การสร้างตัวตนและพื้นที่ของคนข้ามเพศ (ทอม) ในชุมชน

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 2584

การสร้างตัวตนและพื้นที่ของคนข้ามเพศ (ทอม) ในชุมชน

การสร้างตัวตนและพื้นที่ของคนข้ามเพศ (ทอม) ในชุมชน

Creating the Identity and Space of Transgender (Tomboy) in the Community

กิตติวินท์ เดชชวนากร

นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต วิชาเอกพหุวัฒนธรรมศึกษา 

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 (Kittiwin Dhedchawanagon) 

PhD. Doctor of Philosophy, Multicultural Education Majors, 

Faculty of Education, Chiang Mai University

E-mail address : kittiwin_cmu@hotmail.com

 

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นกระบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมย่อยของคนข้ามเพศที่นิยามตนเองว่า “ทอม” และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เปิดเผยตนเองว่าเป็นคนข้ามเพศ จำนวนทั้งสิ้น 5 คน โดยผลการสัมภาษณ์และสังเกตพบว่า คนข้ามเพศที่นิยามตนเองว่า “ทอม” ถูกกระบวนการทางสังคมโดยเฉพาะครอบครัวและชุมชน กระทำให้เป็นคนชายขอบ ถูกเบียดขับ ซึ่งคนข้ามเพศได้พยายามต่อรองกับสภาวะชายขอบและการถูกเบียดขับที่พวกเขาต้องเผชิญ เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับตนเอง แต่การถูกเบียดขับดังกล่าวไม่ว่าจะจากครอบครัวและชุมชน ในบางครั้งส่งผลให้กลุ่มคนข้ามเพศนี้ด้อยอำนาจในการต่อรอง ดังนั้นกลุ่มคนข้ามเพศเหล่านี้จึงพยายามที่จะต่อสู้ เรียกร้องเพื่อรักษาและแสวงหาพื้นที่ในการแสดงออกในแง่มุมต่างๆ ของตัวตนทางเพศ โดยมีโรงเรียนเป็นพื้นที่หลักพื้นที่หนึ่งในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อต้องการให้เกิดการยอมรับ ซึ่งคนข้ามเพศหลายคนใช้ความรู้ความสามารถที่มีจากความสามารถที่โดดเด่นเป็นใบเบิกทางไปสู่การยอมรับจากสังคมและครอบครัวของตนเอง

 

คำสำคัญ : คนข้ามเพศ / การสร้างตัวตน / พื้นที่ทางสังคม

 

Abstract

This article aims to demonstrate the process of creating social and transgender subculture of people who define themselves as “Tomboy” and the Karen ethnic group by revealing themselves as transgender people a total of 5 people. The results of the interviews and observations showed that transgender who define themselves as “Tomboy” is the specific social, family and community actions to be marginalized and were crowding. The transgender have been trying to negotiate with the state of being marginalized and crowding that they faced to create a social space for transgender. The crowding is above that of their families and communities. Sometimes, this results in a group of transgender powerless to negotiate. So a group of transgender trying to fight these claims and seek to maintain a space to express themselves in various aspects of sexual identity the school is one of the main areas of fighting claims to want to be accepted. Many transgender who use their knowledge and skills with the ability to stand out as a passport to acceptance by society and their families.

 

Keywords: Transgender / Build Identity / Social Space

 

บทนำ

ในสังคมพหุวัฒนธรรม การอยู่รวมกันของคนในสังคมต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ รูปแบบการใช้ชีวิตและมีการยอมรับในความเปลี่ยนแปลงรวมทั้งความแตกต่างของกลุ่มต่างๆ เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติ เมื่อมองเผินๆ เราอาจเห็นว่าสังคมไทยเปิดกว้างต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าในอดีต พฤติกรรมบางอย่างที่เคยต้องปกปิดไว้เนื่องจากขัดต่อวัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อเดิมๆ ก็ได้รับการเปิดเผยและยอมรับมากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการมีตัวตนในสังคมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีศัพท์เรียกกันทั่วไปตั้งแต่ กะเทย สาวประเภทสอง คนรักเพศเดียวกัน เพศที่หลากหลาย คนข้ามเพศ คนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยได้มากขึ้น แต่เบื้องหลังของแต่ละคนกว่าจะเปิดเผยตัวตนได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ มากมายในชีวิตกว่าจะได้รับการยอมรับในสังคม

และคำว่า “คนข้ามเพศ” ถือว่าเป็นคำที่คนไทยแทบทุกคนคุ้นเคย และอาจใช้กันโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพื่ออธิบายคนกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากความเป็นชายจริงและหญิงแท้ และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนข้ามเพศในสังคมไทยปัจจุบันนี้มีอิสระในการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีประเด็นของที่มาของการเป็นคนข้ามเพศที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงและพูดคุยอยู่ว่า มันเกิดจากธรรมชาติ การขัดเกลาทางสังคม หรือแม้กระทั่งเป็นเวรกรรมในอดีตชาติ ซึ่งบทความนี้ไม่ได้ต้องการจะหาคำตอบและชี้เจาะจงว่า ท้ายที่สุดแล้ว “การข้ามเพศ” มีที่มาจากปัจจัยอะไร เพราะตัวตนของแต่ละคนนั้นมีองค์ประกอบและปัจจัยที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าธรรมชาติ การขัดเกลาทางสังคม หรือแม้แต่เวรกรรม ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้เราเป็นสิ่งที่เราเป็นในทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าสังคมไทยยังยึดถือกรอบวัฒนธรรมในเรื่องเพศรูปแบบเดิม ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป สังคมเริ่มมีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น โดยมีทัศนคติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเชิงบวก โดยไม่ใช้ความต่างเรื่องเพศมาเป็นข้ออ้างในการประกอบอาชีพหรือไม่กีดกั้นสิทธิหน้าที่ทางสังคมและความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมไปถึงสังคมชนบทเองมีวัฒนธรรมที่เคยปฏิเสธการเป็นคนข้ามเพศของผู้ชายในชุมชนก็ยังมีการยอมรับการข้ามเพศในบทบาทของเพศหญิงมากขึ้น เห็นได้จากการแสดงออกอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาว่าตนเองเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชายเหมือนกัน และยังมีความสัมพันธ์อยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ต้องปกปิดหลบซ่อนใดๆ อย่างไรก็ตามในสังคมชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ก็ยังคงมองว่าการเป็นคนข้ามเพศเป็นสิ่งที่น่าอาย แต่จะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อคนข้ามเพศนั้นมีบทบาทหน้าที่ทางสังคมที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นกรณีเรื่องราวชีวิตของ “อายิ” กะเทยดอยแห่งบ้านแสนเจริญเก่า ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ไม่มีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตได้ตามที่ใจต้องการ เพราะเพียงแต่จะเลือกเกิดไม่ได้แล้ว เธอยังคงเกิดมาเป็นเด็กต้องห้ามในชนเผ่าอาข่า เผ่าซึ่งเป็นชาติพันธุ์ของเธอเองด้วย ในความเป็นชนชาติพันธุ์อาข่าหรือเรียกอีกชื่อว่าอีก้อ สมัยโบราณยังคงมีธรรมเนียมว่าลูกชายต้องแต่งงาน โดยเฉพาะลูกชายคนโตจะต้องแต่งงานก่อนน้องๆ เป็นหัวหน้าครอบครัวและต้องมีทายาทในการสืบสกุล ถ้าไม่แต่งงาน น้องๆ ก็จะไม่มีโอกาสและไม่มีสิทธิ์ได้แต่งงาน ดังนั้นถึงแม้ว่าลูกคนแรกจะเป็นกะเทยหรือเพศอื่นๆ ไม่ได้เลย คนไหนเป็นกะเทยจะถูกดูถูกรังเกียจเหยียดหยามมาก ถือเป็นของต้องห้าม เป็นสิ่งที่ผิดผีผิดบาป ใครเป็นกะเทยคือตัวประหลาด การแต่งงานของอายิดีกว่ากะเทยคนอื่นๆ ในหมู่บ้านตรงที่ทางครอบครัวไม่ได้เป็นผู้จัดหาผู้หญิงให้ แต่อายิเป็นฝ่ายเลือกเอง และก็ได้เลือกแต่งงานกับผู้หญิงข้างบ้าน ซึ่งแต่งงานกัน 5-6 ปี และมีลูกด้วยกัน 3 คน จนหย่าร้างกับภรรยา อายิก็เปิดตัวกับทางลูกๆ และครอบครัวของตัวเองจนได้ปลดล็อกและปลดปล่อยความเป็นตัวตนของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ อีกทั้งอายิทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยการทำงานที่ประเทศฮอลแลนด์ส่งเงินให้กับทางครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ายอมรับกะเทยได้มากขึ้น และมีผู้ชายอาข่าหลายคนที่เปิดเผยเพศวิถีและรสนิยมทางเพศ มีการจัดเวทีประกวด “ธิดาอาข่า” ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการประกวดกะเทยดอย โดยใช้เวทีการประกวดดังกล่าวนี้ในการสร้างพื้นที่ให้เกิดการยอมรับในสังคมระดับชุมชนของกะเทยชาวอาข่า (นิตยสารคู่สร้างคู่สม, ปีที่ 37 ฉบับที่ 942 : 2016) 

ดังนั้นแล้วจุดที่น่าสนใจในบทความ การสร้างตัวตนและพื้นที่ของคนข้ามเพศ (ทอม)  ในชุมชน ชิ้นนี้ผู้เขียนมุ่งนำเสนอในประเด็นความหมายของความเป็นหญิงและความเป็นชายของสังคมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในกรณีที่มีการข้ามเพศของผู้หญิงเกิดขึ้น และผู้หญิงที่ข้ามเพศถูกเบียดขับจากสังคมผู้หญิงในชุมชนด้วยกัน จึงทำให้ผู้หญิงที่ข้ามเพศไม่กล้าที่จะแสดงตัวเป็นผู้ชาย สิ่งที่คนข้ามเพศจะต้องต่อสู้จากการเป็นผู้หญิงมาเป็นผู้ชายจึงต้องมีการต่อสู้ต่อรองกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหลื่อมล้ำระหว่างเพศหญิงด้วยกันเอง ดังนั้นการผลิตสร้างพื้นที่ที่เกิดจากการครอบงำของคนบางกลุ่มบางพวกในชุมชน การสร้างพื้นที่ดังกล่าวล้วนแล้วแต่มาจากการไม่ยอมรับจากสังคมในด้านตัวตนและพฤติกรรม ทำให้คนข้ามเพศรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีอยู่ในสังคมระดับชุมชนและครอบครัว พยายามที่จะต่อสู้ เรียกร้องเพื่อรักษาและแสวงหาพื้นที่ในการแสดงออกในแง่มุมต่างๆ ของตัวตนทางเพศ โดยมีโรงเรียนเป็นพื้นที่หลักพื้นที่หนึ่งในการต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการยอมรับ

 

อ่านบทความฉบับเต็ม   การสร้างตัวตนและพื้นที่ของคนข้ามเพศ (ทอม) ในชุมชน

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา