ประชาธิปไตยแบบอาณานิคม
National endowment for democracy (NED) หรือ กองทุนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ จัดตั้งโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1983 โดยมุ่งหวังจะให้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและมีอิสระในการทำงาน มีภารกิจหลักคือการให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกที่ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายสนับสนุนองค์กรในกลุ่มประเทศที่ยังคงปกครองแบบเผด็จการ โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก กลุ่มลาตินอเมริกา แอฟริกาและเขตเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1980 ขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตยังคงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดสภาวะสงครามเย็นทั่วโลก ในสมับประธานาธิบดี Ronald Reagan มีการเน้นนโยบายสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิด เอ็นอีดีจึงเกิดขึ้นโดยงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1990 เอ็นอีดีได้ผลิตวารสารประชาธิปไตย และในปี ค.ศ.1999 จัดตั้ง World Movement for Democracy ปัจจุบัน เอ็นอีดีให้ทุนสนับสนุนองค์กรด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยใน 130 ประเทศทั่วโลก
เงินทุนของเอ็นอีดีส่งให้กับองค์กรหลัก 4 องค์กรเพื่อนำไปสนับสนุนหน่วยงานย่อย ๆ ในต่างประเทศ องค์กร 4 แห่ง ประกอบด้วยสถาบันสหภาพการค้าเสรีแห่ง AFL-CIO (the Free Trade Union Institute of the AFL-CIO)(FTUI), ศูนย์วิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศของหอการค้าสหรัฐอเมริกา (the Center for International Private Enterprise of the U.S. Chamber of Commerce), สถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติเพื่อกิจการระหว่างประเทศ (the National Democratic Institute for International Affairs) (NDI) และ สถาบันสาธารณรัฐนานาชาติ (the International Republican Institute) (IRI) การส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตยมีเป้าหมายที่กลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนให้คนเหล่านี้แสดงออกทางความคิด ต่อต้านอำนาจเผด็จการ
และผู้ปกครองที่มีหัวอนุรักษ์นิยม ตัวอย่างเช่น ในประเทศอียิปต์ เอ็นอีดีให้เงินสนับสนุนองค์กรที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
ในปี ค.ศ.2022 มีการประท้วงเกิดขึ้นในอิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ยอมจำนนต่อสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้มีนักข่าวของ the Voice of America Persian Service ได้เผยแพร่ภาพที่สร้างความตื่นกลัวต่อสาธารณะซึ่งอ้างแหล่งที่มาไม่ได้ มีการเปิดเผยว่านักข่าวผู้นี้คือ Masih Alinejad ได้รับเงินจากเอ็นอีดีจำนวน 628,000 เหรียญสหรัฐระหว่างปี ค.ศ.2015-2022 รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานที่ต่อต้านรัฐบาลและสร้างข่าวเท็จ รวมถึงตีพิมพ์บทความในวารสารประชาธิปไตยเพื่อโจมตีรัฐบาลอิหร่าน ถือเป็นการแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยอาศัยนักข่าวท้องถิ่น โดยหวังว่าจะเป็นการกัดกร่อนผู้ปกครองของอิหร่าน ในช่วงเหตุการณ์ Arab Spring เอ็นอีดียังสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมให้ผลิตสื่อออนไลน์เพื่อโจมตีผู้ปกครองในกลุ่มประเทศอาหรับและชักจูงให้เกิดการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนผู้นำประเทศ
ในปี ค.ศ.2004 เอ็นอีดียังให้เงินจำนวน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับชาวยูเครนที่ออกมาต่อสู้กับรัฐบาล ระหว่างปี ค.ศ.2007-2015 เอ็นอีดีให้เงินกับองค์กรพัฒนาเอกชนในยูเครนจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้เงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในการผลิตสื่อออนไลน์เพื่อชักจูงให้ชาวยูเครนออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาล โดยเฉพาะการทำให้เกิดความแตกแยกทางเชื้อชาติในยูเครน เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีเหนือ เอ็นอีดีเข้าไปสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อวิจารณ์การทำงานของผู้นำรัฐบาลเกาหลีเหนือ นอกจากนั้น เอ็นอีดียังเข้าไปสนับสนุนสื่อและองค์กรที่ต่อต้านรัฐในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย เม็กซิโก และคิวบา
ประเทศที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา เช่น เวเนซุเอล่า เฮติ และฮอนดูรัส แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีการเลือกตั้ง ให้สิทธิประชาชนในการเลือกตัวแทนไปเป็นรัฐบาล แต่ถ้าผู้นำประเทศที่ชนะเลือกตั้งยังคงต่อต้านสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ก็ยังคงถูกประเมินว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เอ็นอีดีจะเข้าไปสนับสนุนกลุ่มคนที่ต้องการต่อต้านรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ โดยใช้เป็นตัวแทนโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา เช่น ปลุกเร้าให้เกิดการประท้วงและการจราจลในท้องถนน สิ่งนี้เท่ากับว่าเอ็นอีดีกำลังสร้างนักประท้วงมืออาชีพ เพราะคนเล่านี้จะได้เงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การกระทำของเอ็นอีดีจึงดูเหมือนการละเมิดเสรีภาพของประเทศที่ไม่ยอมจำนนต่อสหรัฐอเมริกา (Royden, 2018)
ในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่าเอ็นอีดีทำตัวเหมือน “ถุงมือสีขาว” ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานที่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของประเทศต่าง ๆ ยุยงให้เกิดความแตกแยกและการเผชิญหน้าของคนในประเทศ บิดเบือนความคิดของสาธารณะ และแทรกซึมทางอุดมการณ์ให้คนหลงเชื่อในความคิดแบบอเมริกัน การกระทำของเอ็นอีดีจึงเป็นตัวแทนของซีไอเอ (สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ Central Intelligence Agency) โดยเข้าไปแทรกแซงองค์กรภาคประชาชนเพื่อสืบหาข้อมูลที่จะเป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกา (Blum, 2006) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังเอ็นอีดี โดยให้เงินสนับสนุนการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ.2023 เอ็นอีดีได้งบประมาณสูงถึง 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาทำงานร่วมกับเอ็นอีดี เพื่อนำข้อมูลมาใช้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะเข้าไปตรวจสอบและติดตามการทำงานของเอ็นอีดีอย่างใกล้ชิด และเอ็นอีดีต้องส่งรายงานตรงต่อรัฐสภาและประธานาธิบดี
Scott and Steele (2005) กล่าวว่าการให้ทุนของ national endowment for democracy (NED) มิได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยกับประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุน การศึกษาในช่วงทศวรรษ 1990 พบว่าเงินทุนที่ส่งให้จะไปอยู่กับองค์กรแรงงานและภาคประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้คนเหล่านี้มีงบประมาณสำหรับทำกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิไปตยตามแบบอเมริกัน ประเทศที่สหรัฐอเมริกามองว่าเป็นเผด็จการ เช่น จีน เกาหลีเหนือ เซอร์เบีย คิวบา ซูดาน เวเนซุเอล่า และเมียนมา จะมีองค์กรเอกชนรับทุนจากเอ็นอีดีเพื่อนำไปเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตยในประเทศ สิ่งนี้คือการต่อต้านกลุ่มอำนาจซึ่งมักจะเป็นผู้นำประเทศที่ไม่ยอมจำนนต่อสหรัฐอเมริกา และกลุ่มอำนาจเหล่านี้จะถูกประทับตราว่าเป็นเผด็จการ
ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอ็นอีดี มีดังต่อไปนี้ (www.fmprc.gov.cn, 2024)
1. การสมรู้ร่วมคิดกับองค์กรต่าง ๆ ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่น
การดำเนินหลักของเอ็นอีดีคือในการสนับสนุนสื่อที่เชียร์รัฐบาลอเมริกัน ปลูกฝังและสร้างนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ให้เงินกับหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเสรีภาพในกลุ่มประเทศอาหรับ รัสเซีย อิหร่าน คิวบา และเม็กซิโก สนับสนุนนักต่อสู้ที่อยู่นอกประเทศที่ต้องการโจมตีรัฐบาลของประเทศตนเอง ร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อโจมตีผู้นำที่เป็นเผด็จการ
2. การนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นอย่างไม่ถูกต้อง
เอ็นอีดีใช้วารสารประชาธิปไตยเป็นกระบอกเสียงเพื่อโจมตีประเทศอื่นที่ยังไม่ดำเนินตามแนวทางประชาธิปไตยแบบอเมริกัน (American-style democracy) เช่นตำหนินายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ว่าเป็นผู้ที่ทำลายบรรทัดฐานของประชาธิปไตย รวมทั้งโจมตีคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC) ว่าเป็นจอมเผด็จการ และเข้าไปสนับสนุนกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลอาหรับ โดยปลุกเร้าให้สังคมมีความตึงเครียดและทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสื่อไม่มีเสรีภาพ
3. บิดเบือนและแทรกแซงการเลือกตั้งของประเทศอื่น
เอ็นอีดีเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งในเซอร์เบียในช่วงปี ค.ศ.2022-2023 โดยพยายามช่วยเหลือกลุ่มผู้สมัครที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและสนับสนุนสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งในเซอร์เบีย รวมถึงให้เงินจำนวน 786,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนเว็บไซต์ Rappler ของประเทศฟิลิปปินส์ในการชักจูงให้คณะกรรมการเลือกตั้งเชื่อ ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อีกทั้งยังให้เงินสนับสนุนมูลนิธิเพื่อประชาธิปไตยในอิหร่านเพื่อก่อกวนการเลือกตั้ง
4. ยุยงให้เกิดความแตกแยกและเผชิญหน้าเพื่อบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศอื่น
เอ็นอีดีมีเป้าหมายที่จะทำให้รัฐบาลต่าง ๆ ยอมรับและเข้าข้างสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีจุดยืน แข็งกร้าวและไม่โอนเอียงเข้ากับสหรัฐอเมริกา เอ็นอีดีจะเข้าไปแทรกแซงในประเทศเหล่านั้น เช่น สนับสนุนกองกำลังแยกดินแดนในไต้หวันเพื่อเป็นอิสระจากจีน ร่วมมือกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของไต้หวันเพื่อสร้างภาคีเรียกร้องประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออก และมอบเหรียญยกย่องนาย ไช่ อิงเหวิน ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในปี ค.ศ.2023 รวมถึงให้การสนับสนุนกองกำลังต่อต้านจีนในฮ่องกง องค์กร Hong Kong Watch และสภาอุยกูร์โลก นอกจากนั้นยังสนับสนุนองค์กรและนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระจากจีน (Ping, 2021)
5. การประดิษฐ์ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด
ผู้บริการของเอ็นอีดีให้สัมภาษณ์สื่อและใส่ร้ายว่าจีนใช้วิธีการทางเทคนิคและ AI เพื่อตรวจตราพลเมืองในประเทศ มีการสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนในเซอร์เบียและซีเอ็นเอ็นสาขาเซอร์เบียเพื่อกล่าวโทษรัฐบาลจีนในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แรงงานและการทุจริต ให้เงินสนับสนุนนักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีเหนือที่ต้องการประชาธิปไตย เอ็นอีดีใช้คนเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงเพื่อโจมตีรัฐบาลเกาหลีเหนือผ่านสื่อหลายประเภท รวมถึงสนับสนุนสื่อและองค์กรพัฒนาเอกชนในอิหร่านเพื่อโจมตีรัฐบาลอิหร่าน
6. การใช้ “กิจกรรมทางวิชาการ” เป็นเครื่องปกปิดการแทรกแซงและการแทรกซึม
เอ็นอีดีให้เงินสนับสนุนศูนย์ธรรมาภิบาลเพื่อนโยบายสาธารณะในประเทศอิรักเพื่อให้จัดลำดับอิรักเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยต่ำและให้ฉายาอิรักว่าเป็นประเทศที่อยู่ในช่วงปลี่ยนผ่านจากการเป็นเผด็จการ แต่ชาวอิรักไม่เห็นด้วยกับการตีตราดังกล่าว นอกจากนั้น ยังให้เงินสนับสนุนศูนย์วิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนเกินมาตรฐานของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ให้เงินสนับสนุนเว็บไซต์ daktilo1984.com ของ ตุรเคียเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ให้เงินองค์กรในยูเครนเพื่อสร้างข้อมูลที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา
การทำงานของเอ็นอีดียังถูกโจมตีโดยชาวอเมริกัน เช่น อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รอน พอล กล่าวว่าเอ็นอีดีล้างผลาญเงินภาษีของชาวอเมริกันไปจำนวนมากเพื่อสนับสนุนนักการเมืองต่างชาติและพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ในทศวรรษ 1980 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บาร์นีย์ แฟรงค์ เคยชี้แจงว่าควรจะลดงบประมาณสนับสนุนให้กับเอ็นอีดีและควรนำเงินไปใช้ทำวิจัยเพื่อรักษาโรคมะเร็งและพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สตีเฟ่น คินเซอร์ อดีตผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทม์ เขียนบทความวิจารณ์ว่าเอ็นอีดีร่วมมือกับ CIA และ USAID เพื่อสนับสนุนกองกำลังผู้ก่อความไม่สงบในประเทศอื่น ๆ เพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองที่สหรัฐอเมริกาไม่ชอบ โดยเฉพาะในคิวบาและนิคารากัว เอ็นอีดีจึงเป็นกลไกที่สร้างระบอบที่เอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐอเมริกา โดยไม่คำนึงถึงบริบทสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันของประเทศอื่น
ในปี ค.ศ.2015 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียกล่าวว่าเอ็นอีดีเป็นหน่วยงานที่ไม่น่าพึงปรารถนา โจมตีว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถ้อยคำ เสแสร้งอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการ “เป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ที่เกิดกับพลเมืองรัสเซีย การแทรกแซงของเอ็นอีดีทำลายความมั่นคงในประเทศรัสเซีย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งรัสเซีย เนล มูคิตอฟ กล่าวว่ากิจกรรมของเอ็นอีดีส่งผลกระทบต่อคนหนุ่มสาวในรัสเซีย โดยพยายามกัดกร่อนความรักชาติของพวกเขา และมองข้ามบทบาทของรัสเซียในระเบียบโลกสมัยใหม่ ในปี ค.ศ.2008 นักข่าวชาวฝรั่งเศส เฟรเดริก ชาร์เปียร์ พิมพ์หนังสือเรื่อง CIA in France: 60 Years of Interference in French Affairs ระบุว่าเอ็นอีดีอาศัยเงินจากหน่วยงานสามแห่ง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา The United States Information Agency (USIA) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Agency for International Development หรือ USAID) และให้บริการตามนโยบายการทูตและการทหารของสหรัฐอเมริกา
เธียร์รี เมย์สซาน เจ้าของเว็บไซต์ Voltaire Network ในฝรั่งเศสกล่าวว่าเอ็นอีดีเปรียบเสมือนหน้าต่างทางกฎหมายของ CIA และเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งและสนับสนุนกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.2018 สื่อในฮังการีชื่อ Figyelo ระบุว่าคณะกรรมการฮังการีเฮลซิงกิ ที่ได้รับเงินจากเอ็นอีดี เป็นองค์กรที่ทำลายความมั่นคงของฮังการี สถาบันเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัสเซียให้ความเห็นว่าเอ็นอีดีเข้ามาสนับสนุนการทำงานของกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและคาดหวังว่าจะทำให้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต เอ็นอีดีจะเข้าไปแทรกซึมอยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ ในปี ค.ศ.2023 คามิลา เฟยซ์ วิดาล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซานตาคาตารินา ในประเทศบราซิล วิจารณ์ว่าเอ็นอีดีเป็นกลไกของการแอบอ้างของสหรัฐอเมริกาในการแสวงหาผลประโยชน์และเป็นข้อแก้ตัวทางศีลธรรมในการแทรกแซงประเทศอื่น
ข้อสังเกตของเอ็นอีดีที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้เห็นการแบ่งขั้วตรงข้ามระหว่างกลุ่มที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มประเทศที่ไม่โอนอ่อนและแข็งขืนกับสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันโลกดำเนินไปด้วยความตึงเครียดในแนวนี้ คำถามที่น่าคิดต่อมาคือ ความหมายและวิธีการของประชาธิปไตยควรจะเป็นมาตรฐานและบรรทัดฐานสากลตามที่โลกตะวันตกได้สร้างขึ้นไว้ หรือควรจะเป็นประชาธิปไตยที่สัมพันธ์กับโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับสิทธิและเสรีภาพด้วยศีลธรรมที่ต่างกัน คำถามนี้เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งและจุดยืนที่ไม่ลงรอยกัน หากถามว่าประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกาดีที่สุดหรือไม่ ทฤษฎีประชาธิปไตยแบบไหนที่เหมาะสมกับแต่ละสังคม ทุกสังคมจะต้องยึดหลักการและกฎเกณฑ์ของประชาธิปไตยเหมือนกันหรือไม่ ประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องเสียงข้างมากมีความยุติธรรม ปราศจากอคติและความลำเอียงหรือไม่ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้ปกครองที่มาจากระบอบประชิปไตยจะทำงานเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว
นักมานุษยวิทยา Insa Koch (2017) ตั้งข้อสังเกตว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งในสังคมตะวันตกเต็มไปด้วยการปฏิบัติทางวัฒธรรมไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ นักการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งล้วนมีความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ ประสบการณ์ และโลกทัศน์เกี่ยวกับสังคม การมีชีวิต และการทำงานสาธารณะที่ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับประชาชนที่ไปเลือกตั้งล้วนมีความคิด ความรู้สึก และความคาดหวังต่อนักการเมืองและให้คุณค่ากับประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนย่อมเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของสถานการณ์ (Spencer, 1997) บางครั้งเป็นความนิยม สนิทคุ้นเคย คลั่งไคล้ อุปถัมภ์ค้ำจุน และช่วยเหลือ บางครั้งอยู่นอกความเป็นเหตุเป็นผล บางครั้งเป็นเรื่องความรู้สึก ดังนั้น การเมืองแบบประชาธิปไตยจึงมีค่านิยมและความเชื่อของคนปนอยู่มาก มันจะแสดงออกให้เห็นในกระบวนการทำงานของบุคคลที่นิยามตัวว่าเป็นผู้แทนราษฎรหรือตัวแทนของประชาชน สิ่งนี้คือ “ชีวิตทางสังคม” ของนักการเมืองซึ่งไม่มีมาตรฐานสากลว่าจะปฏิบัตตัวอย่างไรเมื่ออยู่กับประชาชนที่มีความแตกต่างทางชนชั้น
Banerjee (2007) เปรียบเปรยว่าการเลือกตั้งเสมือนเหตุการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ (sacred events) Coles (2004) และHerzog (1987) เปรียบการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดชุมชนของการตรวจสอบและกำกับดูแล ผู้สมัครลงเลือกตั้งจะต้องแสดงตนเพื่อยืนยันว่าสามารถช่วยสังคมได้ ขณะที่คนเลือกตั้งจะต้องคิดและตัดสินใจเลือกคนที่ถูกใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับคนอื่น ในการศึกษาของ Insa (2017) พบว่าประชาชนในอังกฤษมักมองนักการเมืองเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์และหน้าไหว้หลังหลอก การเมืองคือความสกปรก ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่มันก็เป็นเพียงเหตุการณ์ที่แบ่งแยกระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะเข้าไปมีอำนาจ ซึ่งถูกเรียกว่าตัวแทนของประชาชน นอกจากนั้น ยังพบว่าชาวอังกฤษไม่สนใจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะคิดว่าผู้แทนที่ถูกเลือกไม่มีความจริงใจ ถ้าเลือกคนเหล่านั้นก็เหมือนเป็นการสบคบคิดให้กับผู้แทนเข้าไปแสวงหาประโยชน์ บางคนออกไปเลือกตั้งเพียงเพราะว่าพ่อแม่ญาติพี่น้องชวนไป การลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งจึงอาจมิใช่การใช้สิทธิ แต่เป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ความรู้สึกนี้ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล และการเลือกตั้งก็เป็นเพียงกิจกรรมทางการเมือง
เอกสารอ้างอิง
Banerjee, M. (2007). Sacred elections. Economic and Political Weekly, 42(17), 1556–1562.
Blum, W.H. (2006). Rogue State: A Guide to the World’s Only Superpower. Zed book.
Coles, K. A. (2004). Election day: The construction of democracy through technique. Cultural Anthropology, 19(4), 551-580.
Herzog, H. (1987). The election campaign as a liminal stage–negotiations over meanings. The Sociological Review, 35(3), 559-574.
Koch, Insa. (2017). When politicians fail: zombie democracy and the anthropology of actually existing politics. Sociological Review, ISSN 0038-0261
Ping, Xin. (2023). “National Endowment for Disgrace trashes good name of democracy.” Global Times. November 18, 2021. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202111/1239281.shtml
Royden, D. (2018). How the National Endowment for Democracy Manufactures Regime Change Around the World. Retrieved from https://sabahkini2.org/en/news/445/how-the-national-endowment-for-democracy-manufactures-regime-change-around-the-world/view
Scott, J. M. & Steele, C.A. (2005). Assisting democrats or resisting dictators? The nature and impact of democracy support by the United States National Endowment for Democracy, 1990–99. Democratization, 12(4), 439-460.
Spencer, J. (1997). Post-colonialism and the political imagination. Journal of the Royal Anthropological Institute, 1-19.
The National Endowment for Democracy: What It Is and What It Does. (2024) Retrieved From https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/xw/wjbxw/202408/t20240809_11468618.html
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ประชาธิปไตย อาณานิคม ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ