ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ (ethnic conflict)

 |  อคติทางวัฒนธรรม และความรุนแรง
ผู้เข้าชม : 37254

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ (ethnic conflict)

           ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ถือเป็นความขัดแย้งทางสังคม (social conflict) รูปแบบหนึ่งที่แสดงให้เห็นการมีอคติ (prejudices) และการขาดการสื่อสารระหว่างกันอย่างเหมาะสมเพียงพอ เป็นผลให้เกิดการขัดกันหรือเข้ากันไม่ได้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่ม(cultural incompatibility) ซึ่งอาจจะลุกลามไปสู่สภาวะของความหวาดกลัว/เกลียดชัง (homophobia) ทั้งที่ซ่อนเร้นและที่เปิดเผยสู่การแสดงออกต่างๆ ทั้งนี้ แม้ว่าความขัดแย้งจะถือเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ทว่าการจัดการความขัดแย้งที่ไม่มีประสิทธิภาพภายใต้ความหวาดกลัวเกลียดชังนั้นก็อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันและลุกลามบายปลายได้ในที่สุด

           อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาได้มีมุมมองต่อความขัดแย้งที่แตกต่างกันไป โดยนักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งมองว่า ‘ความขัดแย้งภายในสังคม’ จะช่วยทำให้ระบบของสังคมนั้นยังคงดำรงอยู่ได้ (eufunction) อาทิ Max Gluckman และ Victor turner นักมานุษยวิทยาที่สนใจความขัดแย้งในสังคมแอฟริกา ซึ่งมองว่า ความขัดแย้ง ความแตกแยกในระดับท้องถิ่นหรือสังคมขนาดเล็กนั้นมีความสำคัญต่อระบบสังคมหนึ่งๆ โดยจะนำไปสู่การสร้างความกลมเกลียวทางสังคม (social cohesion) ขึ้นมาได้ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ที่กว้างขึ้นไป แต่ในทางกลับกันนักมานุษยวิทยา เช่น Bernard Joseph Siegel และ Alan R. Beals ก็มองว่าความขัดแย้งทางสังคมคือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา (maladaptive) ความขัดแย้งมันถูกสร้างมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุดอ่อนไหวภายในระบบสังคม (strain) และความกดดันหรือสิ่งเร้าจากภายนอกระบบสังคม (stress) (Levine, 1961)

           ในแวดวงมานุษยวิทยาได้มีการศึกษาความขัดแย้งทางสังคมและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์มายาวนาน โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้กระแสของการปลดปล่อยอาณานิคม (decolonize) ที่นักมานุษยวิทยาได้สนใจศึกษาผลกระทบจากความรุนแรงทางชาติพันธุ์ด้วยมุมมองของแนวทางแบบชาติพันธุ์นิยม (ethnocentrism) และความเป็นสากลของมนุษย์ (Human Universals) ก่อนที่ต่อมาจะมีการศึกษาความขัดแย้งทางสังคมและชาติพันธุ์ด้วยวิธีวิทยาจากหลากหลายสาขาวิชาควบคู่กันไปมากยิ่งขึ้น เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์การเมือง การเมืองเปรียบเทียบและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทั่งเกิดการศึกษาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง (Kyrou & Rubinstein, 2008; Varshney, 2007; Fearon, 2008)

           ทั้งนี้ นอกจากนักวิชาการจะถกเถียงกันว่า ความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity) คืออะไร เป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิมหรือเป็นสิ่งถูกสร้างขึ้นภายหลังแล้วนั้น ความเข้าใจและข้อถกเถียงต่อประเด็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาตลอดเช่นกัน ทั้งในเชิงทฤษฎีและกรณีศึกษาจากภาคสนามต่างๆ โดยสามารถแบ่งแง่มุมความเข้าใจต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ได้ดังนี้

           แนวคิดรากเหง้าดั้งเดิมตามธรรมชาติ (Primordialism) มองว่า อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นหนึ่งในรากฐานของความขัดแย้งระหว่างผู้คนหรือระหว่างกลุ่ม โดยความแตกต่างทางชาติพันธุ์นั้นจะมีลักษณะที่ไม่ลงรอยกัน (irreconcilable) มาอย่างช้านาน Primordialism มองว่าชาติพันธุ์ถือเป็นหน่วยทางสังคมที่มีรากเหง้าดั้งเดิมก่อนกำเนิดรัฐชาติ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิดสืบทอดทางสายเลือด สามารถอ้างถึงประวัติศาสตร์และจุดกำเนิดร่วมกัน มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่สืบทอดกันมา อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่มั่นคงทำลายได้ยาก มีแก่นแท้ที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หรือเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่มีความเข้าใจต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แบบสารัตถนิยม (essentialism) ซึ่งมักจะทำให้เกิดการแบ่งแยกความแตกต่างหรือความเป็นอื่นที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมองว่ารากเหง้าดั้งเดิมตามธรรมชาติที่ติดตัวมา (primordial attachment) ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วหรือติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก มีมาก่อนประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ทั้งหลาย อีกทั้ง แนวคิดนี้ยังมองว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะมีความรู้สึกเกลียดชังมาแต่โบราณ (ancient hatreds) มีความกลัวและความหวาดระแวงต่อกันหรือมีการถือพวกพ้องเครือญาติในทางชาติพันธุ์ (ethnic nepotism) มาเนิ่นนาน และยังมองว่ารัฐสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลายมักจะหลีกเลี่ยงกับปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ได้ยาก (Vanhanen, 1999; Varshney, 2007; Williams, 2015; ประสิทธิ์, 2014; นิติ, 2015)

           อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวได้ถูกโต้แย้งมาโดยตลอด ทั้งในเชิงทฤษฎีและหลักฐานจากกรณีศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะจากแนวคิดการเป็นเครื่องมือ (Instrumentalism) ที่มองว่าความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองโดยตรงจากความแตกต่างในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ แนวคิดนี้มองว่า ความเป็นชาติพันธุ์ไม่มีอยู่แต่เดิมในธรรมชาติของมนุษย์ ความเป็นชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ลื่นไหลสามารถถูกสร้าง ปรับเปลี่ยน หรือละทิ้งได้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่กำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คน โดยเฉพาะการเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันขัดแย้งได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้ง แนวคิดนี้ยังมองว่า การที่ชาติพันธุ์หนึ่งๆ จะขัดแย้งหรือเกลียดชังอีกชาติพันธุ์เสมอไปนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความเที่ยงแท้แน่นอนโดยธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในอินเดีย ที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพียงบางพื้นที่ของอินเดีย ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะขัดแย้งกัน (Varshney, 2007; ประสิทธิ์, 2014; นิติ, 2015)

           ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวมองว่าความขัดแย้งทางชาติพันธุ์รวมถึงความเป็นชาติพันธุ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลังนั้น เป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นการเมือง (politicize) ภายใต้การแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจจากประเด็นของความมั่นคงและความไม่เป็นธรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมา โดยที่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นจากความไม่พอใจ (grievances/frustration) และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำทางสังคม (a society’s elite class) ที่ต้องการดำรงอำนาจและได้มาซึ่งผลประโยชน์ต่างๆ จากความแตกต่างและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ หรืออาจกล่าวได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์มีการใช้ตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการสร้างความแตกต่าง โดดเด่นจากกลุ่มอื่นๆ เพื่อแสดงบทบาทหรือสถานภาพทางสังคมในการได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Varshney, 2007; ประสิทธิ์, 2014)

           นอกจากนี้ยังมีแง่มุมการอธิบายของแนวคิดการประกอบสร้าง (Constructivism) ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวคิดการเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง โดยแนวคิด constructivism จะเน้นไปที่การพิจารณาว่าความเป็นชาติพันธุ์ได้สร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ขึ้นมา ในลักษณะที่มีความหลากหลายและลื่นไหลเป็นอย่างมากท่ามกลางความสัมพันธ์ทั้งภายในกลุ่มชาติพันธุ์ ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐชาติ โดยกลุ่มชาติพันธุ์จะมีกระบวนการช่วงชิง ขัดขืน ต่อรอง ปรับเปลี่ยน และตอบโต้ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่มีพลวัตอยู่โดยตลอด ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นก็มากจากการประกอบสร้างทางอัตลักษณ์ และช่วงชิงอำนาจบนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเกิดหรือลดทอนความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน Varshney, 2007; Busch, 2012; ประสิทธิ์, 2014)

           James D. Fearon และ David D. Laitin (2000) เสนอว่า การประกอบสร้างความเป็นชาติพันธุ์ที่มีความขัดแย้งต่อกัน มีอย่างน้อยสองทาง คือ หนึ่ง การที่ชนชั้นนำได้ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงด้วยการสร้างความเป็นกลุ่มก้อนและความเป็นศัตรูระหว่างกัน หรือสองคือการที่กลุ่มหัวรุนแรงได้ยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือผลักให้ผู้นำแบบสายกลางต้องมีการใช้ความรุนแรง เพราะมีความต้องการทำให้วัฒนธรรมของตนมีความบริสุทธิ์ และเป็นการดิ้นรนให้สามารถกำหนดขอบเขตทางวัฒนธรรมและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างชัดเจน

           ทั้งนี้ Ashutosh Varshney (2007) ยังได้เสนอว่าความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นั้นสามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดความเป็นสถาบัน (Institutionalism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นิยมในการศึกษาแบบการเมืองเปรียบเทียบ โดยแนวคิดดังกล่าวมองว่า การออกแบบสถาบันทางการเมืองในลักษณะต่างๆ เช่น การเป็นระบบการเมืองแบบแบ่งสรรอำนาจ (consociational polities) หรือเป็นระบบการเมืองของเสียงส่วนใหญ่ (majoritarian polities) การมีระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (proportional representation) หรือมีการเลือกตั้งแบบใช้คะแนนเสียงที่สูงสุด (First Past the Post) สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นในทุกสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สมมติฐานต่อประเด็นดังกล่าวคือ ในรัฐที่มีรูปแบบสถาบันทางการเมืองซึ่งปกป้องคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายนั้นจะสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยและหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางชาติพันธุ์ได้ดี อีกทั้งการมีระบบการเลือกตั้งที่ให้สิทธิให้เสียงแก่ทุกชาติพันธุ์ ก็เป็นหนทางที่ช่วยให้เกิดการเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกันได้ อย่างไรก็ตามก็มีหนึ่งในข้อถกเถียงที่ว่า สังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์จำเป็นที่จะต้องมีสถาบันทางการเมืองที่แตกต่างไปจากสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์หรือไม่ เพราะในแง่มุมหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันอาจสร้างการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ที่เป็นเหตุของความขัดแย้งและรุนแรงได้ด้วยเช่นกัน

           กรณีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีการสูญเสียเป็นจำนวนมากอย่างเช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาและบุรุนดีระหว่างชาวฮูตู (Hutu) กับชาวทุตซี (Tutsi) ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นักวิชาการก็ได้หยิบยกมาเพื่ออธิบายในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในแง่มุมของแนวคิดการเป็นเครื่องมือ (instrumentalism) ที่มองว่า ในรวันดาตั้งแต่ยุคหลังอาณานิคมนั้น ชาวฮูตูได้สร้างอัตลักษณ์ของตนและมีนโยบายที่กีดกันและเลือกปฏิบัติต่อชาวทุตซี จนทำให้ชาวทุตซีต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ชาวทุตซีเกิดความโกรธแค้นและมีการจัดตั้งกองกำลังชื่อว่า the Tutsi-led Rwandan Patriotic Front’s (RPF) ขึ้นมา กระทั่งในปี ค.ศ. 1994 ก็ได้มีการลอบสังหาร Juvénal Habyarimana (ประธานาธิบดีเชื้อสายฮูตูของรวันดาในขณะนั้น) จนเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลายสร้างความสูญเสียจำนวนมาก ขณะเดียวกันในช่วง ค.ศ. 1993-2000 ที่บุรุนดี ชาวทุตซีที่มีอำนาจในการปกครองก็มีนโยบายโต้กลับซึ่งได้สร้างความโกรธเคืองให้กับชาวฮูตูด้วยเช่นกัน (Stedman, 1997; Ndikumana, 1998)

           อย่างไรก็ตาม นักวิชาการที่สนใจกรณีดังกล่าวอาทิ Carla Schraml (2014) และ Afa'anwi Ma'abo Che (2016) ก็ได้เสนอว่ามีนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่มีมุมมองต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ รวมถึงในกรณีของความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูกับชาวทุตซี ด้วยแง่มุมที่ว่าสามารถเชื่อมโยงแนวทาง Primordialism/essentialism กับ instrumentalism/constructivism เข้าด้วยกัน กล่าวคือ ท่ามกลางการประกอบสร้างความเป็นชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ภายในกลุ่มชาติพันธุ์เองก็อาจจะเกิดการตกผลึก (crystallize) ความรู้สึกร่วมต่างๆ ทั้งความรู้สึกกลมเกลียวภายใน และในทางกลับกันก็ทำให้เกิดความรู้แบ่งแยกระหว่างกัน เกิดความหวาดกลัว ความเกลียดชังต่อกลุ่มอื่นๆ (in-group cohesion spurs out-group frustration) ซึ่งถ่ายทอดสู่รุ่นถัดไปด้วยเช่นเดียวกัน หรืออาจเรียกว่าเป็น Essentializing Deconstructivism ทั้งนี้ Peter Uvin (1999) มองว่าความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ระหว่างชาวฮูตูและทุตซีที่ยืดเยื้อเรื้อรังนั้นได้สร้างความหวาดกลัวต่อกันอย่างถาวร (permanent mutual fear) ขึ้นมา

           ในประเด็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นี้ Raymond Scupin (2017) ได้เสนอว่า การศึกษาทางมานุษยวิทยาโดยเฉพาะงานด้านชาติพันธุ์วรรณานั้น ได้มีความพยายามศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์และการคงอยู่ของการต่อสู้ระหว่างกันในสังคมต่างๆ เช่น สังคมล่าสัตว์หาของป่า สังคมชนเผ่า แว่นแคว้น สังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม และสังคมหลังอุตสาหกรรม เพื่อที่จะหาคำตอบถึงความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของความขัดแย้ง และบทบาทของปัจเจกบุคคลในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงหาคำตอบที่ว่ามนุษย์มีการใช้ความรุนแรงโดยพื้นฐานดั้งเดิมหรือไม่ โดยที่นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งที่ศึกษาระบบความคิดก็ได้สำรวจความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการสู้รบเพื่อพัฒนารัฐเกษตรกรรมขนาดใหญ่อย่างไร ซึ่งมีข้อค้นพบประการหนึ่งที่ว่า ประเพณีความเชื่อที่ซับซ้อนและค่านิยมอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มต่างๆ มักจะส่งเสริมหรือประกอบสร้างให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและเกิดความร่วมมือกันภายในกลุ่ม ซึ่งสามารถอธิบายการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวแบบรากฐานนิยม (fundamentalist movements) ในปัจจุบันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม Raymond Scupin ก็มองว่า การพยายามรวมกันของแนวคิดแบบ primordialism กับ instrumentalism หรือ constructivism ได้หักล้างความคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติพันธุ์ในแบบที่มองว่ามีความคงที่ตายตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลงอีกด้วย

           มุมมองและความเข้าใจของนักมานุษยวิทยาที่มีต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ดังที่กล่าวไปนั้น ได้ส่งผลให้นักมานุษยวิทยามีข้อถกเถียงต่อบทบาทในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของนักมานุษยวิทยาในพื้นที่หรือสนาม ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งของผู้คนภายในกลุ่ม ความขัดแย้งของผู้คนระหว่างกลุ่ม รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าควรเป็นไปเช่นไร นักมานุษยวิทยาสามารถมีบทบาทในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในลักษณะใดและอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักมานุษยวิทยาเรื่อยมา

 

รายการอ้างอิง

นิติ ภวัครพันธุ์. (2015). ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2014). บทความปริทรรศน์ : กระบวนทัศน์การศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง, 10(3), 219-242.

Busch, D. (2012). Cultural theory and conflict management in organizations: How does theory shape our understanding of culture in practice?. International Journal of Cross Cultural Management, 12(1), 9–24.

Che, A. F. (2016). Linking Instrumentalist and Primordialist Theories of Ethnic Conflict. Retrieved November 15, 2021, from https://www.e-ir.info/2016/06/01/linking-instrumentalist-and-primordialist-theories-of-ethnic-conflict/

Fearon, D. J. (2008). Ethnic Mobilization and Ethnic Violence. In Wittman, A. D. and Weingast, D. (eds.), The Oxford Handbook of Political Economy, Oxford: Oxford University Press.

Fearon, J. D., and Laitin, D. D. (2000). Violence and the Social Construction of Ethnic Identity. International Organization, 54(4), 845-877.

Kyrou, C. N., & Rubinstein, R. A. (2008). Cultural Anthropology Studies of Conflict. In Kurtz L. (Ed.), Encyclopedia of Violence, Peace, and Conflict (pp. 515-521). Amsterdam; London: Elsevier.

Levine, R. A. (1961). Anthropology and the study of of conflict: an introduction. Journal of Conflict Resolution, 5(1), 3–15.

Ndikumana, L. (1998). Institutional Failure and Ethnic Conflicts in Burundi. African Studies Review, 41(1), 29–47.

Schraml, C. (2014). How is ethnicity experienced? Essentialist and constructivist notions of ethnicity in Rwanda and Burundi. Ethnicities, 14(5), 615–633.

Scupin R. (2017). Anthropology, Conflict, and International Relations. In Yetiv S., James P. (eds.), Advancing Interdisciplinary Approaches to International Relations (pp. 153-187). Cham: Palgrave Macmillan.

Stedman, S. J. (1997). Spoiler Problems in Peace Processes. International Security, 22(2), 5–53.

Uvin, P. (1999). Ethnicity and Power in Burundi and Rwanda: Different Paths to Mass Violence. Comparative Politics, 31(3), 253–271.

Vanhanen, T. (1999). Domestic Ethnic Conflict and Ethnic Nepotism: A Comparative Analysis. Journal of Peace Research, 36(1), 55–73.

Varshney, A. (2007). Ethnicity and Ethnic Conflict. In Boix, C. and Stokes, S. (eds.), Oxford Handbook of Comparative Politics (pp. 274-294), Oxford: Oxford University Press.

Williams, D. (2015). How Useful are the Main Existing Theories of Ethnic Conflict?. Academic Journal of Interdisciplinary Studies, 4(1), 147–152.


ผู้เขียน

สัมพันธ์ วารี

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความขัดแย้ง กลุ่มชาติพันธุ์ ethnic conflict สัมพันธ์ วารี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา