ซอมบี้ศึกษาในมิติสังคมวัฒนธรรม (Zombie Studies in Sociocultural Contexts)

 |  อคติทางวัฒนธรรม และความรุนแรง
ผู้เข้าชม : 4852

ซอมบี้ศึกษาในมิติสังคมวัฒนธรรม (Zombie Studies in Sociocultural Contexts)

 

การสถาปนาคำว่า Zombie

           ในภาษาอังกฤษ คำว่า “Zombi” ถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1819 โดยนักเขียนชาวอังกฤษที่ชื่อ Robert Southey ในพจนานุกรม Oxford English Dictionary อธิบายว่ารากศัพท์ของคำนี้มาจากคำว่า nzambi ซึ่งหมายถึง “เทพเจ้า” ในความเชื่อของคนพื้นเมืองในเขตแอฟริกาตะวันตก นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่าคำว่า Zombie อาจมีรากมาจากคำว่า mvumbi ซึ่งชาวคองโกใช้เรียกผีและวิญญาณของคนตาย และคำว่า nvumbi หมายถึงร่างที่ไร้วิญญาณ (Laws, 2018) หนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่พูดถึงความเชื่อเกี่ยวกับ Zombie และลัทธิ Voodoo คือ The Magic Island (1929) เขียนโดยนักเดินทางชาวอเมริกันชื่อ William Seabrook ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของชาวตะวันตกที่ได้พบเจอกับลัทธิ Voodoo ในประเทศเฮติ

           อย่างไรก็ตาม คำว่า Zombie ถูกทำให้แพร่หลายโดยผู้ชมภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวอเมริกัน George A. Romero ซึ่งสร้างภาพยนตร์เรื่อง Night of the Living Dead ในปี ค.ศ. 1968 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายเรื่อง I Am Legend ที่เขียนในปี ค.ศ. 1954 โดย Richard Matheson หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายทั่วสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ผู้ชมภาพยนตร์ต่างเรียกศพที่เดินได้ว่า Zombie นับแต่นั้นความเข้าใจและการรับรู้ความหมายเกี่ยวกับซอมบี้จะเป็นสิ่งเดียวกับคนตายที่ฟื้นคืนชีพหรือเป็นผีดิบที่ดุร้ายน่ากลัว

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Night of the Living Dead

ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Night_of_the_Living_Dead

 

Zombie กับลัทธิ Voodoo

           ในวัฒนธรรมของคนผิวดำในประเทศเฮติ ซึ่งเชื่อในเวทมนต์คาถาและลัทธิ Voodoo ลัทธินี้ก่อตัวในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมของชาวแอฟริกันตะวันตกเข้ากับความเชื่อแบบคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิก (Apter, 2002; Blier, 1995; Desmangles, 1992) หลักสำคัญของความเชื่อในลัทธิ Voodoo คือการรับใช้วิญญาณที่มีนามว่าไอวา ซึ่งเป็นวิญญาณของเทพเจ้าที่นับถือกันแพร่หลายในเขตแอฟริกาตะวันตก เทพเจ้าไอวาเป็นนักบุญที่คอยรับใช้พระเจ้าที่ยิ่งใหญ่นามว่า Bondyé รวมทั้งจะทำหน้าที่ช่วยพาวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ ชาวเฮติจะมีพิธีกรรมบูชานักบุญไอวาในโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ เครื่องเซ่นสังเวยได้แก่ผลไม้และสัตว์ที่ถูกฆ่า เครื่องเซ่นนี้ยังถวายให้กับวิญญาณของผู้ล่วงลับ สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมคือการตีกลอง การร้องเพลง และเต้นรำ เพื่อเป็นการเชิญวิญญาณของนักบุญไอวาเข้ามาสิงร่างของมนุษย์ เมื่อนักบุญไอวาเข้าสิงร่างแล้วจะมีการให้คำทำนายและชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับมนุษย์ ในช่วงที่ชาวเฮติต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพจากการปกครองของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1791 ถึง ค.ศ. 1804 ชาว เฮติที่เชื่อในลัทธิ Voodoo คือกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก

           ในคติความเชื่อของคนผิวดำในเฮติ คนตายที่ถูกปลุกให้มีชีวิตโดยเวทมนต์คาถาของหมอผี (bokor) จะรู้จักในนาม Zombie หมอผีคือผู้ที่สามารถควบคุมคนตายให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ตามความต้องการ Zombie จึงเปรียบเสมือนผู้รับใช้และบริวารของหมอผี นอกจากนั้นชาวเฮติยังเชื่อในวิญญาณที่สิงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนซึ่งถูกเรียกว่า zombie astral เมื่อหมอผีใช้คาถาเรียกวิญญาณเหล่านี้ วิญญาณดังกล่าวก็จะถูกควบคุมและช่วยเสริมพลังให้กับหมอผีมากขึ้น หมอผีจึงเป็นผู้มีพลังอำนาจที่แข็งแกร่ง ชาวเฮติที่ประสบปัญหาและต้องการให้หมอผีช่วย หมอผีก็จะเรียกวิญญาณที่อยู่ในการควบคุมให้ไปช่วยคนที่เดือดร้อน โดยแลกกับเงินและสินทรัพย์บางอย่าง (McAlister, 1995)

           ในความคิดของชาวตะวันตก ศาสนาและความเชื่อของชาวเฮติถูกอธิบายเป็นความป่าเถื่อน ไม่ต่างกับคนป่าที่โหดเหี้ยม ที่เลวร้ายกว่านั้นคือมองว่าชาวเฮติเป็น “มนุษย์กินคน” (cannibal) (Laguerre, 1989) ในปี ค.ศ. 1685 กษัตริย์ฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีนโยบายห้ามมิให้ชาวเฮติประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในลัทธิ Voodoo และให้เจ้านายผิวขาวนำทาสในปกครองของตนมาเข้าพิธีเปลี่ยนศาสนาให้เป็นคริสเตียน แต่ในทางปฏิบัติเจ้านายและข้าราชาการชาวฝรั่งเศสไม่สนใจและเพิกเฉยต่อการทำให้ทาสกลายเป็นชาวคริสต์ เนื่องจากเห็นว่าทาสไม่เข้ามาทำพิธีกรรมในโบสถ์ร่วมกับคนผิวขาว และไม่ต้องการให้ทาสมาชุมนุมกันจำนวนมาก นโยบายดังกล่าวจึงล้มเหลว ชาวเฮติยังคงนับถือและประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของพวกเขาในพื้นที่ลับๆ ในช่วงเวลาค่ำคืนเพื่อมิให้คนผิวขาวพบเห็นและเข้ามาขัดขวาง (Desmangles, 1990) ลัทธิ Voodoo จึงแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเฮติ และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการกดขี่ข่มเหงของคนผิวขาวที่กระทำต่อพวกเขา (McAlister, 2017)

           ในช่วงสมัยของประธานาธิบดี François Duvalier ซึ่งปกครองเฮติระหว่างปี ค.ศ. 1957-1971 ถือเป็นยุครุ่งเรืองของลัทธิ Voodoo เนื่องจากประธานาธิบดีเชื่อว่าอัตลักษณ์และเอกภาพของชาวเฮติเกิดจาก ลัทธิ Voodoo ในท้องถิ่นต่างๆ จึงมีการสร้างเครือข่ายของลัทธิ Voodoo จำนวนมาก ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เมื่อชาวเฮติอพยพเพื่อหนีภัยทางการเมืองเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา ความเชื่อในลัทธิ Voodoo ก็ได้รับความสนใจและถูกนำไปปฏิบัติในกลุ่มชาวแอฟริกันอเมริกันโดยเฉพาะในเมืองนิว ออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียน่า (Long, 2002)

 

ซอมบี้กับลัทธิอาณานิคม

           การทำความเข้าใจซอมบี้ผ่านสื่อภาพยนตร์ ช่วยให้เห็นจินตนาการทางสังคมที่ซอมบี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางสังคม เช่น การศึกษาของ McAlister (2017) พบว่าเรื่องราวของซอมบี้ในภาพยนตร์สะท้อนตัวละคร “อสูรกาย” ในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับลัทธิอาณานิคมในประเทศเฮติ ความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนต์คาถาของชาวเฮติขัดแย้งกับความรู้วิทยาศาสตร์ของชาวตะวันตก ความสัมพันธ์ที่คนผิวขาวมีต่อคนพื้นเมืองในเฮติดำรงอยู่ภายใต้ระบบการค้าทาสและการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยชาวฝรั่งเศสได้นำแรงงานทาสจากแอฟริกามาทำงานในไร่อ้อยและกาแฟในเฮติตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ความสัมพันธ์นี้แบ่งแยกช่วงชั้นระหว่างคนผิวขาวที่มีฐานะเหนือกว่ากับทาสชาวผิวดำที่มีฐานะต่ำกว่า ชาวเฮติจึงอยู่ในสภาพเสียเปรียบและพยายามต่อสู้ขัดขืนเพื่อที่จะให้ตนเองได้รับอิสรภาพ บ่อยครั้งจึงเกิดการประท้วงและการจราจล ประกอบกับความลี้ลับทางศาสนาของคนพื้นเมือง ยิ่งทำให้คนผิวขาวระแวงสงสัยและหวาดกลัวชาวเฮติที่อาจลุกขึ้นมาใช้กำลังและเข่นฆ่าคนผิวขาวได้ตลอดเวลา สภาวะดังกล่าวถูกผู้สร้างภาพยนตร์ชาวตะวันตกนำไปสร้างจินตนาการเกี่ยวกับศพที่ถูกทำให้มีชีวิตใหม่โดยเวทมนต์ของชาวเฮติ

           McAlister (2017) วิเคราะห์ว่าภาพยนตร์ซอมบี้ที่แพร่หลายในสังคมตะวันตกคือสัญลักษณ์ของการเชิดชูคนผิวขาวและวิธีการที่คนผิวขาวกำลังใช้ความตายเป็นสินค้าเพื่อความบันเทิง เรื่องราวของซอมบี้ยังสะท้อนให้เห็นการต่อสู้กันระหว่างชีวิตกับความตาย การกดขี่ข่มเหงและการเป็นอิสระ การแบ่งแยกเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ รวมถึงความพยายามที่จะธำรงรักษาร่างกายและตัวตนให้คงสภาพเดิมเอาไว้ เรื่องราวเหล่านี้คือโลกทัศน์แบบตะวันตกที่ความรู้วิทยาศาสตร์แยกขาดจากความรู้ไสยศาสตร์

           การศึกษาของ Hoermann (2015, 2016) อธิบายว่าชาวเฮติถูกปกครองโดยชาวฝรั่งเศสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่ชาวเฮติลุกขึ้นต่อสู้เพื่อทวงคืนอิสรภาพโดยใช้เวลาต่อสู้ยาวนาน 12 ปี ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1791-1804 ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะและถือเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการค้าทาส (Nesbitt, 2008) ชัยชนะของชาวเฮติถือเป็นความกล้าหาญและทำให้เกิดการทบทวนว่าคนพื้นเมืองผิวดำมิใช่ผู้ที่อ่อนแอและไร้สติปัญญา สิ่งนี้ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของชาวตะวันตกที่มักเชื่อว่าเผ่าพันธุ์ของตนเองยิ่งใหญ่และฉลาดที่สุด (Fisher, 2004; Singham, 1994) การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวเฮติให้เป็นอิสระจากอำนาจของคนผิวขาวถูกมองในฐานะเป็นความน่ากลัวสยดสยอง ในช่วงปฏิวัติ นักบวช ผู้สอนศาสนาและมิชชันนารีในศาสนาคริสต์ถูกสังหารโดยชาวเฮติจำนวนมาก โบสถ์คริสต์หลายแห่งถูกทิ้งร้างทำให้ชาวเฮติเข้าไปใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีตามความเชื่อในลัทธิ Voodoo เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสหวาดผวาและมองชาวเฮติเป็นปีศาจและอสูรกายที่โหดเหี้ยม (Nesbitt, 2013)

           ต่อมาในทศวรรษ 1910-1930 ชาวเฮติก็ถูกปกครองโดยชาวอเมริกันอีกครั้ง และเป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวเฮติถูกให้ความหมายเป็นความน่ากลัวที่ดำรงอยู่ในจินตนาการเกี่ยวกับเวทมนต์คาถาที่ปลุกคนตายให้ฟื้นขึ้นมากลายเป็นซอมบี้ ความหมายนี้ผูกโยงอยู่กับอำนาจของชาวอเมริกันที่ผลิตซ้ำวาทกรรมเกี่ยวกับความดุร้ายน่ากลัวของชาวเฮติ วาทกรรมนี้มีอิทธิพลมากและแพร่หลายไปในสื่อภาพยนตร์ (Dash, 1997) จะเห็นได้ว่า ซอมบี้หรือคนตายที่ฟื้นคืนชีพคือผลผลิตทางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยจินตนาการของคนผิวขาวที่มองคนผิวดำเป็นคนป่าเถื่อนและเหี้ยมโหด รวมถึงการดูหมิ่นศาสนาและความเชื่อของคนผิวดำว่าเป็นความไร้เหตุผล

 

ซอมบี้ในมิติสังคม

           Dayan (1995) อธิบายว่า ความหมายของ Zombie อาจสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตที่หดหู่และไร้ศักดิ์ศรีของทาสชาวเฮติที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนผิวขาว ภาพลักษณ์ของซอมบี้ที่ถูกแสดงออกด้วยร่างกายของศพที่น่าสยดสยองซึ่งพบเห็นในสื่อกระแสหลัก อาจบ่งชี้ถึงสภาพตัวตนของทาสชาวผิวดำที่แปลกแยกและเป็นชายขอบทางสังคม ร่างของซอมบี้ที่น่าเกลียดน่ากลัวไม่ต่างจากร่างของทาสผิวดำที่ดูสกปรกในสายตาของชาวตะวันตก การทำให้ซอมบี้เป็นความน่ากลัวก็เหมือนการตีตราและตอกย้ำมายาคติที่ทำให้คนผิวดำเป็นคนน่ารังเกียจและไร้ศักดิ์ศรี ในประวัติศาสตร์ของการค้าทาส สะท้อนให้เห็นว่าร่างของคนผิวดำดำรงอยู่ในฐานะเป็นแรงงานที่คอยรับใช้คนผิวขาว เป็นร่างที่ไร้อิสรภาพ ต้องถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน ภาพลักษณ์นี้ถูกจำลองให้อยู่ในร่างของซอมบี้ซึ่งเป็นร่างที่ไร้วิญญาณแต่เดินไปมาราวกับมีชีวิต ไม่ต่างจากทาสชาวผิวดำที่มีชีวิตแต่ไร้อิสรภาพ

           ซอมบี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นจิตวิญญาณและอิสระ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน Alfred Métraux (1972) วิเคราะห์ว่าซอมบี้ในวัฒนธรรมเฮติ คือกระจกสะท้อนชีวิตที่ยากลำบากของทาสผิวดำที่ต้องทำงานหนักในไร่เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางการค้าในระบบทุนนิยมของชาวตะวันตก โดยที่คนผิวดำเหล่านั้นไม่เคยมีชีวิตที่สุขสบาย การค้าทาสและใช้แรงงานคนผิวดำในอุตสหกรรมเกษตรจึงเปรียบเสมือนกระบวนการทำให้มนุษย์กลายเป็นซอมบี้ (zombification) ในแง่นี้ การค้าทาสกับการเป็นซอมบี้จึงเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวคือชีวิตแรงงานผิวดำและซอมบี้ต่างสูญเสียความเป็นมนุษย์ ถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่ไร้วิญญาณ (Laroche, 1976)

           ในหนังสือของ Vastey (2014) อธิบายว่าในช่วงที่ชาวฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเฮติ ผู้หญิงที่เป็นแรงงานทาสจะถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากติดเชื้อกามโรคและล้มป่วย สภาพชีวิตดังกล่าวคล้ายกับคนที่ตายทั้งเป็น ผู้หญิงบางคนได้รับความทุกข์และบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ ชีวิตของแรงงานทาสหญิงที่เผชิญกับความรุนแรงทางเพศดังกล่าวนี้อาจเหมือนกับสภาพของซอมบี้ อาจกล่าวได้ว่านอกจากการค้าทาสจะเป็นการใช้แรงงานผิวดำแล้ว ยังเป็นการสร้างความรุนแรงทางเพศด้วย ในแง่นี้การค้าทาสจึงเป็นภาพสะท้อนของระบอบที่โหดเหี้ยมและน่าสะพรึงกลัว (James, 2001) นอกจากนั้น ในเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพของคนผิวดำในปี ค.ศ. 1804 ภายใต้การนำของ Jean-Jacques Dessalines ซึ่งเป็นคนผิวดำ พบว่าชาวฝรั่งเศสและลูกครึ่งผิวดำที่มีเชื้อสายชาวฝรั่งเศส (mulatto) ถูกสังหารหมู่จำนวนมาก (Girard, 2011) นักวิชาการ เช่น Nicholas A. Robins and Adam Jones (2009) วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์นี้คือการแก้แค้นของคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง หมายถึงทาสผิวดำจะไม่ยอมทนต่อการถูกคนผิวขาวย่ำยีและเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป บุคคลสำคัญที่อยู่ในการสังหารหมู่ครั้งนี้คือ Jean Zombi ซึ่งเป็นลูกครึ่งชาวผิวดำกับชาวฝรั่งเศสออกมาฆ่าคนผิวขาวด้วยกริชอย่างเหี้ยมโหด เรื่องราวของเขาถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของซอมบี้ที่น่ากลัวและดุร้าย รวมถึงถูกยกย่องในสังคมเฮติว่าเป็นเหมือนเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ (Dayan, 1995)

           อย่างไรก็ตาม การอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับ slave/zombie ที่เปรียบเทียบแรงงานทาสเป็นซอมบี้ถูกโต้แย้งว่า คนผิวดำที่เป็นแรงงานมิได้สูญเสียจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ แต่พวกเขายังมีแรงปรารถนาและความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด (Davis, 2010) สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับซอมบี้ Seabrook (1929) ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมของเฮติก่อตัวขึ้นภายใต้ระบอบทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบที่ชาวตะวันตกเอามาบงการ Lauro (2015) วิเคราะห์ว่าการแสวงหาประโยชน์ของนายทุนอเมริกัน ทำให้เกิดการสร้างมายาคติเกี่ยวกับซอมบี้ที่คนผิวดำถูกตีตราว่าน่ากลัว เบื้องหลังของซอมบี้ที่น่าสยดสยองก็คือระบอบที่เอารัดเอาเปรียบของทุนนิยมโลก Glover (2010) อธิบายการศึกษาสังคมเฮติด้วยทฤษฎีมาร์กซิสม์นำไปสู่การมองเห็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับแรงงานและเปรียบเทียบให้เห็นว่าแรงงานผิวดำมีความทุกข์ ขมขื่น และแปลกแยก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของซอมบี้ที่ต้องการกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

เอกสารอ้างอิง

Apter, A. (2002). On African Origins: Creolization and Connaissance in Haitian Vodou. American Ethnologist, 29(2), 233–260.

Blier, S. P. (1995). Vodun: West African Roots of Vodou". In Donald J., Cosentino (Ed.). Sacred Arts of Haitian Vodou. (pp. 61–87). Los Angeles: UCLA Fowler Museum of Cultural History.

Dash, M. J. (1997). Haiti and the United States: National Stereotypes and the Literary Imagination. New York: Palgrave Macmillan.

Davis, A. Y. (2010). Lectures on Liberation. In Angela Davis, (Ed.), Narrative of the Life of Frederick Douglass, an American Slave, Written by Himself, (pp.40–84). San Francisco: City Light Books.

Dayan, J. (1995). Haiti, History, and the Gods. Berkeley: University of California Press.

Desmangles, L. G. (1990.The Maroon Republics and Religious Diversity in Colonial Haiti. Anthropos, 85 (4/6), 475–482.

Desmangles, L. G. (1992). The Faces of the Gods: Vodou and Roman Catholicism in Haiti. Chapel Hill: University of North Carolina Press.

Fischer, S. (2004). Modernity Disavowed: Haiti and the Cultures of Slavery in the Age of Revolution. Durham, NC: Duke University Press.

Girard, P. R. (2011). The Slaves Who Defeated Napoleon: Toussaint Louverture and the Haitian War of Independence 1801–1804. Tuscaloosa, Alabama: The University of Alabama Press.

Glover, K. L. (2010). Haiti Unbound: A Spiralist Challenge to the Postcolonial Canon. Liverpool: Liverpool University Press.

Hoermann, R. (2015). ‘A Very Hell of Horrors’? The Haitian Revolution and the Early Transatlantic Haitian Gothic. Slavery & Abolition, 37(1), 183-205.

Hoermann, R. (2016) Figures of terror: The “zombie” and the Haitian Revolution. Atlantic Studies, 14(2), 1-22.

James, C. L. R. (2001). The Black Jacobins: Toussaint L’Ouverture and the San Domingo Revolution [1938]. London: Penguin.

Laguerre, M. S. (1989). Voodoo and Politics in Haiti. New York: St. Martin’s.

Laroche, M. (1976). The Myth of the Zombi. In Rowland Smith, (ed.), Exile and Tradition: Studies in African and Caribbean Literature, (pp.44–61). New York: African.

Lauro, S. J. (2015). The Transatlantic Zombie: Slavery, Rebellion, and Living Death. New Brunswick, NJ: Rutgers University Press.

Laws, P. (2018). The Frighteners: Why We Love Monsters, Ghosts, Death & Gore. London: Icon Books.

Long, C. M. (2002). Perceptions of New Orleans Voodoo: Sin, Fraud, Entertainment, and Religion. Nova Religio: The Journal of Alternative and Emergent Religions, 6 (1), 86–101.

McAlister, E. (1995). A Sorcerer's Bottle: The Visual Art of Magic in Haiti. In D. J. Cosentino, (ed.). Sacred Arts of Haitian Vodou. (pp. 304–321). Los Angeles, California: UCLA Fowler Museum of Cultural History.

McAlister, E. (2017). Slaves, Cannibals, and Infected Hyper-Whites: The Race and Religion of Zombies. In S.J. Lauro, (ed.), Zombie Theory: A Reader. (pp.63-84). Minneapolis: University of Minnesota Press.

Métraux, A. (1972). Voodoo in Haiti. Translated by Hugo Charteris. New York: Schocken Books.

Nesbitt, N. (2008). Universal Emancipation: The Haitian Revolution and the Radical Enlightenment. Charlottesville: University of Virginia Press.

Nesbitt, N. (2013). Haiti, the Monstrous Anomaly. In Millery Polyné, (Ed.), The Idea of Haiti: Rethinking Crisis and Development, (pp.3–26). Minneapolis: University of Minnesota Press.

Robins, N. A. & Jones, A. (eds). (2009.Genocides by the Oppressed: Subaltern Genocide in Theory and Practice. Indiana University Press.

Seabrook, W. B. (1929). The Magic Island. London: Harrap.

Singham, S. M. (1994). Betwixt Cattle and Men: Jews, Blacks, and Women, and the Declaration of the Rights of Man. In Dale K. van Kley, (Ed.), The French Idea of Freedom. The Old Regime and the Declaration of Rights of 1789, (pp.114–153). Stanford, CA: Stanford University Press.

Vastey, Baron de. (2014). The Colonial System Unveiled. Translated by Chris Bongie. Liverpool: Liverpool University Press.

 


 

ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

กราฟิก

กนกเรขา นิลนนท์

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

 


 

ป้ายกำกับ Zombie ซอมบี้ ซอมบี้ศึกษา สังคมศึกษา มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ Sociocultural Zombie Studies Contexts นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา