การเมืองเรื่องความรู้ว่าด้วยการจัดการน้ำในสังคมไทย

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 2044

การเมืองเรื่องความรู้ว่าด้วยการจัดการน้ำในสังคมไทย

“...ชีวิตของเราถูกทำลายเมื่อปิด [ประตู] เขื่อน [หาก] ปลากลับมา ธรรมชาติกลับมา ชีวิตเราก็กลับมาด้วย ทำยังไงให้คนอื่นได้เห็น ได้เชื่อในสิ่งที่เราอยากจะบอก ก็เลยคิดว่าต้องจดบันทึก ต้องรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าให้คนอื่นมาทำ ก็กลัวเขาจะทำได้ไม่ถูกต้องครบถ้วนเพราะคนในเมืองเขาไม่เข้าใจวิถีชีวิตอย่างเรา ไม่รู้เรื่องปลา เรื่องแก่ง เรื่องแม่น้ำเหมือนเรา”

พ่อดำ ชาตะพันธ์ (นักวิจัยไทบ้าน)

“ถ้าการวิจัยถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มคนระดับบน โดยมีนักวิชาการเป็นแนวหน้าและมือปืน โอกาสที่ความรู้ซึ่งถูกสร้างขึ้นจะได้รับใช้คนส่วนใหญ่ก็เป็นไปได้ยาก”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

           ข้อความที่ยกมาจากงานวิจัยไทบ้านข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการผลิตความรู้ผ่านงานวิจัย (production of knowledge) ไม่ว่าจะโดยนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่โดย “ไทบ้าน” ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการจัดการน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสังคมไทยการจัดการน้ำกลายเป็นประเด็นคลาสสิคที่มีการถกเถียงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งที่มีให้เห็นอย่างดาษดื่น ไปจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการจัดการน้ำ ทั้งนี้ ปัญหาการจัดการน้ำไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยธรรมชาติอย่างเดียวซึ่งอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาเท่านั้น

           เนื่องจากหากมองลึกลงไปยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ผลักดันให้ปัญหาการจัดการน้ำเกิดขึ้นโดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมือง ดังที่ Zwarteveen et al. (2017) ชี้ว่าการจัดการน้ำสัมพันธ์กับการตัดสินใจทางการเมือง เช่น การใช้อำนาจกำหนดว่าน้ำควรไหลไปที่ไหน ใครคือผู้มีอำนาจตัดสินใจ และความรู้ใดถูกใช้จัดการน้ำ

           ทั้งนี้ เราสามารถศึกษาการจัดการน้ำได้หลายด้าน เช่น ด้านการจัดสรรน้ำ (distribution of water) เริ่มต้นจากคำถามที่ว่าน้ำถูกจัดสรรอย่างไรท่ามกลางตัวแสดงที่หลากหลาย (who gets what?) อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร กลุ่มชาติพันธุ์ เพศภาพ เป็นต้น รวมถึงการศึกษาการจัดสรรความเสี่ยง (distribution of risks) เช่น การบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้พื้นที่อุตสาหกรรมโดยบังคับทิศทางน้ำให้ไปท่วมพื้นที่เกษตรกรรมแทน ฯลฯ และที่สำคัญคือการศึกษาการจัดการน้ำในมิติการจัดสรรความรู้ (distributions of knowledge and expertise) (Zwarteveen et al., 2017) ประเด็นเรื่องความรู้ข้างต้นคือเนื้อหาหลักของบทความนี้ ซึ่งมุ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้ปะทะกันระหว่างความรู้ของชาวบ้านกับผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำของสังคมไทย

           ความรู้หาใช่ปัจจัยภายนอกของการจัดการน้ำ แต่ความรู้คือส่วนหนึ่งของการจัดการน้ำอยู่ตลอดเวลา การยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอำนาจจึงช่วยให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ที่ตัวแสดงอ้างถึงกับความรู้ที่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม อีกทั้งยังเผยให้เห็นอีกว่าความรู้ช่วยอำพรางความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในการจัดการน้ำ โดยทำให้กลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปอย่างไร (normalize) และแสดงให้เห็นว่าทำไมความรู้บางอย่างจึงมีความชอบธรรมเหนือความรู้อื่นในการจัดการน้ำ (Zwarteveen et al., 2017) ทั้งนี้ การจัดการน้ำมีเส้นแบ่งความรู้ที่ชัดเจนสองส่วน ได้แก่ ความรู้เชิงเทคนิคและวิศวกรรม (engineering and technological knowledge) กับความรู้ของท้องถิ่น (local knowledge)

           เหตุดังนี้ การทำความเข้าใจการจัดการน้ำผ่านการเมืองของความรู้จึงช่วยให้เข้าใจปรากฎการณ์การจัดการน้ำที่เกิดขึ้นได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น บทความนี้จึงมุ่งแสดงให้เห็นถึงการเมืองของความรู้ในการจัดการน้ำในสังคมไทยผ่านกรณีศึกษาเขื่อนปากมูลซึ่งมีความสำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงการเมืองของความรู้อย่างเข้มข้นระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับชาวบ้าน

           ในช่วงทศวรรษ 2530 การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยได้ขยายจากการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนไปสู่การต่อสู้ในพรมแดนความรู้มากขึ้น เนื่องจากการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำ และเขื่อนถูกสร้างความชอบธรรมโดยใช้ความรู้เป็นเครื่องมือซึ่งปรากฎออกมาในรูปแบบของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานวิจัย และเนื้อหาในนโยบาย ฯลฯ โดยมักจัดทำโดยธุรกิจที่ปรึกษาทางสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัท และมหาวิทยาลัย ดังนั้นความรู้จึงเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างมิอาจปฏิเสธได้ (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2566)

           ดังที่สะท้อนให้เห็นจากการสร้างเขื่อนปากมูลซึ่งมีการจัดทำ EIA ผลพบว่าปลาในแม่น้ำมูลไม่สำคัญ ชาวบ้านปากมูลไม่ได้เป็นชาวประมงพื้นบ้านแต่เป็นชาวนาเหมือนชาวอีสานทั่วไป อย่างไรก็ตาม หลังการสร้างเขื่อนปากมูลได้เกิดการรวมกลุ่มของผู้คนในนามสมัชชาคนจนเรียกร้องให้รัฐเปิดประตูเขื่อนเพื่อชี้ให้เห็นว่าปลาแม่น้ำมูลที่อพยพมาจากแม่น้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้รัฐจึงสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเปิดประตูเขื่อน 1ปี ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2544 รัฐได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งรวมทีมผู้เชี่ยวชาญโดยใช้งบประมาณประมาณ 11 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการเปิดประตูเขื่อน เช่น ต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การอพยพของปลาระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล รวมถึงสร้างข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการเขื่อนในอนาคต (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2566; Natalia Scurrah, 2013)

           อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมองว่างานวิจัยที่ทำโดยรัฐยังมีข้อจำกัด เหตุเพราะไม่สะท้อนมุมมองและผลประโยชน์ของชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างการชุมนุมสมัชชาคนจน ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบตั้งคำถามและไม่เชื่อต่อสิ่งที่เรียกว่าความรู้ของ “ผู้เชี่ยวชาญ” (expert knowledge) เหตุเพราะรายงานการประเมินผลกระทบของผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อนต่ำไปเท่านั้น แต่ยังมองข้ามความรู้ของชาวบ้านด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” (unscientific) (Natalia Scurrah, 2013)

           แม้ในอีกมุมหนึ่งความรู้แบบวิทยาศาสตร์เองมิได้ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาการจัดการน้ำแต่อย่างใดเพราะความรู้นี้ถูกผลิตขึ้นในบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์มีระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ภาษา และสัญลักษณ์ ที่ใช้เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างจากกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ (เป็น) วิทยาศาสตร์ รวมทั้งยังใช้วาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจัดการน้ำ ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนว่าการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มิได้เป็นแค่เรื่องวิทยาศาสตร์อย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น (จักรกริช สังขมณี, 2555)

           ด้วยเหตุนี้ ความรู้จากงานวิจัยฝ่ายรัฐที่ศึกษาเขื่อนปากมูลจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น ได้แก่ งานวิจัยมีลักษณะการสร้างความรู้จากบนลงล่าง (top-down) รวมถึงงานวิจัยของรัฐได้มองข้ามความรู้เชิงนิเวศท้องถิ่น (local ecological knowledge) เช่น ความสำคัญของปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ ธรรมชาติของการอพยพของปลา การให้ความสำคัญกับสัณฐานวิทยาของแม่น้ำ (morphology of the river) ความแตกต่างทางชนชั้นของชาวบ้าน และการให้ความหมายกับธรรมชาติและระบบนิเวศน์ของชาวบ้าน ความรู้เหล่านี้ถูกทำให้เป็นชายขอบโดยนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในการวิจัยของรัฐ (Malee Sitthikriengkrai, 2023, p.7-8)

           จากสถานการณ์ที่ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญมิได้สะท้อนสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่มอง รวมถึงการเกรงว่ารัฐจะทำการปิดประตูเขื่อนอีกครั้งเมื่อครบกำหนด 1 ปี ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการสร้างความรู้ร่วมกัน (co-production of knowledge) ระหว่างชาวบ้านกับนักวิชาการภายใต้ชื่อ “งานวิจัยไทบ้าน”

           งานวิจัยไทบ้านเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้าน 200 คน จาก 65 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มศึกษาออกเป็น กลุ่มศึกษาพันธุ์ปลา กลุ่มศึกษาความรู้เรื่องระบบนิเวศของแม่น้ำมูล กลุ่มศึกษาการทำแผนที่ลำน้ำมูลบริเวณปากมูล กลุ่มเกษตรริมมูน และผู้ช่วยนักวิจัย ทั้งนี้ชาวบ้านคือผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดการวิจัยและเป็นผู้เก็บข้อมูล โดยนักวิชาการมีหน้าที่ให้การสนับสนุนชาวบ้านเป็นหลัก (Malee Sitthikriengkrai, 2023)

           ชาวบ้านทำการเก็บข้อมูลในพื้นที่ เช่น ข้อมูลระบบนิเวศของแม่น้ำ พันธุ์พืช รวมถึงการเก็บข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีอะไรที่หายไปและอะไรบ้างที่กลับคืนมาในช่วงก่อสร้างเขื่อน หลังสร้างเขื่อน และช่วงที่รัฐเปิดประตูเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลเพราะเป็นประเด็นสำคัญ อีกทั้งยังสำรวจและประเมินพลวัตความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น สถานการณ์ก่อนสร้างเขื่อนและหลังการสร้างเขื่อนในมิติของปลา วิถีชีวิต และระบบนิเวศแม่น้ำ ผ่านการใช้ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาและความรู้ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น(Natalia Scurrah, 2013; ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2566)

           การเก็บข้อมูลในช่วงแรกให้ความสนใจชื่อและปริมาณของปลาแต่ละสายพันธุ์ ทว่าเมื่อมีการถกเถียงกันมากขึ้นทำให้ประเด็นการศึกษาขยายไปสู่ลักษณะและพฤติกรรมของปลา ผลกระทบของเขื่อน พันธุ์พืชริมแม่น้ำ ไปจนถึงความรู้ของผู้หญิงในการจัดการน้ำ ประเด็นเหล่านี้ถูกตีความบนฐานของประสบการณ์และความรู้ท้องถิ่นของชาวบ้าน ทำให้คำอธิบายธรรมชาติของพวกเขาไม่เพียงมีแง่มุมด้านชีววิทยา แต่ยังมีแง่มุมวัฒนธรรมและจิตวิญญาณร่วมด้วย ในแง่นี้ งานวิจัยไทบ้านจึงใช้แนวทางการศึกษาแบบองค์รวม (holistic approach) เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมผ่านการพิจารณาความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ และการศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในและภายนอกชุมชน (Natalia Scurrah, 2013)

           ทั้งนี้ข้อค้นพบของการศึกษาคือพันธุ์ปลาพื้นถิ่น 129 ชนิดหายไปในช่วงของการก่อสร้างและช่วงที่เขื่อนทำงาน มากไปกว่านั้น เขื่อนยังส่งผลกระทบต่อการทำประมงโดยคิดเป็นร้อยละ 95 ของครัวเรือนใน 45 หมู่บ้าน (Natalia Scurrah, 2013)

           กล่าวโดยสรุป ความรู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการน้ำ ดังที่ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญมีส่วนสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างเขื่อนภายใต้ฉากหน้าของความเป็นกลางและเป็นวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกัน ความรู้ของชาวบ้านก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการน้ำสะท้อนให้เห็นจากงานวิจัยไทบ้านซึ่งถือเป็นการตอบโต้อำนาจนำ (a counter hegemonic) เพื่อเสริมอำนาจทางสังคมให้กับตัวแสดงที่ถูกกีดกันจากกระบวนการสร้างความรู้และกระบวนการกำหนดนโยบาย เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองเพื่อดึงความชอบธรรมกลับมา งานวิจัยไทบ้านได้กลับหัวกลับหางหลักการทำวิจัยของผู้เชี่ยวชาญ โดยการจัดตำแหน่งแห่งที่ของชาวบ้านเข้ามาอยู่ในใจกลางของการสร้างความรู้ รวมถึงการแสดงให้เห็นบทบาทของชุมชนในการออกแบบและขับเคลื่อนกระบวนการวิจัยซึ่งเป็นการข้ามพ้นข้อจำกัดของการทำวิจัยที่ถูกกำหนดโดยคนภายนอกชุมชน (Natalia Scurrah, 2013; Malee Sitthikriengkrai, 2023)

           อย่างไรก็ดี การจัดการน้ำเกี่ยวข้องกับตัวแสดงที่หลากหลายซึ่งมีบทบาทในการจัดการน้ำแตกต่างกันไป โจทย์สำคัญคือจะขยายการผลิตความรู้ร่วมกัน (co-production of knowledge) อย่างไรให้ครอบคลุมตัวแสดงต่าง ๆ ทั้งที่เป็นมนุษย์และมิใช่มนุษย์ (non-human) เพื่อให้เข้าใจการดำรงอยู่ในสังคมร่วมกันระหว่างสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำได้มากยิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง

คณะนักวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนกรณีปากมูน และเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (2545). แม่มูน การกลับมาของคนหาปลา. เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันตะวันออกเฉียงใต้: เชียงใหม่.

จักรกริช สังขมณี. (2566). ชลกร: ประว้ติศาสตร์สังคมว่าด้วยความรู้ และการจัดการน้ำสมัยใหม่ในประเทศไทย. วารสารสังคมศาสตร์, 42(2), 93-115.

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ. (2566). การเมืองเรื่องความรู้ จากนิเวศวิทยาของมนุษย์สู่งานวิจัยไทบ้าน. สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการ, 35(2), 111-141.

Sitthikriengkrai, M. (2023). Assessing ‘Successful’ Community-Based Research: How has knowledge been Co-Produced?. Center for Ethnic Studies and Development (CESD), Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University: Chiang Mai.

Scurrah, N. (2013). Countering hegemony and institutional integration: Two approaches to using Tai Baan research for local knowledge advocacy. Governing the Mekong: Engaging in the politics of knowledge, 27-48.

Zwarteveen, M., Kemerink‐Seyoum, J. S., Kooy, M., Evers, J., Guerrero, T. A., Batubara, B., & Wesselink, A. (2017). Engaging with the politics of water governance. Wiley Interdisciplinary Reviews: Water, 4(6), 1-9.


ผู้เขียน
อาทิตย์ ภูบุญคง
นักวิจัย  ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การเมือง ความรู้ การจัดการน้ำ สังคมไทย อาทิตย์ ภูบุญคง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา