คนสองเพศ (Intersex) ในวงการกีฬา

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 294

คนสองเพศ (Intersex) ในวงการกีฬา

           ท่ามกลางความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กำหนดเพศของมนุษย์เป็นเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ทำให้คนที่เกิดมามีภาวะฮอร์โมนทั้งสองเพศจะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ป่วยและจะถูกรักษาให้กลายเป็นเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น(Stonewall, 2020) โดยไม่พิจารณาว่าประสบการณ์และอัตลักษณ์ทางสังคมที่คนเหล่านี้เติบโตและพัฒนามาตั้งแต่เกิดจะมีความซับซ้อนต่างไปจากชายและหญิงอย่างไร ทำให้บุคคลที่เกิดมามีฮอร์โมนเพศที่คลุมเครือ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น intersex จะเผชิญปัญหาการนิยามตัวตนเมื่อพวกเขาต้องเป็นนักกีฬาที่ถูกจัดหมวดหมู่เฉพาะนักกีฬาหญิงและนักกีฬาชาย เห็นได้จากนักกีฬาหญิงที่มีสภาวะฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ(hyperandrogenism) ส่งผลให้รูปร่างและสรีระของพวกเธอดูเหมือนเพศชาย (Karkazis, & Jordan-Young, 2018) ด้วยเหตุนี้นักกีฬาที่เกิดมามีสองเพศจึงถูกเพ่งเล็งจากวงการกีฬาว่าพวกเขาเอาเปรียบหรือฉ้อโกงนักกีฬาคนอื่นที่เป็นหญิงหรือไม่ นักกีฬาสองเพศจึงถูกตรวจฮอร์โมนเพศ ทั้งนี้อยู่บนข้อสันนิษฐานว่าคนสองเพศที่แข่งขันในนามนักกีฬาหญิงมีความเป็นชายมากกว่าปกติและทำให้ได้เปรียบนักกีฬาหญิง

           ในปี พ.ศ.2561 สหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นนานาชาติ (International Amateur Athletic Federation หรือIAAF) ออกกฎตรวจสอบเพศของนักกีฬาที่ชื่อว่า “กฎเกณฑ์คุณสมบัติสำหรับการจัดประเภทผู้หญิง สำหรับนักกีฬาที่มีความแตกต่างในพัฒนาการทางเพศ (Eligibility Regulations for the Female Classification :Athlete with Differences of Sexual Development) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า DSD Regulations ซึ่งให้การรับรองโดยศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (Court of Arbitration for Sport) โดยกำหนดว่านักกีฬาหญิงจะต้องมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหมุนเวียนในร่างกายต่ำกว่า 5 นาโนโมลต่อลิตร เพื่อแข่งขันกีฬาประเภทหญิงได้ โดยถือว่าไม่เป็นการเอาเปรียบและเกิดความยุติธรรม (Court of Arbitration for Sport, 2019) กฎนี้มีผลต่อนักกรีฑาชาวแอฟริกาใต้ชื่อ Caster Semenya ซึ่งเธอถูกสงสัยว่ามีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป (Mahomed & Dhai, 2019) กฎนี้ทำให้ Semenyaไม่พอใจและเรียกร้องความเป็นธรรม ในขณะที่ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาพิจารณาว่ากฎ DSD Regulations จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งกีฬาเพราะจะไม่มีการเสียเปรียบได้เปรียบจากปัจจัยทางเพศสรีระ ทั้งนี้อยู่บนความเชื่อที่ว่าผู้ที่มีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าคือผู้ที่มีพลังทางร่างกายและแข็งแกร่งมากกว่า

           ย้อนไปในปี ค.ศ.2014 นักกรีฑาชาวอินเดีย Dutee Chand ถูกห้ามเข้าร่วมการแข่งขันใน Glasgow Commonwealth Games เพราะมีการตรวจพบว่าเธอมีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป และในปีเดียวกันนั้น เธอก็ถูกห้ามมิให้เข้าแข่งขันกรีฑาระดับนานาชาติอีกหลายรายการ (Segrave, 2016) ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติที่ออกกฎละเมิดความเป็นร่างกายตามธรรมชาติที่เธอเกิดมา (Krech, 2017) ศาลมีข้อวินิจฉัยว่าให้ระงับการใช้กฎเรื่องฮอร์โมนเพศชายมากเกินไปในนักกีฬาหญิง เพื่อสิทธิแก่นักกีฬาที่มีฮอร์โมนสองเพศได้เข้าร่วมแข่งขัน จนกระทั่งในปี ค.ศ.2017 สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ และหน่วยงานต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลก (World Anti-Doping Agency) ได้ทำวิจัยและชี้ว่าผู้ที่มีฮอร์โมนแพศชายสูงกว่าปกติจะได้เปรียบในการแข่งขันกับนักกีฬาเพศหญิง (Bermon & Garnier, 2017) การศึกษานี้ทำให้สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติยืนยันที่จะใช้กฎที่ห้ามบุคคลที่มีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติเข้าแข่งกีฬาประเภทหญิง ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างกฎ DSD Regulations

           อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนออกมาต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับกฎดังกล่าว มีข้อถกเถียงว่ากฎที่สร้างขึ้นนี้ไม่เห็นความซับซ้อนและความหลากหลายของฮอร์โมนเพศในร่างกายมนุษย์ โดยการจำกัดฮอร์โมนที่ถูกต้องไว้เพียง 2 ชนิดคือชายกับหญิงเท่านั้น นอกจากนั้น กฎ DSD Regulations ยังเป็นการตีตราความผิดปกติของร่างกายของนักกีฬา ส่งผลให้ผู้ที่เกิดมามีฮอร์โมนคลุมเครือถูกส่งตัวไปบำบัดเพื่อลดปริมาณฮอร์โมนเพศชายออกจากร่างกาย ถือเป็นการคุกคามสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของบุคคล จะเห็ว่านักกีฬาหญิงผิวดำหลายคนมักจะถูกตรวจสอบด้วยกฎนี้ (Loland, 2020) ขณะเดียวกันนักวิชาการยังชี้ว่าในวงการกีฬาระบบการจัดประเภทกีฬาอาจมีปัญหา เพราะให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกช่วงอายุ เพศสรีระ และน้ำหนักตัว แต่มองข้ามปัจจัยอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการเล่นกีฬา เช่น ส่วนสูงที่ต่างกันของกีฬาอาจส่งผลให้คนที่สูงกว่าได้เปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งละเลยที่จะมองบริบทสังคมและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของนักกีฬาที่มาจากพื้นฐานที่ต่างกัน นักกีฬาที่มาจากประเทศที่ร่ำรวยหรือมีทุนทรัพย์ในการฝึกซ้อมกีฬามากกว่าย่อมได้เปรียบในการแข่งขัน (Loland, 2020)

           นักวิชาการยังเสนอว่าควรจะจัดให้มีการแข่งกีฬาสำหรับผู้ที่มีสองเพศหรือมีฮอร์โมนเพศคลุมเครือ รวมทั้งการจัดประเภเทกีฬาที่เหมาะสมกับรูปร่าง ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของนักกีฬา (Loland, 2020) อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านกีฬายังมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าจะจัดให้คนที่มีสองเพศเล่นกีฬาร่วมกับชายและหญิงหรือไม่ หรือควรจะจัดกีฬาเฉพาะของคนสองเพศขึ้นมา นอกเหนือจากปัญหาของคนสองเพศแล้ว วงการกีฬาก็ยังมองไม่เห็นกลุ่มคนที่มิได้นิยามตนเองเป็นเพศใด ๆ เช่น กลุ่มเควียร์ และคนที่ไม่มีเพศสภาพ (gender nonconforming) คนเหล่านี้อาจไม่นิยามว่าตนเองเป็นนักกีฬาหญิงหรือชาย (Clark et al., 2018) นักวิชาการยังชี้ว่ากลุ่มคนที่ไม่มีเพศสภาพมักจะถูกปฏิบัติอย่างไม่เข้าใจ เช่น โค้ชในทีมกีฬามักจะเรียกพวกเขาด้วยสรรพนามหญิงหรือชาย ซึ่งมิใช่คำเรียกที่คนกลุ่มนี้ต้องการ (Shortridge, 2020; Storr et al., 2020)

           ในปี ค.ศ.2015 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee) เห็นด้วยกับกฎ DSD Regulations เพราะเชื่อว่าจะเป็นการปกป้องสิทธิให้กับนักกีฬาเพศหญิง ต่อมาในปี ค.ศ.2018 องค์กรกรีฑาโลกได้ออกกฎที่เห็นด้วยกับ DSD Regulations โดยชี้ว่านักกีฬาหญิงทุกคนจะต้องรายงานผลการตรวจฮอร์โมนเพศและจะต้องมีฮอร์โมนเพศชายไม่เกินที่กำหนด (ต่ำกว่า 5 นาโนโมลต่อลิตร) หากมีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่ากำหนด นักกีฬาผู้นั้นจะต้องทำการบำบัดรักษาให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงให้น้อยกว่า 5 นาโนโมลต่อลิตร ภายใน 6 เดือนก่อนเข้าแข่งขัน ทั้งนี้กฎดังกล่าวจะบังคับใช้กับนักกรีฑาหญิงที่เข้าแข่งขันในรายการวิ่งระยะทางระหว่าง 400 เมตรถึง 1 ไมล์ เพราะเชื่อว่าการวิ่งระยะไกลจะทำให้นักกีฬาที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงจะได้เปรียบนักกีฬาคนอื่น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่นักกีฬาที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงจะไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ นักกีฬาผู้นั้นอาจลงแข่งขันได้เฉพาะรายการในประเทศ หรือเข้าร่วมแข่งขันกีฬาประเภทอื่นที่มิใช่การวิ่ง 400 เมตร ถึง 1 ไมล์ รวมทั้งเข้าแข่งขันในกีฬาของผู้ชาย หรือกีฬาที่จัดให้มีกลุ่มคนสองเพศโดยเฉพาะ (IAAF, 2018)

           ในปี ค.ศ.2019 คณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยสตรีและการกีฬา กีฬาสตรีนานาชาติ และสมาคมการพลศึกษานานาชาติสำหรับเด็กผู้หญิงและผู้หญิง ได้ทำหนังสือยื่นต่อสหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นนานาชาติเพื่อทักท้วงเกี่ยวกับการห้ามคนสองเพศเข้าร่วมแข่งขันภายใต้กฎ DSD Regulations เพราะเห็นว่ากฎนี้คือการเหยียดเพศและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อคนสองเพศที่ต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดหายไป นอกจากนั้น กฎนี้มิได้ใช้สำหรับนักกีฬาชาย เป็นการกดขี่นักกีฬาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายเกินมาตรฐาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้น สหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นนานาชาติออกมาแสดงความคิดเห็นว่ากฎ DSD Regulations มิใช่การเหยียดเพศ แต่เป็นกฎที่ใช้คุ้มครองสิทธิของนักกีฬาผู้หญิงที่ควรเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม และจะย้ำว่านักกีฬาหญิงทุกคนต่างรู้ว่าต้องปฏิบัติตามกฎ DSD Regulations และต้องให้การยินยอมในกรณีที่ต้องตรวจฮอร์โมนเพศโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

           คณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยสตรีและการกีฬา กีฬาสตรีนานาชาติ และสมาคมการพลศึกษานานาชาติสำหรับเด็กผู้หญิงและผู้หญิง แสดงความไม่พอใจกับคำอธิบายของ สหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นนานาชาติ และยังคงยืนยันว่ากฎ DSD Regulations เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง โดยเฉพาะการบังคับให้นักกีฬาสองเพศเข้ารับการตรวจฮอร์โมนเพศชายและกำจัดฮอร์โมนเพศชายออกจากร่างกายซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักกีฬาสองเพศ

           ในแวดวงนักวิชาการที่ศึกษาร่างกายของคนสองเพศมีความคิดที่ต่างกัน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ความสำคัญกับปัจจัยทางชีววิทยา กลุ่มสองให้ความสำคัญกับจริยธรรม นักวิชาการที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่ามนุษย์มีเพศสรีระที่ต่างกันสองแบบคือเพศหญิงกับเพศชาย ในการแข่งขันกีฬาเพศชายมักจะมีความแข็งแกร่งมากกว่าเพศหญิง ดังนั้นผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติจึงอาจได้เปรียบกว่านักกีฬาหญิงคนอื่น โดยเฉพาะในการแข่งขันกรีฑา เพศชายจะมีความสามารถทางร่างกายที่มากกว่าเพศหญิง 10-12 เปอร์เซ็นต์ (Ospina-Betancurt et al., 2018) การวิจัยของ Bermon & Garnier (2017) ระบุว่าในการแข่งขันวิ่ง 400 เมตร วิ่ง 800 เมตร ขว้างค้อน และกระโดดค้ำถ่อ นักกีฬาสองเพศที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงจะได้เปรียบกว่านักกีฬาหญิง

           กลุ่มนักวิชาการบางคนไม่เห็นด้วยกับการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ โดยอธิบายว่านักกีฬาสองเพศมิได้มีร่างกายที่ได้เปรียบกว่าผู้หญิง (Sonksen et al., 2018) ในขณะที่นักวิชาการด้านจริยธรรมโต้แย้งว่ากฎ DSD Regulations ของสหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นนานาชาติ เป็นการใช้อำนาจควบคุมเรือนร่างของผู้หญิงและยังเป็นการทำลายสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่ยอมรับในความหลากหลายและความซับซ้อนในสรีระของมนุษย์ ร่างกายของคนสองเพศถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ร่างกายดังกล่าวไม่ควรถูกเหยียดหยาม ไม่ควรถูกตีตราว่าผิดปกติ ไม่ควรถูกบำบัดเพื่อลดปริมาณฮอร์โมนเพศชาย (testosterone-reducing therapies) สิ่งเหล่านี้คือการคุกคามร่างกายของคนสองเพศ ถือเป็นการใช้ความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ (Karkazis & Jordan-Young, 2018; Jordan-Young, Sonksen, & Karkazis, 2014) สมาคมการแพทย์โลกระบุว่าห้ามมิให้แพทย์ทำการลดปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหากบุคคลนั้นมิได้มีอาการป่วย ดังนั้นการใช้กฎ DSD Regulations จึงถือเป็นการละเมิดคำวินิจฉัยของสมาคมการแพทย์โลก ในแง่สังคม จะพบว่านักกีฬาสองเพศที่ถูกห้ามแข่งขัน เท่ากับเป็นการจบสิ้นอาชีพนักกีฬา ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผิดหวัง โศกเศร้า ท้อแท้ และบางรายอาจคิดฆ่าตัวตาย (Posbergh, 2019)

           การศึกษาของ Pape (2019) อธิบายให้เห็นว่าที่ผ่านมานักกีฬาหญิงผิวดำจากประเทศโลกที่สามซึ่งมีลักษณะสองเพศมักจะถูกนำไปตรวจสอบฮอร์โมนเทสโทนสเตอโรน ในปี ค.ศ.2018 กระบวนการพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Special Procedures) ได้ทำหนังสือส่งไปยังสหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นนานาชาติเพื่อแจ้งว่ากฎ DSD Regulations เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชน และยังชี้ว่านักกีฬาทุกเพศควรได้รับการคุ้มครองสิทธิทางร่างกายและจิตใจ ไม่ควรถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงและไร้มนุษยธรรม นอกจากนั้น นักวิชาการยังชี้ให้เห็นว่าระบบการจัดประเภทกีฬาในปัจจุบันยังมีปัญหา โดยเฉพาะการนิยามเพศสภาพของนักกีฬาที่ยึดเอาเพศสรีระหญิงชายเป็นตัวแบ่ง มองข้ามความหลากหลายทางชีววิทยาของเพศที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงได้ (Loland, 2020) นอกจากนั้น สรีระร่างกายแบบอื่นกลับไม่ถูกจัดประเภท เช่น ส่วนสูงของนักกีฬา ทำให้ชาติพันธุ์ที่มียีนในร่างกายที่สร้างความสูงจะได้เปรียบกว่านักกีฬาที่มีสรีระไม่สูง รวมทั้งการละเลยบริบทสังคมและเศรษฐกิจที่ทำให้นักกีฬามีการพัฒนาศักยภาพที่ไม่เท่ากัน (Mahomed & Dhai, 2019) การจัดประเภทที่ใช้เพศสรีระเป็นตัวกำหนดกลายเป็นกฎที่แข็งตัวในขณะที่ความแตกต่างทางสรีระแบบอื่นมิได้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด (Loland, 2020)

           Wackwitz (2003) กล่าวว่าการแยกหญิงและชายเป็นสิ่งที่สังคมสร้างไว้เป็นบรรทัดฐาน แต่ในการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลไม่จำเป็นต้องนิยามตนเองเป็นชายหรือหญิง ในกรณีของคนที่มีฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิง สภาพร่างกายของเขาไม่จำเป็นต้องถูกควบคุมให้อยู่ในประเภทชายหรือหญิง แต่ควรมีอิสระที่จะนิยามสรีระทางเพศที่แตกต่างออกไป ฮอร์โมนเพศไม่ควรใช้เป็นเกณฑ์สำหรับการจัดแบ่งประเภทของมนุษย์ (Buzuvis, 2016) นักวิชาการเสนอว่ากฎการแบ่งแยกเพศในวงการกีฬาปัจจุบันถือเป็นกฎที่ไม่ยุติธรรม (Foddy & Savulescu, 2011) การยืนยันเพศของนักกีฬาเป็นเรื่องที่ล่อแหลมทางศีลธรรม เนื่องจากนักกีฬาจะถูกตรวจสรีระเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นเพศชายหรือหญิง ความคิดนี้ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล (Pierson, 2011) นักวิชาการเสนอว่าความหลากหลายทางเพศคือสิ่งที่ควรปรากฎอยู่ในวงการกีฬา เพราะกีฬาคือการแสดงศักยภาพทางร่างกายที่แตกต่างของมนุษย์ มนุษย์ควรมีเสรีภาพทางร่างกายเพื่อแสดงความสามารถในกีฬาทุกชนิด (Buzuvis, 2016) Behrense(2011) กล่าวว่าการตรวจเพศของนักกีฬาควรยกเลิก เนื่องจากสังคมยังคงตีตราและเหยียดหยามบุคคลที่มีเพศสภาพแตกต่างไปจากหญิงและชาย การปฏิเสธมิให้คนสองเพศหรือคนข้ามเพศเข้าแข่งขันกีฬาก็ถือเป็นการรังเกียจคนเหล่านี้เช่นกัน


เอกสารอ้างอิง

Behrense, M. (2011). Intersex athletes: Do we need a gender police in professional sports. IWM Junior Visiting Fellows’ Conference Proceedings, Vol. XXIX.

Bermon, S., & Garnier, P. Y. (2017). Serum androgen levels and their relation to performance in track and field: mass spectrometry results from 2127 observations in male and female elite athletes. British Journal of Sports Medicine, 51(17), 1309-1314.

Buzuvis, E. (2016). Hormone check: critique of olympic rules on sex and gender. The Wisconsin Journal of Law, Gender & Society, 31, 29–55.

Clark, B., Veale, J., Townsend, M., et al. (2018). Non-binary youth: Access to gender affirming primary health care. International Journal of Transgenderism, 19, 158-169.

Court of Arbitration for Sport. (2019). Executive Summary. Retrieved from  http://www.saflii.org/images/cassummary.pdf

Foddy, B, & Savulescu, J. (2011). Time to re-evaluate gender segregation in athletics? British Journal of Sports Medicine, 45(15),1184–8

IAAF. (2018). Explanatory Notes: IAAF Eligibility Regulations for the Female Classification. Retrieved from https://www.worldathletics.org/about-iaaf/documents/health-science

Jordan-Young, R., Sonksen, P. H., & Karkazis, K. (2014). Sex, Health and Athletes. British Medical Journal. doi:10.1136/bmj.g2926

Karkazis, K., & Jordan-Young, R. (2018). The powers of testosterone: Obscuring race and regional bias in the regulation of women athletes. Feminist Formations, 30(2), 1-39.

Krech, M. (2017). To be a woman in the world of sport: Global regulation of the gender binary in elite athletics. Berkeley Journal of International Law, 35, 262-294.

Loland, S. (2020). Caster Semenya, athlete classification, and fair equality of opportunity in sport. Journal of Medical Ethics. doi:10.1136/ medethics-2019-105937

Mahomed, S., & Dhai, A. (2019). Global injustice in sport: The Caster Semenya ordeal prejudice, discrimination and racial bias. South African Medical Journal, 109(8), 548-551.

Ospina-Betancurt, J., Zakynthinak, M. S., Martinez-Patino, M. J., et al. (2018). Hyperandrogenic athletes: performance differences in elite- standard 200 meter and 800 meter finals. Journal of Sport Sciences, 38(21), 2464-2471.

Pape, M. (2019). Expertise and Nonbinary Bodies: Sex, Gender and the Case of Dutee Chand. Body and society, 25(4), 3-28.

Pierson, S.T. (2011). The culture of the elite athlete: an enhanced perspective on the case of Caster Semenya, and gender verification testing. Journal of Genetic Counseling, 20(3), 323–4.

Posbergh, A. (2019). Same Tricks, New Name: The IAAF’s New 2018 Testosterone Regulation

Policy for Female Athletes The international journal of Information, Diversity & Inclusion, 3(3), 88-100.

Segrave, J. O. (2016). Challenging the gender binary: the fictive and real world of quidditch. Sport in Society, 19(8-9), 1299-1315.

Shortridge, C. (2020). That's So Gay: LGBTQ+ Inclusivity and Education in Youth Sport through Web Based Content. Master's Thesis. Bowling Green State University.

Sonksen, P. H., D., B. L., Boehning, T., et al. (2018). Hyperandrogenism controversy in elite women’s sport: an examination and critique of recent evidence. British Journal of Sports Medicine, 52(23), 1481-1482.

Stonewall. (2020). Glossary of terms. Retrieved from https://www.stonewall.org.uk/help-advice/faqs-and-glossary/glossary-terms

Storr, R., Robinson, K., Davies, C., et al. (2020). Game to Play? Exploring the experiences and attitudes towards sport, exercise and physical activity amongst same sex attracted and gender diverse young people. Retrieved from https://doi.org/10.26183/5ea655c87697e

Wackwitz, L.A. (2003). Verifying the myth: olympic sex testing and the category “woman.” Women's Studies International Forum, 26(6), 553–60.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการ ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ คนสองเพศ Intersex กีฬา ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา