(ยุค) แสงสว่างทางปัญญาจากเบื้องล่าง: บทปริทัศน์หนังสือ Pirate Enlightenment, or the Real Libertalia
บทนำ
หากกล่าวถึง “โจรสลัด” จินตนาการของใครหลายคนคงเป็นภาพของความป่าเถื่อนและความน่าสยองขวัญที่โจรสลัดได้จารึกไว้ในท้องทะเลและบนบก การ์ตูน One Piece สะท้อนภาพข้างต้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความเป็นเผด็จการของโจรสลัดอัลบิด้า (Albida Pirate) ที่ต้องการได้ยินแต่เพียงคำสรรเสริญยกย่องตนเองจากลูกเรือ ไปจนถึงกรณีของกลุ่มโจรสลัดอารอง (Arlong Pirate) ที่ออกอาละวาดไปทั่วทะเลอีสต์บลูโดยการเก็บส่วยจากชุมชนอื่นเป็นค่าคุ้มครอง พร้อมทั้งสังหารชาวบ้านที่กระด้างกระเดื่อง ฯลฯ กระนั้นก็ดี One Piece มิได้นำเสนอแต่เพียงด้านมืดของโจรสลัดเท่านั้น เหตุเพราะการออกล่องนาวาของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องเสรีภาพและอนาธิปไตย (freedom and anarchy) ที่โจรสลัดต้องการอิสระในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และไม่ต้องการให้รัฐบาลโลกเข้ามากำกับควบคุมวิถีชีวิตของพวกเขา (ดูเพิ่มเติมใน One Piece)
ภาพความป่าเถื่อนและล้าหลังของโจรสลัดได้ถูกหยุดไว้ชั่วคราว เมื่อเดวิด เกรเบอร์ เผยให้เห็นว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 - ต้นศตวรรษที่ 18 โจรสลัดในมาดากัสการ์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา (enlightenment) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการจัดวางโครงสร้างทางการเมือง (political arrangement) ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดประชาธิปไตย เสรีภาพและลัทธิเสมอภาคนิยม (egalitarianism) กระนั้นก็ตาม ในเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยจุดกำเนิดยุคแสงสว่างทางปัญญาที่เอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) กลับมิได้เอ่ยถึงความก้าวหน้าของสังคมนอกยุโรปเช่นนี้ (David Graeber, 2019)
หนังสือ Pirate Enlightenment, or the Real Libertalia ที่เขียนโดยเดวิด เกรเบอร์
ที่มา: https://newcrossreviewofbooks.wordpress.com/2023/02/
จุดมุ่งหมายของบทความนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นสาระสำคัญของหนังสือ Pirate Enlightenment, or the Real Libertalia ที่เขียนโดยเดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย บทความนี้เสนอว่าข้อเสนอหลัก (main argument) ของหนังสือคือ แนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญามิได้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ของยุโรป หากแต่เกิดขึ้นในพื้นที่นอกยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อิสระเชิงสัมพัทธ์ (the relatively free spaces) (David Graeber, 2019, p.18) ข้อเสนอนี้มุ่งถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (decoloniality) ว่าด้วยเรื่องจุดกำเนิดของแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา (the origin of the enlightenment idea)
บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การมองยุคแสงสว่างทางปัญญาโดยเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) 2) (ยุค) แสงสว่างทางปัญญาของโจรสลัด (pirate enlightenment) และ 3) บทสรุป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. จุดกำเนิดแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาที่ยืดยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric)
หนังสือเล่มนี้เริ่มบทสนทนากับความเชื่อที่ว่า แนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญามีจุดเริ่มต้นจากเมืองใหญ่ในยุโรป อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของเดวิด เกรเบอร์ คำอธิบายนี้ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ไม่ครอบคลุม เนื่องจากนักคิดยุครู้แจ้งหลายคนชี้ว่า อิทธิพลทางความคิดของพวกเขามิได้มีที่มาจากวัฒนธรรมตะวันตกแต่อย่างใด (David Graeber, 2019)
กระนั้นก็ดี ในความเป็นจริงกลับพบว่าเรื่องเล่าว่าด้วยจุดกำเนิดยุคแสงสว่างทางปัญญายังคงมองข้ามหลักฐานที่เกิดขึ้นในพื้นที่นอกยุโรป
ยกตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 1690 (ช่วงเวลาเดียวกันที่โจรสลัดตั้งถิ่นฐานในมาดากัสการ์) ได้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นต้นแบบแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา (a proto-Enlightenment salon) ซึ่งจัดขึ้นในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ณ บ้านของ Comte De Frontenac ต่อมาได้รับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ ทั้งนี้ Comte De Frontenac และผู้ช่วยชื่อ Lahontan ได้ถกเถียงถึงคำถามสำคัญทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา เศรษฐกิจ ไปจนถึงวัฒนธรรมเรื่องเพศ ฯลฯ ร่วมกับนักการเมืองอเมริกาเหนือคนสำคัญซึ่งเป็นชนพื้นเมืองนามว่า “คันดิอะรองค์” (Kandiaronk) ผู้เชื่อในแนวคิดเสมอภาคนิยมและผู้ที่ยึดหลักเหตุผล (skeptical rationalist) (David Graeber, 2019, p.8-9)
ในเวลาต่อมา Lahontan นำบทสนทนากับ คันดิอะรองค์ไปตีพิมพ์เป็นหนังสือซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรป รวมไปถึงนักคิดสำคัญในยุคแสงสว่างทางปัญญาแทบทุกคนต่างอ้างอิงถึงงานต้นแบบชิ้นนี้ (David Graeber, 2019, p.8-9)
อย่างไรก็ตาม หนังสือที่เขียนขึ้นโดย Lahontan กลับไม่ปรากฏชื่อคนสำคัญอย่าง คันดิอะรองค์ในประวัติศาสตร์เรื่องนี้ แม้บทสนทนาว่าด้วยแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาในครั้งนี้จะเกิดขึ้นจริงก็ตาม ในแง่นี้ ข้อคิดเห็นของคันดิอะรองค์เสนอจึงถูกมองข้าม (David Graeber, 2019, p.9)
ในทัศนะของเดวิด เกรเบอร์ การบิดเบือนประวัติศาสตร์ว่าด้วยแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกระหว่างคนยุโรปกับคนที่ไม่ใช่ยุโรป กล่าวคือ การทดลองทางการเมือง (political experiment) ที่จัดขึ้น คนผิวขาวที่พูดภาษายุโรปถูกปฏิบัติราวกับว่าไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการทดลองทางการเมืองที่จัดขึ้นโดยคนที่พูดภาษาอื่น แม้ว่าพวกเขาจะทำการทดลองทางการเมืองในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกันโดยตัวแสดงทางการเมืองที่ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันร่วมกับคนอื่น (David Graeber, 2019, p.19)
ในแง่นี้ เราจึงเห็นคำอธิบายที่ว่าอารยธรรมตะวันตกมีความเป็นเอกเทศโดยปราศจากอิทธิพลของวัฒนธรรมอื่น (แม้แนวคิดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็ตาม) และที่สำคัญ แนวคิดนี้ยังถูกใช้เป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมเพื่อกีดกันคนอื่นที่มิได้เป็นคนตะวันตกหรือ “คนขาว” ให้พ้นไปจากหน้าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ในทางภูมิปัญญา (intellectual history) (David Graeber, 2019, p.9) อคติทางเชื้อชาติ (racist bias) เช่นนี้ไม่เพียงปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมเท่านั้น แต่ยังพบเห็นได้ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย (David Graeber, 2019, p.19)
หนังสือเล่มนี้จึงตั้งคำถามสำคัญคือ เราสามารถเรียกแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา เช่น แนวคิดว่าด้วยอิสรภาพของมนุษย์ (human liberation) ว่ามีที่มาจากตะวันตกได้หรือไม่ (David Graeber, 2019, p.17)
เหตุเพราะแม้ชนพื้นเมืองนอกยุโรปจะมีบทบาทต่อการผลักดันแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา แต่เหตุใดในทางประวัติศาสตร์ คนสำคัญนอกยุโรปเช่นนี้จึงมิได้ถูกมองว่าเป็นนักทฤษฎีและผู้บุกเบิกสำคัญที่มีส่วนผลักดันแนวคิดแสงสว่างทางปัญญา ทั้งประชาธิปไตยและแนวคิดเสรีภาพของมนุษย์ (human freedom) เช่น คันดิอะรองค์ (David Graeber, 2019, p.10)
จากภาพประวัติศาสตร์ของแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาที่ไม่ครอบคลุมข้างต้น ทำให้เดวิด เกรเบอร์ กล่าวไว้ในบทนำอย่างชัดเจนว่า คุณูปการในทางวิชาการของหนังสือว่าด้วยโจรสลัดฉบับกะทัดรัดเล่มนี้ คือการมุ่งถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคมว่าด้วยจุดกำเนิดของแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา “Decolonizing the Enlightenment” ซึ่งเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (David Graeber, 2019, p.8) ดังนั้น เนื้อหาในบทต่อมาของหนังสือจึงเป็นการนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นถึงการใช้แนวคิดยุคแสงสว่างปัญญาในสังคมนอกยุโรป ซึ่งก็คือพื้นที่ในประเทศมาดากัสการ์ ดังที่จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
2. (ยุค) แสงสว่างทางปัญญาของโจรสลัด (pirate enlightenment)
จากคำอธิบายจุดกำเนิดแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาโดยยึดยุโรปเป็นศูนย์กลางได้มองข้ามรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน เหตุเพราะยังมีพื้นที่หลายแห่งที่ผลักดันแนวคิดก้าวหน้าให้เกิดขึ้นจริง
เหตุดังนี้ เดวิด เกรเบอร์ จึงเสนอว่าแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญามิได้ก่อตัวขึ้นในยุโรป หากแต่เกิดขึ้นในพื้นที่นอกยุโรป (David Graeber, 2019, p.18) เดวิด เกรเบอร์ ขยายความข้อเสนอนี้ โดยการพาผู้อ่านไปทำความรู้จักการจัดโครงสร้างทางการเมือง (political arrangement) ของโจรสลัดในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทางทิศตะวันออกของประเทศมาดากัสการ์
แนวคิดประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นบนเรือของโจรสลัดที่ประกอบด้วยผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งพวกเขาไม่เพียงมีที่มาจากหลายแห่งเท่านั้น อาทิ ชาวยุโรป ชาวครีโอล ชาวแอฟริกา และชนพื้นเมืองอเมริกา เนื่องจากพวกเขายังมีความแตกต่างหลายด้านรูปแบบทางสังคม (social arrangement) อีกด้วย ดังนั้น เมื่อพวกเขาต้องมาดำเนินชีวิตร่วมกันบนเรือ จึงจำเป็นต้องมีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ ในแง่นี้เอง เรือของพวกเขาจึงเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการ (laboratories) ในการทดลองใช้หลักการประชาธิปไตย (democratic experiment) เพื่ออยู่ร่วมกัน (David Graeber, 2019)
ยกตัวอย่างเช่นกัปตันเรือมิได้มาจากการแต่งตั้ง หากแต่มาจากการเลือกตั้งของโจรสลัด โดยกัปตันจะมีบทบาทหลักเฉพาะในช่วงที่มีสงครามเท่านั้น รวมทั้งยังได้ออกแบบกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจต่าง ๆ ขึ้นมาอีกด้วย เช่น หน่วยพลาธิการ (quartermaster) ซึ่งมีระบบการชดเชยและเยียวยาอาการบาดเจ็บ รวมถึงมีการแบ่งปันทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม (David Graeber, 2019) นอกจากนี้ โจรสลัดไม่เพียงใช้หลักการประชาธิปไตยนี้บนเรือเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขาขึ้นฝั่ง หลักการประชาธิปไตยก็ถูกนำมาปฏิบัติใช้ด้วยเช่นกัน
หนังสือยังนำเสนอให้เห็นอีกว่า ผู้หญิงมิได้ตกอยู่ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ เหตุเพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างโจรสลัดกับชนพื้นเมืองในขณะนั้น ได้ส่งเสริมสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ และเป็นตัวแสดงสำคัญ (David Graeber, 2019)
กล่าวคือ คำอธิบายแบบตะวันตกชี้ว่าผู้หญิงชาวมาดากัสการ์ถือเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายหรือเครื่องบรรณาการทางเพศ (token) ที่ผู้ชายมอบผู้หญิงของตนให้ชายอื่นในฐานะเครื่องมือรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม (David Graeber, 2019)
อย่างไรก็ตาม การแต่งงานของผู้หญิงกับโจรสลัด ผู้หญิงมิได้ถูกคลุมถุงชน แต่ผู้หญิงถือเป็นตัวแสดงทางสังคม (social actor) ที่มีบทบาทหลักในการเลือกสามีของตนเอง หนังสืออธิบายถึงเหตุผลในการแต่งงานของผู้หญิงว่าเป็นการแสวงหาวิธีการเพื่อให้ได้เข้าไปมีบทบาทในการค้าขาย และหยิบยืมสถานะของสามีชาวต่างชาติเพื่อที่จะได้มีสิทธิทางสังคมและการเมือง รวมถึงมีความเป็นอิสระซึ่งถือเป็นการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เหตุผลในการแต่งงานของผู้หญิงข้างต้นมิได้เป็นเรื่องรักโรแมนติก (romantic) (David Graeber, 2019)
ด้วยเหตุดังนี้ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างโจรสลัดกับชาวพื้นเมืองในมาดากัสการ์มิได้ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดชายเป็นใหญ่เหมือนคำอธิบายจากตะวันตก หากแต่ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับบทบาทและวัฒนธรรมของผู้หญิงในการออกแบบสังคมร่วมด้วย (David Graeber, 2019)
ควรกล่าวด้วยว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มองโจรสลัดอย่างโลกสวย (romantic) แต่เป็นหนังสือที่มุ่งชี้ภาพประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 - ต้นศตวรรษที่ 18 ณ ประเทศมาดากัสการ์ ที่โจรสลัดได้ลงหลักปักฐานในพื้นที่แห่งนี้ โดยมีการนำแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญามาใช้เป็นกติกาการอยู่ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดแนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาโดยคนที่พูดภาษามาดากัสการ์ (David Graeber, 2019)
ทั้งนี้ การศึกษาที่มุ่งวิพากษ์ Eurocentrism/Western-centrism เช่นนี้ มิได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธคุณูปการที่เกิดขึ้นจากความเป็นสมัยใหม่ของตะวันตก ทว่าเราก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ยุโรป-ตะวันตก ได้มีส่วนสร้างความวิปลาสต่อสังคมภายใต้ข้ออ้างเรื่องความเป็นสมัยใหม่ (วิจิตรดารา, 2566) เหตุดังนี้ การวิพากษ์แนวคิดการเอายุโรปเป็นศูนย์กลางจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาสังคมให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
3. บทสรุป
หนังสือ Pirate Enlightenment, or the Real Libertalia ได้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญามิได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศยุโรปอย่างที่เข้าใจกัน เนื่องจากผู้คนได้มีการผลักดันหลักการประชาธิปไตยและอิสรภาพในพื้นที่นอกยุโรป ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงสร้างทางการเมืองของโจรสลัดในมาดากัสการ์ ทั้งบนเรือและบนบก ซึ่งเป็นการนำหลักการประชาธิปไตยมาใช้ในกำหนดแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม
การแสวงหาฉันทามติและการปกครองตนเองในภาวะไร้รัฐเช่นนี้ โดยเนื้อแท้แล้วคือประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตยแบบผู้แทนเสียอีก ในแง่นี้ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่แนบแน่นในชุมชนมนุษย์มาตั้งแต่ยุคบุพกาล หาใช่สิ่งพิเศษเฉพาะในประวัติศาสตร์หรือในภูมิภาคแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น (ภัควดี วีระภาสพงษ์, 2563)
ในแง่นี้ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม แม้จะมีความพยายามถอดถอนอาณานิคม (decolonization) ในช่วงทศวรรษที่ 20 แต่พลังของระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม(coloniality of power) ได้สถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและหลบซ่อนอย่างแนบเนียน เช่น การให้สิทธิพิเศษแก่องค์ความรู้บางอย่างและกีดกันองค์ความรู้อื่น รวมไปถึงอำนาจของอาณานิคมและระเบียบนานาชาติของมหาอำนาจตะวันตก (ระเบียบโลกเสรี) เป็นอำนาจที่ตอกย้ำถึงความรู้ที่เป็นสากล (universal) ที่ผลิตโดยคนคริสต์ยุโรปผิวขาว และตอกย้ำถึง ‘ความเหนือกว่าของคนผิวขาว’ โดยมองว่าคนผิวขาวเท่านั้นที่จะมี‘rationality’ ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องความสูงส่งของเชื้อชาติและสีผิว (race) (Valentin Clave-Mercier and Marie With, 2024; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2567, หน้า [14-15])
หนังสือเล่มนี้จึงชวนถกเถียงถึงมรดกของอาณานิคมในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ความรู้ในสังคมเกิดความหลากหลายและงอกงาม ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง บทความนี้จึงขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวของเดวิด เกรเบอร์ที่ว่า “ประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ไม่เพียงแต่บิดเบือนและเอายุโรปเป็นศูนย์กลางอย่างล้นเกินเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเบื่อโดยใช่เหตุอีกด้วย” เพราะประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงนั้น สนุกสนานมากกว่านั้นพันเท่า (David Graeber, 2019, p.10)
“I hope the reader has as much fun as I did”
David Graeber
เอกสารอ้างอิง
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2567). ว่าด้วยการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (On Decolonaility). กรุงเทพฯ; สมมติ.
ภัควดี วีระภาสพงษ์. (2563). เดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย ผู้เชื่อมั่นในความเป็นไปอื่น ๆ. สืบค้น 2 กันยายน 2567 สืบค้นจาก https://www.the101.world/david-graeber/
วิจิตรดารา. (2566). Decoloniality ปลดแอกการเป็นเมืองขึ้นทางความคิด: สภาวะอาณานิคม การสังหารญาณวิทยา และความสัมพันธ์ต่อ Postcolonialism. สืบค้น 2 กันยายน 2567 สืบค้นจาก https://www.facebook.com/share/p/4jBZFJM96byor7LY/
Graeber, D. (2019). Pirate Enlightenment, or the real Libertalia. Farrar, Straus and Giroux.
Clavé-Mercier, V., & Wuth, M. (2024). Decolonising Political Concepts. Taylor & Francis.
ผู้เขียน
อาทิตย์ ภูบุญคง
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ พหุทัศน์ แนวคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา นอกยุโรป ปริทัศน์ หนังสือ Pirate Enlightenment or the Real Libertalia เดวิด เกรเบอร์ อาทิตย์ ภูบุญคง