บทสำรวจการวิจัยเชิงสังคมและความเป็นมนุษย์ ความคิดเห็นของนักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ต่อการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 920

บทสำรวจการวิจัยเชิงสังคมและความเป็นมนุษย์ ความคิดเห็นของนักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ต่อการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

           สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เป็นศาสตร์ความรู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจพลวัตทางสังคม วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนสภาวะอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ผ่านการสำรวจ สะท้อน และวิพากษ์ประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ การเมืองอัตลักษณ์ อคติทางสังคม วิกฤติสิ่งแวดล้อม และการกดขี่ขูดรีด อันล้วนเป็นประเด็นที่ทวีความซับซ้อนในสังคมร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม แม้ศาสตร์ความรู้เหล่านี้จะมีความสำคัญสูง แต่กระบวนการวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องมักเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างและนโยบาย เช่น ความไม่สมดุลในการสนับสนุนเมื่อเทียบกับสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจำกัดขอบเขตการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ รวมถึงการขาดความเข้าใจของแหล่งทุนต่อธรรมชาติอันหลากหลายขององค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์และสาขาวิชา ท่ามกลางข้อท้าทายเหล่านี้ บทความนี้จึงมุ่งนำเสนอความคิดเห็นของนักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ต่อการพัฒนาระบบสนับสนุนการวิจัย เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์มากขึ้น


ที่มาของการสำรวจความคิดเห็น

           ในปี 2564 นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้มีการจัดทำโครงการวิจัยและจัดทำรายงานสมุดปกขาวด้านสังคมศาสตร์ (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2564) มนุษยศาสตร์ (มนธิรา ราโท และคณะ, 2564) และศิลปกรรมศาสตร์ (จักรพันธ์ วิลาสินีกุล และคณะ, 2564) เพื่อเสนอต่อสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่เกื้อหนุนการสร้าง การไหลเวียน และการใช้ประโยชน์ความรู้ ภายใต้คำถามที่ว่า จะมีการส่งเสริมการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ อย่างไร เพื่อให้การผลิตความรู้ดังกล่าวงอกเงยขึ้นและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมได้ สมุดปกขาวทั้งสามได้ชี้ให้เห็นปัญหาและให้ข้อเสนอแนะทั้งในเชิงระบบและเชิงยุทธศาสตร์ไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน แต่ทว่าข้อเสนอแนะจากสมุดปกขาวเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมงานวิจัยแต่อย่างใด (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และคณะ, 2567)

           ในปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุนให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการสำรวจภูมิทัศน์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยมีข้อค้นพบสำคัญเกี่ยวกับปัญหาของระบบวิจัยต่อการสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ คือ (1) ทิศทางการวิจัยถูกควบคุมด้วยวิธีคิดแบบรัฐเป็นศูนย์กลาง (2) นโยบายการวิจัยมองคุณค่าของสังคมศาสตร์แบบจำกัด (3) ระบบวิจัยและปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้อต่อการสร้างองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ และ (4) ผู้บริหารหรือหน่วยงานที่กำกับขาดความเข้าใจ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังให้ข้อเสนอเชิงหลักการต่อการออกแบบระบบวิจัยที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ด้วย คือ (1) หลักความแตกต่างหลากหลายของความรู้ (2) หลักความแตกต่างหลากหลายของคุณค่าและการใช้ประโยชน์ (3) หลักความสอดคล้องของระบบสนับสนุนกับธรรมชาติของความรู้ (4) หลักธรรมาภิบาลของระบบวิจัย (5) หลักการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศการเรียนรู้ (วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์, 2566)

           โครงการดังกล่าวยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยข้อเสนอแนะที่สำคัญ (ดู โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ, 2566) เช่น การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยของสังคมศาสตร์เอง การมีผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจประเด็นทางสังคมมาเป็นผู้วางกรอบนโยบายวิจัย การปรับโครงสร้างองค์กรของแหล่งทุนให้มีความหลากหลายของสาขาวิชาและบริหารโดยนักวิชาการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ การเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทำงานวิจัยที่เป็นประเด็นร่วมสมัย การปรับบทบาทของแหล่งทุนให้มีลักษณะเป็นคลังสมองที่สามารถนำเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ แก่รัฐได้ การส่งเสริมให้เกิดการวิจัยที่สร้างการเรียนรู้ความหลากหลายของมนุษย์และการอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม การไม่นำแผนพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นแนวทางกำหนดโจทย์การวิจัย ตลอดจนการปรับลักษณะการให้ทุนเพื่อลดภาระให้กับนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย

           ต่อมาในปี 2567 สกสว. ได้ผนวกรวมมนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เข้ากับสังคมศาสตร์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนวาระวิจัยสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นโครงการต่อเนื่อง โดยมีนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิจัยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้ ในการประชุมประชาคมนักวิจัยเพื่อรับฟังผลการศึกษาเพื่อทบทวนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์ฯ ได้เชิญชวนนักวิชาการในเครือข่ายของศูนย์ฯ มาเข้าร่วมประชุมรับฟังรายงานความคืบหน้าโครงการเพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อข้อเสนอในการพัฒนาระบบสนับสนุนการวิจัย รวมถึงได้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ในอนาคต โดยที่ประชุมได้มีความเห็นสอดคล้องกันในหลายประเด็นคือ การขาดการมีส่วนร่วมของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ต่อการวางแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีอยู่ ซึ่งมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเน้นตอบสนองต่อความต้องการเชิงนโยบายของรัฐเป็นสำคัญเหนือการสร้างความรู้พื้นฐาน

 


ภาพการประชุมรับฟังผลการศึกษาเพื่อทบทวนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 โดย ศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์


ข้อสรุปจากรายงานความก้าวหน้า

           การดำเนินงานในรายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1 ของโครงการขับเคลื่อนวาระวิจัยสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการทบทวนแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566–2570 โดยมุ่งพิจารณาความสำคัญของสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ในบริบทของการพัฒนาประเทศ การวิจัยในโครงการดังกล่าวใช้เอกสาร รายงานสมุดปกขาว การประชุมโฟกัสกรุป และการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อวิเคราะห์และชี้ให้เห็นข้อจำกัด ตลอดจนเสนอแนะแนวทางปรับปรุงแผนงานในปัจจุบัน​

           นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และคณะ (2567) เห็นว่าแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในจำนวน 25 แผน มีการเน้นความรู้วิทยาศาสตร์และการพัฒนาเศรษฐกิจถึง 19 แผน ในขณะที่ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ถูกจัดอยู่รวมกันในแผน 17 และแผน 18 โดยเป็นเพียงการอธิบายแบบกว้าง ๆ ว่าจะพัฒนาและประยุกต์ใช้มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมคุณค่าและความงอกงามของศิลปะและวัฒนธรรมให้เป็นทุนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เป็นอารยะอย่างยั่งยืน และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ฐานคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการตีความว่าความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความงอกงามทางวัฒนธรรม มิติที่ขาดหายไปคือความหลากหลายของศาสตร์ที่มีกระบวนทัศน์และวิธีการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา คติชนวิทยา วัฒนธรรมศึกษา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาและวรรณกรรม สุนทรียศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ และการแสดง ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ต่างมีแง่มุมและความคิดที่สะท้อนประสบการณ์ของมนุษย์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การจัดทำแผนจึงไม่ควรมองความรู้เหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการสร้างรายได้หรือตอกย้ำความเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติเท่านั้น

           หลักคิดที่เป็นฐานสำคัญของการวิเคราะห์แผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566–2570 คือหลักการ 5 ข้อจากรายงานโครงการสำรวจภูมิทัศน์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อ้างถึงใน โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ, 2566; วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์, 2566) ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการดังกล่าว คือ

           1. หลักความแตกต่างหลากหลายของความรู้

           2. หลักความแตกต่างหลากหลายของคุณค่าและการใช้ประโยชน์

           3. หลักความสอดคล้องของระบบสนับสนุนกับธรรมชาติของความรู้

           4. หลักธรรมาภิบาลของระบบวิจัย

           5. หลักการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศการเรียนรู้

           นอกจากนี้ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และคณะ (2567) ยังได้เสนอหลักคิดเพิ่มเติมอีก 5 ข้อที่เป็นคุณูปการของการวิจัย โดยอ้างอิงจากข้อเสนอของ ยศ สันตสมบัติ สำหรับใช้เป็นกรอบการสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ คือ

           1. การสะท้อนย้อนคิดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม

           2. การทำลายมายาคติ ถอดรื้อความคิดเก่า

           3. การเปิดพื้นที่ทางสังคมเพื่อให้โอกาสสิ่งที่ถูกกีดกัน

           4. การเสนอทางเลือกใหม่ เพื่อสร้างทางออกจากข้อจำกัดของกระแสหลัก

           5. การเสนอหลักการใหม่เพื่อสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

           ข้อสังเกตสำคัญจากการทบทวน พบว่า แผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบันขาดการมีส่วนร่วมของนักวิชาการจากสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยมุ่งเน้นไปที่นโยบายเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมากกว่าความหลากหลายของความรู้ที่สะท้อนประสบการณ์ของมนุษย์ อีกทั้งยังมีการมองข้ามการวิจัยเชิงวิพากษ์และการสร้างความรู้พื้นฐาน การบริหารงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ จึงควรแยกตัวจากด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้งานวิจัยสะท้อนความเชื่อมโยงของสังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผลการวิจัยให้มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ในสังคมมากกว่าผลลัพธ์เชิงปริมาณจากงานวิจัย​ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้พัฒนาพื้นที่การทำงานร่วมกันของนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการวิจัยเพื่อสนับสนุนความยุติธรรมทางสังคมและการเคารพความหลากหลาย โดยการสร้างกระบวนการทำงานที่โปร่งใสและตอบสนองต่อข้อเสนอแนะจากประชาคมวิชาการอย่างแท้จริง (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2567)

           จากการทบทวนแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566–2570 นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และคณะ (2567) ได้ให้ข้อเสนอเบื้องต้นไว้ 10 ประการ คือ

           1. ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการที่มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการวิจัย

           2. ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย (Program Management Unit หรือ PMU) ที่รับผิดชอบการให้ทุนวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์โดยตรงกับสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์

           3. ควรมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการส่งเสริมงานวิจัย จากที่มองงานวิจัยในฐานะเป็นกลไกของการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ ไปสู่การมองงานวิจัยในฐานะองค์ความรู้พื้นฐานในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างรอบด้าน

           4. ควรมีการปรึกษาหารือกันของประชาคมวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยจัดเป็นกิจกรรมการประชุมที่มีความต่อเนื่องทุกปี เพื่อใช้เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอใหม่ ๆ ต่อการทำงานวิจัย

           5. ควรมียุทธศาสตร์ด้านงานวิจัยพื้นฐานของสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เนื่องจากองค์ความรู้พื้นฐานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เป็นความรู้จำเป็นในการสร้างฐานรากทางปัญญาที่แข็งแรงให้กับคนและสังคมไทย

           6. เป้าหมายยุทธศาสตร์วิจัยควรสัมพันธ์กับการสร้างคุณค่าของสังคมไทยปัจจุบัน โดยมีมิติความยุติธรรมและการเคารพความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม

           7. ควรส่งเสริมงานวิจัยพื้นฐานที่ทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาทางสังคม งานวิจัยที่วิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาในมิติต่าง ๆ โดยทำงานวิจัยเชิงวิพากษ์นโยบายของรัฐ รวมถึงการวิจัยเชิงทฤษฎี (theory) และวิธีวิทยา (methodology)

           8. ควรส่งเสริมการสร้างเวทีวิชาการในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับพื้นที่ ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติ สนับสนุนให้นักวิจัยร่วมทำวิจัยและฝึกอบรม (workshop) กับนักวิชาการหรือสถาบันวิชาการต่างประเทศ และให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยรุ่นเยาว์ระดับบัณฑิตศึกษา

           9. ควรเพิ่มแผนงานพัฒนานักวิจัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ แยกออกมาจากนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์

           10. ผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ไม่ควรถูกวัดว่ามีผลผลิตที่นำไปใช้ได้ในทันที แต่ควรพิจารณาที่การรับรู้และความเข้าใจของคนในสังคมต่อปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น


การสำรวจความคิดเห็น

           คู่ขนานไปกับการรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ในเครือข่ายของศูนย์ฯ ที่มาร่วมการประชุมรับฟังผลการศึกษาเพื่อทบทวนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์ฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ในระบบออนไลน์ โดยนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้แปลงหลักการและข้อเสนอของรายงานความก้าวหน้าเป็นข้อความจำนวน 20 ข้อ ให้ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือไม่แน่ใจกับข้อความที่ระบุไว้ การสำรวจความคิดเห็นดำเนินการระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 - 25 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 315 คน ได้ผลสำรวจดังต่อไปนี้

หลักการ 5 ข้อ

หลักคิด 5 ประการ

ข้อเสนอจากรายงานความก้าวหน้า

 

           นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจยังให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ในหลายประเด็น โดยสามารถจัดหมวดหมู่และประเด็นได้ดังต่อไปนี้

           1. ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารและนโยบาย

  • ผู้บริหารขาดความรู้และความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของสาขา: หลายความคิดเห็นชี้ว่าผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายขาดความเข้าใจธรรมชาติของงานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ จึงไม่สามารถวางนโยบายหรือสนับสนุนงานวิจัยได้อย่างเหมาะสม
  • การตั้งเกณฑ์การพิจารณาทุนที่ใช้ฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์: ระบบการพิจารณาทุนวิจัยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและการสร้างนวัตกรรมบนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้งานวิจัยที่มุ่งตั้งคำถามเชิงสังคมวัฒนธรรมไม่ค่อยได้รับความสำคัญ
  • ความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรทุน ทรัพยากร และโอกาส: มีการจัดสรรทรัพยากรไปยังงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแบบไม่สมดุลและไม่สมเหตุสมผล งานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยความรู้ของตัวศาสตร์เอง ตัวอย่างเช่น การแย่งชิงรางวัลในงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์โดยงานวิจัยสายวิทยาศาสตร์สุขภาพที่อ้างว่าทำในมิติของสังคมศาสตร์

           2. ปัญหาเชิงโครงสร้าง

  • ระบบการจ้างงานในมหาวิทยาลัยไม่มั่นคง: มีความคิดเห็นว่าการจ้างงานในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอาจารย์สายสังคมศาสตร์ มักไม่มั่นคงและไม่มีหลักประกันในระยะยาว ส่งผลต่อการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพและโอกาสในการได้รับทุน
  • การให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ: ระบบวิจัยในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการสร้างนวัตกรรม ทำให้งานวิจัยที่ไม่มีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจมักถูกละเลย
  • การผูกขาดทรัพยากรและโอกาส: ผู้ที่ได้รับทุนส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนหรือหน่วยงานหน้าเดิม ๆ ทำให้ขาดการเปิดกว้างสำหรับคนกลุ่มใหม่ ๆ

           3. การสนับสนุนทุนวิจัย

  • ขาดการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน: หลายความคิดเห็นระบุว่าระบบวิจัยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับงานวิจัยเชิงประยุกต์มากเกินไป และละเลยงานวิจัยพื้นฐานที่จะวางฐานคิดให้กับสังคมในระยะยาว
  • ควรจัดสรรทุนไปยังกลุ่มเล็ก ๆ: ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มประชาสังคมหรือบุคคลที่ไม่สังกัดหน่วยงานสามารถเข้าถึงทุนวิจัยได้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในงานวิจัย
  • ควรกระจายโอกาสให้คนหน้าใหม่: ควรเปิดพื้นที่ให้กับนักวิจัยที่ไม่เคยได้รับทุนมาก่อน เพื่อส่งเสริมการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่

           4. กระบวนการและแนวทางวิจัย

  • ข้อจำกัดของจริยธรรมการวิจัย: มีการตั้งข้อสังเกตว่ากฎเกณฑ์จริยธรรมในการวิจัยมักถูกกำหนดโดยนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เข้าใจธรรมชาติของงานสังคมศาสตร์ จึงทำให้งานวิจัยถูกจำกัด
  • การส่งเสริมงานวิจัยเชิงทฤษฎี: ควรเพิ่มการสนับสนุนงานวิจัยที่เน้นสร้างทฤษฎีหรือการวิพากษ์ มากกว่าการทำงานเพื่อการประยุกต์ใช้เพียงอย่างเดียว
  • สนับสนุนงานวิจัยเชิงคุณภาพ: งานวิจัยในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ควรเน้นความสำคัญที่การตั้งคำถามและการวิเคราะห์เชิงลึก ไม่ใช่เพียงแค่การเก็บข้อมูลและนำไปใช้ทันที

           5. การมีส่วนร่วมและการฟังเสียงจากประชาคม

  • ควรจัดประชาพิจารณ์: ควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมอย่างต่อเนื่องและโปร่งใส เพื่อนำไปปรับปรุงระบบวิจัย
  • เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) มีส่วนร่วม: การวางนโยบายและการจัดการทุนควรมีการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
  • ความไม่จริงใจของผู้บริหาร: มีเสียงวิพากษ์ว่าผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง และความคิดเห็นจากประชาคมมักไม่ได้รับการนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม

           6. ความหลากหลายในองค์ความรู้

  • เคารพความหลากหลายในองค์ความรู้: ควรสนับสนุนการวิจัยที่ยอมรับความหลากหลายของแนวคิดและกระบวนการ ไม่จำกัดอยู่ในกรอบวิทยาศาสตร์แบบเดิม
  • ยอมรับความรู้จากประชาสังคม: องค์ความรู้ที่มาจากประชาชนทั่วไปและชุมชนควรถูกยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้ในสังคม

           7. ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบสนับสนุนการวิจัย

  • จัดการอบรมและพัฒนานักวิจัย: ควรจัดอบรมเกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอทุนและสร้างเครือข่ายวิจัยในระดับประเทศ
  • พัฒนาระบบการประเมินผล: การวัดผลกระทบของงานวิจัยควรมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงในจุดเล็ก ๆ
  • สร้าง PMU เฉพาะด้าน: ควรมีการตั้งหน่วยงาน PMU ที่มุ่งเน้นการวิจัยสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์โดยเฉพาะ


สรุป

           การสำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อรองรับความต้องการของศาสตร์ที่หลากหลาย ข้อค้นพบที่ได้จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรายงานความก้าวหน้าของโครงการขับเคลื่อนวาระวิจัยสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหนึ่งในข้อเสนอที่นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีสัดส่วนแตกต่างจากข้อเสนออื่นอย่างมีนัยสำคัญคือ หลักคิดข้อที่ 2 การทำลายมายาคติ ถอดรื้อความคิดเก่า อาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมจากศาสตร์และสาขาวิชาที่หลากหลายในโอกาสถัดไป

           อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะที่สำคัญจากทั้งนักวิชาการในเครือข่ายของศูนย์ฯ และผู้ตอบแบบสำรวจ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในพิจารณาการแยกการบริหารงานวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ออกจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอาจจัดตั้งเป็นหน่วยงานหรือ PMU เฉพาะด้านที่จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับธรรมชาติขององค์ความรู้ และส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงทุนวิจัยได้อย่างเท่าเทียม โดยที่การสนับสนุนงานวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ไม่ควรถูกวัดผลเพียงจากการนำไปใช้งานในทันที แต่ควรคำนึงถึงการสร้างความเข้าใจและการเพิ่มพูนศักยภาพของสังคมในการรับมือกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยเหตุนี้ นอกเหนือไปจากการปรับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะใกล้ การปฏิรูปนโยบายและระบบการสนับสนุนงานวิจัยในศาสตร์และสาขาวิชาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการพัฒนาสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว


รายการอ้างอิง

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. (2566). โครงการสำรวจภูมิทัศน์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรนธร (องค์การมหาชน).

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล และคณะ. (2564). ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการความรู้และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานความรู้ทางศิลปกรรมของประเทศไทย. คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และคณะ. (2567). โครงการการขับเคลื่อนวาระวิจัยสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. รายงานความก้าวหน้า. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรนธร (องค์การมหาชน).

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2564). ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการความรู้และการปรับปรุงโครงสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์ของประเทศไทย. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มนธิรา ราโท และคณะ. (2564). ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการความรู้และการปรับปรุงโครงสร้างความรู้ทางมนุษยศาสตร์ของประเทศไทย. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์, (บรรณาธิการ.). (2566). SAC Report ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย: สถานะ คุณค่า และทิศทางการพัฒนา. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรนธร (องค์การมหาชน).


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย  ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การวิจัยเชิงสังคม ความเป็นมนุษย์ นักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ การพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา