สรุปการสัมมนาวิชาการ รื้อทวนชวนคิด ท้องถิ่นศึกษา (Rethinking Locality Studies)

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 40

สรุปการสัมมนาวิชาการ รื้อทวนชวนคิด ท้องถิ่นศึกษา (Rethinking Locality Studies)

ท้องถิ่นอีสาน: ศิลปะแห่งการ (ไม่) ถูกปกครอง

โดย ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ

ผู้สรุป อาทิตย์ ภูบุญคง


บทนำ

           การศึกษาท้องถิ่นมีมาอย่างยาวนาน ท้องถิ่นศึกษายังมีความหมายหรือไม่ เรายังศึกษาประเด็นใดได้อีก และเราจะศึกษาท้องถิ่นอย่างไรภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลง

           จากการเลือกตั้งนายก อบจ. ของจังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านมาผลปรากฎว่าผู้ชนะคือคนเดิม จึงเกิดวิวาทะที่ว่าผลการเลือกตั้งเช่นนี้เกิดจากการซื้อเสียงหรือไม่ การศึกษาครั้งนี้จึงได้ไปสัมภาษณ์กับนักการเมือง ผู้สมัคร หัวคะแนน และชาวบ้าน ดังนั้น การนำเสนอครั้งนี้จึงมุ่งศึกษาการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของคนท้องถิ่นกับมิติอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการสะท้อนย้อนคิดท้องถิ่นศึกษาอีกครั้ง

           คำว่า “ท้องถิ่น” มิได้ดำรงอยู่ในตัวมันเอง หากแต่สัมพันธ์กับสิ่งอื่น เช่น ส่วนกลาง และอำนาจในรูปแบบต่าง ๆ การนำเสนอให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับอำนาจมิติอื่น ๆ จึงจำเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาการเลือกตั้งของคนท้องถิ่นที่ผ่านมา ได้อธิบายผ่านพฤติกรรมการเลือกตั้ง เช่น ชาวบ้านถูกซื้อเสียง โดยมิได้วิเคราะห์ให้เห็นปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในแง่นี้เราจึงไม่ได้เข้าใจการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างครอบคลุมมากนัก การหันกลับมาทบทวนการเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านมุมมองใหม่จึงมีความสำคัญ

           กล่าวคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ใหญ่กว่าท้องถิ่น ดังที่สะท้อนให้เห็นจากนิทานว่าด้วยปริศนาเครื่องบินตกเพราะมรดกทางวัฒนธรรมเกาหลี โดยเหตุการณ์เครื่องบินตกที่เกาหลีที่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมใหม่กับท้องถิ่น (marketization of risk and safety) แนวคิดเสรีนิยมใหม่ไม่เพียงปรากฏให้เห็นผ่านการแปรรูปมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ยังทำลายกำแพงนโยบายควบคุมของรัฐ และส่งผลให้บริษัทเอกชนต้องปรับตัว ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งอดีตเครื่องบินโบอิ้ง วิศวกรมีความสำคัญกว่าผู้บริหาร แต่ในยุคเสรีนิยมใหม่ ผู้บริหารสำคัญกว่าวิศวกร ทำให้การควบคุมเครื่องบินผิดพลาด และเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกในเกาหลี

           นอกจากนี้ ปัจจัยทางวัฒนธรรมยังส่งผลต่ออุบัติเหตุเครื่องบินตก เนื่องจากในเกาหลีกัปตันจะมีสถานะสูงกว่าผู้ช่วยนักบิน เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ช่วยนักบินไม่กล้าพูดตรง ๆ ต่อกัปตัน จนก่อให้เกิดเหตุการณ์เครื่องบินตก จึงกล่าวได้ว่าปัจจัยทางวัฒนธรรมมิได้แยกขาดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

           จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์เครื่องบินตกมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น เสรีนิยมใหม่และท้องถิ่น ดังนั้น จึงอยากนำกรอบคำเสรีนิยมใหม่มาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจหรือรื้อทวนความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น


ปริศนาการเลือกตั้งและการซื้อเสียง: เสรีนิยมใหม่และมรดกวัฒนธรรมอีสาน

           การเลือกตั้งท้องถิ่นได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเงิน การอธิบายการเลือกตั้งของชาวบ้านจึงไม่อาจเข้าใจผ่านคำอธิบายที่ว่าพวกเขามีจิตสำนึกทางการเมืองมากน้อยแค่ไหนและชาวบ้านเป็นพวกไร้อุดมการณ์แบบชนชั้นกลางในเมือง

           เนื่องจากในการเลือกตั้ง ชาวบ้านมีแรงปรารถนาที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เพื่อทำให้อนาคตข้างหน้าดีขึ้น ดังที่ Deleuze และ Guattari ชี้ว่าชาวบ้านมีแรงปรารถนาด้านบวกในการสร้างชีวิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาของชาวบ้านได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ได้แก่ การควบคุมจากผู้มีอำนาจ (state apparatus) และการที่รัฐไทยปรับตัวเข้าสู่เสรีนิยมใหม่ผ่านการแปรรูปโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณะให้กลายเป็นสินค้า ผลที่ตามมาคือแม้ว่าดัชนีความมั่นคงจะสะท้อนถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนอีสาน แต่ทว่าก็ยังไม่เท่าคนที่อยู่ระดับบนของสังคม

           อีสานจึงไม่พัฒนาเนื่องจากทุนนิยมกาฝากและการขูดรีดชาวบ้านจนเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำจวบจนวันนี้ ดังนั้น ทุนนิยมกาฝากจึงมีความเกี่ยวข้องกับการซื้อเสียง เพราะมันได้ทำให้วัฒนธรรมซื้อเสียงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย หากมองเช่นนี้จะพบว่าชาวบ้านไม่ได้ถูกซื้อเสียง หากแต่พวกเขามีความปรารถนาที่สัมพันธ์กับการควบคุมโดยรัฐ

           นอกจากนี้ เรายังสามารถมองการเลือกตั้งและการซื้อเสียงผ่านมรดกวัฒนธรรมอีสาน กล่าวคือ การศึกษาทางมานุษยวิทยา ชี้ว่าการโทษชาวบ้านว่าตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์มาตั้งแต่อดีต เป็นเพียงการกลบเกลื่อนการสนับสนุนเผด็จการและนักธุรกิจการเมืองของชนชั้นกลาง รวมถึงทำให้เรามองข้ามประเด็นที่ว่า “ระบบราชการที่ฉ้อฉลต่างหากที่สร้างเจ้าพ่อและการซื้อเสียงขึ้นมา” ไม่เพียงเท่านั้น การซื้อเสียงเป็นเพียงของกำนัลที่หวังผลระยะยาว มิใช่แค่เพียงจ่ายครบจบแน่

           ฉะนั้นแล้ว เราจึงไม่สามารถอธิบายการซื้อเสียงว่าเกิดจากระบบอุปถัมภ์ เนื่องจากเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ยืดหยุ่นดังคำกล่าวอีสานที่ว่า “คันแม่นได่ขี่ช้าง กั้งฮ่มเป็นพญา อย่าสิลืมชาวนา ผู้ขี่หลังควายคอนกล้า” ในแง่นี้ นักการเมืองไม่ได้วางบทบาทเป็นผู้เหนือกว่า หากแต่ยังมีความสัมพันธ์แนวนอนด้วย เช่น นอกจากเป็นผู้อุปถัมภ์ ในเวลาเดียวกัน นักการเมืองก็เป็นผู้รับใช้ประชาชน และต้องทำตัวให้เป็นคนพวกเดียวกันกับประชาชน ยกตัวอย่างเช่น นักการเมืองบางคนไม่ซื้อเสียง ทำให้ไม่ได้เป็นนักการเมือง อย่างน้อยก็ให้เงินบ้างเล็กน้อย เพราะการซื้อเสียงสะท้อนว่าคุณคือคนที่อยู่ในวัฏจักรการเมืองและสัญลักษณ์ที่พร้อมรับใช้ชาวบ้าน

           นอกจากนั้น การซื้อเสียงที่ผ่านมาถูกเข้าใจผ่านมุมมองธนกิจการเมือง อย่างไรก็ตาม การซื้อเสียงอาจเป็นเรื่องของมรดกวัฒนธรรมอีสาน เช่น “ปลาแลกข้าว” เพราะหากเราเห็นว่าเป็นการซื้อเสียง ทำให้เราเห็นภาพว่ามีคนขายและคนถูกซื้อซึ่งเป็นคำที่โทษชาวบ้านได้ง่าย จึงอยากชวนคิดด้านตรงข้ามคือ การซื้อเสียงอาจเป็นการเอาเงินไปฝากให้กับชาวบ้านโดยเป็นของกำนัล หรือ “ของฝากแลกคะแนน” ซึ่งอาศัยตัวกลางหรือหัวคะแนน

           อีกทั้งการซื้อเสียงเป็นภาพสะท้อนความความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ยืดหยุ่น การปรับตัวที่เกิดขึ้นจากพลวัต การสร้างสรรค์ และการต่อรองระหว่างผู้รับเลือกตั้ง คู่แข่ง ผู้ลงคะแนน หัวคะแนน ระบบการเลือกตั้ง กฎหมาย พรรคการเมือง และการถือครองอำนาจรัฐ

           มากไปกว่านั้น ในท้องถิ่นยังมีโครงข่ายอำนาจเชิงซ้อนและซ่อนเงื่อนที่เรียกว่า “ท้องถิ่นพันลึก” ซึ่งหมายถึง โครงข่ายอำนาจเชิงซ้อนในท้องถิ่นที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยอำนาจถูกใช้ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว ระบบจารีตประเพณี ความเป็นเครือญาติ บางครั้งมีการใช้ความรุนแรงในการควบคุม

           ด้วยเหตุดังนี้ การศึกษาการเลือกตั้งจึงไม่สามารถอธิบายผ่านแนวคิดขั้วตรงข้ามระหว่างกระแสและกระสุน แต่ยังมีเรื่องความกระตือรือร้น (active) ที่ต้องเข้าถึงประชาชน อีกทั้งในการซื้อเสียงมีระบบบ้านใหญ่ซึ่งคล้ายระบบกินเมืองที่ดูแลฐานคะแนนเสียงและท้องถิ่น ระบบบ้านใหญ่ทำให้การดำรงอยู่แบบนี้ยังมี บ้านใหญ่หมายถึง เจ้าพ่อ เจ้าสัว และเจ้ามือซึ่งเป็นทุนท้องถิ่นสีเทา (การพนัน หรือธุรกิจมืด) นอกจากนี้ท้องถิ่นยังได้ถูกปกครองชีวญาณและบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้นำไม่เป็นทางการ เช่น ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำประเพณีในฐานะหัวคะแนนภายใต้ท้องถิ่นพันลึก

           ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา หากเราอธิบายผ่านภาพถ่ายของ NASA ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยไข่ดาวกับการเลือกตั้งในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งปี 2566 ก้าวไกลชนะหลายพื้นที่ โดยในภาคอีสานพบว่า ก้าวไกลชนะในจังหวัดที่มีความเจริญ เช่น อุดรธานี นครราชสีมา และมุกดาหาร ปัจจัยของชัยชนะมาจากความกระตือรือร้นของผู้สมัคร และยังสัมพันธ์กับสำนึกทางการเมืองของชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย

           ดังนั้น การเลือกตั้งของคนชนบทจึงไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดสองนคราประชาธิปไตยที่มองว่าคนชนบทถูกครอบงำ ถูกหลอก และเป็นเหยื่อของระบบอุปถัมภ์ หากแต่การเลือกตั้งชนบทเป็นภาพสะท้อนแนวคิดสองนครประชาธิปไตยใหม่ ที่คนชนบทต้องการพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์และทำงานได้ในมิติของนโยบายและอุดมการณ์ ผู้แทนที่คนชนบทต้องการคือเข้าถึงง่ายและทำหน้าที่อุดช่องโหว่การรวมศูนย์ของรัฐทั้งในเชิงงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ


มองไปข้างหลัง เพื่อก้าวไปข้างหน้า

           เราไม่ต้องการอธิบายการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าใครแพ้ใครชนะ และชาวบ้านมีพฤติกรรมแบบไหน หากแต่เรายังมีการทำความเข้าใจอีสานผ่านมิติอื่น ๆ ดังนี้

           อีสานใหม่มีจริงไหมหรืออยู่ภายใต้พลวัตของอำนาจท้องถิ่นหรือคำว่าพลเมืองแบบใหม่ที่ไม่ใช่ชาวบ้านแบบเดิมเพราะพวกเขาเลือกตั้งแบบมีเหตุผล นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนจากอเมริกาที่มีการซื้อเสียงมาก่อนหรือมีเรื่องวัฒนธรรม การเติบโตของเมืองจะทำให้การเลือกตั้งดีขึ้นไหม หากเราพัฒนาชนบทให้เท่ากับเมืองจะทำให้การซื้อเสียงหายไปหรือไม่ การหยุดทำรัฐประหารจะทำให้การซื้อเสียงลดลงเพราะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมไปถึงการแก้ปัญหาท้องถิ่นสีเทาเพื่อไม่ให้เกิดการซื้อเสียง และสุดท้ายการซื้อเสียงจะลดลงก็เนื่องมาจากการกระจายอำนาจ

           กล่าวโดยสรุป การนำเสนอนี้สนใจการอธิบายท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการชี้ให้เห็นว่าท้องถิ่นถูกปกครองจากอำนาจใดบ้าง เช่น ทุนนิยมกาฝาก ท้องถิ่นพันลึก และมีความพยายามควบคุมผ่านการเมืองในชีวิตประจำวันทั้งในแง่ของจิตใจและการทำผ่านผู้นำชุมชน ดังนั้น การศึกษาท้องถิ่นจึงซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าที่คิด


Gender ในท้องถิ่นศึกษา: การทบทวนเชิงสังเกตุ

โดย ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ

ผู้สรุป วิมล โคตรทุมมี
 

บทนำ

           ย้อนกลับไปเกือบศตวรรษที่ผ่านมา ท้องถิ่นศึกษามีลักษณะเป็นอย่างไร มิติเรื่องเพศภาวะ (gender) ในสังคมไทยเดินทางเป็นอย่างไร และเชื่อมโยงกับงานท้องถิ่นศึกษาหรือไม่อย่างไร คำถามเหล่านี้เป็นที่มาของงานชิ้นนี้

           ความหมายของท้องถิ่นศึกษา (local studies) ในงานชิ้นนี้ยึดจากประเด็นการศึกษาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ แนวทางนี้โดยมากเกิดขึ้นจากกลุ่มอาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงสังคมท้องถิ่นภาคเหนือคาบเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบของเศรษฐกิจแบบทุน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมชนบท หรือประเด็นอำนาจรัฐและระบบทุนที่เข้ามายึดเอาทรัพยากรต่าง ๆ ท้องถิ่นศึกษาจึงมีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นผ่านมิติความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติอันได้แก่ ดิน น้ำ ป่า ภูเขา และขอบเขตการศึกษาท้องถิ่นแนวนี้จะใช้เป็นขอบเขตความหมาย 'ท้องถิ่นศึกษา' ในงานชิ้นนี้ด้วย


พ.ศ. 2482 - 2505 กำเนิดท้องถิ่นศึกษา แต่ยังไม่มีการศึกษาเรื่องเพศ

           นับตั้งแต่มีงานการศึกษาชุมชนชาวลัวะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย ม.จ. สนิท รังสิต (2482) หรืองานของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2498) ที่ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ท้องถิ่นศึกษาในยุคแรกมีความเข้มข้นในการศึกษาท้องถิ่นนิยม และเน้นศึกษาภูมิศาสตร์สังคมและทรัพยากรท้องถิ่น ในยุคนี้จึงยังไม่มีความนิยมการศึกษาเรื่องเพศแต่อย่างใด


หลัง พ.ศ. 2506-2533 เมื่อท้องถิ่นศึกษาเริ่มสนใจเรื่องเพศ เชื่อมโยงสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง

           ช่วงปี 2506 มีงานของ Lucien and Jane Hank ที่ศึกษาความเท่าเทียมความสัมพันธ์ชายหญิงในไทย งานเขียนนี้น่าจะสัมพันธ์กับกระแสการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศระดับโลกหรือปรากฏการณ์ 'สตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง' ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวสืบเนื่องจากการตระหนักถึงการกดขี่ผู้หญิง การที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิการถือครองทรัพย์สินและสิทธิการเลือกตั้ง สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองเป็นการมองปัญหาของสตรีภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่เป็นสิ่งสากลที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงมีการเรียกร้องต่อประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในทุกรูปแบบ

           อิทธิพลของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองยังมีผลต่อการเกิดขึ้นของนักวิชาการสายสตรีนิยมในไทย และเป็นผลต่องานศึกษาท้องถิ่นไทยตลอดช่วง พ.ศ. 2518-2533 เช่น งานของ Khin Thitsa (2523) งานของ Marjorie Muecke (2527) และงานของ Warunee Purisinsit (2529) งานท้องถิ่นศึกษาแนวสตรีนิยมช่วงนี้สนใจศึกษาพื้นถิ่นท้องที่คาบเกี่ยวสู่การวิเคราะห์มิติเรื่องเพศและความเท่าเทียมทางเพศ แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่ามีแต่นักวิชาการหญิงเท่านั้นที่สนใจประเด็นนี้

           ภาพรวมพลวัตงานท้องถิ่นศึกษาและเพศภาวะในยุคแรกเริ่ม งานท้องถิ่นศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาการปกครอง การใช้ชีวิตประจำวัน ความเชื่อ ศาสนา บรรทัดฐานทางสังคม การไหลเข้ามาของทุน เทคโนโลยี สภาพอากาศ ยังไม่ได้ใส่ใจในการศึกษาแนวสตรีนิยม ประเด็นสตรีนิยมเริ่มปรากฏอย่างสัมพันธ์กับกระแสการเปลี่ยนแปลงสตรีโลก นักวิชาการไทยที่ศึกษาประเด็นเฟมินิสต์ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองทั้งทางการใช้ชีวิตและทางวิชาการ


หลัง 1990s (ช่วง พ.ศ. 2533) ท้องถิ่นศึกษาไปไม่ถึงสตรีนิยมสู่คลื่นลูกที่สาม?

           มุมมองเฟมินิสต์พัฒนาเรื่อยมาจนเข้าสู่กระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่สาม ประเด็นความเป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากระบบชายเป็นใหญ่ทั่วโลกแบบสากลถูกท้าทาย แนวคิดเรื่องเพศในความจำเพาะแต่ละวัฒนธรรมเริ่มมีบทบาทในการทำความเข้าใจสตรีแนวใหม่มากขึ้น ผู้หญิงทั่วโลกไม่ได้ถูกครอบงำจากความเป็นชายเหมือนผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลาง มุมมองความเป็นหญิงมีความเป็น non-binary มากขึ้น และปรากฏแนวคิดใหม่ เช่น Queerเป็นต้น

           ประเด็น Queer เป็นที่สนใจของแวดวงวิชาการไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เช่นงานของ มัทนา เชตมี (2539) Peter Jackson and Nerida Cook (1999 (2542)) แต่งานเรื่องเพศของไทยก็ไม่ได้ผูกกับมิติท้องถิ่นศึกษา และสำหรับงานท้องถิ่นศึกษาเรื่องเพศก็ยังไม่ได้รับความสนใจเฉกเช่นเหมือนช่วงที่ผ่านมา หรือถ้าสนใจประเด็นสตรีศึกษาก็เป็นมุมมองสตรีศึกษาแบบคลื่นลูกที่สอง กล่าวคือ มองเรื่อง LGBT เป็นแบบ binary หรือเรื่องเพศสภาพก็ยังสนใจอยู่ในมิติความเท่าเทียมทางเพศเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่ในบริบทสังคมเป็นบริบทสตรีนิยมคลื่นลูกที่สามแล้ว

           สรุป 2557-2567 ทิศทางการศึกษาเรื่องเพศในท้องถิ่นศึกษาควรให้ความสนใจประเด็นเพศภาวะ (gender) มากขึ้น และงานศึกษาเรื่องเพศสภาพก็ควรเป็นการศึกษาในลักษณะ non-binary เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทกระแสประเด็นสตรีคลื่นลูกล่าสุดด้วย


เอกสารอ่านเพิ่มเติม

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2498). ไทยสิบสองปันนา. กรุงเทพฯ: ศยาม.

มัทนา เชตมี. (2539). วิถีชีวิตและชีวิตครอบครัวของหญิงรักหญิง. (ม.ป.ท.): มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อานันท์ กาญจนพันธ์ (บ.ก.). (2558). กำกึ๊ดกำปาก: งานวิจัยวัฒนธรรมภาคเหนือ. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Lucien and Jane Hanks. (1963). Thailand : Equality between the Sexes. Thailand : Equality between the Sexes.   https://db.sac.or.th/anthroarchives/en/item_det.php?i_id=8812

Jackson, P. and Cook, N. (2000). Genders and Sexualities in Modern Thailand. Bangkok: Silkworm Books.

Jackson, P. and Duangwises, N. (2020). Review of Studies of Gender and Sexual Diversity in Thailand in Thai and International Academic Publications. https://icts13.chiangmai.cmu.ac.th/download_pub.php?ct=cNP4XSIICpdgWn4yUF0=&.Thitsa, Khin. (1980). Providence and Prostitution: Image and Reality for Women in Buddhist Thailand. Change International Reports.

Rangsit, S. (1939). “Monument Forms and Sacrificial Sites of the Lawa”, Zeitschrift fur Ethnologie,71: 163-174.


บทเรียนนอกตำรา: ย้อนพินิจชุมชนและการทำงานของนักมานุษยวิทยา

โดย ผศ.ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ

ผู้สรุป ปิยนันท์ จินา
 

           ชุมชนเป็นทั้งพื้นที่ทางกายภาพและกรอบทางความคิดสำคัญสำหรับสาขาวิชามานุษยวิทยาที่เน้นการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมนับตั้งแต่ยุคบุกเบิกในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ทว่าบริบทโลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมากแล้ว ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ด้วยพลังของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและแพร่หลาย พลังทางเศรษฐกิจของบรรษัทข้ามชาติและพลังทางการเมืองของรัฐและตัวแสดงอื่น ๆ ได้แผ่ขยายเข้าไปในชุมชน สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสมควรตั้งถามก็คือ ชุมชนยังเป็นแบบเดิมหรือไม่ หรือเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด อย่างไร หาก ‘ท้องถิ่น’ ที่เราศึกษาเปลี่ยนไปแล้ว วิธีการที่เราศึกษาท้องถิ่นแบบเดิมยังใช้การได้หรือไม่ หรือสมควรปรับให้เข้ากับยุคสมัย

           ฐานิดา บุญวรรโณ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามตอบคำถามเหล่านี้ผ่านงานวิจัยที่ผสมผสานการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและงานบริการวิชาการเพื่อสังคม ในภาคสนามสองพื้นที่ ได้แก่ ชุมชนเกาะกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และชุมชนบ้านคุยยาง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

           ในปีแรกของโครงการวิจัย ฐานิดาสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นฐานของชุมชน อาทิ ผังตระกูล กลุ่ม/ก๊ก ปฏิทินการประกอบอาชีพหลัก/อาชีพเสริม ที่มีทั้งเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย รวมถึงปฏิทินวัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงบ่งบอกความเชื่อและความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคม แต่ยังช่วยให้เห็นมิติทางวัฒนธรรมประเด็นต่าง ๆ ที่อาจใช้พัฒนาศักยภาพของชุมชนด้วย ผู้ให้ข้อมูลเริ่มจากแกนนำหรือตัวแทนชุมชนแล้วขยายไปยังสมาชิกในชุมชนคนอื่น ๆ ในปีที่สองจึงเป็นการนำข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้จากชุมชนมาจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะของชุมชนเอง ตัวอย่างเช่น ตลาดนัดชุมชนเกาะกงที่จัดทุกวันเสาร์ต้นเดือน แต่ตัวแทนชาวบ้านแนะนำว่า ชาวบ้านอาจไม่สนใจงานนิทรรศการที่จัดแสดงความรู้แบบแห้ง ๆ หรือมีความเป็นวิชาการเกินไป ต้องจัดกิจกรรมรื่นเริงอื่น ๆ ที่ชาวบ้านเข้าร่วมได้ จึงเสนอให้จัดประกวดหนูน้อยเกาะกง เนื่องจากการมีเวทีให้กับเด็กจะดึงสมาชิกรุ่นอื่นในชุมชน ทั้งผู้ปกครองและเครือญาติในครอบครัวขยาย เข้าร่วมงาน

           การจัดงานครั้งนี้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ตั้งแต่กระบวนการวางแผน การตัดสินใจ การประสานงานกับคนและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น วัดให้ใช้ไฟฟ้าและหลอดไฟ องค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) ช่วยอำนวยความสะดวก วัฒนธรรมจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดช่วยประชาสัมพันธ์ รวมถึงภาคเอกชนอย่างผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งเป็นสปอนเซอร์จัดงาน นักข่าวท้องถิ่นที่ช่วยจัดหาภาพเก่า ๆ ของชุมชน ในวันงานจึงเป็นไปได้อย่างราบรื่น กล่องนิทรรศการและป้าย backdrop ของโครงการวิจัยจึงตั้งจัดแสดงควบคู่ไปกับเวทีประกวดของเด็ก ๆ มีเครือญาตินั่งเชียร์บนเก้าอี้ที่สนับสนุนจากหน่วยงาน อปท. และทุนจากผู้ประกอบการ รายล้อมด้วยรถขายลูกชิ้น ไอติม น้ำอัดลม หรือของกินในท้องถิ่น ภายใต้แสงไฟฟ้าที่เอื้ออำนวยจากวัด

           หลังทำงานภาคสนามต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี และทำงานร่วมกับชาวบ้านในหลายระดับ ฐานิดาเห็นว่าความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในชุมชนมีหลากหลายรูปแบบ ซับซ้อน และมีความเป็นการเมือง ไม่เรียบง่ายเหมือนภาพจำในตำรามานุษยวิทยา

           บทเรียนนอกตำราบทแรกคือ ชุมชนมีความเป็นพลวัต ไม่ใช่แช่แข็งแน่นิ่ง ชาวบ้านเป็นตัวแสดง (actor) สำคัญในชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังเป็นตัวแสดงที่กระตือรือร้นอย่างแข็งขัน (active) ไม่ได้เฉื่อยชาหรือเชื่องเชื่อ (passive) แต่ที่ผ่านมา ไม่มีโครงการพัฒนาที่เปิดโอกาสและพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ได้ลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนในระยะยาว มีเพียงนโยบายที่สั่งการจากข้างบนลงล่าง (top-down) และโครงการระยะสั้น หมดปีงบประมาณก็เลิกแล้วต่อกัน อย่างไรก็ดี ฐานิดาเห็นว่า การทำงานเชิงพัฒนาร่วมกับชุมชน ที่สุดท้ายแล้วชุมชนจะได้ประโยชน์ในรูปของรายได้ ชื่อเสียง หรือทุนทางสังคม ดึงเราเข้าไปอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากชาวบ้านในชุมชนเองหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ยื่นมือเข้ามา ตัวอย่างเช่นบ้านเกาะกงที่แม้จะเป็นเกาะกลางน้ำขนาดเล็ก แต่มีถึง 3 หมู่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน 3 คน) ที่อยู่ในสังกัดทั้งเทศบาลตำบลและ อบต.

           บทเรียนประการต่อมา นักมานุษยวิทยาจึงต้องระมัดระวังการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์เชิงซ้อน การต่อรอง และการจัดวางความสัมพันธ์กับฝักฝ่ายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม นักมานุษวิทยาต้องรักษาพื้นที่และท่าทีของการเป็น ‘คนนอก’ ที่ไม่เอียงฝั่งใดฝั่งหนึ่งเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังเสียงของ ‘คนใน’ ที่มีหลายกลุ่ม ทั้งชาวบ้านทั่วไป นักการเมืองท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ไปจนถึงการเมืองระดับชาติ ดังสะท้อนในการจัดนิทรรศการในปีที่สามของโครงการวิจัยที่มีสเกลใหญ่ขึ้น เพราะถูกจัดให้เป็นเทศบัญญัติเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่เข้าร่วมมีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้นเช่นกัน

           ฐานิดาสรุปบทเรียนอีกประการว่า การทำงานภาคสนามในพื้นที่ที่มีลำดับชั้นสูง และมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจซับซ้อน ผู้วิจัยต้องระมัดระวังเรื่องการสื่อสารและการติดต่อประสานงาน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารมักลื่นไหลและไหลลื่น จนบางครั้งข่าวทั่วไปอาจกลายเป็นข่าวสำคัญ ข่าวสำคัญอาจกลายเป็นไม่สำคัญ และที่สำคัญก็คือข่าวลือ ซึ่งทรงพลังมากและเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของชุมชน นักมานุษยวิทยาจึงต้องคำนึงถึงตัวแสดงที่หลากหลาย ซับซ้อนและทับซ้อนเหล่านี้ด้วย

           อีกบทเรียนสำคัญคือความเป็นเครือญาติมิได้บ่งบอกถึงความสมานฉันท์ เป็นปึกแผ่น (solidarity) และศักยภาพในการทำงานแบบรวมกลุ่ม (collective action) เสมอไป บางทีเครือญาติอาจขัดแย้งกันด้วยเรื่องผลประโยชน์ เรื่องการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เท่าเทียม หรือบางทีก็อาจมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน เป็นคะแนนเสียงให้คนละพรรค อีกทั้งภาพชุมชนที่เป็นเนื้อเดียว ร่วมแรงกันทำงาน ก็ไม่ตรงกับข้อมูลภาคสนามที่ฐานิดานำเสนอ ไม่ใช่สมาชิกทุกคนที่พร้อมเข้าร่วมในกิจกรรมของชุมชน แต่ละคนคิดถึงค่าเสียโอกาส (opportunity cost) และวัตถุประสงค์ของกิจกรรมต่างกัน รวมถึงยังมีเรื่องของความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ (trustworthiness)

           นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเผยให้เห็นอำนาจรูปแบบต่าง ๆ เช่น บทบาทของปราชญ์ชุมชนและพระสงฆ์ในฐานะผู้นำทางความคิด ศูนย์รวมจิตใจ และแหล่งกระจายข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ บทบาทของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจแบบจารีตกับอำนาจสมัยใหม่ (ซึ่งสะท้อนผ่านคำถามว่า ระหว่างพระกับนายก อบต. ชาวบ้านเชื่อใครมากกว่า?) ฐานิดายังเสนอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์ก็มีบทบาทในชุมชนด้วย อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อระดับน้ำจนทำให้คนบางส่วนอาศัยบนเกาะกงไม่ได้ ต้องย้ายขึ้นฝั่ง หรือความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำถิ่น เช่น ศาล เจ้าพ่อ เจ้าแม่ โดยเฉพาะพืชอย่างต้นสะตือ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน นักมานุษยวิทยาก็ต้องระลึกและอาจนับรวมสิ่งเหล่านี้ไว้ในการศึกษาชุมชนด้วย

           กล่าวได้ว่า ฐานิดาชวนนักมานุษยวิทยาย้อนพินิจสิ่งที่เรียกว่า ‘ชุมชน’ และแนวทางที่นักมานุษยวิทยาใช้ในการศึกษาชุมชนเอง และเสนอว่า งานพัฒนาศักยภาพชุมชนต้องพิจารณาตัวแสดงที่สลับซับซ้อนและมีปฏิสัมพันธ์กันในเครือข่ายอำนาจที่มีพลวัต แต่ละชุมชนอาจมีทุนวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ แต่ลำพังชาวบ้านในชุมชนอาจมีพลังไม่มากพอ แต่การดึงพลังจากภายนอก โดยเฉพาะจากรัฐและทุน มาช่วยยกระดับศักยภาพ ก็หนีไม่พ้นความเป็นการเมืองที่เกี่ยวโยงกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก นักมานุษยวิทยาที่ทำงานพัฒนาชุมชนจึงต้องระมัดระวังและปรับสมดุลความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้อยู่ตลอดเวลา


วงศาวิทยาของการศึกษาชุมชน

โดย รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง

ผู้สรุป ปิยนันท์ จินา


           ในงานสัมมนาวิชาการ “รื้อทวนชวนคิด ท้องถิ่นศึกษา” เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายพัฒนาการของแนวคิดเรื่องชุมชน (community) ซึ่งเป็นกรอบคิดสำคัญของการศึกษาทางสังคมศาสตร์ และจำแนกนักวิชาการที่ศึกษาชุมชนออกเป็นกลุ่ม ดังนี้

           นักวิชาการกลุ่มแรกอธิบายว่า ชุมชนหมายถึงกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมหรือสัญลักษณ์ร่วมกัน การศึกษาแนวทางนี้ได้รับอิทธิพลจากนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยารุ่นแรก ๆ ในศตวรรษที่ 19 ที่ศึกษาสังคมดั้งเดิม (traditional)ก่อนสมัยใหม่ที่ยังมีระบบการผลิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ทำนา หรือทำการประมง ตัวอย่างเช่นเอมิล เดอร์ไคม์ (1858-1917) และงานชิ้นสำคัญอย่าง The Elementary Forms of the Religious Life (1912) ที่เสนอว่าจิตสำนึก ความเชื่อ และความรู้สึกร่วม (collective consciousness) ของคนในแต่ละสังคม ส่งผลต่อแบบแผนปฏิบัติ จารีต และประเพณี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะกลุ่ม สำนึกร่วมจึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่สะท้อนความเป็นสังคม และยังส่งผ่านต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นแกนหรือพลังยึดเหนี่ยวให้สมาชิกในสังคมรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นักวิชาการกลุ่มนี้จึงเน้นการวิเคราะห์จิตสำนึกร่วมผ่านพิธีกรรม สัญลักษณ์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน รวมถึงความสัมพันธ์เครือญาติ ซึ่งเป็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของสมาชิกชุมชน อย่างไรก็ตาม งานศึกษาแนวนี้มักถูกวิจารณ์ว่า เน้นศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ทางสังคมมากเกินไป แต่ละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับปัจเจก เน้นพิธีกรรมซึ่งเป็นพื้นที่ทางศาสนามากเกิน แต่ละเลยพื้นที่อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งอาจเผยความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนของมนุษย์เช่นกัน โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ที่แม้พิธีกรรมบางอย่างอาจได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คงเดิม แต่ชีวิตจริงของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

           ขวัญชีวันเรียกงานกลุ่มที่สองว่า ชุมชนจินตกรรม (imagined community) นักวิชาการคนสำคัญก็เช่น Benedict Anderson (1983) ซึ่งศึกษาชาติในฐานะชุมชนที่ก่อร่างสร้างจากเทคโนโลยีทางการเมืองต่าง ๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ แบบเรียนประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์หรืออัตลักษณ์ประจำชาติ หรือธงชัย วินิจจะกูล (1987) ที่แสดงให้เห็นว่า การทำแผนที่สมัยใหม่มีส่วนสร้างเรือนร่างทางภูมิศาสตร์ (Geo-body) ของชาติได้อย่างไร คุณูปการของงานศึกษาแนวนี้คือการชี้ให้เห็นว่า แต่ละชุมชนสร้างจินตกรรมขึ้นเพื่อรองรับวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์บางอย่าง ตัวอย่างเช่นจินตกรรมชาตินิยมชาติพันธุ์ (ethno-nationalism) ซึ่งยึดถือว่าในรัฐชาติหนึ่งต้องมีเพียงชาติพันธุ์เดียว และแต่ละชาติพันธุ์ก็ต้องมีรัฐเป็นของตนเอง ไม่อาจอยู่ร่วมแผ่นดินกับชาติพันธุ์อื่นได้อย่างสงบจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างที่เกิดขึ้นในพม่า จินตกรรมแบบภูมิภาคนิยม (regionalism) เช่น สหภาพยุโรป (EU) หรือประชาคมอาเซียน ที่สมาชิกแต่ละประเทศอาจไม่มีอะไรร่วมกันเลย แต่สร้างชุมชนในจินตกรรมเดียวกันได้เพราะผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวคิดท้องถิ่นนิยม (localism) ซึ่งก็ไม่ได้มีนิยามที่ชัดเจน แต่ละท้องถิ่นก็มีจินตกรรมต่างกัน และอาจเกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวด้วยก็ได้ ขวัญชีวันเห็นว่า งานศึกษาแนวทางนี้ยังละเลยปฏิบัติการของชุมชนในอีกหลายรูปแบบ

           กลุ่มที่สามคือการศึกษาชุมชนยูโทเปีย หรือเรียกอีกชื่อว่า ชุมชนพระศรีอาริย์หรือ Christian Millenniumเนื่องจากมักศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาที่ก่อตัวตามโลกทัศน์ว่าด้วยภัยพิบัติ กลียุค วิกฤตการณ์หรือความเสื่อมทางสังคม ขวัญชีวันอธิบายว่า เมื่อเทียบกับสองกลุ่มก่อนหน้า งานศึกษากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับปัจเจกมากขึ้น และเน้นศึกษาภาคปฏิบัติของมนุษย์ ซึ่งคาดหวังสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรม สังคมทางเลือกที่ต่อต้านรัฐและทุน เช่น ชุมชน Amish ในสหรัฐฯ หรือชุมชนตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดี งานศึกษาแนวทางนี้ก็ยังไม่ได้ทำความเข้าใจพลวัตของชุมชนยูโทเปีย ซึ่งมีจุดสิ้นสุด เกิดใหม่หรือสร้างใหม่ตลอดเวลา

           งานศึกษาชุมชนกลุ่มสุดท้ายได้รับอิทธิพลจากแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (post-modernism) ท่ามกลางบริบทของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ที่มนุษย์มีการเคลื่อนย้ายข้ามชาติมากขึ้น ชุมชนไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูปหรือดำรงอยู่แล้ว หากแต่เกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์ของปัจเจก โดยเฉพาะอิทธิพลความคิดของเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส ซึ่งมองว่า กระบวนการสื่อสารก่อให้เกิดความเป็นชุมชนขึ้น (communication community) งานศึกษาแนวทางนี้จึงสนใจปฏิบัติการ การสื่อสาร และประสบการณ์ของปัจเจกที่นำไปสู่การสร้างชุมชนใหม่ ๆ โดยเฉพาะบนโลกดิจิทัล ที่ผู้คนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันแค่ในพื้นที่จริงหรือ face-to-face อย่างเดียวอีกต่อไป นักคิดกลุ่มนี้จึงศึกษาปรากฏการณ์การแตกของชุมชนเก่า และการเกิดของชุมชนใหม่ ๆ การเกิดขึ้นของชุมชนต่อต้านแบบต่าง ๆ ที่ท้าทายการควบคุมปิดกั้นแบบเดิม และปฏิบัติการทางสังคมที่ปลุกเร้าผู้คนให้ทะลุกรอบ ปัจเจกกับชุมชนจึงไม่ใช่คู่ตรงข้ามกันอย่างที่นักคิดกลุ่มอื่นอธิบาย และการเพิ่มขึ้นของความเป็นปัจเจกก็ไม่ได้หมายถึงการล่มสลายของชุมชน แต่ปัจเจกเป็นพื้นฐานของการสร้างชุมชนด้วยซ้ำ ปัจเจกจะตระหนักรู้ถึงพลังของตน (self-realization) ได้ก็ต่อเมื่อเข้าร่วมปฏิบัติการของกลุ่ม ชุมชนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการที่ปัจเจกบุคคลเลือกที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง (elective community) บนพื้นฐานประสบการณ์ส่วนตัว ชุมชนแบบใหม่จึงมีมิติของการคิดใคร่ครวญ (reflexive) ความตั้งใจ แรงบันดาลใจ รวมถึงเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (emotional) ด้วย คุณูปการที่สำคัญของนักคิดกลุ่มนี้คือการแสดงให้เห็นว่า ในโลกใบนี้มีชุมชนหลากหลายแบบ และมนุษย์แต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่งของหลายกลุ่ม (plural belonging)

           แนวคิดว่าด้วยชุมชนเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่องานศึกษาสังคมศาสตร์ในสังคมไทย ขวัญชีวันยกตัวอย่างข้อถกเถียงที่วนรอบ ‘สำนักวัฒนธรรมชุมชน’ ซึ่งมีฉัตรทิพย์ นาถสุภา เป็นแนวหน้า กล่าวคือสำนักวัฒนธรรมชุมชนได้รับอิทธิพลตามแนวทางแรก ซึ่งมองว่าชุมชนแบบดั้งเดิมมีวัฒนธรรม สัญลักษณ์ และคุณธรรมร่วมกัน เช่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสามัคคี ความผูกพันในเครือญาติ แต่ถูกทำลายลงด้วยอิทธิพลจากภายนอกของรัฐและทุน ภาพอุดมคติของวัฒนธรรมชุมชนเช่นนี้ได้กลายเป็นพลังของการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐและทุน รวมทั้งงานพัฒนาชุมชนขององค์กรพัฒนาเอกชนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือหลายชุมชนไม่ได้มีสัญลักษณ์หรืออัตลักษณ์ร่วม วัฒนธรรมชุมชนที่เป็นหนึ่งเดียวไม่มีอยู่จริง หากแต่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และไม่ได้เสมอเหมือนกันทั่วทั้งชุมชน ดังที่นักวิชาการบางส่วนได้วิพากษ์สำนักวัฒนธรรมชุมชนเอาไว้ว่า เป็นการมองปรากฏการณ์อย่างโรแมนติกเกินไป เช่น งานของยุกติ มุกดาวิจิตร (2548) นโยบายรัฐและแนวทางการพัฒนาชุมชนแบบสำนักนี้จึงไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเนื่องจากวาดภาพชุมชนผิดตั้งแต่แรก อาจเพราะเหตุนี้ งานศึกษาชุมชนแนวใหม่ ๆ จึงหันมาใช้แนวคิดที่แสดงให้เห็นการเกิดขึ้นของชุมชนหรือการรวมกลุ่ม (อาทิ assemblage) ที่สมาชิกมีความหลากหลาย มาจากหลายภาคส่วน (multiplicity) ทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ มีความสัมพันธ์แบบแนวนอน ไม่ใช่สั่งการจากข้างบนลงมา

           ตัวอย่างงานศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า พลังภายนอกส่งผลกับชุมชนคืองานของขวัญชีวัน (2023) ที่ศึกษาชุมชนกะเหรี่ยงลัทธิฤๅษี ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณชายแดนห่างไกลอำนาจท่ามกลางบริบทของการหนีรัฐ และการแยกตัวจากศาสนาหลักในช่วงที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ชุมชนศาสนาที่สมาชิกทุกคนเป็นฤๅษีพัฒนากลไกการปกครองกันเองโดยเน้นศีลธรรมได้นานกว่าร้อยปี แต่ช่วงสงครามเย็น (พ.ศ. 2510-2525) สถานการณ์ชายแดนก็เปลี่ยนไปตามบริบทการเมืองโลก เมื่อผู้เล่น (actor) ใหม่ ๆ อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และโดยเฉพาะรัฐไทย เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ ชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งที่บีบให้คนในชุมชนอพยพ แต่ความทันสมัยก็พาเยาวชนรุ่นใหม่ออกจากหมู่บ้านไปเรียนหนังสือและทำงานในเมือง แบบแผนทางสังคมที่อิงความเชื่อศาสนาแบบเก่าไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป เช่น ฤๅษีผู้นำต้องการให้สมาชิกกินมังสวิรัติ 100 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยกินเนื้อสัตว์ป่าบ้าง แต่ก็ไม่มีใครยอมฟังอีกแล้ว กลายเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น

           ขวัญชีวันสรุปว่า ในโลกปัจจุบันมีชุมชนเกิดขึ้น ยุบตัว หรือปรับสร้างใหม่ จำนวนมาก ทั้งชุมชนทางศาสนาหรือชุมชนทางเลือกอื่น ๆ การศึกษาชุมชนจึงต้องปรับแนวคิดและแนวทางให้โอบรับปัจจัยและพลวัตเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่มุ่งทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ในสังคม รวมถึงการปรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง


ทุนระดับโลก แรงงานในท้องถิ่น: ความสำคัญของท้องถิ่นในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

โดย ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล

ผู้สรุป วิมล โคตรทุมมี


บทนำ

           ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์มโดยหลักแล้วเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy) ทั้งที่เป็นแบบ Marxist และ non-Marxist และเรื่องแรงงานศึกษา (labour studies) งานชิ้นนี้แม้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แบบมาร์กซิส แต่จะเสริมด้วยมุมมองท้องถิ่นนิยม (locality) เพื่อเสนอทิศทางใหม่ ๆ ของแรงงานศึกษา ในขณะเดียวกันก็อาจขยายพรมแดนความคิดเกี่ยวกับท้องถิ่นศึกษาด้วย คำถามหลักในงานชิ้นนี้จึงสนใจว่าความเป็นสากลของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มปรับเปลี่ยนท้องถิ่นอย่างไร และท้องถิ่นตอบสนองหรือต่อรองกับความเป็นสากลอย่างไร


เศรษฐศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

           เศรษฐกิจแพลตฟอร์มในเชิงปรากฏการณ์เริ่มขึ้นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน (financial crisis) ปี 2008 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการกำเนิดดิจิทัลแพลตฟอร์ม อันเป็นตัวแปรสำคัญที่มีส่วนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว จุดเด่นเศรษฐกิจแนวนี้คือเปิดโอกาสให้ผู้ใช้หรือผู้ขายเข้ามาหารายได้ในแพลตฟอร์ม อันเป็นการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่ผู้ขายรายอื่น ระบบเศรษฐกิจแนวนี้เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจเชิงการแบ่งปัน (sharing economy) แต่ปัญหาที่ตามมาคือเศรษฐกิจเชิงการแบ่งปันไม่ทำตามสัญญา ทุนขนาดใหญ่เข้ามาผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนแก่ผู้ค้ารายย่อยอย่างมาก นอกจากนี้แรงงานที่อยู่ในระบบดังกล่าวก็ต้องเผชิญความไม่มั่งคงจากการผูกขาดระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มด้วย


ลักษณะสากลของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และกระบวนการเข้าสู่ท้องถิ่น

           เศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือรูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล อัลกอริทึม และอินเทอร์เน็ต เครือข่ายข้ามชาติเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อผู้คน โดยเน้นที่ความสะดวกและความยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้ใช้งาน ในแง่นี้เมื่อยิ่งมีผู้ใช้งานมากขึ้นทำให้มูลค่าของแพลตฟอร์มีมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มการบริการด้านอาหาร ได้แก่ GrabFood ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ ให้บริการในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ UberEats สำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกาให้บริการ 45 ประเทศทั่วโลก สองบริษัทนี้ถือว่าเป็นตัวกลาง แต่ได้กำไรมหาศาลจากการเข้ามาใช้บริการอย่างมากจากทางฝั่งผู้ใช้บริการ ผู้ค้า และไรเดอร์

           ในแง่นี้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกับผู้ใช้งานจึงมีลักษณะเชื่อมโยงกับความเป็นท้องถิ่นด้วย สอดคล้องกันข้อเสนอของ Castells (1996) ที่เสนอว่าในยุค ICTs ทำให้โลกเป็นสังคมเครือข่ายที่เชื่อมโยงอย่างเป็นมาตราฐานเดียวกัน ความเป็นสมัยใหม่เมื่อต้องเข้าสู่ท้องถิ่นจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และความเป็นท้องถิ่นก็ต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ภายใต้ความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคง (precarity) ของแรงงานจากระบบแพลตฟอร์มสากลที่กระทบต่อท้องถิ่นก็ทำให้เกิดกระบวนการต่อรองจากความเป็นท้องถิ่นควบคู่กันเสมอ (Graham & Ferrari, 2022) และ GrabFood หรือ UberEats ก็คือตัวโมเดลธุรกิจระดับโลกที่กำลังขยับขยายเครือข่ายสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ การเกิดขึ้นของการส่งอาหาร การขนส่งผู้คน การปรับโปรโมชั่นตามเทศกาลแต่ละประเทศก็คือความพยายามปรับตัวสู่ความเป็นท้องถิ่นของทุนระดับโลก


บริบทท้องถิ่น ตัวแปรและปฏิกิริยาท้องถิ่นต่อผลกระทบทุนระดับโลก

           งานที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มมีหลากหลายอาชีพ ส่วนงานชิ้นนี้สนใจกลุ่มแรงงานไรเดอร์ (Rider) อาชีพบริการส่งอาหารและรับส่งของหรือผู้คนในสังคมท้องถิ่น(ซึ่งในที่นี้หมายถึงประเทศไทย) โดยความเป็นท้องถิ่นมีปฏิกิริยาต่อทุนใหญ่ 4 ประเด็นดังนี้

           ประเด็นที่ 1 นโยบายการลงทุนของประเทศไทย ภาครัฐมองว่าแนวทางนี้เป็นกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่งจึงเปิดรับและสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มที่ มีการเสนอแผนแม่บทดิจิทัลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกอบไปด้วยกิจกรรมและนโยบายการลงทุนต่าง ๆ ท่าทีของประเทศไทยจึงมีลักษณะโอบรับและประคบประหงมธุรกิจที่อยู่ในสาขานี้อย่างมาก

           ประเด็นที่ 2 ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก แรงงานนอกระบบมีมากกว่าแรงงานในระบบ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย งานไม่แน่นอน และไม่มีตัวเลือกในการทำงานมากนัก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำ งานแพลตฟอร์มที่ถูกออกแบบให้มีข้อจำกัดในการสมัครงานน้อยจึงเป็นที่นิยมของกลุ่มแรงงานนอกระบบ

           ประเด็นที่ 3 ประเทศไทยสวัสดิการทางสังคมไม่ทั่วถึง คุณภาพต่ำ มีอุปสรรคในการเข้าถึงมาก ไรเดอร์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนนิยมเลือกใช้บริการสั่งอาหารหรือการคมนาคมเดินทางของไทย

           ประเด็นที่ 4 กฎหมายแรงงานไทยที่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ประเด็นความคลุมเครือของความหมายการจ้างงานตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันยังอิงอยู่กับตัวบทกฎหมาย พ.ศ. 2467 หรือตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 6 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ฐานคิดของกฎหมายฉบับนี้ทำให้การจ้างงานแบบแพลตฟอร์มไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างแรงงาน ทั้ง ๆ ที่ลักษณะงานของไรเดอร์บางงานเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างแรงงาน


สรุปท้องถิ่นไทยในทุนโลก ไรเดอร์กำลังเผชิญอะไรอยู่?

           ประการแรก อาชีพไรเดอร์เป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่มีทางเลือก เป็นกลุ่มคนเปราะบางในสังคม อันได้แก่คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ไม่สามารถสมัครงานอื่นได้ กลุ่มคนที่การศึกษาไม่สูง กลุ่มคนต้องคดี กลุ่มคนชรา และกลุ่มคนที่มีภาระดูแลคนที่บ้าน โดยตัวเลขไรเดอร์ตอนนี้มีจำนวนราว 400,000 คน

           ประการที่สอง ไรเดอร์เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงอุบัติเหตุสูง อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับไรเดอร์ทุกวัน การทำงานผ่านแอพฯ ที่รายได้สัมพันธ์กับชิ้นงาน ทำให้การขยันทำรอบวิ่งขนส่งคือเพิ่มความเสี่ยงในอุบัติเหตุมากขึ้นเรื่อย ๆ

           ประการที่สาม ปัญหาด้านสุขภาพ ผลจากการทำงานบนท้องถนนเฉลี่ยวันละ 10-14 ชั่วโมง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งภายนอกและภายในทั่วร่างกาย นับตั้งแต่การบาดเจ็บจากการใส่หมวกกันน็อคเป็นเวลานาน หูเจ็บ ผมร่วง ไรเดอร์ชายก็มักจะมีปัญหาบริเวณร่มผ้า ไรเดอร์หญิงก็มีปัญหาต่อสรีระทางร่างกายเพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพร่างกายก็ได้โยงไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต อารมณ์ อันปรากฏในเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ

           ประการสุดท้าย การเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งทำให้ภาพรวมของสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ในหลาย ๆ ครั้งอุบัติเหตุดังกล่าวได้กระทบต่อกลุ่มคนอื่นด้วย อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุก็เกี่ยวข้องกับระบบประกันสุขภาพการรักษาพยาบาล ไรเดอร์ต้องออกค่าใช้จ่ายการรักษาเองทั้งหมด บริษัทที่ไรเดอร์สังกัดอยู่กลับไม่มีส่วนร่วมจ่ายค่าการรักษาพยาบาล


เอกสารอ่านเพิ่มเติม

พฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์. (2566). อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม. รายงานการวิจัย. สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย. https://shorturl.asia/vIga6.

พฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์. (2567). การรวมกลุ่มและขบวนการต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารเพื่อปกป้องสิทธิและสุขภาวะ. รายงานการวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. https://shorturl.asia/AryZD.

Castells, M. (1996). The Rise of the Network Society. Vol. 1 of The Information Age: Economy, Society and Culture. Cambridge, MA: Wiley-Blackwell.

Graham, M. & Ferrari, F. (2022). Digital Work in the Planetary Market. Cambridge, MA: MIT Press.

Jones, M., & Woods, M. (2013). New localities. Regional Studies, 47(1), 29-42.

Sundararajan, A. (2016). The Sharing Economy: The End of Employment and the Rise of Crowd-Based Capitalism. The MIT Press.


ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในวิธีการศึกษา “วงศาวิทยา”

โดย รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา

ผู้สรุป ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข


           การเสวนาในหัวข้อนี้กล่าวถึงท้องถิ่นในมิติของการศึกษาประวัติศาสตร์และวิธีวิทยา (Methodology) แบบวงศาวิทยา เพื่อชี้ให้เห็นว่าท้องถิ่นในมิติดังกล่าว สามารถใช้คลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐได้ กล่าวคือ การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวิธีวิทยาแบบวงศาวิทยานั้น มีพลังในการสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของชุมชน สามารถช่วงชิงความหมายทางประวัติศาสตร์เพื่ออ้างสิทธิของชุมชนมิให้รัฐถือสิทธิเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการพื้นที่ของชุมชนได้ โดยวิทยากรยังได้ยกประสบการณ์ของตนในการศึกษาเรื่องพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเคยมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนด่านซ้ายกับรัฐว่าพระธาตุแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายใต้การดูแลของชุมชนหรือเป็นวัดภายใต้การดูแลของรัฐกันแน่ วิทยากรได้ศึกษาเรื่องราวของพระธาตุศรีสองรักในมิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวงศาวิทยา จนพบว่าพระธาตุแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของวิถีชีวิตของชุมชนด่านซ้ายอย่างแท้จริง ข้อมูลดังกล่าวใช้ประกอบหลักฐานในการต่อสู้กับการอ้างสิทธิของรัฐ และในที่สุด ศาลจังหวัดก็ได้ตัดสินให้พระธาตุเป็นของชุมชนด่านซ้าย

           วิทยากรได้เริ่มการเสวนาจากการทบทวนวิธีคิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ดังกล่าว โดยสำหรับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น มีพัฒนาการที่เริ่มจากประเทศสหราชอาณาจักรช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีกำเนิดมาจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชุมชนกับรัฐ การที่รัฐให้ความสำคัญต่อนโยบายพัฒนาพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้น การศึกษาเรื่องพลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และคนในพื้นที่ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการอ้างสิทธิของชุมชนเพื่อมิให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการพื้นที่ของชุมชนตามอำเภอใจ สำหรับในประเทศไทยนั้น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2510 แต่การศึกษาพื้นที่เล็ก ๆ ในท้องถิ่นไทย ก็ดำเนินมาก่อนหน้านั้นแล้ว จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 2530-ทศวรรษ 2540 ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็เป็นสาขาวิชาซึ่งได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น บริบทส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของกระแสโลกาภิวัตน์และวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้สังคมเริ่มกลับไปศึกษาทบทวนสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นรากเหง้าความเป็นไทยอย่างจริงจังนั่นก็คือเรื่องของท้องถิ่น ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐก็ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันด้วย

           สำหรับการศึกษาประวัติศาตร์ท้องถิ่นนั้น มุ่งให้ความสำคัญต่อการศึกษาพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่แห่งหนึ่งกับคนในพื้นที่นั้น ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงสามารถศึกษาได้ในหลายมิติ มีวิธีการศึกษาแบบ สหวิทยาการ เป็นประวัติศาสตร์ที่แยกออกจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่มุ่งเน้นเรื่องราวของรัฐส่วนกลาง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถือว่าในพื้นที่แห่งหนึ่งย่อมมีเรื่องราวของการกำเนิด การเติบโต และการเสื่อมสลายในตัวเอง เป็นประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นสังคมในระดับจุลภาคแต่ก็สามารถเชื่อมโยงกับภาพรวมของสังคมได้เช่นประเด็นทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การศึกษาประวัติศาสตร์จากภาครัฐก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่มีความสำคัญในด้านที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น นโยบายการพัฒนาที่ดิน นโยบายการจัดการป่า เป็นต้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงสามารถใช้เป็นองค์ความรู้เพื่อการต่อสู้และอ้างสิทธิของชุมชนได้ว่าพวกตนคือใครและมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับทรัพยากรในพื้นที่ที่รัฐหรือคนภายนอกจะมาอ้างสิทธิแย่งชิงไป

           ขณะที่หลักฐานสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น ก็สามารถใช้หลักฐานที่เป็นของชุมชนได้อย่างหลากหลายรวมถึงหลักฐานประเภทตำนานและนิทานปรัมปรา ถือเป็นการมองท้องถิ่นจากเบื้องล่างอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่า ผู้ศึกษาจำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานแบบบันทึกลายลักษณ์อักษรของชุมชนอย่างระมัดระวัง เพราะแม้จะเป็นบันทึกของผู้ทรงภูมิในท้องถิ่น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้บันทึกคนนั้น อาจมีกระบวนการความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐส่วนกลางมาก่อน นอกจากนั้น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นประวัติศาสตร์ของมวลชน เป็นประวัติศาสตร์ที่คนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นจริง มีชีวิตและมีพลวัตเป็นของตนเอง ดังนั้นจึงจะไม่มีการไปตัดสินจากการศึกษาหลักฐานต่าง ๆ ว่าความจริงแล้ว ประวัติศาสตร์เช่นนั้นถูกต้องหรือไม่ สิ่งสำคัญคือต้องศึกษาว่าอะไรคือสิ่งที่คนในพื้นที่นั้นเชื่อว่าเป็นจริง สิ่งใดคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาเชื่อ และมีกระบวนการอะไรบ้างที่ส่งผลให้เกิดการสืบต่อของความเชื่อนั้น

           จากการทบทวนวิธีคิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิทยากรสามารถสรุปได้ 4 ประการ ได้แก่ 1) ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือเรื่องราวของคนทั่วไปหรือของมวลชน มีพลวัตในทุกมิติ 2) ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีขอบเขตการศึกษาที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนและเหมาะสม 3) ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือการศึกษาประสบการณ์และกิจกรรมท้องถิ่นในทุกด้าน และ 4) ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือองค์ความรู้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์หรือตัวตนของชุมชน

           วิทยากรได้กลับมาอธิบายถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยใช้วิธีวิทยาแบบวงศาวิทยาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการศึกษาเพื่อใช้เป็นพลังในการช่วงชิงความหมายประวัติศาสตร์ของพื้นที่ให้เป็นของชุมชน โดยยกประสบการณ์กรณีของพระธาตุศรีสองรัก สำหรับพระธาตุศรีสองรักนั้น เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจศาสนสถานกำลังเฟื่องฟู ความเฟื่องฟูดังกล่าวส่งผลให้รัฐเข้ามาปรับปรุงการจัดระเบียบวัดและโบราณสถานในประเทศไทย ซึ่งพระธาตุศรีสองรักก็อยู่ภายใต้การจัดระเบียบในครั้งนี้ด้วย รัฐพยายามอ้างสิทธิว่าสถานที่แห่งนี้เป็นของวัดภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าพระธาตุแห่งนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้น รัฐจึงสามารถเข้าไปพัฒนาตัวพระธาตุได้อย่างชอบธรรม อย่างไรก็ตาม ชุมชนด่านซ้ายไม่ยอมรับในการอ้างสิทธิของรัฐนี้ เพราะชุมชนด่านซ้ายก็มองว่าพระธาตุศรีสองรักเป็นสถานที่ที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณหรือวัฒนธรรมของชุมชนมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเช่นกัน ความขัดแย้งนี้ทำให้รัฐยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเพื่อให้พระธาตุเป็นของวัด ชุมชนด่านซ้ายจึงต้องต่อสู้กลับ โดยการหาหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระธาตุศรีสองรักเป็นสถานที่ของพวกเขามาอย่างยาวนานแท้จริง ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านวิธีวิทยาแบบวงศาวิทยาเพื่ออ้างสิทธิของชุมชนจึงเกิดขึ้น

           วงศาวิทยาเป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาโดย มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โดยวงศาวิทยานั้นให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์และบันทึกต่าง ๆ ที่มีความเป็นเอกเทศ แต่ถูกหลอมรวมประกอบสร้างขึ้นเป็นชุดความรู้หนึ่งชุด ผู้ศึกษาจะต้องทบทวนศึกษาชุดความรู้นั้นโดยมุ่งหาส่วนย่อย รอยแยก และความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะออกมา ตลอดจนทำลายวาทกรรมของชุดความรู้ที่อ้างว่าเป็นสัจจะถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว หากรัฐอ้างว่าตนมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่าพระธาตุเป็นของวัดแล้ว ผู้ศึกษาก็ต้องศึกษาหาจุดพลิกผัน (Beginnings) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากข้ออ้างของรัฐที่อ้างเรื่องจุดกำเนิด (Origins) สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านวิธีวิทยาแบบวงศาวิทยาเรื่องพระธาตุศรีสองรักนั้น ให้ความสำคัญกับกรณีของเจ้าพ่อกวน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุตามความเชื่อของชุมชนด่านซ้าย กรณีของเจ้าพ่อกวนแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ชุมชนด่านซ้าย เจ้าพ่อกวนคือจิตวิญญาณของชุมชน เป็นความเชื่อความศรัทธาที่ผูกโยงชาวบ้านเข้าไว้ด้วยกันจนเป็นชุมชนแห่งหนึ่งอย่างแท้จริง องค์ความรู้เรื่องนี้ถูกนำไปเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาของศาลจังหวัด ซึ่งในที่สุดศาลก็ได้ตัดสินยกฟ้องและถือให้พระธาตุศรีสองรักเป็นของชุมชนด่านซ้าย

           โดยสรุป สิ่งที่ทำให้ชุมชนด่านซ้ายได้พระธาตุศรีสองรักกลับมาเป็นของชุมชนก็คือการใช้องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวิธีวิทยาแบบวงศาวิทยาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับรัฐ องค์ความรู้ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กิจกรรมความเชื่อและวิถีชีวิตประจำวันต่าง ๆ ของชุมชนด่านซ้ายล้วนผูกพันกับพระธาตุศรีสองรัก โดยมีเจ้าพ่อกวนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงพื้นที่และชาวบ้านในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น ขณะที่รัฐไม่สามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมาตนมีบทบาทอย่างไรบ้างในการพัฒนาหรือบทบาทอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุ รัฐจึงไม่สามารถอ้างสิทธิในการเข้าไปแทรกแซงกิจการของพระธาตุศรีสองรักได้


ความเป็นชุมชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางนโยบาย

โดย ดร.กฤษฎา บุญชัย

ผู้สรุป ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข


           การเสวนาในหัวข้อนี้เป็นเรื่องของความเป็นชุมชน (ความเป็นท้องถิ่น) ในมิติของสิทธิชุมชน เป็นการกล่าวถึงนิยามความเป็นชุมชนที่แตกต่างกันระหว่างชุมชนและรัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ชุมชนนิยามความเป็นชุมชนว่าหมายถึงตัวตนทางวัฒนธรรมซึ่งมีความหลากหลาย แต่ขณะที่รัฐนิยามความเป็นชุมชนว่าเป็นเพียงการรวมตัวของชาวบ้านและกฎหมายให้การรับรอง การที่รัฐนิยามความเป็นชุมชนเพียงมิติเดียวเช่นนี้ ส่งผลให้กฎหมายและนโยบายของรัฐในเรื่องการบริหารจัดการชุมชน มีลักษณะเพิกเฉยและจำกัดสิทธิของชุมชนอย่างมาก จึงไม่แปลกที่เรามักเห็นการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อจัดตั้งขบวนการสิทธิชุมชนเพื่อคัดค้านกฎหมายและนโยบายเหล่านั้น

           วิทยากรเริ่มจากการอธิบายถึงความเป็นชุมชนตามนิยามของโลกวิชาการและเป็นสิ่งที่ชุมชนยึดถืออยู่ ชุมชนตามนิยามทางวิชาการนั้นถือว่า ชุมชนคือตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมซึ่งมีความหลากหลายและซับซ้อน เพราะชุมชนเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นจากการมีจุดเชื่อมโยงร่วมกันในหลายมิติ ตัวอย่างเช่น ภูมินิเวศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทรัพยากร อาชีพ เศรษฐกิจ อุดมการณ์ เป็นต้น ชุมชนไม่ใช่สิ่งที่ไร้พลวัตหรือหยุดนิ่งตายตัว เพราะมีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

           นอกจากนั้น โดยเหตุที่ชุมชนเป็นตัวตนที่เกิดขึ้นจากสิ่งเชื่อมโยงต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน ส่งผลให้สิทธิของชุมชนที่จะรักษาและบริหารจัดการจึงปรากฏขึ้น การที่รัฐมีนโยบายที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งที่ยึดโยงกันเป็นตัวตนของชุมชน ตัวอย่างเช่น การจัดการป่า การจัดการสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน ชุมชนจึงสามารถใช้สิทธิของชุมชนในการรวมตัวกันเพื่อคัดค้าน ต่อรอง และปกป้องได้ ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการรักษาพื้นที่และการมีตัวตนที่เป็นอิสระ

           อย่างไรก็ตาม รัฐกลับนิยามความเป็นชุมชนในทางตรงกันข้าม รัฐนิยามความเป็นชุมชนว่าเป็นเพียงการรวมตัวของชาวบ้าน และยังเป็นการรวมตัวกันภายใต้กรอบนิติบุคคล กล่าวคือ ต้องได้รับการรับรองจากกฎหมายหรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการบริหารจัดการของรัฐ จึงจะถือได้ว่าเป็นชุมชน การนิยามความเป็นชุมชนในมุมมองของรัฐซึ่งเป็นการนิยามเพียงมิติเดียวและแข็งทื่อเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นในตัวบทกฎหมายหลายฉบับ และก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนตามมา โดยวิทยากรได้ยกตัวอย่างกฎหมาย 6 ฉบับ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ 4 ประการ ดังต่อไปนี้

           1) กฎหมายบางฉบับ รัฐนิยามว่าชุมชนคือการรวมตัวของกลุ่มคนและมีสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นของแท้ดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน และสิ่งนั้นยังต้องได้รับการจดทะเบียนรับรองตามกฎหมายด้วย ส่งผลให้กฎหมายเหล่านี้ไม่สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งมีการกำหนดไว้ในมาตรา 3 ให้พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นซึ่งจะได้รับการคุ้มครองนั้น ต้องเป็นพันธุ์พืชที่ขึ้นอยู่ในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และไม่เคยได้รับการจดทะเบียนรับรองมาก่อน ผลจากการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้คือไม่มีพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นใดได้รับการจดทะเบียนเพื่อคุ้มครอง เพราะไม่สามารถหาพันธุ์พืชที่มีลักษณะตรงตามข้อกำหนดของกฎหมายได้จริง ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ก็ไม่มีตัวแทนของชุมชนร่วมอยู่ด้วย

           2) กฎหมายบางฉบับ รัฐนิยามว่าชุมชนคือการรวมตัวของกลุ่มคนในลักษณะคล้าย ๆ กับองค์กรสมัยใหม่ กล่าวคือเป็นการรวมตัวโดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีกิจกรรม กติกา และกรอบทางศีลธรรมร่วมกัน ตลอดจนการมีระบบบริหารจัดการต่าง ๆ ภายในชุมชนอย่างชัดเจน กฎหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดการครอบทับรูปแบบการรวมตัวของชุมชนซึ่งมีความหลากหลายมากกว่านั้น ดังเห็นได้จากพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 (มาตรา 3) และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 (มาตรา 4) นอกจากนั้น หากชุมชนใดไม่ได้รวมตัวกันตามลักษณะที่กฎหมายเหล่านี้นิยาม จะส่งผลให้ชุมชนนั้นเสียสิทธิบางประการไปด้วย ตัวอย่างเช่น การขึ้นทะเบียนรับรองพื้นที่ให้เป็นป่าชุมชน

           3) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปักปันเขตอำนาจของรัฐในชุมชน รัฐจะแทบไม่ให้ความสำคัญต่อนิยามของชุมชน ชุมชนเป็นสิ่งที่ถูกผลักให้กลายเป็นอื่น (Otherness) ในสายตาของรัฐ กฎหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิของชุมชน ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ซึ่งมีการกำหนดไว้ในมาตรา 4 ให้ป่าชุมชนคือป่าที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ นั่นหมายความว่าป่าที่รัฐกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์จะไม่สามารถเป็นพื้นที่ของชุมชนได้อีกต่อไป ถึงแม้ชุมชนอาจอยู่อาศัยในเขตนั้นมานานแล้ว ผลจากการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้คือชุมชนไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนรับรองพื้นที่ของพวกเขาให้เป็นป่าชุมชนได้ทั้งหมด หรือในกรณีของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 และมาตรา 65 ซึ่งกล่าวถึงการสำรวจและการกำหนดเขตป่าอนุรักษ์ แต่ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตเหล่านั้นมาก่อน เป็นเพียงกลุ่มคนที่รัฐต้องดำเนินการอพยพออกและหามาตรการเยียวยาตามความเหมาะสม

           นอกจากนั้น ยังมีกรณีของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ซึ่งกำลังอยู่ในวาระการพิจารณาของรัฐสภา ในกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น ผู้มีอำนาจรัฐไม่ยอมรับการบัญญัติคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองลงไปในกฎหมายและให้มีการตัดคำดังกล่าวออกไป สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงสากลซึ่งว่าด้วยเรื่องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกับองค์กรระหว่างประเทศ การเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อนโยบายพัฒนาของรัฐ ตัวอย่างเช่น นโยบายการจัดการป่า ซึ่งอาจทำให้รัฐต้องทำข้อตกลงเรื่องอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ รัฐต้องหลีกเลี่ยงนโยบายที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อชนเผ่าในพื้นที่มากขึ้น เป็นต้น

           4) กฎหมายบางฉบับ รัฐนิยามอัตลักษณ์ของชุมชนแต่ลดทอนอัตลักษณ์ดังกล่าวให้เหลือเพียงมิติเดียว ทั้งที่ในชุมชนแห่งหนึ่งอาจมีอัตลักษณ์ซึ่งหลากหลายซับซ้อนก็ได้ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีความคลุมเครือ ดังจะเห็นได้จากประกาศกรมประมง พ.ศ.2565 ซึ่งนิยามว่าชุมชนประมงท้องถิ่นคือกลุ่มคนที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมง กฎหมายฉบับนี้จึงอาจสร้างความสับสนให้แก่บางชุมชน เพราะบางชุมชนก็อาจมีวิถีชีวิตในด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญนอกเหนือไปจากด้านการประมงก็ได้

           โดยสรุป การนิยามความเป็นชุมชนโดยรัฐ มีลักษณะของการตีกรอบให้มีขอบเขตตามที่รัฐต้องการ เปลี่ยนความหลากหลายซับซ้อนของชุมชนให้เป็นสิ่งที่มีความจำกัด ชุมชนจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐให้การยอมรับโดยมีการจดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษรถูกต้องตามกฎหมาย และรัฐยังถือว่าสิทธิของชุมชนจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐให้การรับรองเช่นเดียวกัน ความเป็นชุมชนกลายเป็นเรื่องข้อยกเว้นซึ่งรัฐจะรับรองหรือไม่รับรองก็ได้ นอกจากนั้น การตีกรอบของรัฐ ยังส่งผลให้ชุมชนกลายเป็นชุมชนจำลอง (Artificial Community) หรือชุมชนที่ไม่มีอยู่จริง เพราะนิยามความเป็นชุมชนที่รัฐกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ชุมชนที่มีพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่เป็นของแท้ดั้งเดิม การเป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันคล้ายองค์กรสมัยใหม่ หรือชุมชนที่มีอัตลักษณ์แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและรัฐ การต่อสู้ของชุมชนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิต่าง ๆ จะยังคงดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น

           วิทยากรได้อธิบายทิ้งท้ายว่า แล้วสังคมควรมียุทธศาสตร์ซึ่งเป็นทางออกของปัญหาอย่างไร โดยในเบื้องต้นนั้น แม้รัฐจะยังไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางกฎหมายในเร็ว ๆ นี้ แต่ขบวนการชุมชนก็ยังสามารถรวมตัวกันปกป้องพื้นที่ วัฒนธรรม ทรัพยากร และตัวตนของพวกเขาได้ ชุมชนไม่จำเป็นต้องเดินตามกรอบอันจำกัดของรัฐ ชุมชนสามารถใช้สิทธิของชุมชนในการเคลื่อนไหวให้สังคมวงกว้างรับรู้และยอมรับตัวตนของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เป็นการขับเคลื่อนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของสังคมและนำไปสู่การผลักดันให้เป็นนโยบายต่อไปในอนาคต รัฐจะไม่ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดการมีอยู่ของชุมชน หากแต่มีหน้าที่ปกป้องไม่ให้เกิดการละเมิดการมีอยู่ของชุมชนเท่านั้น ทั้งนี้ สื่อยุคออนไลน์ในปัจจุบัน ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

 

ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา