มือถือสากปากถือศีล: พฤติกรรมหน้าซื่อใจคดในวงการวิชาการ

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 3720

มือถือสากปากถือศีล: พฤติกรรมหน้าซื่อใจคดในวงการวิชาการ

           มือถือสากปากถือศีล เป็นสำนวนไทยที่หมายถึงคนที่มักแสดงตัวว่าเป็นผู้มีศีลธรรม แต่ลับหลังกลับมีความประพฤติชั่วช้า อาจกล่าวได้ว่าสำนวนดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเรื่องความหน้าซื่อใจคด หรือหน้าไหว้หลังหลอก (hypocrisy) ซึ่งโดยทั่วไปมักถูกกล่าวถึงในพฤติกรรมของนักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงในสังคม และนักบวชของศาสนา ในอดีต การแสดงพฤติกรรมดังกล่าวถูกอธิบายว่าเป็นความผิดบาปของการแสร้งทำตัวเป็นผู้มีคุณธรรมหรือคุณงามความดี (the sin of pretending to virtue or goodness) แต่อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันนี้ พฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกหมายรวมถึงการอ้างว่าตนเองมีอัตลักษณ์หรือคุณสมบัติที่ตนไม่ได้ถือครอง1 (Runciman, 2010) ด้วย ความประพฤติของนักวิชาการเองก็ไม่พ้นที่จะเผชิญกับประเด็นนี้ พฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกในหมู่นักวิชาการมักมีลักษณะเด่นคือการโกหกตลบตะแลง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นอาการปลิ้นปล้อน ซึ่งสามารถพิจารณาได้หลายรูปแบบ เช่น การไม่อยู่ในร่องในรอยของจุดยืนหรือการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะกับพฤติกรรมและอุปนิสัยส่วนตัว ความไม่สอดคล้องในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางวิชาการและงานวิจัยที่ตนเองมักอ้างถึง ตลอดจนความไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างแนวคิดหรืออุดมคติที่ตนเองสนับสนุนกับการกระทำส่วนบุคคล บทความนี้มีจุดมุ่งหมายในการสำรวจสภาวะมือถือสากปากถือศีล หน้าไหว้หลังหลอก หรือก็คืออาการปลิ้นปล้อน ในหมู่นักวิชาการ โดยมุ่งพิจารณาถึงผลกระทบที่นักวิชาการจำพวกนี้มีต่อชุมชนวิชาการ อันจะนำไปสู่การลดความเชื่อมั่นที่สาธารณะจะมีต่อวงการวิชาการโดยรวม


ความปลิ้นปล้อนในวงการวิชาการ

           ความปลิ้นปล้อนในบทความนี้ หมายถึงการโกหกหรือการหลอกลวงในรูปแบบที่บุคคลหนึ่งแสร้งทำเป็นว่ายึดถือในความคิดความเชื่อ หรือหลักการบางอย่างที่ลับหลังไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง อลิซ ฮอลแมน (Alice Hallman) และ ดาเนียล สปิโร (Daniel Spiro) (2023) อธิบายว่าบุคคลในลักษณะนี้โดยเนื้อแท้จัดเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจที่สุดในขณะที่พยายามแสดงตัวเพื่อให้ได้รับการยกย่องตามบรรทัดฐานของสังคมมากที่สุด ตัวอย่างทั่วไปของคนจำพวกนี้ เช่น บาทหลวงที่มีพฤติกรรมใคร่เด็ก (pedophile priests) ตลอดจนตำรวจที่ก่อคดีข่มขืน (rapists in law enforcement) ปัญหาของบุคคลทำนองนี้คือการทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของสถานภาพที่พวกเขาถือครอง ในวงการวิชาการ อาการปลิ้นปล้อนสามารถแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ เช่น การประพฤติผิดจริยธรรมในการวิจัย แต่กลับแสดงออกว่ายึดมั่นในบรรทัดฐานจริยธรรมอย่างมากต่อสาธารณะ การทำผิดธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กรวิชาการที่ตนเองบริหาร แต่ชอบทวงถามหาธรรมาภิบาลจากองค์กรอื่น ๆ การเป็นปากเสียงให้กับผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศในสังคม แต่กลับใช้คำพูดแทะโลมหรือมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากคนรอบตัวที่ตนเองพึงใจ ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์การใช้เส้นสายในโครงสร้างขององค์กรต่าง ๆ แต่กลับปิดหูปิดตาเมื่อมิตรสหายของตนเองได้ตำแหน่งสำคัญ ๆ ด้วยวิธีการดังกล่าว พฤติกรรมและการกระทำที่ไม่อยู่ในร่องในรอยของนักวิชาการ ซึ่งผิดไปจากมาตรฐานความคาดหวังของสังคมที่นักวิชาการควรมีหลักคิดที่ตรงไปตรงมาและยึดมั่นในหลักการที่เป็นความคิดอย่างซื่อสัตย์ ส่งผลให้เกิดวิกฤติความน่าเชื่อถือ หรือแม้แต่นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ผิดโดยตัวนักวิชาการเอง

           เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมปลิ้นปล้อนในวงการวิชาการคือความขัดแย้งระหว่างการเรียกร้องต่อสาธารณะและการกระทำส่วนตัว เดวิด กู๊ดสไตน์ (David Goodstein) (2010) กล่าวถึงพฤติกรรมไม่ซื่อตรงทางวิชาการในวงการวิจัยสมัยใหม่ โดยเน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมของนักวิจัยในที่สาธารณะและในความเป็นส่วนตัว แม้จะมีค่านิยมพื้นฐานเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และความโปร่งใสในแวดวงวิชาการก็ตาม แต่พฤติกรรมและการกระทำส่วนบุคคลสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดจริยธรรมในการวิจัยทางวิชาการได้ เขาอธิบายว่านักวิชาการบางคนที่ประณามงานวิจัยที่ไม่ถูกต้องในที่สาธารณะ บางครั้งอาจเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมที่ไม่ซื่อตรงเสียเอง ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือกรณีของ ดีเดอริก สตาเปล (Diederik Stapel) นักจิตวิทยาชาวดัตช์ที่ถูกเปิดเผยว่าได้ปลอมแปลงข้อมูลงานวิจัยกว่า 55 ชิ้นเป็นเวลาหลายปี (Levelt et al., 2012) กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณะในความน่าเชื่อถือของงานวิชาการ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ความก้าวหน้าทางวิชาการถูกตั้งคำถาม แต่ยังทำให้จริยธรรมของนักวิชาการที่ควรเป็นแบบอย่างถูกลดทอนลงด้วย


ความย้อนแย้งทางจริยธรรมแบบต่าง ๆ

           ประเด็นความปลิ้นปล้อนในวงการวิชาการอีกประการหนึ่งคือความย้อนแย้งทางจริยธรรมในการรับทุนวิจัยของนักวิชาการ กล่าวคือในสังคมปัจจุบัน เรามักพบเห็นนักวิชาการหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและอำนาจของทุนใหญ่อย่างเปิดเผย แต่ลับหลังพวกหนึ่งของคนเหล่านี้กลับพึ่งพาทุนสนับสนุนการวิจัยจากบรรษัทใหญ่หรือหน่วยงานของรัฐบาลที่มีค่านิยมขัดแย้งกับอุดมคติที่พวกตนเรียกร้อง ตัวอย่างเช่น ในการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ในวงการการศึกษา เฮนรี่ จิโร (Henry Giroux) (2014) บอกว่านักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ต่อต้านอิทธิพลของทุนนิยมในระบบการศึกษามักจะรับทุนวิจัยจากทุนใหญ่หรือทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบรรษัทที่ส่งเสริมแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านในฉากหน้า ความขัดแย้งนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของนักวิชาการที่อ้างตนว่าเป็นผู้ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ตลอดจนความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ รวมถึงอำนาจของระบอบทุนนิยมและทุนใหญ่ลดลง

           ปัญหาไม่ความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติและเพศก็เป็นอีกข้อสังเกตหนึ่งที่สามารถตรวจสอบความปลิ้นปล้อนในหมู่นักวิชาการได้ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคนสนับสนุนแนวคิดเรื่องความครอบคลุมและความเสมอภาคในพื้นที่วิชาการ แต่สภาพการณ์ของสถาบันที่พวกเขาทำงานอยู่กลับไม่ส่งเสริมความเท่าเทียมแต่อย่างใด นีล เอ. ลิวอิส (Neil A. Lewis) (2021) ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีการสนับสนุนความหลากหลายอย่างเปิดเผย แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งกลับไม่สามารถจ้างหรือส่งเสริมบุคลากรจากกลุ่มคนที่หลากหลายได้เพียงพอ หากการจ้างงานวางอยู่บนความรู้ความสามารถย่อมเป็นเหตุผลที่ฟังได้ แต่นักวิชาการที่เป็นผู้นำในการเรียกร้องความเท่าเทียมนั้นอาจมีส่วนในวัฒนธรรมวิชาการที่มุ่งรักษาความมีลำดับชั้นดั้งเดิมของเชื้อชาติ เพศ และชนชั้นเสียเอง นักวิชาการที่มีชื่อเสียงซึ่งสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมต่อสาธารณะอาจยังคงมีส่วนสนับสนุนในการสืบสานวิธีคิดเฉพาะกลุ่ม การมีลำดับชั้นสูงต่ำ และความไม่เท่าเทียมในตำแหน่งแห่งที่ต่าง ๆ ในระบบของสถาบันการศึกษา ความซับซ้อนของการสนับสนุนความคิดที่ก้าวหน้าต่อสาธารณะจึงไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติหรือวัฒนธรรมของวิชาการและสถาบันการศึกษาโดยรวมเสมอไป (Ahmed, 2012) การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างค่านิยมที่ประกาศต่อสาธารณะและพฤติกรรมที่แท้จริงในหลายระดับ

           ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กรณีของสถาบันวิชาการที่ออกตัวสนับสนุนความเสมอภาคและความหลากหลายมีการจัดตั้งคณะทำงานโดยไม่ได้ให้อำนาจหรือทรัพยากรที่เพียงพอ ผลที่ตามมาทำให้ดูเหมือนว่าตัวสถาบันให้ความใส่ใจในประเด็นดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณะ สิ่งนี้คือความย้อนแย้งระหว่างการกระทำที่แสดงออกและความตั้งใจที่แท้จริง ซาร่า อาเหม็ด (Sarah Ahmed) (2012) ชี้ว่ากรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้ความเสมอภาคและความหลากหลายเป็นเพียงเครื่องมือประชาสัมพันธ์ หลักการที่ควรยึดมั่นถูกลดทอนให้เป็นเพียงคำพูดหรือเอกสารที่ไม่มีน้ำหนัก ร่างกายของคนกลุ่มน้อยที่รับมาไม่กี่คนถูกใช้เป็นตัวแสดงความหลากหลายไปพร้อมกับเป็นกลไกหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าปัญหาที่ฝังรากลึก หรือในกรณีที่ซ้ำร้ายคือความรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าวถูกทิ้งให้เป็นภาระของคนกลุ่มน้อยที่ไร้อำนาจในโครงสร้างของสถาบันนั้นเสียเอง

           อีกกรณีที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางคือความปลิ้นปล้อนของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติที่ยั่งยืน แต่กลับมีพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับการทำงานวิชาการ ตัวอย่างเช่น นักวิชาการหลายคนที่ชี้ให้เห็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำลายสิ่งแวดล้อมมักเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อเข้าร่วมการประชุมและทำงานวิจัย ทั้ง ๆ ที่พวกเขามักวิจารณ์ว่าการเดินทางโดยเครื่องบินจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก นักวิชาการที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง มีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือและความจริงใจของงานวิจัยที่พร่ำบอกต่อสังคม (Stain, 2024)


ผลกระทบในวงการวิชาการ

           ผลกระทบของความปลิ้นปล้อนในหมู่นักวิชาการจำนวนหนึ่ง ไม่เพียงส่งผลต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชุมชนวิชาการและสาธารณะด้วย ผลกระทบประการแรกคือการบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อนักวิชาการในฐานะผู้มีความรับผิดชอบทางจริยธรรม นักวิชาการมักถูกมองว่าเป็นผู้เบิกทางในการประพฤติตนตามหลักความถูกต้อง นักวิชาการจึงไม่เพียงแต่มีหน้าที่สร้างความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างของความซื่อตรงให้กับสังคม เมื่อปัญญาชนที่มีชื่อเสียงมีพฤติกรรมปลิ้นปล้อนกลับกลอก ความชอบธรรมและความเชื่อถือของความเป็นวิชาการจะลดลง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นจากสาธารณะในการให้ความเห็นทางวิชาการและผลงานวิจัย (Shapin, 2010) ประการที่สอง ความปลิ้นปล้อนในหมู่นักวิชาการสามารถสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องในวงการวิชาการ ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมจะถูกใช้หรือยกเว้นการใช้โดยเลือกเฉพาะบางกรณี นักวิชาการรุ่นใหม่และนักศึกษาอาจหมดหวังกับอาชีพทางวิชาการเมื่อพวกเขาเห็นว่าอาจารย์หรือบุคคลที่พวกเขายกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้กลับมีธาตุแท้ที่ไม่ซื่อตรงต่อหลักการหรือแม้กระทั่งหลักวิชาที่ควรยึดถือ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสืบทอดพฤติกรรมที่บิดเบี้ยวต่อไปได้ในอนาคต


คืนความเป็นมนุษย์

           ผู้เขียนเห็นว่านักวิชาการย่อมเป็นมนุษย์ซึ่งอาจมีข้อบกพร่องได้ ในขณะที่นักวิชาการมักถูกคาดหวังให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีข้อผิดพลาด แทนที่จะแสดงพฤติกรรมปลิ้นปล้อนกลับกลอกเพื่อให้ได้รับการยกย่องราวกับเป็นยอดมนุษย์จอมปลอม จนอาจถูกตั้งคำถามได้ว่า “ยอดมนุษย์กับปีศาจต่างกันอย่างไร” การแสดงความโปร่งใสและยอมรับความผิดพลาดของตนเองจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวงการวิชาการมากกว่า การดำรงตนเป็นนักวิชาการจึงไม่จำเป็นต้องแสดงตัวเป็นยอดยอดมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ แต่ควรเป็นการทำให้นักวิชาการแสดงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (humanizing scholars) ซึ่งหมายถึงการยอมรับข้อบกพร่องในตนเอง การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในที่นี้แตกต่างไปจากการทำตนให้ไร้ข้อผิดพลาดซึ่งอาจเป็นที่มาหนึ่งของอาการปลิ้นปล้อน แต่หมายถึงการซื่อสัตย์ต่อตนเอง การยึดมั่นในคุณค่าหรืออุดมการณ์ และการยอมรับข้อผิดพลาดและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตน (Bartel & Castillo, 2021) ในแง่หนึ่ง ความหน้าซื่อใจคดในวงการวิชาการอาจเกิดจากปัญหาความกดดันในการสร้างภาพลักษณ์หรือความสำเร็จในเชิงอาชีพด้วยก็ได้ การให้คุณค่ากับความจริงใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเชื่อมโยงกับผู้อื่นในเชิงจริยธรรม อาจเป็นทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่แสดงให้เห็นและสิ่งที่เป็นจริงของนักวิชาการ แน่นอนว่าแนวคิดเรื่องความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นี้อาจเป็นอุดมคติที่ยากจะบรรลุได้ กระนั้นเองการพยายามเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของนักวิชาการก็ยังคงมีคุณค่าในฐานะแนวทางในการพัฒนาวัฒนธรรมวิชาการที่โปร่งใสและเป็นธรรม


สรุป

           ความหน้าซื่อใจคดในวงการวิชาการเป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการสำรวจและกล่าวถึงอย่างครอบคลุมเพียงพอ ผลกระทบจากพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกไม่เพียงแต่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของงานวิชาการ แต่ยังสร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นที่สาธารณะจะมีต่อสถาบันวิชาการอย่างรุนแรง สถานการณ์นี้ได้สร้างแรงกดดันต่อการเรียกร้องนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นการปลูกฝังวัฒนธรรมทางจริยธรรมและความโปร่งใส เพื่อให้การปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการทำงานของนักวิชาการ ในขณะที่ผู้เขียนเสนอให้นักวิชาการแสดงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การคืนความเชื่อมั่นในวงการวิชาการไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพียงการแก้ไขที่พฤติกรรมส่วนบุคคล หากแต่ต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ การให้นักวิชาการยอมรับและแสดงออกถึงความผิดพลาดอย่างโปร่งใส พร้อมทั้งปฏิบัติตามค่านิยมที่พวกเขาสนับสนุนในที่สาธารณะ จะช่วยฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของสถาบันวิชาการและเสริมสร้างความไว้วางใจของสาธารณะในระยะยาว

           ถึงที่สุดแล้ว การแก้ไขปัญหานี้จึงต้องการความพยายามอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับบุคคลและระดับสถาบัน ผ่านการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการยึดมั่นในหลักการและคุณค่าทางจริยธรรมอย่างแท้จริง นักวิชาการในฐานะทั้งผู้สร้างองค์ความรู้และผู้รับผิดชอบต่อสังคม ควรเป็นตัวอย่างของความโปร่งใสและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูบทบาทของวิชาการในฐานะผู้ยึดมั่นในความรู้และจริยธรรมในสังคม


รายการอ้างอิง

Ahmed, S. (2012). On Being Included: Racism and Diversity in Institutional Life. Durham: Duke University Press.

Bartel, A. S., & Castillo, D. A. (Eds.). (2020). The Scholar as Human: Research and Teaching for Public Impact. Ithaca: Cornell University Press.

Giroux, H. A. (2014). Neoliberalism's War on Higher Education. Chicago: Haymarket Books.

Goodstein, D. (2010). On Fact and Fraud: Cautionary Tales from the Front Lines of Science. New Jersey: Princeton University Press.

Levelt, W. J., Drenth, P. J., & Noort, E. (2012). Flawed science: The fraudulent research practices of social psychologist Diederik Stapel. Tilburg University.

Lewis, N. A. (2022). What universities say versus do about diversity, equity and inclusion. Nature Human Behaviour 6(5).

Runciman, D. (2010). Political Hypocrisy: The Mask of Power, from Hobbes to Orwell and Beyond. New Jersey: Princeton University Press.

Shapin, S. (2010). The Scientific Life: A Moral History of a Late Modern Vocation. Chicago: University of Chicago Press.

Stein, S. (2024). Universities confronting climate change: beyond sustainable development and solutionism. Higher Education 87, 165–183.


1  อาทิ การเสแสร้งว่ามีความรู้ที่ตนขาด การอ้างว่ามีมาตรฐานที่ตนไม่สามารถรักษาไว้ได้ รวมถึงการอ้างว่ามีความซื่อสัตย์ที่ตนไม่มี


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย  ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นักวิชาการ วิชาการ ปลิ้นปล้อน วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา