เมื่อมนุษย์คิดแทนสัตว์: กอริลลา ‘บัวน้อย’ กลางกรุง

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 5228

เมื่อมนุษย์คิดแทนสัตว์: กอริลลา ‘บัวน้อย’ กลางกรุง

           จากกระแสข่าววันที่ 21 ตุลาคม 2565 ที่แพร่หลายในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีแผนจะทำโครงการพา “บัวน้อย” กอริลลาที่อยู่ในสวนสัตว์พาต้ากลับไปยังแผ่นดินเกิดและให้เจอกับเพื่อนร่วมสายพันธุ์ที่ประเทศเยอรมันก่อนตาย โดยทางกระทรวงฯ อ้างว่าได้มีการพูดคุยเจรจากับทางสวนสัตว์พาต้าและได้ราคาขายที่ 30 ล้านบาท1  ที่ในเวลาต่อมา ทางสวนสัตว์พาต้าได้ออกมาปฏิเสธข่าวการซื้อขายบัวน้อยว่าทางสวนสัตว์ไม่เคยเจรจาซื้อขายบัวน้อยกับผู้ใดและหน่วยงานใดและทางสวนสัตว์ยังปฏิเสธการเคลื่อนย้ายบัวน้อยอีกด้วย2

           กระแสการเคลื่อนย้ายบัวน้อยไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2565 เท่านั้น ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การสวนสัตว์ ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพชีวิตและความเป็นอยู่จากภาคประชาชน เช่น แคมเปญ “หาบ้านหลังใหม่ให้บัวน้อย กอริลลาบนสวนสัตว์ลอยฟ้า”3  และโครงการ “Free the Wild”4  เป็นต้น

           กระแสการพูดถึงบัวน้อยในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ล้วนพูดถึงประเด็นคุณภาพชีวิต และสิทธิสัตว์ (Animal rights) ภายในสวนสัตว์พาต้า บทความนี้จึงนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาของ Anthropomorphism หรือ มานุษยรูปนิยมที่ปรากฎอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

 

Anthropomorphism / มานุษยรูปนิยม

           Anthropomorph มีรากฐานมาจากคำว่า “Anthropos” ในภาษากรีกที่แปลว่า “human” หรือมนุษย์ และคำว่า “morphe” สำหรับคำว่า “shape” หรือ “form” ที่แปลว่ารูปร่างลักษณะ5  มานุษยรูปนิยม (Anthropomorphism) เป็นการระบุลักษณะของมนุษย์หรือความเป็นมนุษย์ให้กับสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ การที่มนุษย์กำหนดเจตจำนงและอารมณ์ (intentions & emotions) ให้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มีการตีความว่า การระบุความเป็นมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์จะช่วยให้สร้างความรู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งนั้นมากขึ้นจนสามารถอธิบายหรือคาดการณ์ได้6   แนวคิดเรื่องAnthropomorphism ในมิติความหมายที่ระบุเอาลักษณะของมนุษย์เข้าไปผนวกกับวัตถุ สัตว์ และสิ่งอื่น ๆ ถูกระบุว่าเป็นเครื่องมือทางการตลาดและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ การระบุลักษณะของมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ช่วยให้ผู้บริโภคสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะของมนุษย์ (Anthropomorphism products) กับตัวเอง7

           อย่างไรก็ตามผู้เขียนรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของบัวน้อยแตกต่างไปจากนิยามที่ใช้ในด้านการท่องเที่ยวและการบริการที่กล่าวไปข้างต้น กรณีที่จะกล่าวต่อไปนี้มีลักษณะของการเอาคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ไปใช้กับบัวน้อยในลักษณะของการที่มนุษย์คิดแทนสิ่งอื่นด้วยหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติแบบเดียวกับที่ใช้กับมนุษย์หรือที่ตนเองรู้สึก ดังนั้น Anthropomorphism ณ ที่นี้จึงควรเป็นคำว่า มานุษยลักษณนิยม ที่หมายถึงการเอาลักษณะของความเป็นมนุษย์ที่อาจเป็นได้ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ผัสสะ เข้าไปใช้กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ (ในที่นี้คือบัวน้อย) ดูจะเป็นการเหมาะสมกว่านั่นเอง

 

มานุษยลักษณ์กับการเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิทธิสัตว์

           การเอาความเป็นมนุษย์ไปใช้กับสิ่งมีชีวิตอื่นโดยเฉพาะสัตว์ เป็นรากฐานสำคัญของกลุ่มนักเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิสัตว์ (animal rights) ที่มองสัตว์แตกต่างจากวิธีการมองแบบทุนที่มองว่าสัตว์เป็นสินทรัพย์ พื้นฐานของอุดมการณ์เกี่ยวกับสิทธิสัตว์มองว่าสัตว์เท่าเทียมกับมนุษย์ กลุ่มที่มีแนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์แบบสุดโต่งอาจพูดไปถึงเรื่องอารมณ์ของสัตว์ และมีความคิดเกี่ยวกับการครอบครองสัตว์ว่าเป็นการมองสัตว์ว่าเป็นทาส (enslavement) ที่พูดตั้งแต่สัตว์เลี้ยงในบ้านไปจนถึงสัตว์เลี้ยงในห้องทดลองและฟาร์มปศุสัตว์8

           สำหรับกรณีของบัวน้อย กอริลลาที่อยู่ในสวนสัตว์พาต้า กรุงเทพฯ ที่มักตกเป็นข่าวเกี่ยวกับประเด็นคุณภาพชีวิตและการดูแลสัตว์ตลอดจนสภาพแวดล้อมของบัวน้อยและสัตว์ตัวอื่น ๆ ภายในสวนสัตว์ จะพบว่า บ่อยครั้งที่มีการพูดถึงบัวน้อย มักจะมีการนำเอาคุณลักษณะบางอย่างของมนุษย์หรือสังคมมนุษย์ไปใช้เพื่ออธิบายหรือเรียกร้องความชอบธรรมและสิทธิให้กับบัวน้อย เช่น

“ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตบัวน้อยอยากให้บัวน้อยได้เห็น ได้สัมผัสกับสายพันธุ์ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และแผ่นดินเกิด ที่ประเทศเยอรมัน ย่อมดีกว่าตายไปอย่างโดดเดี่ยวในกรงตัวเดียวอย่างแน่นอน”9

“บัวน้อยยังคงถูกขังอยู่ในกรงเหล็กบนยอดตึกเก่าคร่ำคร่ามานานเกือบ 30 ปี ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันเห็นต้นไม้ตามธรรมชาติของสัตว์”10

           จากตัวอย่างด้านบนที่ผู้เรียกร้องพูดถึงบัวน้อยเกี่ยวกับประเด็นเรียกร้องให้มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย แสดงให้เห็นถึงการนำเอาแนวคิดมานุษยรูปไปใช้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับสัตว์ คำกล่าวถึงสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของบัวน้อยในลักษณะที่กอริลลามีอารมณ์และความรู้สึกแบบเดียวกับมนุษย์ มีความต้องการพบเจอและอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมสายพันธุ์ ความโดดเดี่ยว ความเป็นบ้านปัจจุบันและบ้านเกิดที่จากมา รวมไปถึงธรรมชาติสากลของสิ่งมีชีวิตหนึ่งในฐานะสัตว์ (ป่า) ชัดเจนว่าข้อความดังกล่าวเป็นการพูดถึงหรือพูดแทนบัวน้อยอย่างชัดเจน

           ทั้งนี้ในความเป็นจริง การนำบัวน้อย ลิงกอริลลาที่ถูกเลี้ยงในระบบปิดมาแทบจะตลอดทั้งชีวิตออกมาเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงถึงชีวิตของบัวน้อยได้ เดิมทีกอริลลาเป็นสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้า (ซื้อ) มายังประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเขตร้อนชื้น การซื้อขายกอริลลาในวงการสวนสัตว์ก่อนที่นานาประเทศจะเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับประเทศไทยเท่านั้น ในอดีตสวนสัตว์ในประเทศสิงคโปร์ก็เคยมีการนำกอริลลามาเลี้ยงเช่นเดียวกันกับในประเทศไทย

 

กอริลลากับการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

           ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2523 ประเทศสิงคโปร์ซื้อกอริลลาเพศผู้จำนวน 4 ตัว จากยุโรปและเลี้ยงในที่โล่งแจ้ง (outdoor) หลังจากนั้นกอริลลาทั้ง 4 ตัว ก็ตายด้วยโรคระบาดปริศนา เมื่อนำร่างกอริลลาไปชันสูตรพบว่ากอริลลาทั้ง 4ตัว ตายด้วยโรคระบาดที่ปนเปื้อนจากดินชื่อว่า เมลิออยโดซิส (melioidosis) โรคดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ซึ่งพบได้ทั้งในดินและน้ำและถือเป็นโรคประจำถิ่นประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย การติดเชื้อโดยทั่วไปเกิดจากการสูดดม การกลืน หรือการมีบาดแผลที่ผิวหนังไปสัมผัสกับดิน ฝุ่นละออง หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว11

           หลังจากที่ได้เรียนรู้สาเหตุและความผิดพลาด สิบปีต่อมาสวนสัตว์สิงคโปร์ก็นำเข้ากอริลลาอีกครั้ง โดยนำเพศผู้ 2 ตัว จากประเทศเนเธอร์แลนด์และเลี้ยงในพื้นที่ปิดโดยไม่ให้มีการสัมผัสกับพื้นดินโดยตรง12  เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตามไม่กี่เดือนหลังจากนั้น กอริลลาตัวหนึ่งก็ตายจากการติดเชื้อเมลิออยโดซิสเหมือนเดิม จากรายงานการตายของกอริลลาพบว่าเกิดจากเศษดินที่ถูกพัดเข้ามาทางช่องระบายอากาศ สวนสัตว์สิงคโปร์จึงรีบนำกอริลลาที่เหลืออีกหนึ่งตัวส่งกลับไปยังเนเธอร์แลนด์พร้อมอัดยาปฏิชีวนะโดยทันที13  เพื่อไม่ให้กอริลลาตัวสุดท้ายตายด้วยโรคพื้นถิ่นเหมือนกับทุกตัวที่ผ่านมา

           จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงปัญหาของการเลี้ยงกอริลลาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จำเป็นจะต้องให้กอริลลาอาศัยอยู่ในพื้นที่ปิดและเข้มงวดกับสภาพแวดล้อมแบบปลอดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อที่เป็นพาหะให้เกิดโรคเมลิออยโดซิส แรกเริ่มเดิมทีกอริลลาไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นแต่ถูกนำเข้ามาเลี้ยงจากการขนส่งระหว่างประเทศ จากกรณีของสวนสัตว์สิงคโปร์จึงแน่ชัดแล้วว่า กอริลลาไม่สามารถอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมแบบเปิดในประเทศไทยและพื้นที่อื่นในภูมิภาคนี้ได้เนื่องจากกอริลลาไม่สามารถปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคระบาดพื้นถิ่นนี้ได้ ความสำเร็จของสวนสัตว์พาต้าในการจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับกอริลลาในฐานะที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ การเลี้ยงดูหรือดูแลกอริลลาจึงเป็นเรื่องของการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์ (Multispecies Care) ที่ไม่ได้คำนึงถึงแค่ชีวิตของกอริลลาเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยสิ่งมีชีวิตอื่น (Burkholderia pseudomallei และมนุษย์) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย14  ชีวิตของกอริลลาที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์นี้จึงต้องพึ่งพามนุษย์ในฐานะที่มนุษย์ช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอกเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ การดำรงอยู่ของบัวน้อยในปัจจุบันจึงเป็นความสำเร็จของสวนสัตว์พาต้าที่เข้าใจความอ่อนไหวของกอริลลาต่อสภาพแวดล้อมภายนอก ทั้งในด้านอาหาร ระบบสุขภาพ การฆ่าเชื้อก่อนเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ การออกแบบที่อยู่อาศัย ห้องกระจกที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างภายในกับภายนอก ตลอดจนทำเลที่ตั้งบนดาดฟ้าตึกที่อาจมีส่วนช่วยลดการสัมผัสกับฝุ่นละอองหรือเศษดินจากภายนอก

           วิธีคิดแบบ Anthropomorphism ของผู้คนภายนอกที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับบัวน้อย ทำให้มุมมองด้านการจัดการสภาพแวดล้อมของบัวน้อยถูกมองในฐานะเดียวกันกับการจัดการสภาพแวดล้อมของมนุษย์ที่มนุษย์มีความต้องการคุณลักษณะอันพึงประสงค์ประการต่าง ๆ โดยที่มองข้ามความแตกต่างเชิงพื้นที่คือการเป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาจากสภาพแวดล้อมหนึ่งและต้องอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมใหม่ สถานะของบัวน้อยจึงเป็นสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันกับโรคระบาดและสภาพแวดล้อมแบบใหม่ซึ่งก็คือประเทศไทยหรือประเทศสิงคโปร์ และความแตกต่างทางสายพันธุ์ที่มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นมีความต้องการที่แตกต่างกันในการดำรงชีวิต ในอีกด้านหนึ่งทางสวนสัตว์พาต้าก็มีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับบัวน้อย การปฏิเสธการเคลื่อนย้าย ความละเอียดอ่อนในการเลี้ยงกอริลลาในฐานะสัตว์ต่างถิ่น ทางสวนสัตว์พาต้ายังเน้นย้ำว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีบุคคลหรือหน่วยงานใดเข้ามาศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากสถานที่จริง ๆ ก่อนที่จะนำเสนอโครงการต่าง ๆ

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีผู้หนึ่งผู้ใด หรือหน่วยงานใดที่สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อใช้เวลาศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากในสถานที่และตัวตนที่แท้จริงของบัวน้อย โดยเฉพาะผู้ที่ให้สัมภาษณ์ หรือตลอดจนผู้ที่คิดจัดตั้งโครงการใด ๆ เกี่ยวกับบัวน้อยนั้น ก็ยังไม่เคยมีผู้หนึ่งผู้ใด เข้ามาศึกษาใช้เวลาในสถานที่แห่งนี้ ถึงความเป็นไปได้ในโครงการของตนเองก่อนการนำเสนอ ซึ่งถือเป็นความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากสำหรับการเลี้ยงกอริลลาให้อยู่รอดภายในสวนสัตว์”

“ในอายุขัยเช่นนี้ บัวน้อย ลิงกอริลลาล้ำค่าตัวสุดท้ายของประเทศไทย สามารถตายจากเราไปได้ทุกเมื่อ”15

           คำแถลงการณ์ของสวนสัตว์พาต้าจึงเสมือนเป็นการโต้แย้งวิธีการคิดแทนสัตว์อื่น ที่ผู้คนมุ่งสนใจแต่คุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ในตัวบัวน้อยจนหลงลืม มองข้ามความเป็นบัวน้อยที่ไม่ใช่ในระดับสายพันธุ์ (species) แต่เป็นตัวตน (personification) เช่น อายุขัยของบัวน้อยที่คนทุกผู้ทุกกลุ่มรับรู้ว่าบัวน้อยปัจจุบันอยู่ในช่วงวัยชราซึ่งยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคติดต่อมากขึ้นไปอีก ความเสี่ยงจากการขนย้ายบัวน้อยออก ความเครียดจากการเปลี่ยนสถานที่อยู่อาศัยเดิมที่กลายเป็นความคุ้นชินของบัวน้อยไปแล้วไปยังสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นชิน บัวน้อยในฐานะสิ่งมีชีวิตหนึ่งก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เวลาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และการปรับตัวเข้ากับมนุษย์ผู้ดูแลหรือผู้ที่รับผิดชอบในการเลี้ยงดูด้วย เมื่อมีการย้ายสถานที่เกิดขึ้นจริงแล้วสถานที่รับเลี้ยงแห่งใหม่ยังจะจ้างพนักงานคนเดิมเพื่อให้บัวน้อยรู้สึกคุ้นชินกับมนุษย์คนเดิมอยู่หรือไม่? ซึ่งดูเหมือนว่าที่ผ่านมาการคิดถึงและพยายามแก้ไขปัญหาให้บัวน้อยดูจะเน้นไปที่สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ที่หลาย ๆ คนมองว่าที่อยู่ปัจจุบันของบัวน้อยนั้นถือว่าอยู่ผิดที่ผิดทางและผิดธรรมชาติอีกทั้งยังมีความชำรุดทรุดโทรมของสถานที่? มากกว่าเงื่อนไขสุขภาพ อารมณ์ของบัวน้อยที่คุ้นชินกับสถานที่ปัจจุบัน

           แนวคิดเรื่อง Anthropomorphism ทำให้เราเห็นกระบวนคิดแทนและเปลี่ยนบัวน้อยให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณสมบัติและอารมณ์บางประการเหมือนมนุษย์ ในขณะเดียวกันลักษณะของมนุษย์ที่ถูกนำไปปรับใช้กับบัวน้อยก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังเช่น 2 ย่อหน้าข้างต้นที่มีการนำเอาความเป็นมนุษย์ไปใช้กับบัวน้อยแตกต่างกัน โดยที่เหมือนกันคือทั้งสองย่อหน้ายังคงลักษณะของมนุษย์ไว้ในบัวน้อย ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะว่ารายละเอียดที่แตกต่างกันใน ความแตกต่างในการอธิบายภาพแทนตามแนวคิดแบบ Anthropomorphism จึงขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์กลุ่มใดเป็นผู้ให้รายละเอียด เนื่องจากวัฒนธรรมและมุมมองที่แตกต่างกันของมนุษย์ในแต่ละสังคมหรือปัจเจกล้วนส่งผลให้มุมมอง ระบบคุณค่าและความหมายที่มนุษย์มีต่อสิ่งอื่น ๆ แตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน

 

บรรณานุกรม

Anthropomorphism is the greatest threat to animal welfare. (n.d.). Protect The Harvest. Retrieved Oct 31, 2022, from https://protecttheharvest.com/what-you-need-to-know/anthropomorphism-is-the-greatest-threat-to-animal-welfare/.

Ding, A., Lee, R. H., Legendre, T. S., & Madera, J. (2022). Anthropomorphism in hospitality and tourism: A systematic review and agenda for future research. Journal of Hospitality and Tourism Management, 52, 404-415.

Epley, N., Waytz, A., & Cacioppo, J. T. (2007). On seeing human: a three-factor theory of anthropomorphism. Psychological review, 114(4), 864.

Fink, J. (2012, October). Anthropomorphism and human likeness in the design of robots and human-robot interaction. International conference on social robotics (pp. 199-208). Springer, Berlin, Heidelberg.

Josiah Neo. 10 Secret Facts Of Singapore With “Today I Learnt” Potential Even For Longtime Residents. (2021, 03 Febuary). TheSmartLocal. Retrieved Oct 31, 2022, from https://thesmartlocal.com/read/singapore-secret-facts/.

Rebecca Ratcliffe. (2020). Cher turns attention to mall gorilla after freeing ‘world’s loneliest elephant’. The Guardian. Retrieved Oct 31, 2022 , from https://www.theguardian.com/world/2020/dec/11/cher-mall-gorilla-world-loneliest-elephant-bua-noi-bangkok.

Sim, S. H., Ong, C. E. L., Gan, Y. H., Wang, D., Koh, V. W. H., Tan, Y. K., ... & Tan, G. G. Y. (2018). Melioidosis in Singapore: clinical, veterinary, and environmental perspectives. Tropical Medicine and Infectious Disease, 3(1), 31.

Why Are There No Gorillas in Singapore Zoo?. (n.d.) ExplorerSG. Retrieved Oct 31, 2022, from https://explorersg.com/explorersingapore/why-no-gorillas-singapore-zoo/.

คืนความสุขกอริลลา ‘บัวน้อย’ ปิด - ไม่ปิด? สวนสัตว์ลอยฟ้าฯ. (2557, 25 กันยายน). ผู้จัดการออนไลน์. จาก https://mgronline.com/live/detail/9570000110623.

ชัชชล อัจนากิตติ. (2565, 29 กรกฎาคม). มานุษยวิทยาและการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์ Anthropology and Multispecies Care. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/355

ทส.ช็อก!! ช่วยบัวน้อย กลับไปตายบ้านเกิด พาต้า บอกขาย 30 ล้าน. (2565, 21 ตุลาคม). มติชน. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2565, จาก https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3630451.

ย้อนรอย ‘บัวน้อย’ กอริลลาตัวสุดท้ายเมืองไทย กับดราม่า ‘เงิน 30 ล้าน’ แลก ‘ความผูกพัน’. (2565, 23 ตุลาคม). เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2565, จาก https://www.dailynews.co.th/news/1607838/.

สวนสัตว์พาต้า. (2565, 21 ตุลาคม). คำแถลงการณ์จากสวนสัตว์พาต้า กรณีข่าวการขายบัวน้อยในราคา 30 ล้าน. Facebook. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2565, จาก https://www.facebook.com/1550060755234700/posts/pfbid02ShsKxQ3nBpVU24c3PMdcTRsbKYX9jsfQRgRycfXaPvgY7eg4GqmRkKrv1Hx6YuPWl


1  ทส.ช็อก!! ช่วยบัวน้อย กลับไปตายบ้านเกิด พาต้า บอกขาย 30 ล้าน. (2565). มติชน. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2565, จาก https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3630451.

2  สวนสัตว์พาต้า. (2565, 21 ตุลาคม). คำแถลงการณ์จากสวนสัตว์พาต้า กรณีข่าวการขายบัวน้อยในราคา 30 ล้าน. Facebook. จาก https://www.facebook.com/1550060755234700/posts/pfbid02ShsKxQ3nBpVU24c3PMdcTRsbKYX9jsfQRgRycfXaPvgY7eg4GqmRkKrv1Hx6YuPWl/.

3  คืนความสุขกอริลลา ‘บัวน้อย’ ปิด - ไม่ปิด? สวนสัตว์ลอยฟ้าฯ. (2557, 25 กันยายน). ผู้จัดการออนไลน์.

4  Rebecca Ratcliffe. (2020). Cher turns attention to mall gorilla after freeing ‘world’s loneliest elephant’. The Guardian. Retrieved Oct 31, 2022 , from https://www.theguardian.com/world/2020/dec/11/cher-mall-gorilla-world-loneliest-elephant-bua-noi-bangkok.

5  Fink, J. (2012, October). Anthropomorphism and human likeness in the design of robots and human-robot interaction. In International conference on social robotics. pp. 199 – 200.

6  Epley, N., Waytz, A., & Cacioppo, J. T. (2007). On seeing human: a three-factor theory of anthropomorphism. Psychological review, 114(4), 864.

7  Ding, A., Lee, R. H., Legendre, T. S., & Madera, J. (2022). Anthropomorphism in hospitality and tourism: A systematic review and agenda for future research pp. 404 – 405.

8  Anthropomorphism is the greatest threat to animal welfare. (n.d.). Protect The Harvest. Retrieved Oct 31, 2022, from https://protecttheharvest.com/what-you-need-to-know/anthropomorphism-is-the-greatest-threat-to-animal-welfare/.

9  ทส.ช็อก!! ช่วยบัวน้อย กลับไปตายบ้านเกิด พาต้า บอกขาย 30 ล้าน. (2565). มติชน.

10  ย้อนรอย ‘บัวน้อย’ กอริลลาตัวสุดท้ายเมืองไทย กับดราม่า ‘เงิน 30 ล้าน’ แลก ‘ความผูกพัน’. (2565, 23 ตุลาคม). เดลินิวส์.

11  Sim, S. H., Ong, C. E. L., Gan, Y. H., Wang, D., Koh, V. W. H., Tan, Y. K., ... & Tan, G. G. Y. (2018). Melioidosis in Singapore: clinical, veterinary, and environmental perspectives. Tropical Medicine and Infectious Disease. p. 2.

12  Why Are There No Gorillas in Singapore Zoo?. (n.d.) ExplorerSG. Retrieved Oct 31, 2022, from https://explorersg.com/explorersingapore/why-no-gorillas-singapore-zoo/.

13  Josiah Neo. 10 Secret Facts Of Singapore With “Today I Learnt” Potential Even For Longtime Residents. (2021, 03 Febuary). TheSmartLocal. Retrieved Oct 31, 2022, from https://thesmartlocal.com/read/singapore-secret-facts/.

14  ชัชชล อัจนากิตติ. (2565, 29 กรกฎาคม). มานุษยวิทยาและการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์ Anthropology and Multispecies Care. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

15  สวนสัตว์พาต้า. (2565, 21 ตุลาคม). คำแถลงการณ์จากสวนสัตว์พาต้า กรณีข่าวการขายบัวน้อยในราคา 30 ล้าน. Facebook.


ผู้เขียน

ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ สิงสาราสัตว์ กอริลลา สวนสัตว์กลางกรุง Anthropomorphism ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา