Queer Love

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 214

Queer Love

           เควียร์ศึกษามีความคุ้นชินและสนใจพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ สามารถวิเคราะห์ระบอบความรู้และอำนาจที่มีผลกระทบต่อการสร้างกฎระเบียบและบรรทัดฐานทางเพศในสังคมได้อย่างชัดเจน แต่ประเด็นเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ท้าทายในแวดวงเควียร์ศึกษา (Berlant, 2001; Halperin, 2019) เมื่อกล่าวถึง “ความรัก” สิ่งที่ยึดโยงมักจะเป็นเรื่องบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในสังคมและปรากฎอยู่ในสถาบันครอบครัวและการแต่งงานของรักต่างเพศ ทำให้ความรักเกี่ยวข้องกับชีวิตที่ถูกควบคุมให้อยู่ในจารีตประเพณี การศึกษาความรักจึงเป็นที่รับรู้ในหมู่นักวิชาการที่ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ระบบคุณค่าทางศีลธรรมที่กำกับการแสดงบทบาทหน้าที่ของคู่รัก รวมถึงการสร้างชาติและประชากรที่จะเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ในแง่นี้ “ความรัก” จึงเป็นเงื่อนไขสำหรับการปกครองของสังคมสมัยใหม่โดยมีรัฐคอยควบคุมสอดส่องพฤติกรรมของประชาชน ในกลไกดังกล่าวทำให้ความรักมีนัยยะของการเป็นรักต่างเพศซึ่งมีพลเมืองหญิงชายสร้างครอบครัวและเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด Berlant (2001) เรียกสิ่งนี้ว่าความเป็นปกติวิสัยของตัวตนสมัยใหม่ (normativity of the modern self)

           สถานการณ์ปัจจุบัน การแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายของคู่รักเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศในกลุ่มประเทศตะวันตกและบางประเทศในเอเชีย ถือเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่า “ความรัก” ของบุคคลที่มิใช่ชายไม่ใช่หญิง กลายเป็นเครื่องตอกย้ำความปกติของบรรทัดฐานรักต่างเพศ ถึงแม้คู่รักเพศเดียวกันจะได้รับสิทธิเหมือนกับคู่รักหญิงชายแต่ความรักก็ยังคงอยู่ในกรอบจารีตประเพณีแบบผัวเดียวเมียเดียวที่หยั่งรากลึกในสังคมสมัยใหม่ ในทางกลับกัน คู่รักเพศเดียวกันที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายได้สูญเสียพลังแห่งการขัดขืนและการตอบโต้ (counter-conduct) ทำให้ความรักที่อยู่นอกกฎระเบียบสังคมกลายเป็นปกติ (Halperin, 2019) ฟูโกต์เคยอธิบายว่าการตอบโต้กฎระเบียบคือการท้าทายระบบอำนาจในสังคมที่สั่งการให้มนุษย์ปฏิบัติตามข้อบังคับและแบบแผน (Senellart, 2007) การไม่ยอมจำนนต่อกฎระเบียบคือศักยภาพที่บุคคลจะทำให้ตนเองยึดมั่นในชีวิตที่เป็นอยู่ ดังนั้น การแสดงความรักที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่สังคมสร้างขึ้นมิใช่ความผิด ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 สังคมตะวันตกยังคงไม่มีกฎหมายที่รองรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน แต่ฟูโกต์ไม่ต้องการให้คู่รักเกย์และเลสเบี้ยนผลิตซ้ำบรรทัดฐานการแต่งงานของคู่ชายหญิง แต่เสนอให้แสวงหาวิถีชีวิตแบบรักเพศเดียวกัน (homosexual way of life) (Halperin, 1995)

           ฟูโกต์อธิบายความแตกต่างระหว่างเซ็กส์ของคู่รักเพศเดียวกันกับชีวิตที่มีความสุขของคนรักเพศเดียวกัน กล่าวคือ เซ็กส์สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ชีวิตที่มีความสุขเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ การแยกกิจกรรมทางเพศออกจากรูปแบบของการมีชีวิต (mode of life) จะทำให้เข้าใจว่าชีวิตคือรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความสุข ในสังคมที่ปกครองด้วยรัฐชาติที่ยึดในบรรทัดฐานรักต่างเพศ ความสุขของคนรักเพศเดียวกันคงเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือการจดทะเบียนชีวิตคู่ของเกย์และเลสเบี้ยนกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ของชีวิตที่มีความสุข คู่รักเกย์และเลสเบี้ยนกำลังสร้างครอบครัวและรับเด็กมาเป็นลูกเหมือนกับครอบครัวของชายหญิง ความเป็นครอบครัวแบบเก่ายังคงดำเนินต่อไป คำถามคือ สิ่งนี้คือ “ความสุข” ที่ดำรงอยู่ในกรอบประเพณีดั้งเดิมใช่หรือไม่ สิ่งที่ฟูโกต์เรียกว่า “การมีชีวิตแบบใหม่” (new forms of existence) “ความสัมพันธ์แบบใหม่” “ความสุขใจแบบใหม่” คือสิ่งเดียวกับการแต่งงานของคู่รักเกย์และเลสเบี้ยนใช่หรือไม่ ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกช่วงหลังที่ฟูโกต์เสียชีวิตไปแล้ว กฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันคือสิ่งที่ชาวเกย์และเลสเบี้ยนแสดงความยินดีและมีความสุขกับการได้รับสิทธิเท่ากับชายและหญิง เพราะการจดทะเบียนสมรสคือตัวแบบที่เป็นรูปธรรมภายใต้การเป็นสถาบันของความรัก (institutionalizing romantic love) รูปแบบความสัมพันธ์แบบอื่นที่มิใช่การจดทะเบียนสมรสจึงยังไม่เกิดขึ้น ประเด็นนี้ ฟูโกต์เคยถามว่า รูปแบบความสัมพันธ์อื่นนอกเหนือจากการสร้างครอบครัวด้วยการจดทะเบียนชีวิตคู่แล้ว กฎหมายจะเปิดกว้างให้บุคคลสร้างความสัมพันธ์แบบอื่นได้หรือไม่ การจดทะเบียนสมรสคือรูปแบบที่ดีที่สุดของการใช้ชีวิตร่วมกันของมนุษย์ใช่หรือไม่ การสร้างชีวิตภายใต้ความสัมพันธ์ที่หลากหลายที่ไม่เหมือนกับการสร้างครอบครัวที่กฎหมายกำหนดจะเป็นไปได้หรือไม่ (Foucault, 1998)

           ความสัมพันธ์ที่ปราศจากรูปแบบ (relation without form) และยังไม่มีกฎหมายใด ๆ รองรับ เป็นประเด็นที่ฟูโกต์ตั้งคำถามเพื่อท้าทายบรรทัดฐานครอบครัวและความสัมพันธ์ของคู่สมรส ความสัมพันธ์ของคนที่สร้างชีวิตด้วยกันในสังคมตะวันตกวางอยู่บนวิธีคิดเรื่องการแสวงหาตัวตนที่มีความสุข ในความสัมพันธ์หรือความรักที่ซ่อนเร้น ปกปิด เปิดเผยไม่ได้ พูดในที่สาธารณะไม่ได้ เป็นความทุกข์ทรมานใจอย่างแสนสาหัส เกย์และเลสเบี้ยนในสังคมตะวันตกจึงรู้สึกกระวนกระวายใจเกี่ยวกับความรักที่ต้องแอบซ่อนและปรารถนาที่จะแสดงความรักและความผูกพันนี้ให้เห็นชัดเจน ความรักในฐานะเป็น “รูปแบบแห่งอารมณ์” (emotional forms) ที่ต้องการพื้นที่ทางสังคมในการแสดงออก ถ้าพื้นที่นั้นมีระเบียบกฎเกณฑ์รองรับ ความรักนั้นก็จะถูกทำให้จับต้องได้ เมื่อกฎหมายรับรองชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกันได้รับการประกาศใช้ ความรักของเกย์และ เลสเบี้ยนจึงเป็นสิ่งที่พูดได้และจับต้องได้ ทั้งนี้ภายใต้กฎระเบียบที่รัฐสามารถควบคุมให้เป็นไปตามบรรทัดฐานเดิมที่ใช้กับคู่รักต่างเพศ อาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่สังคมไม่ยอมรับความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกัน เกย์และเลสเบี้ยนมองความรักของตนเองเป็นสิ่งที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น พร้อมทั้งความรู้สึกหวาดกลัว แต่ในยุคที่กฎหมายรับรอง ความรักจะเปลี่ยนเป็นสิ่งที่แสดงออกอย่างเปิดเผย

           หากความสัมพันธ์และความผูกพันทางใจของคนไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่สังคมสร้างไว้ ความผูกพันเหล่านั้นจะเป็นกระจกสะท้อนความคับแคบของกฎระเบียบทางสังคมได้หรือไม่ และจำเป็นหรือไม่ที่ความผูกพันทางใจที่อยู่นอกกฎระเบียบจะต้องเปลี่ยนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ คุณลักษณะการต่อต้านขัดขืนทางสังคมของความรักที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์สังคม คือรูปแบบความสัมพันธ์ที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของอารมณ์ความรู้สึกที่คาดเดาไม่ได้ สิ่งนี้คือสุนทรียะของการมีชีวิต Halperin (2019) กล่าวว่าความรักที่ไม่เป็นไปตามกฎสังคมคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างกฎระเบียบและความไร้ระเบียบ เหมืนอสภาวะที่ยืดหยุ่นและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในความคิดของฟูโกต์อธิบายว่าในความรักและความผูกพันของคนเพศเดียวกัน มนุษย์จะเรียนรู้และความเข้าใจความรู้สึกนี้ได้อย่างไร และจะทำให้ความสัมพันธ์นี้ปรากฎขึ้นในสังคมอย่างไร (Foucault, 1998) นอกจากนั้น ฟูโกต์ยังชี้ว่าความสัมพันธ์และความรักของคนเพศเดียวกันมิใช่เครื่องพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับตัวตนทางเพศที่แท้จริงของบุคคล แต่เป็นการทำความเข้าใจว่าบุคคลสามารถแสดงความสัมพันธ์ได้หลากหลาย

           Berlant (2001) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ความรัก” คือสภาวะที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง อารมณ์ความรู้สึกผูกพันระหว่างคนรักเปรียบเสมือนพื้นที่ของการเปลี่ยนสภาพเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ต่างไปจากเดิม ถ้าความรักต้องถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ที่ตายตัว สิ่งนั้นก็จะมิใช่การเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่าความรักที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองคือคุณลักษณะของการไม่จำนนต่อกฎเกณฑ์และบรรทัดฐาน เช่นเดียวกับ Munoz (2009) กล่าวว่าการอยู่นอกกฎคือการปฏิเสธความรักตามบรรทัดฐาน และแสดงความปรารถนาที่จะไม่ทำตามความรักที่สังคมกำหนดไว้ สิ่งสำคัญคือความรักที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์มิใช่การบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ทางเพศแต่อย่างใด การไม่ทำตามกฎระเบียบยังหมายถึงสุนทรียะที่จะทำให้บุคคลค้นพบศักยภาพและพื้นที่ชีวิตแบบใหม่ที่ต่างจากเดิม ความรักที่อยู่นอกบรรทัดฐาน (nonnormativity) จึงมีลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ที่ไม่รู้จบ เป็นพื้นที่เปิดสำหรับสิ่งใหม่ที่คาดเดาไม่ได้ พื้นที่นี้ไม่สามารถใช้แนวคิดและนิยามเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถีที่สังคมสร้างขึ้น

           จากความคิดของ Foucault, Halperin, Berlant และ Munoz ทำให้เห็นว่า Queer Love คือรูปแบบความสัมพันธ์ที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ แต่บ่งบอกถึงศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ เป็นสุนทรียะของการมีชีวิตที่สร้างสรรค์ทางเลือกอื่น ๆ ที่ต่างไปจากแบบแผนเดิม ๆ ที่ถูกควบคุมโดยระบอบอำนาจ ความสัมพันธ์แบบ Queer Love ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน (indeterminacy) และยืดหยุ่น ทำให้การแสดงอารมณ์ความรู้สึกเปิดกว้างไม่ยึดติดกับกรอบกฎเกณฑ์ที่ตายตัว สะท้อนการมีชีวิตที่เป็นอิสระ Queer Love คือรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่นำเอากฎระเบียบมาเป็นเครื่องพิสูจน์ของความรัก แต่เปิดโอกาสให้บุคคลได้แสดงความรู้สึกที่ต่างไปจากบรรทัดฐาน (Burke, 2016) หากพิจารณาคำอธิบายที่กล่าวมานี้ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าความรักที่อยู่นอกกฎเกณฑ์และคาดเดาไม่ได้นี้จะเรียกว่าเป็น “ความรัก” ได้อย่างไร ความสัมพันธ์ของคนที่วางอยู่บนความไร้กฎเกณฑ์และข้อผูกมัดจะสร้างความมั่นคงในความรักได้อย่างไร คำถามนี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อการให้คำตอบ ทั้งนี้ การทำความเข้าใจ Queer Love มิใช่การนำกรอบแนวคิดเรื่องรักแท้หรือรักที่มั่นคงมาเป็นตัวชี้วัด เราไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์ของรักแท้ตามทฤษฎีของสังคมมาประเมิน Queer Love ได้ แต่ควรมองความรักนอกกฎเกณฑ์ในฐานะเป็นศิลปะของการมีชีวิต และเป็นพื้นที่เปิดให้มนุษย์ได้ทำความเข้าใจพลวัตของความรู้สึกในตนเอง

           เนื่องจากมนุษย์มีศักยภาพทางอารมณ์ที่หลากหลาย ทำไมเราจึงจำนนต่อการถูกควบคุมให้แสดงอารมณ์เพียงแบบเดียวในเรื่องความรัก เราจำเป็นต้องตั้งคำถามว่าปัจจุบัน สังคมซ่อนเร้นอำนาจที่สร้างกฎเกณฑ์ที่เข้ามาจัดการชีวิตของเราอย่างไร เรายอมให้อำนาจนั้นกระทำต่อชีวิตเราได้อย่างไร ดังนั้น การแสดงความรักนอกกฎเกณฑ์จะเป็นการตรวจสอบอำนาจที่เราสามารถทำได้ เราเริ่มด้วยการทบทวนและพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกที่เราแสดงความรัก ความผูกพัน ความเสน่หาต่อคนที่เราหลงใหลชื่มชม แล้วถามตัวเองว่าสิ่งนั้นทำให้เราสัมผัสถึงความสุขในการมีชีวิตอยู่มากน้อยเพียงใด

           คำถามคือ การจดทะเบียนสมรสของคนที่รักกัน หากคนรักมีมากกว่าหนึ่งคน สังคมจะพิจารณาและโต้เถียงเรื่องนี้อย่างไร จากข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมของนักมานุษยวิทยาพบว่าในแต่ละวัฒนธรรมล้วนมีรูปแบบการแต่งงานที่หลากหลาย ไม่สามารถสร้างมาตรฐานสากลของการแต่งงานได้ (Leach, 1955) รูปแบบการแต่งงานและการมีครอบครัวที่พบเห็นได้ ตัวอย่างเช่น การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) การแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมีย (polygyny) การแต่งงานแบบเมียเดียวหลายผัว (polyandry) กรณีการมีเมียหลายคนพบมากในสังคมพื้นเมืองเขตแอฟริกากลางและตะวันตก เช่น แกมเบีย, ไนเจอร์, ไนจีเรียน, มาลี และบูร์กิน่าฟาโซ และสามารถพบได้ในอัฟกานิสถาน, เยเมน และอิรัก (Dalton & Leung, 2014) ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ชายมีเมียหลายคนเนื่องจากผู้หญิงจะผลิตลูกเพื่อเป็นแรงงานในเขตแห้งแล้งแบบกึ่งทะเลทราย นอกจากนั้น การแต่งงานยังเป็นการบ่งบอกถึงสิทธิหน้าที่ของบุคคลที่จะให้กำเนิดลูก อีกเหตุผลหนึ่งคือเด็กที่เกิดในทะเลทรายมักจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ผู้ชายจึงจำเป็นต้องมีเมียหลายคนเพื่อช่วยกันผลิตลูก เพราะการมีลูกบ่งบอกถึงการอยู่รอดของครัวเรือน (Fenske, 2012; Goody, 1974; Timeas & Reyner, 1998) กรณีครอบครัวเมียเดียวหลายผัวมักพบเห็นไม่มากนัก (Starkweather & Hames, 2012) ตัวอย่างในภาคเหนือของไนจีเรียและ คาเมรูน รูปแบบความสัมพันธ์จะทับซ้อนกันระหว่างการที่ผู้หญิงเป็นภรรยาของผู้ชายหลายคน และผู้ชายก็มีภรรยาหลายคนในเวลาเดียวกัน รูปแบบนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางสังคม ในบางกรณีลูกสาวของครอบครัวอาจแต่งงานกับพี่น้องผู้ชายจากครอบครัวอื่น ทำให้มีสามีมากกว่า 1 คน เช่นในเขตทิเบต เนปาล ตอนเหนือของอินเดีย (Levine, 1988) จะเห็นว่าการแต่งงานเป็นหน่วยที่แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของผัวเมียที่ต้องรับผิดชอบคนในครอบครัว

           นอกเหนือจากการสร้างครอบครัวที่กล่าวมาแล้ว ยังพบความสัมพันธ์ที่คนหนึ่งคนมีความรักหลงใหลคนหลายคนในเวลาเดียวกัน (multi-partner relationships) ซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่หลากหลายตั้งแต่การยินยอมของแต่ละคน(Haupert et al., 2017) รวมถึงการสร้างกลุ่มของตัวเองและแลกเปลี่ยนคู่นอนกันในหมู่สมาชิก หรือเรียกว่า swinging (Ficher & Seidman, 2016; Strassberg, 2003) รูปแบบความสัมพันธ์นี้จะเป็นข้อตกลงร่วมกันในกลุ่ม ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่ของตนที่เป็นผัวเมียได้มีโอกาสเปลี่ยนประสบการณ์ทางเพศ และอาจช่วยเสริมให้ความสัมพันธ์ของผัวเมียยังคงดำรงอยู่ได้ (Barker & Langdridge, 2012) ความสัมพันธ์แบบมีคู่นอนหรือคนรักหลายคนมักจะถูกเหมารวมว่าเป็น “การนอกใจ” อย่างไรก็ตาม ชีวิตทางเพศของคนเริ่มแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างและไม่ยึดติดกับบรรทัดฐานรักเดียวใจเดียว ปรากฎการณ์นี้เห็นได้จากเพื่อนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันได้โดยไม่แสดงความเป็นเจ้าของแบบคู่รัก ความสัมพันธ์แบบสามคนผัวเมีย การที่คู่รักอนุญาตให้คนรักของตนไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ และความสัมพันธ์แบบคู่นอนชั่วคราว (Klesse, 2014)

           ความสัมพันธ์กับคนหลายคน (Polyamorous relationships) อาจหมายถึงการแสดงความรักกับคนทุกคนที่มีความสัมพันธ์ด้วย การมีคนรักมากกว่าหนึ่งคนจะต้องแสดงออกให้เห็นถึงการเคารพความสัมพันธ์กับคนทุกคน ให้เกียรติกับคนรักทุกคนที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน บุคคลที่เลือกมีความสัมพันธ์กับคนหลายคนในเวลาเดียวกันอาจเผชิญความไม่ลงรอยระหว่างคนที่มีความสัมพันธ์ เช่น การหึงหวง น้อยใจ การแสดงความเป็นเจ้าของ ความลำเอียง การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของบุคคลที่ต้องแสวงหาแนวทางไกล่เกลี่ยในแบบของตัวเอง ไม่มีสูตรสำเร็จของการแก้ปัญหาเหล่านี้ การศึกษาของ Balzarini et al. (2021) พบว่าคุณลักษณะของคนที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนหลายคนได้คือการแสดงน้ำใจต่อคนอื่น หมายถึง การยอมรับว่าคนอื่นที่เข้ามามีความสัมพันธ์ด้วยสามารถมีคนอื่นเป็นคนรักได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความสุขและชื่นชมความสัมพันธ์ของคนอื่นเหมือนที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คุณลักษณะนี้เป็นความรู้สึกเชิงบวก (positive feelings) ที่หล่อเลี้ยงให้ความสัมพันธ์กับคนหลายคนดำเนินไปในวิถีทางของมัน สิ่งท้าทายอีกประการหนึ่งคือ คนที่มีความสัมพันธ์กับคนหลายคน อาจจะมีเพศสภาพและเพศวิถีที่หลากหลาย อาจมีความสัมพันธ์กับชายและหญิงในเวลาเดียวกัน (Klesse, 2014)


เอกสารอ้างอิง

Balzarini, R. N., McDonald, J. N., Kohut, T., Lehmiller, J. J., Holmes, B. M., Harman, J. J. (2021). Compersion: When Jealousy-Inducing Situations Don't (Just) Induce Jealousy. Archives of Sexual Behavior, 50(4), 1311–1324.

Barker, M. & Langdridge, D. (Eds.) (2012). Swinging: Pushing the Boundaries of Monogamy?. In Understanding Non-Monogamies. London: Routledge.

Berlant, L. (2001). Love, a Queer Feeling. in Tim Dean and Christopher Lane, (Eds.), Homosexuality and Psychoanalysis. Chicago: University of Chicago Press.

Burke, M.M. (2016). Love as a Hollow: Merleau-Ponty’s Promise of Queer Love. Hypatia, X(X), 1-15.

Dalton, J. & Leung, T. C. (2014). Why Is Polygyny More Prevalent in Western Africa? An African Slave Trade Perspective. Economic Development and Cultural Change, 62 (4), 601–604.

Fenske, J. (2012). African Polygamy: Past and Present. CSAE Working Paper WPS/2012-20.

Ficher, N., Seidman, S. (Eds.) (2016). Contesting the Culture of Monogamy. Introducing the New Sexuality Studies (third ed.). New York, NY: Routledge.

Foucault, M. (1998). Ethics: Subjectivity and Truth. New York: The New Press.

Goody, J. (1974). Polygyny, Economy and the Role of Women. In Jack Goody (Ed.) The Character of Kinship. London: Cambridge University Press.

Halperin, D. (1995). Saint Foucault: Towards a Gay Hagiography. New York: Oxford University Press.

Halperin, D. (2011). Michel Foucault, Jean Le Bitoux, and the Gay Science Lost and Found: An Introduction. Critical Inquiry, 37 (Spring 2011), 371–80.

Halperin, D. (2019). Queer Love. Critical Inquiry, 45 (Winter 2019), 396-419.

Haupert, M. L., Gesselman, Amanda N., Moors, Amy C., Fisher, Helen E., & Garcia, Justin R. (2017). Prevalence of Experiences With Consensual Nonmonogamous Relationships: Findings From Two National Samples of Single Americans. Journal of Sex & Marital Therapy, 43 (5), 424–440.

Klesse, C. (2014). Polyamory: Intimate practice, identity or sexual orientation? Sexualities, 17 (1–2), 81-99.

Leach, E.R. (1955). Polyandry, Inheritance and the Definition of Marriage. Man, 55 (December), 182-186.

Levine, N. (1988). The Dynamics of Polyandry: Kinship, domesticity and population on the Tibetan border. Chicago: University of Chicago Press.

Munoz, J. E. (2009). Cruising utopia: The then and there of queer futurity. New York: New York University Press.

Senellart, M. (Ed.). (2007). Michel Foucault, Security, Territory, Population: Lectures at the Collège de France, 1977‐78. London: Palgrave Macmillan.

Starkweather, K. & Hames, R. (2012). A survey of non-classical polyandry. Human Nature, 23 (2), 149–150.

Strassberg, M. I. (2003). The Challenge of Post-Modern Polygamy: Considering Polyamory. Capital University Law Review, 31-3 (June).

Timeas, I. & Reyner, A. (1998). Polygynists and Their Wives in Sub-Saharan Africa: An Analysis of Five Demographic and Health Surveys. Population Studies, 52:2


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการ ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Queer Love เควียร์ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา