การเลือกตั้งกับความไม่แน่นอน และระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2722

การเลือกตั้งกับความไม่แน่นอน และระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

           “ความไม่แน่นอน” (Uncertainty) ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ของความไม่แน่นอนได้กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญของการศึกษาในสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในการเมืองไทย ที่มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและความหมายกันในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไพศาล


การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และ 14 พฤษภาคม 2566

           ความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และ 14 พฤษภาคม 2566 ได้ก่อให้เกิดภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ ๆ ที่เป็นการต่อสู้ภายใต้ความสัมพันธ์ในระดับพื้นผิวที่อาศัยความสัมพันธ์ในระดับการเห็นหน้าค่าตา และการต่อสู้ในโลกเสมือนหรือพื้นที่ออนไลน์ อีกทั้งยกระดับการต่อสู้ในแง่ของอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรม ที่ไม่ยึดติดอยู่กับอรรถประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งจะเห็นการเสนออุดมการณ์ทั้งของฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายก้าวหน้าหรือประชาธิปไตย ที่ต่างสร้างคุณค่าความหมายของการนิยามทางการเมือง ซึ่งต่างจากการเมืองแบบเดิมภายที่สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้นี้

           พื้นที่ออนไลน์ได้เปิดพื้นที่ให้คนที่แตกต่างกันในแง่สถานะ ความคิด และวิถีชีวิต เข้ามาเชื่อมต่อกันด้วยความสนใจ หรือประเด็นร่วมกันในหลายระดับ และสามารถสร้างพื้นที่การเมืองของการเคลื่อนไหว เชื่อมต่อกันในการเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นว่าการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 และ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการหาเสียงอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกลที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนมาก ซึ่งการต่อสู้ในโลกออนไลน์ได้กลายมาเป็นสมรภูมิสำคัญในการสร้างวาระทางการเมืองของคนกลุ่มต่าง ๆ

           การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 และ 14 พฤษภาคม 2566 มีการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ที่มีความหมายเฉพาะเพื่อให้พรรคการเมืองมีขนาดเล็กลง หรือไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก1 ทั้งก่อให้เกิดการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้นระหว่าง “เอาเผด็จการกับต่อต้านเผด็จการ” กลายเป็นวาทกรรมหลักในการเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 ส่วนการต่อสู้แบบอื่น เช่น นโยบายที่เคยเป็นพื้นที่หลักถูกลดความสำคัญลง การเลือกตั้งกลายเป็นสนามของการเลือกในเชิงอุดมการณ์อย่างชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งเป็นการต่อสู้ของคนต่างรุ่นที่มีนัยทางการเมืองอย่างสำคัญ แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงการก่อตัวขึ้นมาของคนกลุ่มใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมือง ได้แสดงบทบาทเป็นผู้กระทำการทางเมือง

           คนกลุ่มใหม่นี้เติบโตขึ้นมาภายใต้บริบทของพื้นที่ทางการเมืองในสังคมช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2540 บนพื้นฐานของวาทกรรมการพัฒนาและการช่วงชิงความหมายในฐานะผู้กระทำการทางการเมืองแสดงให้เห็นภูมิทัศน์พื้นที่ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป สังคมออนไลน์จะเปิดให้มีพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น พลังของสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นสื่อกลางของการเคลื่อนไหวสังคมของคนรุ่นใหม่ นำมาสู่การรวมกลุ่ม เชื่อมโยงข้ามเครือข่ายทางสังคมที่หลากหลาย ก่อให้เกิดโอกาสในการขยายเครือข่าย และเอื้อให้ผู้ที่ตื่นตัวทางการเมืองได้เชื่อมต่อกับผู้มีประสบการณ์ด้านอื่น ๆ จนเชื่อมไปสู่การชุมนุมประท้วงในพื้นที่จริง แทนการปิดกั้นพื้นที่การเมืองในโลกความจริง ความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ปรับเปลี่ยนจากการก่อตัวหรือจัดตั้งในพื้นที่กายภาพไปสู่พื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวไร้รูปแบบ ปราศจากการจัดตั้ง ซึ่งต่างจากการเมืองในทศวรรษก่อนหน้านี้


การเมืองมวลชน

           การเมืองมวลชนเหลืองแดงในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการจัดตั้งในหลายมิติทั้งปูฐานทางความคิด ระดมคน จัดตั้งชุมชนทั้งทางกายภาพและบนอากาศ (สื่อ) เพื่อให้สามารถระดมทรัพยากรในการต่อสู้ จนเป็นความยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน พรรคเพื่อไทยได้ทำงานมวลชนผ่านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมาอย่างยาวนาน2 ได้มีการ "จัดตั้งทางความคิด" ของผู้คนจนนำมาสู่อาการตาสว่าง การตั้งคำถามต่ออะไรต่ออะไรที่ก่อนหน้านี้ไม่น่าจะเป็นคำถามด้วยซ้ำ เป็นการสร้างฐานความคิดใหม่ของผู้คนทั้งนั้น ไม่ได้เกิดลอย ๆ บนอากาศธาตุ การที่คนที่ "คอเดียวกัน" "ความคิดเดียวกัน" มาเคลื่อนไหวฟังปราศรัยประหนึ่งว่าไม่มีการจัดตั้ง ก็เกิดจากการจัดตั้ง(ปะทะ)ทางความคิดเปลี่ยนแปลงในทางความคิดของหลาย ๆ คนในช่วงหลายปีนี้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น นิติราษฎร์ ประชาไท ฟ้าเดียวกัน ฯลฯ ไม่มากก็น้อย3

           ทั้งนี้ทั้งนั้น พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลกับการเมืองภาคประชาชน ผ่านการเคลื่อนไหวของม็อบตั้งแต่ปี 63 มันแยกขาดจากกันได้ ในแง่ที่การเมืองภาคประชาชน ทำให้กระแสของพรรคได้รับความนิยมอย่างสูง และนำมาสู่การเองของการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคชนะในปี 2566 ด้วย อาจกล่าวได้ว่าการเมืองของอนาคตใหม่/ก้าวไกลดำรงคู่ขนานกับการเมืองภาคประชาชน ดังที่สมาชิกสภาผู้แทนราฎรพรรคก้าวไกลให้ข้อมูลว่า "...มันคงแยกไม่ได้หรอก เพราะว่าเท่าที่ตามความเข้าใจนะ คือม็อบทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น มันเริ่มจากที่อนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วธนาธร นัดที่สกายวอร์ค...ประมาณ 4 ปี เพราะมันไม่เคยมีม็อบเลย (มีแต่มันไม่มีม็อบใหญ่)...มันไม่มีการรวมตัวกันอย่างแข็งแรง เหมือนครั้งที่ธนาธรรวมตัวกันที่สกายวอร์ค แล้วครั้งนั้นคนมันไป มันกล้า ทำให้มีการชิมลาง เป็นครั้งอื่น ๆ ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ม็อบแฮมทาโร่ แล้วสุดท้ายมาจุดมาติดเป็นม็อบใหญ่"4   จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-2565 ก่อให้เกิดภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลายมาเป็นโหวตเตอร์ให้พรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา5


ระบบเลือกตั้งใหม่

           การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ออกแบบระบบเลือกที่ต้องการบั่นทอนบางพรรค แต่ขณะเดียวกันก็นำมาสู่การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้นระหว่าง “เอาเผด็จการกับต่อต้านเผด็จการ” กลายเป็นวาทกรรมหลักในการเลือกตั้งปี 2562 และพบว่าพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถสร้าง “วาระ” เพื่อจูงใจให้สามารถชนะเลือกตั้งได้ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกในเชิงอุดมการณ์อย่างชัดเจน

           ส่วนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มีการกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งเดิม ที่มี ส.ส. มาจากสองส่วนคือ ระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ภายใต้ความไม่แน่นอน และภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไปเป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ทำให้พรรคก้าวไกลที่กระแสไม่สูงมากนักในขณะที่มีการประกาศให้เลือกตั้งใหม่ ๆ แต่ด้วยความชัดเจน และการชูการต่อสู้ในเชิงอุดมกาณ์ทำให้ชนะเลือกตั้ง 151 ที่นั่ง โดยเฉพาะในระบบเขตที่เหนือความคาดหมาย กล่าวคือ ความไม่แน่นอนเป็นทั้งโอกาส และวิกฤติของแต่ละฝ่าย ที่ไม่สามารถคาดการณ์ความไม่แน่นอนนั้นได้ แตกต่างจากการเมืองในระบบรัฐประหาร หรือการเมืองของการเลือกตั้งแบบเก่า ๆ ที่สามารถคาดการณ์ทิศทาง หรือจัดความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำได้6 แต่การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้และท้าทายกลุ่มอำนาจเดิม ท้ายที่สุด หลังการเลือกตั้งก่อให้เกิดสถานการณ์ไม่แน่ พรรคก้าวไกลที่ได้อันดับหนึ่งไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ และเกิดรัฐบาลข้ามขั้ว ที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองเมืองอีกครั้ง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความไม่ตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย


พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลในการต่อสู้ในอากาศ

           พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาไม่นานแต่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชน โดยยุทธศาสตร์ของพรรคคือการต่อสู้ในพื้นที่ออนไลน์และดึงคะแนนของคนรุ่นใหม่ ผ่านการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ เพราะภูมิทัศน์การเมืองไทยในช่วงหลายปีตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการที่ยาวนาน อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์7 รายงานว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2554 คิดเป็น 1.96% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด แต่ในปี 2562 จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกลับเพิ่มขึ้นเป็น 13.74% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด8 คิดเป็นจำนวนคนรุ่นใหม่ 7.3 ล้านคน

           อีกทั้งพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลมุ่งหาเสียงผ่านออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ก่อนยุบพรรคมีคนกดถูกใจในเพจพรรค 1,018,114 บัญชี (Account) กดติดตามพรรค 1,240,718 บัญชี9 รวมทั้งมีเพจสาขาพรรคตามภูมิภาคต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งยุทธศาสตร์สู้ “บนอากาศ” ใช้เพื่อแย่งชิงฐานคะแนนของคนรุ่นใหม่ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมใน เฟซบุ๊กพรรคถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 มีคนกดถูกใจพรรคจำนวน 179,189 บัญชี กดติดตามพรรค 192,325 บัญชี10 จะเห็นได้ว่าพรรคพลังประชารัฐเน้นการหาเสียงผ่านเครือข่ายหัวคะแนน และใช้กลยุทธ์การเมืองแบบเก่าจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่ออนไลน์น้อยกว่าพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล

           นอกจากนี้ การเติบโตขึ้นของสื่อออนไลน์ใหม่ ๆ ที่เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร ทำให้ “การเมืองในแบบพื้นผิว”มีความสำคัญลดลงหรือสามารถสื่อสารได้เฉพาะบางกลุ่ม ข้างต้นนำมาสู่การปรับเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ที่ได้กลายเป็นพื้นที่แย่งชิงของของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลที่ได้ปรับการหาเสียงในระดับพื้นผิวที่ต้องอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ต่าง ๆ ไปสู่การต่อสู่ในพื้นที่ออนไลน์ที่อาศัยความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากเดิม และสามารถได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก อาจถือว่าเปลี่ยนการต่อสู้ในพื้นที่การเมืองแบบเดิม ๆ ดังจะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมาเกิด “หัวคะแนนธรรมชาติ” ที่ออกมาหาเสียงให้พรรคก้าวไกลจำนวนมาก ผ่านสื่อสังคมอนไลน์ต่าง ๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง11

           กลุ่มคนที่เข้าไปสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลสามารถแยกออกเป็นคน 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มคนที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นในอุดมการณ์ระบบประชาธิปไตย เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าอนาคตใหม่/ก้าวไกลคือพรรคทางเลือกในเชิงอุดมการที่เข้มแข็ง จึงหันมาสนับสนุนพรรคนี้แทน กลุ่มที่สอง คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง และพึ่งจะสนใจการเมือง คนกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่าธนาธร พิธาและอนาคตใหม่/ก้าวไกล รวมถึงแกนนำพรรคคนอื่น ๆ จะสามารถบริหารประเทศ และมีอุดมการณ์ ทำให้เป็นความหวังที่จะพัฒนาประเทศได้ จากความชื่นชอบในหัวหน้าพรรค หรือคนอื่น คนกลุ่มนี้ได้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคในลักษณะต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก และทวิตเตอร์ ผ่านแฮชแท็กต่าง ๆ รวมทั้งเป็นฐานคะแนนในการเลือกตั้ง ส่งผลให้พรรคได้รับคะแนนเสียงจำนวนมาก

           นอกจากนี้ จะเห็นว่าผู้สนับสนุนไม่ยึดโยงอยู่ในระบบราชการที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร เขาเหล่านี้อยู่ในภาคที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ไม่มีอภิสิทธิ์ในเรื่องต่าง ๆ มากนัก จึงมีความหวังว่าระบอบประชาธิปไตยจะสร้างทางเลือกและเสรีภาพในชีวิต “พรรคนี้เป็นพรรคแห่งความหวัง” ของคนหลากหลายกลุ่ม12 ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่สนับสนุนพรรคไม่ได้มีแต่คนรุ่นใหม่ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่มีคนหลากอายุ หลายชนชั้น แต่มีอุมการณ์คล้าย ๆ กัน พรรคอนาคตใหม่โดยนัยนี้จึงเป็นตัวแทนอุดมการณ์ฝ่ายก้าวหน้า จนมีคำกล่าวว่าเขาคือ “ทายาทของคณะราษฎร”13 ที่เป็นทั้งทิศทางธงนำของการเปลี่ยนแปลง และถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้าอยู่ในที

           พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลได้ใช้การสื่อสารผ่านทั้งเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ จนได้รับเลือกตั้งจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของแบบใหม่ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมข้างต้น เกิดท่ามกลางบริบทของสื่อออนไลน์ที่ได้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มต่าง ๆ พื้นที่ออนไลน์เปิดให้แสดงออกทางการเมืองมากขึ้น พลังของสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นสื่อกลางของการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนรุ่นใหม่ ที่นำมาสู่การรวมกลุ่มเพื่อสร้างบทสนทนาในประเด็นต่าง ๆ


ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

           อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาคัดง้างกับความคิดจารีตในพื้นที่การเมืองผ่านการเลือกตั้ง นำมาสู่ความพยายามในการใช้ความคิดความไม่แน่นอนเพื่ออธิบายการเมืองไทย ในเชิงทฤษฎีเพื่อที่จะช่วยให้เข้าใจสังคมไทยมากขึ้น อีกทั้ง อุดช่องว่างของแนวคิดอื่นให้รอบด้านมากขึ้น การมองการเมืองในเชิงสถาบันมักติดยึดอยู่ชนชั้นนำในฐานะผู้กระทำการ C. Wright Mills (1959) The Power elite14  ที่ชี้ให้เห็นความแน่นหนาของเครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำในอเมริกาที่กำหนดทิศทางทางการเมืองและสังคม ซึ่งไม่ต่างจากสังคมไทยก็ตกอยู่ภายใต้สภาวะนั้นมาหลายทศวรรษ โดยไม่มีกลังอื่น ๆ มาทัดทานคัดง้าง ทำให้การมองการเมืองไทยหยุดนิ่ง และไม่เห็นผู้กระทำการอื่น ดังที่มีการอธิบายสังคมไทยผ่านเครือข่ายชนชั้นนำที่ใช้กรอบคิดแบบเครือข่ายเชิงสถาบัน (Network Monarchy)15  และรัฐพันลึก16 (Deep State) เพื่อสร้างหลักประกันระยะยาวให้กับผู้มีอำนาจ17  แต่การรัฐประหารทั้งสองครั้งในปี 2549 และ 2557 ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นจากการสร้างเครือข่ายเชิงสถาบันส่วนบุคคลและสถาบันเชิงเครือข่าย การที่รัฐและเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามที่จะรวบอำนาจมากขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดการต่อต้าน ดังนั้นการเกิดขึ้นของกลุ่มก้อนที่เกิดขึ้นมาต่อต้านคัดง้าง กับการพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพทางอำนาจก่อให้เกิดผลที่คาดเดาไม่ได้ อาทิการเกิดขึ้นของภูมิทัศน์การเมืองแบบใหม่ผ่านการเลือกตั้งและนโยบายประชานิยม รวมถึงการเกิดขึ้นของคนกลุ่มใหม่ ที่เข้ามาท้าทายตั้งคำถามต่ออำนาจนำเดิม ในกระบวนการที่พยายามสร้างความแน่นอนโดยมีต้นทุนที่วางอยู่บนความไม่แน่นอนของเครือข่าย อีกทั้ง ลดทอนความชอบธรรมของเครือข่ายเชิงสถาบันที่มีการต่อต้านอย่างต่อเนื่องทั้งคนเสื้อแดง18  พรรคอนาคตใหม่19  การเกิดขึ้นของคนกลุ่มใหม่ เช่น แนวร่วมเยาวชน นิสิต นักศึกษาในปี 256320 เป็นต้น

           อีกทั้ง ความไม่แน่นอนอันนี้ผู้มีอำนาจไม่สามารถที่จะควบคุมได้ รัฐประหารจึงเป็นภาวการณ์ หรือสร้างภาวการณ์ของความไม่แน่นอนขึ้นมา (Schedler 2013) แม้ว่าสังคมไทยจะรู้อยู่ว่ารัฐประหารเป็นความแน่นอนแบบหนึ่งในแง่ที่คอยคุมความความเป็นไปทางการเมืองแบบรัฐพันลึก รัฐประหารจึงเป็นความพยายามของฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะควบคุมความไม่แน่นอนในทางการเมือง เพื่อสร้างเสถียรภาพของชนชั้นนำ รัฐประหารจึงมีสถานะเป็นเครื่องมือที่สร้างหลักประกันของความแน่นอนแบบหนึ่ง ที่เครือข่ายชนชั้นนำรวบอำนาจ และแบ่งสรรอำนาจในหมู่ของผู้ซึ่งอยู่ในฝ่ายเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความไม่แน่นอนขึ้นเช่นกันผ่านการต่อต้านและเคลื่อนไหวของคนกลุ่มใหม่ ๆ ที่ชนชั้นนำไม่สามารถควบคุมได้ การรัฐประหารจึงผุดและเผยให้เห็นอำนาจที่เร้นรัฐกลายมาเป็นอำนาจที่เปิดเผยที่สร้างมันสร้างความไม่แน่นอนให้อำนาจเชิงเครือข่ายเดิมอีกทางหนึ่ง21

           ขณะที่ จิราภรณ์ ดำจันทร์22 ได้ให้ความหมายของประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่นไว้ว่า “...คือปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการทําให้เป็นประชาธิปไตยอันมีข้อบ่งชี้หลายประการ สําคัญที่สุดคือ การรัฐประหาร นับแต่หลัง พ.ศ. 2475 เกิดการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง อีกประการคือ รัฐธรรมนูญไทยไม่อาจสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องรักษารัฐธรรมนูญร่วมกัน ซ้ำยังกลับกลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนําในการรักษาอํานาจทางการเมือง มากกว่าที่จะมุ่งเน้นการจรรโลงประชาธิปไตย การขับเคี่ยวต่อสู้ภายในหมู่ชนชั้นนํามักนํามาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมือง และมักจบลงด้วยการรัฐประหารที่ส่งผลให้ประเทศไทยต้องออกจากกระบวนการทําให้เป็นประชาธิปไตย อันสะท้อนถึงการที่ชนชั้นนําไม่มีเจตนาที่จะสถาปนาและจรรโลงประชาธิปไตยให้มั่นคงอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น คือบทสรุปที่หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะไม่ใช่ บทสรุป และ / หรือจุดจบของการทําให้เป็นประชาธิปไตย ที่สักวันอาจตั้งมั่นในประเทศแห่งนี้”  ได้สะท้อนให้เห็นสภาวะการณ์ทางการเมืองไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และจากการศึกษาของ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี23 (2560) พบว่าสาเหตุที่ประชาธิปไตยไทยไม่ตั้งมั่นมาจาก “ความแตกแยกและทะเลาะกันเองในฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ปรากฎชัดว่าผู้นำทางการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และชนชั้นนำในสังคมมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการวางรากฐานประชาธิปไตย ขาดฉันทามติในการปฎิรูปรัฐธรรมนูญ ทั้งในเนื้อหาและกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ การดำรงอยู่ของกองทัพเหนือรัฐบาลพลเรือน และการที่การเลือกตั้งของไทยยังไม่เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับ ว่าเป็นเครื่องมือในการแก้วิฤติการเมืองและเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย” ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดการรัฐประหารและทำให้กระบวนการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงัก24 หรือที่ลิขิต ธีรเวคิน (2553) ให้นิยามว่าเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง25 แม้มีการเลือกตั้งบางยุคก็เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม แต่นายกรัฐมนตรีและโครงสร้างอำนาจยังผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำส่วนน้อย26 หรือแม้จะชนะเลือกตั้งก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เฉกเช่นการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 การที่การเมืองขาดความแน่นอน ทำให้ง่ายต่อการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของเหล่าอภิชนส่วนน้อย และเป็นการบ่อนทำลายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปด้วยในตัว27

           อีกทั้ง ความไม่มั่นคงของระบอบรัฐสภาส่งผลต่อประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น ตัวอย่างเช่น ความถดถอยของพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ จนแทบหมดสภาพความเป็นพรรคการเมือง มีสถานะเพียงกลุ่มการเมืองเท่านั้น หรือการที่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ในการเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 ก็ชี้ให้เห็นกลไกเชิงอำนาจของกลุ่มอภิชนส่วนน้อยในการใช้อำนาจเร้นรัฐในการควบคุมทิศทางทางการเมืองให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา28 ความไม่ตั้งมั่นนี้คงส่งผลต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนไปอีกยาวนาน แต่ในอีกแง่ ก็ทำให้คนตาสว่างเห็นความพิกลพิการของระบอบ และอำนาจเร้นรัฐหรือ deep state ยิ่งโผล่พ้นน้ำให้คนเห็นมากขึ้น

           กล่าวถึงที่สุด แม้การเลือกตั้งในทศวรรษ 2540 และที่สำคัญคือปี 2562 และ 2566 จะเกิดภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ ๆ จากการเลือกตั้งที่มาคัดง้างการเปลี่ยนผ่านแบบเดิม29 แต่ก็ไม่เพียงพอมที่จะทำให้ประชาธิปไตยในสังคมตั้งมั่นได้ ถึงที่สุด การเลือกตั้งปี 2566 จะเหมือนว่าเป็นการขีดเส้นยุคสมัยระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่พึ่งเริ่ม การขีดเส้นระหว่างพรรคที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยกำลังเดินทาง ปฐมบทของการต่อสู้ระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่า เป็นเส้นเรื่องของการสร้างความไม่มั่นคงให้ระบอบเผด็จการ ต้องเปลี่ยนการเขียนใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่บทสรุปต้องเป็นรัฐบาลข้ามขั่ว เป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบอบจารีตเดิม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยยังอยู่ในวังวนของความไม่แน่นอน


รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

จิราภรณ์ ดำจันทร์. 2562. ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น. กรุงเทพฯ : มติชน.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2559. รัฐพันลึกกับร่างรัฐธรรมนูญ. ประชาไท. ออนไลน์. https://prachatai.com/journal/2016/04/65105.

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, บรรณาธิการ. 2556. Becoming red / กำเนิดและพัฒนาการเสื้อแดงในเชียงใหม่. เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

พรรค อนาคตใหม่ - Future Forward. สืบค้นวันที่ 30 มีนาคม 2563 https://www.facebook.com/FWPthailand/.

พรรค อนาคตใหม่ - Future Forward สืบค้นวันที่ 30 มีนาคม 2563 https://www.facebook.com/FWPthailand/.

พรรคพลังประชารัฐ. สืบค้นวันที่ 30 เมษายน 2563 https://www.facebook.com/PPRPThailand/.

พรรคพลังประชารัฐ. สืบค้นวันที่ 30 เมษายน 2563 https://www.facebook.com/PPRPThailand/.

ลิขิต ธีรเวคิน. 2553. พิมพ์ครั้งที่ 8 แก้ไขปรับปรุง. การเมืองการปกครองของไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศุทธิกานต์ มีจั่น. 2562. บทวิจารณ์หนังสือ ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น. วารสารการเมืองการปกครอง 9: 2 พฤษภาคม – สิงหาคม.

สัมภาษณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราฎรพรรคก้าวไกล. วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ณ สัปปายะสภาสถาน.

สัมภาษณ์นักเรียน. นักศึกษาในค่ายพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2563 ณ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่.

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. 2560. เส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่ไม่ย้อนกลับ : ปัจจัยเชิงสถาบันการเมืองกับประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า.

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. 2561. ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. 2563. เปรมาธิปไตย : การเมืองไทยระบอบไฮบริด. กรุงเทพฯ : Illuminations Editions.

อนุสรณ์ อุณโณ และคณะ. 2565. โครงการวิจัย “ให้มันจบที่รุ่นเรา”: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย. ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์. 2556. ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อภิชาต สถิตนิรามัย. 2566. “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย”: ผลการเลือกตั้ง 2566 “สองนัคราประชาธิปไตย”. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 19. 2. 261–286.

อันนา หล่อวัฒนตระกูล 2562 “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกับพลังคนรุ่นใหม่ในวันที่การเมืองไทยแปรผัน” ประชาไท สืบค้นวันที่ 20 มกราคา 2563 https://prachatai.com/journal/2019/03/81669

อาสา คำภา. 2561. พลวัตสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย-ข้อสังเกตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนําไทย พ.ศ. 2495 –2535. วารสารไทยคดีศึกษา 15: 2 กรกฎาคม - ธันวาคม.

ภาษาอังกฤษ

Kanokrat Lertchoosakul. 2021. “The White Ribbon Movement: High School Children in the 2020 Thai Youth Protests.” Critical Asian Studies. DOI: 10.1080/14672715.2021.1883452.

McCargo Duncan. and Anyarat Chattharakul. 2020. Future Forward : the rise and fall of a Thai political party. Copenhagen.Denmark : NIAS Press.

McCargo. Duncan. 2005. Network Monarchy and Legitimacy Crisis in Thailand. The Pacific Review, 18(4), 499.

Mérieau. Eugénie. 2016 Thailand’s Deep State. Royal Power. and the Constitutional Court (1997–2015) Journal of Contemporary Asia, 46, 3:445-466.

Mills, C. Wright. 1959. The Power elite. New York : Oxford University Press.

Saowanee Alexander. 2021. “Sticky Rice in the Blood: Isan People’s Involvement in Thailand’s 2020 anti-government Protests.”Critical Asian Studies. DOI: 10.1080/14672715.2021.1882867.

Schedler. A. 2013. The Uncertainty: Sustaining and Subverting Electoral Authoritarianism. Oxford: Oxford University Press.


1  ดูเพิ่มใน, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. 2561. ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

2  อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์. 2556. ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. และ อภิชาต สถิตนิรามัย. 2566. “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย”: ผลการเลือกตั้ง 2566 “สองนัคราประชาธิปไตย”. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 19, 2. 261–286. และ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, บรรณาธิการ. 2556. Becoming red / กำเนิดและพัฒนาการเสื้อแดงในเชียงใหม่. เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

3  เกิดจากการทำงานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์หลายปริเฉทของคนที่เอ่ยชื่อและไม่เอ่ยชื่ออีกมากมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดตั้งคือกระบวนการหนึ่งทางการเมือง ถ้าเราปฏิเสธก็ไม่มีทางที่จะได้ ส.ส. เขตในอนาคต ถ้าเราจะคืนความเป็นการเมืองให้แก่การเมืองทุกพรรคก็อย่ากลัวการจัดตั้ง ส่วนใครจะเสวยผลแห่งการจัดตั้งนั้น ๆ คนที่เขาทำก็อาจไม่ได้คิดหรอก ถึงคิดก็ไม่บอกมาโต้งๆ และการจัดตั้งก็มีหลายระดับ หลายมิติ ไม่ได้หดแคบอย่างที่เราเข้าใจเอาแบบง่าย ๆ การตีกรอบการจัดตั้งให้แคบจนนำมาสู่มิราจ (mirage) ทางความคิดเป็นภาพลวง ให้เราไม่เข้าใจปรากฏการณ์

4  สัมภาษณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราฎรพรรคก้าวไกล วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ณ สัปปายะสภาสถาน

5  อนุสรณ์ อุณโณ และคณะ. 2565. โครงการวิจัย “ให้มันจบที่รุ่นเรา”: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย. ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

6  McCargo, Duncan. 2005. Network Monarchy and Legitimacy Crisis in Thailand. The Pacific Review, 18(4), 499. และ Mérieau, Eugénie. 2016 Thailand’s Deep State, Royal Power, and the Constitutional Court (1997–2015), Journal of Contemporary Asia, 46, 3:445-466.

7  McCargo, Duncan, and Anyarat Chattharakul. 2020. Future Forward : the rise and fall of a Thai political party. Copenhagen, Denmark : NIAS Press.

8  อันนา หล่อวัฒนตระกูล 2562 “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกับพลังคนรุ่นใหม่ในวันที่การเมืองไทยแปรผัน” ประชาไท สืบค้นวันที่ 20 มกราคา 2563 https://prachatai.com/journal/2019/03/81669

9  พรรค อนาคตใหม่ - Future Forward สืบค้นวันที่ 30 มีนาคม 2563 https://www.facebook.com/FWPthailand/

10  พรรคพลังประชารัฐ สืบค้นวันที่ 30 เมษายน 2563 https://www.facebook.com/PPRPThailand/

11  บัญชีผู้ในทวิตเตอร์ในไทยอย่างรวดเร็ว จาก 2.7 ล้านบัญชี ในปี 2557 เป็น 4.1 ล้านบัญชี ในปี 2562 (บีบีซีไทย 2562ก) รวมทั้งจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คที่เพิ่มขึ้นโดยในปี ปี 2558 มีบัญชีผู้ใช้จำนวน 35 ล้านบัญชี แต่ในปี 2562 มีบัญชีผู้ใช้จำนวน 52 ล้านบัญชี ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 เท่าในช่วง 5 ปี ซึ่งเทคโนโลยี

12  ดูเพิ่มใน, อนุสรณ์ อุณโณ และคณะ. 2565. โครงการวิจัย “ให้มันจบที่รุ่นเรา”: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย. ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

13  สัมภาษณ์นักเรียน นักศึกษาในค่ายพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2563 ณ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

14  Mills, C. Wright. 1959. The Power elite. New York : Oxford University Press.

15  McCargo, Duncan. 2005. Network Monarchy and Legitimacy Crisis in Thailand. The Pacific Review, 18(4), 499.

16  Mérieau, Eugénie. 2016 Thailand’s Deep State, Royal Power, and the Constitutional Court (1997–2015), Journal of Contemporary Asia, 46, 3:445-466.

17  อาสา คำภา. 2561. พลวัตสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย-ข้อสังเกตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนําไทย พ.ศ. 2495 – 2535. วารสารไทยคดีศึกษา 15: 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม).

18  อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์. 2556. ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

19  McCargo, Duncan, and Anyarat Chattharakul. 2020. Future Forward : the rise and fall of a Thai political party. Copenhagen, Denmark : NIAS Press.

20  Saowanee Alexander. (2021). “Sticky Rice in the Blood: Isan People’s Involvement in Thailand’s 2020 anti-government Protests,” Critical Asian Studies. DOI: 10.1080/14672715.2021.1882867. Kanokrat Lertchoosakul. 2021. “The White Ribbon Movement: High School Children in the 2020 Thai Youth Protests,” Critical Asian Studies. DOI: 10.1080/14672715.2021.1883452 และอนุสรณ์ อุณโณ และคณะ. 2565. โครงการวิจัย “ให้มันจบที่รุ่นเรา”: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย. ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

21  นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2559. รัฐพันลึกกับร่างรัฐธรรมนูญ. ประชาไท. (ออนไลน์). https://prachatai.com/journal/2016/04/65105.

22  จิราภรณ์ ดำจันทร์. 2562. ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น. กรุงเทพฯ : มติชน.

23  สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. 2560. เส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่ไม่ย้อนกลับ : ปัจจัยเชิงสถาบันการเมืองกับประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า.

24  ศุทธิกานต์ มีจั่น. 2562. บทวิจารณ์หนังสือ ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น. วารสารการเมืองการปกครอง 9 (2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2562).

25  ลิขิต ธีรเวคิน. 2553. พิมพ์ครั้งที่ 8 แก้ไขปรับปรุง. การเมืองการปกครองของไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

26  อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. 2563. เปรมาธิปไตย : การเมืองไทยระบอบไฮบริด. กรุงเทพฯ : Illuminations Editions.

27  Schedler. A., 2013. The Uncertainty: Sustaining and Subverting Electoral Authoritarianism. Oxford: Oxford University Press.

28  Mérieau, Eugénie. 2016 Thailand’s Deep State, Royal Power, and the Constitutional Court (1997–2015), Journal of Contemporary Asia, 46, 3:445-466.

29  ดูเพิ่มใน, อภิชาต สถิตนิรามัย. 2566. “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย”: ผลการเลือกตั้ง 2566 และ “สองนัคราประชาธิปไตย”. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 19, 2. 261–286.


ผู้เขียน
ผศ.ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร


 

ป้ายกำกับ การเลือกตั้ง ความไม่แน่นอน ระบอบประชาธิปไตย ตั้งมั่น ผศ.ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา