การจัดการเทศะ (spatial fix) ในพื้นที่แก้มลิงบางบาลใหม่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทุนนิยมจากวิกฤติอุทกภัย
จากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศยุติยุคโลกร้อน (Global Warming) พร้อมกล่าวต้อนรับยุคสมัยใหม่ในทางสภาพภูมิอากาศนามว่ายุคโลกเดือด (Global Boiling) ภายใต้วิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่ต้องปรับตัวรับมือ ระบบทุนนิยมก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่มีวิวัฒนาการอย่างบ้าคลั่งใบนี้ด้วยเช่นกัน รวมถึงทุนนิยมก็มีบทบาทสำคัญในการปั้นแต่งโลกให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการสะสมทุนได้อย่างต่อเนื่อง (เดวิด ฮาร์วี, 2562, หน้า 225)
ทุนนิยมจึงไม่ต่างจากมดหรือบีเวอร์ที่ต้องผลิตภูมิทัศน์ทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการผลิตซ้ำตัวมันเอง พูดอีกอย่างคือทุนนิยมจำเป็นต้องจัดการพื้นที่เพื่อเสาะหาพื้นที่และเขตแดนใหม่เพื่อรองรับกิจกรรมของทุนนิยม ยกตัวอย่างเช่น การสร้างระบบขนส่งมวลชน เครือข่ายการสื่อสาร การปรับทัศนียภาพของโรงงาน การสร้างระบบการจัดสรรน้ำ ไปจนถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (David Harvey, 2001, p.25; เดวิด ฮาร์วี, 2562, หน้า 225)
บทความฉบับนี้จึงมุ่งนำเสนอให้เห็นว่าทุนนิยมจัดการพื้นที่ (space) อย่างไรเพื่อให้กิจกรรมของระบบทุนนิยมสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยมีกรณีศึกษาคือนโยบายแก้มลิงบางบาล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ได้เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมหาศาลที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจ จนเป็นเหตุให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย (กรมชลประทาน, ม.ป.ป.) เหตุเพราะประสิทธิภาพของระบบการรับมือกับอุทกภัยของไทยอาจไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีนัก
ครั้นอุทกภัยครั้งนี้คลี่คลายลง รัฐกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับน้ำท่วมและป้องกันมิให้พื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างที่เคยเป็นมา เป้าหมายสำคัญคือการกระตุ้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจให้คืนกลับมาอีกครั้ง นโยบายบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่กำหนดออกมามุ่งเน้นการจัดรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินใหม่ (land use planning) รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดทุนและแรงงานให้กลับเข้ามาทำงานในพื้นที่อีกครั้ง (เดวิด ฮาร์วี, 2562, หน้า 230) สะท้อนให้เห็นจากแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจำนวน 9 แผน ได้แก่ โครงการคลองระบายน้ำหลาก เจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร และโครงการพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่แก้มลิง เป็นต้น (กรมชลประทาน, ม.ป.ป.)
ภายใต้กรอบนโยบายแก้ปัญหาอุทกภัยของรัฐไทยข้างต้น พื้นที่แก้มลิงบางบาล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเพื่อมิให้กิจการของทุนนิยมได้รับผลกระทบ
ดังที่ปรากฎให้เห็นจากหมุดหมายการจัดการน้ำของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ว่า “ป้องออก พักตก ระบายใต้” ป้องออกคือ การป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่อุตสาหกรรมทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 2,500 แห่ง ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ เมื่อปี 2554พื้นที่แถบนี้เคยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนัก จนเป็นเหตุให้การลงทุนหายไปประมาณร้อยละ 10 ด้วยเหตุนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง รัฐจึงกำหนดให้มีพื้นที่ พักตก หมายถึงการกำหนดให้พื้นที่การเกษตรฝั่งตะวันตกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่รับน้ำแทนพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการระบายใต้คือการสร้างคลองระบายน้ำเพื่อผันน้ำให้พ้นไปจากพื้นที่อุตสาหกรรมเช่นกัน ทิศทางการจัดการพื้นที่เพื่อรับมือกับอุทกภัยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสะท้อนให้เห็นจากภาพด้านล่างนี้
(ที่มา: โครงการชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ม.ป.ป.)
จากแผนที่ แก้มลิงบางบาลถูกรัฐจัดให้เป็นพื้นที่ “พักตก” (ตำแหน่งตัวอักษร C) โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 27,000 ไร่ รวมถึงมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 17,886 ไร่ และมีประมาณ 1,119 ครัวเรือน
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่รัฐจะผันน้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของชาวบ้านที่แต่เดิมเคยมีวิถีชีวิตกับน้ำท่วมอีกแบบซึ่งไม่ได้มีความรุแรงและผลกระทบมากนัก ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ (restructuring space) แก้มลิงบางบาลให้เป็นอ่างรับน้ำแทนเมืองและอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 1) การเปลี่ยนหน้าที่โครงสร้างการจัดการน้ำในพื้นที่ใหม่ และ 2) การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำนาในพื้นที่ใหม่เพื่อให้สามารถรับน้ำท่วมแทนพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรม
1. จากระบบชลประทานเพื่อจัดสรรน้ำทำนาสู่ระบบชลประทานเพื่อผันน้ำ (ท่วม) เข้านา
ในอดีตเมื่อทศวรรษ 2510 ก่อนการเป็นพื้นที่แก้มลิงบางบาล การออกแบบระบบชลประทานสมัยใหม่ (modern irrigation system) มีวัตถุประสงค์คือการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรของชาวนาเป็นหลักโดยเป็นการจัดสรรน้ำทำนาที่ไม่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ทั้งนี้ ระบบชลประทานที่ถูกสร้างขึ้นในแก้มลิงบางบาล เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบการส่งน้ำ ระบบการระบายน้ำ ซึ่งประกอบปด้วยโครงสร้างพื้นฐานหลายชิ้น อาทิ คันกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ ท่อลอด เครื่องกว้านบานระบาย และประตูน้ำ เป็นต้น (ดูเพิ่มเติม คมลักษณ์ ไชยยะ, 2566)
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเมื่อมีการบังคับใช้นโยบายแก้มลิงบางบาล ส่งผลให้เกิดการแปลเปลี่ยน (translation) หน้าที่ของระบบชลประทานที่สร้างขึ้นก่อนหน้านี้ใหม่ เพื่อให้สามารถเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในการรับน้ำแทนพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรม
กล่าวคือ จากเดิมระบบชลประทานถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเกษตรกรรมแก่ชาวนาด้วยการส่งน้ำและป้องกันข้าวในทุ่งเสียหาย แต่เมื่อกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ โครงสร้างพื้นฐานในแก้มลิงบางบาล กลับทำหน้าที่เปลี่ยนให้พื้นที่แก้มลิงบางบาลกลายเป็นด่านหน้าในการรับน้ำท่วม สะท้อนให้เห็นจากการที่รัฐได้ปรับปรุงซ่อมแซมถนนคันกั้นน้ำให้มีระดับความสูงเพิ่มขึ้น จนสามารถเปรียบเปรยได้ว่า ณ ปัจจุบันความสูงของถนนคันกั้นน้ำอยู่ในระดับเดียวกันกับหลังคาบ้านเรือนของชุมชน ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดการเปลี่ยนหน้าที่ประตูน้ำ 29 จุดในพื้นที่ จากเดิมเพื่อการเกษตร มาสู่การผันน้ำเข้าแก้มลิงบางบาล เป็นต้น (ดูเพิ่มเติม คมลักษณ์ ไชยยะ, 2567)
แนวถนนคั้นกั้นน้ำที่ถูกยกสูงเพื่อให้สามารถรับน้ำท่วมได้
ถนนคันกั้นน้ำสูงจนไม่สามารถมองเห็นฝั่งตรงข้ามได้
(ที่มา อาทิตย์ ภูบุญคง, 2567)
ในแง่นี้ การเปลี่ยนหน้าที่ของโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่แก้มลิงบางบาลจึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคนิคเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการการเคลื่อนที่ของอำนาจในการจัดการน้ำ (Marks and Elinoff, 2020) จากเดิมการจัดสรรน้ำเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาวนาในพื้นที่ แต่นโยบายแก้มลิงบางบาลได้กลับหัวกลับหางหน้าที่ของระบบชลประทานเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมก่อผลกระทบต่อกิจกรรมของทุนนิยม
2. การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ประโยชน์ที่ดินในแก้มลิงบางบาลใหม่เพื่อรับน้ำท่วม
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานในแก้มลิงบางบาลจะถูกกำหนดให้แสดงบทบาทใหม่ นโยบายแก้มลิงบางบาลยังได้ปรับเปลี่ยน (restructuring) วิถีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน (land use planning) เพื่อให้บ้านเรือนและผืนนาของชาวบ้านพร้อมรับน้ำท่วม โดยการประกาศใช้ปฏิทินการทำนาฉบับใหม่ชื่อ “ปฏิทินการปลูกข้าวตามระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ” ดังที่ปรากฎในภาพด้านล่างนี้
(ที่มา: โครงการชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ม.ป.ป.)
ปฏิทินการทำนาใหม่ข้างต้นเป็นการกำหนดวิธีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่แก้มลิงบางบาลใหม่ เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ (space) ให้พร้อมรับน้ำท่วม โดยรัฐกำหนดให้ชาวนาในพื้นที่ต้องทำนาตามปฏิทินอย่างเคร่งครัด เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาของการจัดสรรน้ำ การเพาะปลูกข้าว การเก็บเกี่ยวข้าว ไปจนถึงการผันน้ำเข้าพื้นที่
ขั้นตอนการทำนาใหม่เริ่มจากการทำนารอบที่ 1 รัฐกำหนดให้ชาวนาในพื้นที่แก้มลิงบางบาลเริ่มปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และจะต้องเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 กันยายน เหตุเพราะหลังจากนั้นจะเป็นช่วง ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง โดยรัฐจะเริ่มปล่อยน้ำเข้าแก้มลิงบางบาล เหตุดังนี้ ชาวนาต้องเก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จก่อนวันที่ 15 กันยายน ภายหลังจากน้ำท่วมลดลงจะเข้าสู่ การทำนารอบที่ 2 ชาวนาในพื้นที่จะเริ่มปลูกประมาณวันที่ 1 ธันวาคม (ประกาศจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, 2561)
จากการปรับเปลี่ยนจังหวะการทำนาในแก้มลิงบางบาลข้างต้น จะเห็นได้ว่ารัฐได้จัดการพื้นที่แก้มลิงบางบาลให้มีการทำนาอย่างเป็นระบบระเบียบ แตกต่างไปจากเดิมที่ในอดีตชาวนาปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวข้าวโดยไม่ต้องเร่งรีบ ทว่าการจัดพื้นที่แก้มลิงบางบาลให้รับน้ำ รัฐกำหนดว่าชาวนาต้องเก็บเกี่ยวข้าวก่อนวันที่ 15 กันยายน เพราะหลังจากนั้นแก้มลิงบางบาลจะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ (อาทิตย์ ภูบุญคง, 2566)
กล่าวโดยสรุป จากนโยบายแก้มลิงบางบาลที่มุ่งออกแบบภูมิศาสตร์ของพื้นที่ใหม่ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อไม่ให้กิจกรรมของทุนนิยมในพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของแผนที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม เผยให้เห็นว่าทุนนิยมไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจาการจัดการพื้นที่ (special fix) เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อการสะสมทุน ด้วยเหตุนี้ทุนนิยมจึงเข้ามาปรับภูมิศาสตร์ใหม่ (geographical restructuring) เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างระบบการจัดการน้ำ เพื่อทำให้กิจกรรมของระบบทุนนิยมสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงสถาพร (David Harvey, 2001)
อย่างไรก็ตาม การจัดการภูมิศาสตร์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทุนข้างต้น ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างมากทั้งในเรื่องของความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียม เหตุการณ์น้ำท่วมในแก้มลิงบางบาลเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในหลายมิติระหว่างทุนนิยมศูนย์กลาง-ชายขอบ เมืองกับชนบท กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด พื้นที่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำหรือตั้งอยู่ชายขอบของการพัฒนาถูกกำหนดให้ต้องรับน้ำท่วม เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ศูนย์กลางความเจริญได้รับผลกระทบ (คมลักษณ์ ไชยยะ, 2567)
ไม่เพียงเท่านั้น คนในพื้นที่มีข้อกังวลเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเหตุเพราะพวกเขาขาดโอกาสในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ และรัฐไม่มีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นอย่างมีความหมาย อีกทั้ง เมื่อนโยบายถูกนำไปใช้จริงกลับพบว่าประชาชนต้องประสบปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงและปัญหาการเข้าถึงน้ำเพื่อการเกษตร จนก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในเชิงกายภาพและสภาพจิตใจ เป็นเหตุให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการน้ำให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นกว่าเดิม (ดูเพิ่มเติม อาทิตย์ ภูบุญคง, 2566)
ในแง่นี้ โจทย์สำคัญคือเราจะออกแบบนโยบายการจัดการน้ำอย่างไรให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงมุ่งแก้ปัญหาการจัดการน้ำในระยะยาวมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
กรมชลประทาน. (ม.ป.ป.). โครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง. สืบค้น 25 สิงหาคม 2567 สืบค้นจาก https://xn--12clbb0eb0ac4aj8bl8ax5gac7berelep14aohnaf.com/
โครงการชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (ม.ป.ป.) การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. เอกสารไม่ตีพิมพ์.
คมลักษณ์ ไชยยะ. (2566). แก้มลิงกับชุมชน: ภววิทยาของโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
คมลักษณ์ ไชยยะ. (2567). ภววิทยาของโครงสร้างพื้นฐานแก้มลิงบางบาล. วารสารพัฒนศาสตร์, 7(1), 101-128.
เดวิด ฮาร์วี. (2562). ความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม [Seventeen contradictions and the end of capitalism] (ภัควดี วีระภาสพงษ์, แปล). กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.
ประกาศจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (2561). เรื่องปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561.
อาทิตย์ ภูบุญคง. (2566). พลวัตของแนวคิดและการบริหารจัดการน้ำในยุคหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และผลกระทบต่อชุมชนพื้นที่รับน้ำ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Harvey, D. (2001). Globalization and the “spatial fix”. geographische revue: Zeitschrift für Literatur und Diskussion, 3(2), 23-30.
Marks, D., & Elinoff, E. (2020). Splintering disaster: Relocating harm and remaking nature after the 2011 floods in Bangkok. International Development Planning Review, 42(3), 273-294.
ผู้เขียน
อาทิตย์ ภูบุญคง
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ การจัดการเทศะ spatial fix พื้นที่แก้มลิงบางบาลใหม่ ผลประโยชน์ ทุนนิยม น้ำท่วม อาทิตย์ ภูบุญคง