Donald Trump และความฝันอเมริกันผิวขาว

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 306

Donald Trump และความฝันอเมริกันผิวขาว

           ในปี ค.ศ. 2016 ช่วงที่มีการหาเสียงประธานาธิบดีสหรัฐ และโดนัลด์ ทรัมป์ ลงสมัครแข่งขันกับฮิลลารี คลินตัน นักมานุษยวิทยา Michael Scroggins ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่ออกมาสนับสนุนทรัมป์มองไม่เห็น “ความบกพร่องทางสังคมอันเลวร้าย” (awful social deficiency) (Stoller, 2016) ทุกเวทีหาเสียงของทรัมป์จะมีการใช้หมวกเบสบอลสีแดงเป็นสื่อเพื่อบ่งชี้ถึงความเป็นชายที่ชอบดูเบสบอลของทรัมป์และเป็นสัญลักษณ์ของชาติอเมริกัน แต่การแสดงออกเหล่านี้คือผลผลิตของ “ความไม่รู้” ปรากฎการณ์ที่ชาวอเมริกันเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนนำเสนอและวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง ในทางวิชาการ นักมานุษยวิทยาอเมริกันมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งและความคิดของประชาชนอเมริกันจะสะท้อนสังคมอเมริกันในปัจจุบันอย่างไร

           หากเปรียบสังคมอเมริกันเป็นเหมือนคติความเชื่อ ทรัมป์และฮิลลารีจะเปรียบเสมือนเป็นตัวละครในตำนานและคติชนที่กำลังสร้างพลังอำนาจให้ตนเองในฐานะผู้นำที่น่าเชื่อถือ ความคิดของทั้งสองคนเกี่ยวกับปัญหาการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ สะท้อนการเป็นบุคคลสาธารณะและเป็นผู้กุมชะตากรรมโลกซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ใหญ่โตเกินชีวิตประจำวันที่คนทั้งสองปฏิบัติเป็นปกติ การแสดงภาพลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดา Maximilian Forte (2016) อธิบายว่าลักษณะสำคัญของบุคคลในตำนานคือผู้ที่สร้างสังคมให้มีความเจริญรุ่งเรือง หากพิจารณาความเชื่อเกี่ยวกับ “ความฝันแบบอเมริกัน” จะพบว่าผู้อพยพที่ต้องการเดินทางไปสร้างชีวิตใหม่ในอเมริกา พวกเขามองเห็นโอกาสที่ดี อเมริกาเปรียบเสมือนดินแดนที่สร้างเงิน ความร่ำรวย ความสำเร็จ ความทันสมัย และความเจริญทางวัตถุ ความฝันนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยึดติดและคาดหวังว่าจะมีผู้นำคนใหม่ที่จะทำให้อเมริกาประสบความเจริญมั่งคั่งต่อไปในอนาคต สิ่งนี้ทำให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะและเป็นประธานาธิบดี

           ในขณะที่คนอเมริกันมองฮิลลารีเป็นผู้หญิงที่น่าเบื่อและไม่สร้างแรงบันดาลใจ บางคนคิดว่าเธอเป็นเหมือนแม่มดที่น่ากลัว ตรงข้ามกับทรัมป์ที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์ของนักธุรกิจที่ร่ำรวยมหาศาล เปรียบเป็นดั่งผู้ที่จะนำพาอเมริกาไปสู่ความรุ่งโรจน์ ปรากฎการณ์ทรัมป์จึงเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมอเมริกันที่ยึดมั่นในความยิ่งใหญ่ กระแสชื่นชมทรัมป์อาจเรียกว่าเป็น “ลัทธิทรัมป์นิยม” (Trumpism) นอกจากนั้น ความแตกต่างระหว่างทรัมป์กับฮิลลารีคือ ทรัมป์เป็นคนที่ปฏิบัติ ส่วนฮิลลารีเป็นคนที่ชอบพูด (Stoller, 2016) เมื่อทรัมป์ขึ้นเวทีปราศัยกับชาวอเมริกัน สิ่งที่ทรัมป์มักพูดบ่อย ๆ คือ คนอเมริกันต้องมีงานทำ เป็นการโฆษณาที่ชาวอเมริกันชนชั้นแรงงานและเกษตรกรของประเทศต้องการ เรื่องปากท้องเป็นสิ่งใกล้ตัวประชาชนที่ทำให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง สิ่งที่ทรัมป์พูดและแสดงออกต่อสาธารณะอาจเป็นกระจกสะท้อน “การดำรงอยู่ของชีวิตอเมริกัน” (ontology of American life) ที่ทุกคนต้องทำงานเพื่อสร้างตัว

           “การทำงานกับการมีเงิน” คือแบบแผนทางสังคมในอเมริกา ชีวิตของคนอเมริกันจึงเป็นชีวิตที่จับต้องได้ผ่านวัตถุสิ่งของ (material concerns) มิใช่ชีวิตที่แวดล้อมด้วยอุดมการณ์และหลักคิดทางปรัชญา คนอเมริกันมองชีวิตในฐานะเป็นการดิ้นรนให้ประสบความสำเร็จผ่านความเจริญทางวัตถุ ในขณะที่การเมืองแบบอเมริกันเปรียบเสมือนเป็นการเล่นมวยปล้ำ ประเด็นนี้ Scroggins อธิบายว่านักมวยปล้ำจะรู้ว่าตนเองกำลังแสดงบทบาทนักต่อสู้เมื่อต้องขึ้นบนเวที และเมื่ออยู่นอกเวที นักมวยปล้ำจะฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงให้พร้อมกับการแสดง ดังนั้นการต่อสู้บนเวทีของนักมวยปล้ำจึงเป็นการสวมบทบาท มิใช่การเตะต่อยที่เหี้ยมโหดเพื่อทำให้คู่ต่อสู้ตาย แต่นักมวยปล้ำจะแสดงให้ “สมจริง” เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่ากำลังดูการต่อสู้ที่ดุเดือดและโหดร้าย เช่นเดียวกับนักการเมือง พวกเขาจะต้องแสดงให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเขาคือผู้สร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ Drummond (2018) อธิบายว่าทรัมป์เปรียบเสมือนนักมวยปล้ำที่รู้ว่าตนเองกำลังแสดงให้ “สมจริง” สำหรับการเป็นประธานาธิบดีอเมริกัน ทรัมป์จึงเป็นนักแสดงสมบูรณ์แบบ (consummate performer)

           ทรัมป์เปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากนักธุรกิจในวงการบันเทิงมาสู่การทำงานทางการเมือง บทบาทของการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ไม่ต่างจากการเป็นผู้บริหารในบริษัทผลิตละครและรายการโทรทัศน์ นิสัยการเป็นนักธุรกิจในวงการบันเทิงของทรัมป์เห็นได้จากการทำธุรกิจสื่อและหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์ค และการเป็นนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ในวงการสื่อของสหรัฐอเมริกา เรื่องอื้อฉาวสำหรับทรัมป์ โดยเฉพาะเรื่องการสมคบคิดกับรัสเซียจะถูกพูดถึงจากสื่อ สถานีโทรทัศน์ MSNBC และ CNN มักจะนำเรื่องเหล่านี้มาวิจารณ์ทรัมป์ต่อสาธารณะ ทำให้ทรัมป์ต้องออกมาแก้ตัวเสมอว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข่าวปลอม นักข่าว CNN ชื่อ Van Jones ออกมาวิจารณ์ชัยชนะของทรัมป์ว่าเป็นการครองอำนาจของคนผิวขาว การโฆษณาของทรัมป์คือการปลุกจิตวิญญาณของผู้ชายผิวขาวในอเมริกาที่ยังคงรังเกียจคนผิวดำ ทรัมป์ได้ทำให้ความเกลียดคนผิวดำและมุสลิมฟื้นคืนชีพ ทำให้การเกลียดแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพรุนแรงมากขึ้น ทำให้การเกลียดกลัวเกย์กลับมาใหม่ ชัยชนะของทรัมป์จึงเท่ากับการปลุกผีของความเกลียดชัง

           เมื่อทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นักมานุษยวิทยาในอเมริการู้สึกวิตกกัวล หวาดกลัว และโกรธแค้น เพราะทรัมป์คือสัญญาณแห่งความหายนะ สังคมอเมริกันจะปราศจากเสรีภาพ การเหยียดเชื้อชาติจะกลับมาใหม่ การแบ่งแยกกีดกันทางศาสนาจะรุนแรงกว่าเดิม และระบบเผด็จการจะเติบโต อย่างไรก็ตาม ประชาชนอเมริกันประมาณ 60 ล้านคนลงคะแนนให้ทรัมป์ ดูเหมือนชาวอเมริกันจะไม่รู้สึกเหมือนนักมานุษยวิทยา คำถามคือการศึกษาปรากฎการณ์ทรัมป์ นักมานุษยวิทยาจะวิเคราะห์ชีวิตคนอเมริกันอย่างไร

           ชาวอเมริกันที่รู้สึกไม่พอใจกับการเข้ามาอยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าว ต่างสนับสนุนความคิดของทรัมป์ เพราะเชื่อว่าทรัมป์จะปกป้องคุ้มครองประเทศให้ปลอดภัยจากคนต่างชาติที่เข้ามาแย่งงานคนอเมริกัน ซึ่งเป็นภาระที่ประเทศต้องแบกรับมายาวนาน ความคิดของชาวอเมริกันผิวขาวที่มองคนเชื้อชาติอื่นเป็นผู้บุกรุกถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งโดยคำพูดของทรัมป์ คำอธิบายที่แพร่หลายมานานที่กล่าวว่าสังคมอมเริกันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน คำกล่าวนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับชัยชนะของทรัมป์ นักวิชาการบางคนพิจารณาว่าความแตกต่างคือการอยู่อย่างตัวใครตัวมัน การอยู่ในสังคมเดียวกันไม่ได้หมายถึงการปรองดองและเห็นอกเห็นใจกัน สังคมอเมริกันที่มีความแตกต่างของเชื้อชาติจึงเท่ากับสังคมที่ผู้คนอยู่ในกลุ่มของตัวเอง คนผิวขาวและคนผิวดำล้วนอยู่ในชุมชนของตัวเอง และสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง (distinctive identities)

           การพูดของทรัมป์เต็มไปด้วยภาษาที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ (outrage rhetoric) และเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน เช่น การพูดถึงการสร้างกำแพงกั้นเขตแดนสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก (McGranahan, 2017) คำพูดที่สร้างความรุนแรงทางสังคมทำให้เกิดการต่อต้านคนต่างด้าว ชาวมุสลิม และแรงงานอพยพ ทรัมป์ผลิตคำพูดที่สร้างความเกลียดชังให้กับคนเหล่านี้ การมีอำนาจทางการเมืองของทรัมป์สะท้อนให้เห็นช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันเต็มไปด้วย “ความชั่วร้ายทางศีลธรรม” (moral outrage)

           นักมานุษยวิทยา Myles Lennon (2018) ตั้งข้อสังเกตว่าการทำความเข้าใจการเมืองในยุคทรัมป์ อาจต้องพิจารณาคนอเมริกันที่นิยมและเลือกทรัมป์ให้เป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปี ค.ศ. 2016 นักวิชาการและสื่อหลายสำนักพบว่ากลุ่มคนผิวขาวจากชนชั้นแรงงานจำนวนมากคือผู้ที่นิยมทรัมป์ ในเขตตะวันตกตอนกลางของสหรัฐอเมริกา บริเวณรัฐโอไฮโอ, มิชิแกน, อินเดียนนา, วิสคอนซิน, อิลลินอยส์, ไอโอวา, เคนตั๊กกี, มิสซูรี, มินเนโซตา, เวสต์เวอร์จิเนีย, นิวยอร์ค และนิวเจอร์ซี คือพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีแรงงานผิวขาวจำนวนมาก รู้จักในนาม Rust Belt กลุ่มแรงงานผิวขาวที่เป็นชายรักต่างเพศเหล่านี้มักจะถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและมีความคิดล้าหลัง (backward) นำไปสู่การประณามว่าเป็นคนที่น่ารังเกียจ อย่างไรก็ตาม เรื่องท้าทายสำหรับมุมมองทางมานุษยวิทยาคือ การทำความเข้าใจกลุ่มแรงงานผิวขาวเพศชายเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างไรโดยไม่นำอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นเครื่องมือตัดสิน

           คนอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเขตตะวันตกตอนกลางของประเทศคิดว่าทรัมป์เป็นคนทำงานหนัก จึงลงคะแนนเสียงให้เขา ในขณะเดียวกันคนอเมริกันเหล่านี้มิได้มองทรัมป์เป็นคนที่ดีและสมบูรณ์แบบ สิ่งนี้คือความลักลั่นและความย้อนแย้งในวิธีคิดทางการเมืองของประชาชนที่ลงคะแนนให้ทรัมป์ สภาวะดังกล่าวนี้บ่งบอกถึงความไม่สอดคล้องทางความคิดซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่สับสนและไร้ชีวิต Lennon (2018) อธิบายว่าการเมืองของสหรัฐอเมริกามีลักษณะเฉพาะ 3 ประการ คือ (1) ประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นจากจุดตัด (intersections) ระหว่างวาทกรรมและการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้อง ไม่สมดุล และขัดแย้งกัน กล่าวคือตัวตนทางการเมือง (political subjecthood) มิได้มาจากฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่เกิดจากความรู้และการปฏิบัติที่มักจะสวนทางกันและดำเนินต่อไปไม่รู้จบ ความไม่สอดคล้องที่เกิดขึ้นกับแรงงานชาวอเมริกันผิวขาวเกี่ยวข้องกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงของรายได้ และการไม่มีงานทำ เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ชีวิตแรงงานมีความเครียดที่แก้ไม่ได้ การที่คนเหล่านี้เลือกทรัมป์ก็เพราะว่าต้องการแสดงจุดยืนในความเป็นพลเมืองและแสดงอำนาจในตนเองของคนที่มีชีวิตที่ไร้เสถียรภาพ

           สังคมอเมริกันเติบโตมาบนฐานคิดเศรษฐกิจทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ที่ผลักให้บุคคลต้องต่อสู้แข่งขันเพื่อความสำเร็จทางวัตถุ (individuated success) ขณะเดียวกันก็พยายามทำให้พลเมืองยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพแบบประชาธิปไตย ตัวตนสองด้านนี้มักจะไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือในด้านที่เป็นตัวตนทางเศรษฐกิจ ชนชั้นแรงงานอเมริกันจำนวนมากต้องทำงานหนักและเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ แต่ในด้านที่เป็นพลเมืองสาธารณะ สังคมอเมริกันสร้างอุดมการณ์เสรีภาพที่ชาวอเมริกันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ครอบครัวและสถาบันการศึกษา แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นส่วนบุคคลที่ไม่สอดคล้องกับตัวตนสาธารณะที่เน้นเสรีภาพในชีวิตที่เท่าเทียมกัน กรณีที่น่าสนใจคือ เกย์บางส่วนลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์แม้จะรู้ว่าความคิดของทรัมป์ไม่สนับสนุนเสรีภาพทางเพศ แต่เกย์เลือกทรัมป์เพราะนโยบายกระจายรายได้ ซึ่งพรรคการเมืองคู่แข่งของทรัมป์ไม่มีนโยบายดังกล่าวที่ชัดเจน นอกจากนั้นชนชั้นกลางบางคนพิจารณาว่าทรัมป์เป็นคนพูดตรงไปตรงมา ทำให้ตัดสินใจเลือกทรัมป์ แม้ว่าคำพูดของทรัมป์จะหยาบคายก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ สามารถโน้มน้าวให้คนอเมริกันจำนวนมากเชื่อมั่นและเทคะแนนให้เขาได้เป็นประธานาธิบดี

           ลักษณะเฉพาะอย่างที่ 2 คือ ตัวตนทางการเมืองเป็นทั้งการรื้อทำลายและผลิตซ้ำอำนาจที่ชี้นำความคิด (hegemonic power) การแสดงตัวตนของทรัมป์ในเวทีการเมืองบ่งบอกให้รู้ว่าเขาคือผู้มีอำนาจสั่งการ ขณะที่การแสดงตัวตนทางการเมืองของประชาชนจะใช้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เมื่อชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์จะหมายถึงการแสดงอำนาจในตนขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตซ้ำอำนาจชี้นำของทรัมป์ แม้ว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์เน้นการสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับแรงงาน แต่ทรัมป์ก็ยังมีนโยบายลดงบประมาณของระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศ ซึ่งชาวอเมริกันที่เลือกทรัมป์มิได้คิดว่าเป็นปัญหา นอกจากนั้น ทรัมป์ยังเป็นความหวังให้อเมริกากลับมามีอำนาจในเวทีโลกอีกครั้ง คนที่สนับสนุนทรัมป์คิดว่าอเมริกาควรจะกลับมาเป็นผู้นำโลกเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต และคิดว่าผู้อพยพที่เข้ามาอาศัยในสหรัฐอเมริกาไม่ควรได้รับสวัสดิการเหมือนพลเมืองอเมริกัน รวมทั้งผู้อพยพและคนต่างด้าวบางกลุ่มอาจเป็นผู้ก่อการร้ายที่จะสร้างภัยอันตรายต่อคนอเมริกัน ดังนั้น นโยบายส่งผู้อพยพกลับไปอยู่ประเทศของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันเห็นคล้อยตามกับทรัมป์

           ลักษณะเฉพาะอย่างที่ 3 คือ ตัวตนถูกสร้างขึ้นบนบริบทการเมืองที่แตกต่างและมักจะมีการแข่งขันตลอดเวลา แนวคิดทางการเมืองมักเชื่อมั่นว่าบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองจะตัดสินใจเลือกตัวแทนให้สอดคล้องกับอุดมการณ์นั้น ในทางปฏิบัติ แนวคิดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ชัยชนะของทรัมป์สะท้อนให้เห็นว่าสังคมอเมริกันมีคนที่เลือกทรัมป์โดยมิได้เชื่อความคิดของทรัมป์ทุกด้าน คนที่เลือกทรัมป์มีสิ่งที่เหมือนกันคือการเป็นพลเมืองที่ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ แต่คนเหล่านี้มีความแตกต่างหลากหลายทั้งความคิด ความเชื่อ เพศสภาพ อายุ ฐานะทางสังคม การศึกษา และการประกอบอาชีพ การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นเพียงกิจกรรมทางการเมืองที่ปรากฎในพื้นที่สาธารณะ แต่ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งมิได้มีอุดมการณ์ที่เป็นเอกภาพ Lennon (2018) วิเคราะห์ว่าการเมืองแบบอเมริกันเป็นการเมืองบนวาทกรรมที่สร้างอุดมคติเกี่ยวกับ “วิถีอเมริกัน” (American way) ชีวิตสาธารณะของอเมริกาจึงเป็นอุดมคติที่ย้อนแย้งกับชีวิตส่วนตัวของปัจเจก เช่น การพูดถึงเสรีภาพในพื้นที่สาธารณะ แต่การปฏิบัติในพื้นที่ส่วนตัวอาจกลับปิดกั้นเสรีภาพ สิ่งนี้เรียกว่าการเมืองหน้าฉากและหลังฉาก

           การเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสะท้อนว่าชาวอเมริกันแต่ละคนมีความย้อนแย้งระหว่างการเมืองหน้าฉากและหลังฉาก บางคนเชื่อในเรื่องเสรีภาพแต่เลือกทรัมป์ด้วยเหตุผลอื่น แม้จะรู้ว่าสาธารณะและสื่อหลายสำนักจะวิจารณ์ทรัมป์ว่าเป็นคนบ้าอำนาจและเผด็จการ ความย้อนแย้งนี้สะท้อนว่าตัวตนของทรัมป์ไม่สอดคล้องกับหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตยอันเป็นคุณค่าที่สังคมอเมริกันยึดมั่น คนที่เลือกทรัมป์เข้าใจสิ่งเหล่านี้แต่ไม่คล้อยตามเสียงวิจารณ์ที่มีต่อทรัมป์ เพราะคิดว่าทรัมป์ตอบสนองความต้องการอย่างอื่นให้พวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นสร้างงาน สร้างเงิน ขับไล่คนต่างด้าวที่มาแย่งงานในอเมริกา จะเห็นว่าพรมแดนสาธารณะที่สื่อและนักวิชาการวิจารณ์ทรัมป์ว่าเป็นผู้ที่ทำลายเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน แต่คนอเมริกันผิวขาวที่เชื่อความคิดของทรัมป์กระทำสิ่งที่ตรงข้ามกับข้อวิจารณ์เหล่านั้น Lennon (2018) กล่าวว่าชัยชนะของทรัมป์คือการทวงคืนอำนาจของคนผิวขาว ที่สวนกระแสและโต้กลับสังคมโลกปัจจุบันที่เปิดพื้นที่ให้สิทธิกับคนหลากหลายเชื้อชาติ คนอเมริกันผิวขาวที่คิดว่าประเทศควรจะกลับมาอยู่ในมือของคนผิวขาวและอยากให้อเมริกายิ่งใหญ่จึงตัดสินใจเลือกทรัมป์ ทรัมป์จึงเป็นสัญลักษณ์ของ “ลัทธิผิวขาวนิยม” (white tribalism)


เอกสารอ้างอิง

Drummond, L. (2018). Ontology and Orange Hair: Reality and Reelity in Donald Trump's America. Retrieved from  file:///D:/Downloads/Ontology_and_Orange_Hair_Reality_and_Ree.pdf

Lennon, M. (2018). Revisiting “the repugnant other” in the era of Trump. HAU: Journal of Ethnographic Theory, 8(3). https://doi.org/10.1086/700979

McGranahan, C. (2017). An anthropology of lying: Trump and the political sociality of moral outrage. American Ethnologist, 44(1), 1-6.

Stoller, P. (2016). The Anthropology of Trump: Myth, Illusion and Celebrity Culture. The Huffington Post, March 3, 2016. Retrieved from https://www.academia.edu/38401364/Anthropology_Trumped


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการ ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Donald Trump ความฝัน อเมริกันผิวขาว ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา