มานุษยวิทยาเควียร์และเพศหลากหลาย Queer Anthropology and Gender/Sexual Diversity

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 4252

มานุษยวิทยาเควียร์และเพศหลากหลาย Queer Anthropology and Gender/Sexual Diversity

การพบเห็นพฤติกรรมทางเพศนอกสังคมตะวันตก

           เอกสาร รายงาน บันทึกของมิชชันนารี พ่อค้าและนักเดินเรือ ซึ่งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม “แปลกประหลาด” ซึ่งแฝงด้วยอคติของผู้เขียน โดยเฉพาะความสัมพันธ์และพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันและคนที่มิใช่ชายมิใช่หญิง ความรู้สึกที่มีต่อพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกอธิบายด้วยคำว่า “ความชั่วที่เอ่ยมิได้” “บาปที่น่ากลัวของการร่วมเพศทางทวารหนัก” หรือ “ผู้ชายที่มัวเมาอยู่กับการมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น” (Hekma, 2000) ทัศนะดังกล่าวเป็นผลมาจากอิทธิพลความรู้จิตเวชศาสตร์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ชาวตะวันตกมองพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็น “ความเบี่ยงเบน” ในขณะที่นักมานุษยวิทยารุ่นแรก ๆ ต่างพบเห็นรูปแบบพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันหลายแบบ ซึ่งแปลกไปจากการรับรู้ของชาวตะวันตก เช่น พฤติกรรมของคนแต่งตัวข้ามเพศของชนเผ่าในเขตอเมริกาเหนือ ซึ่งได้รับฉายาว่า เบอร์ดาเช่ (Berdache) (Roscoe, 1991; Williams, 1986)

 

ชนเผ่าในเขตอเมริกาเหนือ ซึ่งได้รับฉายาว่า เบอร์ดาเช่ (Berdache)

ภาพจาก https://owlcation.com/social-sciences/Native-American-Berdache-Tradition

 

           การศึกษาของ Devereux (1937) เคยอธิบายว่าเบอร์ดาเช่ หมายถึงวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งตอบสนองต่ออารมณ์แบบโฮโมเซ็กช่วลที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ผู้ที่มีสถานะดังกล่าวจะมีลักษณะทั้งชายและหญิงอยู่ในตัวเอง คนกลุ่มนี้ถูกเชื่อว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าและพยากรณ์อนาคตได้

           การศึกษาของ Murray (1992) รวมบทความของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาพฤติกรรมคนรักเพศเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1950-1970 ในเขตหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย ตอนใต้ของไซบีเรีย และเขตเอเชียบางแห่ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบความสัมพันธ์ของชายกับชาย และการศึกษาของ Dynes and Donaldson (1992) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมคนรักเพศเดียวกันในเขตเอเชียซึ่งมีการกล่าวถึงเรื่องราวที่พบในอารยธรรมโบราณ จนถึงปรากฎการณ์ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน พฤติกรรมข้ามเพศ และการขายบริการทางเพศที่พบในเขตตะวันออกกลาง สังคมมุสลิม อินเดีย เอเชียตะวันออก และฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือการอธิบายบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน การศึกษาทั้งสองชิ้นนี้ให้ตัวอย่างสังคมขนาดเล็กและสะท้อนความหลากหลายของพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลในรูปแบบต่างๆ

           การศึกษาของ Evans-Pritchard (1970) เป็นความพยายามที่จะเก็บข้อมูลเรื่องราวของชนเผ่า Azande ทางตอนใต้ของซูดานช่วงทศวรรษ 1920-1960 ก่อนที่คนกลุ่มนี้จะติดต่อสื่อสารกับชาวตะวันตก ซึ่งทำให้เห็นพฤติกรรมทางเพศของท้องถิ่น เช่น การแสดงบทบาทเป็นภรรยาของเพศชาย หรือ Male Wive ซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมช่วงชั้นของกลุ่มนักรบที่สามารถแสดงความสัมพันธ์ทางเพศต่อกันได้ รวมถึงการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงก็ปรากฏอยู่ในครอบครัวที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน (polygamous households) อย่างไรก็ตาม การศึกษาของ Evans-Pritchard ก็ยังคงเป็นเพียงการบอกเล่าถึงพฤติกรรมทางเพศที่ผิดแปลกไปจากปกติ (Vance, 1984) ประเด็นเหล่านี้ได้รับการศึกษาน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ระบบเครือญาติ และจารีตประเพณี (Howe, 2015)

           รวมทั้งการศึกษาของ Herdt (1984) ในชนเผ่าเมลานีเซียที่พบพิธีกรรมเปลี่ยนช่วงวัยจากเด็กชายเป็นผู้ใหญ่ ที่เปิดประสบการณ์ให้เด็กมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันที่มีอายุมากกว่า Herdt อธิบายว่าในสังคมชนเผ่าแซมเบีย (นามสมมติ) ในเขตปาปัวนิวกีนี เด็กชายอายุระหว่าง 6-12 ปี อาจเป็นคู่กับเด็กที่มีอายุมากกว่าที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายหลั่งน้ำอสุจิให้ การหลั่งน้ำอสุจิของเด็กชายชาวแซมเบียถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเปลี่ยนฐานะเป็นชาย ชาวแซมเบียเชื่อว่าเด็กชายที่กินน้ำอสุจิจะสามารถผลิตน้ำอสุจิได้ นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรมทางเพศอื่น ๆ เช่น การสอดใส่ทางทวารหนักและการอมองคชาต หรือการนำน้ำอสุจิมาถูไถที่ผิวหนังจะทำให้ผู้นั้นเป็นชายเต็มตัว การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศในวัฒนธรรมต่าง ๆ พบว่า อารมณ์ พฤติกรรม และการเกี้ยวพาราสีแบบคนรักเพศเดียวกันมีความหลากหลายตามเงื่อนไขของสังคม และรูปแบบที่สำคัญของพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน 4 ลักษณะ คือ (1) ความรักเพศเดียวกันที่มาจากโครงสร้างอายุ (2) ความสัมพันธ์ที่มาจากโครงสร้างเพศสภาพ (3) รูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความเท่าเทียมกัน และ (4) ความสัมพันธ์ที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางสังคม หรือความสัมพันธ์ที่มีโครงสร้างทางชนชั้น (Greenberg, 1988)

           อย่างไรก็ตาม การศึกษาส่วนใหญ่จะอธิบายพฤติกรรมชายรักชาย ในขณะที่การศึกษาแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงยังมีไม่มากนัก Blackwood (1986, 2010) และ Blackwood and Wieringa (1999) กล่าวว่าในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงแสดงออกต่อกันอาจเกิดขึ้นได้ในพิธีกรรมย่างเข้าสู่วัยสาว โรงเรียนหญิงล้วน ซ่องโสเภณี หอพักหญิง เป็นต้น Blackwood (2010) เคยศึกษาชีวิตของผู้หญิงในอินโดนีเซียที่แสดงพฤติกรรมเหมือนผู้ชาย ซึ่งมีคนรักเป็นผู้หญิงที่ใช้ชีวิตในสังคมเหมือนผู้หญิงทั่วไป ผู้หญิงที่มีความเป็นชายได้ต่อรองและพยายามไกล่เกลี่ยชีวิตทางเพศที่ท้าทายขนบธรรมเนียมในศาสนาอิสลามและบรรทัดฐานสังคมแบบรักต่างเพศ ส่งผลให้พวกเธอต้องแสดงความเป็นชายและหญิงในสถานการณ์ที่แตกต่างกันทั้งการอยู่ในครอบครัวและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การต่อรองเพศสภาพเช่นนี้คือกระบวนการที่ผู้หญิงที่มีจิตใจแบบผู้ชายใช้ดำเนินชีวิต ซึ่งต่างไปจากชีวิตของเลสเบี้ยนในสังคมตะวันตก เช่นเดียวกับการศึกษาของ Sinnott (2004) ที่อธิบายว่าความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิง หรือคู่ทอมดี้ในสังคมไทย สะท้อนการเกิดขึ้นใหม่ของอัตลักษณ์คนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน ที่ผู้หญิงแสดงบทบาทเป็นชายและมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงซึ่งใช้ชีวิตแบบคู่รัก อัตลักษณ์ของ “ทอม” และ “ดี้” สะท้อนเพศภาวะของสังคมไทยสมัยใหม่ที่ผู้หญิงสามารถปรับการแสดงความเป็นหญิงและชายภายใต้เงื่อนไขครอบครัว ค่านิยมทางเพศ และการใช้ชีวิตแบบเมือง

 

การท้าทายความคิดเรื่องเพศแบบตะวันตก

           การศึกษาวัฒนธรรมทางเพศในสังคมนอกตะวันตกในช่วงอาณานิคม ทำให้นักมานุษยวิทยาหลายคนได้รับอิทธิพลความคิดเรื่อง “เพศสภาพ” และ “เพศวิถี” และนำไปใช้อธิบายพฤติกรรมของคนพื้นเมือง เช่น การศึกษารูปแบบพฤติกรรมทางเพศโดย Clellan S. Ford and Frank A. Beach (1951) เป็นการสำรวจเรื่องเพศในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก การสำรวจครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าพฤติกรรม “โฮโมเซ็กช่วล” เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศที่มีสาเหตุมาจากร่างกาย และมักจะเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง จากการสำรวจวัฒนธรรม 76 แห่ง มีอยู่ 28 แห่ง ที่ไม่พบพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล และมี 17 แห่ง ที่พบโฮโมเซ็กช่วลในเพศหญิง นอกจากนั้น การสำรวจนี้ยังพบว่าพฤติกรรม โฮโมเซ็กช่วล พบมากในวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม Ford and Beach พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมตะวันตกที่รังเกียจโฮโมเซ็กช่วล แต่ในหลายวัฒนธรรมไม่ค่อยรังเกียจและให้บุคคลแสดงความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันได้ (Holmberg, 1951) จุดอ่อนในการศึกษาของ Ford and Beach คือไม่สามารถชี้ให้เห็นมิติเชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฎอยู่ในพฤติกรรมทางเพศ และมองเซ็กส์เป็นเพียงพฤติกรรมทางร่างกายเท่านั้น (Bolin & Whelehan, 1999)

           การศึกษาความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับชายในวัฒนธรรมเมลานีเซียของ Herdt (1984) ถึงแม้จะทำให้เห็นว่าสังคมชนเผ่ามีการแสดงพฤติกรรมชายรักชาย แต่ก็ถูกโต้แย้งว่าเป็นวิธีคิดที่นำเอาบรรทัดฐานโฮโมเซ็กช่วลแบบตะวันตกไปเหมารวมพฤติกรรมของคนวัฒนธรรมอื่น (Elliston, 1995) ทั้งนี้ความสัมพันธ์ของผู้ชายที่พบในชนเผ่าแซมเบียไม่ควรถูกตีความด้วยแนวคิด “โฮโมเซ็กช่วล” แต่ควรมองในฐานะเป็นสภาวะลื่นไหลทางเพศ ข้อวิจารณ์นี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักมานุษยวิทยากลับมาทบทวนกระบวนทัศน์ของเพศภาวะและเพศวิถีที่ถูกสร้างขึ้นในโลกวิชาการตะวันตก Stoler (1995) ตั้งคำถามว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประเทศในยุโรปมีการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเพศ หรือ เพศศาสตร์ (Sexology) ทำให้เกิดการใช้ความรู้เพศสรีระและชีววิทยามาเป็นตัวพิสูจน์ความถูกผิดของเพศสภาพและเพศวิถี ส่งผลให้พฤติกรรมทางเพศในดินแดนต่าง ๆ ที่ชาวตะวันตกเข้าไปปกครองในช่วงอาณานิคมถูกตีความด้วยทฤษฎี “เบี่ยงเบนทางเพศ” เป็นการตอกย้ำความเสื่อมถอยและเผ่าพันธุ์ที่ต่ำต้อยของผู้ที่ผิดปกติทางเพศ เจ้าอาณานิคมตะวันตกจึงตีความและนำเสนอภาพชนพื้นเมืองในฐานะตัวประหลาดซึ่งไร้เหตุผล เต็มไปด้วยความใคร่ กามตัณหา ราคะ และสำส่อนทางเพศ ความคิดนี้ทำให้ชาวตะวันตกเชื่อว่าชนพื้นเมืองคือผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้

           การศึกษาของ Fry (1986) ศึกษาพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลที่ปรากฎอยู่ในวัฒนธรรมและพิธีกรรมเข้าทรงของคนผิวดำในประเทศบราซิล ชี้ว่าอัตลักษณ์ของชายรักชายในสังคมคนผิวดำไม่สามารถนำคำว่า “โฮโมเซ็กช่วล” ไปจัดหมวดหมู่หรือใช้เป็นคำนิยามได้ เนื่องจากคนเหล่านี้มีวิธีคิดเรื่องบทบาททางเพศ และการแสดงความเป็นชายและหญิงต่างไปจากตะวันตก รวมถึงงานศึกษาอีกหลายเรื่องในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศในวัฒนธรรมลาตินอเมริกา ซึ่งมีแบบแผนความสัมพันธ์ทางกามารมณ์ที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ชายในวัฒนธรรมลาตินอเมริกันสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกันโดยแสดงบทบาทเป็นฝ่ายรุกและตอกย้ำความเป็นชายโดยไม่นิยามตนเองเป็นโฮโมเซ็กช่วล (Carrier, 1995; MacRae, 1992; Taylor, 1985)

           ในช่วงทศวรรษ 1970 กลุ่มนักมานุษยวิทยาอเมริกันได้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยในประเด็น โฮโมเซ็กช่วล ชื่อว่า The Anthropology Research Group on Homosexuality เป้าหมายของกลุ่มวิจัยนี้คือการศึกษาและส่งเสริมให้ชุมชนเกย์และเลสเบี้ยนมีความมั่นใจในอัตลักษณ์ของตนเอง รวมทั้งพยายามต่อต้านการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน จนถึงทศวรรษ 1980 สมาชิกของกลุ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างสมาคมนักมานุษยวิทยาเกย์และเลสเบี้ยนขึ้น (The Society of Lesbian and Gay Anthropologist- SOLGA) สมาคมนี้คือรากฐานที่ทำให้การศึกษาวัฒนธรรมเกย์และ เลสเบี้ยนในอเมริกาเติบโต และขยายไปสู่การศึกษาพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในสังคมอื่น (Blackwood, 2010; Boellstorff, 2005; Howe, 2013; Sinnott, 2004) จนถึงปี 2010 สมาคมนี้ก็ปรับชื่อใหม่เป็นสมาคมมานุษยวิทยาเควียร์ (the Association for Queer Anthropology – AQA) ในขณะเดียวกันก็เกิดการสะท้อนตัวตนทางเพศของนักมานุษยวิทยาที่สนใจประเด็นเพศวิถี เช่น Jim Wafer (1996, 2000) ทำการวิจัยแบบทดลองโดยการแสดงตัวตนและพูดถึงความเป็นเกย์ของตัวเองในงานวิจัย Kulick and Wilson (1995) กล่าวว่าในการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา อัตลักษณ์และความรู้สึกทางเพศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีส่วนช่วยสร้างความรู้ คนกลุ่มต่าง ๆ ที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา อาจมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักมานุษยวิทยาได้เสมอ ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นความลับ แต่มันก็มีส่วนขับเคลื่อนการทำงานของนักมานุษยวิทยา

 

มานุษยวิทยากับข้อถกเถียงแบบเควียร์

           ถึงแม้ว่าปัจจุบัน การศึกษาเควียร์ในวงการมานุษยวิทยาจะช้ากว่าสาขาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดี วัฒนธรรมศึกษา และสตรีศึกษา Weston (1993) กล่าวว่าก่อนทศวรรษ 1960 นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ระมัดระวังที่จะไม่เอ่ยถึงประเด็นเพศวิถีและเพศสภาพในงานศึกษาของตน เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบที่จะตามมาจากการทำงานวิจัยและผลเสียต่อบทบาทนักวิชาการ แต่งานศึกษาวัฒนธรรมทางเพศที่สำคัญก็มาจากมานุษยวิทยา เช่นการศึกษาของ Herdt (1981, 1984, 1987) ที่อธิบายมิติเพศวิถีในบริบทของพิธีกรรมเปลี่ยนช่วงวัยและโครงสร้างสังคมของผู้ชาย

           หนังสือของ Lenore Manderson and Margaret Jolly (1997) เรื่อง Sites of Desire/Economies of Pleasure อธิบายพฤติกรรมรักเพศเดียวกันที่พบในเอเชียและเขตแปซิฟิก โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างความหมายของเพศภาวะและเพศวิถี ภายใต้บริบทการติดต่อข้ามวัฒนธรรมระหว่างชาวตะวันตกและชาวตะวันออก การศึกษานี้พยายามตรวจสอบว่าพฤติกรรมและอัตลักษณ์ทางเพศที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นเกี่ยวโยงกับระบบอำนาจของลัทธิอาณานิคม การเมืองแบบชาตินิยม การสร้างชาติให้ทันสมัย เศรษฐกิจทุนนิยม การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าประเวณี และขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของเกย์เลสเบี้ยนสากล ที่ออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นพลเมืองในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ บริบทเหล่านี้มีความซับซ้อนที่บ่งชี้ว่าภายในกลุ่มคนที่มีเพศสภาพและเพศวิถีต่างไปจากบรรทัดฐานรักต่างเพศ ยังคงมีความแตกต่างทางฐานะ ชนชั้น ความเชื่อ อุดมการณ์ และวิถีชีวิต การเหมารวมว่าคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศทุกแห่งในโลกมีอัตลักษณ์แบบเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่พึงระวัง

           Weston (1998) อธิบายว่าความรู้ทางสังคมศาสตร์และการศึกษาเรื่องครอบครัว เครือญาติและการแต่งงาน เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์ ประเด็นเพศภาวะและเพศวิถีจึงแฝงอยู่ในคำอธิบายทางสังคมมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับกระบวนทัศน์แบบเควียร์ นำไปสู่การตั้งคำถามต่อการจัดหมวดหมู่และการแบ่งประเภทของเพศภาวะและเพศวิถีตามบรรทัดฐานความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตก ซึ่งเป็นการนำข้อวิพากษ์ของ Foucault (1978) มาเป็นกรอบคิด Rubin (1984) อธิบายว่าระบบคุณค่าทางสังคมที่มีการจัดระเบียบคู่ตรงข้ามระหว่างชายกับหญิง เหตุผลกับไร้เหตุผล ความเจริญกับความล้าหลัง ความดีกับความชั่ว ปกติกับผิดปกติ คู่ตรงข้ามนี้ส่งผลให้พฤติกรรมทางเพศของมนุษย์มีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม สังคมผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศราวกับเป็นกงล้อที่ถูกสาป (Charmed Circle of sexuality) ที่หมุนวนซ้ำไปซ้ำมา เพศที่ถูกยกย่องว่าดีงามจะถูกเชิดชู เช่น ความเป็นหญิงพรมจารี ความรักเดียวใจเดียว ความเป็นชาย ความเป็นหญิง ต่างจากเพศที่ถูกตีตราและเหยียดหยามว่าเลวทรามและน่ารังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นโฮโมเซ็กช่วล การขายบริการทางเพศ การเปลี่ยนคู่นอน การมีชู้ การผลิตสื่อโป๊เปลือย สังคมตะวันตกจึงผลักไสกิจกรรมเซ็กส์ให้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นการมองเซ็กส์ในเชิงลบ (sex negativity) โดยความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามากำหนดและสร้างบรรทัดฐานว่าเซ็กส์ที่ดีและถูกต้องจะต้องมีเพียงความสัมพันธ์ของคู่ชายหญิงที่แต่งงานตามกฎหมายและต้องรักเดียวใจเดียว

           Rubin (1984) เสนอว่าการก้าวข้ามวิธีคิดคู่ตรงข้ามจำเป็นต้องมองดูประสบการณ์ทางเพศของคนในวัฒนธรรมอื่น โดยไม่เอาตัวแบบศีลธรรมทางเพศของตะวันตกไปตัดสิน ไม่ควรมองพฤติกรรมที่อยู่นอกระบบเหตุผลแบบตะวันตกว่าเป็นสิ่งที่ต่ำช้าหรือน่ารังเกียจ ทั้งนี้ ภายใต้กรอบคิดแบบเควียร์ นักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องอธิบายความเป็นธรรมชาติและความเป็นสากลของ “โฮโมเซ็กช่วล” อีกต่อไป เพราะโฮโมเซ็กช่วลเป็นนิยามของ อัตลักษณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน และถูกสร้างขึ้นจากสังคมตะวันตกและเป็นสิ่งที่แปลกแยกสำหรับคนท้องถิ่น หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาเควียร์ คือการเสาะแสวงหาและทำความเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมทางเพศในสังคมอื่น ๆ ที่ต่างไปจากวิธีคิดเพศคู่ตรงข้ามหญิงชาย (Blackwood, 1986; Weston, 1993) สิ่งสำคัญที่การศึกษาทางมานุษยวิทยาได้มอบให้ในการศึกษาเพศภาวะและเพศวิถีนอกบรรทัดฐานในปัจจุบัน คือการชี้ให้เห็นบริบททางสังคมและการนำเสนอภาพของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน นิยามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันขึ้นอยู่กับความรู้ท้องถิ่นเป็นสำคัญ พฤติกรรมที่คล้าย ๆ กันอาจมีความหมายต่างกันในบริบทที่ต่างกัน หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาคือการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาถึงความหมายและบริบทของสิ่งนั้น นิยามของ “โฮโมเซ็กช่วล” อาจจะขึ้นในสถานการณ์และความรู้ท้องถิ่น

           ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เมื่อสังคมตะวันตกหลายแห่งให้สิทธิกับกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนในการจดทะเบียนชีวิตคู่และแต่งงานตามกฎหมายได้ ทำให้เกิดการศึกษาการเคลื่อนไหวทางสิทธิของการสร้างครอบครัวของคนรักเพศเดียวกันแพร่หลายในตะวันตก นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ เช่น Weston (1991) ศึกษาการสร้างครอบครัวของคู่เกย์และเลสเบี้ยนในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ย้ายมาอยู่ในเขตเดียวกันทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องและมีความคุ้นเคยราวกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน การศึกษาของ Lewin (1993, 1998, 2009) ศึกษาการสร้างครอบครัวของคู่เกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกา พบว่าพวกเขาแสดงความรักและจัดพิธีแต่งงานที่เหมือนกับคู่หญิงชาย ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำบรรทัดฐานและค่านิยมของรักต่างเพศ รวมถึงประสบการณ์การเป็นพ่อและแม่ของเกย์และเลสเบี้ยน ที่สะท้อนสิ่งที่คล้ายและแตกต่างจากครอบครัวรักต่างเพศ

           Boellstorff (2007) กล่าวว่าในข้อถกเถียงแบบเควียร์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการเมืองของความรู้ที่มีผลต่อการจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ของเพศภาวะและเพศวิถี คำถามสำคัญของนักมานุษยวิทยาต่อการศึกษาพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ เห็นได้จากงานของ Herdt (2013) หยิบเรื่องอารมณ์และความปรารถนามาตั้งคำถาม ถ้าเราพิจารณาว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นผลของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดังนั้นอารมณ์รักเพศเดียวกันก็ต้องตกทอดมาด้วย Herdt ตั้งคำถามว่าเราจะทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์นี้ได้อย่างไรโดยไม่ใช้วิธีคิดวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก นอกจากนั้น คำถามเกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคมในเรื่องเพศเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นถามว่าเด็ก ๆ เรียนรู้และจัดการกับเรื่องเพศในวัฒนธรรมของตนเองอย่างไร ในสถานการณ์โลกที่ขับเคลื่อนด้วยอำนาจของการค้า โลกาภิวัตน์ของทุนนิยมและระบอบเสรีนิยมใหม่ ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือ กระบวนการสร้างตัวตนทางเพศ (sexual subjectivity) ภายใต้วัตถุสินค้าและวัฒนธรรมบริโภคที่กระตุ้นให้บุคคลแสวงหาการมีอิสระในการแสดงอารมณ์ความปรารถนาทางเพศ (Povinelli & Chauncey, 1999) ปรากฎการณ์นี้ทำให้เห็นกลไกของการแสดงตัวตนทางเพศซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการนำความรู้เรื่องเพศจากหลายแหล่ง ทั้งความเป็นสากลและความเป็นท้องถิ่นถูกหลอมรวมเข้าด้วยกัน การศึกษาของ Mark Padilla (2007) ชี้ให้เห็นว่าในการท่องเที่ยวสมัยใหม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความปรารถนาทางเพศของผู้ชายท้องถิ่นในประเทศแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งผู้ชายเหล่านี้นิยามตนเป็นรักต่างเพศ แต่สามารถขายบริการและมีเพศสัมพันธ์กับเกย์ชาวตะวันตกที่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องการเดินทางเข้ามาพักผ่อนและแสวงหาความสุขทางเพศกับชายพื้นเมือง รวมถึงกลุ่มผู้อพยพชาวฟิลิปินส์ที่มีอัตลักษณ์เป็นเกย์ในความหมายตะวันตก เมื่อพวกเขาเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เข้าได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ของเกย์ที่สามารถแสดงบทบาททั้งรุกและรับซึ่งต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่เคยอยู่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งทำได้เพียงการเป็นฝ่ายถูกสอดใส่ทางทวารหนัก (Manalansan, 2003) การเคลื่อนตัวของประสบการณ์ อารมณ์ พฤติกรรม และอัตลักษณ์ทางเพศในโลกที่ข้ามพ้นชาติ คือสถานการณ์ที่ทำให้ตัวตนทางเพศของมนุษย์ไม่หยุดนิ่งและยากต่อการจัดหมวดหมู่ที่ตายตัว

           ในยุคสื่อดิจิทัล การแสดงและสร้างตัวตนทางเพศที่หลากหลายเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว คนบางกลุ่มสามารถเปิดเผยและกล้าแสดงออกทางเพศเมื่อพวกเขาอยู่ในกลุ่มลับในสื่อดิจิทัล (Boellstorff et al., 2003; Gray, 2009) รวมทั้งบทบาทของสื่อออนไลน์ที่ส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย แลกเปลี่ยน สื่อสาร ส่งต่อ และผลิตซ้ำอารมณ์และความรู้สึกทางเพศในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม นอกจากนั้น ประเด็นการเมืองข้ามชาติและการเคลื่อนไหวสิทธิทางเพศมีอิทธิพลต่อการต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีเพศนอกบรรทัดฐาน และการโต้กลับของกลุ่มอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนาที่ทำให้เกิดการสร้างอคติ ความรุนแรง การปิดกั้น และการเลือกปฏิบัติทางเพศ (Dave, 2012) ประเด็นเหล่านี้คือโจทย์ใหม่ของนักมานุษยวิทยาเควียร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21

 

เอกสารอ้างอิง

Blackwood, E. (2010). Falling into the Lesbi World: Desire and Difference in Indonesia. Honolulu: University of Hawai‘i Press.

Blackwood, E. (Ed.). (1986). The Many Faces of Homosexuality: Anthropological Approaches to Homosexual Behavior. New York: Routledge.

Blackwood, E., & Wieringa, S. (Eds.). (1999). Female Desires: Same-Sex Relations and Transgender Practices across Cultures. New York: Columbia University Press.

Boellstorff, T., Berry, C., Martin, F., Yue, A. (Eds.), (2003). Mobile Cultures: New Media in Queer Asia. Durham: Duke University Press.

Boellstorff, T. (2005). The Gay Archipelago: Sexuality and Nation in Indonesia. Princeton: Princeton University Press.

Boellstorff, T. (2007). Queer studies in the house of anthropology. Annual Review Of Anthropology, 36, 17–35.

Bolin, A. & Whelehan, P. (1999), Perspectives on Human Sexuality. New York: SUNY Press.

Carrier, J. M. (1995). De Los Outros: Intimacy and Homosexuality Among Mexican Men. New York: Columbia University Press.

Dave, N. (2012). Queer Activism in India: A Story in the Anthropology of Ethics. Durham: Duke University Press.

Devereux, G. (1937). Institutionalized homosexuality of the Mohave Indians. Human Biology, 9, 498-527.

Dynes, W. R. & Donaldson, S. (1992). Asian Homosexuality. New York: Garland.

Elliston, D. (1995). Erotic anthropology: ‘ritualized homosexuality’ in Melanesia and beyond. American Ethnologist ,22(4), 848–867.

Evans-Pritchard, E.E. (1970). Sexual inversion among the Azande. American Anthropologist, 72 (6), 1428–1434.

Ford, C. S. & Beach, F. A. (1951). Patterns of Sexual Behavior. New York: Harper & Brothers.

Foucault, M. (1978). The History of Sexuality. Translated from the French by Robert Hurley. New York: Pantheon Books.

Fry, P. (1986). Male Homosexuality and Spirit Possession in Brazil. London: Routledge.

Gray, M. (2009). Out in the Country: Youth, Media, and Queer Visibility in Rural America. New York: New York University Press.

Greenberg, D. (1988). The Construction of Homosexuality. Chicago: University of Chicago Press.

Hekma, G. (2000). Queering Anthropology. in Theo Sandfort et al. (Eds.) Lesbian and Gay Studies. (pp.81-93). London: SAGE Publication.

Herdt, G. H. (1981). Guardians of the Flutes: Idioms of Masculinity. New York: McGraw-Hill.

Herdt, G. H. (Ed..). (1984). Ritualized Homosexuality in Melanesia. University of California Press, Berkeley.

Herdt, G. H. (1987). The Sambia: Ritual and Gender in New Guinea. New York: Harcourt Brace Jovanovich.

Herdt, G. H. (2013). Human Sexuality. First edition. (With Nicole Polen-Petit.) New York: McGraw-Hill.

Holmberg, A. R. (1951). Patterns of Sexual Behavior. American Sociological Review, 16 (4), 578–579.

Howe, C. (2013). Intimate Activism: Sexual Rights in Postrevolutionary Nicaragua. Durham: Duke University Press.

Howe, C. (2015). Queer Anthropology. In International Encyclopedia of the Social & Behavioral Sciences, 2nd edition.

Kulick, D. & Willson, M. (1995). Taboo: sex, identity, and erotic subjectivity in anthropological fieldwork. London New York: Routledge.

Lewin, E. (1993). Lesbian Mothers: Accounts of Gender in America. Ithaca: Cornell University Press.

Lewin, E. (1998). Recognizing Ourselves: Ceremonies of Lesbian and Gay Commitment. New York: Columbia University Press.

Lewin, E. (2009). Gay Fatherhood: Narratives of Family and Citizenship in America. Chicago: University of Chicago Press.

MacRae, E. (1992). Homosexual identities in transitional Brazilian politics. In S. Alvarez and A. Escobar, (Eds) The Making of Social Movements in Latin America, (pp. 185-203). Boulder: Westview.

Manalansan IV, M. F. (2003). Global Divas: Filipino Men in the Diaspora. Durham: Duke University Press.

Manderson, L. & Jolly, M. (1997). Sites of Desire/Economies of Pleasure: Sexualities in Asia and the Pacific. Chicago: University of Chicago Press.

Murray, S. O. (1992). Oceanic Homosexualities. New York: Garland.

Padilla, M. (2007). Caribbean Pleasure Industry: Tourism, Sexuality, and AIDS in the Dominican Republic. Chicago: University of Chicago Press.

Povinelli, E. A., & Chauncey, G. (1999). Thinking sexuality transnationally: an introduction. GLQ: A Journal of Lesbian and Gay Studies, 5 (4), 439–450.

Roscoe, W. (1991). The Zuni Man-Woman. Albuquerque: University of New Mexico Press.

Rubin, G. (1984). Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality, in Carole Vance, (Ed.), Pleasure and Danger. (pp.143-178). London: Routledge & Kegan.

Sinnott, M. (2004). Toms and Dees: Transgender Identity and Female Same-Sex Relationships in Thailand. Honolulu: University of Hawai‘i Press.

Stoler, A. U. (1995). Race and the Education of Desire: Foucault’s History of Sexuality and the Colonial Order of Things. Durham and London: Duke University Press.

Taylor, C. (1985) Mexican male homosexual interaction in public contexts. Journal of Homosexuality, 11, 117-136

Vance, C. (Ed.). (1984). Pleasure and Danger: Exploring Female Sexuality. New York: Routledge.

Wafer, J. (1996). Out of the closet and into print: sexual identity in the textual field. In Ellen Lewin, William L. Leap. (Eds.) Out in the Field: Reflections of Lesbian and Gay Anthropologists, (pp.261-273). Urbana and Chicago: University of Illinois Press.

Wafer, J., Southgate, E., & Coan, L. (2000). Out in the Valley: Hunter gay and lesbian histories. Newcastle: Newcastle Region Library.

Weston, K. (1991). Families We Choose: Lesbians, Gays, Kinship. New York: Columbia University Press.

Weston, K. (1993). Lesbian/Gay Studies in the House of Anthropology. Annual Review of Anthropology, 22, 339–367.

Weston, K. (1998). Long Slow Burn: Sexuality and Social Science. London: Routledge.

Williams, W. L. (1986). The Spirit and the Flesh: Sexual Diversity in American Indian Culture. Boston: Beacon Press.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เควียร์ เพศหลากหลาย Queer Posthuman Anthropology Gender Sexual Diversity

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา