เพื่อนหญิงมืออาชีพ: การต่อรองของดอกไม้ราตรี ในหนังสือ Sex, Love and Money in Cambodia: Professional Girlfriends and Transactional Relationships (2013) ของ Heidi Hoefinger
หนังสือ Sex, Love and Money in Cambodia ของ Heidi Hoefinger
Sex, Love and Money in Cambodia (เพศ ความรัก และเงินตรา กับหญิงบาร์กลางคืนในพนมเปญ) (Hoefinger 2013a) เป็นหนังสือที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของฮอฟิงเกอร์ เรื่อง Negotiating Intimacy: Transactional Sex and Relationships Among Cambodian Professional Girlfriends (Hoefinger 2010) มหาวิทยาลัยลอนดอน โกลด์สมิธ (Goldsmiths, University of London) วิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้รับรางวัลทางสังคมศาสตร์ประเภทหัวข้อศึกษา “แนวใหม่” (Ground-breaking Subject Matter) จากการประชุมวิชาการนานาชาติเอเชีย (International Convention of Asia Scholars) ค.ศ. 2013 (Hoefinger 2013b) หนังสือของเธอนำผู้อ่านสำรวจโลกความสัมพันธ์ของหญิงสาวในบาร์กลางคืนกับชายต่างชาติ ณ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา ฮอฟิงเกอร์ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นมีความซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกันกับเพศ ความรู้สึก ผลประโยชน์ และผลต่างตอบแทนระหว่างสองฝ่าย
สำหรับฮอฟิงเกอร์ การทำความเข้าใจผู้หญิงในความสัมพันธ์ข้ามชาติดังกล่าว ไม่ควรมองจากมุมมองแบบเหมารวม
“[พวกเธอคือ] โสเภณีผู้เป็น ‘เหยื่อที่น่าสงสาร’ ‘หัวขโมยจอมโลภ’ หรือ ‘หญิงต่ำทราม’”
(Hoefinger 2013a, 6)
นอกจากนี้ คำอธิบายแบบขั้วตรงข้ามระหว่างมุมมองแบบสตรีนิยมสุดขั้วที่เห็นว่า โสเภณีคือทาสทางเพศและความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง กับมุมมองที่ส่งเสริมสถานภาพของผู้กระทำการในฐานะ “แรงงานทางเพศ” ที่สามารถเลือกหรือไม่เลือกที่จะแลกเปลี่ยนเพศกับเงินตรานั้น ไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชายเหล่านั้นได้เช่นกัน ฮอฟิงเกอร์ต้องการเผยให้เห็นเรื่องราวในมุมมองของพวกเธอ ทั้งรูปแบบและวิธีการต่อรองอย่างชาญฉลาดกับเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง ทั้งเพศสภาพที่กำหนดโดยสังคม วิถีวัฒนธรรม ครอบครัว หรือเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน พวกเธอมองหาความพึงพอใจในชีวิตประจำวัน สำหรับพวกเธอ “ความสัมพันธ์ทางเพศอยู่นอกเหนือการซื้อหาและแลกเปลี่ยน แต่อยู่อาณาบริเวณของการเกี้ยวพาและการคบกันฉันท์ชายหญิง” (Hoefinger 2013a, 7)
มโนทัศน์สำคัญสองประการที่ปรากฏในงานของฮอฟิงเกอร์ คือ “เพื่อนหญิงมืออาชีพ” (professional girlfriends) กับความสัมพันธ์และเพศเพื่อแลกเปลี่ยน (transactional relationships and sex) เธอกล่าวถึงเพื่อนหญิงมืออาชีพคือเหล่าผู้หญิง “ก่อร่างความสัมพันธ์สำหรับการดำรงชีวิตและแรงจูงใจมักเชื่อมโยงกับวัตถุ (materially based) ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนนั้นเหลื่อมซ้อนกันกลายคู่ และซ่อนเร้นจากคู่ของพวกเธอ ...[ในความสัมพันธ์ดังกล่าว] ผสมปนเประหว่างการแสดงความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง (performance of intimacy) พอๆ กับความรู้สึกรักและทุ่มเททั้งจริงและปลอมเคล้ากันไป” (Hoefinger 2013a, 4) ส่วนความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยน นั่นคือ “แรงจูงใจในวัตถุในเบื้องแรกจากปฏิสัมพันธ์ที่แนบชิด ทั้งของกำนัล เครื่องดื่ม เงินตรา หรือแม้กระทั่งบ้านหรือเอกสารสำหรับการเดินทางอย่างวีซ่า” (Hoefinger 2013a, 3) แต่ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนนี้สามารถพัฒนาหรือแปรเปลี่ยนเป็นความผูกพัน มากกว่าเงินตราหรือวัตถุได้เช่นกัน
การทำงานภาคสนามของฮอฟิงเกอร์เกิดขึ้นในสี่ช่วงเวลาด้วยกันระหว่าง ค.ศ. 2003 กับ ค.ศ. 2010 และการติดตามความเป็นไปในชีวิตเพื่อนหญิงมืออาชีพบางคนและของกรุงพนมเปญ ในช่วง ค.ศ. 2011 เมื่อเธอเขียนหนังสือเล่มนี้ การทำงานภาคสนามชาติพันธุ์วรรณนาแบบลึกซึ้ง (intimacy ethnography) ของฮอฟิงเกอร์เกิดขึ้นในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงพนมเปญ 3 แห่ง ได้แก่ แห่งแรก Lakeside ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวแบบแบ็คแพคเกอร์จำนวนมาก ที่พักราคาประหยัด และบาร์ใกล้กับทะเลสาปบึงคัก (Boeung Kak) ซึ่งถูกถมเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริเวณนั้นไม่ปรากฏสภาพดังเช่นในช่วงที่ฮอฟิงเกอร์ทำงานภาคสนามอีกแล้ว เมื่อฮอฟิงเกอร์กลับไปยังพนมเปญเมื่อ ค.ศ. 2011 (Hoefinger 2013a, 110) แห่งที่สอง สตริป (Strip) ถนนที่มีผู้คนพลุกพล่านในยามค่ำคืนและใกล้กับตลาดกลาง และแห่งที่สาม ริเวอร์ไซด์ (Riverside) บริเวณใกล้กับแม่น้ำโตเลสาป (Tonle Sap)
ในระยะเวลาเจ็ดปีของการทำงาน นอกเหนือจากการใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อหญิงมืออาชีพ ฮอฟิงเกอร์สัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก จำนวน 281 คน ประกอบด้วยผู้หญิง 115 คน ผู้ชาย 124 คน คนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรรัฐ และสถาบันทางวิชาการ จำนวน 42 คน (Hoefinger 2013a, 35) นอกจากนี้ เธอใช้วิธีวิทยาอีกสามลักษณะประกอบกับข้อมูลชาติพันธุ์วรรณนา ได้แก่ ข้อมูลจากการสำรวจเชิงปริมาณเกี่ยวกับ “แบบสำรวจความสัมพันธ์และความลึกซึ้ง” (Relationship and Intimacy Survey) ที่มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 164 คน การเข้าร่วมโครงการภาพยนตร์โดยช่างภาพศิลปะชาวตะวันตกที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของเพื่อนหญิงมืออาชีพ และโครงการ “Global Girls: Autobiography and E-Literacy” โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาความรู้และทักษะให้กับเหล่าเพื่อนหญิงมืออาชีพในการพัฒนาการเขียนภาษาอังกฤษ
หลายตอนในบทที่สอง “Methods, Ethics, and Intimate Ethnography” ฮอฟิงเกอร์กล่าวถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนระหว่างการทำงานภาคสนาม ความสัมพันธ์ของเธอกับเพื่อนหญิงมืออาชีพ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้นระหว่างเธอในฐานะ “นักวิจัย” กับเพื่อนมืออาชีพ “ผู้ถูกวิจัย” บทบาทของทั้งเธอและเพื่อนหญิงมืออาชีพที่ต้องแสดงในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน รวมถึงการใคร่ครวญถึงความลับ ความซื่อสัตย์ อารมณ์และความรู้สึกร่วม การหักหลังและการถูกทอดทิ้ง บทสะท้อนและย้อนคิดในส่วนนี้มีความน่าสนใจอยู่มากสำหรับผู้ปฏิบัติงานภาคสนามมือใหม่ในความแตกต่างของอำนาจ ชนชั้น วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และความปรารถนา “...เหล่านี้อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ข้ามชาติในเชิงลบ หรืออาจพัฒนาสู่มิตรภาพและความสัมพันธ์ที่แท้” (Hoefinger 2013a, 31) ก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง
“Sex, Work and Agency” เป็นบทที่ฮอฟิงเกอร์อภิปรายถึงการทำความเข้าใจชีวิตของเพื่อนหญิงมืออาชีพในระยะแรกของการทำงานภาคสนาม ตลอดบทตอนนั้นเธอหยิบยกข้อมูลผสานกับการอภิปรายกับงานศึกษาเกี่ยวกับแรงงานเพศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงเหตุ เงื่อนไข และการตัดสินใจของผู้หญิงเหล่านั้นในการก่อร่างความสัมพันธ์ทางเพศแบบแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหลายในชีวิตของพวกเธอ ข้ออภิปรายที่น่าสนใจเกี่ยวกับช่วงชั้นทางสังคมในหมู่คนทำงานกลางคืน ฮอฟิงเกอร์อ้างถึงคำนิยาม “global nightscape” ที่หมายถึง “พื้นที่ของช่วงชั้นเชื้อชาติและเพศ และบริเวณสำคัญในการผลิตสร้างอัตลักษณ์ที่แบ่งเชื้อชาติและเพศภาวะ (racialised and gendered identities) (Farrer 2011, 748 อ้างใน Hoefinger 2013a, 76)
ในสังคมกัมพูชา ผู้คนมักสร้างภาพเหมารวมของผู้ทำงานกลางคืนว่าเป็น “โสเภณี” หรือ “หญิงใจแตก” (srei kouc) “ผู้สูญเสียพรหมจรรย์และผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางสังคม” (Derks 2008, 171 อ้างใน Hoefinger 2013a, 12) แต่สำหรับเหล่าเพื่อนหญิงมืออาชีพแล้ว พวกเธอขีดเส้นความแตกต่างของตนเองกับผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ เธอนั้นแตกต่างจาก “สาวน้อยให้บริการ” (taxi-girls) ที่แลกเปลี่ยนการหลับนอนกับผู้ชายเพื่อเงินตรา และแตกต่างจากแรงงานทางเพศชาวเวียดนาม ที่ชายชาวกัมพูชาถวิลหา หญิงเวียดนามเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติทั้งในทางการทำงานและสังคมด้วยเหตุภูมิหลังชาติพันธุ์ (Hoefinger 2013a, 77–78) ผู้เขียนรีวิวกล่าวถึงข้ออภิปรายนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงมุมมองของคนใน (ในที่นี้ เพื่อนหญิงมืออาชีพ) ที่พยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง แต่ในทางกลับกันพวกเธอเองก็ผลิตซ้ำการตีตราทางสังคมที่เธอกระทำต่อผู้อื่น เฉกเช่นภาพลักษณ์ “หญิงใจแตก” ที่สังคมมอบให้กับพวกเธอด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ พวกเธอยังสร้าง “วัฒนธรรมย่อยของหญิงบาร์” (bar girl subculture) ในทางหนึ่ง หมายถึง การสร้างภาพลักษณ์ของตัวเอง การแสดงออกถึงความมั่งมี ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ และความสนิทชิดเชื้อกับชาวตะวันตก เหล่านี้สร้าง “ความมีหน้ามีตา” ในหมู่เพื่อนหญิงมืออาชีพ และชื่อเสียงของพวกเธอที่หมู่นักท่องเที่ยวราตรีชาวตะวันตก (Hoefinger 2013a, 125–26) มากไปกว่านั้น ความสามารถของพวกเธอในการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ยิ่งทำให้พวกเธอได้รับ “การนับหน้าถือตา” ในหมู่เครือญาติ ในอีกทางหนึ่ง เพื่อนหญิงมืออาชีพสร้าง “ความเป็นเครือญาติ” ที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทางจิตใจฉันท์พี่น้อง พวกเธอเรียนรู้ทักษะและการดำเนินชีวิตจากกรุ่นพี่และเพื่อนในแวดวง พวกเธอแบ่งปันสิ่งต่างๆ ไม่เพียง “การอาศัยอยู่ในห้องเช่าที่รวมกันหกถึงเจ็ดคน แต่ยังแบ่งกันใช้เครื่องสำอาง สิ่งจำเป็นสำหรับสุขอนามัย เสื้อผ้า และอาหาร” (Hoefinger 2013a, 79) ความผูกพันกันฉันท์พี่น้องยังเป็นกลไกสำคัญในการฉุดรั้งพวกเธอจากสภาพแวดล้อมของ “การดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป การใช้ยาเสพติด ความซึมเศร้า ‘อาการปวดใจ’ จากการอกหัก ความรุนแรงที่คนอื่นกระทำต่อเธอหรือเธอกระทำต่อตนเอง” (Hoefinger 2013a, 107) ด้วยปัจจัยทั้งหลายในชีวิต ฮอฟิงเกอร์ชี้ให้เห็นถึงความเป็นผู้กระทำการ (agency) ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อนหญิงมืออาชีพต่อรองกับความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนกับชาวต่างชาติ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่าของตนเองและครอบครัว
ข้อค้นพบจากงานวิจัยที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ ภาพเหมารวม “ชายชาวตะวันตก” กับ “ชายชาวกัมพูชา” ในทัศนะของเพื่อนหญิงมืออาชีพนั้นแตกต่างกันอย่างชิ้นเชิง พวกเธอมองภาพลักษณ์ของชายชาวตะวันตกที่มีความอดทนอดกลั้น ให้สิทธิ์เสรี มีการศึกษา และยอมรับความเสมอภาค รวมทั้งมีความรุนแรงน้อยกว่า แต่หึงหวงและเรียกร้องมากกว่า ส่วนชายต่างชาติสร้างภาพบรรดาเพื่อนหญิงมืออาชีพชาวกัมพูชาในสองขั้วตรงข้าม ในทางหนึ่ง หญิงกัมพูชานั้นมีเสน่ห์และน่าเย้ายวนกว่า หากเทียบกับผู้หญิงชาวตะวันตก แต่ในทางกลับ พวกเธอไม่ซื่อสัตย์และเอาเปรียบ (Hoefinger 2013a, 152–54) แต่ความเป็นจริงนั้นแตกต่างไป ฮอฟิงเกอร์ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงที่ต่างฝ่ายกระทำต่อกัน ที่สำคัญ เรื่องเพศสัมพันธ์เองกลายเป็นต้นเหตุของความไม่ไว้วางใจ และความกังขาในความซื่อสัตย์ของคู่ เมื่อใดเกิดการนอกใจและเป็นเหตุให้คู่ครองนั้นเริ่มสงสัย กลับกลายเป็นตัวส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน เพื่อให้คู่ครองมั่นใจว่า ตนไม่ได้นอกจากใจ (Hoefinger 2013a, 157)
อย่างไรก็ดี ฮอฟิงเกอร์เผยให้เห็นถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ เธอกล่าวถึงบริบททางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ “การล่าอาณานิคมฝรั่งเศส สงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกลุ่มเขมรแดงและผลพวงที่ตกทอดถึงปัจจุบัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน การฉ้อราษฎร์บังหลวงที่มีให้เห็นอย่างดาษดื่น โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ปลอดภัย และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง” (Hoefinger 2013a, 83) รวมถึงฉากตอนที่คุ้นเคย ผู้รุกรานแปรเปลี่ยน “จากกองทัพเป็นนักท่องเที่ยว” ที่ไหลบ่าเข้ามาแทนที่ (Hoefinger 2013a, 86) จนกล่าวได้ว่า “ทุกอย่างกลายเป็นสิ่งที่สามารถซื้อขายได้ และสถานการณ์แทบทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยเงินตรา” (Hoefinger 2013a, 87) มิพักจะต้องกล่าวถึงความรุนแรงทางกายภาพที่มนุษย์ต่างกระทำต่อกันเอง ความรุนแรงทางเพศระหว่างพ่อกับลูกสาว การเอาเปรียบทางเพศที่กระทำต่อเด็ก การชำเราของกลุ่มอันธพาล การปฏิบัติของหญิงที่สูงวัยในการขายพรหมจรรย์ของสาวน้อยในการปกครองของเธอ การแต่งงานข้ามชาติที่ผ่านตัวแทน (brokered international marriages) บริบทและเงื่อนไขเหล่านี้แวดล้อมความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนของเพื่อนหญิงมืออาชีพ หรือกล่าวให้กว้างกว่านั้นบริบทดังกล่าวส่งอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมกัมพูชาอยู่เนื่องๆ
กระนั้น ในทัศนะของไลเนซ์ ชี้ให้เห็นว่า แม้ฮอฟิงเกอร์พยายามกล่าวถึงความรุนแรงทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงกายภาพที่กำกับบริบทสังคมกัมพูชา แต่เธอยังไม่สำรวจด้านมืดของการค้าประเวณีในสังคมกัมพูชามากนัก ทั้งนี้ คงอนุมานได้ว่า การค้าประเวณีเป็นสิ่งที่แปลกแยกสำหรับเพื่อนหญิงมืออาชีพ นอกจากนี้ หากฮอฟิงเกอร์ใช้กรอบคำอธิบายเกี่ยวกับการเอาเปรียบและการตกเป็นเหยื่อ (exploration and vitimisation) ในอุตสาหกรรมทางเพศของกลุ่มนักรณรงค์และองค์กรเอกชนข้ามชาติในการต่อต้านการค้ามนุษย์ กลับยิ่ง “ตอกหัวตะปู” กับวาทกรรมที่ฮอฟิงเกอร์เองต้องการท้าทาย (Lainez 2014, 182) กล่าวให้ชัดยิ่งขึ้น ไลเนซ์ต้องการชี้ให้เห็นว่า มุมมองแบบตายตัว (essentialist) ในการเอาเปรียบและการตกเป็นเหยื่อในการค้าประเวณี (Hoefinger 2013a, 102–4) ดังที่ฮอฟิงเกอร์วิพากษ์วิจารณ์นั้น เธอเองก็กำลังสร้างคำอธิบายแบบตายตัว เพราะในทางปฏิบัติแล้ว กลุ่มนักรณรงค์และองค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์เหล่านั้น ย่อมมีวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ในการทำงาน และมุมมองต่อการค้าประเวณีและเหยื่อที่แตกต่างหลากหลายเฉกเช่นเดียวกัน (Lainez 2014, 183)
อนึ่ง เดวี (Dewey 2015) ชวนให้เห็นข้อจำกัดอีกประการจากข้อค้นพบในงานของฮอฟิงเกอร์ ดังที่ปรากฏในบทที่ 2 เธอ “เลือกสัมภาษณ์บาร์เทนเดอร์และพนักงานบริการที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานวิจัยเพื่อประเมินระดับความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษ ที่ส่งผลต่อการทำงานและสถานภาพ” (Hoefinger 2013a, 40) การมองข้ามผู้หญิงที่ใช้ภาษาเขมรเป็นหลัก หรือพูดภาษาอังกฤษเพียงเล็กน้อย นับเป็นการมองข้ามมุมมองของพวกเธอที่ขาดความสามารถทางภาษาต่างประเทศในการสื่อสารนั้น ส่งผลต่อชีวิตการทำงานของพวกเธออย่างไร
ในภาพรวมแล้ว หนังสือ เรื่อง Sex, Love and Money in Cambodia ฉายภาพของการพันเกี่ยวระหว่างความผูกพันทางเพศกับอารมณ์ บรรจบกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนหญิงมืออาชีพและคู่ครองของเธอ งานของฮอฟิงเกอร์ชวนให้ผู้อ่านมองความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนในโลกของเพศด้วยมุมมองที่หลากหลาย และยังเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในกระบวนการทำงาน และการสะท้อนย้อนคิดระหว่างแนวคิด ทฤษฎี กับข้อมูลจากภาคสนาม เพื่อเป็นฐานให้ผู้สนใจศึกษาและต่อยอดในการทำความเข้าใจกับความซับซ้อนของประเวณีและความรู้สึกของมนุษย์ปุถุชน
บรรณานุกรม
Derks, Annuska. 2008. Khmer Women on the Move: Exploring Work and Life in Urban Cambodia. Southeast Asia--Politics, Meaning, and Memory. Honolulu: University of Hawaiʻi Press.
Dewey, susan. 2015. “Book Review: Sex, Love and Money in Cambodia: Professional Girlfriends and Transactional Relationships.” Criminal Law and Criminal Justice Books. 2015. https://clcjbooks.rutgers.edu/books/sex-love-and-money-in-cambodia/.
Farrer, James. 2011. “Global Nightscapes in Shanghai as Ethnosexual Contact Zones.” Journal of Ethnic and Migration Studies 37 (5): 747–64. https://doi.org/10.1080/1369183X.2011.559716.
Hoefinger, Heidi. 2010. “Negotiating Intimacy: Transactional Sex and Relationships Among Cambodian Professional Girlfriends.” Doctoral thesis, London: Goldsmiths, University of London. http://research.gold.ac.uk/id/eprint/3419/.
———. 2013a. Sex, Love and Money in Cambodia: Professional Girlfriends and Transactional Relationships. The Modern Anthropology of Southeast Asia. New York: Routledge.
———. 2013b. “Winner of the ‘Ground-Breaking Subject Matter Accolade in Social Sciences’ at the International Convention of Asia Scholars 2013.” Personal Website. Heidi Hoefinger. September 5, 2013. http://www.heidihoefinger.org/blog/category/phd.
Lainez, Nocils. 2014. “Book Review: Heidi Hoefinger (2013) Sax, Love and Money in Cambodia: Professional Girlfriends and Transactional Relationships. London: Routledge. 214 Pages. ISBN: 978-04-15-62934.” Asian Journal of Social Science 42: 180–83.
ผู้เขียน
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
ป้ายกำกับ ผู้หญิง การต่อรอง กัมพูชา Heidi Hoefinger ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ