มุมมืดในโลกวิชาการ

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1472

มุมมืดในโลกวิชาการ

           ในหลายวัฒนธรรม ความรู้มักถูกเปรียบเปรยในฐานะแสงสว่างที่จะขจัดความมืดบอดและเบิกให้เห็นความจริงที่จะสร้างความเข้าใจที่ผู้คนมีต่อโลกอย่างแจ่มแจ้ง โลกวิชาการในฐานะที่เป็นวงการของนักวิชาการ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์และขยับขยายองค์ความรู้บนพื้นฐานของเสรีภาพทางปัญญาเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางสังคม จึงเปรียบเสมือนต้นกำเนิดของแสงสว่างอันเป็นความรู้ทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพเปรียบเปรยนี้ โลกวิชาการกลับมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียม และปัญหาจริยธรรม ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทั้งนักวิชาการ นักวิจัย รวมไปถึงนักศึกษา ปัญหาเชิงระบบที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นมุมมืดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการสร้างความรู้เป็นวงกว้างในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติสุขภาพจิต ความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ตลอดจนอคติและความไม่เท่าเทียม บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจมุมมืดที่ไม่น่าพึงประสงค์ในโลกวิชาการสากล โดยเน้นไปที่สี่ประเด็นหลัก คือ ความกดดันในการตีพิมพ์งานวิจัย การมีลำดับชั้นในวงการวิชาการ ความไม่เท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ รวมถึงประเด็นปัญหาสุขภาพจิต


"ตีพิมพ์หรือแตกดับ" ความกดดันในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ

           หนึ่งในปัญหาที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในวงการวิชาการคือความกดดันในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการหรือผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยและนักวิจัยในสถาบันวิชาการจะถูกกดดันให้เผยแพร่ผลงานผ่านกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับในการประกอบอาชีพทางวิชาการในหลายสาขาวิชา ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ถูกกล่าวถึงในเชิงตัวเลือกว่า "ตีพิมพ์หรือแตกดับ" (Publish or Perish) ซึ่งสะท้อนว่าในการประกอบอาชีพทางวิชาการ หากนักวิชาการไม่สามารถตีพิมพ์ผลงานวิชาการหรือผลงานวิจัยตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่สามารถที่จะมีชีวิตทางอาชีพต่อไปได้ในแวดวงนี้ ผลที่ตามมาคือการมุ่งตีพิมพ์ผลงานที่เน้นปริมาณชิ้นงานมากกว่าคุณภาพของเนื้อหา คุณภาพของงานโดยรวมจึงด้อยลงเมื่อนักวิชาการต้องการเร่งให้เกิดผลงานในเชิงจำนวนตามกรอบเวลาที่ถูกกำหนดไว้ งานวิชาการและงานวิจัยจำนวนมากที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้จึงมีคุณภาพด้อยลง (Rawat & Meena, 2014) นักวิจัยในช่วงเริ่มต้นอาชีพมักได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขาต้องทำตามเกณฑ์การตีพิมพ์ที่เข้มงวดเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาชีพ ตลอดจนการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น ผลพวงของความกดดันนี้อาจนำไปสู่การกระทำบางประการที่ไม่ถูกจริยธรรมได้ เช่น การตีพิมพ์งานเดิมซ้ำในหลายวารสาร (duplicate publication) การคัดลอกผลงาน (plagiarism) การปลอมแปลงข้อมูล (falsification) รวมไปถึงการแยกข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเดียวออกเป็นหลายชิ้นย่อย (salami slicing) (Fanelli, 2009; Rawat & Meena, 2014)

           นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับวารสารที่มีผลกระทบสูง (high-impact journals) ยังส่งผลให้หัวข้อวิจัยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่ได้รับความนิยม มากกว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคมแต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก ความกดดันในการตีพิมพ์ยังส่งผลให้การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยลดลง เนื่องจากนักวิจัยต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารและการรับทุนสนับสนุนการวิจัยที่มีจำนวนจำกัด เป็นผลให้เกิดการแยกตัวกันทำงานในชุมชนนักวิชาการและนักวิจัย อลัน มิลเลอร์ และคณะ (Alan Miller et al.) (2011) อธิบายว่า ถึงแม้ว่าแรงกดดันจากตนเองจะเป็นแรงกดดันที่พบได้บ่อยที่สุด แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังรู้สึกถึงแรงกดดันจากหัวหน้าภาควิชา คณบดี และเพื่อนร่วมงานทั้งภายในและภายนอกสถาบันของตนด้วย แรงกดดันจากภายในและภายนอกรวมกันนี้ทำให้ความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานด้วย มิลเลอร์และคณะ ยังพบว่าแรงกดดันในการตีพิมพ์ผลงานยังนำไปสู่การละเลยหน้าที่งานสอนในหลายกรณี เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมักจะต้องหันไปให้ความสำคัญกับผลงานวิจัยมากกว่าความเป็นเลิศในการสอน เนื่องจากการดำรงตำแหน่งและการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการได้รับอิทธิพลอย่างสำคัญจากผลงานวิชาการและการตีพิมพ์มากกว่าประสิทธิภาพในการสอนหนังสือ สถานการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพที่ตกต่ำลงของการศึกษาที่นักศึกษาพึงจะได้รับ (Miller et al., 2011)


ลำดับชั้นในวงการวิชาการและความไม่มั่นคงในอาชีพ

           แม้ความเป็นวิชาการในตัวเองจะให้ภาพลักษณ์ที่ดูก้าวหน้า ทว่าสถาบันวิชาการจำนวนไม่น้อยมักส่งเสริมความคิดเรื่องการมีลำดับชั้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับตำแหน่งทางวิชาการและความสูงวัยที่ชวนให้เข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์สูง และในขณะเดียวกันก็ละเลยนักวิชาการและนักวิจัยหน้าใหม่ ๆ ในช่วงเริ่มต้นของอาชีพ นักวิชาการอาวุโสเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลอย่างมากในการตัดสินใจเรื่องการให้ทุนและการจ้างงานในสถาบันการศึกษาและสถาบันวิชาการ การใช้อิทธิพลของคนกลุ่มนี้อาจสร้างวัฒนธรรมการกีดกันที่ขัดขวางการนำมุมมองและประเด็นการศึกษาใหม่ ๆ เข้าสู่แวดวงวิชาการ รุธ มูลเลอร์ (Ruth Muller) (2014) ชี้ให้เห็นถึงระบบในโลกวิชาการที่นักวิชาการอาวุโสมีอำนาจเหนืออาชีพของอาจารย์หน้าใหม่และนักวิจัยหลังปริญญาเอกอย่างมาก พลวัตทางอำนาจดังกล่าวส่งผลต่อการตีกรอบการวิจัย การจำกัดความคิดเห็นใหม่ ๆ ตลอดจนรูปแบบของผลงานวิชาการที่ยอมรับได้ ผ่านการให้ความสำคัญกับผลผลิตและความสำเร็จแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะกับสิ่งพิมพ์ที่มีผลกระทบสูง พลวัตดังกล่าวนี้ส่งผลต่อวัฒนธรรมการคัดกรองที่สนับสนุนบรรทัดฐานที่กำหนดไว้และขัดขวางแนวทางที่สร้างสรรค์ในทางวิชาการ การมีชนชั้นนำ (elite class) ในโลกวิชาการที่แสดงตนเป็นกลุ่มผู้ครองอำนาจทางวิชาการ (academic oligarchy) ทำให้ยากที่นักวิชาการและวิจัยหน้าใหม่ที่ไม่อยู่ในระบบอุปถัมภ์และมีแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเดิมจะได้รับการยอมรับ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพในคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเมื่อตลาดงานวิชาการมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ

           นอกจากนี้ การแพร่หลายของตำแหน่งอาจารย์ชั่วคราวและสัญญาระยะสั้นยังสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของความไม่มั่นคงทางอาชีพในวงการวิชาการ เอเดรียนนา เคซา (Adrianna Kezar) และเซซิล แซม (Cecil Sam) (2010) บอกว่าในสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งอาจารย์ชั่วคราวในปัจจุบันมีมากกว่า 70% ของบุคลากรวิชาการทั้งหมดในสหรัฐฯ ตำแหน่งเหล่านี้มักมีค่าจ้างต่ำ ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ และไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรของสถาบันได้เต็มที่ ผู้ที่เป็นอาจารย์ชั่วคราวยังมักถูกกีดกันจากกระบวนการตัดสินใจภายในภาควิชา ทำให้พวกเขาถูกมองข้ามและกดขี่ในหลายด้าน เคซา (2013) ยังอธิบายต่อไปว่า สถานการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจากกระบวนการแปลงสถาบันอุดมศึกษาให้กลายเป็นองค์กรที่คิดคำนึงถึงผลกำไรผ่านการพึ่งพิงตำแหน่งอาจารย์ชั่วคราวเพื่อประหยัดต้นทุน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นผลมาจากกระบวนการที่เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของการปรับตัว การสร้างนวัตกรรม และการเรียนรู้ขององค์กรที่มีเรื่องให้พิจารณาหลายแง่มุม


ความไม่เท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ

           ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการส่งเสริมความหลากหลาย แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติยังคงแพร่หลายอยู่ในวงการวิชาการ ในสหรัฐอเมริกา นักวิชาการและนักวิจัยเพศหญิงและคนผิวสียังคงเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความลำเอียงโดยไม่รู้ตัวในกระบวนการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง และการจัดสรรทุน ฯลฯ (Williams, 2015) การศึกษาในปี 2020 โดยจุนหมิง หวง และคณะ (Junming Huang et al.) พบว่า เมื่อเทียบกับชาย นักวิชาการและนักวิจัยหญิงมีสัดส่วนการตีพิมพ์ผลงานน้อยกว่า โดยเฉพาะในวารสารที่มีผลกระทบสูง อีกทั้งผลงานของพวกเธอยังมีโอกาสได้รับการอ้างอิงน้อยกว่าผลงานของนักวิชาการและนักวิจัยชายเช่นกัน ระยะเวลาการทำงานที่สั้นและอัตราการลาออกที่สูงขึ้นในหมู่นักวิชาการหญิงบ่งชี้ถึงอุปสรรคในระบบที่อาจรวมถึงพลวัตทางอำนาจที่กำหนดโดยนักวิชาการอาวุโสที่ควบคุมทรัพยากร การยอมรับ และโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ ผลการศึกษาของหวงและคณะชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างและสถาบันอาจมีส่วนสนับสนุนโดยอ้อมในการคงไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียม นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้ยังอาจมีการทับซ้อน (intersectionality) ด้วยปัญหาการกีดกันบุคคลที่เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยมากกว่าหนึ่งกลุ่ม มักเผชิญกับความเสียเปรียบมากกว่าปกติ เช่น นักวิชาการหญิงผิวสีมักจะเผชิญกับทั้งการเลือกปฏิบัติทางเพศและเชื้อชาติที่เป็นตัวขัดขวางการเติบโตในอาชีพ (Williams, 2015) ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้มักนำไปสู่ค่าจ้างที่ต่ำ โอกาสในการเป็นผู้นำที่น้อย และการเข้าถึงทุนวิจัยที่จำกัด


สัดส่วนการตีพิมพ์ผลงานวิชาการระหว่างเพศชายและหญิง
อ้างถึงใน Huang et al. 2020


สุขภาพจิตและภาวะหมดไฟ

           มุมมืดของวงการวิชาการยังขยายผลไปถึงประเด็นสุขภาพจิต มีนักวิจัยและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่ประสบปัญหาความเครียด (stress) ความวิตกกังวล (anxiety) และภาวะหมดไฟ (burn out) เนื่องจากพวกเขาต้องรับภาระงานที่หนักขึ้นทั้งการสอนหนังสือและการตีพิมพ์ผลงาน ความรับผิดชอบด้านการบริหาร และความกดดันในการหาทุนวิจัยจากภายนอก ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นในหมู่นักวิชาการและนักวิจัยเท่านั้น ผลการสำรวจในปี 2018 ของ เทเรซา เอ็ม อีแวนส์ และคณะ (Teresa M Evans et al.) แสดงให้เห็นว่านักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาราว 40% มีอาการของความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยอาการดังกล่าวเกิดจากความเครียดทางการเงิน ความโดดเดี่ยว และความไม่แน่นอนทางอาชีพในอนาคต

           การศึกษาของอีแวนส์และคณะ (2018) ชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันในการผลิตผลงานวิจัยและการแข่งขันเพื่อขอรับเงินทุนในฐานะผู้มีส่วนสนับสนุนหลักต่อวิกฤติสุขภาพจิตในแวดวงวิชาการ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและความคาดหวังที่เข้มข้นในการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน แรงกดดันดังกล่าวนี้ล้วนแต่ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตเลวร้ายลง สถาบันการศึกษาและสถาบันวิชาการมักมองข้ามความต้องการด้านสุขภาพจิตของบุคลากร โดยอ้างว่ามีทรัพยากรและระบบสนับสนุนที่จำกัด การที่สถาบันมักจะละเลยประเด็นสุขภาพจิตนี้ยิ่งทำให้วิกฤติสุขภาพจิตในวงการวิชาการรุนแรงขึ้น นอกจากไม่สามารถตีพิมพ์ผลงานหรือทำตามข้อกำหนดทางอาชีพได้ตามเกณฑ์แล้ว นักวิชาการหลายคนยังแตกดับจากอาชีพเพราะภาวะหมดไฟด้วย สุดท้ายแล้ว อีแวนส์และคณะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในแวดวงวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมการเป็นที่ปรึกษา และเพิ่มหรือปรับปรุงทรัพยากรในการพัฒนาอาชีพ อาจารย์และนักวิชาการควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตของทั้งพวกตนและนักศึกษา ตลอดจนส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพจิตของคนทำงาน


สรุป

           ถึงแม้ว่าโลกวิชาการจะเป็นแวดวงที่สำคัญในการสร้างความรู้และการพัฒนาทางปัญญา แต่มุมมืดของแวดวงดังกล่าวไม่สามารถถูกมองข้ามได้ วัฒนธรรมตีพิมพ์หรือแตกดับ ลำดับชั้นในวงการวิชาการ และความไม่เท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ระบบนี้มักให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของสถาบันมากกว่าสวัสดิภาพและการพัฒนาของบุคลากร นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตในระดับโครงสร้างที่ดำรงอยู่ในแวดวงวิชาการ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงระบบ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการจ้างงานและระเบียบการเลื่อนตำแหน่งวิชาการ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันมากกว่าการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต เพื่อให้วงการวิชาการเป็นพื้นที่ที่มีความเท่าเทียม เป็นมิตรกับนักวิชาการ และเปิดกว้างมากขึ้น


รายการอ้างอิง

Evans, T. M., Bira, L., Gastelum, J. B., Weiss, L. T., & Vanderford, N. L. (2018). Evidence for a mental health crisis in graduate education. Nature Biotechnology, 36(3), 282-284.

Fanelli, D. (2009). How many scientists fabricate and falsify research? A systematic review and meta-analysis of survey data. PLoS ONE, 4(5), e5738.

Huang, J., Gates, A. J., Sinatra, R., & Barabási, A.-L. (2020). Historical comparison of gender inequality in scientific careers across countries and disciplines. Proceedings of the National Academy of Sciences, 117(9), 4609-4616.

Kezar, A. (2013). How Colleges Change: Understanding, Leading, and Enacting Change. NY: Routledge.

Kezar, A., & Sam, C. (2010). Understanding the new majority of non-tenure-track faculty in higher education. ASHE Higher Education Report, 36(4), 1-133.

Miller, A.N., Taylor, S.G. & Bedeian, A.G. (2011), "Publish or perish: academic life as management faculty live it", Career Development International, Vol. 16 No. 5, pp. 422-445.

Müller, R. (2014). Postdoctoral life scientists and supervision work in the contemporary university: A case study of changes in the cultural norms of science. Minerva, 52(3), 329-349. https://doi.org/10.1007/s11024-014-9257-y

Rawat, S., & Meena, S. (2014). Publish or perish: Where are we heading? Journal of Research in Medical Sciences, 19, 87-89.

Williams, J. C. (2015). The 5 biases pushing women out of STEM. Harvard Business Review. Retrieved from https://hbr.org/2015/03/the-5-biases-pushing-women-out-of-stem


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย. ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มุมมืด วิชาการ งานวิจัย ความไม่เท่าเทียม สุขภาพจิต วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา