเป็นบรรยากาศความขุ่นเคือง (atmospheres of indagation) ทางสังคมที่มนุษย์เผชิญและไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขได้ทันท่วงที (Tironi, 2014)
Aidan Seale-Feldman หนึ่งในนักมานุษยวิทยาที่ลงพื้นที่ศึกษาสังคมเนปาลหลังภัยพิบัติชี้ว่า เมื่อภัยพิบัติกำเนิดขึ้นมันก่อให้เกิดสิ่งใหม่จากที่ทำลาย ภัยพิบัติจึงมีหน้าที่และการทำงานไม่ต่างจากมนุษย์ และมนุษย์ก็มิใช่ศูนย์กลางองค์ประธานของการเป็นผู้กระทำการที่สามารถควบคุมจัดการโลกได้ โดยเฉพาะในประเทศเนปาล ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภายหลังแผ่นดินไหวในปี 2015 พวกเขาต้องเผชิญปัญหาทางสังคมอันเป็นผลสืบเนื่องจากภัยพิบัติ (Seale-Feldman, 2020)
ปัญหาดังกล่าวเช่น ความขัดแย้งทางสังคม ปัญหาการตั้งที่อยู่อาศัยใหม่ หรือการเยียวยารักษาผู้ประสบภัย หลายเรื่องยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในสังคมคนเนปาลเรื่อยมา ในยุคหลังที่นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแพนธีออน Diana Riboli เดินทางเข้าประเทศเนปาลในปี 2021 ยังพบเจอปัญหาทำนองนี้อยู่
Riboli บันทึกไว้ว่า เมื่อเดินทางสู่ชมชุนชาติพันธุ์เชปัง (Chepang) ในเขตป่าสงวนปาร์ซา (Parsa) บริเวณเมืองมักวานปูร์ประเทศเนปาล ท่ามกลางเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ที่นั่งผิงแดดอยู่ เขากวาดตามองชุมชน คาดคะเนครัวเรือนมีประมาณห้าสิบครอบครัว ชาวเชปังกลุ่มนี้อพยพตั้งถิ่นฐานใหม่ภายหลังการเผชิญปัญหาดินสไลด์และน้ำท่วมฉับพลัน
จากการสืบเสาะข้อมูลชุมชนจนทำให้เห็นภาพกว้างของสังคมชาติพันธุ์ดังกล่าว ภัยพิบัติบีบให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานใหม่ ซ้ำยังทำให้พวกเขาต้องเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติต่อเนื่อง เช่น การขาดแคลนสาธารณูปโภค การช่วยเหลือจากรัฐบาล การเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บในป่า อันตรายสิงห์สาราสัตว์ ตลอดจนปัญหาการจำกัดการปลูกพืชในที่ดินลาดเอียงที่บีบให้ชาวบ้านหลายคนต้องอพยพและกลายเป็นแรงงานประเทศอื่นเช่นกลุ่มประเทศอาหรับ
การแตกกระจายของสังคมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อคนท้องถิ่น โดยเฉพาะหลังภัยพิบัติปี 2015 คริสเตียนนอกประเทศไหลเข้ามาในนามองค์กรการช่วยเหลือที่ไม่ใช่ของรัฐ (NGOs) องค์กรเหล่านี้เข้ามาหยิบยื่นความช่วยเหลือการอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค การศึกษา ตลอดจนการเยียวยาสภาพจิตใจ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายคนตัดสินใจเปลี่ยนมานับถือคริสต์ ชาวเชปังดั้งเดิมเช่นหมอผี (pandes) มองว่าการเปลี่ยนศาสนาสร้างความตึงเครียดในสังคมชาติพันธุ์ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเชปังดั้งเดิมและชาวเชปังคริสเตียนจึงไม่เป็นมิตรกันเท่าใดนัก เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนด้านผู้นำจิตวิญญาณสาปส่งเหล่าผู้แปรพักตร์ว่าลุ่มหลงอยู่กับเงินไม่แบ่งปันให้กับคนอื่นที่ยากไร้กว่า ในขณะที่ฝั่งผู้นับถือคริสเตียน (pastors) ก็ตอบโต้ว่าพวกเชปังหมอผีเป็นพวกขี้ยาติดสุรา (Riboli, 2021)
ความขัดแย้งทางสังคมเรื่องศาสนา การที่คนบางส่วนถูกมองว่าเป็นคนบาปผิดศีลธรรมก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม ผนวกกับการสูญเสียที่ดินบรรพบุรุษจากพฤติกรรมการละทิ้งชุมชนไปเป็นแรงงานให้กับบรรษัททุนที่มุ่งหาผลประโยชน์จากการทำถนนและการค้าไม้ การกระทำเหล่านี้ชาวเชปังมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในชีวิตจริงอันเป็นผลต่อโลกเหนือธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่าเทพธิดาที่อยู่ใต้พิภพเกิดความโกรธเกรี้ยวและกระแทกผืนดินให้สั่นไหวทำให้แผ่นดินสไลด์ น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นอาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2015 ถึงปี 2017
Riboli ไม่ได้ตัดสินว่าความเชื่อของชาวเชปังถูกและผิดหรืองมงายอย่างไร นัยสำคัญของภัยพิบัติในเนปาลเห็นได้ว่ามันสร้างความเสียหายโดยตรงต่อผู้คนในสังคม และสร้างผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว ตลอดจนสะท้อนแนวทางการจัดการของสังคมที่เปาะบางในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติ
ภัยพิบัติข้ามชาติ มองผ่านไทยและที่อื่น
ประเทศไทยอยู่ห่างจากรอยเลื่อยสะกายราว 1,000 กม. ยังได้รับผลกระทบด้านต่าง ๆ พอสมควร ไม่ต้องพูดถึงกรณีภัยพิบัติจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเนปาล บ้านเมืองพังราบ ผู้คนเสียชีวิตราว 6,000 คน การจัดการทางสังคมก็เกิดขึ้นอย่างล้าช้า หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาที่ผ่านมา ภาพเจดีย์ที่พังระเนระนาด อาคารบ้านช่องถล่มทลาย ส่งผลให้หลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา ต้องเข้าช่วยเหลือเมียนมาอย่างเร่งด่วน ทั้งหมดเป็นผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่ากระบวนการระดับโลกของภัยพิบัติที่ส่งผลต่อมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ
กระบวนการระดับโลก (global process) ของภัยพิบัตินอกจากจะสร้างผลกระทบข้ามชาติ (trans-nation) และข้ามขอบเขตพรมแดนธรรมชาติ มันยังก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการ (Crate and Nuttall, 2009) กระทั่งประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วก็ยังต้องเผชิญความไม่มั่นคงจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งอันเนื่องมาจากภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกวงแหวนไฟ (ring of fire) ที่พาดทับหลายประเทศตั้งแต่นิวซีแลนด์ (New Zealand) ตัดผ่านอินโดนีเซีย (Indonesia) สู่ญี่ปุ่น (Japan) อ้อมไปอเมริกาเหนือ (North America) และลงสู่อเมริกาใต้ (South America) ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ อยู่เสมอ ประเทศญี่ปุ่นจึงตระหนักและเน้นย้ำถึงการเผยแพร่ความรู้และแนวทางการป้องกันภัยพิบัติให้แก่ผู้คนทั้งประเทศโดยเฉพาะเด็กและคนหนุ่มสาว มีการใช้กฏหมายควบคุมการก่อสร้างที่อาคารขนาดใหญ่ตลอดจนที่อยู่อาศัยในการรับมือกับภัยพิบัติอย่างเข้มงวด การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารในโทรศัพท์มือถือ 5-10 วินาทีหลังแผ่นดินไหวเพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวป้องกันรับมือภัยพิบัติได้ทันท่วงที การควบคุมรายการทีวีเมื่อเกิดแผ่นดินไหวหน่วยงานภาครัฐจะเข้าควบคุมทีวีเพื่อรายงานเหตุการณ์และวิธีการป้องกันภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงการตระเตรียมชุดเอาตัวรอดจากภัยพิบัติที่ประชาชนต้องเตรียมไว้ (Dayman, 2024)
เราเห็นแล้วว่าในบริบททางสังคมที่ต่างกันความรุนแรงทางภัยพิบัติต่างกัน การรับมือและการจัดการหลังภัยพิบัติต่างกัน ประเทศไทยอาจมีเทคโนโลยีไม่เทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น แต่เชื่อเลยว่าแนวทางบางอย่างของญี่ปุ่น ประเทศไทยสามารถปรับใช้ได้
ประเทศญี่ปุ่นเมื่อครั้งแผ่นดินไหวปี 2021 ความรุนแรง 9.0 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดสึนามิและสะเทือนต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คร่าชีวิตผู้คนราว 18,000 คน อีก 150,000 คนต้องถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ (BBC, 2021) หรือประเทศเนปาลภัยพิบัตินอกจากจะเป็นวิกฤติที่รัฐบาลและองค์ระหว่างประเทศร่วมสังฆกรรมฟื้นฟูเนปาลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว (Seale-Feldman, 2020) เมื่อมองในระดับปฏิบัติการของผู้คนในประเทศ วิธีการไม่กี่อย่างที่พวกเขากระทำได้จากต้นทุนที่พวกเขามีและหลงเหลืออยู่คือการใช้เครื่องมือชาติพันธุ์ฟื้นฟูเยียวยาตนเองผ่านการต่อรองอย่างสมดุล (balance dealing) ระหว่างธรรมชาติ อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความรุนแรงโดยมนุษย์ ซึ่งมันสะท้อนการต่อรองและจัดการประสบการณ์กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นด้วยสิ่งที่พวกเขามี
แต่สิ่งที่ประเทศไทยเจอด่านแรกหลังของภัยพิบัติ นอกจากความสูญเสียผู้คนในเหตุการณ์ตึกสตง.ถล่ม กลับเป็นเรื่องที่ชวนฉงนใจหลายอย่างเกี่ยวกับการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องฉาวของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ กลับพัวพันอยู่กับข่าวเสีย ๆ หาย ๆ ของบรรษัทจีน ความไม่ได้มาตรฐานของวัสดุก่อสร้าง และความคลุมเครือหลายอย่างใต้พรม
‘รอยแยก’ ของภัยพิบัติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญเกิดขึ้นจากรอยปริแตกหลายส่วน ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ประเทศศูนย์กลางที่มันเกิด นอกจากความรุนแรงที่เดินทางข้ามพ้นพรมแดนชาติสร้างความเสียหายหลายประเทศโดยรอบ แผ่นดินไหวยังสร้างรอยแยกทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของรัฐบาล ผลกระทบเศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์ และเผยให้เห็นเรื่องฉาวของหน่วยงานภาครัฐภายใต้ความสูญเสีย ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมือและปรับปรุงแก้ไขอีกหลายอย่าง
มันเป็นสิ่งที่เรายากจะจินตนาการถึงความหวาดหวั่นต่อประสบการณ์ภัยพิบัติถ้าเราไม่ได้เผชิญด้วยตนเอง เหตุการณ์ในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เชื่อเลยว่าในตอนที่สิ่งรอบข้างสั่นไหว หรือในตอนที่เรากำลังหนีออกสู่ที่โล่ง หลายคนคงคิดกังวลไปต่างต่างนานาทั้งการเอาตัวรอดในตอนนั้น ห่วงคิดถึงคนอื่น คิดถึงสัตว์เลี้ยง คิดถึงบ้าน และอื่น ๆ พร้อมกับภาวนาให้มันไม่รุนแรง จบลงเพียงเท่านี้
สถานการณ์ในตอนนั้น พอเห็นความหวาดหวั่น สีหน้าของความกลัวและความกังวลของตนเองและผู้อื่น ผมได้แต่คิดว่าบางทีการไม่รับรู้ถึงอาฟเตอร์ช็อคยังดีกว่า...
เอกสารอ้างอิง
มติชน. (2568ก). อนุสรณ์ คาดแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อ ศก.ไตรมาส2 รุนแรง ยอดขายคอนโดตกต่ำ. สืบค้นวันที่ 1 เมษายน 2568, https://www.matichon.co.th/economy/news_5117179.
มติชน. (2568ข). ชาวเน็ตแดนมังกร วิจารณ์หนัก ตึกสตง.ถล่ม ร่วมทุนบริษัทจีน ตั้งข้อสังเกต โครงสร้างอาคาร. สืบค้นวันที่ 1 เมษายน 2568, https://www.matichon.co.th/social/news_5114289.
มติชน. (2568ค). เปิดผลตรวจ เหล็กก่อสร้าง ตึกสตง.ถล่ม เผยมี 2 ไซซ์ ไม่ได้มาตรฐานนิวเคลียร์. สืบค้นวันที่ 1 เมษายน 2568, https://www.matichon.co.th/local/news_5119266.
BBC. (2564). ภัยพิบัติฟุกุชิมะ : เกิดอะไรขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์. สืบค้นวันที่ 1 เมษายน 2568, https://www.bbc.com/thai/international-56344107.
MGR Online. (2568). เปิดบริษัทจีนห้องแถว รับงาน สตง. สร้างตึกพันล้านถล่ม ล่าสุดออฟฟิศปิดเงียบ. สืบค้นวันที่ 1 เมษายน 2568, https://mgronline.com/onlinesection/detail/9680000030230.
Barrios, E. (2017). What Does Catastrophe Reveal for Whom? The Anthropology of Crises and Disasters at the Onset of the Anthropocene. Annual Review of Anthropology 46, 151–66.
BBC. (2015). Nepal Earthquake: What Happened and How is The Country Rebuilding? .Retrieved 14 February 2025, Form https://www.bbc.co.uk/newsround/36129992.
BBC. (2025a). More Myanmar quake survivors pulled from rubble. Retrieved 1 April 2025, https://www.bbc.com/news/articles/c4g9x22gd8zo.
BBC. (2025b). Second night of searches under way as pause in military operations announced. Retrieved 1 April 2025, https://www.bbc.com/news/live/c4gex01m7n5t.
Crate S, and Nuttall, M. (2009). Introduction: Anthropology and Climate Change. In Anthropology and Climate Change: From Encounters to Actions, edited by Crate S, and Nuttall, M, 9-38, California : Left Coast Press.
Dayman, L. (2024). 8 Ways Japan Prepares for Earthquakes. Retrieved 1 April 2025, https://theculturetrip.com/asia/japan/articles/8-ways-japan-prepares-for-earthquakes.
Oliver-Smith, A . (1999) . "What is a Disaster?": Anthropological Perspectives on a Persistent Question. In The Angry Earth: Disaster in Anthropological Perspective, edited by Susanna M. Hoffman and Anthony Oliver-Smith, 18-34, New York: Routledge.
Oliver-Smith, A . (2020). Critical Disaster Studies: The Evolution of a Paradigm. In A Decade of Disaster Experiences in Otautahi Christchurch, edited by Uekusa et al, 27-53. Singapore : Springer Nature.
Oliver-Smith, A, and Hoffman, S. (2002). Introduction: Why Anthropologists Should Study Disasters. In Catastrophe and Culture: The Anthropology of Disaster, edited by Susanna M. Hoffman and Anthony Oliver-Smith, 3–22. Santa Fe, N.Mex.: School of American Research Press.
Riboli, D. (2021). “The War Has Just Begun.” Nature’s Fury Against Neocolonial “Spirit/s”: Shamanic Perceptions of Natural Disasters in Comparative Perspective. In Dealing with Disasters: Perspectives from Eco-Cosmologies, edited by Riboli et al, 19-42, Switzerland : Macmillan.
Tironi, M . (2014). Atmospheres of Indagation: Disasters and the Politics of Excessiveness. Sociological Review, 62, 114–134.
Seale-Feldman, A. (2020). The Work of Disaster: Building Back Otherwise in Post-Earthquake Nepal. Cultural Anthropology, 35(2), 237-263.
ผู้เขียน
วิมล โคตรทุมมี
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ธรณี แผ่นดินไหว ไทย ภัยพิบัติ วิมล โคตรทุมมี