ความตายและการกำกับของอำนาจทุนในสังคมไทย

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 500

ความตายและการกำกับของอำนาจทุนในสังคมไทย

           คนตายเป็นภาพที่มนุษย์อาจไม่อยากจดจำนัก เนื่องจากความตายย่อมนำมาสู่ความโศกเศร้า โดยเฉพาะคนที่ตายอย่างผิดธรรมชาติเพราะย่อมทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกสยดสยองและเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม สังคมไทยถือเป็นสังคมหนึ่งซึ่งสามารถนำภาพศพทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว มาทำเป็นธุรกิจให้ประชาชนได้นำไปเสพบริโภคกันจนเสมือนเป็นเรื่องปกติ ธุรกิจแบบนี้พบเห็นได้มากมาย ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ รายการสารคดี เว็บไซต์สำหรับกลุ่มเฉพาะ เป็นต้น ถึงแม้สื่อมวลชนบางสำนักจะเซ็นเซอร์ภาพศพแล้ว แต่ผู้อ่านก็ย่อมจินตนาการได้อยู่ดีถึงสภาพศพภายใต้การเซ็นเซอร์แบบบาง ๆ ให้ผู้อ่านพอได้ลุ้น รวมไปถึงการบรรยายสภาพศพอย่างละเอียดให้ผู้อ่านสามารถนึกตามได้

           สมมติฐานเบื้องต้นของบทความนี้คือ อำนาจของทุนมีส่วนสำคัญในการกำกับการนำเสนอเรื่องความตายในพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังทำให้การนำเสนอเรื่องดังกล่าว สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย


ภาพศพ: การท้าทายกรอบของสังคม

           ภาพศพถือเป็นภาพที่ควรขจัดออกไปจากสายตามนุษย์ นอกจากนั้น การเผยแพร่ภาพศพยังเป็นการแสดงออกถึงความไม่เคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วย ภาพศพจึงกลายเป็นกรอบทางศีลธรรมซึ่งไม่สมควรนำมาเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ ยกเว้นภาพทัศนศิลป์ซึ่งแสดงให้เห็นเพียงสัญลักษณ์ภาพแทนของความตาย (รัชฎากรณ์ กล้าเกิด, 2558, หน้า 1247-1252) อย่างไรก็ตาม ก็มีกลุ่มบุคคลพยายามลุกขึ้นมาท้าทายความเชื่อและกรอบศีลธรรมนั้น สิ่งนี้อาจเริ่มต้นมาจากในวงการศิลปะ เมื่อมีศิลปินนำภาพซึ่งสังคมมองว่าไม่เป็นศิลปะเพราะเป็นของสกปรกอันไม่ก่อให้เกิดความสุนทรีย์ มาทำให้เป็นงานศิลปะ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) เป็นตัวอย่างศิลปินผู้ริเริ่มการท้าทายนั้นหลังจากเสนอให้นำโถปัสสาวะมาตั้งแสดงในนิทรรศการศิลปะเมื่อ ค.ศ.1917 งานของดูว์ช็องก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อศิลปะว่าสิ่งใดควรถือเป็นงานศิลปะ ทำไมภาพที่ไม่ก่อให้เกิดความสุนทรีย์จึงไม่สามารถเป็นงานศิลปะได้ งานศิลปะควรแสดงให้เห็นถึงความจริงของโลกและของมนุษย์ในทุก ๆ ด้านมิใช่หรือ? นับจากนั้นมา กำแพงซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างโลกศิลปะและโลกแห่งความจริง ก็พร่าเลือน แม้กระทั่งภาพศพก็สามารถถูกนำเสนอในพื้นที่สาธารณะเพื่อดึงดูดสายตาผู้ชมพร้อมไปกับความรู้สึกขนลุกขนพองได้ ถือเป็นศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่ง (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2552, หน้า 135-139; รัชฎากรณ์ กล้าเกิด, 2558, หน้า 1253-1256)

           แต่งานศิลปะก็ไม่ได้แยกขาดออกมาอย่างโดดเดี่ยว เพราะงานศิลปะถูกอำนาจของทุนกำกับไว้ตั้งแต่ต้น (Pierre Bourdieu, 1993) กล่าวอีกนัยหนึ่งคืองานศิลปะถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในกลไกตลาด กลไกตลาดคือผู้อุ้มชูการดำรงอยู่ของงานศิลปะ งานศิลปะอาจรับใช้นายทุนก็ได้ ถึงแม้ศิลปินบางคนพยายามหลีกหนีก็ตาม (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2552, หน้า 152-155) เช่นเดียวกับภาพศพก็มิได้เป็นเพียงงานศิลปะอีกต่อไป ภาพศพกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอเรื่องราวของความตายในพื้นที่สาธารณะโดยมีอำนาจของทุนเข้ามากำกับ


อำนาจทุนกับการกำกับงานรำลึกถึงผู้วายชนม์

           ในหนังสือเรื่อง The Funeral Casino: Meditation, Massacre, and Exchange with the Dead in Thailand  ของ อัลเลน คลิม่า (Allen Klima, 2002) ได้อธิบายเรื่องอำนาจของทุนซึ่งกำกับการนำเสนอเรื่องของความตายในสังคมไทย คลิม่าพบว่าในกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ณ บริเวณถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้น กลับเต็มไปด้วยบรรยากาศซึ่งเปรียบเสมือนตลาดแห่งหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดเวลา กล่าวคือ ดอกไม้ธูปเทียน อาหารเครื่องดื่ม ภาพจิตรกรรมทางการเมือง รูปภาพและวิดีโอบันทึกเหตุการณ์สังหารหมู่ เป็นสินค้าที่พบเห็นได้ตลอดพื้นที่ที่จัดกิจกรรม ประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมต่างให้ความสนใจต่อสินค้าเหล่านี้โดยเฉพาะวิดีโอบันทึกช่วงเวลาที่มีการนองเลือด หน้าร้านขายวิดีโอแบบแผงลอยเต็มไปด้วยประชาชนซึ่งมายืนมุงดูวิดีโอที่พ่อค้าเปิดและตัดสินใจซื้อไป ขณะที่ในพื้นที่สำหรับให้ประชาชนยืนไว้อาลัย ก็ถูกประดับประดาไปด้วยแสงเทียนสลัวและรูปภาพของผู้เสียชีวิตจมกองเลือด อันเป็นการสร้างบรรยากาศให้ประชาชนผู้เข้าร่วมรู้สึกสัมผัสได้ถึงความโศกเศร้าและความเสียสละเพื่อประชาธิปไตยของเหล่าวีรชน

           บรรดาสินค้าต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในกิจกรรมรำลึกถึงผู้วายชนม์ คลิม่าให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อภาพและวิดีโอซึ่งฉายให้เห็นความตาย คลิม่าอธิบายว่าโดยเหตุที่นวัตกรรมเทคโนโลยีและการสื่อสารมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดอันเป็นผลมาจากพลังของทุน ส่งผลให้มนุษย์สามารถบันทึกและส่งต่อภาพความรุนแรงได้ซ้ำ ๆ ภายในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งนี้กระตุ้นให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดความอยากรู้อยากเห็นต่อเรื่องราวในภาพเหล่านั้นและต้องลองไปหามาดู หรือถึงแม้จะไม่อยากรู้อยากเห็น ก็ต้องมีบางจังหวะที่ไปพบเห็นเข้าด้วยความบังเอิญ

           พลังอำนาจของทุนซึ่งส่งผลให้เกิดการยกระดับความสามารถของเทคโนโลยีในการผลิตซ้ำภาพความรุนแรง และก่อให้เกิดความต้องการของมนุษย์ในการเข้าถึงภาพเหล่านี้ มีความคล้ายคลึงกับสมมติฐานซึ่งวอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) ได้อธิบายไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เบนจามินได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเฟื่องฟูในธุรกิจอุตสาหกรรมภาพศิลปะและภาพยนตร์ในช่วงนั้น เบนจามินอธิบายว่าการปรากฏของการผลิตแบบจักรกล ส่งผลให้สังคมสูญเสียกลิ่นไอความเป็นต้นฉบับ การผลิตแบบจักรกลสร้างคุณสมบัติใหม่และปฏิกิริยาใหม่ของผู้ชม การผลิตแบบจักรกลทำให้เกิดการนำเสนอภาพในมิติใหม่ ๆ ซึ่งผู้คนในอดีตไม่สามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น กล้อง ซึ่งมีความสามารถในการบันทึกรายละเอียดของภาพซึ่งอาจหลุดรอดจากสายตาของมนุษย์ และกล้องยังมีคุณสมบัติเชิงเทคนิคในการปรับภาพเพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมให้เป็นไปตามที่ผู้บันทึกต้องการ นอกจากนั้น กล้องยังสามารถผลิตภาพได้ซ้ำ ๆ และต่อเนื่อง คุณสมบัติเช่นนี้ กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ปรากฎภายในภาพ คุณค่าของภาพกลายเป็นเรื่องของการจัดแสดงเพื่อผู้ชมมากกว่าเรื่องของพิธีกรรม (Walter Benjamin,1969) ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากภาพความสยดสยองของความตายจะเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจจากมนุษย์เช่นเดียวกัน

           นอกจากกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว คลิม่ายังได้ชี้ให้เห็นว่าการจัดงานศพทั่ว ๆ ไป ก็ไม่ต่างจากกิจกรรมดังกล่าวมากนัก เพราะงานศพก็สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของทุนที่เข้ามากำกับเช่นเดียวกัน งานศพเป็นกิจกรรมใหญ่ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การใช้จ่ายในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา การบริจาค การทำของชำร่วยที่ระลึก การบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม จนไปถึงการเล่นพนันหลังงานศพซึ่งพบมากในต่างจังหวัด ในกรณีของการเล่นพนันหลังงานศพนั้น กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ ได้ศึกษาการเล่นพนันของชาวบ้านในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและได้อธิบายไว้ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่การเล่นพนันแพร่หลายในงานศพตามพื้นที่เหล่านี้ ก็เพราะความยากจนซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้น สำหรับชาวบ้านแล้ว การได้เข้ามาสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัด ตลอดจนการมีความเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ของผู้วายชนม์ การพนันจึงถือเป็นความเสี่ยงที่น่าลงทุน (กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ, 2565)

           การนำเสนอเรื่องของความตายในสังคมจึงมิได้ปราศจากการกำกับของอำนาจทุน อำนาจทุนเป็นสิ่งสำคัญซึ่งคอยขับเคลื่อนให้การนำเสนอเรื่องดังกล่าวดำเนินต่อไปได้ สำหรับหัวข้อถัดไปจะกล่าวถึงกรณีภาพอสุภะหรือภาพคนตายในบริบทต่าง ๆ สำหรับจำหน่ายให้บุคคลบางกลุ่มได้นำไปพิจารณาปลงสังขาร


ภาพอสุภะ

           ภาพอสุภะคือภาพคนตายจากปัจจัยต่าง ๆ ภาพอสุภะเป็นสินค้าสำหรับบุคคลที่เชื่อว่าการได้พิจารณาภาพคนตาย จะทำให้เข้าถึงหลักธรรมของศาสนาพุทธเรื่องความไม่เที่ยงและความไม่ประมาท แต่เดิมภาพอสุภะเป็นภาพที่พระสงฆ์และแม่ชีบางรูปใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติธรรมเรื่องกายสังขาร และรูปเหล่านี้ก็มาจากการที่มีคนบริจาคให้แก่วัดหรือเป็นรูปที่เก็บไว้เอง (Patrice Ladwig, 2003, p.72) ในเวลาต่อมาภาพอสุภะจึงเริ่มออกมาวางจำหน่ายในตลาดเฉพาะกลุ่มบ้าง ทั้งนี้ ผู้เขียนบทความเคยพบภาพอสุภะวางจำหน่ายแถวย่านเช่าพระท่าพระจันทร์ เป็นรูปซึ่งเผยร่างของมนุษย์ที่ถูกแหวกให้เห็นอวัยวะภายใน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน ภาพอสุภะอาจหาไม่ได้ง่าย ๆ ในตลาดทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเข้าถึงภาพอสุภะมิใช่เรื่องยากจนเกินไป เพราะเป็นภาพที่ปรากฎอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนตลอดเวลา โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอำนาจทุน

           สื่อออนไลน์ เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด (Shabnoor Siddiqui and Tajinder Singh, 2016, p.72) เป็นผลดีต่อการสร้างผลกำไรที่มาจากยอดจำนวนผู้เข้าชม ค่าโฆษณา เงินค่าสมาชิกกลุ่ม หรือเงินจากการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสต่าง ๆ นอกจากนั้น แม้เนื้อหาจะถูกลบแต่ก็สามารถทำใหม่ได้เรื่อย ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากค้นหาคำว่าภาพอสุภะในกูเกิ้ล (Google) แล้วจะพบว่ามีเว็บไซต์ซึ่งนำเสนอภาพอสุภะอยู่ด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากประวัติคำค้นหาคำว่าภาพอสุภะ พบว่าผู้ชมยังนิยมใส่คำศัพท์เพิ่มเติมต่อท้ายเพื่อให้ได้ภาพอสุภะที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น น่ากลัว, ผู้หญิงสวย และชื่อเล่นของดาราผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นต้น

           สำหรับรายการข่าวสารคดีซึ่งฉายให้เห็นภาพนาทีเป็นนาทีตายของมนุษย์นั้น ถึงแม้จะไม่ได้เรียกว่าเป็นภาพอสุภะ และบางรายการก็ยังมีการเซ็นเซอร์ภาพศพแบบบาง ๆ ก็ตาม แต่ก็มีหน้าที่คล้ายกันคือเพื่อให้ผู้ชมเสพบริโภคภาพความน่ากลัวของความตายและเพื่อให้ตระหนักถึงความไม่ประมาทโดยเฉพาะความตายในรูปแบบของอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม รายการข่าวสารคดีเหล่านี้ก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งพยายามใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมเพื่อเพิ่มเรตติ้งให้ทางรายการสามารถอยู่ต่อไปได้ โดยนอกจากการใช้ความสามารถในด้านวาทศิลป์ของพิธีกรแล้ว ทางรายการยังใช้เทคนิคจากการผลิตแบบจักรกล (ตามที่เบนจามินเรียก) ผ่านกล้องเพื่อถ่ายและลำดับฉากของภาพให้เสมือนเป็นการกำกับบทภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เทคนิคนี้จะทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามหรือมีอารมณ์ร่วมได้

           สุดท้ายนี้ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถึงปฏิกิริยาของผู้ชม พบว่าผู้ชมบางกลุ่มมีความเข้าใจว่าการนำเสนอภาพอสุภะนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติหากพิจารณาภาพนั้นอย่างมีสติ ถึงแม้คนตายจะไม่เคยรู้จักกับผู้ชมมาก่อนเลยก็ตาม ตัวอย่างเช่น ในกระทู้เว็บพันทิป มีสมาชิกคนหนึ่งตั้งคำถามว่าตนเองชอบดูรูปศพที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จึงเกิดความสงสัยว่าตนเองมีอาการทางจิตหรือไม่ สมาชิกบางคนที่เข้ามาตอบคำถามดังกล่าว ให้ความเห็นว่าสิ่งนี้เป็นความชอบส่วนบุคคล คนที่จะมีอาการทางจิตคือคนที่อยากเก็บรูปภาพเหล่านี้ไว้เป็นของส่วนตัวและมีพฤติกรรมอยากฆ่าสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ แต่ถ้าดูเพื่อเรียนรู้เรื่องของร่างกายมนุษย์และดูเพื่อเข้าถึงหลักธรรมการปลงสังขาร ก็ไม่ควรถือว่ามีอาการทางจิต (Pantip, 26 กันยายน 2557) เป็นต้น ปฏิกิริยาของผู้ชมเช่นนี้เอง ย่อมทำให้การนำเสนอภาพความตายที่ชื่อว่าอสุภะภายใต้การกำกับของอำนาจทุน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี


ทิ้งท้าย

           ความตายคือความน่ากลัวและความเจ็บปวด เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อยากพบเห็น อย่างไรก็ตาม ความตายสามารถถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะได้โดยใช้พลังอำนาจของทุน ทั้งนี้ ความตายยังสามารถถูกนำมาจัดแสดงให้เห็นผ่านพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการด้วย บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบมืดหรือ Dark Tourism ซึ่งปรากฎอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ซึ่งฉายให้เห็นการทรมานและการสังหารหมู่ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, พิพิธภัณฑ์คุกตวลสเลง (Tuol Sleng) ซึ่งฉายให้เห็นความโหดเหี้ยมทารุณที่รัฐมีต่อชาวกัมพูชาซึ่งรัฐบาลในสมัยของพอลพตมองว่าเป็นปฏิปักษ์ สำหรับในประเทศไทยก็มีเช่น ศูนย์ประวัติศาสตร์ช่องเขาขาด ซึ่งฉายให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานของเชลยศึกสงครามที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นนำมาใช้เป็นแรงงานสร้างทางรถไฟ, อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง ซึ่งฉายให้เห็นประวัติศาสตร์ความรุนแรงซึ่งรัฐกระทำต่อชาวบ้านในข้อกล่าวหาว่าสนับสนุนคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

           การเผยแพร่เรื่องราวของความตายในพื้นที่สาธารณะ เป็นเสมือนเหรียญสองด้านซึ่งมีความขัดแย้งกันเอง เพราะในด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงถึงความไม่เคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์ ศพไม่สามารถพูดได้และไม่สามารถตอบอนุญาตว่าให้นำศพไปเผยแพร่ให้คนอื่นดูได้ (ยกเว้นการอุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่) ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็แสดงถึงการเป็นอนุสรณ์เตือนสติให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือในบางกรณียังแสดงถึงการเป็นสื่อการเรียนรู้วิชากายวิภาคศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ และวิชาประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมองในด้านไหนก็ตาม ในความเป็นจริงคือร่างกายของมนุษย์ไม่ได้เป็นอิสระ เพราะร่างกายมนุษย์ถูกควบคุมโดยคนอื่นเพื่อเป้าประสงค์บางอย่างมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นลมหายใจแล้ว


บรรณานุกรม

กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ. การพนันในอีสาน: มองผ่านบริบท วัฒนธรรมความเชื่อ และวัฒนธรรมการเมือง. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ศิลปะกับสภาวะสมัยใหม่: ความย้อนแย้งและความลักลั่น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552.

รัชฎากรณ์ กล้าเกิด. “การใช้ภาพความตายเป็นสื่อสัญลักษณ์ในงานศิลปะร่วมสมัยไทย (2545-2555).” ใน. Veridian E-Journal Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, 8: 3 (กันยายน-ธันวาคม 2558).

Benjamin, Walter. “The work of art in the age of mechanical reproduction.” translated by Harrey Zohn, Illuminations. New York: Schocken Books, 1969.

Bourdieu, Pierre. The field of cultural production: essays on art and literature. New York: Columbia University Press, 1993.

Klima, Allen. The Funeral Casino: Meditation, Massacre, and Exchange with the Dead in Thailand. USA: Princeton University Press, 2002.

Ladwig, Patrice. “Review of The Funeral Casino.” In Journal of Buddhist Ethics, 10 (2003).

Pantip. “กระทู้เรื่อง ดูภาพศพแล้วไม่รู้สึกกลัว เป็นอาการทางจิตหรือเปล่า.” สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2567 จาก https://pantip.com/topic/32633128 (26 กันยายน 2557).

Siddiqui, Shabnoor and Tajinder Singh. “Social Media its Impact with Positive and Negative Aspects.” In International Journal of Computer Applications Technology and Research, Volume 5 Issue 2 (2016).


ผู้เขียน
ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข
นักวิจัย. ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความตาย อำนาจ ทุน สังคมไทย ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา