เรื่องสั้น “ทางเลือก”
“มะเงยระอาว!” ฉันได้ยินคำทักทายที่คุ้นเคย หลังจากที่ฉันจากบ้านหลังนี้ไปเกือบ 10 ปี คนที่ทักฉันไม่ใช่ใครอื่นไกล คุณป้าโมโม ณ ช่วงเวลานี้มันทำให้ฉันนึกถึงช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550
“รสชาติแห่งความพลัดพราก”
หลังจากไปร่วมงานวันชาติมอญ (Mon National Day) ที่เกาะคะมาง รัฐมอญ ได้ไม่กี่วัน “ย่าถูกยิง” ฉันแทบไม่อยากเชื่อว่าจะได้ยินข้อความแบบนี้ พ่อแม่เดินทางจากเมืองไทยเพื่อกลับมาจัดงานศพให้กับย่า โดยที่ฉันไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกอย่างไร เศร้า! งง! สงสัย! รู้สึกไม่ปลอดภัย! มันเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ งานศพย่าถูกจัดอย่างเรียบง่าย แต่ก็เต็มไปด้วยผู้คนในหมู่บ้าน อาจด้วยเพราะย่าเป็นคนใจดี และเป็นที่รักของทุกคน แต่.... “เกิดอะไรขึ้น ทำไมย่าถูกยิง?”
“เร็วเข้าลูกเราต้องออกเดินทางแต่เช้านะ” เราสี่คนเดินมายังรถกระบะที่จอดรอหน้าหมู่บ้าน ฉันเห็นคนที่อยู่บนรถอีก 4 – 5 คน หลังจากงานศพย่าไม่ถึง 1 สัปดาห์ฉันต้องวุ่นวายกับการเก็บข้าวของพ่อแม่บอกเพียงแต่ “หนู 2 คนต้องไปเมืองไทย ไปอยู่กับพ่อแม่นะ ไม่มีย่าแล้ว พวกหนูอยู่ที่ไม่ได้” ฉันคิดถึงย่า คิดถึงบ้านไม้ 2 ชั้นที่เคยอยู่มาตั้งแต่จำความได้ ฉันและอองเรียงพี่สาวฝาแฝด เราผูกพันกับย่าและบ้านหลังนี้มาก ฉันไม่เคยคิดว่าการพลัดพรากมันทรมานอย่างนี้มาก่อนเลย แต่...ใจหนึ่งฉันก็แวบคิดว่าการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูกคงมีความสุขไม่น้อย
10 กว่าชั่วโมงกับการเดินทางที่น่าตื่นเต้น ทั้งต้องผ่านทิวป่า วิ่งบนภูเขาที่รถไม่น่าจะสวนกันได้ บางช่วงของการเดินทางฉันมองไปข้างทางมันคือหน้าผา สิ่งที่ฉันคิดคือ “ให้เดินฉันยังกลัวเลย” แต่ก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก แต่พอพ้นช่วงนั้นฉันถามอองเรียง “เธอก็กลัวเหมือนฉันเช่นกัน” ช่วงเวลาของการเดินทาง มีบางช่วงที่ฉันรู้สึกมหัศจรรย์ใจคือ ช่วงที่ต้องนำรถแล่นลงบนแพขนาดใหญ่เพื่อข้ามแม่น้ำ บ้านฉันก็อยู่ติดแม่น้ำ แต่ฉันไม่เคยเห็นการเดินทางแบบนี้มาก่อนเลย
เราออกเดินทางแต่เช้ามืด พักกินข้าวเที่ยงเมื่อมาถึงเส้นทางปกติ หลังจากกินข้าวเรียบร้อย พวกเราเดินทางกันต่อ เส้นทางเริ่มค่อย ๆ สบายขึ้น เป็นถนนเรียบ ๆ และใหญ่ รถวิ่งสวนกันได้สบาย ไม่มีป่า เริ่มมีบ้านคน แต่ฉันก็ไม่ได้สังเกตอะไรมากมาย เนื่องด้วยแดดช่วงบ่ายมันช่างทรมานจนฉันขอที่จะอยู่ใต้ผ้าขนหนูที่แม่ให้ไว้ “คลุมหัว” จะดีกว่า
รถมาจอดอีกครั้ง แต่สถานที่ดูมีผู้คนมากมาย ฉันมองตรงออกไปไกล ๆ เหมือนมีสะพานที่รถบรรทุกจอดเรียงราย ฉันเห็นผู้คนที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนถือเอกสารในมือ รวมถึงพ่อและแม่ของเรา ฉันและอองเรียงเดินตามพ่อและแม่เข้าไปในห้องห้องหนึ่ง พ่อให้เราทั้งสองนั่งรอกับแม่ แล้วพ่อก็เดินนำเอกสารไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่นั่งตรงช่องด้านหน้า สักประมาณ 5 นาที ฉันได้ยินและจับใจความได้เพียงว่า “เกิดที่เมืองไทย ก็ง่ายหน่อย...” พ่อก็พาฉันและทุกคนเดินข้ามสะพานจนถึงอีกฝั่ง มีรถกระบะอีกคันมาจอดรอแล้วนำพวกเรามาที่บ้านใครสักคน ที่พ่อและแม่น่าจะคุ้นเคย ฉันรู้แต่ว่า “ฉันกับอองเรียงต้องอยู่ที่นี่ 3 – 4 วัน โดยไม่มีพ่อกับแม่”
สิ่งที่ฉันกับอองเรียงทำได้โดยไม่ต้องนัดหมายคือ ขยับเข้ามากอดแม่ “ทำไม ทำไม ทำไม” ฉันคิดได้แค่นี้ “ลูกต้องทำตามที่พ่อบอกนะ แล้วเราจะได้อยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ” ฉันเข้าใจแค่นี้ หลังจากนั้นโสตประสาทฉันรับรู้แต่เสียงร้องไห้ของตัวเอง คืนนั้นเป็นคืนแรกในชีวิตที่มีความคิด “ไม่รักพ่อ ไม่เข้าใจพ่อจริง ๆ” ฉันพยายามไม่ฟัง ไม่ฟัง และไม่อยากฟังเหตุผลต่าง ๆ นานาที่แม่กับพ่อพยายามที่จะบอก ฉันสงสารตัวเอง แต่ก็สงสารแม่มากกว่า น้ำตาของฉันหรือของแม่ที่มากกว่ากัน? และแล้วฉันกับอองเรียงก็เผลอหลับไปด้วยความเหนื่อยล้าในอ้อมกอดของแม่ คืนแรกในเมืองไทยฉันก็ต้องหลับพร้อมคราบน้ำตา
...ฉันกลับมาสนใจผู้มีพระคุณที่อยู่ตรงหน้า...
“หนูกำลังจะกลับมาอยู่บ้านค่ะ จะกลับมาทำร้านอาหารที่บ้านเรา” ฉันบอกเล่าถึงความตั้งใจ “นี่ป้าไม่ได้เจอหนูไม่ถึง 10 ปี จะเป็นนักธุรกิจแล้ว ป้าดีใจด้วยนะ รวย ๆ เฮง ๆ นะลูก” ฉันได้แต่ยิ้มและคิดว่านี่คือคำอวยพรจากผู้มีพระคุณ “เดือนหน้าป้าจะไปทำงานที่ออสเตรเลีย” ฉันรู้สึกแปลกใจ คนอย่างป้าโมโม ที่ย้ายไปอยู่เมืองไทยกว่า 20 ปีมีครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา ทำไมถึงตัดสินใจไปออสเตรเลีย ฉันเก็บความสงสัยนั้นไว้ให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมส่งยิ้มให้กับ “ผู้มีพระคุณคนแรกในเมืองไทย”
ต้นเดือนมีนาคม 2550
“นี่หรือคือเมืองไทย”
3 – 4 วันที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ฉันยังไม่คลายความคิดถึงย่าและบ้านไม้ 2 ชั้น ที่จากมา ฉันยังคงฝันเห็นย่าเกือบทุกวัน ฉันยังต้องคิดถึงพ่อกับแม่ และมีความหวาดกลัวว่าฉันจะได้เจอกันอีกเมื่อไหร่ “หนูคิดถึงแม่ หนูอยากเจอแม่แล้ว” ฉันกับอองเรียงส่งเสียงไปปลายทางได้แค่นี้ เสียงร้องไห้จากปลายสายก็ดังจนฉันฟังอะไรไม่รู้เรื่อง ฉันยังจำวันที่พ่อกับแม่ต้องจำใจพรากจากกันได้
เช้าวันนั้น ฟ้ายังไม่สว่าง อองเรียงปลุกฉันให้ดูพ่อกับแม่ที่เริ่มเตรียมตัวออกเดินทาง ฉันกับอองเรียงเริ่มทำตัวไม่ถูกว่าจะต้องทำอะไรในช่วงเวลานี้ แม่เดินเข้ามากอดฉันและอองเรียง พร้อมส่งสายตาที่แสดงถึงความรักและเป็นห่วงเราทั้งสองที่ดูพิเศษกว่าทุกครั้ง “ถ้าหนูเดินทาง หนูต้องเป็นเด็กดี เชื่อฟังป้าโมโมนะลูก แม่รักหนูสองคนมาก แต่...แม่ไม่มีทางเลือกจริง ๆ”
“ป้าโมโม” ดูแลเราสองพี่น้องตามอัตภาพ และแล้ววันเดินทางก็มาถึง เช้าวันนั้นหลังจากกินขนมจีนแกงหยวก(กล้วย) อาหารที่คุ้นเคย เราก็เริ่มออกเดินทางด้วยรถกระบะ ครั้งนี้ฉันกับอองเรียงไม่ต้องนั่งร้อนที่กระบะหลัง เราได้นั่งตากแอร์เย็นฉ่ำ ระหว่างทางป้ามีคำสั่งที่ฉันจำขึ้นใจ “การเดินทางครั้งนี้ ถ้ามีคนมาตรวจหรือถามอะไร พวกหนูก็ทำเป็นง่วง หรือหลับไปเลยนะลูก ระยะทางอีกยาวไกล” ความตื่นเต้นจากการเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ผสานกับความสงสัยว่าทำไมป้าถึงพูดแบบนี้ แต่ฉันและอองเรียงเลือกที่จะไม่ถาม และพร้อมที่จะทำตามโดยดี
เส้นทางที่รถของลุงแล่นผ่านหมู่บ้านสลับกับป่า ดูจะไม่ค่อยต่างจากเส้นทางที่เมืองมอญ “มันไม่เหมือนที่ฉันเคยเห็นในทีวี” มันดูไกลแสนไกล ทำไมไม่ถึงสักที แต่ฉันไม่ได้รู้สึกกลัวเท่ากับเส้นทางที่เมืองมอญ หลังจากเราแวะกินข้าวเที่ยงที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง อาหารที่นี่ดูแปลกตา ฉันเลือกที่จะกินไข่เจียว ส่วนป้าให้ฉันและอองเรียงลองชิมอาหารในจานของป้า รสชาติช่างไม่คุ้นเคยเสียเลย รู้แต่ว่าป้าเรียกมันว่า ผัดกะเพรา เราเริ่มเดินทางอีกครั้ง เวลาผ่านมาไม่นาน มันเป็นอย่างที่ป้าบอกจริง ๆ มีกลุ่มชายในเครื่องแบบโบกให้รถเราหยุด เราสองคนมองหน้าพยักหน้าแทบจะพร้อมกัน เหมือนนัดหมายว่าจะเล่นไปตามแผนที่ถูกกำชับไว้ “ไปไหนกันมาครับ” ลุงไม่ตอบอะไรมาก “คุยกับผู้กองสุธีแล้วครับ” ชายในเครื่องแบบคนหนึ่งดูเอกสารที่ลุงส่งให้ มันคือเอกสาร “หัวครุฑ” ของฉันกับอองเรียงพร้อมกับซองขาว 1 ซอง เวลาในการดูเอกสารและเปิดซองไม่เกิน 1 นาที “พูดไทยได้มั้ยล่ะ” ฉันไม่กล้าตอบอะไรได้แต่พยักหน้าเพื่อให้รู้ว่าฉันเข้าใจสิ่งที่เค้าถาม แต่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เราเริ่มเดินทางกันต่อ แต่ฉันอยากสารภาพว่า ฉันไม่ได้หลับตา ฉันมองลุง ป้า อองเรียง และชายในเครื่องแบบสลับกันไปมา
(22.00 น.) รถของลุงแล่นมาจอด ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ฉันยังงัวเงีย “ตื่นได้แล้ว ถึงบ้านแล้วลูก” ฉันกุลีกุจอมองออกไปนอกรถ สิ่งที่เราเห็นมันคือห้องที่เรียงกันเป็นแถว ห้องที่สร้างด้วยสังกะสี เมื่อสายตาฉันเริ่มจับโฟกัสได้ ฉันเห็นพ่อกับแม่รออยู่ที่หน้าบ้าน ฉันรีบเรียกอองเรียง พร้อมลงจากรถวิ่งไปกอดพ่อกับแม่ที่ยืนน้ำตาที่อาบเต็มทั้งสองแก้ม เราสี่คนกอดกันและมีความรู้สึกรักมากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน
...เมื่อฉันมีสติกลับมาอีกครั้ง...
ฉันเดินเข้ามาในบ้านตึกที่ถูกสร้างขึ้นแทนบ้านของย่า บ้านหลังนี้สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของพ่อและแม่ บ้านตึก 3 ชั้น มี 3 ห้องนอนสำหรับพ่อแม่ ฉัน และอองเรียงพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง ซึ่งต่างจาก “บ้าน” หลังแรกในเมืองไทยของฉัน ที่มันยังติดตาฉันอยู่ ห้องสังกะสีเรียงติด ๆ กัน ทุกห้องมี 1 ประตู และ 1 ช่องหน้าต่าง มันแคบจนคิดไม่ออกว่าจะบรรจุเราทั้ง 4 คนไว้ด้วยกันได้อย่างไร ในช่วงกลางวันที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ฉันอยู่ในห้องนั้นกับอองเรียงกันสองคน “เราต้องอยู่ที่นี่กันจริง ๆ หรอ” “แล้วเราจะได้เรียนหนังสือมั้ย” “เราจะช่วยพ่อแม่ทำงานกันอย่างไร” หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้น
พฤษภาคม 2550
“เริ่มต้นใหม่ ในระบบ”
ฉันอาศัยอยู่ในห้องสังกะสีนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ พ่อกับแม่พาฉันและอองเรียงนั่งรถสีเขียวเหลืองไปวัดแห่งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ทุกคนได้แต่งตัวด้วยชุดมอญ มันทำให้ฉันคลายความคิดถึงบรรยากาศบ้านไม้ 2 ชั้น พวกเรามาถึงวัด มันยิ่งทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันอยู่บ้านที่เมืองมอญจริง ๆ เสื้อผ้า ภาษา และอาหารที่คุ้นเคย ฉันได้พบเห็นทุกอย่าง รวมทั้งคนที่ฉันรู้จัก และเคยพบที่หมู่บ้าน สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่เดียวที่ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่สุด ตั้งแต่เข้ามาอยู่เมืองไทย
หลังจากวันนั้น เพียงไม่กี่วัน แม่ ฉันและอองเรียงต้องเก็บเสื้อผ้าแล้วย้ายมาอยู่ห้องเช่าแคบ ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดนี้เท่าไหร่ ห้องนี้เป็นห้องปูนอยู่ชั้น 2 มีห้องน้ำอยู่ภายในห้องดูสะดวกสบายและเป็นสัดส่วนมีพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งต่างจากห้องสังกะสีอย่างมาก แม่ให้ฉันและอองเรียงเรียนภาษาไทยซึ่งมีการเรียนการสอนภายในวัด ซึ่งเราจะได้เรียนร่วมกับเด็กมอญคนอื่น ๆ แต่ที่เห็นหน้ากันเป็นประจำคือแก๊งเด็กวัด 4 – 5 คน
เกือบ 3 เดือนที่ฉันและอองเรียงเข้ามาเรียนอ่านเขียนภาษาไทย มีทั้งครูที่เป็นพระ ครูที่เป็นคนมอญ และครูที่เป็นคนไทย สลับกันเข้ามาสอน ในช่วงแรก ๆ แม่จะมานั่งรอฉันและอองเรียง แต่พอผ่านไปสัก 4 – 5 วัน แม่ก็จะมาส่งและปล่อยให้เราทั้งสองอยู่ด้วยกัน ส่วนแม่จะกลับไปเย็บผ้าและตัดชุดมอญที่มีคนมาจ้างให้แม่ตัดเย็บให้ แม่ไม่ได้ทำงานก่อสร้างกับพ่อแล้ว เพราะแม่อยากให้ฉันและอองเรียงได้เรียนหนังสือ และไม่ต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ ตามไซต์ก่อสร้างของพ่อ
“หนูชื่ออะไรกันจ๊ะ” หญิงวัยกลางคนแต่งกายภูมิฐานถามฉันและน้อง “หนูชื่ออองเรียง และน้องชื่อสะเจียงค่ะ” อองเรียงใช้สิทธิ์ความเป็นพี่และคงอยากเรียนเต็มที่จึงชิงตอบก่อน “เด็กสองคนนี้เพิ่งเข้ามาเมืองไทย ย่าที่พม่าเพิ่งเสีย ไม่มีญาติเลี้ยง เลยต้องตามพ่อแม่เข้ามาเมืองไทย อาตมาจะขอฝากครูใหญ่ด้วยนะ” “มีใบเกิดและหลวงพ่อมารับรองแบบนี้ไม่มีปัญหาค่ะ ...เด็ก ๆ อายุเท่าไหร่และอ่านเขียนภาษาไทยได้บ้างมั้ยเจ้าคะ” “10 ขวบแล้วคุณโยม จะให้เข้ากศน. อายุก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ เลยต้องรบกวนคุณโยม แต่ไม่ต้องห่วงนะ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา แม่เค้าก็มาฝากให้หัดเรียนอ่านเขียนเรียนภาษาไทยอยู่ที่วัด ก็พออ่านออกเขียนได้” ฉันมองแม่ที่นั่งเกือบนิ่ง ๆ ไม่มีเสียงอะไรเล็ดลอดออกมา แต่ฉันก็สังเกตเห็นสีหน้าและแววตาที่ซ่อนไปด้วยความหวัง ส่วนอองเรียงดูจะมีสีหน้าและแววตาที่ซ่อนไปด้วยความหวังมากกว่าฉันเสียอีกที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องเรียนมากนัก แต่กลับรู้สึกตื่นเต้นกับบรรยากาศใหม่ที่กำลังเผชิญอยู่
วันเปิดเทอมวันแรกช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2550 อองเรียงดูจะตื่นเต้นกว่าฉัน เธอปลุกฉันตั้งแต่ตี 5 อาบน้ำ แต่งตัว เพื่อไปโรงเรียนครั้งแรกในเมืองไทย ฉันก็เริ่มตื่นเต้นเมื่อต้องแต่งชุดนักเรียนแล้วจริง ๆ เสื้อคอบัวสีขาว ปักชื่อตัวเอง กระโปรงจีบรอบตัวสีน้ำเงิน ถุงเท้าขาว รองเท้าสีดำ พ่อกับแม่ไปส่งฉันกับอองเรียงที่โรงเรียน มันต้องเป็นวันพิเศษมาก ๆ เพราะพ่อยอมที่จะขาดงานเพื่อมาส่งฉันกับอองเรียง
เดือนพฤษภาคม 2556
“วิชาชีวิต”
ฉันและอองเรียงได้ใส่ยูนิฟอร์มแบบใหม่ เป็นชุดนักศึกษาโดยทั่วไป เราทั้งสองตัดสินใจเลือกเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยการเรียน กศน. เพราะจะใช้เวลาเรียน 4 ปีเท่านั้น และที่สำคัญคือเราเรียนแค่วันอาทิตย์ ส่วนวันอื่น ๆ เรายังสามารถทำงานได้ สถานที่เรียนของเราก็อยู่ในวัดที่เราคุ้นเคย ส่วนเพื่อนที่เรียนด้วยกันส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งที่เป็นคนมอญ พม่า ลาวและกัมพูชา ส่วนคนไทยมีบ้าง อาจเป็นเพราะคนไทยมีศูนย์ กศน. อื่น ๆ รองรับอยู่มากมาย ในช่วงระหว่างเรียน กศน. ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ฉันไปทำงานที่ร้านอาหารไทยและอิตาเลี่ยน ฝีมือการทำอาหารของฉัน จัดว่าอร่อยเลยทีเดียว จิตใจของฉันมันอยู่ที่การทำอาหารมากกว่าการเรียน กศน.ทุกวันอาทิตย์เสียอีก ต่างจากอองเรียง แฝดผู้พี่ของฉัน เธอมีความสุขกับการได้เรียนหนังสือ และมีความสุขมากยิ่งขึ้นไปอีกกับการไปทำงานรับจ้างเป็นคุณครูสอนหนังสือให้เด็ก ๆ อย่างฉันนี่แหละ โดยทางการมักเรียกกันว่า ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ณ ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
“ถ้าหนูเรียนจบ ม.ปลายแล้ว หนูขอกลับมาทำร้านอาหารที่บ้านได้มั้ยจ๊ะ พ่อกับแม่จะได้ไม่ต้องทำงานหนัก กลับมาอยู่บ้านเรา” ประโยคนี้ฉันเคยพูดกับพ่อและแม่ เมื่อฉันเรียนจบ กศน.ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2 ปีเท่านั้นที่ฉันต้องกอบโกยความรู้เกี่ยวกับการทำอาหารจากแผ่นดินที่ครอบครัวเราเรียกว่า “แหล่งเงิน”
เดือนมกราคม 2560
“เริ่มต้นใหม่...ในที่เดิม”
ฉันยืนมองที่ผนังบ้านตึก 3 ชั้นของเรา ภาพแผ่นกระดาษใส่กรอบเขียนด้วยข้อความภาษาไทย ฉันภูมิใจทุกครั้งที่ได้เห็น เพราะสิ่งที่อยู่บนผนังนี้คือเรื่องราวที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ถึงคำว่ารสชาติของชีวิต และมันเป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จขั้นหนึ่งของคนคนหนึ่งได้เป็นอย่างดี
2 ใบซ้ายมือสุดระบุข้อความว่า สำเร็จการศึกษาระดับ “ประถมศึกษา” ใบหนึ่งเป็นชื่อฉัน “มิสะเจียง” และแน่นอนอีกใบคือชื่อ “มิอองเรียง” แฝดผู้พี่ของฉันเอง
ถัดมาทางขวา เป็นแผ่นกระดาษใส่กรอบอีก 2 ใบเช่นกัน ระบุข้อความว่า สำเร็จการศึกษาระดับ “มัธยมศึกษาตอนต้น” ซึ่งมันเป็นของทั้งฉันและอองเรียง
ส่วนใบสุดท้ายระบุข้อความว่า สำเร็จการศึกษาระดับ “มัธยมศึกษาตอนปลาย” มันเป็นของอองเรียงคนเดียว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ฉันเลือกเอง “เรามีที่เหลือให้อองเรียงเต็มผนังเลยนะแม่” ฉันหันไปยิ้มกับแม่ที่กำลังลูบหัวฉันเบา ๆ ด้วยความเอ็นดู
การทำร้านอาหารไทยในแผ่นดินแม่ของฉัน มันเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก แต่มันกลับมีผลประกอบการที่ดีเกินคาด คนที่นี่ชอบอาหารไทยมาก น่าเป็นเพราะมีความคุ้นเคยกับรสชาติเมื่อครั้งไปทำงานที่เมืองไทย
“สัปดาห์หน้าหนูจะทำบุญตึกนะคะ” ฉันบอกพ่อกับแม่
“หนูซื้อตึกนี้แล้วค่ะ” ฉันยื่นเอกสารให้ทั้งสองท่านดู ฉันเห็นรอยยิ้มของผู้มีพระคุณทั้งสองมันเป็นรอยยิ้มที่เปื้อนไปด้วยคราบน้ำตาแห่งความสุข แต่ฉันก็แอบเศร้าที่ช่วงเวลาแบบนี้น่าจะมี “อองเรียง” อยู่ด้วย นี่น่าจะเป็นการพลัดพรากจากกันครั้งแรกของฉันกับอองเรียง
เดือนกุมภาพันธ์ 2563
“มันกำลังไปได้สวย”
“ย่าจ้า ย่าจ้า หนูคิดถึงย่า....” ฉันตื่นขึ้นจากความฝัน หญิงวัยชราที่เกือบจะเลือนหายจากความทรงจำของฉันไปแล้ว แต่เอาเข้าจริงฉันก็ฝันเห็นย่าอยู่บ้าง สัก 2 – 3 ครั้ง เมื่อตอนที่ฉันเดินทางถึงประเทศไทยครั้งแรก อีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่ฉันกลับมาอยู่บ้านก่อนเปิดร้านอาหาร และวันนี้ย่ามาให้ฉันเห็นแล้วก็หายไป โดยไม่ได้พูดอะไรสักคำ แม้ระยะเวลาผ่านไป 10 กว่าปีฉันยังไม่ได้คำตอบว่า “ทำไมย่าถึงถูกยิง”
“วันนี้หนูชวนอองเรียง ไปทำบุญด้วยกัน ไม่ได้ไปวัดพร้อมหน้าพร้อมตากันนานแล้ว” ฉันพูดขึ้นพร้อมมองไปที่พี่สาวฝาแฝดที่กลับมาทำงาน NGOs นานาชาติด้านการศึกษาในพื้นที่รัฐมอญอย่างที่ตั้งใจ “งานของพี่ไม่ได้อยู่กับที่อย่างเธอนะ แม่นักธุรกิจใหญ่” เสียงหัวเราะดังขึ้นภายในบ้านตึก 3 ชั้น
ครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ...แต่เรื่องของอำนาจและผลประโยชน์มันทำให้ความสุขที่ฉันแสวงหามันค่อย ๆ เลือนหายไปอีกครั้ง
“พี่กำลังถูกรัฐบาลจับตามองอยู่” อองเรียงพูดด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ แต่ใจของฉันมันเต้นไม่เป็นจังหวะ “พี่คิดว่าครอบครัวเราน่าจะถูกจับตาด้วยเช่นกัน” มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ภาพข่าวการจับกุมผู้คนที่ต่อต้านรัฐ! ร่วมเดินขบวน! กลุ่มนักธุรกิจที่รัฐคิดว่าเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งฉันอาจเป็นหนึ่งในนั้น ภาพการรื้อค้น ปล้นสะดม หรือภาพ
การปะทะที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น “ยิ่งห้าม ยิ่งกดดัน ก็ยิ่งต่อต้าน”
“พ่อคิดว่าสะเจียงน่าจะต้องไปอยู่ที่อื่นนะลูก” ฉันหันหน้าไปตามต้นเสียง พร้อมกับความคิดที่ผุดขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ “ทำไมต้องเป็นฉันที่ต้องเป็นคนที่ต้องจากทุกคนไป หรือเป็นเพราะครั้งหนึ่งฉันเคยทิ้งให้อองเรียงต้องอยู่โดยไม่มีฉันและพ่อแม่หรือเปล่า? ไม่สิ ครั้งนั้นเธอเลือกที่จะอยู่เพื่อความฝันของเธอนะ” ฉันตื่นจากความคิดของตนเองด้วยเสียงอันราบเรียบของแฝดผู้พี่ “รัฐบาลไม่ให้พี่ไปที่อื่นหรอก สะเจียงเธอก็รู้พี่มีคดีติดตัวอยู่ จะโดนเล่นงาน ไม่ช้าก็เร็วนี่แหละ พ่อกับแม่ก็แก่แล้ว ไม่อยากให้ต้องเดินทางอีกแล้ว” แม่ยังคงนั่งเงียบ มีเพียงน้ำตาที่ไหลเป็นทางอาบสองแก้ม
ก่อนหน้านี้อองเรียงเป็นแกนนำในการต่อต้านรัฐ ร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ครั้งหนึ่งฉันยังเห็นชื่อของ “อองเรียง” ปรากฏภาพข่าวในทีวีเป็นหนึ่งในแบล็กลิสต์ ที่รัฐบาลต้องการตัว ภาพของอองเรียงที่ต้องเข้าไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจทุกเดือนมันวนเวียนอยู่ในหัวของฉัน
“ครั้งแรกที่พ่อต้องไปอยู่เมืองไทย ตอนนั้นพ่ออายุได้ 20 กว่า ๆ พ่อลี้ภัยทางการเมือง พ่อเป็นทหารกลุ่มชาติพันธุ์ บ้านเราถูกเผา อากับลุงถูกจำคุกแบบขังลืม เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่เคยเจอหน้ากันอีกเลย ย่าของลูกก็บอกให้พ่อหนี พ่อต้องอยู่ในป่า เดินทางข้ามฝั่งออกมาได้ ไม่งั้นคงตายตั้งแต่ตอนนั้น” ข้อความนี้ทำให้ฉันมองหน้าผู้ชายที่เป็นเสาหลักของบ้าน ฉันไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้มาก่อน ฉันคิดว่าการเข้ามาทำงานในเมืองไทยของพ่อและแม่เป็นเพียงการมางานหาเงิน แต่นี่มันคือการ “หนีตาย” แล้วสิ่งที่ทุกคนให้ฉันทำในตอนนี้เรียกว่า “การหนีตาย” หรือไม่?
เดือนสิงหาคม 2563
“เพื่อความอยู่รอด”
“เดินทางมาเป็นไงบ้างลูก” เสียงคุ้นเคยอีกครั้ง
“สวัสดีค่ะคุณป้าโมโม หนูมาถึงเมื่อคืน เลยต้องไปนอนบ้านเอเย่นต์ก่อนค่ะ”
“มาช่วยป้าทำงานที่ร้านนะลูก เรื่องเอกสารป้าจัดการให้แล้ว” ฉันมองหน้าสตรีร่างท้วมอย่างขอบคุณจากหัวใจ และตั้งคำถามในใจว่าเค้าคือหนึ่งในไม่กี่คนที่ช่วยเหลือฉันมาโดยตลอดตั้งแต่ “ย่าตาย”
“ร้านใหญ่โตมากเลยนะคะ” ฉันพูดด้วยความตื่นเต้นที่ได้เห็นธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างแดนของผู้มีพระคุณ และเกิดความกระจ่างในใจว่านี่คงเป็นเหตุผลที่ป้าโมโมย้ายมาอยู่ที่นี่
การเริ่มต้นชีวิตใหม่ ฉันยังได้ทำในสิ่งที่ฉันชอบในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย แต่มันก็น่าตื่นเต้น ท้าทาย และเป็นประสบการณ์ที่ดี ถ้าไม่ต้องคิดถึงเหตุผลของการมาในครั้งนี้
“แม่สบายดีมั้ยจ๊ะ หนูมาอยู่ที่นี่เริ่มปรับตัวได้แล้วนะคะ” ทุกครั้งที่ฉันวิดีโอคอลล์ฉันจะเห็นรอยยิ้มที่เปื้อนด้วยคราบน้ำตาของแม่โดยตลอด
จนกระทั่ง... “สะเจียงใจเย็น ๆ นะลูก....อองเรียงถูกจับ” เสียงจากต้นทางบอกให้ฉันใจเย็น แต่น้ำเสียงนั้นฟังแทบไม่ได้ศัพท์ “แม่...มันเกิดอะไรขึ้น อองเรียงถูกจับไปไหน ใครมาจับอองเรียง” ไม่ได้รับคำตอบใด มีเพียงแต่เสียงร้องไห้จากต้นสาย “พ่อกับแม่เป็นไงบ้าง พวกเค้าไม่ได้ยุ่งกับพ่อแม่ใช่มั้ย แม่ใจเย็น ๆ นะจ๊ะ”
ข้อหาปลุกระดม ก่อความวุ่นวาย และเป็นแกนนำต่อต้านรัฐ มันจะทำให้ฉันไม่ได้เจออองเรียงหรือไม่?
เดือนมกราคม 2565
“ชีวิตใหม่”
“ฉันคิดถึงพี่นะ เป็นไงบ้าง ปีกว่าเลยนะที่เราไม่ได้คุยกัน” ประโยคแรกที่เรา 2 พี่น้องได้คุยกันผ่านวิดีโอคอลล์ ฉันพูดอะไรไม่ออกได้แต่ร้องไห้ โดยไม่แน่ใจว่าร้องเพราะ ดีใจ เศร้าใจ กังวลใจ ห่วงใย หรือหวาดกลัวการพลัดพราก “มันโหดร้ายมาก แต่พี่ยังโอเค เธอไม่ต้องเป็นห่วง พี่ได้ออกมาดูแลพ่อแม่แล้ว ทุกคนอยู่ได้” ฉันได้แต่พยักหน้า “ช่วงนี้พวกมันยังมาสอดส่องพวกเราอยู่ พี่ยังทำงานอะไรไม่ได้มาก ขอบคุณมากนะที่ส่งเงินกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายที่บ้าน” ฉันตอบไปโดยไม่ต้องคิดใด ๆ “อย่าพูดอย่างนั้นสิ มันเป็นสิ่งที่ฉันเต็มใจที่จะทำ”
ครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่ฉันมั่นใจว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้วกับการตัดสินใจเดินทางมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลีย เพื่อความอยู่รอดของพวกเราทุกคน
“สะเจียง...สะเจียง” ฉันฝันถึงย่าอีกแล้ว เสียงนั้นมันก้องอยู่ในหัว แต่ฉันก็ตื่นจากภวังค์ด้วยเสียงของป้าโมโม “สะเจียง...สะเจียง ตื่นรึยัง วันนี้เราไปยื่นเอกสารกันนะลูก”
“เป็นไงบ้างสะเจียง ยื่นเอกสารขอสัญชาติครบรึยัง” เสียงจากต้นสายถามด้วยความตื่นเต้น “เมื่อเช้าฉันเพิ่งไปส่งหลักฐานภาพข่าวกับลิสต์รายชื่อพี่ที่ต้องโดนจับไปจ๊ะ ฉันตัดสินใจถูกใช่มั้ยที่ทำแบบนี้” แฝดผู้พี่ไม่มีเสียงตอบอะไร มีเพียงรอยยิ้ม แต่แววตาช่างขัดแย้งเหลือเกิน
ปลายเดือนมีนาคม 2567
“27 มีนา ลาจาก”
“ระเบิด!!!” ฉันพยายามติดต่อกับอองเรียง แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ฉันพยายามเลื่อนไถ่ตามข่าวจากสื่อออนไลน์และคลิปต่าง ๆ ที่แสดงถึงความโหดร้ายของการแสวงหาอำนาจที่ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียของคนในประเทศของฉัน
“อองเรียงพี่อยู่ที่ไหน พ่อแม่เป็นไงบ้าง นั่นพี่อยู่ในถ้ำหรอ” ฉันพรั่งพรูคำถามมากมายไปยังแฝดผู้พี่ที่นั่งตัวสั่นเทา
“ฉันยังไม่เจอพ่อกับแม่เลย เจ้าหน้าที่ยังไม่ให้เข้าหมู่บ้าน เค้าให้มาอยู่ที่นี่ ฉันกลัวจริง ๆ สะเจียง” หลังจากนั้นฉันฟังไม่ได้ศัพท์ ได้ยินแต่เสียงร้องไห้ซึ่งฉันก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเสียงของฉันหรืออองเรียง
สิ่งที่ฉันทำได้ ณ ตอนนี้มีเพียงพยายามจ้องบรรยากาศภายในถ้ำผ่านวิดีโอคอล มีผู้คนที่กำลังร้องไห้ฟูมฟาย เสียงเหล่านั้นมันช่างบีบหัวใจฉันเหลือเกิน ฉันเห็นความวุ่นวายแออัดของผู้คนพร้อมข้าวของเท่าที่จะหยิบฉวยมาได้ ภายในถ้ำของหมู่บ้านที่ฉันและครอบครัวมักจะเดินทางไปไหว้พระพุทธรูปภายในถ้ำนี้
สัญญาณโทรศัพท์หายไป ฉันติดต่ออองเรียงไม่ได้ ฉันยังคงเลื่อนไถ่ตามข่าวจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มันเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้ฉันติดตามสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นในหมู่บ้านของฉัน “ฉันต้องกลับบ้าน ฉันต้องกลับบ้าน” นี่คือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของฉัน
1 คืนที่ยาวนานและทรมานมาก “ร่างพ่อกับแม่อยู่ในห้องครัว” เสียงจากปลายสายสั่นเครือ ฉันรับรู้ได้เพียงเท่านี้ โลกถล่มทลายลงมาทับใจและร่างฉันแทบแตกสลาย ฉันคิดอะไรไม่ออกนอกจาก“ฉันต้องกลับบ้าน”
“เออ...ผมแนะนำว่า เรื่องคุณกำลังน่าจะอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ช่วงเวลานี้คุณไม่ควรเดินทางไปที่นั่นนะครับ” ฉันเข่าทรุดตรงหน้าของเจ้าหน้าที่วัยกลางคนที่ฉันไปยื่นเอกสาร“ขอสัญชาติ” ใจของฉันก็เหมือนจะแตกสลายอีกครั้ง “พ่อแม่ฉันตาย แต่ฉันกลับทำอะไรไม่ได้เลย”
“สะเจียงไม่น่าจะกลับมาทัน สถานการณ์ที่นี่ไม่ค่อยดี ฉันจำเป็นต้องเร่งจัดการงานของพ่อกับแม่นะ” เสียงของอองเรียงเรียบเฉยและเด็ดขาด แต่มันทำให้ใจของฉันแทบจะหยุดเต้น นี่เป็นสิ่งที่ได้ถูกลิขิตมาแล้วใช่หรือไม่ ไม่มีเหตุปัจจัยใดที่จะทำให้ฉันกลับบ้านได้เลย ฉันพูดได้แค่ “ฉันเสียใจ ฉันเสียใจ”
2 วันหลังจากนั้น ภาพบรรยากาศงานของพ่อกับแม่ มันติดตาและอยู่ในความทรงจำของฉันไม่มีวันลืมภาพของ “แม่ชี” สวมชุดสีชมพูที่ยืนเฝ้าดูร่างของทั้งสองที่อยู่ภายใต้กองเพลิง
อองเรียงเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองด้วยการ “บวชชี” มันมีไม่กี่ทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ต้องอยู่ตัวคนเดียวในฐานะ “นักโทษทางการเมือง”
แต่ในวันนั้นเอง “สะเจียงมีเอกสารอยู่ในห้องนะลูก” เสียงที่คุ้นเคยดังขึ้น ฉันได้รับเอกสารจากทางการ มันคงเป็นพรจากพ่อและแม่ที่หวัง มันช่างเป็นวันแห่งการพลัดพรากและเหมือนเป็นการเกิดใหม่ของฉันอย่างแท้จริง ฉันกลายเป็น ”ชาวออสซี่” โดยสมบูรณ์
เดือนพฤษภาคม 2567
“ไม่สิ้นสุด”
“ช่วงนี้คุณป้าต้องดูแลสุขภาพ เรื่องร้านไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ” เจ้าเนื้อร้ายกำลังเล่นงานผู้มีพระคุณของฉัน
“ป้าดีใจนะที่หนูได้สัญชาติแล้ว ป้าจะได้ตัดสินใจทำอะไรต่อมิอะไรให้เรียบร้อยเสียที” ฉันสงสัยในคำพูดของป้าโมโม
“คุณป้าไม่ต้องคิดมากนะคะ ที่นี่มีหมอเก่ง ๆ เยอะ เดี๋ยวคุณป้าก็หายป่วยค่ะ” ฉันได้แต่ให้กำลังใจสตรีร่างอวบที่ฉันรู้จักเมื่อ 17 ปีก่อนด้วยความเป็นห่วงเป็นใย
“ป้ามาอยู่ที่นี่เกือบ 7 ปีแล้ว อยากกลับไปที่บ้านเหลือเกิน สงครามไม่มีอะไรดีเลย แม้แต่ญาติพี่น้องก็ยังต้องมาผิดใจกัน...” มือของป้าโมโมบีบมือฉันแน่น เหมือนดั่งน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยอารมณ์ที่บีบคั้นหัวใจเป็นที่สุด ด้วยข้อความที่ว่า “เวรกรรมที่ไม่อาจชดใช้ได้หมด” สิ่งที่ฉันทำได้คือรับฟัง พร้อมกับลูบมือป้าโมโมเบา ๆ
งานศพของป้าโมโมถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายด้วยบรรยากาศที่เศร้าโศก ป้าโมโมยก “ร้าน” ให้ฉันตามพินัยกรรมที่ป้าได้ทำไว้ก่อนเสีย ฉันได้รับเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับร้านและกระดาษ 1 แผ่นที่อยู่ในซองปิดผนึกจากคุณทนาย มันเป็นกระดาษที่มีข้อความ 1 บรรทัดเขียนด้วยลายมือของป้าโมโมว่า
“เรื่อง ‘ย่า’ ป้าขอโทษแทนน้องชายของป้าด้วยนะ...สะเจียง”
คนแรกที่ฉันนึกถึงหลังอ่านข้อความนี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “แม่ชีอองเรียง” ฉันถ่ายรูปข้อความนี้ส่งให้กับแม่ชี “ทำไมป้าโมโมเขียนข้อความแบบนี้” ฉันปากคอสั่นเมื่อเห็นหน้าแม่ชีผ่านวิดีโอคอล ภาพความทรงจำเมื่อ 4 - 5 ปีก่อนแล่นเข้ามาในหัวของฉัน ภาพชายวัยกลางคน สวมชุดทหาร นอนคลุมด้วยธงชาติ 3 แถบสีเหลือง เขียว แดง และตรงกลางคือดาว
สีขาว ชายคนนั้น คือ ... ฉันต้องหยุดคิดเพราะได้ยินเสียงของแม่ชีอองเรียง “แม่ชีจำได้ว่า “น้องชายป้าโมโม” รับราชการเป็นทหารให้กับพม่า หรือว่า...” เสียงของแม่ชีหยุดลง ฉันได้แต่มองหน้าพี่สาวอย่างครุ่นคิด “ช่วงนั้นรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวใช่มั้ย” ฉันถามเพื่อความแน่ใจ แม่ชีได้แต่พยักหน้า ฉันมั่นใจว่าเราสองคนคิดเหมือนกัน และฉันก็มั่นใจว่าฉันเข้าใจคำพูดของ
ผู้มีพระคุณ
“ญาติพี่น้องก็ยังต้องมาผิดใจกัน” / “เวรกรรมที่ไม่อาจชดใช้ได้หมด”
ผู้เขียน
อรวรรณ เชื้อน้อย
ป้ายกำกับ อรวรรณ เชื้อน้อย ทางเลือก เรื่องสั้น