โปรด(หยุด)มาทิ้งที่บ้านของฉัน ซีกโลกใต้ในฐานะที่ทิ้งขยะของซีกโลกเหนือ
แม้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัญหาที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ หากแต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่เผชิญกับปัญหาอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ในระดับปัจเจกไปจนถึงท้องถิ่น ประเทศ และสากล สินค้ามือสองจากญี่ปุ่น สินค้าราคาถูกจากผู้ผลิตจีน ตลอดจนคอนเทนเนอร์สารเคมีชื่อประหลาดที่วางทิ้งไว้อยู่ตามท่าเรือที่หาผู้รับไม่ได้ อาจกำลังบอกความเหลื่อมล้ำที่ซ้อนอยู่ภายใต้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ บทความนี้จึงนำเสนอความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา-ด้อยพัฒนา ตลอดจนระหว่างเมืองกับชนบทภายในประเทศไทย ผ่านปัญหาของการเคลื่อนย้ายขยะข้ามแดนที่ดูเหมือนว่าพื้นที่ที่ถูกมองว่าด้อยพัฒนากำลังถูกวางบทบาทให้มีสถานะเป็นผู้/พื้นที่ “รับจบ” ของขยะ สารพิษ และสิ่งปฏิกูลที่คนอื่น ๆ ในสังคมอื่น ๆ ล้วนแต่ไม่ต้องการให้มีอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง
ความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้สร้างและผู้ได้รับผลกระทบ
ประโยคที่มักได้ยินบ่อยว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาของ ‘เรา’ ทุกคน” ถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์นั้นล้วนแต่จะส่งผลกระทบกลับมาสู่มนุษย์ที่เป็นผู้สร้างผลกระทบในท้ายที่สุด การใช้คำว่าเราในการขับเคลื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้ส่วนหนึ่งจะมีข้อดีคือการสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงสนับสนุนให้กับกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม แต่การใช้คำว่า “เรา” โดยอวดอ้างความเป็นสากล อาจทำให้เกิดการมองภาพแบบเหมารวมที่ปัญหาทางสังคมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมเองยังคงมีประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำที่แต่ละคน/กลุ่มคน/สังคม/ประเทศ ได้รับผลกระทบแตกต่างหรือไม่เท่ากัน (Marco, 2021, 6-7) ข้อถกเถียงเรื่องการใช้คำว่า ‘เรา/พวกเรา’ (we/our) กับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อควรระมัดระวังในการใช้คำที่สื่อถึงการเหมารวม โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการเกี่ยวกับประเด็นด้านมนุษยสมัย (Anthropocene) ที่ในความเป็นจริงความเป็นมนุษยสมัยและปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดขึ้นหรือส่งผลกระทบต่อคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นโดยพร้อมเพรียงหรือเท่าเทียมกัน (Patchy Anthropocene) (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับหย่อมย่านของมนุษยสมัย ใน ณภัค, 2566) ด้วยเหตุนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นจะต้องถูกพูดถึงผ่านประเด็นความเหลื่อมล้ำเพื่อแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำและการขูดรีดผลประโยชน์ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นอาณานิคมขยะพิษที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นอาณานิคมในกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับโลก ระดับประเทศและท้องถิ่น
โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริกา Newell อธิบายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับประเด็นด้านชนชั้นทางเศรษฐกิจและการเหยียดกลุ่มคน อันเป็นประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์แบบอาณานิคมสมัยใหม่ (Neocolonialism) ความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือที่มีภาพรวมทางเศรษฐกิจดีกว่ากลุ่มประเทศทางซีกโลกใต้กลายเป็นแรงผลักดันปัญหาการเหยียดข้ามประเทศ (Newell, 2005, 74) กลุ่มผู้ผลิตขยะในซีกโลกเหนือพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมเฉพาะแต่ในประเทศของตนเอง ด้วยการขนส่งขยะไปยังประเทศในแถบเอเชียและแอฟริกา เนื่องจากกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือมองว่าประเทศซีกโลกใต้ล้าหลัง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่ขาดความเจริญและยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ อีกทั้งมีคุณภาพชีวิตแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังกรณีของธนาคารโลกที่สนับสนุนให้ประเทศซีกโลกเหนือขนขยะมีพิษไปกำจัดในประเทศซีกโลกใต้เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า อีกทั้งการส่งขยะมีพิษไปก็แทบไม่มีผลอะไรกับคุณภาพชีวิตที่แย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (Menon, 2018, 21-22) แม้ปัญหาขยะสารพิษดูจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับแนวคิด Capitalocene (ยุคสมัยแห่งทุน) มากกว่า แต่ Gille นำเสนอแนวคิด Sociocene ที่พัฒนามาจากกรณีศึกษาประเทศสังคมนิยมในช่วงสงครามเย็น โดยประยุกต์ใช้แนวคิด Capitalocene ของ Mooreแต่ทำให้เห็นมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มซีกโลกเหนือและใต้มากขึ้น โดยวัฒนธรรมการบริโภคและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตกที่ขยายตัวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากเกินความจำเป็น สังคมแบบทุนนิยมที่ซีกโลกเหนือโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกเชิดชูนั้นผลิตสร้างขยะหรือทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้จนเสื่อมสภาพ เนื่องจากมองว่าธรรมชาติเป็นต้นทุนราคาถูก (Cheap nature) ที่สามารถนำมาถลุงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศได้ จนทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้เพิกเฉยต่อการจัดการกับปัญหาขยะในประเทศตนเอง เพราะมีประเทศปลายทางที่รอรับขยะอยู่แล้ว การสร้างขยะจึงขัดแย้งกับวาทกรรมการพัฒนาที่บรรดาประเทศซีกโลกตะวันตกพยายามกล่าวอ้าง ในขณะที่วัฒนธรรมบริโภคก็ป้อนขยะเข้าสู่สังคมจนไม่ต่างอะไรกับการพัฒนาแบบย้อนหลัง(ไปสู่ความเสื่อมโทรม) (Gille, 2022)
ความเหลื่อมล้ำยิ่งทำให้ภาพการเหยียดทางสังคมชัดเจนขึ้น เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมขยะมักเป็นชุมชนชนบท ชุมชนยากจน ตลอดจนชุมชนที่มีความรู้หรือมีความตื่นตัวทางสิ่งแวดล้อมต่ำ จึงไม่แปลกใจนักที่การประท้วงหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมมักพบอยู่ในกลุ่มคนยากจน คนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง การศึกษาชนชั้นในทางสังคมสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการทำความเข้าใจปฏิบัติการณ์ของชนชั้นปกครองหรือชนชั้นที่มีอำนาจมากกว่าที่ผลักดันความเสี่ยงและผลกระทบไปยังคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ในขณะที่ตัวเองก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ ในขณะที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ควรจะถูกสร้างมาเพื่อปกป้องผู้ได้รับผลกระทบเองก็ถูกตราขึ้นภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและชนชั้น อีกทั้งในหลายประเทศ กฎหมายสิ่งแวดล้อมยังดำรงอยู่เพื่อรักษาสภาพความไม่เท่าเทียมด้วย กฎหมายจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาอำนาจทางชนชั้น ก่อเกิดเป็นเนติธรรม (Legal culture) หรือวัฒนธรรมกฎหมายที่นำมาใช้ควบคุมคนต่างชนชั้นอีกทีหนึ่ง (ยศ, 2537, 13)
อาณานิคมทางสารพิษ การผลักดันขยะไปยังดินแดนของผู้ด้อยกว่า
รูปแบบของการขูดรีดที่เกิดจากการผลักภาระและการรับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ยุคอาณานิคมที่ขูดรีดและกีดกันกลุ่มคนที่ต่ำกว่าตัวเองด้วยการช่วงชิงทรัพยากรไปใช้ประโยชน์เพื่อเจ้าอาณานิคม ในขณะที่คนในท้องถิ่นหรือคนที่ต่ำกว่าตัวเองต้องแบกรับภาระและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Newell, 77) ความสัมพันธ์แบบอาณานิคม มิได้เกิดขึ้นโดยการใช้กำลังทหารและการควบคุมเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังมาจากการสถาปนาความรู้ที่เหนือกว่าของเจ้าอาณานิคมด้วย (ภิญญพันธุ์, 2567, 34) โดยเฉพาะการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม และความรู้ในการจัดการกับขยะมีพิษ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีผลบังคับใช้ในสังคม(ประเทศ)ต่าง ๆ ที่ซึ่งประเทศในกลุ่มซีกโลกใต้ (Global south) กลายมาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมจากซีกโลกเหนือจากการขนย้ายขยะออกนอกประเทศเพื่อนำไปกำจัดต่อไปในประเทศปลายทางที่ไม่ใช่ประเทศตนเอง
กระบวนการเคลื่อนย้ายขยะข้ามชาติข้ามพรมแดนจึงสัมพันธ์โดยตรงกับการกำหนดเขตและพรมแดนแบบรัฐชาติที่กฎหมายถูกบังคับใช้ควบคู่กับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนที่กำหนดอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ในทางสังคมวัฒนธรรม(และเศรษฐกิจ) กระบวนการเคลื่อนย้ายขยะนอกเหนือจากประเด็นด้านอำนาจแบบอาณานิคมนั้น อาจกล่าวถึงการแปรสภาพของนิยามความหมายและคุณค่าของขยะเมื่อเดินทางไปถึงประเทศกำลังพัฒนา สำหรับในประเทศซีกโลกเหนือที่มีการตื่นตัวของประเด็นสิ่งแวดล้อมในภาคประชาชน และกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการควบคุมภายในประเทศอย่างเข้มข้นของภาครัฐทำให้ขยะกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ ในขณะที่การขนขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนาถูกแปรเปลี่ยนความหมายและคุณค่าของขยะให้ไปสู่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขยะไร้ราคาในประเทศซีกโลกเหนือแปรสภาพมาเป็นขุมทรัพย์ในซีกโลกใต้ที่รับขยะมากำจัดและทิ้งในประเทศเพื่อมุ่งเอาเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศหรือสะสมทุนตามระบบทุนนิยมในประเทศกำลังพัฒนา
เมื่อพ่วงกับข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา จึงเป็นเรื่องง่ายที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ให้ความสนใจและยินยอมรับเอาขยะเพื่อมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรับรีไซเคิลหรือกำจัดขยะที่กำจัดยากอย่างสารเคมีและกากของเสียจากอุตสาหกรรม ที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ดำเนินกิจการในซีกโลกใต้ได้ง่ายกว่าซีกโลกเหนือ จึงเป็นเหตุให้ซีกโลกใต้ถูกเลือกให้เป็นปลายทางสุดท้ายของขยะหลากหลายประเภทและรูปแบบ
แน่นอนว่าการกำจัดขยะแบบไร้ประสิทธิภาพ ความหละหลวมของการตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงาน และความรู้ความเข้าใจในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่แตกต่างกันระหว่างประเทศซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ได้สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศปลายทาง แต่ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ในลักษณะที่ผู้กำหนดนโยบายขาดความรู้และความเข้าใจในผลกระทบแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วกลุ่มคนที่อยู่หรือได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมกำจัดขยะต่างรู้ซึ้งดีถึงผลกระทบ จึงจงใจที่จะเลือกผลักดันผลกระทบไปให้คนกลุ่มอื่นนอกเหนือจากกลุ่มคนในสังคมที่ตนเองให้ความสำคัญ การขนย้ายขยะข้ามประเทศจึงเคลื่อนไปสู่ระดับต่อไปคือการพยายามเคลื่อนย้ายขยะภายในประเทศด้วยการขนไปยังพื้นที่ที่ไม่ถูกให้ความสำคัญ หรือกล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่กำลังพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาอีกทีหนึ่ง ดังเช่นนโยบายกำจัดขยะของกรุงเทพมหานครที่สัมพันธ์กับจังหวัดข้างเคียงที่เป็นที่ตั้งของบ่อฝังกลบขยะ
นโยบายการกำจัดขยะในกรุงเทพมหานครที่มีต่อขยะที่ไม่สามารถกำจัดหรือรีไซเคิลได้จะถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ แต่วิธีการกำจัดขยะของกรุงเทพฯ กลับขนย้ายขยะออกนอกพื้นที่เพื่อนำไปฝังกลบในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างนครปฐมและฉะเชิงเทรา ที่ซึ่งบ่อฝังกลบขยะของกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในชีวิตกับชุมชนโดยรอบที่บ่อฝังกลบขยะตั้งอยู่ (Rocket Media Lab, 2022) ไม่แน่ว่า การมองกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงหรือศูนย์กลางที่ชนชั้นปกครองรวมถึงผู้มีอำนาจและมีปากมีเสียงทางสังคม(รวมถึงคนเมือง) กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมีสถานะและความสำคัญที่พิเศษมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ การเบียดขับสิ่งปฏิกูลให้ออกไปจากพื้นที่พิเศษอย่างกรุงเทพฯ จึงเป็นการเมืองเชิงพื้นที่ที่ไม่ต่างอะไรกับอาณานิคมที่กรุงเทพฯ ขูดรีดเอาจากพื้นที่ต่างจังหวัด ผ่านนโยบายที่กำหนดโดยคนในสภา(ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ) ให้มีการผลักภาระผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้พ้นไปจากพื้นที่ของตนเองด้วยการอ้างคุณค่าความสำคัญอย่างการเป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางของประเทศ เมื่อมองจากเส้นทางของขยะจึงยิ่งเห็นชัดว่ากรุงเทพฯ มีความสัมพันธ์แบบอาณานิคมกับพื้นที่จังหวัดข้างเคียง (ภิญญพันธุ์, 2567, 30-32) ด้วยเหตุนี้ วาทกรรมหรือคำโปรย “กรุงเทพฯ...ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” จึงมีที่มาจากการขูดรีดทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่บ่อฝังกลบขยะในจังหวัดนครปฐมและฉะเชิงเทรา
สภาพแวดล้อมในซีกโลกใต้: แรงจูงใจสำคัญในการเป็นจุดหมายปลายทางของขยะ
ปัญหาการทุจริตรับผลประโยชน์ของรัฐ ระบบราชการที่ล้าหลัง การเอื้อประโยชน์นายทุน ความรู้และความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ การเมืองและความรุนแรงจากการใช้อำนาจในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนการถูกตีตราว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา และอีกสารพัดเหตุผลที่กลายมาเป็นแรงจูงใจในการขนย้ายขยะเข้ามายังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินควบคู่ไปกับการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำหรับในประเทศไทย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศที่ติดตามประเด็นการกำจัดขยะและสารเคมีอันตราย กล่าวถึงการเพิ่มปริมาณขยะที่ถูกนำเข้ามาภายในประเทศในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจำกัดประเภทและปริมาณที่จีนรับซื้อขยะจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ภายหลังนโยบายที่จีนปรับใช้ ส่งผลให้ขยะถูกนำเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อม ๆ กับการเข้ามาลงทุนในกิจการโรงงานกำจัดและรีไซเคิลขยะของกลุ่มทุนชาวจีนในแถบภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง (BT Beartai แบไต๋, 2024) อย่างไรก็ตาม การร้องเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อม หากชุมชนมิได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง หรือแม้แต่คุ้นชินและยอมรับสภาพความเป็นอยู่ด้วยเงื่อนไขทางสังคมบางอย่างดังที่...ระบุไว้ ที่ในประเทศจีน การมีบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเองนั้นมีความสำคัญมากกว่ารายละเอียดสภาพแวดล้อมของบ้าน อันมีที่มาจากค่านิยมภายในประเทศ อีกทั้งส่งผลให้ผู้ที่ออกมาร้องเรียนถูกประณามจากคนในสังคมว่าเป็นพวกโลภมาก เห็นแก่ตัว ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ที่อยู่มาแต่เดิม แต่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ (Lou & Tak, 2022) ตัวอย่างในกรณีของประเทศไทยอย่างบ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ที่ผู้ประกอบกิจการกำจัดขยะอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีผ่านการทำกิจกรรมบางอย่างกับชุมชนที่อยู่ติดกับพื้นที่กำจัดขยะ หรือแม้แต่ความกลัวต่อปัญหาอิทธิพลในพื้นที่ ทำให้ข้อเรียกร้องมักเกิดขึ้นในชุมชนที่อยู่ห่างหรือถัดออกไปจากรอบพื้นที่แต่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ (กัญมณฑ์ แต้มวิโรจน์, 2566)
สนธิสัญญาบาเซล ความเป็นสากลที่ไม่อาจบังคับใช้ได้จริงในประเทศ
แม้ว่าอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด จะเป็นมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ถูกบังคับใช้เพื่อป้องกันการขนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ หากแต่อนุสัญญาบาเซลเองก็ไม่ได้ช่วยลดปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอันตรายแบบผิดกฎหมาย ซ้ำปัญหาการรับสินบน ใบอนุญาตปลอม คำอธิบายสินค้าที่กำกวม หรือแม้แต่การดำเนินงานภายใต้วาทกรรมรีไซเคิลนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้น Pratt เคยวิพากษ์ถึงปัญหาและข้อจำกัดของอนุสัญญาบาเซลต่อการจัดการกับปัญหาอาณานิคมขยะพิษและการจัดการกับขยะข้ามแดนในระดับโลก ประเทศผู้ส่งออกขยะอาศัยช่องโหว่ทางการนิยามที่หละหลวมในการระบุสินค้าเพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย ตลอดจนอนุสัญญาไม่ได้จำแนกความแตกต่างระหว่างขยะกับผลิตภัณฑ์ ทำให้หลายบริษัททำการฟอกขยะ (waste-washing) โดยระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกหรือเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับนำไปรีไซเคิลแทน ตลอดจนปัญหาความเป็นสากลของการนำอนุสัญญาบาเซลไปปรับใช้ในแต่ละประเทศ ที่แต่ละประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้มีการนิยามสารเคมีอันตรายที่แตกต่างกันตามไปด้วย ซ้ำร้ายในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ อุตสาหกรรมกำจัดและรีไซเคิลขยะมีความหมายในลักษณะที่เป็นมิตรหรือเป็นไปเพื่อสิ่งแวดล้อมเสียด้วยซ้ำ (Pratt, 2011, 607-610) ภายใต้รัฐบาลที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มทุน และบรรดากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อาจมีความสัมพันธ์ทางผลประโยชน์แบบลับ ๆ กับอุตสาหกรรมโรงงานกำจัดขยะ ทำให้การดำเนินการทางกฎหมายกับคนกลุ่มนี้เป็นไปอย่างยากลำบากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังที่เพ็ญโฉมระบุว่าประเทศไทยแทบไม่สามารถนำตัวอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ก่อมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมจนส่งผลกระทบต่อคนในสังคมมาลงโทษได้เลยแม้แต่คดีเดียว
อ้างอิง
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2567). ต่างจังหวัดในแดนไทย: การควบคุมพื้นที่ ความรู้ และความทรงจำนอกกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ณภัค เสรีรักษ์. (2566). ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร (องค์การมหาชน).
Armiero, M. (2021). Wasteocene: Stories from the global dump. Cambridge University Press.
Newell, P. (2005). Race, class and the global politics of environmental inequality. Global environmental politics, 5(3), 70-94.
Menon, J. (2018). Toxic colonialism and the gesture of generosity. Performance Research, 23(6), 20-24.
ยศ สันตสมบัติ. (2537). มนุษย์กับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
BT Beartai แบไต๋. (2024, 24 มิถุนายน). นำเข้าขยะ มารีไซเคิล ผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มกับปัญหากองเท่าภูเขาที่เราแทบไม่รู้เรื่อง! [video]. Facebook. https://www.facebook.com/beartai/videos/737715391686251.
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์. (2023, 23 ตุลาคม). ปัจจุบันที่พูดไม่ได้ อนาคตที่ต้องย้ายหนี. Decode. https://decode.plus/20231017-basecamp1/.
Laura A. Pratt. (2011). Decreasing Dirty Dumping? A Reevaluation of Toxic Waste Colonialism and the Global Management of Transboundary Hazardous Waste. 35 Wm. & Mary Envtl L. & Pol'y Rev, 35, 581-623. https://scholarship.law.wm.edu/wmelpr/vol35/iss2/5.
Lou, L. I. T. (2022). The art of unnoticing: Risk perception and contrived ignorance in China. American Ethnologist, 49(4), 580-594.
กัญมณฑ์ แต้มวิโรจน์. (2566, 18 ธันวาคม). ภูเขาขยะแพรกษาใหม่ ปัญหาในลมหายใจ ที่คนอยู่ใกล้ไม่มีใครอยากพูดถึง. Thairath Plus. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104036.
Rocket Media Lab. (2022, 21 เมษายน). ขยะของคน กทม. ที่ถูกนำไปทิ้งที่บ้านคนอื่น. https://rocketmedialab.co/bkk-waste/.
Gille, Z. (2022). The Socialocene: From Capitalocene to transnational waste regimes. Antipode.
ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ซีกโลกใต้ ขยะ ซีกโลกเหนือ ธนพล เลิศเกียรติดำรง