การเกณฑ์ทหารกับใบรับรองแพทย์ในประเทศไทย

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 1436

การเกณฑ์ทหารกับใบรับรองแพทย์ในประเทศไทย

           การเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่ผู้คนในประเทศไทยคุ้นเคยมายาวนาน ที่พลเมือง “ชาย” ของรัฐไทยจะต้องไปเข้ารับการเกณฑ์ทหารในฐานะที่เป็นหน้าที่ประการหนึ่งอย่างเคร่งครัดและยากที่จะหลีกเลี่ยง ทว่า ใบรับรองแพทย์ในฐานะวัตถุที่มีอำนาจรับรองความจริงตามวาทกรรมการแพทย์นั้นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการดังกล่าว ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการสำรวจมุมมองทางสังคม-การเมือง ตลอดจนมุมมองทางเศรษฐกิจในโลกทุนนิยมของการเกณฑ์ทหาร และอภิปรายถึงบทบาทของใบรับรองแพทย์ในกระบวนการดังกล่าวภายในประเทศไทย เพื่อเผยให้เห็นการทำงานของอำนาจวาทกรรมการแพทย์ในอีกบริบทหนึ่งที่ไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก


สังคม-การเมืองของการเกณฑ์ทหาร

           แนวคิดของการเกณฑ์ทหารแพร่กระจายครั้งแรกในช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ซึ่งส่งผลให้เกิดการให้ความสำคัญกับหลักคิดว่าด้วยสิทธิพลเมืองโดยรัฐ อันสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบศักดินา (Feudalism) ที่ยึดมั่นในการตรึงอำนาจไว้กับชนชั้นสูงซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็ก ให้กลายเป็นระบบสาธารณรัฐ (Republic) ที่ยึดมั่นในหลักคิดว่าด้วยความเท่าเทียมของผู้คนในรัฐ อันทำงานอย่างสอดคล้องกับอุดมการณ์ชาตินิยม (Nationalism) ในขณะนั้น แนวคิดการเกณฑ์ทหารในช่วงแรกจึงวางอยู่บนความชอบธรรมในฐานะสิทธิ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยุทโธปกรณ์เพื่อมีบทบาทในการปกป้องความมั่นคงของชาติจากระบบศักดินาแบบเก่า รวมถึงปกป้องความมั่นคงทางทรัพยากรและอุดมการณ์ อันเป็นส่วนประกอบของความชอบธรรมทางการเมือง (Political legitimacy) สำหรับการเกณฑ์ทหารอีกด้วย การให้ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีทางการทหาร ส่งผลให้อานุภาพความรุนแรงและระยะเวลาของสงครามทวีคูณขึ้น จนเกิดสภาวะที่สังคมและเศรษฐกิจภายในรัฐต่าง ๆ ถูกระดมเพื่อสงครามอย่างเต็มที่ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นนักรบและพลเรือนจึงเจือจางลงเรื่อย ๆ ในสมัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในภายหลังยังเกิดการสรรค์สร้างระบบ “ทหารอาชีพ” (ทหารประจำ) ขึ้น เพื่อแทนที่การผูกขาดความเป็นผู้นำทางการทหารของชนชั้นสูงตามลักษณะโครงสร้างทางสังคมเดิม แม้สิ่งดังกล่าวจะขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมในการมีส่วนร่วมในความมั่นคงก็ตาม การเกณฑ์ทหารแพร่หลายออกไปในหลายดินแดน โดยเฉพาะในทวีปยุโรป แม้บางดินแดนได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสโดยตรง แต่ดินแดนโดยส่วนใหญ่มักนำแนวคิดการเกณฑ์ทหารมาใช้ด้วยเหตุผลในเชิงประสิทธิผลในการรวบรวมกำลังพล อุดมการณ์ที่ขับเคลื่อนการเกณฑ์ทหารจึงทยอยเปลี่ยนผ่านจากอุดมการณ์ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของประชาชน กลายเป็นเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นหลักในภายหลัง ผู้คนจึงกลายเป็นเครื่องมือทำสงครามอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

           จากสภาวะข้างต้น แทนที่จากมุมมองความมีส่วนร่วมของประชาชน การเกณฑ์ทหารนั้นถูกมองเป็นภาระผูกพันที่ผู้คนต้องปฏิบัติตามมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่อาจคงความเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพลเมืองดังที่เคย ทั้งนี้ แม้อุดมการณ์ชาตินิยมจะถดถอยลงตามเวลาเช่นกัน แต่อุดมการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นแรงขับสำคัญเบื้องหลังการเกณฑ์ทหารท่ามกลางการเติบโตของรัฐสมัยใหม่ในฐานะการยืนยันทางการเมืองของผู้คนต่อรัฐ ในภายหลัง การบังคับเกณฑ์ทหารนั้นทยอยเสื่อมถอยลงและถูกแทนที่ด้วยระบบสมัครใจจากเหตุสภาวะ “วิกฤติความชอบธรรม (Crisis of legitimacy)” ของการเกณฑ์ทหาร ที่เป็นผลสืบเนื่องจากกระแสต่อต้านการครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์ทางการทหาร และการบังคับเกณฑ์ทหาร อันส่งผลให้เกิดแนวโน้มความต้องการกองทัพที่มีขนาดเล็กลง เปี่ยมด้วยอารยะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มความต้องการปรับเปลี่ยนให้กองทัพกลายเป็นกองทัพทหารอาชีพอย่างเต็มรูปแบบ การสูญเสียความน่าดึงดูดใจของการเกณฑ์ทหารนั้นเกิดขึ้นบนความรู้สึกของผู้คนต่อการเกณฑ์ทหารที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นดั่งสะพานเชื่อมการมีส่วนร่วมของผู้คนต่อรัฐ กลายเป็นช่องทางที่รัฐใช้ยึดครองสังคมของพลเรือน รัฐที่สูญเสียความชอบธรรมต่อประชาชนจึงได้ลดทอนภาพลักษณ์ความเป็นสิทธิและเกียรติยศของการเกณฑ์ทหาร ให้กลายเป็นภาระหน้าที่ที่รัฐบีบบังคับให้พลเมืองต้องกระทำ ลักษณะดังกล่าวดำเนินไปอย่างขัดแย้งกับอุดมการณ์ปัจเจกนิยม (Individualism) อัตนัยนิยม (Subjectivism) และสุขารมย์นิยม (Hedonism) ท่ามกลางความเป็นสังคมแบบพหุนิยม (Pluralistic society) ที่มากขึ้นในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในสังคมที่มีความเป็นอุตสาหกรรมขั้นสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แนวโน้มดังกล่าวมีความเข้มข้นมากที่สุดในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ด้วยบริบททางสังคม-การเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจที่ผ่อนคลายลง อุดมการณ์ชาตินิยมที่ถดถอย

           การก่อเกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติ และความต้องการในตลาดแรงงานที่มากขึ้น (การใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ถูกให้ค่ามากกว่าการถูกบังคับเป็นทหาร) ส่งผลให้บทบาทความเป็นสถาบันที่สำคัญแห่งชาติและความเป็นตัวแทนจากภาคสังคมของการเกณฑ์ทหารในช่วงปลายทศวรรษดังกล่าวถดถอยลง กองทัพของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพึ่งพาการบังคับเกณฑ์ทหารลดลงไปเรื่อย ๆ ผู้คนมีความฝักใฝ่การมีส่วนร่วมกับกองทัพในทางอ้อมผ่านการจ่ายภาษี มากกว่าการจำยอมถูกบังคับเป็นทหาร ความต้องการต่อทหารในสังคมได้เปลี่ยนลักษณะไปในเชิงปฏิบัติการ มากกว่าในเชิงอุดมการณ์ การเมือง หรือวัฒนธรรม (แม้แรงขับในกลุ่มหลังเหล่านี้ยังไม่อันตรธานไปเสียทีเดียว) การรับประกันความมั่นคงของชาติในระยะหลังถูกกระทำบนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลักมากขึ้น เช่น การทำข้อตกลงระหว่างรัฐในรูปแบบต่าง ๆ และการสนับสนุนภารกิจพิทักษ์สันติขององค์การสหประชาติ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ในการสงครามท่ามกลางยุคสมัยใหม่นั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีจำนวนกำลังทหารที่มาก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ไม่ต้องการแรงงานจำนวนมากในสายพานการผลิต เนื่องจากทั้งกองทัพและโรงงานต่างมุ่งไปในแนวทางพึ่งพาฝีมือของนักเทคนิคหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเป็นหลัก มากกว่าการพึ่งพากำลังทางกายภาพของมนุษย์เป็นสำคัญอย่างแต่ก่อน (Joenniemi 1985)


การเกณฑ์ทหารกับระบบทุนนิยม รัฐชาติ และความเป็นพลเมือง

           ในยุคสมัยใหม่ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ วิถีการผลิตถูกเปลี่ยนไปเป็นสภาวะที่พลเมืองส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานที่ต้องทำงานภายใต้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ การถดถอยลงของการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเฟื่องฟู โดยหลักการแล้ว การจ้างแรงงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในฐานะทหาร รวมถึงการเกณฑ์ทหาร จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่สูงขึ้น เพื่อแก่งแย่งแรงงานที่มีทักษะจากตลาดแรงงาน และจ่ายค่าจ้างแก่ทหารที่ถูกเกณฑ์เพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสในชีวิต (โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เกิดความแพร่หลายของสวัสดิการรัฐ เช่น สวัสดิการการศึกษา เงินประกันสังคม ค่าชดเชยการว่างงาน ฯลฯ อันเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงของทุนนิยม ตามแนวคิดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ [John Maynard Keynes] หลังค.ศ. 1929 (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2561)) งานทางการทหารจึงกลายเป็นงานที่มีความเป็นพลเรือนมากขึ้น ทั้งนี้ บ่อยครั้ง มีข้อถกเถียงจากกลุ่มทหารอาชีพถึงความคุ้มค่าในการเกณฑ์ทหาร โดยพวกเขาเห็นว่า ทหารที่ถูกเกณฑ์ซึ่งไม่ได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่องนั้นไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อทหารเกณฑ์ถูกนำไปใช้งานกับเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูง ทหารเกณฑ์จึงมักได้รับมอบหมายภาระงานทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะมากนัก ต่างกับทหารอาชีพที่จะได้รับหน้าที่ดูแลยุทโธปกรณ์ที่ซับซ้อนกว่า สภาวะที่เกิดการแบ่งแยกทหารเกณฑ์ออกจากปัจจัยทางการทหารดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความแปลกแยก (Alienation) ในหมู่ทหารเกณฑ์ จากการได้รับผิดชอบภาระที่ไม่น่าหลงใหล ซ้ำซาก และสามารถเข้าถึงยุทโธปกรณ์ได้อย่างจำกัดกว่าทหารอาชีพ

           กล่าวได้ว่า การเกณฑ์ทหารในบริบทปัจจุบันของไทย จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการบังคับใช้แรงงานในฐานะทหารที่กระทำต่อมวลชนขนาดใหญ่อย่างสัมพันธ์กับการรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ที่รัฐส่วนกลางอย่างเคร่งครัด ภายใต้ความเป็นรัฐชาติ (Nation-state) อันนำมาสู่มโนทัศน์ความเป็นพลเมือง (Citizenship) การเกณฑ์ทหารจึงดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐในฐานะหน้าที่หนึ่งของพลเมือง (ศิวัช ศรีโภคางกุล และ เทอดศักดิ์ ไป่จันทึก 2560) ปัจจุบันมีประเทศไม่ต่ำกว่า 60 ประเทศที่ยังคงมีการบังคับเกณฑ์ทหาร สำหรับประเทศไทย (World Population Review 2024) แล้ว การบังคับผู้ที่รัฐถือให้เป็น “ชาย” ให้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เป็นไปโดยกฎหมายพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 (สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2497) เมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้ารับการคัดเลือก ด้วยวิธีการบังคับสุ่ม (จับฉลากใบดำ-ใบแดง) ให้รับราชการทหารตามจำนวนที่กองทัพต้องการ (ในกรณีที่ไม่ได้สมัครด้วยตนเอง)

           การบังคับเกณฑ์ทหารกลายเป็นสถาบันทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสร้างผลกระทบมหาศาลกับผู้ถูกบังคับใช้แรงงานในฐานะทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียอิสรภาพในการกำหนดชีวิตของตนเอง และโอกาสในความเจริญก้าวหน้าที่ตนเองเคยมีอยู่หรือวาดฝันเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีคำครหาอีกมากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติของผู้มีอำนาจต่อทหารเกณฑ์ในฐานะผู้ถูกบังคับใช้แรงงาน ดังเช่นในประเทศไทย ที่เกิดการนำพลทหารไปบังคับใช้แรงงานในงานอื่น ๆ ที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของบางกลุ่มคน ซึ่งเป็นการบังคับใช้แรงงานบนจุดประสงค์อื่นที่ไม่ได้ถูกอ้างถึงอย่างเป็นทางการ อย่างการนำทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ส่วนตัวสำหรับครอบครัวของนายทหารระดับสูง พลเมือง (ศิวัช ศรีโภคางกุล และ เทอดศักดิ์ ไป่จันทึก 2560) หรือเป็นพนักงานประกอบธุรกิจของกองทัพ เช่น พนักงานปั๊มน้ำมัน พนักงานสนามกอล์ฟ ที่ผ่านมา มักมีประเด็นอื้อฉาวถึงการเอื้อผลประโยชน์ต่อองคาพยพกลุ่มทุนที่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจระดับสูงในกองทัพ (พูด 2567) ฯลฯ รวมถึงการกระทำที่เป็นผลพวงจากวัฒนธรรมพิศดารผิดมนุษย์ในกองทัพ เช่น การบังคับให้ล่วงละเมิดทางเพศ การซ้อมทรมาน การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน การดูแลทหารผู้น้อยอย่างต่ำกว่ามาตรฐาน (พุฒิชัย เภาพงษ์ ม.ป.ป.)


ใบรับรองแพทย์กับการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย

           ด้วยเหตุที่การกลายเป็นทหารเกณฑ์ในประเทศไทยไม่เป็นที่ดึงดูดและดูเหมือนจะไม่สร้างความก้าวหน้าในชีวิต ใบรับรองแพทย์ได้เข้ามามีบทบาทในการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะในประเด็นข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางสุขภาพ กระบวนการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยได้แบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่มีร่างกายสมบูรณ์ดี (จะต้องรับการคัดเลือกเป็นทหารตามปกติ) 2) กลุ่มที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ดี แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ (จะถูกเรียกเข้ารับการคัดเลือกเมื่อกลุ่มที่ 1 มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการคัดเลือก) 3) กลุ่มที่ร่างกายไม่แข็งแรงพอหรือป่วย ซึ่งบำบัดให้หายใน 30 วันไม่ได้ (จะได้รับการยกเว้นการเข้าร่วมเกณฑ์ทหารในปีนั้น ๆ และจะได้รับการยกเว้นการบังคับเข้าร่วมเกณฑ์ทหารอย่างถาวร หากได้รับการยืนยันเป็นบุคคลในกลุ่มนี้ติดต่อกัน 3 ปี)และ 4) กลุ่มที่พิการทุพพลภาพ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ (จะได้รับการยกเว้นการบังคับเข้าร่วมเกณฑ์ทหารอย่างถาวร) การคัดแยกกลุ่มคนทั้ง 4 กลุ่มจะถูกกระทำโดยคณะกรรมการที่ถูกกองทัพแต่งตั้งในวันที่มีกำหนดการเกณฑ์ทหารประจำปี โดยพิจารณาจากผลการตรวจวินิจฉัยโรคหรือสภาวะทางกายและจิตใจโดยแพทย์ไว้อย่างเจาะจง ด้วยรายนามการวินิจฉัยตามวาทกรรมการแพทย์ที่ถูกระบุไว้ว่าไม่เป็นที่ต้องการของกองทัพ กระบวนการตรวจวินิจฉัยจะต้องเกิดขึ้นภายในสถานพยาบาลเพียงบางกลุ่ม ที่ได้รับการระบุว่าได้รับความเชื่อถือโดยกองทัพให้สามารถออกใบรับรองแพทย์เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว (โรงพยาบาลค่ายกาวิละ ม.ป.ป.)

           ในเงื่อนไขนี้เอง ที่ใบรับรองแพทย์อันมีลักษณะคัดแยกระหว่างความมีสุขภาพที่ดีและสุขภาพที่ไม่ดีของผู้คนตามวาทกรรมการแพทย์ ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือบังคับใช้แรงงาน ถึงแม้ใบรับรองแพทย์จะมีบทบาทในการช่วยยืนยันถึงสภาวะทางกายและจิตใจตามวาทกรรมการแพทย์ที่กองทัพเชื่อถือ ด้วยการระบุว่าบุคคลใดบ้างที่ไม่เป็นที่ต้องการของกองทัพ ผ่านการที่กองทัพมีอำนาจกำหนดรายนามการวินิจฉัยสภาวะทางสุขภาพตามวาทกรรมการแพทย์ที่ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับยกเว้นการเกณฑ์ทหารโดยตรง สามารถระบุกลุ่มของสถานพยาบาลผู้ออกใบรับรองแพทย์ที่จะได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการพิจารณาคัดแยกกลุ่มคนทั้ง 4 กลุ่มออกจากกัน แต่เงื่อนไขดังกล่าวย่อมหมายถึงการคัดแยกให้ได้มาซึ่งกลุ่มคนสุขภาพดี และเหมาะสมในการนำมาบังคับใช้แรงงานในฐานะทหาร (โดยเฉพาะผู้คนในกลุ่มที่ 1) อันเป็นการรับประกันคุณภาพของแรงงานที่จะนำมาบังคับเป็นทหารด้วยเช่นกัน โดยที่ผู้ถูกบังคับใช้แรงงานเหล่านั้นไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใด ๆ

           แต่ทว่า ในบางครั้งการใช้ใบรับรองแพทย์เพื่ออ้างถึงสภาวะหรือคำวินิจฉัยทางการแพทย์เพื่อให้ได้รับการยกเว้นจากการบังคับเกณฑ์ทหาร ก็ยังตกเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงถึงการเป็นช่องทางที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่ถือครองทรัพยากรมากกว่าคนส่วนใหญ่ในสังคม จากการมีโอกาสเข้าถึงทางเลือกให้ตนเองได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ตามเกณฑ์เพื่อให้ได้รับการยกเว้นจากการบังคับเกณฑ์ทหาร ไม่ว่าการวินิจฉัยเหล่านั้นจะเป็นความจริงตามวาทกรรมการแพทย์หรือไม่ก็ตาม (ศิวัช ศรีโภคางกุล และ เทอดศักดิ์ ไป่จันทึก 2560) ดังตัวอย่างที่ปรากฏในสังคม เช่น การที่ดาราหรือนักแสดงถูกตั้งแง่ต่อการใช้ใบรับรองแพทย์ยืนยันการเป็นโรคหอบหืดเพื่อให้ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร (MGR Online 2559) (จ๊อบบีเคเค 2563) การเกิดประโยคล้อเลียนภาวะ “กะเทยวันเดียว” ซึ่งมีนัยสื่อถึงความพยายามของบางกลุ่มคนให้แพทย์รับรองว่าตนมีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำหนด (Gender Identity Disorder) เพื่อเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหาร โดยบุคคลนั้น ๆ อาจไม่ได้มีลักษณะเข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าว (ไทยรัฐ 2560) ฯลฯ

           กล่าวโดยสรุป ใบรับรองแพทย์ในฐานะวัตถุแห่งความจริงตามวาทกรรมการแพทย์ได้เข้าไปมีบทบาทในกระบวนการเกณฑ์ทหารของประเทศไทย ในฐานะเครื่องมือคัดแยกคุณสมบัติทางสุขภาพที่พึงประสงค์ของผู้คน เพื่อให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพจากกระบวนการบังคับใช้แรงงานในฐานะทหารผู้รับใช้ชาติ บนอุดมการณ์ชาตินิยมตามแบบรัฐสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนรูปมาจากกลไกอันเป็นช่องทางแห่งสิทธิ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติในอดีต ซึ่งถดถอยลงพร้อมกับความชอบธรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางข้อถกเถียงถึงความไร้ประสิทธิภาพ ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นไปอย่างเอื้อประโยชน์และรักษาสถานะเดิมแก่ชนชั้นนำ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบมหาศาลที่เกิดกับตัวผู้ถูกบังคับใช้แรงงานและผู้คนในสังคม ในขณะเดียวกัน อำนาจของวาทกรรมการแพทย์ที่กระทำการผ่านการรับรองความจริงของใบรับรองแพทย์ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยคัดแยกและมอบอภิสิทธิ์แก่ผู้คนบางกลุ่มที่มีทรัพยากรมากพอให้หลุดพ้นจากความเสี่ยงที่เกิดจากการต้องเข้าร่วมกระบวนการบังคับใช้แรงงานหมู่ดังกล่าวอีกด้วย


References

MGR Online. (2559). โรคระบาดในฤดูเกณฑ์ทหาร! "หอบหืด" หรือ "ปอดแหก" ?!. สืบค้น 28 เมษายน 2567 สืบค้นจาก  https://mgronline.com/live/detail/9590000035110

World Population Review. (2024). Countries with Mandatory Military Service 2024. สืบค้น 28 เมษายน 2567 สืบค้นจาก  https://worldpopulationreview.com/country-rankings/countries-with-mandatory-military-service

Joenniemi, P. (1985). THE SOCIO-POLITICS OF CONSCRIPTION; ON THE BACKGROUND OF A LATENT CRISIS. Current Research on Peace and Violence, 8(3/4), 137–142.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2561). “เราทุกคนคือศิลปิน” : ทุนนิยมความรับรู้ และสังคมวิทยาว่าด้วยแรงงานอวัตถุ. ใน Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการปฏิวัติ (พิมพ์ครั้งที่ 2, น. 71-114). กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

จ๊อบบีเคเค. (2563). โดนด่าเละไม่เลิก ณเดชน์ อวสานหอบหืด. สืบค้น 28 เมษายน 2567 สืบค้นจาก   https://www.jobbkk.com/variety/detail/1326

ไทยรัฐ. (2560). รวมวิถีหลบเกณฑ์ทหาร เรียนนอก หอบหืด กะเทยวันเดียว แบบนี้ก็ได้หรือ?. สืบค้น 28 เมษายน 2567 สืบค้นจาก  https://www.thairath.co.th/scoop/908585

พุฒิชัย เภาพงษ์. (ม.ป.ป.). ปัญหากฎหมายการเรียกพลเมืองเข้ารับราชการทหารกองประจำการ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

พูด. (2567, 25 มีนาคม). หน่วยงานที่ทำธุรกิจได้ทุกอย่าง (กองทัพไทย) feat. ส.ส.จิรัฏฐ์ [วีดีโอ]. ใน พูดมาก Podcast. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=wV5wmt1osYs

โรงพยาบาลค่ายกาวิละ. (ม.ป.ป.). คำอธิบายและกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหาร รพ.ค่ายกาวิละ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

ศิวัช ศรีโภคางกุล, และ เทอดศักดิ์ ไป่จันทึก. (2560). การเกณฑ์ทหารกับการทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อทหารเกณฑ์ในประเทศไทย: บทวิเคราะห์จากมุมมองหนังสือรัฐศาสตร์ไม่ฆ่า. วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 10(2), 47 - 80.

สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2497). พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497. กรุงเทพฯ: สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.


ผู้เขียน
นาวินธิติ จารุประทัย
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

ป้ายกำกับ การเกณฑ์ทหาร ใบรับรองแพทย์ ประเทศไทย นาวินธิติ จารุประทัย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา