จากมุสลิมสู่ "มุรตัด" : กระบวนการสร้างตัวตนของอดีตเกย์มุสลิม

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 8648

จากมุสลิมสู่ "มุรตัด" : กระบวนการสร้างตัวตนของอดีตเกย์มุสลิม

จากมุสลิมสู่ “มุรตัด” : กระบวนการสร้างตัวตนของอดีตเกย์มุสลิม

From Muslim to Murtad : Self-formation of An Ex-Muslim Gay

ดร.ซัมซู สาอุ อาจารย์ประจําสาขาวิชาการบริหารและการจัดการการศึกษาอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Samsoo Sa-U, Ph.D.
Lecturer at Islamic Educational Administration and Management Program College of Islamic Studies, Prince of Songkla University, Pattani Campus

 

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งหาคําตอบให้กับคําถามการวิจัยหลักที่ว่า ตัวตนของคนที่ละทิ้งศาสนาอิสลามเป็นอย่างไร และมีกระบวนการสร้างตัวตนดังกล่าวอย่างไร ผู้ศึกษาใช้ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์เป็นกรอบในการศึกษา โดยใช้การวิจัยอัตชีวประวัติของเพื่อนผู้ศึกษาคนหนึ่งที่เป็นอดีตมุสลิมที่เป็นเกย์ วิเคราะห์ข้อมูลจากข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดเป็นสาธารณะจํานวนเก้าปี (2553-2562) การพูดคุยทางกล่อง ข้อความ การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มเพื่อน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) ที่สร้างตัวตนตามแบบเกย์ตะวันตก (homonormativity) ส่งผลต่อการถอยห่างออกจากศาสนา เริ่มจากการเปิดเผยตัวตนกับครอบครัว สู่การละทิ้งความศรัทธาในพระเจ้าโดยผ่านกระบวนการ “สื่อสาร-สําราญ-ซึมเศร้า-สร้างสุข” อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าตัวตนดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ยังสร้างไม่เสร็จและเลื่อนไหล เนื่องจากมีความย้อนแย้งในตัวเองเมื่อต้อง กลับเข้าไปในครอบครัวและสังคมมุสลิม

 

การออกจากศาสนา : ความขื่นขมที่ขมขื่น

ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องการออกจากศาสนา (Murtad) และเห็นประเด็นนี้ครั้งแรก เมื่อครั้งเรียนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยอิสลามนานามาเลเซีย เมื่อกรณีการเปลี่ยนศาสนาของสตรีชาวมาเลย์ที่ชื่อLinaJoy (Hamid and Syed, 2007) ซึ่งได้มีการประท้วงและเรียกร้องให้มีการใช้หนึ่งมาตรการที่น่าตกใจคือ การประหารชีวิต แม้ว่าในที่สุดแล้วศาลจะไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนการระบุศาสนาใหม่ก็ตาม แต่ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมพหุวัฒนธรรมองมาเลเซีย

การออกจากศาสนา (apostasy)1 หรือการพ้นสภาพการเป็นมุสลิม หรือที่เรียกกันกว่า “การตก ศาสนา” สําหรับมุสลิมแล้วถือเป็น “บาปใหญ่”และเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกริ้วอย่างมาก ผู้ที่อยู่ในสภาพนี้ จะถูกเรียกว่า “มรุตัด”หรือกลุ่มที่หันกลับสู่การเป็นผู้ออกนอกรีต เนื่องจากการปฏิเสธหลักการอิสลามหลังจาก พวกเขาเป็นมุสลิม และพวกเขาจะตกนรก และพํานักอยู่ในนั้นอย่างถาวรตลอดไป ถ้าหากเขาตายในขณะที่เขาเป็นผู้ออกนอกรีต ดังโองการอัล-กุรอาน ความว่า

“ผู้ใดกล่าวว่าผู้ศรัทธาเป็นผู้ปฏิเสธผู้นั้นก็เป็นผู้ปฏิเสธ ผู้ใดไม่ยอมรับว่าผู้ปฏิเสธเป็นกาฟิรผู้นั้นก็เป็นผู้ปฏิเสธและผู้ใดสงสัยในการปฏิเสธของผู้ปฏิเสธก็จะเป็นกาฟิร”

การออกจากศาสนาเกิดจากการกระทําทางใดทางหนึ่งในสามทางคือ ทางปาก (คําพูด) ทางกาย (การกระทํา) หรือทางใจ (เจตนา) แม้ว่ามาตรการที่มีต่อผู้ที่ออกจากศาสนาจะมีการตีความที่หลากหลายตั้งแต่การให้อิสระในการเปลี่ยนศาสนา การเข้ากระบวนการให้คําปรึกษา หรือมาตรการเอาชีวิตก็ล้วนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และยังมีข้อถกเถียงและมาตรการที่เหมาะสมที่จะใช้อย่างเอกฉันท์ (Nasri and Shiddeq, 2016;MdNasirand Ismail,2016; Mohamadetal.,2017;Moustafa,2018;IslamicReligious Council of Singapore, 2019)

โดยปกติแล้ว การออกจากศาสนาถือเป็นเรื่องสําคัญสําหรับมุสลิมและครอบครัวของเรา ในสังคมมุสลิมเป็นเรื่องยากที่รัฐจะอนุญาตให้เปลี่ยนศาสนาตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่ใช้กฎหมายอิสลาม หรือประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ อย่างไรก็ตามกระแสการเรียกร้องให้มีการยอมรับและเคารพความ ต้องการของบุคคลในการเปลี่ยนศาสนานั้นก็ได้รับความสนใจจากสังคมปัจจุบัน เช่น จากข่าวเรื่อง “ศาลมาเลเซียอนุญาตให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนศาสนาได้” (กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวี, 2559) โดยผู้พิพากษาได้อ้าง บทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาให้มีการเปลี่ยนศาสนาได้โดยไม่ต้องผ่านศาลศาสนา และผู้เปลี่ยนศาสนาสามารถยื่นเรื่องให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ด้านศาสนาของรัฐว่าเขาได้เปลี่ยนศาสนาแล้ว

หรือในกรณีของ นางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-กูนุน (Rahaf Mohammed al-Qunun) สาวชาวซาอุดิอะราเบียที่หนีออกจากประเทศและขอสถานะผู้ลี้ภัย โดยหนึ่งในคือเพื่อต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไม่ผูกมัดกับศาสนาเดิมที่เธอเคยศรัทธา (Webb-Liddall, 2019) ซึ่งได้จุดประกายคําถามเกี่ยวกับสาเหตุของการออกจากศาสนาและบทลงโทษที่เหล่า “มุรตัด”จะได้รับ

สําหรับในประเทศไทย การเปลี่ยนศาสนาอิสลามของผู้คนไปเป็นศาสนาอื่นนั้นไม่ได้มีบันทึกไว้มากนัก กรณีที่บันทึกในประวัติศาสตร์คือ การเปลี่ยนจากมุสลิมเป็นพุทธศาสนิกของต้นตระกูลบุนาคในสมัยกรุงศรีอยุธยา (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2550) และกรณีของเจ้าจอมมารดาเรียม (มาเรียม) หรือต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าเมืองนนทบุรี โดยมีชนนีที่สืบเชื้อสายจากสุลต่านสุไลมานแห่ง สงขลา (เล็ก พงษ์สมัครไทย, 2546) แต่การศึกษาในเรื่องดังกล่าวจึงยังอยู่ในวงจํากัด แม้ว่าน่าจะมีกรณีการเปลี่ยนศาสนาเกิดขึ้นกับสามัญชนไป แต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ในวงการวิชาการที่สามารถสืบค้นได้

มัสลัน มาหะมะ (ม.ป.ป.) ได้อธิบายถึงการลงโทษในอิสลามว่า เมื่อมุสลิมละทิ้งศาสนาอิสลามจะมีความผิดฐานพ้นจากศาสนา ความผิดฐานพ้นจากศาสนาจะเกิดขึ้นกับมุสลิมเท่านั้น ไม่ว่าจะโดยการกระทํา เช่น การบูชาเจว็ด หรือดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ เป็นต้น หรือปฏิเสธความเชื่อ หรือไม่ยอมรับปฏิบัติตาม หลักการอิสลาม เช่น ความเชื่อในวันปรโลก ไม่ยอมรับการละหมาด การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือดูหมิ่น ศาสนาอิสลามและหลักคําสอน หรือเชื่อในสิ่งที่ขัดกับหลักการอิสลาม เช่น เชื่อการเป็นนิรันดร์ของจักรวาล และเชื่อว่าจักรวาลนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเงื่อนไขในการลงโทษว่า จะต้องเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่พ้นจากศาสนาในการอธิบายความหมายของคําหรือประโยคที่เขาได้กล่าวออกมาและทําให้เขาพ้นจากศาสนาอิสลาม ซึ่งบทลงโทษของความผิดฐานพ้นจากศาสนาคือการประหารชีวิตหลังจากที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้กระทําความผิด สํานึกบาป

แม้ว่าบทลงโทษหรือสิ่งที่ตามหลังจากการละทิ้งศาสนาสําหรับมุสลิมจะดูน่ากลัว แต่ก็มีมุสลิมจํานวนหนึ่งที่ละทิ้งศาสนาเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในประเทศตะวันตก (สํานักข่าวบีบีซี, 2561; Anthony, 2015; TheEconomist, 2018) ข่าวเรื่อง “คนรุ่นใหม่ในตุรกีเปิดใจ ทําไมเลิกเชื่อในพระเจ้า?” ที่เผยแพร่โดยสํานักข่าวบีบีซี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 (สํานักข่าวบีบีซี, 2561) นั้นสร้างกระแสในสังคมมุสลิมอยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากการตั้งคําถามเร่ืองกลุ่ม ตัวอย่างที่ไปสัมภาษณ์ว่ามีอยู่แค่ “หยิบมือ” แต่สร้างกระแสอิสลามุวัตร (Islamization) ที่ประเทศตุรกีการสนับสนุนอยู่ไม่น้อย มีการแชร์ข่าวนี้และเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลงโทษผู้ที่ออกจากศาสนาที่ต้อง “ประหารชีวิต” เท่านั้น

 

อ่านบทความฉบับเต็ม  จากมุสลิมสู่ "มุรตัด" : กระบวนการสร้างตัวตนของอดีตเกย์มุสลิม

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา