ทบทวนทฤษฎีเพศภาวะและเพศวิถี
เพศภาวะในความคิดของเฟมินิสต์
เฟมินิสต์ได้เสนอแนวคิดที่สำคัญ 3 ประการ คือ หนึ่งเพศวิถีมีความเกี่ยวข้องกับเพศภาวะ เพศภาวะคือปัจจัยพื้นฐานต่อการทำความเข้าในเพศวิถี สอง ทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมคือภาพสะท้อนวัฒนธรรมโพสต์มอเดิร์นิสม์ และ สาม อัตลักษณ์ทางเพศมีความหลากหลายในมิติของประวัติศาสตร์ ในช่วงทศวรรษ 1980 เฟมินิสต์ได้นำแนวคิดของฟูโก้มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์สังคม เฟมินิสต์พยายามเชื่อมโยงเรื่องเพศภาวะเข้ากับเพศวิถี ซึ่งฟูโก้ไม่เคยเชื่อมโยงประเด็นนี้ แต่เฟมินิสต์ไม่ค่อยสนใจประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ระบบเหตุผล (Rationality) แต่จะสนใจความแตกต่างของเพศภาวะและอัตลักษณ์ทางเพศ
งานที่มีอิทธิพลต่อเฟมินิสต์ เช่น The Female World of Love and Ritual (1975) ของสมิธ-โรเซนเบิร์ก ซึ่งศึกษาจดหมายรักและบันทึกประจำวันของผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางที่มีความรักเพศเดียวกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่สมิธ-โรเซนเบิร์กไม่ได้ระบุว่าผู้หญิงเหล่านั้นเป็นเลสเบี้ยนหรือไม่ แต่อธิบายว่าความคิดเรื่องเลสเบี้ยนไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงในช่วงเวลานั้นมีลักษณะเป็นบทบาททางสังคมมากกว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์ส่วนตัว เช่น การดูแลกันและกันในฐานะผู้หญิงที่ต้องทำหน้าที่ภรรยาและมารดา ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้หญิงจะเป็นความผูกพันทางอารมณ์ (Emotional Bonding) ซึ่งมีประสบการณ์ร่วมเหมือนกัน เช่น การตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูบุตร การดูแลสามี การทำงานบ้าน ฯลฯ ผู้หญิงจะเข้าใจหัวอกของผู้หญิงและสามารถเป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตของกันและกัน สังคมอเมริกันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่ได้กล่าวโทษว่าผู้หญิงที่มีความผูกพันทางอารมณ์ต่อกันคือคนที่ผิดปกติ สมิธ-โรเซนเบิร์กเชื่อว่าผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางในช่วงนั้นยังไม่มีความคิดเรื่องเพศวิถี การศึกษาดังกล่าวนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของผู้หญิงและเลสเบี้ยน
สมิธ-โรเซนเบิร์ก ตั้งข้อสังเกตว่าชีวิตคู่แบบรักต่างเพศของหญิงกับชายในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นการแสดงบทบาททางเพเศตามที่สังคมกำหนดไว้ ซึ่งผู้หญิงอาจจะมีความรู้สึกผูกพันกับคนเพศเดียวกันแต่สังคมไม่ได้รับรอง ผู้หญิงที่มีสามีจึงอาจรู้สึกแปลกแยก เพศภาวะหญิงและชายจึงเป็นเพียงระบบคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมที่กำหนดให้บุคคลแสดงบทบาทตามเพศกำเนิดเท่านั้น สมิธ-โรเซนเบิร์กไม่เชื่อว่าความรู้สึกพึงพอใจในเพศเดียวกันจะเป็นความผิดปกติหรือเป็นอาการป่วยทางจิต การที่จิตแพทย์ระบุว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นความบกพร่องทางจิต จึงเป็นเพียงคุณค่าทางวัฒนธรรม เพราะบุคคลสามารถมีอารมณ์ความรู้สึกทางเพศได้หลากหลายและไม่จำเป็นต้องมีเพียงแบบเดียวในช่วงชีวิต สมิธ-โรเซนเบิร์กเรียกสิ่งนี้ว่าเฉดของอารมณ์ที่มนุษย์มีอิสระที่จะแสดงออก เพียงแต่สังคมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะเข้าไปควบคุมให้บุคคลดำรงอยู่ในพฤติกรรมทางเพศอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ต่อมาบลานช์ วีเซ่น คุ้ก (1900) ศึกษาชีวิตของอีเสียนอร์ รูสเวลต์ที่เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คุ้กอธิบายว่ารูสเวลต์ไม่ต้องการมีชีวิตที่อยู่ใต้บ่งการของผู้ชาย เธอเลือกที่จะมีอิสระในการดำเนินชีวิตโดยทำงานเชิงการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับผู้หญิงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การทำงานทางการเมืองของรูสเวลต์กลายเป็นรากฐานของการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรีในเวลาต่อมา เพราะเป้าหมายสำคัญของรูสเวลต์คือการปฏิรูปสังคม โดยเฉพาะการสร้างความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ในการศึกษาของคุ้ก ยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรูสเวลต์กับโลรีนา ฮิคค็อก ซึ่งนำไปสู่ข้อถกเถียงว่ารูสเซลต์มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันหรือไม่
บทความของลิลเลียน เฟเดอร์แมน เรื่อง The Morbidification of Love between Women (1978) อธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงถูกทำให้เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ภายใต้ความรู้เพศแบบวิทยาศาสตร์ เพศวิถีของหญิงรักหญิงจึงถูกสร้างขึ้นด้วยอคติ เฟเดอร์แมน ตั้งข้อสังเกตในทำนองเดียวกับสมิธ-โรเซนเบิร์ก ซึ่งเห็นว่าความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีลักษณะเปิดกว้างมากกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 20 กล่าวคือบุคคลสามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกทางเพศได้หลากหลายโดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตีตรา แต่หลังจากที่วิทยาศาสตร์การแพทย์และจิตเวชศาสตร์มีบทบาทชี้นำสังคมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเหยียดหยามอารมณ์ความปรารถนาทางเพศของคนเพศเดียวกันก็รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงที่รักชอบเพศเดียวกันกลายเป็นผู้ป่วยทางจิต
เมื่อเฟมินิสต์อ่านงานฟูโก้เรื่อง The History of Sexuality และมองเห็นว่าประวัติศาสตร์ของเพศวิถีเป็นเรื่องทางการเมืองและการแบ่งช่วงชั้นของเพศภาวะ ซึ่งมีผลทำให้ผู้หญิงถูกกีดกันจากสังคม ในปี 1982 เกล รูบิ้นเขียนบทความเรื่อง Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality พยายามชี้ให้เห็นคู่ตรงข้ามระหว่างเพศที่ถูกต้องกับเพศที่ผิดปกติ เช่น รักต่างเพศกับรักเพศเดียวกัน แต่รูบิ้นไม่ได้วิเคราะห์ว่าเพศวิถีคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น แต่นำเพศวิถีมาเป็นหลักฐานของการปฏิบัติทางเพศที่บ่งชี้ว่าทำไมคนรักเพศเดียวกันจึงถูกกดทับ รูบิ้นมองว่าการปฏิบัติทางเพศแบบต่างๆจะถูกจัดลำดับชั้นไม่เท่ากัน และการปฏิบัติบางแบบจะถูกรังเกียจเหยียดหยาม แม้แต่เฟมินิสต์เองก็ยังอาจเหยียดหยามการปฏิบัติทางเพศบางแบบ จุดร่วมที่รูบิ้นมีเช่นเดียวกับฟูโก้ คือไม่มีทฤษฎีใดที่จะอธิบายการกดขี่ข่มเหงได้อย่างถูกต้อง รูบิ้นมองว่าการกดขี่ทางเพศไม่ได้มาจากเพศภาวะอย่างที่เฟมินิสต์เชื่อ แต่มาจากวิธีการปฏิบัติทางเพศที่ต่างกัน (sexual practices) เช่น ผู้หญิงที่รักต่างเพศและยึดมั่นในผัวเดียวเมียเดียว อาจจะรังเกียจผู้หญิงที่รักเพศเดียวกันและผู้หญิงที่เปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า(ผู้หญิงบริการ)
การต่อสู้ทางการเมืองของเฟมินิสต์ที่ยึดมั่นในอัตลักษณ์ของผู้หญิงที่เป็นแก่นแท้ อาจทำให้เฟมินิสต์มองข้ามที่จะสำรวจตรวจสอบแนวคิดเรื่องเพศภาวะ การเมืองของอัตลักษณ์จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเฟมินิสต์ การมองว่าผู้หญิงทุกคน ทุกวัย ทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ประสบชะตากรรมเดียวกันเป็นการมองที่ไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้หญิง เพราะในแต่ละวัฒนธรรม ความเป็นผู้หญิงจะมีความหมายไม่เหมือนกัน ผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางในตะวันตกจะมาตัดสินชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ในสังคมอื่นได้อย่างไร
การนำเอาความเป็นผู้หญิงมาเป็นอัตลักษณ์ทางเพศจึงเป็นเพียงการตอกย้ำ /เน้นย้ำโครงสร้างและอุดมการณ์ที่ต้องการแบ่งแยกเพศระหว่างหญิงกับชาย การสร้างอัตลักษณ์ผู้หญิงให้แยกจากชายอย่างเด็ดขาดเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม จะเป็นการผลิตซ้ำการเหยียดเพศที่ความเป็นหญิงและชายจะดำรงอยู่ร่วมกันไม่ได้ การเมืองของเฟมินิสต์จึงมิใช่การปลดปล่อยผู้หญิงออกจากอำนาจแต่เป็นการเพิ่มความชัดเจนให้กับการแบ่งแยกทางเพศ อย่างไรก็ตาม เฟมินิสต์ก็ไม่เห็นด้วยกับการวิพากษ์การเมืองของอัตลักษณ์ เพราะเฟมินิสต์เชื่อว่าอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเครื่องมือของการต่อสู้อำนาจ ถ้าปราศจากอัตลักษณ์ก็จะไม่มีการต่อต้านขัดขืน ฟูโก้เคยเสนอว่าการเมืองของอัตลักษณ์วางอยู่บนความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุผลและมีอิสระในตัวเอง สามารถที่จะสร้างจิตสำนึกแห่งตัวตนเพื่อที่จะต่อสู้กับอำนาจที่มากดขี่ข่มเหง แต่การต่อสู้ภายใต้ระบบคิดเรื่องการมีเหตุมีผลและความมีแก่นแท้ของมนุษย์นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้หรือไม่
แนวคิดเรื่องตัวตนและการต่อต้านขัดขืนจึงกลายเป็นความคิดหลักของขบวนการสร้างอัตลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิ การเชื่อมั่นในแก่นแท้ของตัวตนส่งผลให้เชื่อมั่นในอัตลักษณ์ทางเพศ และความมีเหตุผลของปัจเจกที่จะตัดสินสิ่งต่างๆ สิ่งเหล่านี้รองรับการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ คำถามคือ มีสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่ ในปี 1992 โลอิส แม็คเนย์ เขียนหนังสือเรื่อง Foucault and Feminism โดยชี้ว่า “ตัวตน” เป็นที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับบุคคลเพื่อที่จะใช้ต่อต้านอำนาจ คำอธิบายนี้เชื่อว่าอัตลักษณ์ การต่อต้าน และอำนาจในตนเองของคนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ถึงแม้ว่าแม็คเนย์จะพยายามนำความคิดของฟูโก้มาอธิบายว่าตัวตนเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง มิใช่สิ่งที่มั่นคง แต่แม็คเนย์ก็ยังเชื่อว่าการสร้างตัวตนของผู้หญิงมีเป้าหมายเพื่อการเป็นอิสระจากอำนาจของผู้ชาย
ซานดรา ลี บาร์ตกี เขียนบทความเรื่อง Foucault, Femininity, and Modernization of Patriarchal Power (1988) อธิบายว่าร่างกายของหญิงและชายถูกกระทำจากอำนาจต่างกัน เช่นเดียวกับซูซาน บอร์โด เชื่อว่าผู้หญิงมีอำนาจในตนเองที่จะต่อต้านขัดขืนอำนาจ เฟมินิสต์หลายคนไม่เห็นด้วยกับฟูโก้ที่มองว่าตัวตนจะถูกกดทับให้อยู่ในอำนาจตลอดเวลา และหันไปอธิบายว่าคุณสมบัติของผู้หญิงแตกต่างจากชาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การเดิน การนั่ง การแสดงท่าทางต่างๆ แต่บาร์ตกีพยายามโต้แย้งว่าการแสดงความเป็นหญิงและชายก็เป็นผลมาจากกฎระเบียบทางสังคม ความสวยงามที่ผู้หญิงต้องการมิได้เป็นสิ่งที่เกิดจากจิตสำนึกของผู้หญิง แต่มาจากการสร้างตัวตนให้ผู้หญิงในมาตรฐานของผู้ชาย ความสวยงามจึงเสมือนที่กักขังผู้หญิงบาร์ตกีอธิบายว่าความสวยของผู้หญิง คือการจัดระเบียบร่างกายให้ตนเอง ซึ่งชี้นำโดยอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ ดังนั้นกฎระเบียบของสังคมที่มีต่อผู้หญิงจึงไม่ใช่แค่เรื่องการแบ่งแยกกีดกัน แต่ยังเป็นเรื่องการทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนเองมีอิสระในการที่จะแสดงตัวตน
ลินดา อัลคอฟฟ์ (1995) อธิบายว่าอัตลักษณ์ความเป็นผู้หญิงในทฤษฎีเฟมินิสต์คือสิ่งที่เป็นปัญหา “ตัวตนผู้หญิง” ที่เฟมินิสต์ใช้เป็นตรรกะในการสร้างคำอธิบายเรื่องการกดขี่ทางเพศนั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบเป็นอันดับแรก ถ้ายังเชื่อมั่นในความจริงของตัวตนผู้หญิง สิ่งที่เฟมินิสต์อธิบายก็จะเป็นเพียงการจินตนาการบนโครงสร้างอำนาจที่ใช้แบ่งแยกเพศ เฟมินิสต์จะเลิกยึดติดกับความเป็นหญิงแบบแก่นแท้อย่างไร อัลคออฟ์เสนอให้มองความเป็นหญิงในฐานะเป็นการสื่อความหมายและเป็นการปฏิบัติทางสังคม เช่นโครงสร้างครอบครัวแบบรักต่างเพศได้สร้างความหมายให้กับผู้หญิงในลักษณะหนึ่ง เช่น ผู้หญิงเป็นแม่ เป็นภรรยา เป็นคนรักสามีเพียงคนเดียว ฯลฯ โครงสร้างนี้ทำให้เกิดการปฏิบัติทางสังคมที่แตกต่างกันระหว่างคนที่มีเพศหญิงและเพศชาย การปฏิบัติตัวของเพศหญิงอาจมีผลทำให้เกิดการสร้างตัวตนของผู้หญิง จนผู้หญิงเชื่อว่าความเป็นแม่คือธรรมชาติที่แท้จริงของผู้หญิง แต่การเลี้ยงดูบุตรไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของเพศหญิง และความเป็นแม่ก็ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับความเป็นหญิงเสมอไป
เฟมินิสต์ที่มองเห็นปัญหานี้ควรจะเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างความหมายใหม่ๆให้กับความเป็นหญิง /ความเป็นแม่ โดยอย่ายึดติดในอวัยวะเพศ และไม่ควรแยกเพศหญิงออกจากเพศชายแบบคู่ตรงข้าม อย่าหากล่องให้ผู้หญิงมีพฤติกรรมและการกระทำที่เป็นเอกเทศของตัวเอง แต่ควรมองหาการคลี่คลายความหมายของการเป็นหญิงและชายที่มีพลวัต เฟมินิสต์ไม่ควรมองว่าเพศภาวะคืออัตลักษณ์ทางเพศที่มีอยู่ในสายเลือด แต่ควรมองว่าเพศภาวะคือกระบวนการสร้างตัวตนทางเพศที่เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังนั้นเพศภาวะและอัตลักษณ์ผู้หญิงจึงเป็นผลผลิตของระเบียบที่ใช้ในการแบ่งแยกเพศ
ฟูโก้อธิบายว่าอำนาจไม่ได้มีอยู่อย่างเป็นเอกภาพภายใต้ระบบปิตาธิปไตยหรือในชนชั้นกฏุมพี แต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจจะแสดงตัวผ่านเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างชนชั้น อายุ และการปฏิบัติทางเพศ เกล รูบิ้นอธิบายว่าการกดขี่ทางเพศจะเกิดขึ้นภายใต้วาทกรรมเรื่องการปกป้องเด็กๆ เด็กจะถูกนำมาเป็นบริบทของการสร้างความหมายของการปฏิบัติทางเพศที่ดีหรือเลว โดยสังคมพยายามจะทำให้เด็กอยู่แยกจากเรื่องเซ็กส์และกามารมณ์ ราวกับว่าเซ็กส์คือสิ่งต้องห้ามหรือเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กไม่ได้
ในมุมมองของเฟมินิสต์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจจะวางอยู่บนความแตกต่างของเพศภาวะ ในขณะที่ฟูโก้มองว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจจะเกิดขึ้นจากการสร้างกฎระเบียบ เฟมินิสต์พยายามชี้ให้เห็นตัวตนแบบผู้หญิงและวิจารณ์ว่าอำนาจที่มาจากผู้ชายทำให้ผู้หญิงไม่มีพื้นที่ทางสังคม การไม่สนใจกฎระเบียบทางเพศที่สังคมสร้างขึ้น ทำให้เฟมินิสต์ข้ามไม่พ้นมายาคติเรื่องตัวตนที่แท้จริงของผู้หญิง และเชื่อว่าผู้หญิงมีวิธีการต่อต้านขัดขืนอำนาจในแบบของตัวเองที่ต่างไปจากผู้ชาย การเชื่อแบบนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามว่าระเบียบกฎเกณฑ์ของความเป็นผู้หญิงมีผลอย่างไรต่อการสร้างตัวตนผู้หญิง กฎระเบียบที่ควบคุมผู้หญิงอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากใจของผู้หญิงเอง แต่เกิดจากโครงสร้างอำนาจที่ทำให้มนุษย์เชื่อมั่นในความจริงแท้เกี่ยวกับอัตลักษณ์และจิตสำนึก
การเชื่อมั่นในตัวตนทางเพศไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง เกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ ส่วนใหญ่มักจะขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับกล่องของอัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกสร้างภายใต้อุดมการณ์และบรรทัดฐาน เมื่อเลือกที่จะเชื่อมั่นในตัวตนทางเพศแล้วก็เลยทำให้อธิบายประสบการณ์ของบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นความจริงแท้ เช่น เป็นความรู้สึกที่แท้ เป็นอารมณ์ที่ออกมาจากใจ เป็นสิ่งที่มาจากจิตสำนึก ฯลฯ การมองตัวตนทางเพศในฐานะเป็นผู้สร้างและผู้ปลดปล่อยอารมณ์ปรารถนาที่แท้จริง คือปัญหาของการอธิบายอัตลักษณ์ทางเพศ เฟมินิสต์จำนวนมากจึงวิจารณ์คำอธิบายของฟูโก้และพอใจที่จะเชื่อในตัวตนที่แท้ของผู้หญิง
ในสังคมตะวันตก การเขียนประวัติศาสตร์ของอัตลักษณ์ เสมือนเป็นการเขียนความจริงของเพศวิถีของมนุษย์ การเชื่อในความคงที่และความต่อเนื่องของตัวตนทางเพศจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันเป็นเพียงการแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ตัวตนทางเพศที่ถูกทำให้มีอยู่เป็นเอกภาพในตัวบุคคล จะกลายเป็นที่รองรับการเมืองของอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งนักวิชาการมักจะเชื่อว่ามีคนบางกลุ่มถูกกดขี่ข่มเหง เช่น ผู้หญิง โฮโมเซ็กช่วล เป้าหมายของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ทางเพศจึงมุ่งไปสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมและเสรีภาพ มากกว่าจะเป็นการทบทวนตรวจสอบสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศมีผลอย่างไรต่อการสร้างนิยามความเป็นมนุษย์ ความหมายของการกดขี่ข่มเหง และการแสวงหาอิสรภาพ การตรวจสอบสิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นว่าการปลดปล่อยตัวตนทางเพศให้เป็นอิสระไม่ใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือ แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าความรู้แบบไหนถูกนำไปสร้างอัตลักษณ์ทางเพศโดยที่มีอำนาจคอยกำกับควบคุม
ทฤษฎีเควียร์ จิตวิเคราะห์ และวงศาวิทยา
ในปี 1991 เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อ Queer Nation อลัน เบรูบีและเจฟฟรีย์ เอสคอฟเฟอร์ อธิบายว่าเควียร์เนชั่นคือการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบใหม่ที่สร้างอัตลักษณ์เควียร์ ปฏิเสธการเข้าไปอยู่ในบรรทัดฐานและแสวงหาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และในปี 1991 เทเรซ่า เดอ ลอเรติสก็เขียนบทความเรื่อง Queer Theory, Lesbian and Gay Sexualities โดยอธิบายว่า เพศวิถีของเกย์ในรูปแบบทางวัฒนธรรมทั้งเพศหญิงและเพศชาย ถูกแสดงออกในฐานะเป็นตัวตนทางสังคมที่พยายามต่อต้านระเบียบแบบแผนและแสวงหาความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมกับธำรงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้คือการแสดงออกทางการเมืองที่ยังคงเชื่อว่าเกย์มีเอกลักษณ์ของตัวเองมายาวนาน
แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเควียร์ไม่เหมือนกับกลุ่มทางการเมืองที่เรียกตนเองว่าเควียร์ เพราะกลุ่มการเมืองต้องการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของคนที่มีอะไรร่วมกันบางอย่าง เช่น เพศวิถี ชนชั้น เชื้อชาติ ฯลฯ แต่กลุ่มเกย์ผิวขาวชนชั้นกลางเพศชายก็ยังคงมีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนทฤษฎีเควียร์ ผู้หญิงกลับเป็นผู้บุกเบิกความคิด ได้แก่ เทเรซ่า เดอ ลอเรติส, จูดิธ บัตเลอร์ และอีฟ เซดจ์วิค ทั้งสามคนนี้ได้ตั้งคำถามสำคัญที่ว่าเพศภาวะและเพศวิถีถูกนำมาใช้เป็นการแสดงออกทางการเมืองของผู้หญิงและคนกลุ่มน้อยทางเพศได้อย่างไร การแสดงออกของเพศภาวะและเพศวิถีมีผลอย่างไรต่อการสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล คนข้ามเพศ ฯลฯ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่หวังผลบางอย่างที่เหมือนกัน การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศเหล่านี้ทำให้กลุ่มคนรู้สึกว่ามีตัวตนและมีความรู้สึกแบบเดียวกันได้อย่างไร เช่น รู้สึกถูกกดขี่ข่มเหงหรือไม่ได้รับสิทธิต่างๆ
ในปี 1990 เซดจ์วิคนำแนวคิดของฟูโก้มาอธิบายเรื่อง axiomatic หรือการสร้างความจริงในตัวเองโดยวิเคราะห์ว่าเพศวิถีเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มิใช่สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น คำว่าโฮโมเซ็กช่วลกลายเป็นคำเรียกอัตลักษณ์ทางเพศที่ผู้ชายนำไปสร้างนิยามตัวตนที่แตกต่างไปจากผู้ชายที่รักต่างเพศ โฮโมเซ็กช่วลจึงเป็นทั้งอัตลักษณ์ของเพศวิถีและเพศภาวะในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเพศภาวะและเพศวิถีเป็นสิ่งที่ทฤษฎีเควียร์สนใจ มีการตั้งคำถามว่าสองสิ่งนี้มีผลต่อชีวิตของบุคคลอย่างไร เพศภาวะและเพศวิถีเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์หรือว่าเป็นจิตสำนึกตามธรรมชาติที่เราสามารถเข้าใจได้จากการวิเคราะห์ทางจิต
ประวัติศาสตร์และจิตวิเคราะห์
บัตเลอร์พยายามชี้ให้เห็นการสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิง สังคมได้นำเอาเพศสรีระที่ต่างกันของหญิงและชายมาเป็นตัวตั้งตนของการสร้างบทบาททางเพศที่ต่างกัน การแสดงบทบาทตามเพศสรีระจึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นภายหลัง แต่ข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับเพศภาวะถูกทำให้เป็นเรื่องเดียวกับเพศสรีระ โดยความเป็นหญิงจะต้องอยู่คู่กับเพศหญิงเท่านั้น ราวกับว่าเพศภาวะดำรงอยู่ในจิตสำนึกของผู้หญิง ตัวตนของผู้หญิงดังกล่าวนี้เป็นผลผลิตจากกฎระเบียบของรักต่างเพศที่ต้องการแยกหญิงออกจากชาย ทำให้เป็นคู่ตรงข้าม เพื่อรองรับอุดมการณ์ครอบครัวและการจัดระเบียบแรงงาน เฟมินิสต์ทั้งหลายเชื่อในเพศภาวะที่จริงแท้ของผู้หญิง โดยมองว่าตัวตนผู้หญิงมีคุณสมบัติที่ต่างไปจากตัวตนผู้ชาย
ฐานคิดเรื่องตัวตนทางเพศ อาจสืบไปถึงการสร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เชื่อว่าคนแต่ละคนมีอารมณ์ความปรารถนาทางเพศที่ซ่อนอยู่ภายในซึ่งเป็นผลมาจากสรีระร่างกายและปัจจัยทางชีววิทยาที่ทำให้เพศหญิงและเพศชายมีแรงขับและสัณชาตญาณทางเพศที่ต่างกัน ความรู้ทางชีววิทยาและจิตวิเคราะห์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเพศภาวะ แต่บัตเลอร์วิจารณ์ความรู้นี้และชี้ให้เห็นว่าเพศภาวะไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ข้อวิจารณ์ของบัตเลอร์ทำให้เกิดการโต้แย้งในหมู่เฟมินิสต์ หลายคนไม่เห็นด้วยกับบัตเลอร์ บัตเลอร์อธิบายว่าอัตลักษณ์ผู้หญิงมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ แต่อัตลักษณ์ผู้หญิงถูกทำให้เป็นจริงภายใต้กฎระเบียบทางเพศที่สังคมได้สร้างเอาไว้ และบุคคลก็จะนำเอากฎระเบียบเหล่านั้นมาปฏิบัติเพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางเพศให้กับตนเอง กฎระเบียบเหล่านั้นไม่ได้สร้างข้อจำกัดให้กับตัวตนอย่างเดียวแต่มันยังช่วยสร้างตัวตนขึ้นมาด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากฎระเบียบไม่ได้กระทำต่อมนุษย์ในเชิงลบเท่านั้น แต่มันยังกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์นำไปสร้างสิ่งที่ตนเองต้องการ เช่น สร้างอัตลักษณ์ทางเพศ
บัตเลอร์สนใจกระบวนการสร้างตัวตนทางเพศโดยการนำเอาเพศภาวะมาปฏิบัติในชีวิตจนกลายเป็นสิ่งที่เชื่อว่านั่นคือสัญชาตญาณตามธรรมชาติ การสร้างตัวตนทางเพศจะอาศัยการจัดระเบียบทางร่างกาย เช่น ท่าเดิน ท่านั่ง การพูด การแต่งตัว กิริยาอาการที่แสดงออกในชีวิตประจำวัน ท่าทางของร่างกายเหล่านี้เป็นผลมาจากกฎระเบียบ และการขัดเกลา มิได้มาจากองค์ประกอบทางชีววิทยา บัตเลอร์มองว่าการจัดระเบียบร่างกายทำให้เกิดแพศภาวะของหญิงและชายที่บุคคลเชื่อว่านั่นคือตัวตนที่เกิดจากธรรมชาติ ในแง่นี้เพศภาวะจึงมิได้มาจากแรงขับตามธรรมชาติ แต่มาจากการจัดระเบียบร่างกายให้สอดคล้องกับความหมายทางวัฒนธรรม
บัตเลอร์วิจารณ์ว่าเฟมินิสต์มองข้ามวิธีการจัดระเบียบร่างกายให้สอคล้องกับความหมายทางวัฒนธรรม ถ้าเราเข้าใจว่าเพศภาวะเกิดจากการจัดระเบียบร่างกาย เราก็จะเห็นความเป็นไปได้ที่จะขัดขืนวิธีการจัดระเบียบเหล่านั้น การต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศจึงมิได้มาจากการยึดติดในเพศสรีระ แต่มาจากการทำลายกฎระเบียบทางเพศที่ครอบงำความเป็นเพศภาวะ บัตเลอร์ไม่เชื่อในตัวตนผู้หญิงที่มีแก่นแท้ แต่ตัวตนผู้หญิงเกิดจากการปฏิบัติตามระเบียบของเพศภาวะ ถ้าต้องการต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศเราต้องเปลี่ยนความหมายของกฎระเบียบของเพศภาวะเสียใหม่
การสร้างตัวตน หรือ subjectivity เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับการแสดงความหมายบนร่างกาย แต่ละยุคสมัยความหมายของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ความเป็นหญิงชายในอดีตจะไม่เหมือนความเป็นหญิงชายในปัจจุบัน แต่อำนาจที่ชี้นำสังคมในปัจจุบันพยายามบอกว่าความเป็นหญิงชายมาจากเพศสรีระ/อวัยวะเพศ/เพศกำเนิด และมันจะอยู่อย่างนั้นเสมอไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเวลาใด ความเชื่อดังกล่าวนี้ทำให้เราคล้อยตามว่าตัวตนทางเพศของเรามีความคงที่ชัดเจนและมีเอกภาพในตัวเองตลอดเวลา
สำหรับฟูโก้ ร่างกายคือวัตถุชนิดหนึ่ง (materiality) ที่มีไว้สำหรับการสร้างความหมายและสลักเสลาให้เป็นรูปร่างต่างๆ สำหรับบัตเลอร์ ร่างกายของพื้นที่ทางกายภาพที่มีไว้จารึกความหมายทางวัฒนธรรม เป้าหมายของบัตเลอร์คือการล้มล้างอัตลักษณ์ทางเพศที่มีแก่นแท้ บัตเลอร์จึงพยายามทำความเข้าใจว่าร่างกายถูกสร้างความหมายทางวัฒนธรรมได้อย่างไร เธอจึงเขียนหนังสือเรื่อง Bodies That Matter (1993) สำหรับบัตเลอร์มองว่าระเบียบของเพศภาวะคือขยะที่อยู่นอกร่างกาย ถ้าเราปฏิเสธระเบียบนี้ เราก็จะแยกร่างกายของจากเพศภาวะ ในความคิดของบัตเลอร์สรีระทางเพศจะถูกจัดระเบียบด้วยวาทกรรม ภาษา และความหมาย เมื่อเราต้องการแสดงตัวตนของเราผ่านร่างกายเราก็จะต้องอาศัยภาษาเป็นเครื่องมือเสมอ ชื่อเรียก คำเรียก สรรพนามทั้งหลายที่ใช้อธิบายร่างกายของเราล้วนบ่งบอกถึงความหมายบางอย่าง ตัวตนของเราจึงปรากฎผ่านคำเรียกที่ถูกจารึกบนร่างกาย ดังนั้น การเชื่อมั่นในความเป็นหญิงบนสรีระทางเพศเพียงอย่างจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นหญิงบนร่างกายจะเกิดขึ้นจากภาษา/คำเรียกที่ผ่านการจารึก
การชูประเด็นสรีระทางเพศที่ต่างกันระหว่างหญิงและชาย จึงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อสำหรับบัตเลอร์ เพราะความเป็นเพศภาวะหญิงชายไม่ได้ล่องลอยอยู่อย่างเอกเทศหรืออยู่ในสัญชาตญาณ แต่มันคือความหมายที่ตอบโต้กันไปมา ซึ่งจะขาดสิ่งใดไปไม่ได้ การแสวงหาแก่นแท้ของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่อาจจะทำให้เกิดพรมแดนอิสระของผู้หญิง การวิเคราะห์ร่างกายของบัตเลอร์ทำให้เห็นว่าเพศสรีระคือพื้นที่ที่ถูกสร้างความหมายผ่านคำเรียกต่างๆ ถ้าปราศจากคำเรียก เราก็ไม่อาจคิดถึงความเป็นหญิงและชายได้ ความเป็นหญิง/ชายจึงมิใช่การมีแก่นแท้ตามธรรมชาติ แต่เป็นวิธีการสื่อความหมายผ่านภาษา/คำเรียกที่จารึกลงบนร่างกาย
ในสมัยกรีก เพลโตเคยอธิบายว่าร่างกายของผู้หญิงไม่ถูกจัดว่าเป็น “บุคคล” ตรงข้ามกับเพศชายที่เป็นผู้ใหญ่ที่จะมีคุณสมบัติของบุคคล การเป็นบุคคลในความคิดของเพลโตจะต้องมีสติปัญญาและร่างกายที่เจริญงอกงาม แต่ร่างกายของเพศหญิงไม่ถูกจัดว่าเจริญงอกงาม และเพศหญิงไม่มีสติปัญญาเท่าเพศชาย ความเป็นหญิงในยุคกรีกจึงเป็นความขาดตกบกพร่อง ซึ่งมีความหมายต่างไปจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ความเป็นหญิงคือความอ่อนหวาน บัตเลอร์สงสัยว่าทำไมเพลโตจึงกีดกันผู้หญิงออกจากสังคม ทำไมวัฒนธรรมตะวันตกจึงมองผู้หญิงว่ามีค่าน้อยกว่าชาย นักปรัชญาตะวันตกทั้งหลายพยายามยกย่องความเป็นชายให้สูงกว่าความเป็นหญิงและส่งผลให้ทฤษฎีทางปรัชญาของตะวันตกลำเอียงเข้าหาผู้ชาย หรือเป็นการอธิบายความจริงผ่านสายตาผู้ชาย ปัญหาสำคัญก็คือ วัฒนธรรมตะวันตกให้คุณค่ากับเพศสรีระ ใช้ร่างกายเป็นตัวตัดสินความจริง ความดี ความเลว ร่างกายตามธรรมชาติถูกนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับการแบ่งแยกกีดกันทางเพศ ปัญหานี้ทำให้ความรู้ของตะวันตกวางอยู่บนการทำให้ร่างกายเป็นตัวแทนของศีลธรรมและตัวตน
บัตเลอร์พยายามรื้อถอนความคิดเรื่องเพศภาวะที่ผูกติดกับสรีระทางเพศ พร้อมกับรื้อสร้างวาทกรรมเพศภาวะที่โต้แย้งกันไปมาระหว่างกลุ่มสารัตถะนิยมและประกอบสร้างนิยม กลุ่มสารัตถะนิยมเชื่อในแก่นแท้จากเพศสรีระ ส่วนกลุ่มประกอบสร้างนิยมเชื่อในอิสระในการเลือกอัตลักษณ์ทางเพศที่บุคคลแสดงออก แต่ทั้งแก่นแท้และอิสระของตัวตนต่างกันยังยึดมั่นในเพศภาวะ เราจำเป็นต้องรื้อสร้างความคิดเรื่องเพศภาวะเพื่อที่จะทำความเข้าใจการกดขี่ทางเพศ
บัตเลอร์ได้เสนอว่าปัญหาของอัตลักษณ์ทางเพศมิใช่การหาวิธีปลดปล่อยมันหรือควบคุมมัน แต่ปัญหาอยู่ที่ตรรกะความสัมพันธ์ระหว่าง “ภายใน-ภายนอก” หรือ “ตัวคนกับสังคม” เท่าที่ผ่านมาเราใช้ความรู้ทางชีววิทยามาเป็นตัวบ่งชี้ตัวตนที่แท้จริงของเรา เราจึงยึดเอาร่างกายของเราเป็นเขตแดนของการมีตัวตน ในขณะที่สิ่งอื่นๆที่อยู่นอกร่างกายคือสิ่งที่ไม่ใช่เรา สิ่งนั้นจะถูกนิยามว่าเป็นสังคม บัตเลอร์อธิบายว่าถ้าอำนาจซึ่งเกิดขึ้นจากจิตสำนึกของตัวตนตามธรรมชาติ ทำให้เกิดอัตลักษณ์ของคนที่ต่างกันแล้ว ความต่างของเชื้อชาติ ชนชั้น อายุ ก็จะต้องมาจากจิตสำนึกด้วยใช่หรือไม่ อำนาจจึงมิใช่สิ่งที่มาจากจิตสำนึกตามธรรมชาติ แต่อำนาจเกิดจากการปฏิบัติผ่านความหมายวัฒนธรรมในลักษณะต่างๆ ถ้าไม่มีการปฏิบัติก็ไม่มีอำนาจ และก็ไม่มีตัวตนเช่นเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การปฏิบัติทำให้เกิดการสร้างประสบการณ์ และประสบการณ์ก็จะทำเกิดการสร้างตัวตน
บัตเลอร์เสนอทฤษฎีเรื่อง จิตใต้สำนึกที่มองไม่เห็น ซึ่งนำเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของลาค็องมาเป็นแนวทาง ซึ่งทำให้บัตเลอร์มีปัญหาในการอธิบายตัวตน เพราะจิตใต้สำนึกที่มองไม่เห็นกลายเป็นรากเหง้าของการสร้างตัวตน ประเด็นนี้ทำให้บัตเลอร์ถูกโจมตีว่าเชื่อในความเป็นสากลของจิตใต้สำนึก หรือมองว่าบุคคลมีจิตใต้สำนึกเป็นพื้นฐานเหมือนกัน บัตเลอร์พลาดที่จะตรวจสอบสิ่งที่เรียกว่า “จิตใต้สำนึก” เพราะความหมายของจิตใต้สำนึกเกิดจากวาทกรรมของจิตวิเคราะห์ และเป็นความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ยืนยันว่าจิตใต้สำนึกจะมีอยู่ในธรรมชาติหรือติดตัวคนมาตั้งแต่เกิด หากแต่จิตใต้สำนึกเป็นนิยามทางวัฒนธรรมที่ต้องการทำให้มนุษย์เป็นผู้ที่มีความซับซ้อนของจิตใจ
ถึงแม้ว่าบัตเลอร์จะมองว่าตัวตนไม่ได้มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ แต่ตัวตนถูกสร้างมาจากปฏิบัติการบนร่างกายที่มีภาษาคอยกำกับ บัตเลอร์ยังเชื่อในความมีจิตใต้สำนึกของมนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้บัตเลอร์ข้ามไม่พ้นความคิดเรื่องความเป็นสากลของมนุษย์ เรื่องจิตใต้สำนึก บัตเลอร์อธิบายไว้ใน The Psychic Life of Power (1997) แต่การมีจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึกจะอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ เช่น ทำไมการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวเกย์จึงขยายตัวมากในทศวรรษ 1970 แต่ไม่เห็นสำนึกของการมีอัตลักษณ์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดังนั้น ขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพหรือการต่อต้านขัดขืนจึงมิใช่สิ่งสากลที่มีอยู่ในจิตสำนึกหรือใต้สำนึกของมนุษย์ หากแต่การเรียกร้องเสรีภาพและการขัดขืนต่ออำนาจคือภาพสะท้อนของกฎระเบียบอีกชุดหนึ่ง การขัดขืนมิได้อยู่นอกกฎระเบียบ ไม่ได้เป็นอิสระจากอำนาจ แต่การขัดขืนคือรูปแบบของกฎระเบียบที่อยู่ในอำนาจ ฟูโก้กล่าวว่าผู้ที่ขัดขืนอำนาจก็อยู่ในกฎแบบเดียวกับผู้มีอำนาจ ผู้ขัดขืนจะแสดงตัวให้ผู้อำนาจเห็นภายใต้กฎที่ผู้มีอำนาจแสดงตัวต่อผู้ขัดขืน เช่น โฮโมเซ็กช่วลจะแสดงตัวต่ออำนาจรักต่างเพศด้วยการบ่งชี้ว่าตนเองคือโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งอำนาจรักต่างเพศก็ได้สร้างกล่องของโฮโมเซ็กช่วลขึ้นมาเพื่อจะบอกว่าโฮโมเซ็กช่วลคือคนที่เบี่ยงเบนทางเพศ การตอบโต้ไปมาระหว่างผู้ขัดขืนกับผู้ใช้อำนาจจึงเกิดขึ้นในกฎระเบียบชุดเดียวกัน ในแง่จะทำให้เข้าใจว่าการต่อต้านขัดขืนมิได้มาจากจิตใต้สำนึกของคน หากแต่มาจากกฎระเบียบที่สร้างคู่ตรงข้ามระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ
ดังนั้น ปมทางจิตที่บัตเลอร์พยายามจะเสนอขึ้นมานั้น เป็นการสร้างแก่นแท้ให้กับการต่อต้านขัดขืน โดยมองว่าในส่วนลึกของมนุษย์จะมีจิตใต้สำนึกของการต่อต้านขัดขืนอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด คำอธิบายนี้เป็นการสร้างความเป็นสากลและความคงที่ให้กับจิตใต้สำนึกที่เป็นเครื่องมือของการต่อต้านอำนาจ ราวกับว่าจิตใต้สำนึกมีอยู่ในตัวคนตั้งแต่กำเนิด และคนก็จะใช้จิตใต้สำนึกนี้พิสูจน์ความจริงแท้ในการต่อต้านขัดขืนและความเป็นมนุษย์ ทำให้การอธิบายในเรื่อง The Psychic Life of Power (1997) ของบัตเลอร์ติดในอยู่มายาคติเรื่องความจริงแท้
วาทกรรมที่ถูกนำไปสร้างตัวตนและการต่อต้าน เช่น “โฮโมเซ็กช่วล” ได้สร้างบริบทบางอย่างขึ้นมาเพื่อทำให้ตัวตนและการต่อต้านดำเนินไปได้ วาทกรรมนี้จะทำให้เราเห็นว่าเป้าหมายของการต่อต้านคืออะไรและจะมีอะไรเกิดขึ้น ฟูโก้อธิบายประเด็นนี้ใน The Order of Things (1966) ว่ามนุษย์คือผู้ที่จะระเบียบความรู้ภายใต้บริบทบางอย่าง เช่น วงการแพทย์ ชีววิทยา จิตวิเคราะห์ ซึ่งจะสร้างความรู้ชุดหนึ่งที่จะถูกจัดระเบียบและถูกวางกฎเกณฑ์ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจะเป็นผู้จัดการความรู้เหล่านี้ เป็นต้น ความรู้แต่ละแขนงจะมีวาทกรรมหรือแนวคิดทฤษฎีเกิดขึ้น เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะสร้างทฤษฎีการมีชีวิตหรือความตาย ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะสร้างทฤษฎีอุปสงค์อุปทาน ความรู้ปรัชญาจะสร้างทฤษฎีตัวตนและจิตสำนึก เป็นต้น ความรู้เหล่านี้ล้วนมีข้อจำกัดในตัวเองและไม่ได้ยืนยันในความจริงแท้และความเป็นสากลที่คงที่
ความรู้ต่างๆมักจะสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ ตัวตนที่จับต้องได้และเป็นผลผลิตตามธรรมชาติ และที่สำคัญยังทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ที่มีสติปัญญาและสามารถค้นหาความจริงแท้ได้ ทฤษฎีความเป็นมนุษย์ที่มีจิตสำนึก มีความคิด มีสมอง มีความฉลาด มีเหตุผล มีจิตสำนึก มีตัวตน ล้วนเป็นวาทกรรมที่มีอำนาจที่มีผลต่อการอธิบายสิ่งต่างๆที่สัมพันธ์กับมนุษย์ เมื่อเราเชื่อว่ามนุษย์มีจิตสำนึกและมีปัญญาเราก็จะเชื่อในตัวตนที่มีจริงของมนุษย์ เป้าหมายของศาสตร์ทั้งหลายจึงพยายามทำให้มนุษย์เป็นผู้แสวงหาทางออกให้กับชีวิต แสวงหาสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมั่นคงสมบูรณ์ครบถ้วน ฟูโก้อธิบายว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ความรู้ต่างๆแยกมนุษย์ออกไปอยู่ต่างหาก แยกออกไปเป็นเอกเทศ แยกจากตัวความรู้ เพราะเชื่อว่ามนุษย์คือผลผลิตของธรรมชาติที่มีปัญญาในการจัดการสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะทำให้มนุษย์ได้แสดงอารมณ์ความปรารถนาและการกระทำเพื่อตอบสนองตัวเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า มนุษย์จะกลายเป็นผู้ที่ควบคุมสิ่งต่างๆ
การสร้างความเป็นมนุษย์บนความรู้เรื่องจิตสำนึก คือวาทกรรมของศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ ส่วนความรู้เรื่องจิตใต้สำนึกที่เสนอโดยฟรอยด์ พยายามที่จะทำความเข้าใจมนุษย์ในอีกมิติหนึ่ง คือมนุษย์จะไม่ได้แสดงออกในบางสิ่ง แต่จะเก็บซ่อนไว้ภายใน ขณะที่จิตสำนึกจะบ่งการให้มนุษย์กระทำสิ่งต่างๆ แต่จิตใต้สำนึกจะบ่งการให้มนุษย์เก็บงำบางสิ่งเอาไว้ ทฤษฎีของฟรอยด์จึงเชื่อว่ามีบางสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้แสดงออกมา มนุษย์จึงไม่ได้เป็นผู้มีเหตุผลที่จะทำสิ่งต่างๆออกไปแต่ยังมีสิ่งที่มนุษย์เก็บซ่อนไว้และมองไม่เห็น ทฤษฎีจิตใต้สำนึกพยายามที่ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการกระทำเชิงรูปธรรมของมนุษย์ มนุษย์ไม่ได้แสดงตัวตนผ่านรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังซ่อนเร้นตัวตนผ่านสิ่งที่เป็นนามธรรม
แต่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ก็เป็นความรู้วิทยาศาสตร์ชนิดหนึ่ง เพราะฟรอยด์เชื่อว่าการที่จะแสดงจิตใต้สำนึกออกมาต้องผ่านกระบวนการสะกดจิตเพื่อให้คนๆนั้นเล่าเรื่องที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในใจ วิธีการนี้ฟูโก้มองว่าเป็นการแสวงหาตัวตนที่มีแก่นแท้อีกชนิดหนึ่งโดยนักจิตวิทยา/จิตแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมคนป่วยทางจิต และตัดสินสิ่งที่คนๆนั้นสารภาพออกมา วิธีการสะกดจิตและการสารภาพนี้มิใช่การค้นหาความจริงแท้ แต่เป็นเพียงบริบทของการสร้างความจริงอีกชุดหนึ่ง จิตใต้สำนึกที่มีอยู่ในใจของบุคคลมิใช่สิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ แต่เป็นวาทกรรมของความเป็นมนุษย์ในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งไม่ต่างจากวาทกรรมเรื่องจิตสำนึกหรือสติปัญญา ทฤษฎีจิตใต้สำนึกจึงเชื่อในความมีตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์
ฟูโก้กล่าวว่าทฤษฎีจิตใต้สำนึกคือวาทกรรมของจิตวิเคราะห์ ศาสตร์ต่างๆที่เชื่อในความเป็นมนุษย์ที่มีตัวตนที่แท้จริงล้วนสร้างอำนาจให้กับวาทกรรมเรื่องความเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญา มีจิตสำนึก มีจิตใต้สำนึก เช่นเดียวกัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เพศภาวะและเพศวิถีกลายเป็นที่อ้างอิงของตัวตนทางเพศ โดยเราจะยึดมั่นเพศภาวะและเพศวิถีของเราราวกับว่ามันอยู่ในจิตสำนึกและใต้จิตสำนึกมาตั้งแต่เกิด ทฤษฎีเควียร์ต้องการจะทำความเข้าใจว่าความรู้เรื่องเพศภาวะและเพศวิถีมีผลต่อการสร้างจิตสำนึกและตัวตนทางเพศอย่างไร
บรรณานุกรม
Alcoff, Linda. 1995. Cultural Feminism versus Post-Structuralism: The Identity Crisis in Feminist Theory. In Nancy Tuana and Rosemarie Tong. (eds.) Feminism and Philosophy: Essential Reading in Theory, Reinterpretation, and Application. San Francisco: Westview Press. 434-456.
Bartky, Sandra Lee. 1988. Foucault, Femininity, and Modernization of Patriarchal Power. In Feminism and Foucault: Reflections on Resistance. Edited by Irene Diamond and Lee Quinby. Boston: Northeastern University Press.
Butler, Judith. 1993. Bodies That Matter: On the Discursive Limits of Sex. New York: Routledge.
Butler, Judith. 1997. The Psychic Life of Power. Stanford: Stanford University Press.
Faderman, Lillian. 1978. The Morbidification of Love between Women by 19th Century Sociologist.Journal of Homosexuality 4 (1) (Fall 1978), 73-89.
Foucault, Michel. 1970. The Order of Things: An Archaeology of the Human Sciences. New York: Pantheon Books.
Foucault, Michel. 1978. The History of Sexuality, Vol. 1. New York: Pantheon Books.
Lauretis, Teresa De. 1991. Queer Theory: Lesbian and Gay Sexualities. Differences, 3(2), McNay, Lois. 1992. Foucault and Feminism: Power, Gender, and the Self. Cambridge: Polity Press.
Rubin, Gayle. 1984. Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality. in Carole Vance, ed., Pleasure and Danger. New York: Routledge & Kegan, Paul.
Smith Rosenberg, Carroll. 1975. The Female World of Love and Ritual: Relations between Women in Nineteenth Century America. Signs, Vol.1(1) (Autumn), 1-29.
Turner, William B. 2000. A Genealogy of Queer Theory. Philadelphia: Temple University Press.