วิพากษ์กฎหมายควบคุมการวิจัย
กฎหมายควบคุมการวิจัยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและตั้งคำถามกับกระบวนการวิจัยรวมถึงการสร้างองค์ความรู้ในสังคม หน้าตาแบบหนึ่งของกฎหมายควบคุมการวิจัยคือการอาศัยหลักจริยธรรม ความเชื่อทางศาสนา และจารีตประเพณีเข้ามาเป็นกรอบอ้างอิง แน่นอนว่าในการดำเนินการวิจัยจําเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานจริยธรรมเป็นตัวกํากับ เพื่อป้องกันไม่ให้การวิจัยนำมาซึ่งสิ่งไม่พึงประสงค์ในลักษณะต่าง ๆ แต่กกฎหมายที่อาศัยหลักการข้างต้นมาดำเนินการโดยอำนาจที่ล้นเกินและไม่น่าไว้วางใจ ไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคมเท่านั้น แต่ยังทำลายเสรีภาพทางปัญญาและความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างรุนแรงด้วย ในสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา เป้าหมายที่สำคัญของการวิจัยคือการสร้างความรู้พื้นฐานในการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ การจำกัดการวิจัยโดยบทบัญญัติทางกฎหมายโดยเฉพาะในหัวข้อที่อ่อนไหวหรือเป็นประเด็นท้าทายโครงสร้างอำนาจและความเข้าใจที่มีอยู่ก่อน ถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายกระบวนการสร้างความรู้และส่งเสริมการเซ็นเซอร์ทางวิชาการในนามของศีลธรรมอันดี เนื้อหาของบทความนี้มุ่งวิพากษ์ผลกระทบที่เป็นปัญหาจากกฎหมายควบคุมการวิจัย โดยเน้นให้เห็นถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับความก้าวหน้าทางวิชาการโดยเฉพาะในสาขามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา
การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ
มานุษยวิทยาและสังคมวิทยาเป็นสาขาวิชาที่มุ่งสำรวจ ท้าทาย และขยับขยายขอบฟ้าของความรู้ทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานสังคม คำอธิบายที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากการท้าทายความคิดที่มีอยู่เดิม เสรีภาพในการถกเถียงและสร้างข้อเสนอจึงนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในโลกวิชาการ แต่กฎหมายควบคุมการวิจัยที่มีพื้นฐานมาจากจริยธรรม จารีตประเพณี และศาสนา บางครั้งกลับทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายที่ต้องการควบคุมการวิจัยมีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือประเด็นวิจัยที่เป็นข้อถกเถียง อาทิ รสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ นิยามของความจริงแท้ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาติ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างที่จารีตแบบเดิมกลายเป็นอุปสรรค อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายลักษณะนี้มักสะท้อนถึงอุดมการณ์ศีลธรรมแบบอนุรักษนิยม โดยมุ่งรักษาสถานะที่เป็นอยู่เดิม (status quo) ผ่านการควบคุมการสร้างความรู้ ประเด็นทางการเมืองที่แอบซ่อนอยู่ในกฎหมายควบคุมการวิจัยจะบีบบังคับให้นักวิจัยหลีกเลี่ยงหัวข้อหรือประเด็นวิจัยที่ท้าทายหลักเกณฑ์ที่มีอำนาจนำในสังคม ซึ่งนับได้ว่าเป็นการจำกัดขอบเขตของการสำรวจและความลุ่มลึกของการค้นคว้าอย่างรุนแรง
ในอินเดีย การวิจัยเกี่ยวกับวรรณะและศาสนามักถูกควบคุมและจำกัดโดยกฎหมายที่สะท้อนถึงคุณค่าทางศีลธรรมของศาสนาฮินดู นักวิชาการที่ทำการวิจัยในหัวข้อที่ท้าทายระบบวรรณะหรือวิพากษ์แนวปฏิบัติทางศาสนามักถูกข่มขู่และดำเนินคดีทางกฎหมาย ผลที่ตามมาในเชิงปฏิบัติคือนักวิจัยมักหลีกเลี่ยงการศึกษาในหัวข้อดังกล่าว อันนำไปสู่การบั่นทอนความรับรู้และความเข้าใจในประเด็นทางสังคมที่สำคัญ (Sahgal et al, 2020) นอกจากนี้ การวิจัยในประเทศมุสลิม เช่น ซาอุดีอาระเบีย ก็มักเผชิญกับข้อจำกัดที่เข้มงวดจากกฎหมายชารีอะฮ์ (Sharia Law) ซึ่งห้ามการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอื่น ๆ รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการของศาสนาอิสลาม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการห้ามการวิจัยเกี่ยวกับการนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม และการสำรวจเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในสังคมมุสลิม ผลที่ตามมาคือการทำให้การวิจัยในหัวข้อเหล่านี้หายไปจากสายตานักวิชาการโลก การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการส่งผลให้ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ถูกจำกัดอยู่ในกรอบอันคับแคบที่ได้รับการยอมรับจากอำนาจทางทางการเมืองและความคิดทางศาสนา (Al-Rasheed, 2013)
การบ่อนทำลายความเที่ยงตรง
กฎหมายที่มีจุดประสงค์ในการปกป้องจริยธรรม จารีตประเพณี และศาสนา มักบ่อนทำลายความถูกต้องเที่ยงตรงทางวิชาการและกระบวนการวิจัยที่ครบถ้วนรอบด้าน การวิจัยในหัวข้อที่ต้องการการศึกษาเชิงลึกบางหัวข้อ เช่น บทบาทและความหลากหลายทางเพศ ความขัดแย้งทางศาสนา และธรรมเนียบปฏิบัติดั้งเดิมในสังคม มักถูกขัดขวางโดยกฎหมายที่จำกัดการวิจัยในประเด็นเหล่านี้ ผลที่ตามมาคือการผลิตงานวิจัยที่มีอคติเอนเอียง ไม่สมบูรณ์ หรือบิดเบือนไปจากความเป็นจริงโดยมีเจตนาในการปกป้องนิยามของความดีงามที่สืบทอดกันมา ส่งผลให้การกล่าวถึงข้อเท็จจริงบางประการกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ในกรณีของอิหร่าน การวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี และความหลากหลายทางเพศถูกจำกัดอย่างเข้มงวด การศึกษาชีวิตของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และประเด็นเรื่องเพศอื่น ๆ จะถูกมองว่าเป็นการต่อต้านศาสนาอิสลามและขัดต่อศีลธรรมอันดีของสาธารณชน นักวิจัยที่สนใจศึกษาประเด็นเหล่านี้ต้องเผชิญกับการคุกคามและการลงโทษ การตีพิมพ์ผลงานวิจัยมักถูกยับยั้ง หรือบางครั้งถูกบังคับให้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักศีลธรรมของอิสลาม (Vakil, 2019) ซึ่งส่งผลให้ความรู้และคำอธิบายที่สำคัญถูกจำกัด มีเนื้อหาที่ลำเอียง ไม่ครบถ้วน อันไม่สามารถสะท้อนความจริงในสังคมได้อย่างสมบูรณ์ จนนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดหรือเจตนาที่จะเพิกเฉยต่อกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง (Bahramitash, 2011) เจตนาในการปกป้องจริยธรรม จารีตประเพณี และศาสนาที่ปรากฏตัวในรูปของกฎหมาย จึงส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการวิจัยรวมไปถึงความตรงไปตรงมาทางวิชาการในวงกว้าง
การกดขี่ทางปัญญา
ผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งของกฎหมายควบคุมการวิจัยที่มีพื้นฐานจากประเด็นทางจริยธรรม จารีตประเพณี และศาสนา คือการกดขี่ข่มเหงการวิพากษ์ให้เห็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข การพิจารณา ประเมินคุณค่า และตัดสิน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการวิพากษ์ ถูกทำให้ตกอยู่ใต้อำนาจของกฎหมายควบคุมการวิจัย ชุดของคุณค่าที่เรียกว่าศีลธรรมอันดีและจารีตประเพณีกลายเป็นสิ่งที่แตะต้องได้ยาก การวิพากษ์ให้เห็นปัญหาและข้อบกพร่องในการวิจัยจะเข้าสู่กระบวนการเซ็นเซอร์ทางวิชาการ ที่ความรู้หรือคำอธิบายบางอย่างต้องถูกกลั่นกรองจากผู้ควบคุม ในแง่ที่ความรู้ทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยามีบทบาทสำคัญในการท้าทายความเข้าใจรวมถึงโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ และตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรม การจำกัดการวิจัยที่ท้าทายอุดมการณ์หลักในสังคมย่อมขัดขวางการสร้างความรู้ใหม่และทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหงทางปัญญา และในขณะเดียวกันนั้นเองก็ยังเป็นการจำกัดความสามารถของนักวิจัยเองด้วย
ในตุรกี การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองความละเอียดอ่อนทางศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอิสลามหรือบทบาทของศาสนาในสังคม นักวิชาการที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นท้าทาย อาทิ ลัทธิฆราวาสนิยม (secularism) หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์มีเนีย (Armenian genocide) มักจะต้องเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมาย การจำคุก หรือแม้แต่การเนรเทศ การบังคับใช้หลักศาสนาหรือศีลธรรมในการวิจัยไม่เพียงแต่เป็นไปเพื่อปราบปรามความรู้และจำกัดเสรีภาพทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดการลดลงของงานวิจัยเชิงวิพากษ์และการสร้างความเข้าใจในประเด็นทางสังคมที่ซับซ้อนด้วย (Akcam, 2012) ในสิงคโปร์ กฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการแสดงออกทางศาสนาและเชื้อชาติได้ถูกใช้เพื่อเซ็นเซอร์การวิจัยบนข้ออ้างว่าผลการศึกษาอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม นักวิชาการที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางชาติพันธุ์หรือศาสนามักต้องเผชิญกับการกดดันและการควบคุมจากรัฐ ซึ่งส่งผลให้คำอธิบายในบางประเด็นถูกปิดกั้นหรือจำกัดอยู่ในแต่ในกรอบที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นความรู้ที่ปลอดภัย (Human Right Watch, 2017)
การบิดเบือนและปิดกั้นความรู้โดยอำนาจ
กฎหมายที่จำกัดการวิจัยซึ่งถูกใช้โดยรัฐบาลหลายประเทศเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนและควบคุมความรู้ โดยมีเป้าหมายในการระงับความเห็นต่างและควบคุมการเล่าเรื่องในประเด็นที่อ่อนไหว ตัวอย่างของกฎหมายในรัสเซียแสดงให้เห็นความพยายามควบคุมความทรงจำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เรื่องบทบาทของสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สอง การควบคุมความทรงจำผ่านการสร้างความรู้และคำอธิบายเป็นตัวอย่างของความพยายามในการบิดเบือนความเป็นจริงและในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมเรื่องเล่าที่รัฐบาลรับรอง (Koposov, 2017) หรือในเกาหลีเหนือ กฎหมายและนโยบายของรัฐถูกใช้ในการควบคุมและเซ็นเซอร์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ผู้นำ หรือระบอบการปกครอง นักวิชาการในเกาหลีเหนือถูกบังคับให้ทำการวิจัยและเผยแพร่งานที่สอดคล้องกับแนวคิดที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น การศึกษาเกี่ยวกับผู้นำจะต้องแสดงออกในทางที่สนับสนุนและเชิดชู หากมีการวิจัยหรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำหรือระบอบการปกครอง พวกเขาอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรง ตั้งแต่การถูกจำคุกไปจนถึงประหารชีวิต (Lankov, 2015)
ในฮังการี การควบคุมและจำกัดการวิจัยที่ท้าทายคุณค่าแบบอนุรักษนิยม เช่น การวิจัยเรื่องเพศสภาพ เกิดขึ้นเมื่อผู้นำและฝ่ายการเมืองขึ้นมามีอำนาจ การสั่งห้ามการศึกษาในประเด็นดังกล่าวถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของการสร้างความรู้และความก้าวหน้าทางวิชาการ กฎหมายที่สั่งห้ามหลักสูตรการศึกษาเรื่องเพศสภาพในปี 2018 เป็นตัวอย่างที่สำคัญของความพยายามในการควบคุมการวิจัยและส่งเสริมอุดมการณ์อนุรักษนิยม (Wilson, 2019) ในประเทศจีน การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการวิจัยในประเด็นอ่อนไหว เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและทิเบต ถือเป็นการกดขี่และบ่อนทำลายความเป็นอิสระของนักวิชาการ โดยผลที่ตามมาคือการบิดเบือนข้อมูลและการควบคุมการเล่าเรื่องที่มีความสำคัญต่อความเข้าใจในสังคม (Amnesty International, 2021)
ผลกระทบต่อความร่วมมือด้านการวิจัย
กฎหมายควบคุมการวิจัยที่มีพื้นฐานจากจริยธรรม จารีตประเพณีและศาสนามักสร้างอุปสรรคที่สำคัญต่อความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ในแง่ที่มานุษยวิทยาและสังคมวิทยาเป็นสาขาวิชาที่ประเด็นการวิจัยมักอาศัยการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม สร้างข้อถกเถียงและข้อเสนอเชิงแนวคิดทฤษฎี ตลอดจนอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติ เมื่อการวิจัยในบางหัวข้อหรือบางประเด็นถูกห้ามไม่ให้ศึกษาเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากประเทศต่าง ๆ จะถูกบั่นทอนไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น ในบางประเทศที่มีกฎหมายอิสลามเข้มงวด การวิจัยเกี่ยวกับศาสนาอื่นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอิสลามจะถูกสั่งห้าม ทำให้การวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิชาการจากประเทศเหล่านี้กับประเทศอื่น ๆ ที่มีเสรีภาพทางวิชาการมากกว่าเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ การเซ็นเซอร์ข้อมูลในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมการวิจัยอย่างเข้มงวดยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในระดับสากลด้วย
ประเทศไทยในสถานการณ์ของความรู้
การควบคุมการวิจัยโดยกฎหมายและอำนาจรัฐเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปและส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสรีภาพทางวิชาการและการสร้างความรู้ รัฐบาลทั่วโลกสามารถกำหนดขอบเขตของการวิจัยซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ แต่ยังมีผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อสถาบันการศึกษาและนำไปสู่การโดดเดี่ยวจากเครือข่ายวิชาการระหว่างประเทศได้อีกด้วย การสำรวจดัชนีเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom Index) ได้ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ทางวิชาการทั่วโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย รายงานดังกล่าวพบว่าเสรีภาพทางวิชาการตกต่ำลงในกลุ่มประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ในปัจจุบัน นักวิชาการทั่วโลกมีเสรีภาพน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีก่อน เพราะในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ของเสรีภาพทางวิชาการดีขึ้นในไม่กี่ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประชากรเพียง 0.7% ของประชากรโลกเท่านั้น (Duke, 2023)
www.indexoncensorship.org
ในประเทศไทย เสรีภาพทางวิชาการลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เมื่อรัฐบาลทหารได้เข้ามาปกครองครองประเทศ การดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ส่งผลกระทบต่อการวิจัยและเสรีภาพทางวิชาการ ภายใต้ทิศทางและเป้าหมายของอำนาจเผด็จการ ขอบเขตของการวิจัย การแลกเปลี่ยน และการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะของนักวิชาการลดลงอย่างรุนแรง การตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จริง ได้ตอกย้ำการจำกัดวงล้อมต่อการศึกษาทางสังคมวัฒนธรรมและปรากฎการณ์ร่วมสมัยเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ของสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะการวิจัยเชิงวิพากษ์ที่มุ่งชี้ให้เห็นการทำงานของอำนาจและความไม่ถูกต้องเป็นธรรมในสังคม กล่าวได้ว่าการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและการควบคุมการวิจัยนับตั้งแต่การรัฐประหารได้สร้างแรงกดดันและข้อจำกัดต่อเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทยอย่างมาก
https://academic-freedom-index.net/
การอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ยกร่างโดยสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และเสนอโดยสภานโยบายการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแวดวงวิชาการไทย ร่างพระราชกฤษฎีกานี้เป็นผลพวงสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 33 (2) ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุครัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดด้านจริยธรรมสำหรับการวิจัยในประเทศไทย โดยกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้เสนอ และเห็นชอบโดยสภานโยบายการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้การวิจัยสอดคล้องกับหลักศาสนา วัฒนธรรม และจารีตประเพณีไทย
ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว คณะรัฐมนตรีรักษาการจะมีมติถอนร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อทบทวนในวันที่ 3 กันยายน 2567 แต่นักวิชาการยังเห็นตรงกันว่าหลักประกันในการรับรองเสรีภาพทางวิชาการยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะต้นตอของกฎหมายดังกล่าวมาจากการบัญญัติให้มีของพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายแม่ นักวิชาการ อาทิ อนุสรณ์ อุณโณ (2567) เห็นว่าข้อความในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนด สอดส่อง วินิจฉัย และบังคับใช้ผลการวินิจฉัย เพียงแค่กำหนดหลักเกณฑ์เป็นแนวทางให้กับนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ก็นับว่าเป็นการอนุมัติตามข้อความในพระราชบัญญัติแล้ว ในขณะที่ อรรถจักร สัตยานุรักษ์ (2567) เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้เพื่อสร้างสังคมแห่งความรู้ให้เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เห็นว่าการแก้ปัญหาจากร่างพระราชกฤษฎีกานี้อย่างถาวรควรไปแก้ไขที่พระราชบัญญัติส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 33 โดยตัดวรรคสองของมาตรานี้ออกไป (มติชนออนไลน์, 2567)
การกำหนดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดจริยธรรม อาจเป็นการสร้างอุปสรรค์ให้กับนักวิจัย โดยเฉพาะในด้านที่การวิจัยมีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือประเด็นที่สำคัญแต่เปราะบางต่ออำนาจและความไม่ถูกต้องเป็นธรรมที่ดำรงอยู่ในคราบของจารีตประเพณี บางหัวข้อหรือประเด็นวิจัยอาจถูกตีความอย่างกว้างขวางโดยเจตนาทางการเมืองในนามของศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อสกัดกั้นการสร้างคำอธิบายที่ไม่เป็นคุณต่อผู้มีอำนาจ นักวิจัยอาจถูกกดดันให้ละทิ้งการศึกษาที่ท้าทายขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี ตลอดจนการนิยามวัฒนธรรมและ อัตลักษณ์ที่ผู้มีอำนาจนำในสังคมเป็นผู้รับรอง นอกจากนี้ มีแนวโน้มอย่างสูงว่าการเกิดขึ้นของกฎหมายทำนองนี้เองอาจกลายเป็นการสร้างกติกาใหม่ในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างสำคัญในความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย ทั้งในแง่ความหลากหลายของงานวิจัยและการขาดการพัฒนาองค์ความรู้ในประเด็นที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว ดังนี้เอง เพื่อการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการและความเป็นอิสระจากการแทรกแซง รวมถึงการไม่ยินยอมให้มีการปิดกั้นข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในทิศทางตรงข้ามกับการควบคุม รัฐควรที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมความคิดวิพากษ์และความก้าวหน้าทางความคิดในสังคม โดยเฉพาะการไม่ปล่อยให้ข้อกำหนดทางกฎหมาย กลายเป็นการขัดขวางเสรีภาพและความก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนการควบคุมความคิดในสังคม
รายการอ้างอิง
มติชนออนไลน์. (2567, 6 กันยายน). อาจารย์ยังห่วง กม. คุมเข้มงานวิจัย แม้ครม.จะถอนแล้ว แต่ พ.ร.บ. ต้นเรื่องขัด รธน. แนะรื้อทิ้งทั้งมาตรา. https://www.matichon.co.th/politics/news_4776401
อรรถจักร สัตยานุรักษ์. (2567). ความเห็นและข้อเสนอต่อ“พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”. https://shorturl.at/q4LqA
อนุสรณ์ อุณโณ. (2567, 1 กันยายน). ความเห็นและข้อเสนอต่อ“พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” . https://shorturl.at/fBZ9d
Akcam, T. (2012). The Young Turks' Crime Against Humanity: The Armenian Genocide and Ethnic Cleansing in the Ottoman Empire. NJ: Princeton University Press.
Al-Rasheed, M. (2013). A Most Masculine State: Gender, Politics and Religion in Saudi Arabia. Cambridge: Cambridge University Press.
Amnesty International. (2021). In the Name of Counter-terrorism: Human Rights Violations under China's National Security Laws. Amnesty International.
Bahramitash, R. (2011). Gender in Contemporary Iran: Pushing the Boundaries. NY: Routledge.
Duke, M. (2023). Academic Freedom under Threat for More Than 50% of World’s Population. https://www.indexoncensorship.org/2023/03/academic-freedom-under-threat-for-more-than-50-of-worlds-population/
Human Right Watch. (2017). Kill the Chicken to Scare the Monkeys: Suppression of Free Expression and Assembly in Singapore. Human Right Watch.
Koposov, N. (2017). Memory Laws, Memory Wars: The Politics of the Past in Europe and Russia. Cambridge: Cambridge University Press.
Sahgal, N. et al. (2021). Religion in India: Tolerance and Segregation. Pew Research Center
Wilson, L. (2019). State Control over Academic Freedom in Hungary Threatens All Universities. https://www.theguardian.com/higher-education-network/2018/sep/06/state-control-over-academic-freedom-in-hungary-threatens-all-universities
ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ วิพากษ์ กฎหมาย ควบคุม การวิจัย วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์