อาวุธปืน: วัฒนธรรมและวิกฤติความปลอดภัย

 |  อคติทางวัฒนธรรม และความรุนแรง
ผู้เข้าชม : 1106

อาวุธปืน: วัฒนธรรมและวิกฤติความปลอดภัย

วัฒนธรรมอาวุธปืน

           วัฒนธรรมอาวุธปืนในปัจจุบันมีรากฐานมาจากสหรัฐอเมริกา (Winkler, 2011) โดยปืนจัดเป็นอาวุธที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และสังคมของประเทศดังกล่าวนี้ ดังที่ Cramer (2006) ชี้ว่าการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องปกติในสังคม เพราะวัฒนธรรมการใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวถูกพัฒนาขึ้นเป็น "วัฒนธรรมพลเมือง" ในสหรัฐอเมริกา การเติบโตของวัฒนธรรมปืนในสังคมปัจจุบันพัฒนาไปสู่นโยบายการป้องกันตัวด้วยอาวุธในหลายมลรัฐ ดังจะเห็นได้ว่า แม้การครอบครองอาวุธปืนจะมีหลายเหตุผล แต่เหตุผลหลักที่คนส่วนใหญ่ระบุคือเพื่อการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่เป็นเจ้าของปืนหน้าใหม่ (Pew Research Center, 2013) อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ทำให้การครอบครองอาวุธปืนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น Cukier & Sheptycki (2012) ชี้ให้เห็นว่าการครอบครองปืนกลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันและสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับความเป็นชายและความรุนแรง

           Latour (1999) อธิบายว่าการเข้าถึงอาวุธปืนทำให้ “คนดี” กลายเป็นฆาตกรที่มีศักยภาพได้ เช่นเดียวกับ Springwood (2007) ที่กล่าวว่า ปืนไม่ได้ฆ่าคน แต่คนต่างหากที่ฆ่าคน (ด้วยอาวุธปืน) ปืนเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่ใช้กลายเป็นผู้ก่อเหตุ และผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักเป็น "ผู้ชาย" วัฒนธรรมปืนในตัวเองจึงเชื่อมโยงกับความเป็นชายและในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในสังคม Gartner ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กผู้ชายมักจะถูกปลูกฝังในเรื่องของการเป็นผู้นำ ความเป็นใหญ่ และการปกครองดูแลคนที่อ่อนแอกว่า บรรทัดฐานวัฒนธรรมเหล่านี้กลายเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงในปัจจุบัน โดยที่อาวุธปืนก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความรุนแรงนี้ อาวุธปืนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดวัฏจักรของวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง ความกลัว และการติดอาวุธ แม้ว่าจะมีปัจจัยมากมายที่ส่งเสริม วัฏจักรของวัฒนธรรมนี้ แต่ “วัฒนธรรมการใช้อาวุธปืน” และ “วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง” มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น และอาจเป็นเรื่องที่ยากในการควบคุมสถานการณ์นี้ให้กลับสู่สภาวะปกติที่ปราศจากความรุนแรง (Myrttinen, 2003)


ชีวิตทางสังคมของปืน

           ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาด้านอาชญากรรมและความรุนแรงต่างให้ความสนใจประเด็นความรุนแรงและอาชญากรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการศึกษาและนำเสนอปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านแง่มุมชาติพันธุ์วรรณนาของอาวุธ ที่ถูกมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญของการนำมาซึ่งความรุนแรงและอาชญากรรมที่ร้ายแรง โดยอาวุธที่ถูกพบมากที่สุดนั้นคือ “ปืน” การศึกษาวัฒนธรรมอาวุธปืนจำเป็นต้องมองในมิติต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ กฎหมาย และสังคม การทำความเข้าใจเชิงลึกจะช่วยให้เห็นภาพรวมที่ซับซ้อนเกี่ยวกับผลกระทบของวัฒนธรรมอาวุธปืนในบริบทต่าง ๆ เพราะอาวุธปืนไม่ได้เป็นแค่วัตถุที่ใช้ในด้านการป้องกันตัวเท่านั้น แต่ยังสร้างประกอบสร้างและส่งเสริมบทบาททางสังคมให้กับคนบางกลุ่ม อาทิ บทบาทของตำรวจและทหารในการรักษาความสงบเรียบร้อย อาวุธปืนในมือของทหารและตำรวจกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถช่วยอธิบายความรู้สึกปลอดภัยในหมู่ประชาชน (Mencken & Froese, 2017) ในขณะที่หากอาวุธปืนอยู่ในมือของโจรและผู้ก่อการร้าย ปืนอาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย

           ความสามารถในการสร้างความรู้สึกถึงอำนาจในหมู่คนที่อยู่รอบข้าง ทำให้ผู้ที่ถือปืนสามารถบงการผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย (Wright & Decker, 1997) ปืนจึงถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในการสร้างหรือทำลายความสัมพันธ์ทางสังคม David Yamane (2017) เสนอว่า ในปัจจุบันคนทั่วไปในสหรัฐฯ สามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางกายภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น สถานที่ปิดหรือเปิด ก็มีผลต่อการใช้ปืน Gibson (1979) กล่าวว่า สภาพแวดล้อมมีบทบาทในการจำกัดหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้อาวุธปืน ปืนจึงเป็นวัตถุที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางสังคมได้ ในบางประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง การใช้อาวุธปืนกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้และยึดอำนาจในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่าง "มนุษย์ กับ ปืน" จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

           วัตถุปืนนั้นมี “ลักษณะทางวัตถุที่ไม่สามารถแยกออกจากมนุษย์และสภาพแวดล้อมได้” ปืนไม่ได้ถูกกล่าวว่าเป็นสิ่งเร้าต่อมนุษย์ที่เป็นกลาง หากแต่ปืนมีความสามารถแฝงนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของตนเอง คือ “การสร้างความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของมนุษย์ ผู้คน และอุดมการณ์” ทางสังคม (Overton, 2016) ชีวิตทางสังคมของปืนจึงอาจเปรียบเสมือนผู้ชี้นำผู้ที่ใช้และผู้ที่ครอบครอง “ไปสู่สถานการณ์ของการกระทำและปฏิกิริยาที่อาจไม่สามารถจินตนาการได้” วัตถุปืนสามารถกระตุ้นให้ใช้ในพฤติกรรมและมีอิทธิพลทางจิตวิญญาณในสภาพแวดล้อมทางสังคม รวมถึงมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (Hodder, 2012 ) นอกจากนี้คุณสมบัติแฝงของปืนสามารถทำให้เกิดผัสสะและสภาวะการควบคุมสังคมโดยรอบอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง กล่าวคือ ผัสสะของปืนนั้นเป็นสิ่งที่ที่มนุษย์จับต้องได้ อาทิ เสียงที่ปืนส่งออกมา สร้างปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลันแก่มนุษย์โดยรอบ ความรู้สึกถึงอำนาจของผู้ที่ครอบครองปืน ตลอดจนสร้างภาพลวงตาของความตายที่ใกล้เข้ามาและอยู่ใกล้ตัวของผู้ที่ตกอยู่ภายใต้กระบอกปืน ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อยินยอมเชื่อฟังได้อย่างรวดเร็ว (Wright & Decker, 1997)


ปืนกับสภาวะความไม่มั่นคง

           อาวุธปืนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความไม่มั่นคงในสังคมหลายประการ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการใช้อาวุธปืนอย่างแพร่หลาย เหตุการณ์ความรุนแรง เช่น การสังหารหมู่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมและความรู้สึกไม่ปลอดภัย (Han & Antrosio, 2018)การวิจัยโดย Cook and Ludwig (2000) ระบุว่า การครอบครองอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นในสังคมปัจจุบันนำไปสู่ความไม่มั่นคงในสถานที่สาธารณะ สังคมเข้าสู่ความรู้สึกของการไร้เสถียรภาพ โดยความรุนแรงจากปืนทำให้ความรู้สึกของการปลอดภัยในสังคมลดลง ซึ่งอาจทำให้การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมลดลงด้วยเช่นกัน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ งานเทศกาลต่าง ๆ ที่อาจทำให้รู้สึกเสี่ยง นอกจากนี้การที่เกิดหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ประชาชนลดความเชื่อมั่นในความสามารถของตำรวจหรือหน่วยงานรัฐบาลในการรักษาความปลอดภัย

           Dugan et al. (1999) กล่าวว่าการมีอาวุธปืนในครัวเรือนเพิ่มความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัว ทำให้สถาบันครอบครัวและสังคมขาดความมั่นคง ในขณะที่ Hemenway & Miller (2000) พบว่าการครอบครองอาวุธปืนในพื้นที่ชุมชนส่งผลให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกิดความวิตกกังวล เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการใช้อาวุธปืน เหยื่อและพยานเหตุการณ์ความรุนแรงจากปืนอาจประสบปัญหาทางจิตใจในระยะยาว ในเชิงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Cook & Ludwig (2000) รายงานว่าการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอาวุธปืนก่อให้เกิดภาระทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับงานศึกษาในปีต่อมา Ludwig (2001) เสนอว่า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมถึงการเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล การสูญเสียผลผลิตแรงงาน และค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย จากเหตุการณ์อาชญากรรมและความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอาวุธปืน ล้วนเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศโดยรวม


สรุป

           ปืนเป็นอาวุธที่มีบทบาทซับซ้อนในสังคม เป็นทั้งสัญลักษณ์ของเสรีภาพและความรุนแรง การทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมของอาวุธปืนจำเป็นต้องใช้มุมมองที่หลากหลาย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อาวุธปืน และสังคมมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง เนื่องด้วยวัตถุไม่สามารถใช้ชีวิตและตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่ชีวิตของวัตถุถูกขับเคลื่อนด้วยมนุษย์และเชื่อโยงสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เกิดเป็นผลผลิตร่วมจากการกระทำมนุษย์ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากปืนจึงไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรม


รายการอ้างอิง

Cook, P. J., and Ludwig, J. (2000). Gun Violence: The Real Costs. Oxford University Press

Cramer, C. E. (2006). Armed America: The remarkable story of how and why guns became as American as apple pie.Nashville, TN: Nelson Current.

Cukier, W., & Sheptycki, J. (2012). Globalization of gun culture transnational reflections on pistolization and masculinity, flows and resistance. Theoretical Criminology, 16(1), 3-19.

David Yamane. (2017). The sociology of U.S. gun culture. Retrieved form  https://compass.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/soc4.12497

Dugan, L., Nagin, D. S., & Rosenfeld, R. (1999). Exposure Reduction or Risk Compensation? The Effects of Gun Ownership on Crime. American Sociological Review, 64(3), 316-326.

Gartner, R. (2000). The role of male gender socialization in violence and aggression. Journal of Men’s Studies, 8(1), 55-68.

Gibson J. (1979). The Ecological Approach to Visual Perception. Boston, MA: Houghton- Mifflin.

Ian Hodder. (2012). Entangled: An Archaeology of the Relationship between Human

Beings and Things. (second edition). Chichester: Wiley-Blackwell.

Latour, B. (1999). Pandora's Hope: Essays on the Reality of Science Studies. Harvard University Press.

Ludwig, J., & Cook, P. J. (2001). The Benefits of Reducing Gun Violence: Evidence from Contingent-Valuation Survey Data. Journal of Risk and Uncertainty, 22(3), 207-226.

Mencken, F. C., & Froese, P. (2017). The influence of gun culture on violence: Evidence from the United States. Journal of Sociology and Social Policy, 45(2), 112-130.

Myrttinen, H. (2003). Men, militaries and violence: An overview. Publisher.

Overton I. (2016). The Way of the Gun: A Bloody Journey into the World of Firearms. New York: Harper.

Pew Research Center (2013). Why own a gun? Protection is now top reason. Retrieved form. http://www.people-press.org/2013/03/12/why-own-a-gun-protection-is-now-top-reason/

Springwood, C. (2007). The power of form: Guns as cultural objects and their social impact. Sociology of Culture Review, 18(2), 123-137.

Winkler, A. (2011). Gunfight: The battle over the right to bear arms in America. New York: Norton.

Wright R & Dekker S. (1997b). Creating the illusion of impending death: Armed robbers in action. HFG Review of Research, 2(1): 10–18.


ผู้เขียน
ภานรินทร์ แสงศรี น้ำเพชร
นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม
ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ อาวุธปืน วัฒนธรรม วิกฤติ ความปลอดภัย ภานรินทร์ แสงศรี น้ำเพชร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา