มานุษยวิทยาด้านน้ำ (The anthropology of water)

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 1166

มานุษยวิทยาด้านน้ำ (The anthropology of water)

           “น้ำ” ในมุมมองมานุษยวิทยา มิใช่แค่สสารที่หล่นมาจากฟ้า เคลื่อนไหวไปตามแม่น้ำ และไหลออกมาจากก๊อกเท่านั้น แต่ทว่าน้ำยังเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างใกล้ชิด อย่างเช่นในวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์น้ำมีบทบาทในการช่วยดับกระหาย การผลิตพลังงาน การระบายความร้อนในภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการรักษาระบบนิเวศ ในแง่นี้การมองน้ำเป็นเพียงทรัพยากรโดดเดี่ยวจึงไม่ถูกนัก ดังนั้นการศึกษาน้ำในทางมานุษยวิทยาจึงชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ การเมือง จิตวิญญาณ วัฒนธรรม และสังคม หาได้แยกขาดออกจากกัน หากแต่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด (Barnes & Alatout, 2012)

           อย่างไรก็ตาม การจัดการน้ำในยุคปัจจุบันได้ถูกครอบงำโดยภววิทยาสมัยใหม่ (modernist ontology) ตั้งแต่ในระดับการเรียนการสอน กระบวนการกำหนดนโยบาย ไปจนถึงการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจัดการน้ำบนฐานคิด Modern water ซึ่งมองว่าน้ำก็คือน้ำและสังคมก็คือสังคม ทั้งสองไม่ได้มีความเกี่ยวโยงใด ๆ น้ำเป็นเพียงวัตถุที่ต้องบริหารจัดการและนำไปใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำบนฐานคิดสมัยใหม่ได้ลดทอนอำนาจของแนวคิดอื่นในการจัดการน้ำ (Linton, 2014; Depuy et al., 2021)

           บทความนี้จึงมุ่งนำเสนอให้เห็นถึงการศึกษา “น้ำ” ในทางมานุษยวิทยาที่มุ่งขยายองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำให้ข้ามพ้นไปจากฐานคิดที่แยกน้ำ มนุษย์ และสังคมออกจากกัน เนื้อหาหลักของบทความมี 3 ส่วน ได้แก่ 1) แนวคิด Modern Water 2) มานุษวิทยาด้านน้ำ และ 3) บทสรุป มีรายละเอียดดังต่อไปนี้


แนวคิด Modern Water

           การจัดการน้ำในยุคสมัยใหม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิด Modern water ที่สถาปนาขึ้นในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 หลายประเทศทั่วโลกได้โอบรับแนวคิดนี้มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดโครงสร้างการจัดการน้ำ (Linton, 2014)

           แนวคิด Modern water มีลักษณะสำคัญดังที่ Latour ได้อธิบายไว้ว่าวิธีคิดแบบสมัยใหม่ (the modern way of thinking) พยายามแยกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ธรรมชาติ และสังคม (Flaminio, 2021)

           ด้วยเหตุดังนี้ น้ำจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นในสังคม กล่าวอีกแบบคือ แนวคิดสมัยใหม่ได้เปลี่ยนลักษณะของ “น้ำ” จากเดิมที่มีความหลากหลายและแก่นแท้ (essence) ของน้ำมีความแตกต่างไปตามเงื่อนไขทางสังคมที่เกิดขึ้น ให้กลายเป็นเพียงวัตุที่มี อัตลักษณ์ไม่เปลี่ยนแปลง (timeless identity) ในแง่นี้ น้ำได้แยกขาด (disentangling) จากเงื่อนไขท้องถิ่น ระบบนิเวศ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และสังคม (Linton, 2014)

           จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคำอธิบายที่ว่า “น้ำ” เกิดขึ้นจากสารประกอบไฮโดรเจนและออกซิเจนรวมกันกลายเป็นสมการที่เรียกว่า H2O และวงจรชีวิตของน้ำได้ปรากฏให้เห็นผ่านภาพวัฏจักรของอุทกวิทยา (hydrologic cycle) (Linton, 2014) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากภาพด้านล่างนี้
 

ที่มา: https://albertawater.com/what-is-the-role-of-groundwater-in-the-hydrologic-cycle/


           กล่าวโดยสรุป แนวคิด Modern water มองว่าน้ำเป็นเพียงสสาร (substance) ที่ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถวัดได้และมีมาตรฐานเดียวกัน (commensurable) น้ำคือกระบวนการทางธรรมชาติ และกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม (asocial process) (Linton, 2014)

           การแยกน้ำออกจากสังคมข้างต้น ทำให้แนวคิดสมัยใหม่มองว่าเราสามารถบริหารจัดการน้ำได้โดยไม่ส่งผลกรทบต่อสังคม กระนั้นก็ตาม ในความเป็นจริงกลับพบว่าแนวคิดนี้มิได้หลุดพ้นจากปัจจัยทางสังคมและการเมืองดังที่กล่าวอ้าง เหตุเพราะแนวคิดนี้มีส่วนทำให้องค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ (expert) มีความมั่นคงสถาพรมากยิ่งขึ้นภายใต้ฉากหน้าของความเป็นสมัยใหม่ รวมถึงน้ำได้ถูกลดทอนให้เป็นเพียง “ทรัพยากร” (resource) ที่ต้อง “จัดการ” และนำไปใช้ประโยชน์ สุดท้ายแล้วแนวคิดนี้ได้ปูทางให้อำนาจของรัฐ (the power of the state) เข้ามาบริหารจัดการและควบคุมทรัพยากรน้ำ (Linton, 2014)

           ดังนั้น Modern water ได้อำพรางปฏิบัติการทางสังคม (social practice) ทั้งที่เกิดขึ้นจากอำนาจของรัฐในการควบคุมน้ำและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหามลพิษทางน้ำ ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงน้ำระหว่างคนจนกับคนรวย รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เป็นต้น (Linton, 2014) ปัญหาเหล่านี้มักถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากธรรมชาติไม่ได้มีที่มาจากปัจจัยทางสังคมและการเมือง


มานุษยวิทยาด้านน้ำ (the anthropology of water)

           เป้าประสงค์สำคัญของการศึกษา “น้ำ” ในมานุษยวิทยาคือ การสลายเส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม (nature/culture distinctions) ผ่านการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำมีทั้งแง่มุมธรรมชาติและแง่มุมทางสังคม ทั้งสองแง่มุมหาได้แยกขาดจากกันไม่ (Flaminio, 2021) เนื่องจากการจัดการน้ำได้รับอิทธิพลจากการตัดสินใจทางการเมือง ตั้งแต่การใช้อำนาจกำหนดว่าน้ำควรไหลไปที่ไหน ใครคือผู้มีอำนาจตัดสินใจ ไปจนถึงความรู้ใดถูกใช้เพื่อจัดการน้ำ (Zwarteveen et al., 2017)

           ด้วยเหตุดังนี้ มานุษยวิทยาด้านน้ำจึงไม่ได้มองน้ำแยกขาดจากมิติทางสังคม เนื่องจากน้ำมีความหลากหลาย (water is multiple) และน้ำไม่ใช่วัตถุเชิงเดี่ยวในทางญาณวิทยา (a singular object of epistemology) ในแง่นี้ การนำความรู้เชิงนามธรรมที่อ้างว่าสามารถใช้ศึกษาน้ำได้ทุกพื้นที่ (spaces) และทุกเวลา (times) จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดการติดขัด (interruption) เพราะน้ำมีลักษณะ (properties) ไม่หยุดนิ่งตายตัว (not fixed) และมีความสลับซับซ้อน (Barnes & Alatout, 2012)

           อย่างไรก็ดี การศึกษาน้ำในทางมานุษวิทยามีขอบเขตที่กว้าง ทิศทางการศึกษาขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ศึกษาแต่ละคน บทความชิ้นนี้จึงมุ่งนำเสนอให้เห็นโจทย์การศึกษาที่น่าสนใจเบื้องต้น 4 ประเด็น (Ballestero, 2019) ดังนี้

           หนึ่ง การศึกษาความ (ไม่) แน่นอนของน้ำ ในยุคที่สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงได้ส่งผลต่อความไม่แน่นอนของ “น้ำ” ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งจนเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และการอพยพของผู้คนจำนวนมหาศาล สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าน้ำหาได้เป็นแค่เพียงวัตถุ (object) หากแต่น้ำคือพลัง (force) ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เหตุดังนี้ น้ำกับสังคมไม่ได้แยกจากกันเหมือนอย่างที่แนวคิดวัฏจักรของอุทกวิทยา (hydrological cycles) ได้อธิบายเอาไว้

           ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงใช้แนวคิดอุทกสังคม (hydrosocial cycle) มาใช้ศึกษาน้ำ ทั้งนี้ แนวคิดอุทกสังคมมีสาระสำคัญคือ การมองว่าน้ำ มนุษย์ และสังคม มีความเชื่อมโยงกัน น้ำคือกระบวนการทางธรรมชาติและสังคม (socio-natural process) น้ำและสังคมได้ส่งผลต่อกันและกันข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ ด้วยเหตุดังนี้ นักมานุษยวิทยาจึงมุ่งชี้ให้เห็นว่าผู้คนดำเนินชีวิตร่วมกับน้ำอย่างไรและรับมืออย่างไรกับเหตุการณ์วิกฤตทางธรรมชาติ เช่น การวิเคราะห์ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมและน้ำแล้งต่อมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เป็นต้น (Linton, 2014; Ballestero, 2019)

           สอง การศึกษาคุณสมบัติที่หลากหลายและทรงพลังของน้ำ กล่าวคือ มานุษวิทยาด้านน้ำเผยให้เห็นบทบาทของน้ำในการสร้างร่างกายและบุคคล (bodies and persons) อีกทั้งน้ำโดยตัวมันเองยังเป็นสื่อกลาง (medium) สำหรับสรรพสิ่งอื่นอีกด้วย

           Ballestero (2019) ชี้ว่าน้ำมีบทบาทในการกำหนด (determine) ว่าใครคือองค์ประธาน (subject) การศึกษาทางมานุษยวิทยาจึงชี้ให้เห็นถึงการใช้น้ำของผู้คนในฐานะการต่อสู้ต่อรองให้ได้มาซึ่งสถานะทางการเมือง (political standing) ยกตัวอย่างเช่น การใช้น้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในที่นี้การเข้าถึงน้ำคือสิทธิขั้นพื้นฐาน นอจากนี้ น้ำยังมีบทบาทในการกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการที่เอื้อต่อสถานะทางการเมืองของคนในสังคมอีกด้วย เช่น ในสังคมที่ประชาชนมองว่าการเข้าถึงน้ำคือสิทธิ การจัดการน้ำของรัฐจะได้รับความสนใจจากประชาชน และประชาชนจะคอยประเมินความรับผิดชอบในการจัดสรรน้ำของรัฐ แต่ในสังคมที่ประชาชนมีความขัดแย้งกับรัฐ เช่น ในสังคมของชนพื้นเมือง จุดยืนของประชาชนจะมุ่งปกป้องและรักษาน้ำ

           การต่อสู้ต่อรองที่เกิดจากน้ำข้างต้นส่งผลให้เกิดการกลับมานิยามใหม่ว่าใครที่ถูกนับเป็นบุคคล (person) ดังจะเห็นได้จากมุมมองของคนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือนิยามว่า น้ำคือญาติที่เรามีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางสังคมและการเมือง ความสัมพันธ์นี้ตั้งอยู่บนฐานของการพึ่งพาอาศัยและเคารพกันและกัน เช่นเดียวกันกับการเรียกร้องของชาวเมารีเพื่อให้ระบบกฎหมายตะวันตกยอมรับว่าน้ำเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษของพวกเขา สะท้อนให้เห็นจากคำกล่าวของชาวเมารีที่ว่า “ฉันคือแม่น้ำและแม่น้ำก็คือฉัน”

           นอกจากนั้น จากการที่น้ำคือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการลอย (floating) การไหล (flowing) และการจม (immersing) ทำให้น้ำเป็นสื่อกลาง (medium) ที่ช่วยให้การเป็น (being) ของสิ่งอื่นสามารถเจริญเติบโตและเคลื่อนที่ได้ ยกตัวอย่างเช่น นักมานุษวิทยาได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของน้ำกับปลาแซลมอน ตั้งแต่การอพยพของปลาแซลมอน การหยุดชั่วคราวเพื่อวางไข่ การว่ายน้ำต่อ และการย่อยสลายลงในน้ำหลังจากที่แซลมอนตายไป อีกกรณีคือการที่นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เปลี่ยนทะเลสาบ (lake) ให้กลายเป็นห้องปฏิบัติการทดลองเพื่อศึกษาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ความสำคัญของทะเลสาบแห่งนี้คือการทำให้การแบ่งประเภทของสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงมีความชัดเจน

           น้ำในฐานะสื่อกลางจึงเป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์ที่มีความต่อเนื่อง (site of engagement) กล่าวคือ น้ำเป็นสถานที่ที่มนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้พบกับวิธีการรับรู้และการให้ความหมายที่หลากหลายว่าโลกคืออะไรและมนุษย์จะอยู่บนโลกได้อย่างไร

           สาม การศึกษาความรู้ในการจัดการน้ำ ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการน้ำอยู่ตลอดเวลา ความรู้ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในการจัดการน้ำ กลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป (normalize) อย่างไรก็ดี ความรู้มีหลากหลายและมิได้มีอิทธิพลต่อการจัดการน้ำเท่ากัน ด้วยเหตุนี้ มานุษยวิทยาด้านน้ำจึงมุ่งวิเคราะห์ให้เห็นรายละเอียดของความรู้ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ที่ครองอำนาจนำในการจัดการน้ำ สมมติฐานทางภววิทยาของความรู้ ข้อจำกัดของความรู้ และการต่อสู้ในพรมแดนของความรู้ (Zwarteveen et al., 2017; Ballestero, 2019)

           สี่ การศึกษารูปแบบการจัดการน้ำ (ownership) มานุษยวิทยาด้านน้ำสนใจศึกษาว่าใครคือผู้มีอำนาจในการจัดการน้ำ เนื่องจากน้ำมีความหลากหลายทางญาณวิทยา (epistemic multiplicity) สะท้อนให้เห็นจากการต่อสู้ในทางภววิทยาและทางอุดมการณ์ของชุมชนที่ได้รับผลผลกระทบจากการจัดการน้ำ ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการน้ำที่ชุมชนต่อต้านคือการจัดการน้ำที่รวมศูนย์อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ยกตัวอย่างเช่น การจัดการน้ำบนฐานคิดธรรมชาติแบบตะวันตก ซึ่งนำวาทกรรมการฟื้นฟูระบบนิเวศแบบสมัยใหม่มาใช้เป็นข้ออ้างและบังคับใช้รูปแบบการจัดการน้ำที่ให้อำนาจแก่กองทัพ (militarized social control) รวมถึง หากน้ำถูกมองว่าเป็นสินค้า น้ำจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในฐานะทรัพยากรที่ช่วยสร้างรัฐ ในแง่นี้น้ำจึงเป็นวัตถุดิบของชาติที่นำพาไปสู่การพัฒนาที่ทันสมัย และหากน้ำกลายเป็นสินค้าของเอกชน รูปแบบการจัดการน้ำจะตั้งอยู่บนหลักการของทุนนิยม (Ballestero, 2019)

           ด้วยเหตุนี้ มานุษยวิทยาด้านน้ำจึงมุ่งชี้ให้ถึงความแตกต่างระหว่างการจัดการน้ำโดยชุมชน โดยรัฐ และโดยภาคเอกชน เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าใครมีสิทธิและความชอบธรรมในการเข้าถึงน้ำ รวมไปถึงยังมุ่งเผยให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการจัดการน้ำที่มองว่าน้ำเป็นสินค้า กับการจัดการน้ำบนฐานคิดสิทธิมนุษยชน (human right) (Ballestero, 2019)


บทสรุป

           การศึกษาน้ำในทางมานุษยวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่าการแยกน้ำกับสังคมออกจากกันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เหตุเพราะน้ำมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมและการเมือง มานุษยวิทยาด้านน้ำจึงเผยให้เห็นว่าน้ำเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร ผ่านการตั้งโจทย์การศึกษาที่น่าสนใจ เช่น การศึกษาการเมืองของความรู้ในการจัดการรน้ำ และการศึกษาภววิทยาของน้ำ

           ด้วยเหตุดังนี้ การเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดการน้ำโดยเฉพาะในบริบทยุคโลกเดือด จึงไม่อาจแก้ไขได้ด้วยความรู้สมัยใหม่แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเปิดพื้นที่ให้องค์ความรู้อื่นมีส่วนช่วยเผยให้เห็นปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทั้งประเด็นธรรมชาติ สังคม การเมือง มนุษย์ และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์


เอกสารอ้างอิง

Ballestero, A. (2019). The anthropology of water. Annual Review of Anthropology, 48(1), 405-421.

Barnes, J., & Alatout, S. (2012). Water worlds: Introduction to the special issue of Social Studies of Science. Social studies of science, 42(4), 483-488.

DePuy, W., Weger, J., Foster, K., Bonanno, A. M., Kumar, S., Lear, K., ... & German, L. (2022). Environmental governance: Broadening ontological spaces for a more livable world. Environment and Planning E: Nature and Space, 5(2), 947-975.

Flaminio, S. (2021). Modern and nonmodern waters: Sociotechnical controversies, successful anti-dam movements and water ontologies. Water Alternatives.

Linton, J. (2014). Modern water and its discontents: a history of hydrosocial renewal. Wiley Interdisciplinary Reviews: Water, 1(1), 111-120.

Zwarteveen, M., Kemerink‐Seyoum, J. S., Kooy, M., Evers, J., Guerrero, T. A., Batubara, B., & Wesselink, A. (2017). Engaging with the politics of water governance. Wiley Interdisciplinary Reviews: Water, 4(6), 1-9.


ผู้เขียน
อาทิตย์ ภูบุญคง
นักวิจัย  ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยา น้ำ อาทิตย์ ภูบุญคง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา