ความรู้และอำนาจ เบื้องหลังเซ็กและโสเภณี
การวิพากษ์ทฤษฎีของเซ็กและโสเภณี
ในปี 1984 เกล รูบิ้นเขียนบทความเรื่อง Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality เพื่อที่จะวิพากษ์ทฤษฎีเฟมินิสต์ที่มีอิทธิพลต่อการอธิบายเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี บทความนี้พูดอย่างชัดเจนว่าเรื่องเซ็กเป็นเรื่องการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ เซ็กมิใช่กิจกรรมทางธรรมชาติ แต่เป็นปฏิบัติการเชิงอำนาจและความรู้ที่สังคมนำมาควบคุมและจักระเบียบพฤติกรรมและความปรารถนาทางเพศ รูบิ้นนำความคิดของมิเชล ฟูโกต์ ในเรื่องThe History of Sexuality Vol.1(1978) มาขยายความว่าคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังคมอเมริกันและยุโรป การเคลื่อนไหวทางสังคมมีเป้าหมายเพื่อทำลาย “ความชั่วร้าย” ของสังคม ความชั่วร้ายนี้รวมเรื่องเซ็กเข้าไปด้วย เซ็กจะกลายเป็นพรมแดนที่จะถูกตรวจสอบ ถูกเพ่งเล็ง ถูกเปิดเผย ถูกวิจารณ์ ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด ตั้งแต่เตียงนอนไปจนถึงพื้นที่สาธารณะ ชีวิตทางเพศของบุคคลจะมิใช่เรื่องส่วนตัวแต่จะเป็นเรื่องทางการเมืองที่ “อำนาจ” จะเข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา
รูบิ้นเรียกกระบวนการทำให้เซ็กเป็นความชั่วร้ายว่า “สงครามแห่งศีลธรรม” นักรบในสงครามนี้ก็คือเฟมินิสต์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางสังคม เป้าหมายของสงครามก็เพื่อที่จะทำลายและกำจัดเซ็กที่ชั่วร้ายออกไปจากสังคม ทำไมเซ็กจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสงครามแห่งศีลธรรมนี้ไปได้ คำถามนี้ ฟูโกต์เคยยกขึ้นมาด้วยการตั้งข้อสงสัยเรื่อง “การกดทับทางเพศ” (Sexual Repression) ซึ่งเป็นจริตทางศีลธรรมของสังคมที่ใช้ความรู้แบบวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือจัดระเบียบสังคม แต่ความรู้ไม่ได้มาแบบโดดๆ มันยังเป็นเครื่องมือของอำนาจที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถบ่งการและชี้นำความจริงเกี่ยวกับเพศ ความรู้และอำนาจจึงเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน สองสิ่งนี้เคลื่อนตัวไปในสังคมด้วยเทคนิคและกลไกที่ซับซ้อน โดยไม่จำเป็นต้องปรากฎอยู่ในกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่รัฐสร้างขึ้นเท่านั้น แต่มันยังปรากฎอยู่ในรูปของ “พลัง” ที่สร้างสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสร้าง “ตัวตนทางเพศ” รูบิ้นต่อยอดข้อสังเกตนี้ด้วยการอธิบายว่าพลังที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเซ็กคือผลผลิตของศีลธรรมทางเพศที่บ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยวิคตอเรียน และดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างที่ชัดเจนของศีลธรรมทางเพศก็คือ โสเภณี หรือการขายบริการทางเพศ (เซ็กเพื่อแลกกับเงิน) ในมิติทางประวัติศาสตร์ โสเภณีคือผู้ที่ให้บริการความสุขทางเพศแก่คนอื่นที่มิใช่สามีหรือภรรยาของตน ซึ่งมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ที่ทำหน้าที่นี้มิใช่คนที่ชั่วร้ายหรือไร้ศีลธรรม แต่ความหมายของโสเภณีค่อยๆเปลี่ยนไปสู่เรื่องศีลธรรม หรือความดี/ความเลวของบุคคลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 รูบิ้นโจมตีระบบศีลธรรมแบบวิคตอเรียนที่มองโสเภณีว่าต่ำทราม ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่บริการความสุขทางเพศกลายเป็น “คนชั่ว” (หญิงชั่วหรือชายชั่ว) วัฒนธรรมวิคตอเรียนพยายามจัดช่วงชั้นของเซ็ก โดยให้คุณค่ากับเซ็กที่เกิดขึ้นระหว่างหญิงชายที่แต่งงานกันถูกต้องตามประเพณีเท่านั้น ส่วนเซ็กที่มิได้เกิดจากการแต่งงานจะถือว่าสกปรก ต่ำช้า ผิดศีลธรรม ชายและหญิงที่ยังไม่แต่งงานหรือแต่งงานแล้วแต่ไปมีความสัมพันธ์เชิงสังวาสกับคนอื่นก็จะถูกตำหนิว่าทำผิดศีลธรรม รูบิ้นกล่าวว่าโสเภณีจะกลายเป็นเป้าโจมตีของระบบศีลธรรมแบบนี้ เพราะมีกิจกรรมทางเพศที่อยู่นอกบรรทัดฐานการแต่งงาน หญิงชายที่ขายบริการทางเพศจึงถูกทำให้กลายเป็นคนที่ไร้ค่า ต่ำต้อย น่ารังเกียจ ราวกับเป็นเชื้อโรคทางสังคม สังคมที่ยึดในศีลธรรมทางเพศแบบวิคตอเรียจึงพยายามกวาดล้าง ไล่ล่า ปราบ และทำลายโสเภณี เพราะเชื่อว่าโสเภณีคือ “ความชั่ว” ของสังคม
ทฤษฎีเฟมินิสต์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบศีลธรรมทางเพศ เฟมินิสต์แนวสุดโต่ง (Radical Feminist) สนใจการกดขี่ข่มเหงผู้หญิง และโจมตีการค้ากามว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง (Woman’s Subordination) ผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศจะกลายเป็นเพียง “วัตถุ” ที่มีไว้เพื่อบำบัดความใคร่ของผู้ชายเท่านั้น คุณค่าของผู้หญิงจะหายไปและกลายเป็นคนที่ไร้ศักดิ์ศรี (Degradation) เฟมินิสต์แนวสุดโต่งและอนุรักษ์นิยมจำนวนมากต้องการกำจัดการค้ากามให้หมดไปจากสังคม เพราะการค้ากามคือสัญลักษณ์แห่งอำนาจของผู้ชาย (Weitzer, 2005) ความคิดดังกล่าวนี้ทำให้ระบบศีลธรรมทางเพศมีพลังและแทรกซึมไปในสังคม เฟมินิสต์จะกลายเป็น “นายหน้า” ที่ทำให้เรื่องเซ็กนอกสถาบันการแต่งงานกลายเป็นเรื่องชั่วร้ายและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ การมองแบบนี้เป็นการมองโสเภณีแบบเหมารวมและมองข้ามบริบททางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการมีอยู่ของโสเภณี เช่น การศึกษาของแบร์รี(1995) ที่อธิบายว่าการกดขี่ทางเพศดำรงอยู่ในการขายบริการทางเพศซึ่งรองรับระบบปิตาธิปไตย การที่สังคมยอมให้มีโสเภณีก็เท่ากับยอมให้ผู้ชายกดขี่ผู้หญิง วาทกรรมที่เฟมินิสต์แนวสุดโต่งสร้างขึ้นทำให้ผู้ชายซื้อบริการทางเพศกลายเป็น “ปีศาจ” เป็นคนที่เห็นแก่ตัวที่หิวกระหายเซ็ก ในขณะที่ทำให้ผู้หญิงที่เป็นโสเภณีกลายเป็น “เหยื่อทางเพศ” เป็นคนที่น่าสมเพช เป็นทาสกามารมณ์ของผู้ชาย
ในขณะเดียวกัน เฟมินิสต์หัวก้าวหน้า หรือ Sex-Positive Feminist ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อที่จะยืนยันว่าผู้หญิงสามารถแสวงหาความสุขทางเพศได้ โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับสถาบันการแต่งงาน เฟมินิสต์หัวก้าวหน้า เช่น เลสเบี้ยนเฟมินิสต์มองว่าโสเภณีคือ “ทางเลือก” ที่ผู้หญิงสามารถกำหนดชะตากรรมและความปรารถนาทางเพศของตนเอง ผู้หญิงควรจะมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง นอกจากนั้น ยังชี้ว่าธุรกิจทางเพศไม่ได้มีมิติทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว แต่ยังมีมิติเชิงบวกอื่นๆ ผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศไม่จำเป็นต้องข่มขืนหรือหดหู่กับงานของตัวเองเสมอไป เพราะผู้หญิงสามารถแสวงหาความสุขกับลูกค้าในรูปแบบต่างๆมากกมาย เซ็กจึงเป็นเพียงความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น การขายบริการทางเพศก็มิใช่สิ่งที่ชั่วร้าย เฟมินิสต์หัวก้าวหน้าหลายคนจึงออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนให้การขายบริการทางเพศเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
การโต้แย้งระหว่างเฟมินิสต์สองกระแส คือความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มที่มองเซ็กเป็นของต่ำ (ต่อต้านโสเภณี) กับกลุ่มที่มองเซ็กเป็นเสรีภาพ (สนับสนุนโสเภณี) รูบิ้นกล่าวว่าการโต้แย้งแบบนี้เป็นการมองเซ็กแบบคู่ตรงข้าม ซึ่งเป็นปัญหาของตรรกะแบบเหตุผลนิยม เราไม่สามารถตัดสินเซ็กว่าเป็นขาวหรือดำได้ เพราะเซ็กมิใช่วัตถุสิ่งของในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนที่ถูกนิยามและจัดระเบียบภายใต้วาทกรรมความรู้ ดังนั้นการโต้แย้งว่าโสเภณีคือความต่ำทรามหรือเสรีภาพ จึงเป็นการโต้แย้งที่มองข้ามความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการอำพรางตัวของอำนาจ เพราะภายใต้ข้อโต้แย้งของเฟมินิสต์ทั้งสองกระแส วาทกรรมเรื่องเพศก็ยังคงมีอำนาจในการสร้างบรรทัดฐานและศีลธรรม เฟมินิสต์ที่ต่อต้านโสเภณีก็จะใช้วาทกรรมเรื่องความบริสุทธิ์ของผู้หญิงและการกดขี่ของผู้ชาย ส่วนเฟมินิสต์ที่สนับสนุนโสเภณีก็จะใช้วาทกรรมเรื่องอิสรภาพและการปลดปล่อยตัวตน
การโต้แย้งเกี่ยวกับเซ็กในกรณีโสเภณี คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าเซ็กจะกลายเป็นเรื่องทางการเมืองระหว่างผู้ที่ต่อต้านและผู้สนับสนุน ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นสองด้าน แต่การโต้แย้งแบบนี้คือผลผลิตของอุดมการณ์สมัยใหม่ของเซ็ก หรือเซ็กภายใต้บ่งการของอำนาจ กล่าวคือตรรกะแบบเหตุผลนิยมและความรู้เชิงวัตถุวิสัยแบบวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับการตัดสิน “ความจริงแท้” ของเซ็ก ไม่ว่าเราจะต่อต้านหรือสนับสนุนโสเภณี เราก็ยังใช้ตรรกะแบบเหตุผลนิยม ดังนั้น การทำความเข้าใจเซ็กของโสเภณีจึงมิใช่การแสวงหาหนทางปลดปล่อยหรือปิดกั้น หากแต่เป็นการวิพากษ์วิธีคิดและกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่รองรับอำนาจความรู้เกี่ยวกับเรื่องเซ็ก สำหรับรูบิ้น เป้าหมายของการวิพากษ์เซ็กคือการชี้ให้เห็นพรมแดนของความรู้ที่ใช้อธิบายสิ่งที่เรียกว่า “พฤติกรรมเซ็ก” กับสิ่งที่เรียกว่า “เพศภาวะ” สองสิ่งนี้มิใช่สิ่งเดียวกัน เฟมินิสต์ไม่สามารถนำเอาเพศภาวะของผู้หญิงไปเป็นตัวแทนของพฤติกรรมเซ็กได้ ความเป็นหญิงเป็นเรื่องของบทบาททางสังคม ส่วนพฤติกรรมเซ็กเป็นเรื่องของการแสดงอารมณ์ปรารถนา ถ้านำเอาความเป็นหญิงไปตัดสินอารมณ์ปรารถนา เฟมินิสต์ก็จะมองเซ็กเป็นแค่เรื่องการกดทับหรือการปลดปล่อยผู้หญิงเท่านั้น เราควรจะวิพากษ์สิ่งที่เรียกว่าเพศภาวะผู้หญิง ในฐานะเป็นอำนาจที่ครอบงำชีวิต และมองเรื่องพฤติกรรมเซ็กในฐานะเป็นปฏิบัติการที่รองรับอำนาจ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเฟมินิสต์ทั้งสองกระแสก็คือ การยึดมั่นในความเป็นผู้หญิง หรือตัวตนผู้หญิงแบบตายตัว ทำให้การมองเซ็กของโสเภณีกลายเป็นเรื่องของการกดทับและปลดปล่อยผู้หญิงเท่านั้น เฟมินิสต์มองไม่เห็นข้อจำกัดของวาทกรรม “ความเป็นผู้หญิง”ที่มีอิทธิพลต่อการเมืองเรื่องเพศ
จากข้อสังเกตที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นว่าทฤษฎีเซ็กของเฟมินิสต์ ทำให้โสเภณีกลายเป็นเรื่องของ “ตัวตนทางเพศ” ที่กำลังถูกกดขี่ข่มเหงหรือเป็นการปลดปล่อยให้มีอิสระ การอธิบายปรากฎการณ์ของโสเภณีในลักษณะนี้คือสิ่งที่แพร่หลายในสังคม ไม่เฉพาะวงการเฟมินิสต์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวงวิชาการสาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา มานุษยวิทยา สาธารณสุข ประชากรศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ทฤษฎีตัวตนทางเพศของผู้ขายบริการแทรกซึมเข้าไปอยู่ในกระบวนการสร้างความรู้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความรู้เหล่านั้นคือผลผลิตของอุดมการณ์สมัยใหม่ที่ทำให้เรื่องเซ็กกลายเป็นความจริงแท้ที่ก่อกำเนิดจากตัวตนและจิตสำนึกของปัจเจก ดังนั้น สิ่งที่รูบิ้นและฟูโกต์ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะมองโสเภณีในฐานะเป็นผลผลิตของอำนาจความรู้ มิใช่เป็นตัวตนทางเพศที่แสวงหาความบริสุทธิ์หรือเสรีภาพ
เซ็กของโสเภณี
การวิจัยเกี่ยวกับโสเภณีที่ผ่านมา มักจะสนใจตัวคนที่เป็นโสเภณี หรือคนที่ขายบริการทางเพศ(ทั้งชาย หญิง และเด็ก) นักวิจัยจะลงไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลกับโสเภณี และนำเรื่องเล่าหรือประสบการณ์ของโสเภณีมาถ่ายทอดเพื่อชี้ให้เห็นว่าชีวิตของโสเภณีต้องเจอกับอะไรบ้าง เช่น ปัญหาครอบครัว ความยากจน การไม่มีความรู้ ตกงาน รวมถึงการเข้าสู่อาชีพขายบริการ งานวิจัยพยายามจะชี้ให้เห็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลกลายเป็นโสเภณี และมักจะมองว่าอาชีพนี้มีไว้สำหรับคนที่ไม่มีทางเลือก โสเภณีจึงถูกมองเป็นเพียง “งานชั้นต่ำ” สำหรับคนจนและคนที่ไม่มีความรู้ เมื่อเป็นเช่นนั้น การขายบริการทางเพศจึงถูกอธิบายด้วยิวธีคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมองว่าโสเภณีคือการนำร่างกายมาแลกกับเงิน เซ็กจะถูกมองเป็นวัตถุที่มีไว้แลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจ โสเภณีคือผู้ “ขายร่าง” ส่วนผู้ใช้บริการคือผู้ที่ใช้เงินซื้อความสุขทางเพศ ความสัมพันธ์ระหว่างโสเภณีกับลูกค้าจึงเป็นเรื่องทางวัตถุ (Monto and Julka, 2009)
เซ็กของโสเภณีจึงกลายเป็นเรื่องของวัตถุ การวิจัยเชิงนโยบายมักจะมองการค้าบริการทางเพศเป็น “ปัญหาสังคม” และ “ปัญหาสุขภาพ” พร้อมกับการตีตราว่าเป็น “ปีศาจ” ซึ่งทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโสเภณีเป็นเรื่องของเซ็กที่ผิดประเพณีและเป็นสัญลักษณ์ของโรคติดต่อ(กามโรค) การมองโสเภณีแบบนี้เป็นการตอกย้ำว่าการใช้เซ็กแลกเงินคือความตกต่ำทางศีลธรรม โสเภณีจะถูกมองว่าไม่มีศักดิ์ศรี เป็นผู้แพร่เชื้อโรค ลูกค้าจะถูกมองว่า “มักมาก” ในกาม หรือเป็นคนที่มีตัณหาราคะ ความเข้าใจดังกล่าวนี้เป็นการมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมองว่าเมื่อเซ็กกลายเป็นสินค้า คุณค่าของมนุษย์จะหมดไป (Dehumanization) ความเป็นมนุษย์จะถูกวัดด้วยเรื่องเซ็ก และเซ็กที่อยู่นอกระบบศีลธรรมก็จะเป็นความชั่วทั้งหมด ในการศึกษาของมอนโตและจุลก้า(2009) พบว่าการอธิบายโสเภณีด้วยมิติทางเศรษฐกิจมักจะนำไปสู่การถกเถียงว่าโสเภณีควรจะเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะมีผู้ที่ออกมาต่อต้านและสนับสนุน ผู้ที่ต่อต้านมองว่าโสเภณีจะทำให้สังคมไร้ศีลธรรมหรือเสพติดเซ็ก จะทำให้เกิดการล่อลวงผู้หญิงและเด็กให้มาขายบริการทางเพศ ผู้ที่สนับสนุนมองว่าโสเภณีคืออาชีพ เป็นรูปแบบการทำมาหากินอย่างหนึ่ง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของโสเภณีมิได้เป็นไปตามความเชื่อนี้ ยังมีมิติอื่นๆที่นอกเหนือไปจากเศรษฐกิจ
คำถามคือ เซ็กของโสเภณีที่มิใช่การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ คืออะไร มอนโตและจุลก้า(2009) ตอบคำถามนี้ด้วยการเก็บข้อมูลจากผู้ชายที่ซื้อบริการจากหญิงขายบริการตามท้องถนน พบว่าผู้ชายที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ซึมซับความคิดเรื่องการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและไม่คิดว่าตนเองจะมีความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับหญิงขายบริการ แต่ผู้ชายอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้คิดว่าการซื้อบริการทางเพศเป็นการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผู้ชายเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับหญิงขายบริการแบบระยะยาวหรือเป็น “ขาประจำ” มากกว่าจะเป็นเพียงคนที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ความสัมพันธ์แบบนี้มิใช่เรื่องการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของความผูกพันทางใจ หญิงขายบริการจะเปรียบเสมือนเพื่อนใจและผู้ที่มอบความสุขให้กับผู้ชาย ในการศึกษาของจอร์แดน(1997) พบว่าผู้ชายบางคนเลือกที่จะแสวงหาความสุขด้วยการอยู่กับหญิงขายบริการ ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อระบายความใคร่ แต่เพื่อต้องการหาคนที่รู้ใจ คนที่เข้าใจ สามารถแบ่งปันความรู้สึกที่ดีต่อกันได้ และเป็นไปได้ที่ผู้ชายจะแสดงถึงความรักต่อหญิงขายบริการ
ในการศึกษาของแซตส์(1995) พบว่าการมองเซ็กของโสเภณีเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ เพราะเซ็กไม่ใช่เรื่องทางวัตถุแต่เป็นเรื่องของความรู้สึก เซ็กทำให้มนุษย์มีความสุขและเบิกบานใจ เป็นการตอบสนองอารมณ์ปรารถนาที่มนุษย์พึงจะมีได้อย่างเท่าเทียมกัน แซตส์มองว่าโสเภณีมิใช่การค้าขาย แต่โสเภณีเป็นผู้ให้ความสุขทางเพศแก่ผู้อื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมมักจะตัดสินเซ็กในฐานะเป็นวัตถุและมองโสเภณีว่าเป็น “ผู้ขายบริการ” ซึ่งทำให้เซ็กเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ การมองโสเภณีด้วยทัศนะแบบนี้ยิ่งทำให้เกิดการตีตราผู้ที่อยู่ในเส้นทางนี้ แซตส์เสนอว่าเซ็กของโสเภณีมิใช่สิ่งที่ผิดและไม่ควรมีกฎหมายลงโทษผู้ที่ให้บริการทางเพศ ผู้ที่ให้ความสุขทางเพศแก่ผู้อื่นคือผู้ที่เลือกกระทำสิ่งนี้จากหลายเงื่อนไข เราไม่สามารถเหมารวมว่าผู้ให้บริการทางเพศทุกคนคิดแบบเดียวกันหรือได้รับผลกระทบในแบบเดียวกัน ผู้ให้บริการทางเพศจะเป็นใครก็ได้ มีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่สังคมมักจะ “จับผิด” โสเภณีโดยตีตราว่าเป็นคนที่มีปัญหาชีวิต ยากจน ติดยา ไร้การศึกษา ตกงาน ไม่มีความรู้ความสามารถ ไปจนถึงคนที่ถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงานตามคำสั่งของแมงดาหรือแม่เล้า ทัศนคติเหล่านี้คือความคิดกระแสหลักที่สังคมนำไปอธิบายโสเภณี
แซตส์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ร่างกายของโสเภณีมิใช่วัตถุสินค้าตามท้องตลาด แต่เป็นพื้นที่ของความหมายที่ทำให้บุคคลรู้สึกเป็นเจ้าของ ผูกพัน และต้องดูแลเอาใจใส่ การที่โสเภณีนำร่างกายของตนไปปรนเปรอความสุขทางเพศให้ผู้อื่น มิใช่การนำเอาสินค้าไปขาย แต่เป็นการนำเอาสิ่งที่มีค่าต่อชีวิตไปให้ผู้อื่นเชยชม การมองร่างกายของโสเภณีในฐานะเป็นของรักของห่วงและเป็นสิ่งที่มีค่า จะช่วยให้เราเห็นว่าชีวิตของโสเภณีต้องสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกที่ตนเองมีต่อร่างกายของตนและร่างกายของผู้อื่นตลอดเวลา ดังนั้นการใช้ร่างกายของโสเภณีจึงเต็มไปด้วยการปฏิบัติเชิงคุณค่าและความหมาย มากกว่าจะมองร่างกายเป็นสินค้าที่ไร้ชีวิตและความรู้สึก ร่างกายของโสเภณีจึงไม่ได้แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่ดำรงอยู่ร่วมกับตัวตนและความรู้สึก ฉะนั้น เมื่อโสเภณีให้ความสุขทางเพศกับคนอื่นก็เปรียบเสมือนการนำตัวตนของตนเองไปสื่อสารกับคนอื่น ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างโสเภณีกับผู้ที่แสวงหาความสุขจากโสเภณีจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก มิใช่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ต้นทุนหรือกำไร การมองโสเภณีจากมิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะทำให้เรามองข้ามความหมายทางอารมณ์ที่ปรากฎอยู่บนร่างกายของโสเภณี
ปัญหาต่อมาคือ สังคมมักมองว่าเซ็กของโสเภณีคือความต่ำทราม เนื่องจากมองว่าเซ็กที่มิได้เกิดจากความรัก เซ็กที่เกิดกับคนแปลกหน้า คือสิ่งที่ผิดและลดค่าความเป็นมนุษย์ การมองเซ็กในแบบนี้จะนำไปสู่การตีตราว่าโสเภณีคือคนที่ไม่มีค่า ไม่มีเกียรติ และทำลายศักดิ์ศรีของตัวเอง ตรรกะที่สนับสนุนความคิดนี้ก็คือ การมองว่าตัวตนทางเพศของบุคคลเป็นสิ่งเดียวกับพฤติกรรมและการกระทำทางเพศ เมื่อนำการปฏิบัติไปรวมกับตัวตนก็จะทำให้เห็นว่าการมีเซ็กกับคนแปลกหน้าคือความผิด เฟมินิสต์แนวอนุรักษ์นิยมมักจะมองด้วยความคิดเช่นนี้ โดยย้ำว่าผู้หญิงที่ยอมเอาตัวเองไปเป็นผู้บำบัดความใคร่ให้ผู้ชายแปลกหน้าคือการทำลายคุณค่าความเป็นหญิง หรือเป็นการยอมจำนนตออำนาจผู้ชาย เฟมินิสต์แนวอนุรักษ์นิยมเชื่อว่าโสเภณีคือการทำให้ผู้หญิงเป็นทาสและไม่มีอิสรภาพ แซตส์วิจารณ์ความคิดเช่นนี้ว่าเป็นการมองเซ็กแบบสารัตถะนิยมที่เชื่อว่าตัวตนที่แท้จริงดำรงอยู่ในการปฏิบัติทางเพศ เราไม่ควรมองเซ็กว่าเป็นจุดกำเนิดของตัวตน แต่ควรมองเซ็กเป็นการแสดงออกทางร่างกาย ซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย เซ็กของโสเภณีจึงไม่จำเป็นต้องเป็นความขมขื่น เจ็บปวดทรมาน หรือไร้ชีวิตชีวา แต่ควรจะเป็นพรมแดนของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางร่างกายและอารมณ์ระหว่างโสเภณีกับคนที่มีความสัมพันธ์กับโสเภณี
สังคมมีความคิดเกี่ยวกับเซ็กในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด และจะยอมรับเซ็กที่เกิดจากความรัก การแต่งงาน และความสัมพันธ์ระหว่างผัวเมียเท่านั้น เซ็กที่อยู่นอกสิ่งเหล่านี้จะถูกรังเกียจ นอกจากนั้น เฟมินิสต์แนวอนุรักษ์นิยมทั้งหลายพยายามตอกย้ำความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงไม่ควรตกเป็นทาสหรือเป็นฝ่ายถูกกระทำทางเพศโดยผู้ชาย สิ่งที่ตามมาจากความคิดแบบนี้ก็คือโสเภณีคือการตอกย้ำอำนาจชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ครอบงำสังคม แซตส์กล่าวว่าการมองโสเภณีว่าเป็นอำนาจของผู้ชาย จะทำให้เรามองข้ามวิธีการที่ผู้หญิงสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชาย เซ็กของผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำเสนอไป ไม่จำเป็นต้องแสดงความอ่อนหวาน หรืออ่อนแอ ผู้หญิงสามารถแสดงออกเกี่ยวกับเซ็กได้หลายลักษณะ แนวคิดเรื่องกุลสตรี พรมจารี ความเป็นแม่ คือความบิดเบือนต่อการอธิบายประสบการณ์เซ็กของผู้หญิง ดังนั้น เซ็กของโสเภณีจึงมิใช่หลักฐานที่ยืนยันอำนาจที่เหนือกว่าของผู้ชาย และมิใช่ภาพสะท้อนการเป็นเหยื่อทางเพศของผู้หญิง แต่เซ็กของโสเภณีคือพรมแดนที่เปิดกว้างที่ผู้หญิงสามารถแสดงออกถึงกามารมณ์ที่อยู่นอกบรรทัดฐาน
แซตส์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าโสเภณีจะเป็น “ความผิด” ก็เป็นเพราะโสเภณีนำเอาความคิดของเฟมินิสต์แนวอนุรักษ์นิยมมาใช้กับตัวเอง และผู้ชายก็นำเอาบรรทัดฐานทางเพศแบบชายเป็นใหญ่มาใช้กับตัวเอง ดังนั้น อำนาจความรู้เรื่องเพศที่ชี้นำสังคมจึงเป็น “ปัญหา” โสเภณีมิใช่ปัญหาแต่อย่างใด เราจำเป็นต้องตรวจสอบกระบวนทัศน์ ค่านิยม ความเชื่อ และบรรทัดฐานทางเพศที่ถูกสร้างขึ้นจากเฟมินิสต์แนวอนุรักษณ์นิยมเพื่อที่จะข้ามพ้นไปจากวาทกรรมเรื่องศักดิ์ศรีของผู้หญิงและอำนาจชายเป็นใหญ่ ต้องข้ามพ้นไปจากวาทกรรมเชิงเศรษฐศาสตร์ที่มองเซ็กเป็นแค่สินค้า และมองโสเภณีเป็นเพียงผู้ขายเรือนร่าง มายาคติที่มีต่อโสเภณีหยั่งรากลึกอยู่ในสถาบันทางสังคม และยากที่เราจะสลัดมายาคติเหล่านี้ การศึกษาของแซตส์ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจสำหรับการตรวจสอบมายาคติดังกล่าว ในความคิดของแซตส์มองว่าโสเภณีคือ “ภาพลักษณ์” ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความไม่เท่าเทียมทางเพศซึ่งผู้หญิงจะมีฐานะต่ำกว่าชาย ต่ำทั้งในทางเศรษฐกิจ การศึกษา อาชีพ ฐานะ และชีววิทยา การทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องตรวจสอบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างโสเภณีกับผู้ที่มาใช้บริการทางเพศ พร้อมทั้งตรวจสอบ “อำนาจ” ที่ชี้นำและครอบงำการสร้างความหมายให้กับโสเภณี การทำความเข้าใจโสเภณีจะต้องเป็นการทำความเข้าใจวิธีคิด(ความรู้)ที่สังคมมีต่อเรื่องเซ็ก กามารมณ์ เพศภาวะ และเพศวิถี ถ้าเราไม่เข้าใจวิธีคิดเหล่านี้ เราก็จะไม่มีทางหลุดพ้นไปจากมายาคติเดิม ๆ
เมื่อผู้ชายเป็นโสเภณี
ในขณะที่โสเภณีผู้หญิงเป็นประเด็นที่เฟมินิสต์สนใจและมักจะถกเถียงเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่โสเภณีชายกลับไม่ได้รับความสนใจจากเฟมินิสต์ นอกจากในวงการเควียร์ศึกษา สังคมมองปรากฎการณ์เกี่ยวกับโสเภณีชายด้วยความคิดแบบ “รักต่างเพศ” ซึ่งตีตราว่าผู้ชายขายบริการคือผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน และเป็นการขายเซ็กให้กับเกย์เท่านั้น ความคิดดังกล่าวนี้ทำให้สังคมเชื่อว่าโสเภณีชาย (ผู้ชายขายตัว หรือผู้ชายขายน้ำ) เป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมเกย์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเกย์คือคนที่ส่ำส่อนทางเพศ รวมทั้งมองว่าผู้ชายขายบริการมักจะทำงานแบบชั่วคราว มีการเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นและวนเวียนกลับมาขายบริการเป็นครั้งคราว ลักษณะเช่นนี้ถูกมองว่าผู้ชายมีอิสระที่จะเลือกทำงานได้หลากหลาย และไม่มีสภาพเป็นโสเภณีแบบถาวร สังคมเชื่อว่าผู้ชายสามารถเอาตัวรอดจากความรุนแรงทางเพศได้ดีกว่า และสามารถเป็นเจ้านายตัวเองในการที่จะหาลูกค้า การขายบริการของผู้ชายจึงกลายเป็นเพียง “งานชั่วคราว” ที่ผู้ชายเลือกที่จะทำเองเมื่อมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างไปจากโสเภณีผู้หญิงที่สังคมเชื่อว่าเป็นอาชีพถาวร (Weitzer, 2005)
การศึกษาของจอห์น สก็อตต์(2003) ได้ตรวจสอบว่าตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วาทกรรมที่มีต่อโสเภณีชายวางอยู่บนตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งสร้างความรู้ที่ว่า “เพศชาย” คือผู้ที่ต้องแสดงบทบาทเข้มแข็ง เป็นผู้นำ มีอำนาจ และต้องมีความต้องการทางเพศกับเพศหญิงเท่านั้น แต่โสเภณีชายท้าทายความรู้ดังกล่าวนี้ เพราะผู้ชายจะตกเป็นฝ่ายถูกกระทำทางเพศ โสเภณีชายจึงถูกมองว่า “เบี่ยงเบน” เมื่อวิทยาศาสตร์เข้ามาจัดระเบียบกามารมณ์ให้เป็นไปตามเพศสรีระ ทำให้เกิดการจัดหมวดหมู่ว่ากามารมณ์แบบไหนที่ถูกต้องตามธรรมชาติ แบบไหนผิดธรรมชาติ กามารมณ์ระหว่างชายหญิงเท่านั้นที่วิทยาศาสตร์ให้การยอมรับ ส่วนกามารมณ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน วิทยาศาสตร์จะจัดให้อยู่ใน “ความผิดปกติ” ที่จะต้องบำบัดรักษา (Kaye, 2003) จะเห็นได้จากทฤษฎีจิตเวชศาสตร์ที่มีการจัดจำแนกความผิดปกติของพฤติกรรมทางเพศ เช่น โฮโมเซ็กช่วล เซ็กกับวัตถุสิ่งของ (Fetishism) เซ็กกับเด็ก (Paedophilia) เซ็กแบบเจ็บปวดทรมาน (Sadomasochism) เป็นต้น
ผู้ชายขายตัวจึงโยงใยอยู่กับความผิดปกติทางเพศและวัฒนธรรมเกย์ แต่ผู้ชายที่ให้ความสุขทางเพศกับชายอื่นมิใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในอดีต เราจะพบความสัมพันธ์ทางกามารมณ์ของผู้ชายปรากฎอยู่ในหลายวัฒนธรรมและเป็นเรื่องที่สังคมรับรู้ แต่โสเภณีชายในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะถูกจับตาและตรวจสอบจากกฎหมายและการแพทย์ ตำรวจจะเข้าไปจับกุมผู้ชายใน “ซ่องโสเภณี” เช่น มอลลีเฮ้าส์ในอังกฤษ สก็อตต์อธิบายว่าการเข้าไปจับกุมผู้ชายในสถานที่ดังกล่าวคือสัญญาณของความหวาดกลัวสิ่งที่อยู่นอกระเบียบศีลธรรมของชนชั้นผู้ดี เพราะในมอลลีเฮ้าส์มีการท้าทายกฎระเบียบของสังคมอังกฤษ เช่น ผู้ชายแต่งตัวเป็นหญิง ชนชั้นสูงมีความสัมพันธ์กับกรรมกร การจับกุมผู้ชายที่มีความสัมพันธ์กันในมอลลีเฮ้าส์จึงมิใช่แค่เรื่องการก่ออาชญากรรมในข้อหาโซโดมี(การร่วมเพศทางทวารหนัก) แต่เป็นเรื่องของการฝ่าฝืนกฎศีลธรรมด้วย
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 สังคมมองโสเภณีชายเปลี่ยนไปจากเดิม สังคมคิดว่าเด็กหนุ่มที่ขายบริการทางเพศมิใช่เกย์ หากแต่ถูกล่อลวงหรือถูกบังคับให้ค้าบริการ บุคคลที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลจะถูกตีตราว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กหนุ่มกลายเป็น “ผู้ชายขายตัว” โฮโมเซ็กช่วลยังคงตกเป็นเป้าโจมตีทางสังคม เพราะนอกจากจะถูกมองว่า “ป่วยทางจิต” แล้วยังถูกมองว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์ที่หลอกเด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างชายวัยผู้ใหญ่กับเด็กหนุ่มวัยรุ่นจะถูกวิจารณ์จากสังคม จิตแพทย์จะออกมาตัดสินว่าความสัมพันธ์แบบนี้คืออาการป่วยทางจิตของผู้ชายที่มีอารมณ์ทางเพศกับเด็ก เด็กชายขายตัวจะถูกมองว่าเป็น “เหยื่อ” กามตัณหาของเกย์สูงอายุ ความเข้าใจนี้นำไปสู่ความหวาดกลัวผู้ชายที่มีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความพยายามที่จะจัดประเภทโสเภณีชายเป็น 2 แบบ คือ แบบแรกเป็นโสเภณีชายที่มีลักษณะเป็น “ชาย” และมีเพศวิถีแบบรักต่างเพศ แบบที่สองเป็นโสเภณีชายที่มีลักษณะเป็น “หญิง” และมีเพศวิถีแบบโฮโมเซ็กช่วล การแบ่งโสเภณีชายเป็นสองแบบนี้เป็นการจัดแบบมายาคติและผลิตซ้ำวิธีคิดเรื่องเพศที่เป็นธรรมชาติกับผิดธรรมชาติ โสเภณีชายที่มีความเป็นชายจะถูกมองว่าคือคนที่ถูกบังคับให้ขายตัว ส่วนโสเภณีชายที่มีความเป็นหญิงจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มัวเมาในกามตัณหา สังคมจะออกมาตัดสินว่าโสเภณีชายที่เป็นรักต่างเพศ สมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเกย์ เช่น นำไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ฝึกอาชีพ หรือเรียนหนังสือ
ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 สังคมสนใจเรื่องปัญหาเยาวชน เด็กชายวัยรุ่นจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษเพราะถูกมองว่าเสี่ยงต่อการทำผิดหรือหลงผิด รัฐจะเข้ามาแทรกแซงด้วยมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันและเยียวยาเด็กชายที่ขายบริการทางเพศ สถาบันกฎหมายและสถาบันสุขภาพจิตคือเครื่องมือของรัฐที่จะเข้ามาบ่งการและควบคุมมาตรการต่างๆที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับโสเภณีเด็กชาย เด็กชาย(รักต่างเพศ)ที่เข้าสู่การขายบริการจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเยาวชนที่มีปัญหา (เด็กเกเร) นักวิจัยด้านพฤติกรรมและจิตเวชจะมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลกับสังคม ซึ่งงานวิจัยที่เกิดขึ้นวางอยู่บนกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มองเพศวิถีเชิงวัตถุวิสัย และใช้ทฤษฎีชีววิทยามาอธิบายพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่น มีการการสาเหตุของพฤติกรรมเบี่ยงเบนและแก้ปัญหาด้วยการนำเด็กมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อบรมสั่งสอนให้ละทิ้งอารมณ์และพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล สร้างเสริมความเป็นชายแบบรักต่างเพศให้สมบูรณ์ กระบวนทัศน์นี้แพร่หลายในสังคมและสื่อมวลชนซึ่งสร้างวาทกรรมให้กับโสเภณีชายว่าเป็น “โรคร้ายทางสังคม” หรือ Socio-pathology
การมองโสเภณีชายด้วยบรรทัดฐานของรักต่างเพศ เป็นการตอกย้ำช่วงชั้นของเพศวิถีระหว่างการเป็นรักต่างเพศที่ถูกต้องตามธรรมชาติและการเป็นโฮโมเซ็กช่วลที่ผิดธรรมชาติ ผู้ชายที่ขายบริการจะไม่ถูกอธิบายว่าเป็นความลื่นไหลและความไม่นิ่งของกามารมณ์ แต่จะถูกตัดสินว่าเป็น “ความผิดปกติ” และ “เบี่ยงเบน” สังคมจัดวางโสเภณีชายให้อยู่ในชนิดของความผิดปกติทางเพศ ซึ่งเป็นผลจากอำนาจความรู้ของจิตแพทย์และนักพฤติกรรมศาสตร์ สก็อตต์กล่าวว่าจิตแพทย์จะจัดจำแนกโสเภณีชายเป็น 2 ลักษณะ คือ โสเภณีที่เป็นผู้ชายรักต่างเพศ กับโสเภณีชายที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล โสเภณีชายที่เป็นรักต่างเพศถูกอธิบายว่ามีความเป็นชายสมบูรณ์แต่ต้องทำงานขายบริการเพื่อแลกกับเงิน หรือทำงานด้วยความจำยอม เช่น ผู้ชายที่ยากจน ตกงาน ไม่มีความรู้ จะหันเหเข้าสู่อาชีพโสเภณีในบาร์เกย์ ส่วนโสเภณีที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลถูกอธิบายว่าขาดความเป็นชาย มีลักษณะนิสัยเหมือนผู้หญิง เลือกที่จะขายบริการเพื่อที่จะแสวงหาความสุขทางเพศตามความปรารถนาของตนเอง สก็อตต์กล่าวว่าการแบ่งประเภทแบบนี้เป็นการแบ่งที่หยาบเกินไปและไม่เข้าใจความซับซ้อนของกามารมณ์ในชีวิตของผู้ชายขายบริการ สังคมมักจะสนใจโสเภณีที่เป็นชายรักต่างเพศมากกว่าเพราะเชื่อว่าผู้ชายเหล่านี้สามารถเลิกอาชีพขายบริการถ้าได้รับการพัฒนาทักษะการทำงานด้านอื่นๆ ส่วนโสเภณีที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล สังคมมักจะมองว่าคนเหล่านี้เป็นคน “ส่ำส่อน” โดยสัญชาตญาณ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เพราะมีจิตใจเป็นโฮโมเซ็กช่วลแบบถาวร
การทำให้อัตลักษณ์ของเพศวิถีเป็นสิ่งที่คงที่ตายตัวตามทัศนะแบบจิตเวชศาสตร์/พฤติกรรมศาสตร์ คือการสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศวิถีแบบรักต่างเพศและแบบโฮโมเซ็กช่วล เพราะรักต่างเพศจะถูกจัดให้เป็นเพศที่ถูกต้องตามธรรมชาติ ทั้งๆที่เพศวิถีมิใช่สิ่งที่มีอยู่ในสายเลือดหรือเป็นพันธุกรรม แต่เป็นวาทกรรมทางสังคม นอกจากนั้น การทำให้โสเภณีชายแบบรักต่างเพศอยู่เหนือกว่าโสเภณีชายที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล ส่งผลให้พฤติกรรมเซ็กของเกย์เลวร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาวะทางเพศ เซ็กของเกย์จะถูกมองว่าเป็น “เชื้อโรค” หรือเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของกามโรค ความคิดดังกล่าวนี้แพร่หลายอยู่ในการวิจัยเกี่ยวกับการหาสาเหตุและพฤติกรรมของโสเภณีชาย งานวิจัยส่วนใหญ่จะตัดสินว่าผู้ชายวัยรุ่นที่ขายบริการเข้าสู่อาชีพนี้เพราะเพื่อนชวนและมักจะเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ที่จะติดโรคจากการมีเซ็กกับเกย์ ความเข้าใจดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการสร้างทฤษฎีสาเหตุของการเป็นโสเภณีชาย เช่น การศึกษาของเบนจามินและมาสเตอร์ส(1964) อธิบายว่าผู้ชายวัยรุ่นกลายเป็นโสเภณีเพราะเพื่อนแนะนำ ทฤษฎีเพื่อนชักจูง (Peer Seduction Theory) จึงแพร่หลายในวงวิชาการที่ต้องการหาสาเหตุการเป็นโสเภณีของวัยรุ่นชาย (Scott, 2003: 191)
ทฤษฎีดังกล่าว ทำให้เกิดการสร้างภาพลักษณ์ของเด็กชายวัยรุ่นที่เกเร มีปัญหา มาจากครอบครัวที่แตกแยก อยู่ในกลุ่มแก็งอันธพาล ติดยา และค้าบริการทางเพศ ภาพตัวแทนเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำอยู่ในตำราและสื่อกระแสหลัก สังคมจึงพยายามแก้ปัญหานี้โดยการนำวัยรุ่นชายเหล่านี้มาอบรมบ่มนิสัยในสถานสงเคราะห์ และให้ฝึกวิชาชีพและเรียนเรียนสือเพื่อที่จะไปทำงานอย่างอื่นที่สุจริตและห่างไกลจากวงจรค้ากาม ทฤษฎีที่เป็นสูตรสำเร็จนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างนโยบายเกี่ยวกับการช่วยเหลือและป้องกันเด็กและเยาวชน สิ่งที่ติดมาพร้อมกับทฤษฎีนี้ก็คือ การทำให้เกย์กลายเป็นคนที่น่ากลัวและอันตราย เพราะสังคมจะมองว่าเกย์คือบุคคลหลอกหรือล่อลวงเด็กไปบำบัดความใคร่ของตัวเอง เกย์จะถูกตีตราว่าเป็นผู้ร้าย เป็นคนที่แสวงหาประโยชน์และมักมากในกาม เปรียบเสมือนอาชญากรและคนบ้ากาม ความเชื่อนี้คือการสถาปนาทฤษฎีเกย์คือคนล่อลวงทางเพศ (Homosexual Seduction Theory)
ปรากฎการณ์การเป็นโสเภณีของผู้ชายจึงนำมาซึ่งความคิดเชิงลบที่มีต่อเซ็กและกามารมณ์ของเกย์ สังคมจะตัดสินปัญหาโสเภณีชายด้วยบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ โดยมีทฤษฎี “เพื่อนชักจูง” และทฤษฎีเกย์คือผู้ล่อลวงทางเพศเป็นที่รองรับคำอธิบาย นักกฎหมาย นักจิตวิทยาเด็ก นักสังคมสงเคราะห์ จะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการเผยแพร่ทฤษฎีดังกล่าวเพราะคำอธิบายของคนเหล่านี้สอดคล้องกับความรู้แบบวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมที่สอนให้เรามองความจริงจากวัตถุวิสัยและสิ่งที่จับต้องได้ เราจึงมองโสเภณีชายเป็นความบิดเบี้ยวและความผิดธรรมชาติ ที่ไม่เป็นไปตามเพศวิถีของชายชอบหญิง
โสเภณีเด็ก
เด็กมักจะถูกอธิบายด้วยลัทธิโรแมนติก (Romantic Cult) ซึ่งมองว่าวัยเด็กคือวัยที่บริสุทธิ์ ยังไม่พร้อมในการมีเซ็ก ยังขาดทักษะ ขาดความรู้ และเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมินและล่อลวงทางเพศจากผู้ใหญ่ (Dovzhyk, 2013) การอธิบายแบบนี้เป็นผลมาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ที่มองว่าวัยเด็กยังเป็นวัยที่ขาดการพัฒนาจิตสำนึกและความเป็นเหตุเป็นผล เด็กยังไม่เข้าใจตัวเอง ยังใช้อารมณ์เหนือเหตุผล ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีของฌอง เพียเจต์ ได้แบ่งพัฒนาการของเด็กเป็น 4 ลำดับขั้น ขั้นที่หนึ่งตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 เดือน เป็นช่วงที่เรียนรู้จากการสัมผัส ขั้นที่สอง อายุ 18 เดือนถึง 7 ปี เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ทักษะแบบง่ายๆ ขั้นที่สาม อายุ 7-11 ปี เด็กจะเรียนรู้การทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น และขั้นที่สี่ อายุ 11 ปีขึ้นไป เด็กจะมีความคิดแยกแยะเหตุผลได้
ในแง่ของกฎหมาย มีการนำทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาเป็นแนวทางเพื่อที่จะนิยามว่าเด็กควรจะมีอายุเท่าไหร่ อายุที่เหมาะสมที่จะมีเพศสัมพันธ์ควรจะเป็นเท่าใด ในองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี คือวัยเด็ก ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี ต้องได้รับการคุ้มครองจากผู้ใหญ่และห้ามมิให้ผู้ใดยุ่งเกี่ยวทางเพศกับเด็ก ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ในแต่ละประเทศจึงมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นมาตรการควบคุมป้องกันให้เด็กปลอดภัยจากการถูกละเมิดทางเพศและถูกบังคับให้ค้าบริการทางเพศ คำถามคือ กฎหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการมีเพศสัมพันธ์สามารถป้องกันเด็กจากเรื่องเพศได้จริงหรือไม่ และความหมายของเด็กที่ตัดสินจากอายุสะท้อนประสบการณ์ทางเพศของเด็กได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
ในแง่สังคม อิทธิพลจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ก็มีผลต่อการนิยามความเป็นเด็ก นักวิชาการทางสังคมจะอธิบายว่าเด็กเปรียบเสมือนความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา อ่อนแอต่อโลก ยังขาดประสบการณ์ชีวิต แต่ในเวลาเดียวกันเด็กก็เปรียบเสมือนความยุ่งเหยิ งซุกซน ขาดการยั้งคิด ไม่มีเหตุผล และสามารถสร้างปัญหาได้ตลอดเวลา ความหมายที่ต่างกันสองด้านนี้คือตรรกะที่นักวิชาการนำไปอธิบายปัญหาโสเภณีเด็ก สังคมมักมองว่าเด็กกลายเป็นโสเภณีเพราะถูกผู้ใหญ่บังคับขู่เข็ญ หลอกลวง มากกว่าจะมองว่าเด็กเข้าสู่อาชีพโสเภณีด้วยความสมัครใจและเต็มใจ
ความรู้จากจิตแพทย์และนักพฤติกรรมศาสตร์ได้ทำให้เด็กกลายเป็น “ความบริสุทธิ์” และจะต้องอยู่ห่างไกลจากเซ็ก เมื่อเป็นเช่นนี้ โสเภณีเด็กจึงถูกอธิบายว่าเป็นปัญหาสังคมและศีลธรรม ผู้ใหญ่ที่ซื้อบริการทางเพศจากเด็กจะถูกลงโทษจากสังคม กฎหมาย และศีลธรรม สังคมจะไม่ยอมรับความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และไม่ยอมรับว่าการขายบริการทางเพศเป็นงานของเด็ก ในการศึกษาของดอฟชีค(2013) ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการทำให้เด็กห่างไกลจากเซ็กคือวิธีคิดที่ปรากฎชัดเจนในสมัยวิคตอเรีย สังคมอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นิยามความเป็นเด็กภายใต้ความคิดเชิงศีลธรรมและความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองว่าวัยเด็กคือวัยที่จะไม่เจริญเต็มที่ ดังนั้น สังคมจะต้องปกป้องดูแลและคุ้มครองเด็กให้อยู่ห่างจากอันตราย เซ็กจะเป็นศัตรูตัวร้ายที่จะถูกห้ามมิให้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน เช่น การสำเร็จความใคร่ของเด็กจะถือว่าเป็นอันตราย ทำให้เด็กมีสุขภาพอ่อนแอ ร่างกายไม่แข็งแรง ล้มป่วย เด็กที่มีพฤติกรรมสำเร็จความใคร่จึงถูกนำไปบำบัดรักษาเพื่อให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ถึงแม้ว่า ชนชั้นผู้ดีของอังกฤษจะวางกฎเกณฑ์ทางเพศต่อเด็กอย่างเข้มงวด แต่ในสังคมของชนชั้นแรงงาน กฎเกณฑ์เหล่านี้กลายเป็นเพียงสิ่งที่ไร้สาระ เพราะพ่อแม่ที่ยากจนจะนำลูกสาวของตัวเองไปเป็นโสเภณีเพื่อขายบริการทางเพศให้กับคนรวย เพื่อที่จะนำเงินมาเลี้ยงปากท้อง
นักหนังสือพิมพ์ชื่อ วิลเลียม ที สเตด ออกมาเปิดโปงการเป็นโสเภณีของเด็กสาวในชุมชนแรงงานของลอนดอน โดยเขียนบทความเรื่อง The Maiden Tribute of Modern Babylon ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Pall Mall Gazette บทความนี้สะท้อนสภาพสังคมของอังกฤษในเวลานั้นว่าศีลธรรมทางเพศมีความย้อนแย้งในตัวเอง ในขณะที่ชนชั้นผู้ดีพยายามที่จะทำให้ลูกคนตัวเองห่างไกลจากเรื่องเซ็ก แต่ผู้ใหญ่ที่มาจากชนชั้นผู้ดีกลับไปซื้อบริการทางเพศจากเด็กหญิงที่ยากจน ความขัดแย้งนี้สะท้อนความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น ชนชั้นผู้ดีที่มีฐานะร่ำรวยมีชีวิตที่สุขสบายและอยู่กับภาพลักษณ์ของคนที่มีศีลธรรม ในขณะที่ชนชั้นแรงงานที่ยากจนมีความอดอยากแร้นแค้นและถูกมองว่าไม่มีศักดิ์ศรีและต่ำต้อย ดอฟชีค อธิบายว่าพรมแดนเรื่องเพศในครอบครัวของชนชั้นผู้ดีจะถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด ร่างกายของเด็กที่อยู่ในชนชั้นผู้ดีจะถูกควบคุมให้ห่างไกลจากเซ็ก แต่ในชนชั้นแรงงาน ร่างกายของเด็กถูกใช้เป็น “วัตถุทางเพศ” เพื่อบำบัดความใคร่ของผู้ใหญ่ เซ็กของเด็กยากจนจะกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
ถึงแม้ว่าบทความของสเตดจะเปิดเผยด้านมืดของสังคมอังกฤษ แต่ความคิดของสเตดที่มีต่อโสเภณีเด็กก็เป็นความคิดของชนชั้นกระฎุมพีที่ยังเชื่อว่าเด็กเป็นวัยที่บริสุทธิ์ บทความของสเตดจึงเปรียบเสมือนการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับเด็กหญิงผู้น่าสงสารที่ตกเป็นเหยื่อกามราคะของผู้ใหญ่ วาทกรรมนี้ตอกย้ำศีลธรรมแบบวิคตอเรียที่แยกเด็กออกจากเรื่องเซ็ก แต่เป็นวาทกรรมที่ตามหลอกหลอนผู้ดีอังกฤษ เพราะโสเภณีเด็กในลอนดอนอยู่นอกระเบียบ นอกกฎเกณฑ์ศีลธรรมทางเพศ เด็กที่เลือกทำงานเป็นโสเภณีไม่ได้คิดว่าตนเองบริสุทธิ์ผุดผ่อง และไม่ได้ถูกบังคับหรือถูกล่อลวงให้ขายบริการ แต่เด็กเลือกทำงานเป็นโสเภณีเพราะไม่สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ การขายบริการทางเพศจะทำให้เด็กมีเงินเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงพ่อแม่ ไม่อดอยาก การเป็นโสเภณีด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจนี้จะถูกนิยามว่าเป็นการขายเซ็กเพื่อเอาชีวิตรอด หรือ Survival Sex
การศึกษาวิจัยโสเภณีเด็กจำนวนมากจะเชื่อในความบริสุทธิ์ของเด็ก การจับคู่เด็กกับความบริสุทธิ์จึงทำให้การขายบริการทางเพศของเด็กคือปัญหาสังคมที่เลวร้าย นิยามความเป็นเด็กภายใต้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์และทฤษฎีล่วงละเมิดทางเพศในธุรกิจค้ากามคือความรู้กระแสหลักที่ทำให้สังคมมองโสเภณีเด็กเป็นความเสื่อมทรามทางศีลธรรม เป็นปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรงทางเพศ สังคมจะเพ่งเล็งไปที่กิจกรรมเซ็กมากกว่าจะทำความเข้าใจอารมณ์และความคิดของเด็กที่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์และกิจกรรมทางเพศ เซ็กถูกมองเป็นตัวปัญหามากกว่าจะเป็นเงื่อนไขของการไกล่เกลี่ยต่อรองเชิงอำนาจระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ปัญหาโสเภณีเด็กจึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับเซ็กที่เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เป็นปัญหาของความตื่นตระหนกทางเพศที่สังคมไม่เข้าใจเซ็กของเด็ก ในบทความของอบีเกล เบรย์(2009) เรื่อง Governing the Gaze: Child Sexual Abuse Moral Panics and The Post-Feminist Blindspot” ชี้ว่าการปกป้องคุ้มครองเด็กจากเซ็กและกิจกรรมทางเพศคือปฏิบัติการของอำนาจภายใต้บรรทัดฐานของสังคมเสรีนิยมใหม่ บรรทัดฐานนี้ต้องการทำให้เด็กเป็นความไร้เดียงสา ภายใต้ปฏิบัติการดังกล่าวเต็มไปด้วย “อำนาจ” ที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในเครือข่ายทางสังคม อำนาจนี้คือระเบียบกฎเกณฑ์ที่สังคมนำมาใช้ปกป้องคุ้มครองเด็กให้ห่างไกลจากเซ็ก ร่างกายของเด็กจึงถูกครอบครองด้วยอำนาจที่คอยเฝ้าระวังสอดส่องและขับไล่เซ็กอยู่ตลอดเวลา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงล่อเลี้ยงอำนาจนี้ราวกับว่ามันเจริญงอกงามขึ้นเองในร่างกาย “ความบริสุทธิ์” ของวัยเด็กจึงกลายเป็นความจริงที่ไร้ข้อสงสัยใดๆ
กะเทยโสเภณี
การศึกษาเกี่ยวกับโสเภณีที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งรู้จักในนามกะเทยหรือสาวประเภทสอง มักจะให้ความสนใจเรื่องการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากสังคม ในขณะเดียวกัน กะเทย/สาวประเภทสองที่ขายบริการทางเพศจะเป็นชายขอบของโสเภณี เพราะอัตลักษณ์ทางเพศแบบ “ข้ามเพศ” คืออัตลักษณ์ที่ผิดไปจากบรรทัดฐาน กะเทยโสเภณีจึงถูกจัดวางให้อยู่ในลำดับชั้นต่ำสุดของการเป็นโสเภณี และถูกเหมารวมให้อยู่ในกลุ่มโสเภณีชายที่อยู่ในชุมชนเกย์ ทั้งๆที่กะเทยโสเภณีและผู้ชายขายบริการมีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน มีลูกค้าต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของกะเทยโสเภณีเต็มไปด้วยการดูหมิ่นซ้อน นโยบายของรัฐจะไม่พูดถึงปัญหาโสเภณีกะเทย สวัสดิการและการสงเคราะห์จะไม่ไปถึงกะเทยที่ขายบริการทางเพศ สภาวะดังกล่าวนี้คือความเหลื่อมล้ำของการมองโสเภณีจากบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ เพราะรัฐจะสนใจปัญหาโสเภณีผู้หญิงและเด็กมากกว่ากลุ่มอื่น
ในการศึกษาของคูลิค (1998) ชี้ว่ากะเทยในบราซิลรู้จักในนาม Travestis คนเหล่านี้มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีจิตใจเป็นหญิง ทราเวสทิสจะค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและร่างกายของตนเองให้เป็นหญิงตั้งแต่เด็ก ตั้งชื่อตัวเองเป็นหญิง เข้ากลุ่มเพื่อที่เป็นกะเทย เรียนรู้การแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม และใช้คำพูดแบบผู้หญิง จากนั้นจะเริ่มกินหรือฉีดฮอร์โมนเพศหญิง ทำศัลยกรรมเสริมเต้านม เปลี่ยนแปลงใบหน้า จนถึงผ่าตัดแปลงเพศ ทราเวสทิสเข้าสู่อาชีพการขายบริการทางเพศเพื่อยืนยันในความเป็นคนข้ามเพศ การเป็นโสเภณีทำให้อัตลักษณ์กะเทยของทราเวสทิสชัดเจน พวกเธอไม่คิดว่าการเป็นโสเภณีคือความต่ำต้อยแต่เป็นงานที่ทำให้เธอมีความสุข พวกเธอชีวิตอิสระและเลือกที่จะแสวงหาลูกค้าได้โวยตัวเอง เช่น ตามท้องถนน ชายหาด โรงแรม รีสอร์ท หรือห้องน้ำสาธารณะ การศึกษาของคูลิคเป็นความพยายามที่จะเข้าใจประสบการณ์ของกะเทยโสเภณี ซึ่งวางอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการเป็นโสเภณีช่วยสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนให้กับกะเทย การศึกษาแนวนี้จะสนใจกระบวนการสร้างอัตลักษณ์มากกว่าจะตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กะเทยโสเภณีต้องไกล่เกลี่ยต่อรองกับคนกลุ่มต่างๆภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน นอกจากนั้น กะเทยโสเภณีจะถูกเหมารวมว่ามีคุณลักษณะหรืออัตลักษณ์แบบเดียวกันหมด ซึ่งเป็นการมองข้ามความหลากหลายของกะเทยโสเภณีที่นิยามร่างกายและความปรารถนาทางเพศแตกต่างกัน
การศึกษาของลีชเทนทริตต์และอารัด(2004) อธิบายว่ากะเทยวัยรุ่นในอิสราเอลเลือกทำงานขายบริการทางเพศเพราะครอบครัวและเพื่อนไม่ยอมรับความเป็นกะเทย พวกเธอจึงถูกทอดทิ้งให้เผชิญชีวิตตามลำพัง การขาดที่พึ่งและขาดโอกาสทำให้กะเทยวัยรุ่นเลือกที่จะขายบริการทางเพศ เพื่อนที่เป็นกะเทยด้วยกันคือคนสำคัญที่ทำให้กะเทยวัยรุ่นที่ไร้ที่พึ่งเข้ามาทำงานขายบริการ เมื่อเป็นโสเภณีอย่างเต็มตัวแล้ว กะเทยวัยรุ่นก็จะเคยชินกับการหาเงินด้วยวิธีนี้ และมองว่าโสเภณีทำให้มีเงิน หาเงินง่าย ไม่ลำบาก ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ ซึ่งต่างไปจากการทำงานอาชีพอื่นๆ การศึกษานี้เป็นการศึกษาในเชิงหาแนวทางช่วยเหลือและสงเคราะห์ โดยมองว่ากะเทยคือผู้ที่ด้อยโอกาส ถ้ากะเทยวัยรุ่นได้รับการพัฒนาทักษะทางอาชีพหรือมีการศึกษาก็จะทำให้พวกเธอเลิกอาชีพโสเภณี
ทั้งการศึกษาแนวอัตลักษณ์และสังคมสงเคราะห์ ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกะเทยโสเภณีเป็นเรื่องของคนที่ด้อยโอกาสที่ดิ้นรนแสวงหาทางออกด้วยตนเองโดยปราศจากการช่วยเหลือจากครอบครัวและสังคม เป็นการตอกย้ำว่ากะเทยคือผู้ที่ขาดตกบกพร่อง และถูกกระทำจากสังคม ถึงแม้ว่ากะเทยโสเภณีจะเล่าประสบการณ์ชีวิตของตัวเองและทำให้เห็นความสัมพันธ์เชิงลบที่มีต่อครอบครัวและคนรอบข้าง แต่ประสบการณ์ดังกล่าวก็ “เรื่องเล่า” ภายใต้การนิยามและการให้ความหมายที่กะเทยสื่อสารออกไปในฐานะเป็น “ผู้เล่า” ระบบคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ พฤติกรรมทางเพศ ความปรารถนาทางเพศ ล้วนเป็นผลผลิตทางสังคมที่กะเทยนำมาปฏิบัติและจารึกเป็นประสบการณืและความทรงจำ ชีวิตทางเพศที่มีอยู่ในร่างของกะเทยโสเภณีจึงมิใช่ “ความจริง” ที่อยู่นอกเหนือระเบียบกฎเกณฑ์ทางเพศที่สังคมสร้างไว้ ดังนั้น การนำประสบการณ์มาเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเพศภาวะและเพศวิถีของกะเทยจึงง่ายเกินไป กระบวนทัศน์แบบเรื่องเล่าจึงต้องได้รับการตรวจสอบ เพราะมิใช่ตัวแทนความจริงเกี่ยวกับอัตลักษณ์หรือกามารมณ์ แต่เป็นเพียง “ปฏิบัติการ” ของอำนาจความรู้ที่กะเทยใช้เพื่อสร้างคุณค่าและความหมายเกี่ยวกับเพศเท่านั้น
โสเภณีกับผู้ซื้อบริการทางเพศ
การศึกษาผู้ซื้อบริการทางเพศ(ทั้งหญิงและชาย) เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและเป็นเรื่องที่นักวิจัยมักจะมองข้าม เนื่องจากผู้ซื้อบริการมักจะไม่เปิดเผยหรือไม่อยากพูดถึงพฤติกรรมของตัวเอง เพราะการแสวงหาความสุขจากโสเภณี(ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม) เป็นเรื่องส่วนตัวที่คนแต่ละคนไม่อยากนำมาเล่าให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะผู้ซื้อบริการที่เป็นผู้หญิง เป็นเกย์ หรือเป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม การหาความสุขทางเพศกับโสเภณีจะเป็น “ความลับ” สำหรับพวกเขา การทำความเข้าใจวิธีคิดและพฤติกรรมของผู้ซื้อบริการทางเพศจึงเป็นแดนสนธยา เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก
อย่างไรก็ตาม การศึกษาพฤติกรรมของผู้ซื้อบริการทางเพศเท่าที่ผ่านมา (Weitzer, 2005) พอจะบอกให้รู้ว่าผู้ซื้อบริการเหล่านี้มีเหตุผลอะไรที่เลือกแสวงหาความสุขด้วยวิธีดังกล่าว เหตุผลแรกคือ การได้ปลดปล่อยความปรารถนาและความต้องการทางเพศกับคนที่เขาคิดว่าตรงกับรสนิยมและความชอบส่วนตัว นอกจากนั้น ผู้ซื้อบริการต้องการที่จะมีอิสระที่จะเลือกความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์ที่อยู่นอกบรรทัดฐาน บางคนไม่เคยพบคนที่ถูกใจในการสร้างความสัมพันธ์แบบปกติจึงเลือกที่จะเข้าหาโสเภณีซึ่งเขาสามารถเลือกได้ แต่การศึกษาพฤติกรรมของผู้ซื้อบริการส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องการศึกษาปัจจัยและแรงจูงใจ ซึ่งนักวิจัยมักจะใช้แบบสอบถามและหาข้อสรุปเชิงปริมาณ เพื่อวิเคราะห์ว่าเหตุผลแบบไหนที่ผู้ซื้อบริการมีร่วมกันมากที่สุด เช่น การศึกษาของมอนโต(2000) ซึ่งพยายามหาเหตุผลว่าทำไมผู้ชายจึงเลือกซื้อบริการจากโสเภณีหญิง มีการสำรวจความคิดของผู้ชาย 700 คน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกซื้อบริการจากโสเภณีเพราะต้องการความแปลกใหม่และความเร้าใจ
นอกจากการซื้อบริการจากโสเภณีในพื้นที่กายภาพแล้ว การมองหาเซ็กและกามารมณ์ในไซเบอร์สเปซก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน ในเว็บไซต์หาคู่ทั้งหลาย จะมีการพูดคุยสนทนาและติดต่อในเชิงกามารมณ์ ในการศึกษาของเคิร์น(200) พบว่า ผู้ชายที่คุยกับผู้หญิงในอินเตอร์เน็ต ไม่ได้อยากได้แค่เซ็ก หรือมองว่าเป็นการซื้อบริการทางเพศ แต่มองว่าเป็นการหาความสุขทางใจ หาเพื่อนที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางเพศได้ ผู้หญิงที่เข้ามาคุยด้วยจึงมิได้ถูกมองว่าเป็นโสเภณี ดังนั้น ประสบการณ์การหาความสุขทางเพศจากคนที่มิใช่คนรัก มิใช่คนรู้จัก จึงเป็นเรื่องที่เหมารวมไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกที่คนๆหนึ่งมีกับคนอีกคนหนึ่งอาจจะดำเนินไปด้วยความคาดหวังที่ต่างกันและคาดเดาไม่ได้ ในแต่ละวัฒนธรรม วิธีการหาความสุขทางเพศกับคนแปลกหน้าก็มีรูปแบบที่หลากหลาย การหาความสุขทางเพศของชาวตะวันตกอาจจะต่างไปจากคนในสังคมอื่นๆ วิธีการที่ผู้หญิงหาความสุขจากโสเภณีชายก็ไม่เหมือนกับวิธีการที่ผู้ชายหาความสุขจากโสเภณีหญิง เช่นเดียวกัน คนรักต่างเพศกับคนรักเพศเดียวกันก็ให้ความหมายกับการหาความสุขทางเพศจากโสเภณีต่างกัน
ความซับซ้อนและความหลากหลายจากประสบการณ์ของลูกค้าที่ซื้อบริการทางเพศ จึงยังเป็นสิ่งที่คลุมเคลือ การศึกษาสิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งจำเป็น และข้อมูลอาจท้าทายแนวคิดทฤษฎีแบบเดิมๆที่เคยเชื่อกันมา เช่น ลูกค้าที่ซื้อบริการทางเพศมองโสเภณีในเชิงวัตถุทางเพศเพียงอย่างเดียว ผู้หญิงที่ซื้อบริการโสเภณีชายเป็นผู้หญิงไม่ดีหรือเป็นผู้ที่มีราคะความเชื่อเหล่านี้ยังต้องรอการตรวจสอบ
โสเภณีกับการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวกับการแสวงหาความสุขทางเพศเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจก็ตาม การท่องเที่ยวได้ทำให้มนุษย์มีเวลาว่างที่จะแสวงหาความสุขส่วนตัว นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังที่ต่างๆ จะได้พบกับสถานที่แปลกตา และพบผู้คนที่มาจากต่างวัฒนธรรม สิ่งที่มาพร้อมกับธุรกิจท่องเที่ยวก็คือการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การช้อปปิ้ง การซื้อบริการต่างๆที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความสุขในช่วงเวลาพิเศษนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ เมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในส่วนต่างๆของโลกจะมีสถานประกอบการยามค่ำคืน เช่น บาร์ ผับ ไนท์คลับ ดิสโก้เธค ฯลฯ สถานเริงรมย์เหล่านี้เป็นแหล่งชุมนุมของคนจำนวนมาก มีทั้งผู้ขายบริการทางเพศแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้ขายบริการมีทุกเพศทุกระดับ และมีทั้งนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อบริการแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์และกิจกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นระหว่างนักท่องเที่ยวกับผู้ให้บริการความสุขทางเพศจึงมีความซับซ้อน เราไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าโสเภณีคือคนที่ทำให้การท่องเที่ยวเฟื่องฟู หรือการท่องเที่ยวทำให้โสเภณีแพร่ระบาด เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ลึกลงไปกว่านั้นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันในลักษณะใด
ในการศึกษาของ โรซาลี ซิลเวีย ดอร์ฟแมน (2011) ตั้งข้อสงสัยและสังเกตว่าการท่องเที่ยวคือปรากฎการณ์ของสังคมทุนนิยมซึ่งมิได้เป็นเพียงกลไกที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดมายาคติเกี่ยวกับการแสวงหาความสุขระหว่างคนรวยในโลกตะวันตกกับคนจนในโลกที่สาม(ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของตะวันตก) การศึกษาโสเภณีในสังคมทุนนิยมที่ผ่านมา มักจะมองการค้าบริการทางเพศเป็นการกดขี่ข่มเหงและการเอารัดเอาเปรียบ โสเภณีจะถูกมองว่าเป็นคนยากจนที่เสียเปรียบ ส่วนผู้ซื้อบริการจะถูกมองว่าร่ำรวยกว่าและได้เปรียบ การมองในเชิงความสัมพันธ์แบบช่วงชั้นนี้ มาจากสมมติฐานแบบเฟมินิสต์ซึ่งเชื่อว่าสังคมทุนนิยมและการท่องเที่ยวเป็นอำนาจของผู้ชาย ผู้ชายจะมีอำนาจจับจ่ายใช้สอย และแสวงหาประโยชน์จากผู้หญิง เฟมินิสต์จะมองว่านักท่องเที่ยวชายจากตะวันตกคือคนที่มีอำนาจเหนือกว่าและเอาเปรียบผู้หญิงในโลกที่สามที่ยากจน ความเชื่อนี้วางอยู่บนกระบวนทัศน์การกดขี่ทางเพศ หรือ Oppression Paradigm ซึ่งมองโสเภณีและการขายบริการทางเพศเป็นความรุนแรงที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง
แต่กระบวนทัศน์การกดขี่ทางเพศ ไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์การขายบริการทางเพศที่ดำรงอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้ เพราะผู้ที่ให้บริการทางเพศจำนวนมากมิได้นิยามตนเองเป็น “โสเภณี” และไม่ได้มีแต่เพียงเพศหญิงเท่านั้น หากแต่ผู้ให้ความสุขทางเพศติดต่อสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการเป็นเพื่อน เป็นไกด์ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และเป็นคนที่รู้ใจ นักท่องเที่ยวก็ปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ในลักษณะที่หลากหลายเช่นกัน เช่น ในการศึกษาของเพดิลล่า(2007) ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายท้องถิ่นในสังคมโดมินิกันที่ขายบริการทางเพศให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศมหาอำนาจ(อเมริกาและยุโรป) ผู้ชายที่ให้ความสุขทางเพศเหล่านี้ ชาวโดมินิกันรู้จักในนาม “แซงกี แพงกีส์” (Sanky Pankys) ผู้ชายเหล่านี้จะนิยามตัวเองต่างไปจากผู้ชายที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า “บูการ์โรเนส” (Bugarrones) แต่ทั้งสองกลุ่มจะแสดงบทบาทแบบผู้ชาย (เป็นฝ่ายรุก/ฝ่ายสอดใส่) และมิได้นิยามตนเองว่าเป็นเกย์ ผู้ชายเหล่านี้ล้วนให้บริการความสุขทางเพศแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาย หญิง และเกย์ ในทำนองเดียวกัน การศึกษาของคาบีซาส(2009) ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงคิวบาและโดมินิกันที่บริการความสุขทางเพศให้กับนักท่องเที่ยว มิได้มองว่าตนเองเป็นโสเภณี แต่มองว่าเป็น “เพื่อนใจ” ผู้ทำงานบริการ ผู้ที่คอยช่วยเหลือและคอยดูแลนักท่องเที่ยว พวกเธอไม่คิดว่านักท่องเที่ยวชายจะกดขี่ข่มเหงเธอแต่อย่างใด ทฤษฎีของเฟมินิสต์จึงไม่สามารถวิเคราะห์เรื่องเซ็กและกามารมณ์ที่ปรากฎอยู่ในการท่องเที่ยวได้
โอคอนแนล เดวิดสัน(1998) ตั้งข้อสังเกตว่าการขายบริการทางเพศในสังคมทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์ จำเป็นต้องมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปรากฎอยู่ระหว่างโลกตะวันตกที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กับโลกที่สามที่เป็นสังคมยากจน ระบบทุนนิยมข้ามชาติที่ไหลบ่ามาพร้อมกับธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าบริการทางเพศเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่นักท่องเที่ยวตะวันตกมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนท้องถิ่นซึ่งเลือกที่จะทำงานขายบริการทางเพศทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปรากฎไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะการกดขี่ข่มเหง แต่จะมีลักษณะเป็นการไกล่เกลี่ยต่อรอง นักท่องเที่ยวไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่าและคนท้องถิ่นที่ยากจนไม่ได้ถูกเอาเปรียบ นักท่องเที่ยวและผู้ให้ความสุขทางเพศต่างฝ่ายต่างแสดงอำนาจต่อกันภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน
ความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวและการขายบริการทางเพเศ จึงมิใช่เรื่องของการกดขี่ทางเพศ มิใช่การยืนยันอำนาจที่เหนือกว่าของผู้ชาย แต่ความสัมพันธ์ที่ปรากฎคือการต่อรองเชิงอำนาจ อำนาจที่นักท่องเที่ยวและผู้ขายบริการทางเพศต่างมีอยู่ในตัวเอง และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อที่จะทำให้ตนเองมีความสุขและได้รับการตอบสนองทั้งในเชิงอารมณ์และวัตถุ เซ็กระหว่างนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจขายบริการทางเพศจึงมิใช่เรื่องการระบาดความใคร่เพื่อแลกเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนทางอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งอาจถูกนิยามว่าเป็น “มิตรภาพ” ความผูกพัน ความใกล้ชิด หรือความรัก ในทำนองเดียวกัน เรือนร่างของคนท้องถิ่นก็มิใช่ “วัตถุทางเพศ” ที่มีไว้เพื่อเป็นสินค้าทางกามารมณ์ แต่เป็นเรือนร่างของความหมายที่คนท้องถิ่นจะใช้เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
ในสถานเริงรมย์ยามค่ำคืนหรือสถานที่ต่างๆที่คนท้องถิ่นพบเจอกับนักท่องเที่ยว แรงจูงใจหรือบรรยากาศจะมีผลต่อการตัดสินใจว่าตนเองจะยอมมีเซ็กกับนักท่องเที่ยวหรือไม่ คนท้องถิ่นที่ให้ความสุขทางเพศแก่นักท่องเที่ยวจะมิใช่ “โสเภณี” ที่ทำงานอยู่ในบาร์หรือสถานประกอบการ (ซ่อง) หากแต่คนท้องถิ่นเหล่านี้จะทำงานรับจ้างและติดต่อกับนักท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมในหลายรูปแบบ เช่น นวดตามชายหาด เสิร์ฟอาหาร หรือขายของที่ระลึก เมื่อสร้างสัมพันธภาพกับนักท่องเที่ยวได้แล้ว พวกเขาก็สามารถตัดสินใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักท่องเที่ยวได้ เงินที่ได้รับมาจึงมิใช่การซื้อขายเซ็ก แต่เป็นการให้ของขวัญ หรือ “สินน้ำใจ” ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นต่างมีความพึงพอใจซึ่งกันและกัน ในการศึกษาของแองเนส (2008) อธิบายว่าผู้หญิงที่ได้รับเงินจากนักท่องเที่ยวคิดว่าตนเองได้รับโอกาสในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นรูปแบบความสัมพันธ์แบบต่างงตอบแทนลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากต่อการตัดสินด้วยทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปรากฎอยู่ในการท่องเที่ยวเชิงกามารมณ์ ดอร์ฟแมนอธิบายว่าตัวตนของคนท้องถิ่นจะถูกสร้างขึ้นภายใต้จินตนาการของคนผิวขาว เรือนร่างของคนท้องถิ่นจะกลายเป็นเสน่ห์ทางเพศ เป็นความเย้ายวนทางเพศ หรือเปรียบเสมือนเป็นร่างในจินตนาการทางเพศที่คนผิวขาวต้องการครอบครองและเชยชม เรือนร่างที่มีผิวสีน้ำตาลต่างไปจากร่างขาวซีดของชาวยุโรป เรือนร่างของคนท้องถิ่น เช่น ร่างของผู้หญิงผู้ชายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหมู่เกาะแปซิฟิกและทะเลแคริบเบียน จึงมีภาพลักษณ์เชิงกามารมณ์และเป็นสัญลักษณ์ของ “ธรรมชาติ” หมายถึงร่างที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง ยังไม่ถูกปรุงแต่ง จินตนาการเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวผิวขาวมองคนท้องถิ่นในเชิงสัญลักษณ์ทางเพศ ตัวอย่างเช่น ในสมัยสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต่างมองผู้หญิงบริการด้วยสัญลักษณ์ทางเพศ ผู้หญิงท้องถิ่นเหล่านี้คือจินตนาการทางกามารมณ์ที่เติมเต็มความสุขทางเพศให้กับทหารอเมริกัน หรือในสังคมโดมินิกันและจาไมก้า เด็กหนุ่มผิวสีน้ำตาลเข้มที่อยู่ตามชายหาดคือที่หมายปองทางเพศของเกย์และผู้หญิงผิวขาว
เซ็กที่ปรากฎระหว่างนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นจึงเป็นปรากฎการณ์ของจิตนาการทางเพศ (Sexual Fantasy) ที่คนผิวขาวมองร่างของคนท้องถิ่นเป็น “ร่างแห่งกามารมณ์” ร่างที่ถูกทำให้มีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ (Racialised Body) ในการศึกษาของเคมปาดู(2004) อธิบายประเด็นนี้ว่าจินตนาการทางเพศนี้คือเครื่องมือของอำนาจที่คนผิวขาวพยายามสร้าง “ความเป็นอื่น” ให้คนท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม อำนาจนี้ไม่ได้หายไปไหนแต่แปรเปลี่ยนไปอยู่ในวัฒนธรรมท่องเที่ยว สัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียมจึงมิใช่การกดขี่ข่มเหงหรือเอารัดเอาเปรียบแบบนายกับทาส แต่เป็นความแตกต่างของสีผิวบนเรือนร่างทางเพศระหว่างผู้เสพความสุขที่เป็นคนผิวขาวกับผู้ให้บริการความสุขที่เป็นคนท้องถิ่น ความแตกต่างของเรือนร่างทางเพศนี้ตอบสนองจินตนาการซึ่งกันและกัน ทั้งนักท่องเที่ยวผิวขาวและคนท้องถิ่นต่างก็ใช้ความแตกต่างของสีผิวเติมเต็มความพึงพอใจของตน “อำนาจ” ที่หล่อเลี้ยงจินตนาการทางเพศในวัฒนธรรมการท่องเที่ยวคืออำนาจที่แปลงร่างตัวเองให้เป็นผู้สร้างความสุข ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ต่างไปจากเฟมินิสต์และนักกฎหมายที่ยังคงเชื่อว่าเซ็กในการท่องเที่ยวคือความเสื่อมเสีย หรือเป็นต้นตอของการล่อลวงและความรุนแรงทางเพศ (Kempadoo, 2009)
เซ็กที่ปรากฎอยู่ในการท่องเที่ยว จึงมิใช่เซ็กเพื่อแลกเงินแบบตรงไปตรงมา มิใช่เซ็กของผู้นิยามตนเองเป็นโสเภณีที่มองว่าการขายบริการทางเพศคืออาชีพ แต่เซ็กในการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเชิงยุทธวิธี เซ็กเพื่อที่จะทำให้คนท้องถิ่นเข้าถึงโอกาส ทรัพยากร มิตรภาพ และความสุข เพื่อที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เต็มเติมจินตนาการและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เซ็กแบบนี้ เรียกว่า Tactical Sex (Cabezas, 2009) ดังนั้น ความพยายามที่จะมองเซ็กในการท่องเที่ยวเป็นปัญหาทางสังคม ปัญหาศีลธรรม ปัญหาความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหง ปัญหาล่อลวงและล้วงละเมิดทางเพศ การมองแบบนี้คือการตีตราคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในซอกหลืบทางสังคม เราจะเห็นวาทกรรมตีตราเหล่านี้มาจากนักวิชาการและนักการเมืองที่เคร่งครัดกฎระเบียบทางศีลธรรมแบบรักต่างเพศ และมองเซ็กว่าเป็น “สิ่งสกปรก” หรือ “ความไร้ระเบียบ” ความน่าเกลียดที่มีอยู่ในเซ็กและการท่องเที่ยวจึงมิได้มาจากชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เลือกใช้เซ็กเพื่อสร้างชีวิตให้ตัวเอง หากแต่มาจากอำนาจความรู้ของรัฐเสรีนิยมแนวอนุรักษ์ที่ให้คุณค่าเซ็กตามกรอบประเพณีและตามกฎหมายเท่านั้น เซ็กที่อยู่นอกระเบียบกฎเกณฑ์หรือเซ็กนอกคอกทั้งหลายจึงกลายเป็น “ปัญหา” ทั้งหมด (Kempadoo, 2009)
โสเภณี ภาพสะท้อนความไม่เท่าเทียมในสังคมบริโภค
หากมองดูปรากฎกาณ์โสเภณี หรือการใช้เซ็กเพื่อสร้างโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลกและโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน เราจะเห็นความย้อนแย้งของศีลธรรม ด้านหนึ่งเราจะเห็นการรุ่งเรืองเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวที่มีเรื่องเซ็กเป็นกลไกสำคัญของการจับจ่ายและการบริโภค อีกด้านหนึ่งเราจะเห็นมาตรการของรัฐที่พยายามควบคุม จำกัด และปิดกั้นการค้าบริการทางเพศภายใต้มายาคติเรื่องการล่อลวงเด็กและผู้หญิงให้เป็นโสเภณี ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ได้ขับเคลื่อน “อำนาจที่มองไม่เห็น” ซึ่งสร้างระเบียบกฎเกณ์ที่เคร่งครัดให้กับเซ็กและโสเภณี อำนาจนี้แตกหน่อแพร่พันธุ์และขยายตัวไปพร้อมกับทุนนิยมข้ามชาติและอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ เห็นได้จาก “ลัทธิสิทธิมนุษยชน” “ลัทธิสิทธิสตรี” “ลัทธิสิทธิเด็ก” ฯลฯ ที่แพร่พันธุ์อยู่ในนโยบายของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศ อำนาจนี้ขับเคลื่อนทั้งระบบทุนนิยม/บริโภคนิยม และจรรโลงศีลธรรมทางเพศแบบอนุรักษ์นิยมในเวลาเดียวกัน
การศึกษาของโซโลม่อน(2005) ชี้ให้เห็นว่าชาวเม็กซิโกที่ยากจนที่เลือกขายบริการทางเพศเป็นที่แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ถูกกระทำจากรัฐทั้งเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา คนที่ขายบริการทางเพศที่หาลูกค้าบริเวณชายแดนระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโกจำนวนมากจะถูกตีตราว่าเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมายและทำผิดศีลธรรมทางเพศ โดยเฉพาะคนขายบริการที่เป็นสาวประเภทสองจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามหนักกว่าคนอื่นๆ เมื่อถูกจับตัวและนำไปกักขัง สาวประเภทสองเหล่านี้จะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กำลังข่มเหง การเหยียดเพศ เหยียดเซ็ก และเหยียดคนต่างด้าวจึงดำรงอยู่ในชีวิตของคนจนที่ขายบริการทางเพศ โซโลม่อนอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนอำนาจที่ตอกย้ำว่าโสเภณีคือ “ความไร้เบียบ” หมายถึงอยู่นอกบรรทัดฐานเพศวิถีแบบรักต่างเพศและศีลธรรมแบบผัวเดียวเมียเดียว การจับกุมคนต่างด้าวที่ขายบริการทางเพศจึงเป็น “ปฏิบัติการ” ของการใช้อำนาจที่สังคมเห็นดีเห็นงาม
การศึกษาของแอนดรีชาสเซวิค(2003) แองเนส(2008) และวีสเตอร์(2010) อธิบายว่าแรงงานต่างด้าวที่ไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการขายบริการทางเพศให้กับคนผิวขาวในอเมริกาและยุโรป คือ “ตัวประหลาด” ที่ไม่มีสิทธิ เพราะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้มองว่าการการขายบริการทางเพศของแรงงานต่างด้าวเป็นผลของการถูกล่อลวงและการบีบบังคับ ความคิดเรื่องการล่อลวงผู้หญิงและเด็กให้เป็นโสเภณีและส่งตัวไปขายบริการทางเพศในประเทศที่ร่ำรวย คือมายาคติที่ทำให้ลัทธิสิทธิมนุษยชนมีพลังและครอบงำการสร้างนโยบายระดับชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้วาทกรรมเรื่อง “การตกเป็นเหยื่อ” (Victimisation Discourse) ในการขายบริการทางเพศคือวาทกรรมที่ยากต่อการรื้อทำลาย วาทกรรมนี้ทำให้ “เซ็ก” กลายเป็นสิ่งที่สะดุดตาและโผล่ขึ้นมา ทั้งๆที่เซ็กเป็นเพียงปฏิบัติการทางสังคมอย่างหนึ่งไม่ต่างอะไรกับการกินอาหารหรือจับจ่ายใช้ซอย เบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ในชีวิตที่ยากจนของผู้ขายบริการทางเพศ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การศึกษา การประกอบอาชีพ และสวัสดิการต่างๆจะไม่ถูกพูดถึง เบื้องหลังเหล่านี้จะเป็นเพียงเรื่องนอกประเด็นหรือเรื่องรองสำหรับนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย และนักสังคมสงเคราะห์ ทั้งๆที่มันคือสิ่งที่แยกขาดจากการขายบริการทางเพศไม่ได้ และมีนัยยะสำคัญต่อการทำให้คนๆหนึ่งเลือกที่จะเดินเข้าสู่การเป็นโสเภณีและใช้เซ็กเพื่อสร้างโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ (Sagar, 2009) และมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจความไม่เท่าเทียมที่ปรากฎอยู่ในสังคมทุนนิยม/บริโภคนิยม ซึ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแสวงหาประโยชน์จากประเทศยากจนในโลกที่สามมายาวนาน (Jagori, 2005)
โสเภณี กามารมณ์แบบเหตุผลนิยม
กามารมณ์คือสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เข้าใจได้จากการแสดงออกทางร่างกาย ดังนั้น “ร่างกาย” จึงมีความสำคัญ คำถามก็คือ ในสังคมสมัยใหม่ซึ่งถูกครอบครองด้วยระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ อารมณ์ทางเพศของมนุษย์ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องทางวัตถุ(อวัยะเพศ)ได้อย่างไร คำถามนี้สามารถตอบได้ด้วยความคิดของฟูโกต์(1978) ซึ่งเคยวิพากษ์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ว่าเป็น “ศีลธรรม” ที่ใช้ตัดสินความถูกและความผิดเกี่ยวกับเซ็กและกามารมณ์ของมนุษย์ ฟูโกต์ชี้ให้เห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้เซ็กกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม โดยการจัดจำแนกชนิดของกามารมณ์เป็น 2 แบบ คือ อารมณ์ที่ถูกต้องตามธรรมชาติ(รักต่างเพศ) และที่ผิดธรรมชาติ (เซ็กแบบอื่นๆที่มิใช่ชายกับหญิง) และในความเป็นเพศที่ถูกต้องตามธรรมชาติ เซ็กเพื่อการเจริญพันธุ์แบบชายหนึ่งหญิงหนึ่งเท่านั้นที่มีคุณค่าที่สุด วิธีการที่วิทยาศาสตร์เข้ามาควบคุมศีลธรรมแบบนี้เกิดขึ้นภายใต้ความรู้ชีววิทยาและโรคยาทางเพศ ความรู้ทั้งสองนี้จะเข้ามาจัดระเบียบพฤติกรรมและอารมณ์ทางเพศ
นอกจากวิทยาศาสตร์จะสร้างศีลธรรมให้กับเซ็กแล้ว ยังสร้าง “ความจริงแท้” เกี่ยวกับตัวตนทางเพศให้กับมนุษยืด้วย โดยใช้ความรู้ชีววิทยาและโรคยามาประเมินว่าตัวตนทางเพศเกิดมาจากอารมณ์ทางเพศ เรามีอารมณ์ความปรารถนาทางเพศแบบไหน ตัวตนทางเพศของเราก็จะเป็นแบบนั้น เช่น ผู้ชายที่มีความเสน่หาและพึงพอใจในเพศหญิง ตัวตนของผู้ชายคนนั้นคือ “รักต่างเพศ” ซึ่งถือว่าเป็นตัวตนที่ปกติ ถ้าผู้ชายมีความเสน่หากับเพศเดียวกัน ตัวตนของเขาก็จะเป็นโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งถือว่าผิดปกติ การทำให้ความปรารถนาทางเพศเป็น “ตัวตน” ของบุคคลได้แพร่ออกไปภายใต้กลไกต่างๆ เช่น การสร้างครอบครัว การแต่งงาน การสร้างความเป็นหญิงชายตามเพศสรีระ การแบ่งบทบาทหน้าที่ของหญิงชาย ฯลฯ กลไกเหล่านี้คือ “การแปรขบวน” ของอำนาจ ความรู้เรื่องเพศแบบวิทยาศาสตร์จึงสอดแทรกเข้าไปอยู่ในความประพฤติและการปฏิบัติตัวของบุคคลโดยที่ไม่รู้ตัว
กามารมณ์ในสังคมแบบวิทยาศาสตร์ คือ “กฎระเบียบชนิดใหม่” ที่ทำให้บุคคลกระตือรือร้น ค้นหาและยืนยันในความต้องการทางเพศของตัวเอง กฎระเบียบนี้คืออำนาจที่ตกผลึกอยู่ในร่างกายของมนุษย์ ร่างกายและสรีระทางเพศตามธรรมชาติจึงมิใช่อินทรีย์วัตถุ แต่เป็นวัตถุที่ถูกปรุงแต่งด้วยอำนาจ อำนาจที่เข้ามาอยู่ในร่างกายของเราแอบซ่อนตัวเองอย่างแนบเนียนจนเราไม่คิดว่ามันคืออำนาจที่มากดทับเรา เพราะมันได้สร้างความสุข ความอิ่มเอม ความพึงพอใจ ทำให้เราค้นหาตัวตนทางเพศและความปรารถนาทางเพศที่เรายืนยันว่าคือ “ตัวเรา” อำนาจนี้สร้างสำนึกเกี่ยวกับกามารมณ์และความสุขทางเพศให้เรา เราจึงไม่คิดว่าเราถูกครอบงำจากอำนาจ แต่เราจะคิดว่าเรามีอิสระและเสรีภาพที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของเรา เราเชื่อว่าการแสดงความปรารถนาทางเพศที่เราต้องการ คือความจริงในตัวตนของเรา
ฟูโกต์อธิบายว่าการแทรกแซงของอำนาจความรู้แบบวิทยาศาสตร์ลงไปในประสบการณ์เกี่ยวกับร่างกายของเรา มีความแยบยลและซับซ้อนมาก วิชาเพศศึกษา จิตวิทยาทางเพศ ชีววิทยาของการสืบพันธุ์ อุดมคติของความเป็นหญิงและชาย รวมไปถึง อุตสาหกรรมความงาม สุขภาพ สื่อที่กระตุ้นกามารมณ์ และธุรกิจทางเพศ ล้วนเป็นกลไกที่นำอำนาจแบบวิทยาศาสตร์ไปสู่ร่างกายของเรา ในแง่นี้ โสเภณีและการขายบริการทางเพศในสังคมสมัยใหม่ก็จัดเป็นกลไกหนึ่งที่ส่งต่ออำนาจความรู้แบบวิทยาศาสตร์ อำนาจชนิดนี้ทำให้เรามีความสุขและเบิกบานใจ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแสวงหาความสุขทางเพศกับโสเภณีและผู้บริการทางเพศในรูปแบบต่างๆ
ในที่นี้ จะชี้ให้เห็นว่าโสเภณีและการขายบริการทางเพศในสังคมบริโภค เปรียบเสมือน “นายหน้า” หรือ “เครื่องมือ” ที่นำเอาอำนาจวิทยาศาสตร์มาเพาะพันธุ์ในร่างกายของมนุษย์ โสเภณีทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งที่นิยามตนเองและไม่นิยามตนเอง ล้วนเป็นกฎระเบียบของระบบเหตุผลซึ่งทำให้เรามองดูตัวตนทางเพศผ่านกามารมณ์และวิธีการที่เราจะทำให้กามารมณ์ได้รับการเติมเต็มและตอบสนอง ในแง่นี้ ทำให้เราคิดใหม่ว่าการใช้เซ็กเพื่อแลกเงิน หรือใช้เงินเพื่อหาความสุขจากเซ็กมิใช่กิจกรรมแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจ หรือเป็นการท้าทายบรรทัดฐานของศีลธรรมทางเพศ (เซ็กนอกคอก เซ็กที่เสื่อมทราม) แต่เป็นการจัดระเบียบกามารมณ์ ทำให้อารมณ์ทางเพศมีหมวดหมู่ มีตัวตน และมีแก่นแท้ เพื่อที่บุคคลจะมีสำนึกทางเพศว่าเขาคือใคร เป็นใคร ต้องการอะไร และความสุขแบบไหนที่เขาปรารถนา
การเต็มเติมความสุขทางเพศผ่านการซื้อบริการจากโสเภณี คือ “ปฏิบัติการ” ของกฎระเบียบทางเพศ (Practices of Sexual Discipline) ซึ่งหล่อหลอมให้มนุษย์สร้างความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์ภายใต้ตรรกะของผู้ที่ตอกย้ำ “ตัวตน” ที่ต้องได้รับการตอบสนองและการยืนยัน โสเภณีหญิงมีไว้ตอกย้ำตัวตนของผู้ชายรักต่างเพศ โสเภณีชายมีไว้ตอกย้ำตัวตนของเกย์/โฮโมเซ็กช่วล ความสัมพันธ์ที่เรามีกับโสเภณีไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร คือการยืนยันกฎระเบียบของตัวตนทางเพศ หรือตัวตนของเพศวิถี โสเภณีจึงเป็นหลักฐานแห่งการแพร่พันธุ์ (Proliferation) และเพาะพันธุ์ (Implantation) ของเพศวิถีแบบวิทยาศาสตร์ (เหตุผลนิยม)ที่แนบเนียนและแยบยล
บรรณานุกรม
Andrijasevic, R. 2003. “The Different Borders Make: (Il)legality, Migration and Trafficking in Italy among Eastern European Women in Prostitution. In S. Ahmed et.al.(eds) Uprootings/Regroundings: Questions of Home and Migration. Oxford, New York, Berg Publications. 251-267.
Anges, F. 2008. The Bar Dancer and the Trafficked Migrant: Globalisation and Subaltern Existence. In G. Letherby, et. Al.(eds.) Sex As Crime. Doven, UK, Willan Publishing. 99-117.
Barry, Kathleen. 1995. The Prostitution of Sexuality. New York, New York University Press.
Bray, Abigail. (2009). “Governing the Gaze : Child Sexual Abuse Moral Panics and the Post-feminist Blindspot.” Feminist Media Studies, 9(2), 173-191.
Cabesaz, Amalia L. 2009. Economies of Desire: Sex and Tourism in Cuba and Dominican Republic. Philadelphia, Temple University Press.
Dorfman, Rosalee Sylvia. 2011. “A Foucauldian Analysis of Power and Prostitution: Comparing Sex Tourism and Sex Work Migration” in POLIS Journal, Vol. 5, Summer 2011.
Dovzhyk, Olexandra. 2013. “The Victorian Child as Sexual Being: The Secret That Ought to Be Revealed.” In The Victorian, Vol.1, No.1. August, 2013.
Foucault, Michel. 1978. The History of Sexuality. Vol. 1: An Introduction. Trans. Robert Hurley, New York, Vintage Books.
Jagori. 2005. “Migration, Trafficking and Sites of Work Rights and Vulnerabilities”. In Kamala Kempado et.al. (eds) Trafficking and Prostitution Reconsidered: New Perspectives on Migration, Sex Work and Human Rights. Boulder, USA., Paradigm Publishers. 159-173.
Jordan, Jan. 1997. “User Pays: Why Men Buy Sex” in Journal of Criminology, Vol.30, No.1, 55-71.
Kaye, Kerwin. 2003. “Male Prostitution in the Twentieth Century: Pseudohomosexuals, Hoodlum, Homosexuals, and Exploited Teen”. Journal of Homosexuality, Vol. 46 (1/2).
Kempadoo, Kamala. 2004. Sexing the Caribbean: Race, Gender, and Sexual Labor. New York, Routledge.
Kempadoo, Kamala. 2009. “Caribbean Sexuality: Mapping the Field” in Caribbean Review of Gender Studies, Issue 3, 2009.
Kern, Roger. 2000. Where’s the Action? Criminal Motivations among Prostitute Customers.
Doctoral Dissertation. Nashville, Tennessee, Vanderbilt University.
Kulick, Don. 1998. Travesti: Sex, Gender, and Culture among Brazilian Transgendered Prostituties. Chicago, University of Chicago Press.
Leichtentritt, Ronit D. and Arad, Bilha Davidson. “Adolescent and Young Adult Male-to-Female Transsexuals: Pathway to Prostitution” in British Journal of Social Work 2004, 34,349-374.
Monto, Martin. 2000. “Why Men Seek out Prostitutes” in R. Weitzer (ed.) Sex for Sale: Prostitution, Pornography, and the Sex Industry. New York, Routledge.
Monto, Martin A. and Julka, Deana. 2009. “Conceiving of Sex as a Commodity: A Study of Arrested Customers of Female Street Prostitutes” in Woman Criminology Review 10(1), 1-14.
O’Connell Davidson, J. 1998. Prostitution, Power and Freedom. Cambridge, Polity Press.
Padilla, Mark. 2007. Caribbean Pleasure Industry: Tourism, Sexuality, and AIDS in Dominican Republic. Chicago, University of Chicago Press.
Rubin, Gayle. 1984. “Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality” in Carole S. Vance. (ed.). Pleasure and Danger: Exploring Female Sexuality. New York, Routledge.
Sagar, T. 2009. “Anti-Social Powers and the Regulation of Street Sex Work.” In Social Policy & Society 9(1), 101-109.
Satz, Debra. 1995. “Markets in Women’s Labour” in Ethics, Vol.106., No.1, (October 1995), 63-85.
Scott, John. 2003. “A Prostitute’s Progress: Male Prostitution in Scientific Discourse” in Social Semiotics, Vol. 13, No. 2, 179-199.
Solomon, Alisa. 2005. “Trans/Migrant: Christina Madrazo’s All American Story” in E.L. Luibheide, L.Jr., Cantu (eds) Queer Migration: Sexuality, U.S. Citizenship, and Border Crossings.
Minneapolis, London, University of Minnesota Press. 3-29.
Weitzer, Ronald. 2005. “New Directions in Research on Prostitution” in Crime, Law & Social Change, Spring 2005, 43, 211-235.
Weitzer, Ronald. 2010. “The Mythology of Prostitution: Advocacy Research and Public Policy. In Sex Res Social Policy 7. 15-29.