ชั่วคราวแต่รุนแรง : การปะทะซ้ำของระเบียบวินัยต่อร่างกายพลทหาร

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 844

ชั่วคราวแต่รุนแรง : การปะทะซ้ำของระเบียบวินัยต่อร่างกายพลทหาร

         

           การศึกษาแนวคิดร่างกายเชื่องเชื่อในสังคมทหาร Philip Smith (2013) พิจารณาว่าเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจของร่างกาย การฝึกฝน และการควบคุมโดยการสร้างระเบียบวินัย เมื่อสิ้นสุดกระบวนการฝึกซ้อมร่างกายจะถูกทำให้เชื่องเชื่อในแบบมนุษย์เครื่องกลอัตโนมัติ Smith พัฒนาแนวคิดนี้ต่อจากข้อเสนอของ Michel Foucault (1975) ที่เสนอว่าอำนาจเชิงสถาบันปฏิบัติการตรงต่อปัจเจก ระเบียบวินัยของสถาบันสมัยใหม่เพิ่มการบังคับร่างกายในแบบอรรถประโยชน์ อีกทั้งจำกัดเงื่อนไขทางการเมืองและคำถามความสงสัยต่อการถูกบังคับ ระเบียบวินัยจึงสามารถถอดอำนาจ(ของเรา)ออกจากร่างกายเราได้ ร่างกายใต้การบงการของระเบียบเชิงสถาบันจึงมีลักษณะการควบคุมร่างกายอย่างพิถีพิถัน (meticulous controls) ผ่านการกำหนด บังคับ และจัดการร่างกายให้อยู่ในสภาวะการยอมจำนนต่อระเบียบคำสั่ง (Foucault, 1975)

           Philip Smith เห็นด้วยกับแนวของ Foucault ที่มองว่าปัจเจกถูกกลไกของอำนาจควบคุมและแฝงฝังระบอบทหารอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เขาไม่เห็นด้วยในการมองว่าทหารเป็นหุ่นยนต์ไร้ความรู้สึก (passionless automata) (Smith, 2008) เขายกตัวอย่างรายงานบันทึกการฝึกทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การฝึกเป็นการสร้างอัตลักษณ์ร่วมที่เป็นประสิทธิภาพของกองทัพ ระเบียบดีนำไปสู่ความมั่นใจแก่ทหาร หรือการเดินสวนสนาม (marching) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ล้าหลังและไร้ประโยชน์ แต่ก็เป็นศูนย์กลางความใฝ่ฝันและจินตนาการที่อยู่ตรงหน้าอย่างเท่าเทียมกันสำหรับการก้าวเป็นทหารอาชีพ (Smith, 2008)

           ผู้เขียนมองว่าข้อโต้แย้งของ Smith ดูเหมือนจะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการโต้เถียงเรื่องวินัยทหาร แต่เป็นคู่ตรงข้ามทางความคิดที่ยากจะหาจุดบรรจบ Foucauldian อาจโต้ว่ามุมมองของ Smith ท้ายที่สุดไม่ได้หลุดพ้นจากกรอบ Disciplines ซ้ำยังผลิตซ้ำ 'ความหมาย' ของระเบียบวินัยทหารในระดับที่ลึกขึ้น แต่อย่างไรก็ดี อาจเป็นระเบียบที่เข้มข้น แต่พิจารณาอีกด้านก็อาจเห็นผลกระทบทางอารมณ์ในการไต่เต้าแข่งขันของนายทหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเหล่านายทหารมีการแสดงอารมณ์ ความคิด หรือไม่ได้เป็นพวกไร้ความรู้สึกแต่อย่างใด

           บทความชิ้นนี้ต้องการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ความรุนแรงต่อทหารเกณฑ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยประยุกต์ใช้แนวคิดและข้อสังเกตจากงานทั้ง 2 ชิ้น เพื่อพิจารณาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลทหาร

           ทหารเกณฑ์ (conscription) เป็นแนวคิดการใช้ข้อบังคับกฎหมายของรัฐสมัยใหม่ในการเกณฑ์ชายหนุ่มเป็นกองกำลังรบของชาติ ในช่วงสงครามโลกหลายประเทศในโลกตะวันตกสั่งสมความมั่งคงทางกองทัพก่อให้เกิดการสรรหากองกำลังและทำการฝึกฝนเหล่าทหารเพื่อเตรียมความพร้อมในภาวะสงคราม ในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารช่วงสงบศึก (Ronge and Abrate, 2019) แต่ก็มีบางประเทศที่เป็นระบบบังคับเกณฑ์อยู่ โดยเฉพาะประเทศที่สุ่มเสี่ยงหรืออยู่ในภาวะสงคราม เช่น ประเทศรัสเซีย ประเทศเดนมาร์ก ประเทศนอร์เวย์ ประเทศเมียนมาร์ และประเทศเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ประเทศไทยก็ยังคงไว้ซึ่งระบบการเกณฑ์ทหารแบบจับฉลาก (lottery) การเกณฑ์ทหารนอกจากมีข้อเสียทุกประการแล้ว ช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดของทหารเกณฑ์ไทยคือลำดับชั้นยศ (hierarchy) ที่ต่ำที่สุดของพลทหาร ระบบฐานรากของกองทัพสร้างระเบียบ การปฏิบัติ และการออกคำสั่งทำให้พลทหารกลายเป็นทาสของระบบ

           การสร้างวินัยเพื่อการบังคับร่างกายอย่างรัดกุมเป็นการเปลี่ยนเด็กหนุ่มดินเหนียวไร้รูปร่าง (formless clay) ฝึกฝนให้พวกเขากลายเป็นทหารที่ทะมัดทะแมง (agile) และแข็งแกร่ง (Foucault, 1975) อย่างไรก็ตามการคัดเลือกคนเข้าประจำการในกองทัพเฉลี่ยเพียง 2 ปี ทำให้ต้องคิดใหม่ (rethink) ในเรื่องความแข็งกร้าวต่อผลลัพธ์การหลอมรวมกันของระเบียบและร่างกายของทหาร แม้เหล่าทหารเกณฑ์จะถูกทำให้พร้อมเพื่อรอตอบรับคำสั่งตลอดเวลา หรือ Foucault (1975) เรียกว่าเป็นภาวะเกิดขึ้นโดยไม่บังคับระดับนิสัย (automatism of habit) แต่กรณีทหารเกณฑ์ที่มีช่วงเวลาการประจำการจำกัดสภาวะดังกล่าวมีผลแค่ในช่วงที่พวกเขาเข้ารับราชการทหารกระทั่งปลดประจำการเป็นทหารกองหนุน ระเบียบวินัยทหารและภาวะนิสัยอัตโนมัติแม้จะถูกรวมเข้าเรือนร่างพลทหาร แต่ก็ไม่ได้คงทนติดตัวพวกเขาถาวร

           ระเบียบวินัยกองทัพด้านหนึ่งจึงมีช่วงเวลาที่เข้มข้นและช่วงเวลาเจือจาง กรณีทหารเกณฑ์ไทยความเข้มข้นของระเบียบอยู่ในช่วงแรกของการฝึกขั้นพื้นฐานการเป็นทหารใหม่ มีการอ้างว่าทหารใหม่จะใช้เวลาฝึกเพียง 6 สัปดาห์ โดยใช้วาทกรรมสวยหรูทำนองว่าเป็นการฝึกสมรรถภาพร่างกาย การฝึกท่าบุคคล การฝึกการใช้อาวุธประจำการ หรือการฝึกวิชาทหารทั่วไป แต่สภาพจริงในค่ายทหาร การฝึกถูกยืดเกินเวลาที่กำหนด บางค่ายบางกรมฝึกต่อเนื่องไม่เว้นวันหยุดยาวนานถึง 6 เดือน อีกทั้งระหว่างการฝึกทหารใหม่จะถูกควบคุมอย่างละเอียดและพิถีพิถัน ระเบียบวินัยทหารจะกำกับการกระทำของทหารใหม่ในรูปแบบนาที (minutes) ครอบคลุมตลอดทั้งวันนับตั้งแต่การตื่น การออกกำลังกาย การเดิน การกินข้าว การฝึก การอาบน้ำ การใช้เวลาพัก และการนอน อีกทั้งยังสามารถสั่งให้พลทหารนอนแผ่ตัวกลางแดด หรือสั่งให้ตื่นขึ้นมาคลานรอบโรงนอนกลางดึกโดยไม่มีเหตุผล โดยมีเทคโนโลยีเครื่องมือการปกครองขนาดเล็กแต่ทรงพลังนั่นคือนกหวีด ความเข้มข้นของระเบียบวินัยทหารในช่วงการฝึก (discipline in training) ทำให้อำนาจตัวตน(พลทหาร)ลดลงเพื่อสถาปนาความเป็น Automatism พวกเขาถูกกำกับแม้กระทั่งปาก (mouth) และการพูด เมื่อถูกสั่งให้พูด “รับทราบ” ก็ต้องพูดแค่ ‘รับทราบ’ ห้ามเงียบ หรือขยับปาก หรือพูดเกินกว่าที่ให้พูด หากฝ่าฝืนอาจถูกตบหน้าหรือสั่งให้วิ่งรอบสนามฝึก ร่ายกายของพลทหารจึงไม่ใช่แค่การทำให้เชื่องเชื่อ (docile) เพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบที่ตอบรับคำสั่ง ไร้การควบคุมตนเอง และเป็นวัตถุเป้าหมายของกลไกของอำนาจการปกครองชีวญาณที่เข้มข้น

           แต่ในสภาวะการกดทับขั้นสุดของระเบียบเชิงสถาบันนำมาสู่การต่อต้านขัดขืน (ดู Rhodes (2004) และ McCahill and Finn (2013)) กรณีทหารเกณฑ์ไทยมีหลายเรื่องเล่า (narrative) เกี่ยวกับการต่อต้านระเบียบทหารในช่วงการฝึก เช่น การนินทา การด่าลับหลัง การแกล้งเป็นลมหรือการแกล้งป่วยไม่สบายเพื่อไม่ต้องฝึก การขโมยหรือทำลายสิ่งของส่วนตัวของนายทหาร กระทั่งตอบโต้ด้วยความรุนแรงต่อครูฝึกทหารใหม่ ปฏิบัติการเหล่านี้เป็นแรงปะทะของพลทหารต่อกองทัพ ซึ่งสะท้อนว่าภายใต้สภาวะการทำให้ร่างกายเชื่องเชื่อโดยกฎระเบียบเชิงสถาบัน พลทหารไม่ได้เป็นพวกไร้ความรู้สึก (Smith, 2013) พวกเขามีการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านทั้งทางตรงและทางอ้อม

           ระเบียบกฎเกณฑ์มีช่วงเวลาที่เข้มข้นแต่ก็ดำรงอยู่ในช่วงสั้น ๆ ทำให้ผลลัพธ์การหลอมรวมระหว่างระเบียบวินัยและร่างกายของทหารไม่คงทน แม้จะดูเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่การควบคุมและการกดทับก็ไม่ได้อยู่ในระดับปกติ เมื่อมีการต่อต้านทำให้กลายเป็นการปะทะกันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดแล้วความเบ็ดเสร็จของอำนาจกองทัพช่วงการฝึกทำให้การต่อต้านของพลทหารกลายเป็นการถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางร่างกาย แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เชื่อเลยว่าไม่มีการธำรงวินัยข้อใดรุนแรงเทียบเท่าการฝ่าฝืนวินัยทหารข้อแรก (ทหารใหม่จะถูกบังคับให้ท่องจำวินัยทหาร 9 ข้อ) นั่นคือ "ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน" มีเพียงการธำรงวินัยจากการต่อต้านขัดขืนที่ปะทุรุนแรงมากขึ้นเท่านั้นที่เป็นเงื่อนไขการลงมือทำร้ายทหารใหม่ได้ สถานการณ์นี้อาจเรียกว่าเป็นระเบียบวินัยที่รุนแรงแบบต่อเนื่องต่อร่างกายพลทหาร อันเกิดจากการปะทะประสาน (articulation) แบบซ้ำซาก (repetitive) ภายใต้การคัดง้างจากฐานอำนาจที่ไม่สมมาตร รุนแรงแต่ชั่วคราว กดทับไว้แต่ก็ต่อต้านอยู่


เอกสารอ้างอิง

Foucault, Michel. 1975. Discipline & Punish: The Birth of the Prison. London: Pantheon.

McCahill Michael, and Finn Rachel, L. 2013. The Surveillance of 'Prolific' Offenders: Beyond 'Docile Bodies'. Punishment and Society, 15(1). Pp 23-42.

Rhodes, Lorna A. 2004. Total Confinement Madness and Reason in the Maximum Security Prison. California: University of California Press.

Ronge, Joeri, and Abrate, Giulia. 2019. Conscription in the European Union Armed Forces: National Trends, Benefits and EU Modernised Service. Food for thought, 7. 1-32.

Smith, Philip. 2013. Meaning and Military Power: Moving on from Foucault. Journal of Power, 1(3). Pp. 275-293.


ผู้เขียน
วิมล โคตรทุมมี
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Death Training การปะทะซ้ำ ระเบียบ รุนแรง พลทหาร วิมล โคตรทุมมี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา