“ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” โดย “ณัฐพล ใจจริง”

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 3844

“ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” โดย “ณัฐพล ใจจริง”

 

“ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร”

โดย  “ณัฐพล ใจจริง”

 

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

 

           “ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” เขียนโดย “ณัฐพล ใจจริง” นักประวัติศาสตร์ ที่เรียกได้ว่าอยู่แถวหน้าในเวทีวิชาประวัติศาสตร์ไทย ภายในเล่มมีทั้งหมด 10 บท ที่ชี้ให้เห็นสภาพทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล “คณะราษฎร” ในชุดของนายกรัฐมนตรี พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างปี พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 10 ปี หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

           หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของการพัฒนาการเมืองการปกครองของสยาม-ไทย นั้น นอกเหนือจากการมีรูปแบบตามประเทศในตะวันตก หรือ
“อัศดงคตาภิวัฒน์” (Westernization) ที่ลอกเลียนแบบจากสหราชอาณาจักรในยุคลัทธิอาณานิคม (ตรงกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ 3 รัชกาล คือ 5, 6, 7 (พ.ศ. 2411-2477 หรือ 66 ปี) แล้ว ยังมีรูปแบบของสหรัฐอเมริกา (USA-Americanization) ในยุคสมัยของสงครามเย็น ซึ่งตรงกับรัชสมัยอันยาวนาน 70 ปีของรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489-2559) ที่ปรากฏควบคู่กันไปแบบขึ้นๆ ลงๆ ควบคู่ไปกับ “ลัทธิทหาร” (Militarism) ของรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม (ยุคหลัง) ตลอดจนช่วงสมัยอันยาวนานของรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม-เปรม-สุจินดา-ประยุทธ์ รวมทั้งยังมีการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้นำไทยต้องการลอกเลียนแบบจากประเทศในโลกตะวันออกที่มักจะถูกมองข้ามไป นั่นคือ ตามแบบของญี่ปุ่นที่เราอาจใช้คำรวมๆ ว่า Japanization

           ใน 5 บทแรก จึงเป็นเหมือนการปูพื้นให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ญี่ปุ่นได้ปฏิรูปประเทศมานับตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเมจิ จนประสบความสำเร็จเท่าเทียมกับประเทศในโลกฝั่งตะวันตกและทำสงครามทางทะเลพิชิตรัสเซียได้อย่างไร รวมทั้งในขณะที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของลัทธิทหาร/อำนาจนิยม มีนโยบายแบบลัทธิจักรวรรดินิยม คือ ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนทั้งในแผ่นดินใหญ่และน่านน้ำของเอเชีย (ไต้หวัน เกาหลี แมนจูเรีย/แมนจูกัว) รุกล้ำเข้ามาในเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ (ฟิลิปปินส์), ของฝรั่งเศส (อินโดจีน), ของฮอลันดา (อินโดนีเซีย), และของสหราชอาณาจักร (มาลายา สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย) ซึ่งก็คือดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ในเวลานั้นมีไทยเป็นเอกราชอยู่เพียงชาติเดียว และไทยก็เพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่รัฐบาลใหม่ของผู้นำใหม่อย่างคณะราษฎรกำลังมองหาและต้องการมิตรใหม่ๆ อย่างญี่ปุ่นนั่นเอง

 

ท่านทูตยาตาเบ ทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามไว้ด้วย สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ

บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475: การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม

(จากหนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร หน้า 43)

 

คณะนายทหารหนุ่ม ผู้ถือคติเสียชีพอย่าเสียชาติ ล้มเหลวในการปฏิวัติสยาม เมื่อ ร.ศ. 130 ต่อมาพวกเขามีส่วนสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 จนสำเร็จ และหลายคนลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรชุดแรกของไทย

(จากหนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร หน้า 34)

 

           ด้วยเหตุที่คณะราษฎรเป็นผู้นำกลุ่มใหม่ ผู้มาจากสามัญชนที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้พวกเขาเริ่มมองไปยังญี่ปุ่น มหาอำนาจใหม่เพื่อแสวงหาการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาจัดตั้งขึ้น และหลังจากที่คณะราษฎรสามารถผนึกอำนาจให้มั่นคงได้แล้ว จึงส่งสมาชิกคณะราษฎรไปดูการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น และกลับมาปรับปรุงการบริหารราชการของไทย ยกตัวอย่าง เช่น “ขุนศรีศรากร” สมาชิกคณะราษฎรที่มีโอกาสได้ไปดูงานด้านกิจการตำรวจญี่ปุ่น หลังจากที่กลับมาแล้ว เขาได้ทำรายงานนำเสนอการปรับปรุงกิจการตำรวจไทย ได้แก่ ปรับปรุงระบบการติดต่อสื่อสารของตำรวจ การจัดตั้งหน่วยตำรวจลับ การจัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ตำรวจดับเพลิง โรงเรียนตำรวจดับเพลิง การจัดสร้างตู้ยาม การจัดตั้งสถานีตำรวจดับเพลิง การจัดตั้งโรงเรียนตำรวจภูธร เป็นต้น

           อีกสองท่านที่ได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น คือ “หลวงสินธุสงครามชัย” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย “ขุนสุคนธวิทศึกษากร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ไปดูงานกิจการศึกษาของญี่ปุ่นเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแผนการศึกษาของชาติใหม่ เมื่อพวกเขากลับมาแล้ว รัฐบาลประกาศใช้แผนการศึกษา พ.ศ. 2479 ฉบับใหม่ เพื่อลดระยะเวลาในการเรียนสายสามัญลงเพื่อให้นักเรียนสามารถศึกษาต่อในสายอาชีพได้สะดวกขึ้น

 

ภาพถ่ายบรรยากาศต้อนรับนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น 
(จากหนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร หน้า 208)

 

           ในครึ่งหลังของหนังสือ บทที่ 6 ถึง 10 เป็นเรื่องความสัมพันธ์อันสนิทแนบแน่นระหว่างรัฐบาลใหม่ของไทยกับรัฐบาลลัทธิทหารญี่ปุ่น ทั้งการไปดูงานเพื่อเรียนรู้รูปแบบของการพัฒนาแบบญี่ปุ่น ทั้งการไปเยือนจากระดับรัฐบาล ระดับรัฐมนตรี ระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งข้าราชการ ตำรวจ พลเรือน ตลอดจนนักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน เช่น “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และการส่งคนไทยไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น

           หนังสือเล่มนี้น่าจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้การถกเถียงเรื่องยุคสมัยของประวัติศาสตร์ไทย ในยุคที่คณะราษฎรหรือผู้นำใหม่เรืองอำนาจ และเป็นยุคที่ฝ่ายเจ้า/ขุนนาง หรือผู้นำเก่า ตกต่ำที่สุด และหนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ long history ของไทยและญี่ปุ่น ที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้อย่างยิ่ง

 

หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยมานุษยวิทยาการเมือง มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

 

ผู้เขียน

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ รัฐและวัฒนธรรมอำนาจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา