ข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิต (Capital Punishment)

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 2202

ข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิต (Capital Punishment)

           “โลกาภิวัฒน์มีผลต่อรูปแบบการใช้อำนาจและกรรมวิธีในการลงโทษผู้กระทำความผิด นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในหลายประเทศ ในทางกลับกัน ในประเทศไทยโทษประหารชีวิต ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ?”

           สังคมไทยมีกฎหมายอาญาที่ลงโทษผู้ทำความผิดหนักเบาตามพฤติการณ์ที่ต่างกัน ได้รับโทษไม่เท่ากัน เช่น การค้ายาเสพติด การขับรถชนคนตาย การข่มขืนและฆ่า การปล้นชิงทรัพย์และฆ่า การฆาตกรรมต่อเนื่อง การฆ่ายกครัว การฆ่าอำพรางศพ เป็นต้น ในการรับโทษขั้นสูงสุดคือ “การประหารชีวิต” เป็นประเด็นโต้แย้งทางสังคมระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน ในวงวิชาการมีการศึกษาประเด็นนี้ เช่น ตุลาการ ขยันขันเกตุ (2563) ชี้ว่าประเทศไทยควรใช้หลักกฎหมายของสหประชาชาติ โดยใช้โทษประหารชีวิตเฉพาะในคดีเจตนาฆ่าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และอาจพักการใช้โทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ กำหนดโทษจำคุกเพิ่มเข้าไปในบางฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว การใช้โทษจำคุกระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการพ้นโทษ การจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ได้รับการลดโทษ และการนำนักโทษประหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม


ความเห็นต่อโทษประหารชีวิต

           คำถาม “โทษประหารชีวิต” ควรมีต่อหรือควรยกเลิก ? สังคมไทยจำเป็นต้องมีโทษประหารต่อไปหรือไม่ โทษประหารขัดแย้งกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงในกลุ่มนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไป (นิจ อักษรา, 2556) ในปี พ.ศ.2566 เมื่อเกิดคดีแอม ไซยาไนด์ สื่อและคนในสังคมต่างให้ฉายาผู้ทำผิดว่า “ฆาตกรหญิงต่อเนื่อง” คดีนี้ทำให้สังคมตื่นตระหนกและรู้สึกว่าฆาตกรมีจิตใจที่เหี้ยมโหด คดีฆ่าชิงทอง คดีหีบเหล็กถ่วงน้ำ คดียิงตำรวจ หรือคดี ๆ อื่น ๆ อีกมากมายล้วนแล้วเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญบนสังคมไทยมาอย่างยาวนานและยากที่จะจางหายไป


การมีอยู่ของโทษประหาร: ทัศนะของผู้สนับสนุน

“he who violates that right in another forfeits it for himself - ผู้ที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้น ได้สละทิ้งซึ่งสิทธิของตนเองไปแล้ว” เจ.เอส. มิลล์ (J.S. Mill. 1868)

           ผู้สนับสนุนโทษประชีวิต ให้เหตุผลว่าโทษประหารชีวิตเปรียบเสมือนเครื่องมือทางสังคม ที่สามารถควบคุมสังคมให้อยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันได้อย่างสงบสุข ในหนังสือโทษประหารชีวิตของ รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง อ้างความคิดเห็นของนัทธี จิตสว่าง (2555) ว่าแม้ในปัจจุบันขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมส่วนใหญ่เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่นั่นเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากกลุ่มที่สนับสนุนมองว่าโทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ถือเป็นเครื่องมือในการยับยั้งการกระทำความผิดทางสังคมที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งผู้กระทำความผิดนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิของผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว นั่นจึงไม่อาจให้อภัยและให้สิทธิต่าง ๆ แก่ผู้กระทำความผิด แม้กระทั่งสิทธิของการมีชีวิตอยู่ต่อก็ตาม ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษที่สาสม จะเห็นได้ว่าทัศนคติที่อาจแฝงอยู่ คือ“การลงโทษแบบแก้แค้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรม” ในความรู้สึกของกลุ่มที่สนับสนุนพยายามให้สังคมมองเห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยมีการดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้ที่กระทำความผิดมากกว่าการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์และความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

           ทัศนะของกลุ่มผู้สนับสนุนโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่จึงต้องการให้ผู้ที่กระทำความผิดอย่างคดีอุกฉกรรจ์ต้องได้รับการปฏิบัติที่สาสมกับสิ่งที่ได้ทำลงไป ซึ่งถือเป็นความยุติธรรมตามแนวคิดปรัชญาแก้แค้นทดแทน และสอดคล้องกับทฤษฎีการลงโทษเพื่อการแก้แค้นทดแทน (Retribution Theory)1  เป็นการรับโทษจากการ “ตายตกตามกันไป” ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการใช้โทษอื่นเพื่อทดแทนการประหารชีวิต เช่นโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งอาจเทียบเท่าโทษสูงสุดในทางปฏิบัติบนสังคมไทย แต่กลุ่มที่สนับสนุนสะท้อนว่า ถึงแม้จะมีการใช้โทษชนิดอื่นในการทดแทนโทษประหารชีวิต แต่นั่นไม่สามารถช่วยหยุดยั้งอาชญากรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมยังคงมีช่องว่าง พร้อมทั้ง “เครื่องมือการอภัยโทษ” ที่ยังคงเป็นเครื่องมือที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมบนสังคมไทยปัจจุบัน และอาจส่งผลให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ จึงไม่สมควรที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยยังมีช่องว่างของความไม่ยุติธรรมอยู่


การมีอยู่ของโทษประหาร: ทัศนะของผู้คัดค้าน

           จุดยืนของกลุ่มที่คัดค้านโทษประหารชีวิตยึดโยงกับสถาบันหลักทางสังคมอย่างศาสนาและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเห็นว่า ชีวิตทุกชีวิตของมนุษย์ทุกคนในสังคมนั้นมีค่าและศักดิ์ศรีแม้ว่าผู้กระทำความผิดจะกระทำความผิดร้ายแรงมากน้อยขนาดไหน เขาก็ยังคงเป็น “มนุษย์” ในทัศนะเชิงสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้คัดค้านโทษประหารชีวิตมองว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ขัดแย้งและละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสมอเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสถานภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางกฎหมายอย่างไร ถือเป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากไปจากตัวบุคคลได้ สะท้อนให้เห็นว่า การใช้โทษประหารชีวิตย่อมอาจเกิดความเสี่ยงในการเลือกปฏิบัติจากช่องว่างของกระบวนการยุติธรรม เพราะนักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ คือ “คนยากจน” ที่ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้ ดังนั้นในทัศนะของกลุ่มผู้ที่คัดค้านโทษประหารชีวิตเป็นไปในแนวทางเดียว คือ ไม่มีใครสามารถพิพากษาและเอาชีวิตของผู้อื่นไปได้ โทษประหารชีวิตอาจถูกนำมาใช้แบบเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สีผิว ตลอดจนสถานะทางสังคมจากความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน

           กลุ่มที่คัดค้านสะท้อนว่าในสังคมปัจจุบัน ศาสนาถือเป็นสถาบันหลักทางสังคมที่สำคัญ หากยังคงใช้โทษประหารชีวิตต่อไปถือเป็นการบิดเบือนและขัดต่อหลักศาสนาอย่างแท้จริง อาทิ ศาสนาพุทธในสังคมไทย มองว่าการประหารชีวิตขัดต่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาได้สอนว่าทุกชีวิตมีคุณค่าและมีสิทธิต่อชีวิตของตนเอง โดยมองว่าการกลายเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเกิดจาก “การคิดในด้านร้าย” คือ อกุศลจิต ดังนั้นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นไม่สามารถหยุดยั้งได้ด้วย “ความตาย” หากแต่สังคมสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคมด้วยมโนสำนึกที่ละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป เช่นนั้นผู้กระทำความผิดไม่ได้มีความเป็นอาชญากรโดยกมลสันดานอย่างแท้จริง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องประหารชีวิต หากแต่ควรมีช่องว่างของเวลาให้ผู้กระทำความผิดได้สำนึกและกลับตัวเป็นคนดีของสังคมอีกครั้ง

           ในงานวิจัยของ รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง (2553) เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการกระทำความผิดของนักโทษประหาร พบว่า นักโทษประหารมีสถานภาพทางสังคมที่ไม่สูง อาทิ จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 10,000 บาท ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้กลายเป็นนักโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือ ต้องโทษประหาร จากสถานภาพทางสังคมไม่สูงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงผู้ที่กระทำความผิดอาจเป็นผู้ที่ขาดโอกาสในชีวิต ทั้งในแง่ของการศึกษาและระบบเศรษฐกิจ จนอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ต้องประกอบอาชญากรรม รวมทั้งเมื่อต้องโทษด้วยสถานภาพทางสังคมที่ไม่สูง ทำให้ไม่สามารถมีอำนาจต่อรองหรือต่อสู้คดีได้ด้วยเหตุผลหลายประการ สุดท้ายแล้วโทษประหารชีวิตอาจเป็นการแสดงออกถึงช่องว่างของความไม่ยุติธรรมในสังคม ดังนั้นแนวคิดของกลุ่มที่คัดค้านโทษประหารชีวิตจึงต้องการให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยทันที โดยการแก้ไขกฎหมายการลงโทษผู้กระทำความผิด และการยกเลิกโทษประหารชีวิตในสังคมไทย


ทัศนะของ “เหยื่อ” และ ผู้ทำความผิดต่อโทษประหารชีวิต

           คนทั่วไปยังคงคิดว่าผู้ทำผิดหรือฆาตกรควรได้รับโทษสูงสุดให้สมกับความผิดที่ทำลงไป และเหยื่อจะรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมคืนมา

           พิชชาภา คำเพิงใจ มารดาของ วริศรา กลิ่นจุ้ย เหยื่อในคดีฆ่าหั่นศพ เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องโทษประหารชีวิตว่า “ไม่เห็นด้วย ถ้าหากจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ถ้ากฎหมายประเทศไทยไม่มีโทษประหาร อาจจะเพิ่มอาชญากรที่เลวร้ายขึ้นมาอีก จากที่เคยกลัวโทษสูงสุดก็จะไม่กลัวโทษ เขาอยากจะฆ่าใครก็ฆ่า เพราะรู้ว่าสุดท้ายแล้วก็ยังมีชีวิตอยู่ในเรือนจำ และอาจพ้นโทษในเวลาต่อมา ถ้าสมมติยกเลิกจริง ๆ อาจจะผิดหวัง ในกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย แต่เราเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่ง คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะบอกว่าดีหรือไม่ดี และคงเสียใจหากครอบครัวที่สูญเสียไม่ได้รับความเป็นธรรมที่สมควร” (ประชาไท. 2561)

           เกศริน เตียวสกุล (2562) เล่าประสบการณ์จากการศึกษาว่าการเข้าไปรับรู้ รับฟัง และเสียงของนักโทษประหารชีวิต ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ การแสดงออก กิริยาท่าทาง ความสุข ความทุกข์ ความโศกเศร้า และการรับรู้ถึงโทษประหารชีวิต พบว่านักโทษที่ต้องโทษประหารต่างรับรู้ถึงโทษสูงสุดของตนหากกระทำความผิด แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็เลือกที่จะทำเพราะตัวแปรและเงื่อนไขที่บีบคั้นให้พวกเขาต้องทำ ผู้กระทำความผิดไม่ได้เป็นอาชญากรและฆาตกรโดยกำเนิดและสัญชาตญาณ แต่ก่ออาชาญากรรมและฆาตกรรมเพราะเหตุผลบางอย่าง นักโทษในเรือนจำจะพบเห็นเพื่อนนักโทษด้วยกันได้รับการลงโทษและบางคนก็ถูกประหารชีวิต ความรู้สึกของนักโทษจึงเป็นสิ่งที่สังคมภายนอกไม่เคยรู้และไม่เข้าใจ


โทษประหารชีวิตในสังคมไทย

           กลุ่มที่คัดค้านโทษประหารชีวิตยึดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักศาสนา โทษประหารชีวิตถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการฆ่าผู้ทำความผิดไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ มนุษย์ผู้กระทำความผิดสามารถเรียนรู้และปรับพฤติกรรมให้อยู่บนบรรทัดฐานทางสังคมได้ อีกทั้งโทษประหารชีวิตขัดต่อหลักศาสนาและชุดศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย ความเชื่อทางพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้คนกลับตัว รวมทั้งการบำบัดและการแก้ไข เพื่อให้ได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตอีกครั้ง ดังนั้นโทษประหารชีวิตจึงไม่สอดคล้องกับจารีตทางสังคมไทย ความคิดนี้อาจสวนทางกับคนที่เห็นด้วยที่มองว่าการประหารชีวิตยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมที่อ่อนแอในปัจจุบัน ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อได้ ย่อมไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต

           ปัจจุบันประเทศไทยใช้มาตรการ “การจำคุกตลอดชีวิต (Life imprisonment)” เพราะเป็นการพักโทษชีวิตให้แก่นักโทษเพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ และไม่ขัดต่อชุดศีลธรรมทางศาสนาและหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โทษจำคุกตลอดชีวิตจะถูกยกมาเป็นมาตรการทดแทนการใช้โทษประหารชีวิต แต่โทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นก็ยังคงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน แต่ถึงกระนั้นโทษจำคุกยังคงเป็นตัวเลือกที่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยใช้แทนโทษประหารชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป นักโทษจะถูกลดโทษจากการ “อภัยโทษ” และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา คำถามคือ การลดโทษและปล่อยตัวนักโทษจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้อย่างไรว่านักโทษเหล่านั้นจะไม่ก่อปัญหาและทำผิดซ้ำ ดังที่มีตัวอย่างว่านักโทษออกมาทำความผิดซ้ำโดยไม่มีสำนึกถึงในความผิดของตน

           ปัญหาซ่อนเร้นในเรื่องนี้คือความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการทำหน้าที่ของตำรวจ ทนายความ ตุลาการ อัยการ ผู้พิพากษาควรวางอยู่บนข้อเท็จจริง (สมชาย ปรีชาศิลปกุล, 2565) เห็นได้จากนายทุน นักการเมือง และผู้มีอำนาจบางคนทำความผิดและไม่ได้รับโทษ นักโทษบางคนก็เป็นแพะรับบาป ขณะเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งในสังคมด้วยเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ชนชั้นทางสังคม และความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนบางคนกลายเป็นอาชญากร

           โจทย์ที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ ทำอย่างไรกระบวนการยุติธรรมจะสามารถสร้างความศรัทธาเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเชื่อมั่นว่า จะสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้อง และ “ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับการลงโทษและสังคมส่วนรวมจะต้องได้รับการคุ้มครอง”

           อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารแสดงให้เห็นถึงช่องว่างของกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ประเทศไทยยังคงอาศัยบทลงโทษต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการยับยั้ง ฟื้นฟู และป้องกันการเกิดอาชญากรรมต่อไป แม้ว่ารัฐบาลไทยจะได้รับแรงกดดันจากหลายภาคส่วนและหลายประเทศที่มีการยกเลิกเรื่องโทษประหารชีวิต สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงหาข้อยุติต่อประเด็นดังกล่าวไม่ได้และไม่อาจชี้ขาดได้ว่า “ประเทศไทยสมควรมีหรือไม่สมควร สำหรับโทษประหารชีวิต”


สังคมวิทยากับโทษประหารชีวิต

           สังคมวิทยามองว่า การลงโทษถือเป็นสถาบันทางสังคมที่ซับซ้อน ซึ่งถูกผลิตสร้างและหล่อหลอมโดยกลุ่มพลังทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานในแต่ละพื้นที่ ทั้งยังสร้างผลกระทบที่หลากหลายและอาจเป็นผลกระทบวงกว้างทางสังคม นักทฤษฎีทางสังคมศาสตร์พยายามเสนอข้อค้นพบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดทางสังคม อาทิ Durkheim (1983) เสนอว่าการลงโทษถือเป็นกลไกที่คงไว้ด้วยคุณธรรมเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยในสังคมซึ่งมีพื้นฐานจากความรู้สึกร่วมกัน Norbert Elias (1982) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม และกระบวนการผลิตสร้างทางอารยธรรม ในฐานะตัวแปรสำคัญในการกำหนดมาตรการทางอาญาสมัยใหม่หรือแนวคิดมาร์กซิสต์2  ที่บรรยายถึงบทบาททางอุดมการณ์และการเมืองในการครอบงำของชนชั้นปกครอง ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และชนชั้นในการใช้โทษต่าง ๆ

           ประเด็นที่นักสังคมวิทยาสนใจ เช่น การลงโทษในลักษณะของการเจาะจงเกิดขึ้นได้อย่างไร การลงโทษทำหน้าที่อย่างไรต่อระบบทางสังคมปัจจุบัน ระบบราชทัณฑ์ในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้องอย่างไรกับกระบวนการยุติธรรม ตลอดจน กระบวนการทางอาญามีส่วนช่วยในการจัดระเบียบทางสังคม อำนาจรัฐ ชนชั้น การปกครองในระบบชนชั้น หรือ การสืบทอดวัฒนธรรมแฝงทางสังคมอย่างไร เป็นต้น วิธีการทางสังคมวิทยาสามารถใช้ทำความเข้าใจระบบการลงโทษที่ยังคงทำงานจริงในสังคมยุคใหม่ ร่วมกับความรู้จากศาสตร์อื่น ๆ (David Garland 1991) การศึกษาของนักมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่าการลงโทษผู้ทำความผิดเป็นเรื่องของสาธารณะที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงทางศีลธรรมอย่างกว้างขวาง สำหรับโทษประหารชีวิตนั้น ทำให้เห็นว่า “ความเป็นมนุษย์” ของนักโทษอยู่ตรงไหน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับการประหารชีวิต ทุกคนล้วนกำลังมีการตัดสินเชิงศีลธรรมส่วนบุคคล และศีลธรรมที่นำมาใช้เพื่อสนับสนุนและคัดค้านการประหารชีวิตจะทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ในตัวเราอย่างไร (Garnett, 2003)

           “มุมมองที่มีต่อโทษประหารชีวิตในสังคมไทยปัจจุบัน จะเป็นอย่างไร เห็นด้วย หรือ เห็นต่างขึ้นอยู่กับคุณจะใช้เลนส์อะไรในการมอง และมองจากสถานะอะไร”


บรรณานุกรม

กศริน เตียวสกุล, วิชชุตา อิสรานุวรรธน์. (2562). รายงานผลการศึกษาข้อมูลนักโทษประหารชีวิต. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตุลาการ ขยันขันเกตุ. (2563). แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: กรณีศึกษาอาชญากรรอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/a-history-of-capital-punishment/53432

นิจ อักษรา. (2556). ย้อนตำนานโทษประหารชีวิตจากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ก้าวแรก.

ประชาไท. (2561). ‘โทษประหาร’ ของมันต้องมีหรือถึงเวลาต้องยกเลิก?. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2018/03/75891

สมชาย ปรีชาศิลปกุล. (2565). ไม่ให้ประกัน คือโทษทัณฑ์ต่อผู้บริสุทธิ์. สืบค้นจาก https://www.the101.world/no-bail/

สุมนทิพย์ จิตสว่าง. (2561). โทษประหารชีวิต. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุมนทิพย์ จิตสว่าง. (2553). ปัจจัยที่มีผลต่อการกระทำผิดของนักโทษประหาร (ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต), มหาวิทยาลัยมหิดล, นครปฐม.

David Garland. (1991). Sociological Perspectives on Punishment. Crime and Justice.
14: 115-165.

Durkheim, E. (1983). The Evolution of Punnishment. In Durkheim and the law, edited by S. Lukes and A. Scull. Oxford: Martin Robertson.

Elias, Norbert. (1982). The Civilizing Process: State Formation and Civilization. London: Blackwell.

Garnett, R.W. (2003). Christian Witness, Moral Anthropology, and the Death Penalty. Notre Dame Journal of Law, Ethics & Public Policy, 17(2), 541-559.


1  สัญญพงศ ลมประเสรฐ, สุธีราภรณ์ แสงจันทร์ศรี, และอนิสา มานะทน (2562). การลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญา Criminal Offenders’ Punishment. งานประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต, 1484-1493.

2  Melossi, D. (2013). Georg Rusche and Otto Kirchheimer: "Punishment and Social Structure". Social Justice, 40(1/2) (131-132), 265-284.


ผู้เขียน
ภานรินทร์ แสงศรี น้ำเพชร
นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ข้อถกเถียง โทษประหารชีวิต capital punishment ภานรินทร์ แสงศรี น้ำเพชร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share