Dealing in Desire: Asian Ascendancy, Western Decline, and the Hidden Currencies of Global Sex Work (2015) ของ Kimbery Kay Hoang
หนังสือ Dealing in Desire: Asian Ascendancy, Western Decline, and the Hidden Currencies of Global Sex โดย ดร. คิมเบอรี เคย์ ฮวง
Dealing in Desire: Asian Ascendancy, Western Decline, and the Hidden Currencies of Global Sex Work (Hoang 2015) เป็นผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร. คิมเบอรี เคย์ ฮวง ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา และพัฒนาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง New Economies of Sex and Intimacy in Vietnam (Hoang 2011) วิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมจากสมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน ค.ศ. 2012(Winner of the 2012 American Sociological Association Best Dissertation Award)(American Sociological Association n.d.)
Dealing in Desire นำผู้อ่านไปทำความรู้จักกับโลกอีกใบหนึ่งของอุตสาหกรรมทางเพศในเวียดนาม และนำเสนอภาพอันสลับซับซ้อนของความเป็นชายและความเป็นหญิง เศรษฐกิจในระดับมหภาคและจุลภาค ความเป็นผู้กระทำการและโครงสร้าง ความเกี่ยวพันทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในกระแสโลกาภิวัตน์และความเป็นไปของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็น “การเดินทางในภูมิศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายและรุ่มรวยในอุตสาหกรรมเพศของเวียดนาม” (Hoang 2015, 3)หนังสือเผยให้เห็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชายกับหญิงในการค้าประเวณีที่เปิดทางให้เขาและเธอมุ่งมาดสู่ “ความหวัง ความฝัน และความปรารถนา” (Hoang 2015, 14)
ฮวงไม่เพียงศึกษาวัฒนธรรมของหญิงและชายในบาร์กลางคืน แต่เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมนั้นกับเศรษฐศาสตร์การเมืองในโลกาภิวัตน์ เพศ เพศสภาพ เชื้อชาติ และร่างกาย ด้วยการทำงานชาติพันธุ์วรรณนาในภาคสนามเป็นระยะๆ ระหว่าง ค.ศ. 2006-2010 ในช่วงที่เธอเขียนวิทยานิพนธ์ และการกลับไปภาคสนามอีกครั้ง เมื่อ ค.ศ. 2012 ในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการเขียนหนังสือเล่มนี้ เธอคัดเลือกบาร์กลางคืน 4 แห่งที่มีกลุ่มลูกค้าต่างประเภท (niche markets) เพื่ออธิบายให้เห็นความเป็นชายและความเป็นหญิงที่ก่อตัวจากภูมิหลังและเงื่อนไขที่แตกต่างกันทางสังคมและเศรษฐกิจ
ข้อมูลต่างๆ นั้นมาจากการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ทั้งหญิงค้าประเวณี ลูกค้าชายที่ใช้บริการในและนอกบาร์ “แม่เล้า” (mommies) และเจ้าของกิจการ เธอกล่าวถึงขั้นตอน กลวิธี การต่อรองเพื่อเข้าสู่สนามของการศึกษา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งปรากฏในเนื้อหาเป็นระยะ ในภาคผนวก เธอเรียบเรียงความคิดที่สะท้อนสิ่งต่างๆ ระหว่างการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ (Hoang 2015, chap. Appendix) เพื่อชี้ให้เห็นจุดแข็งและความท้าทายในการเข้าสู่วงการบาร์กลาง การสร้างความไว้วางใจ และการปฏิบัติในฐานะนักสังคมศาสตร์ที่มุ่งหมายในการทำความเข้าใจประสบการณ์จากชีวิตของผู้อื่น
“Sex Work in HCMC, 1876-Present” เป็นปฐมบทที่กล่าวถึงบริบททางประวัติศาสตร์การค้าประเวณีในเวียดนาม ตั้งแต่ ค.ศ. 1876 ถึง ค.ศ. 2012 ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษนั้นกอปรด้วยจุดเปลี่ยนสำคัญ 5 ช่วงเวลาด้วยกัน ตั้งแต่ ค.ศ. 1876 ถึง ค.ศ. 1954 อาณานิคมฝรั่งเศสเป็นฟันเฟืองหลักให้เมืองอย่างไซง่อน (ในปัจจุบัน โฮจิมิมินห์) นั้นขยายตัว และการค้าประเวณีผุดเกิดสนองต่อความต้องการของผู้ชายเจ้าอาณานิคม (Hoang 2015, 27–29) จากนั้น อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ระหว่าง ค.ศ. 1962 กับ ค.ศ. 1975 ส่งผลให้เมืองกลายเป็นพื้นที่สำหรับ “การพักผ่อนและสันทนาการ” (Rest and Recreation: R&R) ให้กับกองกำลังอเมริกันในเวียดนามใต้ ซึ่งนำมาสู่ความเฟื่องฟูของการค้าประเวณี (Hoang 2015, 29–31) การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จาก ค.ศ. 1975 ถึง ค.ศ. 1986 พยายาม “ฟื้นฟูเหล่าพี่น้องสตรีผู้พลาดพลั้ง (Fallen Sisters) ของจักรวรรดินิยม” ด้วยการทลายอุตสาหกรรมค้าประเวณี เพื่อปกป้องสตรีและแสดงออกถึงสงครามเชิงสัญลักษณ์ในการต่อกรกับตะวันตก (Hoang 2015, 31–32)
ภายหลังสงครามเย็นรัฐบาลเวียดนามประกาศนโยบายโด๋ยโม้ย (Doi Moi) ค.ศ. 1986 เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายใน ทั้งนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกและ “เหวียตเกี่ยว” (Viet Kieu) หรือชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่/มีถิ่นฐานนอกประเทศ นำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศในภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการซื้อ “บริการทางเพศ” เพื่อการผ่อนคลาย (Hoang 2015, 32–34) จาก ค.ศ. 2006 เวียดนามเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก (WTO) เม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (foreign direct investment: FDI) หลั่งไหลเข้าสู่เวียดนาม คู่ค้าทางธุรกิจหลายชาติในเอเชียและนักธุรกิจชั้นนำชาวเวียดนามต่างใช้บาร์แบบ “ไฮ-เอ็น” (hi-end niche) เป็นสถานที่ในการตกลงทางธุรกิจ (Hoang 2015, 37) ส่วนนักธุรกิจชาติตะวันตกที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ค.ศ. 2008 จำนวนไม่น้อยตบเท้าเข้าสู่เวียดนามเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ในขณะเดียวกัน นักเดินทางชาติตะวันตก “ชั้นประหยัด” (budget travelers) เข้ามาท่องเที่ยว ทั้งสองกลายเป็นลูกค้าในบาร์ระดับกลางและระดับล่าง บาร์ในแต่ละประเภทกลายเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเงินตราในระดับโลก (global exchange of money) ก็ว่าได้
ในบท “Contemporary Sex Industry” และ “New Hierarchies of Global Men” ฮวงจึงแจกแจงให้ผู้อ่านเห็นภาพของ “บาร์ในสี่ลักษณะที่ความสัมพันธ์ทางเพศสภาพ (gendered relations) ผันแปรตามเชื้อชาติและชนชั้นของลูกค้า ที่มุ่งมาดปรารถนาในการตอกย้ำความเหนือกว่าของชาติตะวันตก หรือการฉายฉานความรุ่งเรืองทุนเศรษฐกิจเอเชีย” (Hoang 2015, 39) ในบาร์แบบ “ไฮ-เอ็น” นักธุรกิจท้องถิ่นและนักการเมืองชั้นนำชาวเวียดนามแสดงถึง “ความเป็นชายสุดโต่ง” (hyper-masculinity) ด้วยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แสนแพง และอยู่ท่ามกลางสาวน้อยที่มีภาพลักษณ์ทันสมัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับตัวแทนคู่ค้านักธุรกิจต่างชาติที่จะลงทุนในโครงการที่มีมูลค่ามหาศาล ในทำนองเดียวกัน เหวียตเกี่ยวเป็นลูกค้าชั้นดีในบาร์แบบดังกล่าว เพื่อรับบริการชั้นเลิศจาก “แดนดินบรรพชน” (ancestral home) (Hoang 2015, 44) ชายเหวียตเกี่ยวเหล่านี้ใช้สอยอย่างฟุ้งเฟ้อในบาร์จำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สาวน้อยต่างเอาอกเอาใจเสมือนหนึ่งได้ใกล้ชิดกับสตรีแบบ “ดั้งเดิม” ของเวียดนาม
ในบาร์สำหรับคนต่างแดนชาติตะวันตก คนต่างชาติกลุ่มนี้ใช้บาร์เป็นเสมือนบ้านในแดนไกล พวกเขามักมองหาหญิงที่สานสัมพันธ์ในระยะยาวและ “ลงทุน” (Hoang 2015, 96) โอกาสทางเศรษฐกิจให้กับสาวน้อยหรือครอบครัวของเธอ ชายเหล่านี้มองหาหญิงแบบ “authentic” หรือเวียดนามแท้ (Hoang 2015, 147) นั่นหมายถึงหญิงเวียดนามที่มีผิวเข้ม และดูบริสุทธิ์ไร้การศัลยกรรมเพื่อความงาม พวกเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าได้ “โอบอุ้ม” คนยากในโลกที่สามจากความจน ส่วนบาร์สำหรับนักท่องเที่ยวชั้นประหยัด ชายชาติตะวันตกต้องการแสดงถึงความเหนือกว่า และมองหญิงเวียดนามด้วยสายตาแบบ “แปลกถิ่น” ที่มีคุณค่าในแบบฉบับของตนเอง ความสัมพันธ์ของชายและหญิงเช่นนี้ดำเนินไปบนการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตรากับประเวณี หรือความสัมพันธ์ในระยะสั้น (Hoang 2015, 99)
บทวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์เพศภาวะในบริบทบาร์ที่แตกต่างกัน ปรากฏใน “Constructing Desirable Bodies” ฮวงกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และร่างกายของหญิงบริการที่แตกต่างกัน ในบาร์สำหรับ “ไฮ-เอ็น” หญิงบริการผ่านการศัลยกรรมเสริมความงามเพื่อให้ใกล้เคียงกับความสวยแบบเอเชีย ภาพความงามของผู้หญิงนั้นสอดคล้องกับความคาดหวังของชนชั้นนำเวียดนามและนักธุรกิจในกระแสโลก ส่วนในบาร์สำหรับเหวียตเกี่ยว หญิงบริการพยายามแสดงท่าทีด้วยความอ่อนน้อมและอ่อนหวาน ที่ชื่นชมกับความเป็นชายที่ประสบความสำเร็จ ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ของหญิงชาวเหวียตเกี่ยวที่ไม่ดูแลรูปร่าง หรือหญิงตะวันตกที่มีภาพลักษณ์ของความแข็งกร้าวในสายตาของชายเหวียตเกี่ยวเหล่านั้น
ส่วนหญิงบริการในบาร์สำหรับนักธุรกิจชาติตะวันตกหรือนักเดินทางชั้นประหยัด พวกเธอต้องแสดงภาพลักษณ์ของหญิงบ้านนอกพลัดถิ่นที่ดูยากจน เพื่อชายเหล่านั้นเมตตาและมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตคนยากในโลกที่สาม ภาพลักษณ์ของเพศภาวะล้วนปรากฏให้เห็นผ่านร่างกายของหญิงบริการ บ้างต้องผ่านการศัลยกรรมร่างกาย จมูกที่โด่งหรือหน้าอกที่เอิบอิ่ม บ้างจะต้องทำให้ผิวของเธอนั้นขาวนวล หรือในทางตรงข้าม เธอจะต้องทำให้ผิวสีของตนนั้นเข้มขึ้น และอีกไม่น้อยที่จะต้องรักษาทรวดทรงและระมัดระวังการรับประทาน เพื่อจำกัดไม่ให้ร่างกายเกินเลยมาตรฐานของความผอมเพรียว ฮวงวิเคราะห์ให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความพันเกี่ยว (intertwined) ของความเป็นชาย ความเป็นหญิง ภาพลักษณ์เพศภาวะ กับกระแสทางเศรษฐกิจในระดับโลก เรียกได้ว่ากำลังเงินนั้นเชื่อมโยงกับจินตภาพ (imaginaries) และผันแปรตามสภาพการณ์ที่แตกต่างกันของสถานบริการทั้งสี่ลักษณะ
อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามปลายเปิดอีกจำนวนหนึ่งจากข้อวิเคราะห์ของฮวงที่ชวนให้พิจารณา ดังเช่น ออติซ (Ortiz 2017, 682) ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจถึงตราบาปที่สังคมประทับให้กับหญิงบริการ ซึ่งฮวงกล่าวถึงในหลายตอน ในทางหนึ่ง ฮวงให้คำอธิบายถึงตราบาปจากมุมมองของหญิงบริการ พวกเธอเลือกปรับแปรชุดศีลธรรมที่ตีตราพวกเธอนั้น ด้วยการใช้เงินจากการทำมาหากินในเมืองในการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว และสร้างหรือต่อเติมบ้านของพ่อแม่ในชนบท เพื่อให้เพื่อนบ้านนั้นยอมรับและสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง ในอีกทางหนึ่ง ฮวงสะท้อนถึงมุมมองเชิงศีลธรรมที่ผนวกกับชาตินิยม ตามสายตาของลูกค้าหรือเจ้าของบาร์ในระดับไฮ-เอ็น พวกเขาใช้หญิงบริการเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุข้อตกลงทางเศรษฐกิจและดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ
“ไม่มีใครหรอกที่อยากจะค้าประเวณี [ของตน] เพื่อพัฒนาประเทศ แต่เรามีทางเลือกมากนักหรือ? เราเองให้เงินกำนัลกับพวกเธอ เพราะต้องการให้พวกเธอรู้ถึงคุณค่าของตน พวกเธอล้วนเสียสละเพื่อครอบครัวและเพื่อพวกเรา”
(Hoang 2015, 84,169)
ฮวงจึงชี้ให้เห็นเพียงภาพในเชิงบวกของการค้าประเวณีจากมุมมองของหญิงบริการ หรือจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากพวกเธอ ในทัศนะของออติช ผู้คนในโลกบาร์กลางคืนเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในกระแสเงินตราและช่วงชั้นทางสังคมในระดับที่กว้าง ข้อวิเคราะห์ของฮวงที่ชี้ให้เห็นความพันเกี่ยวระหว่างเงินตรา เพศภาวะ กับอัตลักษณ์ที่ก่อตัวขึ้นนั้น จึงจำเพาะในโลกของบาร์กลางคืนเพียงเท่านั้น
ไวต์เซอร์ (Weitzer 2017, 315) ชี้ให้เห็นถึงความคลุมเครือในวิธีวิทยาของการวิจัย ไวต์เซอร์ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกบาร์ทั้งสี่แห่งที่เป็นสนามศึกษาของฮวง บาร์ทั้งสี่แห่งนั้นสามารถเป็นตัวแทนของบาร์ทั้งหมดในนครโฮจิมินห์ได้จริงหรือไม่ การเลือกนั้นยังคงเป็นข้อกังขา นอกจากนี้ ในหลายบทตอนของหนังสือ ฮวงใช้การอ้างอิงบทสนทนา คำพูดจากบทสนทนาเหล่านั้นนำกลับมาอ้างอิงอย่างไรอย่างแม่นยำ ฮวงไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจนถึงคำยินยอมจากผู้ให้สัมภาษณ์ได้มาด้วยวิธีการใด หรือการสัมภาษณ์นั้นได้รับการบันทึกและวิเคราะห์เช่นใด อนึ่ง ฮวงชี้ให้เห็นความแตกต่างของบาร์ในแต่ละแห่งอย่างชัดเจน แต่บาร์นั้นๆ กลับถูกนำเสนอแบบใดแบบหนึ่งอย่างหมดจด เป็นไปได้หรือในตลอดระยะเวลาในการทำงานภาคสนามจะไม่ปรากฏความแตกต่างเกิดขึ้นแต่อย่างใด
ในภาพรวมแล้ว หนังสือ Dealing in Desire ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหล่าผู้หญิงในอุตสาหกรรมทางเพศที่ฮวงศึกษาไม่ใช่เหยื่อของการค้ามนุษย์ หากแต่เป็นคนทำงานในเพศพาณิชย์ พวกเธอเป็น “ผู้เล่น” ในสนาม พวกเธอรู้กติกาและเลือกกลยุทธ์ในการเดินหมากของตนเอง เนื้อหาภายในหนังสือร้อยเรียงด้วยโครงสร้างที่เข้าใจได้ง่าย ในแต่ละบท มีส่วนสรุปท้ายที่ช่วยขมวดความเข้าใจให้กับผู้อ่าน และส่งบทต่อไปยังบทต่อไป วัตคินส์ (Watkins 2017, 339) กล่าวถึงฮวงในฐานะของช่างศิลป์ชั้นเยี่ยมที่ร้อยเรียงบทชาติพันธุ์วรรณา ฮวงฉายภาพอุตสาหกรรมค้าประเวณีในเวียดนามที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ และในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ. 2008 ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตของหญิงค้าบริการและชายผู้เป็นลูกค้า เรื่องราวในหนังสือชวนให้ผู้อ่านได้มองเห็นความเป็นไปของสีสันในโลกชีวิตกลางคืน ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกอีกหลายใบ ที่ดำเนินไปและมีพลวัตอย่างไม่หยุดยั้งในกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกไร้พรมแดนใบนี้
บรรณานุกรม
American Sociological Association. n.d. “Dissertation Award.” American Sociological Association. n.d. https://www.asanet.org/about/awards/dissertation-award.
Hoang, Kimberly Kay. 2011. “New Economies of Sex and Intimacy in Vietnam.” PhD Dissertation, Berkeley:University of California, Berkeley.
———. 2015. Dealing in Desire: Asian Ascendancy, Western Decline, and the Hidden Currencies of Global Sex Work. Oakland, California: University of California Press.
Ortiz, Horacio. 2017. “The Co-Constitution of Money, Gender, National and Cultural Identities, and Global Elits.” Socio-Economic Review 15 (3): 679–83. https://doi.org/10.1093/ser/mwx024.
Watkins, Lara L. 2017. “Book Review: Dealing in Desire: Asian Ascendancy, Western Decline, and the Hidden Currencies of Global Sex Work.” Journal of International Women’s Studies 18 (4): 339–42.
Weitzer, Ronald. 2017. “Book Review: Dealing in Desire: Asian Ascendancy, Western Decline, and the Hidden Currencies of Global Sex Work, by Kimberly Kay Hoang. Berkeley: University of California Press, 2015. 229 Pp. $29.95 Paper. ISBN: 978052 0275577.” Contemporary Sociology 46 (3): 314–16.
ผู้เขียน
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
ป้ายกำกับ สุภาษิตสอนหญิง การต่อรอง เวียดนาม Kimbery Kay Hoang ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ