กระจกสังคมประเทศไทย ปี 2567
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ประเทศไทย ปี 2567 ภายใต้ความคลอนแคลนของรัฐบาล ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ หนี้สินประชาชน ความแปรปรวนของธรรมชาติและภัยพิบัติ ความบันเทิงที่ฉับพลัน และความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ มีเหตุการณ์มากมายที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมไทย ตั้งแต่เรื่องความรัก ความสุข ความทุกข์ ความสัมพันธ์ มิตรภาพ ความฝัน จินตนาการ ความศรัทธา ความเหลื่อมล้ำ ความบาดหมาง และความขัดแย้งในหลายมิติ ท่ามกลางความรู้สึกเหล่านี้ คนแต่ละคนล้วนเผชิญปัญหา อุปสรรค ความราบรื่นและความสำเร็จในชีวิตไม่เหมือนกัน ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธรจึงเลือกหยิบเหตุการณ์สังคมวัฒนธรรมที่น่าสนใจและถูกพูดถึงในวงกว้างมาวิเคราะห์ในฐานะกระจกสะท้อนสังคม 5 ด้าน พร้อมตั้งคำถามให้สังคมนำไปคิดต่อว่าเราจะอยู่ในสังคมนี้อย่างไร จะเรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ในแง่มุมใด จะตระหนักรู้ถึงสังคมและความเป็นมนุษย์อย่างไร กระจกสังคม 5 ด้าน ที่จะชวนคิดมีดังต่อไปนี้
กระจกบานที่ 1 การดิ้นรนของการโกหกหลอกลวง
จากกรณีการฉ้อโกงในคดีดิไอคอนกรุ๊ปของเหล่าบอสดาราและกลุ่มผู้บริหารบริษัทจำนวนมาก การไม่ยอมติดคุกของนายทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าป่วยหนักจนต้องขอไปอยู่ชั้น 14 ในโรงพยาบาลตำรวจ การหว่านล้อมของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เพื่อให้เจ๊อ้อย (นางสาวจตุพร อุบลเลิศ) เศรษฐินีที่มีสามีเป็นชาวฝรั่งเศส การหลอกให้ลงทุนในโครงการด้านการแพทย์ของ "หมอบุญ" หรือนายแพทย์บุญ วนาสิน รวมถึงการหลอกขายทองของแม่ตั๊กและแม่ใบหนาด บุคคลเหล่านี้คือกระจกสะท้อนการโกหกหลอกลวงระดับประเทศ มีคำถามว่าคนไทยจะอยู่กับ “การโกหก” อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวหรือไม่ ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมช่วยให้การโกหกมีพลังมากขึ้นหรือไม่ หน่วยงานรัฐสมรู้ร่วมคิดกับกระบวนการโกหกหลอกลวงนี้หรือไม่ เราเป็นส่วนหนึ่งของการโกหกที่ชินชาในสังคมใช่หรือไม่ มันกลายเป็นเรื่องปกติได้อย่างไร เราจะเริ่มต้นจากจุดไหนที่ทำให้การโกหกหลอกลวงทำได้ยากขึ้น หรือเงื่อนไขอะไรที่เราจะยอมให้มีการโกหกหลอกลวงเกิดขึ้นในสังคมไทย
กระจกบานที่ 2 ความยากจนที่เรื้อรังและซ่อนเร้น
รัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จ่ายเงินหนึ่งหมื่นบาทให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) และกลุ่มผู้พิการ รวมประมาณ 14.5 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลเรียกว่าคนเปราะบาง แต่คนไร้บ้าน คนไม่มีบัตรประชาชน และคนไร้สถานะบุคคล จะไม่ได้รับเงินนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐกำหนดขอบเขต “ความจน” และ “คนเปราะบาง” จากเงื่อนไขอะไร ทำไมการแจกเงินจึงกลายเป็นสูตรสำเร็จในการช่วยคนจน มีวิธีการอื่นหรือไม่ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนให้ดีขึ้นแบบยั่งยืน ยิ่งแจกเงินให้คนจนยิ่งเห็นรอยแผลของรัฐบาลที่มิได้สร้างหลักสวัสดิการที่ดี เช่นเดียวกับปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร กรณีข้อขัดแย้งในอุทยานแห่งชาติทับลาน ทำให้เห็นความคลุมเครือในที่ดิน สปก. 4-01 ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร เหตุการณ์เหล่านี้คือกระจกสะท้อนความยากจนที่เรื้อรังและซ่อนเร้น ที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ การแก้ไข “ความจน” เป็นเหมือนพิธีกรรมโปรยทาน การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณ และการสร้างบารมีของผู้ที่มีเงินมีทองเท่านั้น
กระจกบานที่ 3 วงจรความศรัทธาที่ล่อแหลม
สังคมไทยเผชิญหน้ากับความเชื่อ ความศรัทธาหลากหลายรูปแบบ พบได้ทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีอาจารย์น้องไนซ์ หรือน้องไนซ์เชื่อมจิต แดนธรรมสุขขาววะดีของน้องหญิง สำนักสงฆ์ฝึกหูทิพย์ตาทิพย์ให้กับเด็ก สำนักปฏิธรรมสอนเการเสพสังวาส ลัทธิถวายตัวเพชรบูรณ์สอนให้มีเซ็กส์หมู่ ความเชื่อเหล่านี้จะถูกมองจากคนนอกว่าเป็นความงมงาย ความหลงผิด เป็นลัทธิประหลาด ลัทธินอกรีต และผิดหลักคำสอนของพุทธศาสนา เมื่อมีการฟ้องร้องจากผู้ที่เสียหาย หน่วยงานรัฐจะเข้าไปจัดการทางกฎหมาย ในสถานการณ์นี้ เจ้าลัทธิกำลังอยู่ในความล่อแหลมและมีความเสี่ยงรอบด้าน คำถามคือความศรัทธาที่แปลกไปจากบรรทัดฐานคือ “ความชั่วร้าย” และเป็นภัยอันตรายใช่หรือไม่ คำวิจารณ์และการโจมตีความเชื่อเหล่านี้บ่งชี้ว่าเราทนไม่ได้กับความไร้เหตุผลใช่หรือไม่ เราจะทำลายความศรัทธาทุกกรณีไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นกับคนอื่นหรือเกิดกับตัวเราเองใช่หรือไม่ ความศรัทธาแบบไหนที่เรายอมให้เกิดขึ้นได้และแบบไหนที่เรายอมไม่ได้ ความศรัทธาจะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์เสมอไปหรือไม่
กระจกบานที่ 4 เส้นแบ่งของการหลงรักและความเกลียดชัง
ความคลั่งไคล้ใหลหลงและความนิยมชมชอบที่เห็นชัดในปี 2567 ดูได้จากกระแสนิยมอาร์ตทอย ลาบูบู้ ครายเบบี้ สคัล แพนด้า มอลลี่ ฮิโรโนะ ดิมู่ ลุงบ๊อบ น้องหมีเนย รวมถึงฮิปโปโปหมูเด้ง และเสือโคร่งเอวา ตุ๊กตาและสัตว์เหล่านี้ถูกรับรู้อย่างกว้างขวางว่าเป็นความน่ารัก จนเกิดไวรัลและกิมมิคมากมาย สะท้อนถึงการลุ่มหลงปลาบปลื้มในบางสิ่งที่ทำให้คน ๆ นั้นมีความสุข ใขณะที่สัตว์บางชนิด ได้แก่ ปลาหมอคางดำและลิงลพบุรี ถูกมองเป็นอันตราย น่ากลัว และน่ารังเกียจ ไม่ต่างจากการด่าทอ โจมตี ให้ร้าย สาปแช่ง กระแนะกระแหนแรงงานจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในสื่อสังคมออนไลน์ สังคมไทยขีดเส้นแบ่งความคลั่งไคล้กับความเกลียดชังออกจากกันแบบขาวกับดำ พรมแดนคู่ตรงข้ามนี้ทำให้ฉุกคิดและมีคำถามว่าอารมณ์หลงรักอย่างคลั่งไคล้ทำให้เราเห็นด้านที่เป็นความนุ่มนวลอ่อนหวานในตัวเราอย่างไร และความรู้สึกเกลียดชังทำให้เราเห็นด้านที่เป็นความขุ่นมัวเหี้ยมโหดในจิตใจของเราอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากอารมณ์ทั้งบวกและลบนี้สร้างผลกระทบทางสังคมอย่างไร
กระจกบานที่ 5 บทพิสูจน์ระบบผัวเดียวเมียเดียว
ข่าวเกี่ยวกับการฆ่ากันของผัวเมียเกิดขึ้นตลอดปี 2567 สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากความหึงหวง ความน้อยใจ ความโกรธแค้น ความรู้สึกอิจฉาริษยา นอกจากนั้นอาจเป็นผลพวงมาจากความเครียดและปัญหาหนี้สิน ทำให้ผัวฆ่าเมียและลูกเพื่อหนีปัญหา รวมถึงจำนวนการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณค่า ความสัมพันธ์ และความเหนียวแน่นของครอบครัว ในขณะที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศกำลังเฉลิมฉลองกับการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่รอคอยมายาวนาน เปรียบเหมือนเป็นการสร้างความรักที่ถูกกฎหมาย เหตุการณ์ผัวเมียฆ่ากันเองและการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันคือโลกสองด้านของระบบผัวเดียวเมียเดียว ด้านที่เป็นความหึงหวงอาจนำไปสู่ความรุนแรงและการทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้านที่เป็นความรักกระตุ้นให้คนสองคนยอมเสียสละและทำทุกอย่างให้กันได้ ระบบผัวเดียวเมียเดียวจึงเป็นทั้งยาขมและดอกไม้ที่สวยงาม บทเรียนเรื่องนี้อาจเป็นความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวที่คนสองคนยึดมั่นอยู่เป็นอุดมคติ แต่ระหว่างทางมีสิ่งคาดเดาไม่ได้เกิดขึ้นเสมอ
บอสรวยสอนลูกข่าย: การตลาดเล่าเรื่อง ธุรกิจขายฝัน กับความหวังในโลกทุนนิยม
ปิยนันท์ จินา
“ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” คือวลีเด็ดของ ‘บอสพอล’ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ซีอีโอของ ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) เครือข่ายธุรกิจขายของออนไลน์มูลค่านับพันล้าน ที่ฉากหน้าผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงาม แต่แท้จริงกลับเป็นธุรกิจเครือข่ายคล้าย ‘แชร์ลูกโซ่’ ในอดีตที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก
ธุรกิจเหล่านี้ทำงานอย่างไร? เหตุใดจึงยังมีคนหลงเชื่อ? คำตอบส่วนหนึ่งอาจอยู่ที่การตลาดแบบเล่าเรื่อง (Storytelling marketing) ธุรกิจแบบพีระมิดจะมีบุคคลต้นแบบที่พูดสร้างแรงบันดาลใจ และจูงใจกลุ่มเป้าหมาย โครงเรื่องหลักหากไม่ใช่การอวดแสดงความสำเร็จ ก็มักเป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์สู้ชีวิตของตนกับความขาด ความพยายาม และความหวังของกลุ่มเป้าหมาย ยิ่งผู้พูดเคยใช้ชีวิตแร้นแค้นเพียงใด ก็ยิ่งตอกย้ำกับผู้ฟังว่า คนที่มีต้นทุนชีวิตน้อยกว่ายังประสบความสำเร็จได้ คุณเองก็ทำได้เหมือนกัน
ตัวอย่างเรื่องเล่าจากดินสู่ดาวที่เปรียบดังสูตรสำเร็จก็เช่นบอสพอลเองที่มีชีวิตวัยเด็กยากจนข้นแค้นในชุมชนสลัมคลองเตย แถมพ่อแท้ ๆ ยังทิ้งไปตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นกรรมกรก่อสร้างจึงหาเลี้ยงชีพและส่งลูกเรียนในโรงเรียนวัด พอลต้องสู้ชีวิตปากกัดตีนถีบตั้งแต่สมัยเรียน เช่น เป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร กระทั่งจบปริญญาแล้วได้งานทำ แต่เงินเดือนพนักงานบริษัทเพียงอย่างเดียวก็ไม่พอใช้ พอลยังหารายได้พิเศษหลังเลิกงานจากงานพาร์ตไทม์หลายรูปแบบ วันหนึ่งเขาได้อ่านหนังสือสร้างแรงบันดาลใจหรือ ‘หนังสือฮาวทู’ ที่ผู้ประสบความสำเร็จเขียน จึงตกตะกอนได้ว่า หากอยากสำเร็จหรืออยากรวยก็ต้องทำธุรกิจ ไม่ใช่เป็นลูกจ้าง พอลจึงเริ่มธุรกิจขายกระเบื้องออนไลน์ และศึกษากลยุทธ์การตลาดออนไลน์ อาทิ การเขียนเว็บไซต์ การโปรโมตสินค้า หรือการใช้งานแพลตฟอร์ม E-commerce ต่าง ๆ เมื่อไปได้สวย พอลเบนเข็มมาเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นตลาดไปได้ไกล หลังจากเล่าเรื่องราวน่ารันทด เขาก็ดึงดูดใจด้วยการอวดความสำเร็จ เช่น หลังเปิดดิไอคอนได้เพียง 3 ปีกว่า ยอดขายของบริษัทก็ทะลุ 5,000 ล้านบาท รวมถึงล่อใจด้วยผลตอบแทนที่จะได้รับหากร่วมลงทุน เช่น เงินทอง (ผลกำไร) สิ่งของ (รถหรู บ้านหรู อาหารมื้อหรู) หรือสิทธิพิเศษอื่นอย่างการไปเที่ยวต่างประเทศ (กรณีที่ใช้กลวิธีเดียวกันก็เช่น ‘ซินแสโชกุน’ ที่รับสมัครสมาชิกผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จ่ายเงิน 9,700 บาท ได้อาหารเสริม 2 กระปุก และอ้างว่าจะมอบสิทธิเดินทางไปเที่ยวเกาหลี ญี่ปุ่น หรือฮ่องกงแก่สมาชิก แต่ถึงที่สุดแล้วก็เป็นการหลอกต้มจนมีคนฝันค้างอยู่ที่สนามบินจำนวนมาก)
‘ธุรกิจขายฝัน’ มักอธิบายตัวเองว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ถูกกฎหมาย คือ เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้รับผลตอบแทนสูง เช่น ได้กำไรราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ และคืนทุนภายใน 1-2 ปี ซึ่งนับว่าน่าดึงดูดใจสำหรับคนที่ไม่ได้มีเงินทองมากมายอะไร วงเงินลงทุนขั้นต่ำก็อยู่ในระดับที่ไม่มากเกินกำลัง เพื่อกระตุ้นให้คนที่ไม่เคยลงทุนกล้าลองกล้าเสี่ยง คนกลุ่มนี้เองอาจกลายเป็น ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ ที่พูดปากต่อปากหรือชักชวนคนรู้จักมาร่วมลงทุนเพิ่ม เงื่อนไขประการหนึ่งคือเจ้าของธุรกิจ ผู้โน้มน้าวให้ลงทุน หรือ ‘แม่ข่าย’ เองก็ต้องเป็นคนน่าเชื่อถือ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่จะลงทุน
ตัวอย่างเช่นระดับตำนานอย่างคดีแชร์แม่ชม้อย (พ.ศ. 2517-2528) ที่สร้างความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท แก่เหยื่อราว 16,000 คน ท่ามกลางบริบทการเมืองโลกทศวรรษ 2520 ที่ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น นางชม้อยซึ่งเป็นพนักงานในวิสาหกิจด้านพลังงานของรัฐ ก็ชวนคนมาลงทุนซื้อรถขนน้ำมัน สนนราคาคันละ 160,000 บาท ต่อมา เมื่อมีคนมาลงทุนจำนวนมากก็ซอยหุ้น แยกขายเป็น ‘ครึ่งคัน’ หรือเป็น ‘ล้อ’ ผู้ลงทุนจะได้รับผลกำไรสูงถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 15 วัน จากการลงทุนเพียงครั้งเดียว รวมทั้งยังมีการทำสัญญากู้ยืมเงินหรือมอบเช็กธนาคารที่ลงวันที่ล่วงหน้าเป็นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ใจ และอ้างว่าเรียกคืนเงินต้นได้ด้วย ผู้ที่ร่วมลงทุนในระยะแรกแล้วได้เงินจริงก็หลงเชื่อ กลายเป็น ‘หัวหน้าสาย’ ที่แพร่ข่าวและชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนต่อ อย่างไรก็ตาม ความก็แตกในภายหลังว่า แม่ชม้อยไม่ได้นำเงินไปลงทุนจริง ๆ แต่เอาเงินจากเหยื่อรายใหม่มาจ่ายให้กับรายเก่า
น่าสังเกตว่า เมื่อเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนและบริบททางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป ตัวแสดงก็เคลื่อนจากแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน สู่แวดวงดารา ไฮโซ เน็ตไอดอล หรือเซเล็บ ซึ่งสังคมไทยดูจะเชื่อถือและไว้วางใจคนกลุ่มนี้มากเสียจนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก แม้ไม่รู้ว่าเขาเอาเงินของตนไปลงทุนอย่างไร แต่ก็ปักใจเชื่อ ตัวอย่างเช่นแชร์แม่มณี ซึ่งเป็น ‘อินฟลู’ ที่ทำธุรกิจหลายประเภท เช่น เครื่องสำอาง สถานบันเทิง พูลวิลลา ห้างทอง รวมทั้งได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบและนักธุรกิจดีเด่นจากหลายสื่อ กลับกลายเป็นผู้หลอกให้คนออมเงินหรือร่วมลงทุนผ่าน เฟซบุ๊กจนถูกจับในปี 2562 หรือกรณีคดี Forex 3D ที่ดาราหลายรายมีเอี่ยวด้วยการชวนคนร่วมลงทุนในตลาดหุ้น ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่าง ๆ รวมถึงเงินดิจิทัล ผ่านเว็บไซต์ของ Forex ที่เปรียบเสมือนนายหน้า ทำหน้าที่เทรดและแบ่งเงิน (60:40) โดยจูงใจด้วยกำไร 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน และรับประกันคืนเงินต้น 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังสร้างระบบดาวน์ไลน์ที่หากลูกข่ายคนใดชวนสมาชิกใหม่มาลงทุนได้ ก็จะได้รับส่วนแบ่งมากขึ้น กระทั่งมีผู้เสียหาย 8,436 คน นับรวมความเสียหายมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท ตลอดจนกลุ่มดิไอคอนเองที่มีดาราร่วมวงเป็น ‘บอส’ และแม่ข่ายหลายราย
บรรดาเซเล็บเหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จที่จับต้องได้ อาทิ การจอดรถหรูหรือซูเปอร์คาร์ราคาหลายล้านเรียงรายหน้าลานจอนรถของสถานที่จัดอบรมธุรกิจ การนั่งเครื่องบินส่วนตัว หรือการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงหูฉี่ (ที่บอสบางคนถึงกับเปิดแอร์ให้กระเป๋าของตน) การบริโภคแบบอวดแสดง (conspicuous consumption) เช่นนี้ยิ่งทำได้ง่าย ตลอดเวลา เมื่อผู้คนนิยมใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งนอกจากเป็นช่องทางอวดความมั่งคั่งแล้ว ยังเป็นช่องทางอวดความใจบุญสุนทาน เช่น ช่วยเหลือคนยากไร้และทำบุญคราวละเป็นล้านเพื่อเสริมภาพลักษณ์อีก
ไม่มากก็น้อย คดีหลอกหากินกับความหวังเผยให้เราเห็นว่า ความฝันของคนไทยในโลกทุนนิยมมีหน้าตาประมาณไหน เมื่อพิจารณาจากแรงจูงใจของเหยื่อที่มีตั้งแต่การดิ้นรนให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน การไต่บันไดทางสังคม การเลื่อนระดับชนชั้น การไล่ตามความฝันแบบทุนนิยม หรือความเป็นอิสระทางการเงิน แน่ละว่าคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ตกเป็นเหยื่อได้ แต่ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการเงินหรือการลงทุน และผู้มีปัญหาทางการเงิน มักตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายกว่า
เราจึงเห็นว่า เหยื่อดิไอคอนมีทั้งชายใกล้เกษียณคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการปลุกใจว่า “อย่าเอาน้ำลายคนราคาถูกมาทำลายความฝันของคนราคาแพง” และคิดว่าการลงทุนกับดาราดังน่าเชื่อถือ จึงยืมเงินจากเพื่อนและญาติ รวมกับเงินที่เอาโฉนดบ้านไปจำนองเพื่อ ‘เปิดบิล’ 250,000 บาท แต่สินค้าก็ขายไม่ออก มิหนำซ้ำ หลังล้มป่วยจนขายของไม่ได้และต้องการเงินค่ารักษาพยาบาล แต่เมื่อติดต่อไปยังแม่ข่ายเพื่อขอให้ช่วยขายของ กลับได้รับคำตอบว่าให้ขายเอง กระทั่งเขาเสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น ทิ้งให้ครอบครัวต้องหาทางปลดหนี้ต่อ หรือ ‘แป๋ว’ ผู้พิการเป็นโปลิโอ ซึ่งเคยรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า แต่รายได้ก็ขาดตอนเมื่อเศรษฐกิจซบเซาช่วงการระบาดของโควิด เธอเห็นโฆษณาของดิไอคอนผ่านเฟซบุ๊ก จึงลงเรียนคอร์สสอนทำการตลาดออนไลน์ 299 บาท เพราะอยากต่อยอดธุรกิจขายเสื้อผ้าบน TikTok แต่เมื่ออบรมไปได้ราว 2-3 ชั่วโมง วิทยากรก็อวดยอดรายได้จำนวนมาก และชวนลงทุน เริ่มต้นที่ 2,500 บาท แป๋วซึ่งอยากมีธุรกิจของตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยืมเงินพี่สาวมาลงทุน 160,000 บาท แม้ได้สินค้ามา 6 ลัง แต่สุดท้ายก็ขายไม่ออก หรือกรณีของลูกข่ายรายหนึ่งที่ดื่มยาฆ่าหญ้าจนเสียชีวิตในปี 2565 เนื่องจากเอาเงินเก็บของแม่อายุ 70 กว่าปี มาลงทุน ด้วยความหวังจะร่ำรวยและมีรถหรู แต่ขายสินค้าไม่ได้จนเครียดจัด หลังเขาเสียชีวิต น้องสาวที่ทักไปทวงเงินคืนจากแม่ข่ายกลับได้รับคำปฏิเสธ ซ้ำยังชวนให้ลงทุนแทนพี่ชายโดยสวมสิทธิต่อกัน หรือกรณีของหญิงสาวที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพชักชวน อ้างว่าเป็นงานสบาย ทำที่ไหนก็ได้ ทำก่อนได้ก่อน (fear of missing out) เธอหลงเชื่อเพราะทั้งเกรงใจและเห็นความสำเร็จของแม่ข่าย จึงลงคอร์สฝึกขายออนไลน์ ซึ่งมีคนสอนทำโปรไฟล์ เช่น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนหน้าปกเป็นรถหรู สอนแปะลิงก์สินค้า สร้างตะกร้าขายของ โดยแยกเป็นการขายออนไลน์ที่สั่งจากบริษัท กับขายตรงที่ลูกข่ายซื้อมาขายเอง ซึ่งก็ขายให้ใครไม่ได้ เพราะคนที่รู้จักก็มีสินค้าชนิดเดียวกัน บางคนจึงต้องเสียเงินเพิ่มกับการยิงโฆษณา ครั้งละ 5,000 บาท
คดีหลอกลงทุนที่มีอยู่เรื่อยเหล่านี้เปิดเปลือยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ที่มีความผันผวน การจ้างงานยืดหยุ่น แต่ก็เสี่ยงต่อการเลิกจ้าง อีกทั้งปราศจากสวัสดิการหรือตาข่ายความมั่นคงใด ๆ เป็นเบาะรองรับในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ บีบให้ผู้คนต้องแสวงหาทางรอดผ่านการลงทุนในชีวิตกันเอง รวมถึงสังคมบูชาความสำเร็จที่กระตุ้นให้คนต้องการความสำเร็จแบบสำเร็จรูป (instant success) และเร่งด่วน (fast track) แบบไม่ต้องลงแรง
ในกรณีที่เห็นด้วยกับทุนนิยม ก็น่าคิดว่าประเทศเรายังขาดการเรียนการสอนความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ทั้ง ๆ ที่เงินคือสิ่งสำคัญในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือเพื่อความอยู่รอดและหลักประกันในชีวิตของมนุษย์ในโลกทุนนิยม ส่วนในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับทุนนิยม ก็ยิ่งน่าตั้งคำถามต่อมายาคติและความใฝ่ฝันที่หล่อหลอมโดยระบบนี้ แน่ละว่าไม่ผิดหรอกที่มนุษย์จะมีความฝัน แต่เราฝันถึงสังคมแบบอื่นได้ไหม? เราสร้างสังคมที่ความฝันของมนุษย์ไม่ใช่ความมั่นคงในชีวิตของปัจเจกคนใดคนหนึ่งได้หรือไม่? ความฝันที่เน้นความสำเร็จส่วนบุคคล แต่ละเลยความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในระดับโครงสร้าง เป็นสังคมที่น่าใฝ่ฝันจริงไหม? ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ อย่างไร ในสังคมแบบนี้? แล้วความฝันที่เราอยากสนับสนุนควรเป็นอย่างไรแน่?
คดีเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่อาชญากรรมฉ้อโกง แต่ยังเป็นภาพสะท้อนทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมด้วย ตราบใดที่เงื่อนไขเชิงโครงสร้างยังเป็นเช่นนี้ การเล่นฉ้อโกงกับความฝันของผู้คนก็น่าจะยังเกิดขึ้นอีกด้วยเทคนิคคล้ายเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้เล่น
เอกสารอ้างอิง
PPTV Online. (2567). ย้อนรอยคดี “ฉ้อโกง” ชื่อดัง! ในไทย เสียหายหลายหมื่นล้าน-จำคุกแสนปี!. สืบค้นจาก. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/234851 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
Thai PBS. (2567). เปิดใจลูกข่าย “ดิ ไอคอน” เครียดขายสินค้าไม่ได้สูญเงินนับแสน - ไร้แม่ข่ายช่วย. สืบค้นจาก. https://www.thaipbs.or.th/news/content/345286 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
ไทยรัฐออนไลน์. (2567). เจ็บแล้วเจ็บอีก! 9 คดี ‘ไทยโกงไทย’ อันโด่งดัง. สืบค้นจาก. https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2819449 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
ผู้จัดการออนไลน์. (2567). “บอสพอล” จากสลัมสู่เจ้าของเครือข่ายธุรกิจพันล้าน “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” จะพาดาราตัวท็อปซวยไปตาม ๆ กัน. สืบค้นจาก https://mgronline.com/politics/detail/9670000096664 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
มติชนออนไลน์. (2567). เหยื่อ ดิไอคอนกรุ๊ป วอน ‘บอสพอล’ คืนเงิน เล่านาทีถูกตก เพราะคำว่ารวย ยอมเปิดบิล 2.75 แสน. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/region/news_4844732 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
เมื่อเทพระบาด: ลัทธิ ความเชื่อ และร่างทรงในยุคดิจิทัล
ปิยนันท์ จินา
ห้องประชุมสัมมนาของโรงแรมแห่งหนึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนนุ่งขาวห่มขาวนับร้อยชีวิต เด็กชายวัย 8 ขวบแต่งกายคล้ายผู้วิเศษ ยืนใช้มือแตะหน้าผากบนเวทียกระดับ เพื่อ ‘เชื่อมจิต’ ซึ่งเป็นการแผ่ ‘แสงธรรม’ หรือพลังจิตของเทพไปเชื่อมกับจิตมนุษย์เพื่อสอนปฏิบัติธรรม แก้ปัญหาติดขัด หรือเร่งกระบวนการเข้าถึงธรรมให้เร็วขึ้น ประหนึ่งเราเตอร์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย ต่อมายังปรากฏคลิปที่ผู้ปฏิบัติธรรมวัยผู้ใหญ่จำนวนมากก้มลงกราบแทบเท้าของผู้วิเศษรุ่นราวคราวลูกหรือหลาน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะวิดีโอที่เด็กหนุ่มรินน้ำจากแก้วราดหัวลูกศิษย์ซึ่งนั่งคุกเข่าประนมมือก้มศีรษะอย่างว่าง่าย
เด็กน้อยคนดังกล่าวคือ นิรมิตเทวาจุติ หรือร่างอวตารขององค์เพชรภัทรนาคา อธิบายตอบโต้สังคมออนไลน์ว่า ตนสัมผัสจิตของลูกศิษย์รายนี้ได้ว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ ส่วนลูกศิษย์ที่ทุกข์ทรมานกับโรคภูมิแพ้และหอบหืดซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการตั้งจิตทำสมาธิและฝึกลมหายใจเข้าออก ก็ให้การไปในทางเดียวกันว่าตนอธิษฐานในใจให้ ‘องค์เพชร’ ช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัว หลังถูกน้ำราดก็รู้สึกโล่งโปร่งสบาย และขาดเสลดสีดำออกมาราวกับปาฏิหาริย์ ลูกศิษย์คนอื่นจึงพากันมาขอให้รดน้ำด้วย
น่าสังเกตว่า ปรากฏการณ์ร่างทรง องค์เทพ และความเชื่อเหนือธรรมชาติผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อโซเชียลมีเดียแพร่หลาย (นับถึงปีนี้ ประเทศไทยมีผู้ใช้งาน TikTok กว่า 49 ล้านบัญชี YouTube 44 ล้านบัญชี และ Line 54 ล้านบัญชี) ในแง่หนึ่งอาจเรียกได้ว่าผู้วิเศษเหล่านี้คือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีจิตวิทยาหว่านล้อมและเรื่องเล่า (storytelling) ที่ ‘ทัชใจ’ ผู้คนร่วมสมัย เสนอคำอธิบายโลกซึ่งไปด้วยความทุกข์ แล้วหยิบยื่นคำตอบที่ชัดเจน เรียบง่าย ปฏิบัติตามไม่ยาก เพื่อบรรลุถึงการมีชีวิตที่ดี สุขภาพแข็งแรง ความมั่งคั่ง หรือความสำเร็จในชีวิต อาจรวมถึงการบรรลุธรรมหรือการหลุดพ้น (salvation) ด้วย
นิรมิตเทวาจุติเองก็นำเสนอเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุญ บารมี และอภินิหาร ซึ่งเริ่มตั้งแต่เขายังไม่เกิดด้วยซ้ำ ก่อนตั้งท้องแม่ฝันเห็นแสงสีขาวพุ่งลงจากท้องฟ้า เมื่อตั้งครรภ์ก็มักปวดท้องในวันพระ และขณะคลอดก็เห็นคนนุ่งขาวห่มขาวคล้ายเทวดายืนเฝ้าในห้องคลอด ส่วนสาเหตุที่ต้องจุติลงมาจากสวรรค์ก็เพราะได้รับบัญชาจากพระพุทธเจ้าให้รวบรวมคนดีไปสู่ยุคพระศรีอารย์ ท่ามกลางบริบทที่สังคมไทยเสื่อมลง ผู้คนมอมเมากับความสำเร็จทางวัตถุ สนใจแต่ตัวเลข (ในบัญชี) นับถือภูตผีปีศาจ และไม่ปฏิบัติธรรม แรกเริ่มเดิมทีนิรมิตเทวาจุติขับเคลื่อนกงล้อธรรมจักรผ่านไลฟ์สอนธรรมะทางโซเชียลมีเดีย เมื่อมีผู้ศรัทธามากขึ้นจึงจัด ‘ทริปสายบุญ’ หรือเดินสายพบญาติธรรม เป็นคอร์สวิปัสสนากรรมฐาน ราคาประมาณ 1,900-5,000 บาท จองผ่านไลน์ออฟฟิเชียล โดยอธิบายว่าเป็นค่าสถานที่ ค่าอาหาร และค่าดำเนินการ ไม่ใช่ค่าตัวของนิรมิตเทวาจุติ นอกจากการทำหนังสือและขายเสื้อแล้วยังมีการระดมทุนบริจาคซื้อที่ดินสร้างสถานปฏิบัติธรรม เริ่มต้นทุนละ 300 บาท ครอบครัวของร่างอวตารนี้จึงต้องจ้างทีมแอดมินทำหน้าที่ดูแลและจัดการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 60 คน ทว่าบัญชีปลายทางที่รับเงินกลับไม่ใช่ชื่อองค์กรหรือมูลนิธิการกุศล แต่เป็นบัญชีส่วนตัวของหมอคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวนี้ แม้ประกาศยอดบริจาคสะสมทุกวัน แต่อยู่มาวันหนึ่งเงินหลักล้านหายไปเหลือเพียง 10,000-20,000 บาท เรื่องจึงแดงจนเป็นคดีความฟ้องร้องและเปิดโปงเพราะหนึ่งในแอดมินเหล่านี้เห็นความไม่ชอบมาพากล
น่าสนใจอีกเช่นกันว่านอกจากศัพท์แสงแบบบุญบารมีแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ยังผสานศัพท์หรืออุปลักษณ์สมัยใหม่ด้วย เช่น การเชื่อมจิตที่คล้ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต การแผ่คลื่นพลังงาน (energy) กรรมแก้ไม่ได้ คล้ายกับรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) แต่นิรมิตเทวาจุติจะช่วยเสริมบุญบารมีให้กรรมตามไม่ทันได้ ประหนึ่งการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตในยุค 4G หรือ 5G นอกจากนิรมิตเทวาจุติแล้วยังมีกรณีของ ‘คลื่นพลังบุญ’ จากแดนธรรมะสุขาวดี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งรับภารกิจจากสวรรค์ลงมาเป็นหมอเทวดาเช่นกัน ร่างทรงคู่นี้มีฌานของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ และมีหูทิพย์และตาทิพย์ที่สัมผัสได้ว่าใครป่วยเป็นอะไร หากสัมผัสได้จะเกิดอาการสะอึก วิธีการรักษาคือสัมผัสกายหรือยิงศรทิพย์ใส่ผู้ป่วย ซึ่งรักษาได้แทบทุกโรค ไม่เว้นแม้แต่มะเร็ง แต่เงื่อนไขมีอยู่ว่าผู้รับการรักษาต้องเชื่อและศรัทธาพระพุทธเจ้าแบบไม่มีข้อแม้ หากกังขาหรือสงสัย การรักษาก็ไม่ได้ผล
ร่างทรงคลื่นพลังบุญมักเน้นย้ำให้ผู้คนคิดดี ทำดี พูดดี ซึ่งเป็นการอาศัยเรื่องเล่า (narrative) ที่อิงกับความเชื่อพุทธมาประกอบ แม้โลกโซเชียลไทยมักแชร์ร่างทรงเหล่านี้มาวิจารณ์ถึงความจอมปลอม หลอกลวง และบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้ามาหากิน บ้างถึงกับเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมาจัดการ จนผู้อำนวยการสำนักพุทธต้องออกมาชี้แจงว่า การเชื่อมจิตไม่มีในพระไตรปิฎก ส่วนอดีตพระมหาเปรียญชื่อดังก็โจมตีว่าไทม์ไลน์และลำดับชั้นบุญของนิรมิตเทวาจุติมั่วและไม่สอดคล้องกับเรื่องเล่าหลักของพุทธ เช่น พระอนาคามี (แปลว่าผู้ไม่กลับมา) คืออริยบุคคลที่ละกิเลสแล้วและจะไม่กลับมาเกิดอีก แล้วทำไมต้องมาเกิดเป็นพญานาคที่ชั้นต่ำกว่า รวมถึงผู้ปกป้องพุทธศาสนาอีกมากที่วิจารณ์ลัทธิต่าง ๆ ว่าเป็นการเอาศรัทธานำหน้า เอาปัญญาตามหลัง
อย่างไรก็ดี ในมุมของนักมานุษยวิทยา ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าการเชื่อมจิตมีจริงหรือไม่ ลัทธิต่าง ๆ จริงหรือลวง มากเท่ากับการมองความศรัทธาและความเชื่อเหล่านี้ในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมร่วมสมัยอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสับสนทางจิตใจของผู้คนที่ไม่เพียงแต่ขาดหลักยึดทางเศรษฐกิจที่มั่นคง แต่ยังขาดที่พึ่งทางใจด้วย คำถามสำคัญอาจอยู่ที่ความศรัทธาเหล่านี้เปิดเผยให้เราเห็นความไม่มั่นคง (uncertainty) ของชีวิตคนไทยซึ่งสะท้อนโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อย่างไรบ้าง? คำถามไม่ใช่ว่าลัทธิต่าง ๆ ไม่จริงแท้หรือเป็นลูกผสมผสานมั่วซั่วระหว่างผี พราหมณ์ พุทธ ซึ่งต้องระดมพลมาชำระสิ่งแปลกปลอม แต่คือการขบคิดว่า การผสมผสานความเชื่อเหล่านี้ (hybridity) สะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางสังคมแบบใด โดยเฉพาะท่ามกลางบริบทที่คนไทยกำลังต่อสู้ดิ้นรนกับความไร้ระเบียบ ความระส่ำระสาย และความผันผวนทางเศรษฐกิจของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ความเชื่อหลักตามขนบหรือคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์เองจึงอาจไม่ให้คำตอบที่สมเหตุสมผลเพียงพอสำหรับคนบางกลุ่มอีกต่อไป จนต้องแสวงหาทางเลือกอื่นที่ไม่ได้อิงกับหลักเหตุผลนัก (Nonrational alternative)
อาจกล่าวได้ว่า ในสังคมแห่งความสำเร็จที่การแสวงหาความสุข (ซึ่งมักมาจากการบริโภคสินค้าและบริการ) เป็นภาคบังคับ มนุษย์อาจจัดการความทุกข์เองได้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่ล้มเหลวหรือยังไม่ถึงฝั่งฝันเสียที ผู้วิเศษเหล่านี้จึงมีบทบาทหน้าที่ (function) ในการให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งด้านการงาน ความรัก รักษาโรค ของหาย ทำนายดวง ฯลฯ และเปลี่ยนสภาวะไร้ระเบียบให้กลายเป็นคำตอบที่มีระบบระเบียบ ทั้งยังมอบความรักและความรู้สึกเป็นชุมชนที่ปัจเจกในโลกทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ต่างก็ขาดพร่อง
ลัทธิเหล่านี้ยังเสนอหนทางหลบหนีออกจากชีวิตประจำวันที่แสนน่าเบื่อ และชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่มีกิจวัตรซ้ำซาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ องค์ดำแสนสิริ หรือร่างทรงพญานาค ซึ่งเคยเป็นเซลล์ขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่วันหนึ่งชีวิตก็พลิกผัน รู้สึกมีองค์มาประทับทำให้บุคลิกเปลี่ยน ระลึกอดีตได้ บางครั้งคำรามอย่างไม่มีสาเหตุ และรู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอกคล้ายมีอะไรอยู่ข้างใน จึงเริ่มรักษาผู้คนผ่านโลกออนไลน์เนื่องจากเชื่อว่าเบื้องบนกำหนดให้ลงมาช่วยคน
ถึงที่สุดแล้ว นักมานุษยวิทยาสนใจวิถีปฏิบัติทางความเชื่อในระดับชีวิตประจำวันที่เชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ ในชีวิตของผู้คน และขับเคลื่อนให้กลุ่มคนและปัจเจกผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากในชีวิต เนื่องจากความเชื่อไม่ได้มีเพียงมิติส่วนบุคคล แต่ยังเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ รวมถึงความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน การคาดหวังกับชีวิตของตนเอง รวมถึงวิธีการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ของคนแต่ละกลุ่ม
เอกสารอ้างอิง
Brand Inside. (2567). เปิดสถิติผู้ใช้งาน Social Media ไทย ปี 2024. สืบค้นจาก. https://www.facebook.com/share/p/zPpi4t1pLL16Mz4w/ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
Matichon Online. (2567). อดีตแอดมิน แฉวีรกรรม ‘ลัทธิเชื่อมจิต’ ลาออกเพราะทนไม่ไหว ถูกทำร้ายทุบ-ตี. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/local/news_4581722 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
Springnews. (2567). สรุปให้! ดราม่า “อาจารย์น้องไนซ์” ทฤษฎี “เชื่อมจิต” ความเชื่อที่ต้องใช้สติ. สืบค้นจาก. https://www.springnews.co.th/news/hot-issue/846144 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
Han, B. C. (2017). Psychopolitics: Neoliberalism and New Technologies of Power. Verso Books.
ข่าวอาชญากรรมกับความสัมพันธ์ซับซ้อน: ความรัก ความรุนแรง และครอบครัวในสังคมไทยร่วมสมัย
ปิยนันท์ จินา
“สุขสันต์วันเกิดนะที่รัก เป็นแฟนที่น่ารักของเขาแบบนี้ตลอดไปนะ ร่ำรวย ๆ การงานราบรื่น สมหวังทุกปรารถนาน้า” คือข้อความอวยพรวันเกิดสามี ใต้ภาพครอบครัวแสนอบอุ่นที่มีนุ่น แม่วัย 27 ปี ทอย พ่อวัย 33 ปี และลูกน้อยวัย 1 ขวบ ซึ่งถ่ายในงานฉลองวันเกิดทอยในเดือนแห่งความรัก (17 กุมภาพันธ์) ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านถนนเลียบด่วนรามอินทรา หากเลื่อนดูเฟซบุ๊กเรื่อย ๆ ก็จะพบโพสต์ที่แสดงถึงชีวิตรักเปี่ยมสุข มีทริปครอบครัวและซื้อของขวัญให้กันเป็นประจำ
ทว่าในคืนเดียวกันนั้น นุ่นได้หายตัวไปอย่างปริศนา พ่อแม่และเพื่อนติดต่อไม่ได้ ทั้งที่ปกตินุ่นจะออนไลน์ในโซเชียลมีเดียตลอด จึงพากันไปแจ้งความคนหายในวันรุ่งขึ้น และใช้ภาพข้างต้นโพสต์ประกาศตามหา ทอยซึ่งดูไม่กระตือรือร้นในการตามหาตัวเมียหรือแจ้งความเลย ให้การว่า ทั้งคู่มีปากเสียงกันตอนตี 3 ขณะขับรถ BWM สีขาวกลับบ้าน เนื่องจากนุ่นหึงที่ทอยกดไลก์รูปแฟนเก่า ส่วนทอยก็ไม่พอใจที่นุ่นเอ่ยถึงแฟนเก่าเพื่อประชดเหมือนกัน เมื่อรถจอดติดไฟแดงแถวคลองประปา นุ่นจึงเปิดประตูลงจากรถ แต่ทอยตามลงไปง้อแล้วพาขึ้นรถ แต่เมื่อใกล้จะถึงบ้าน นุ่นเปิดประตูลงไปอีกรอบ ครั้งนี้เธอโบกแท็กซี่แล้วหายลับไปจนไม่มีใครติดต่อได้อีก ทอยยอมรับว่าเขาลงไม้ลงมือกับนุ่นบนรถ แต่อ้างว่าที่ผ่านมาภรรยามักหายไปเช่นนี้ทุกครั้งที่ทะเลาะกัน เขาจับตำแหน่งจีพีเอสมือถือนุ่นครั้งล่าสุดเจอที่ฉะเชิงเทรา จึงคาดว่านุ่นน่าจะข้ามแดนไปยังปอยเปตที่เธอเคยทำงานอยู่หลายปี เขาจึงไม่ได้ตามหา
ทว่าเพื่อนและญาติไม่ปักใจเชื่อ และจับพิรุธได้อย่างประเด็น เช่น แยกย้ายออกจากร้านตอนตี 1 แต่ทำไมตี 3แล้วยังไม่ถึงบ้าน ทั้งที่ระยะทางจากร้านอาหารไปบ้านแค่ 18 กิโลเมตร ทอยอ้างว่าหิวข้าวจึงแวะหาอะไรกิน แต่เพื่อนก็แย้งว่าของกินในงานวันเกิดเหลือทิ้งเต็มโต๊ะ ถ้าหิวจริงทำไมไม่กินหรือห่อกลับบ้าน รวมถึงการที่ทอยบอกแม่ของนุ่นว่า “ให้ทำใจ” เพื่อนนุ่นยังแฉต่อไปว่า ทอยไม่ใช่คนรักครอบครัวอย่างที่สร้างภาพ แต่เป็น ‘ผู้ชายตีเมีย’ คนหนึ่งที่ลงไม้ลงมือกับนุ่นมาตลอด ถึงขั้นเคยเป็นคดีความกันบนโรงพัก แต่นุ่นก็ไม่ยอมเลิกกับทอย และยังใจอ่อนถอนแจ้งความ เนื่องจากตั้งท้องและคิดว่าถ้ามีลูกด้วยกันแล้วทอยอาจดีขึ้น จึงยอมคืนดีเพื่อรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้
เมื่อถูกเค้นหนักจากกระแสสังคมและการสอบปากคำโดยตำรวจ ทอยแถลงทั้งน้ำตาว่าเขาถูกปรักปรำ และย้ำว่านุ่นเป็นคนขี้น้อยใจ ทำให้ทะเลาะกันบ่อย แต่เมื่อเรื่องออกสู่สาธารณะแล้วก็มีคนจับพิรุธทอยเพิ่ม ตัวละครสำคัญของข่าวนี้อีกคนคือบิว พลเมืองดีที่มีอาชีพเป็นไรเดอร์บริการขับรถให้คนเมา และบังเอิญผ่านมาเห็นเหตุการณ์ที่ทอยยืนอุ้มลูกมองดูนุ่นที่กำลังล้มฟุบอยู่ริมถนน ตอนแรกเขาเข้าใจว่าสามีพยายามปลุกภรรยาที่เมาจนไร้สติจึงไม่ได้ใส่ใจนัก แต่เมื่อฟังข่าวก็ผิดสังเกต เพราะทอยบิดเบือนทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ บิวจำได้แม่นว่าเขาพบครอบครัวนี้ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ไม่ใช่คลองประปา และเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในเวลาตี 1 ไม่ใช่ตี 3 อย่างที่ทอยบอก จึงไปแจ้งตำรวจ แต่ก็ได้รับคำตอบว่า “เรื่องของผัวเมีย น้องไปยุ่งอะไรเขา” บิวจึงติดต่อญาติและเพื่อนของนุ่น แล้วความจริงก็ปรากฏเมื่อมีการย้อนดูกล้องวงจรปิด เวลาราวตี 1 กว่า นุ่นเปิดประตูลงจากรถก่อนที่ทอยจะตามลงมาแล้วเข้าทำร้ายร่างกายอย่างโหดร้าย ทั้งเตะหน้า กระทืบลำตัวและหัวนานกว่า 10 นาที แม้นุ่นจะสลบไปแล้วทอยยังจิกหัวขึ้นมาเตะเสยปลายคางซ้ำ เท่านั้นยังไม่พอ ทอยยังเอาอิฐทุบหัวนุ่นอีกหลายครั้ง สอดคล้องกับสภาพโครงกระดูกมนุษย์ไหม้ไฟที่มีรอยแตกบริเวณเบ้าตาและแก้ม รวมถึงมีรอยร้าวตรงกระดูกสันจมูกและกกหูด้านขวา ซึ่งตำรวจสืบพบในป่าละเมาะ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งที่ข้อมือมีสร้อยทองเส้นเดียวกับที่นุ่นใส่ในคืนหายตัว ทอยที่ยอมจำนนด้วยหลักฐานจึงสารภาพว่าทำร้ายนุ่นจนเสียชีวิตแล้วพยายามอำพรางศพ
แม้สื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่องราวนี้ในฐานะคดีฆาตกรรมที่สะเทือนใจ และเน้นย้ำความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนาของผู้ก่อเหตุ แต่ในทางมานุษยวิทยา คดีนี้ยังเป็นกระจกสะท้อนโครงสร้างทางสังคมและทางวัฒนธรรมของไทยด้วย โดยเฉพาะค่านิยมครอบครัวแบบขนบ (heteronormative family) ของชายหญิงต่างเพศที่แต่งงานสร้างครอบครัวแล้วเลี้ยงลูกด้วยกัน แต่ครอบครัวไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและอบอุ่นตามภาพฝันเสมอไป หากบางครั้งยังเป็นพิษ สร้างความระหองระแหงและบาดหมางระหว่างคู่รัก ซึ่งเผชิญแรงกดดันให้ต้องรักษาสภาพครอบครัวและหน้าตาเอาไว้ รวมถึงระบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายมักถือครองอำนาจควบคุมเมียและลูกที่เป็นสมาชิกในครอบครัว และมักตอบโต้การไม่เชื่อฟังหรือพฤติกรรมนอกลู่ด้วยความรุนแรง หรือเมื่อรู้สึกว่าตนกำลังเสียอำนาจในการควบคุม หากมีเรื่องความหึงหวงหรือการนอกใจ (infidelity – adultery) ก็มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น คดีนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ในวัฒนธรรมที่คู่รักมองอีกฝ่ายในความสัมพันธ์อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่สิ่งของในการครอบครองที่จะอ้างสิทธิเหนือเรือนร่างหรือการกระทำได้ ยิ่งกว่านั้น ยังน่าตั้งคำถามว่า การสถาปนาครอบครัวให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจก้าวล่วง แม้มีการทำร้ายร่างกายและละเมิดสิทธิซึ่งหน้า ถือเป็นการยอมรับความรุนแรงในพื้นที่ส่วนตัว (domestic violence) หรือไม่? และความเงียบเท่ากับการสมรู้ร่วมคิดไหม? (cultural complicity)
คดีนุ่นทอย รวมถึงคดีฆาตกรรมที่เกิดจากความสัมพันธ์อื่นในปี 2567 น่าจะแสดงให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ ความไว้ใจ และความไม่ไว้ใจของมนุษย์ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเจ็บปวดทางอารมณ์ ในบางกรณีอาจยกระดับเป็นความรุนแรง จนกล่าวได้ว่าแม้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในยุคดิจิทัลเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยี แต่ก็พังได้เพราะเทคโนโลยีเช่นกัน
ตัวอย่างเช่นสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มีอาชีพขับรถพุ่มพวงขายผัก เมื่อธุรกิจไปได้สวยจึงช่วยกันเก็บหอมรอมริบแล้วลงทุนซื้อรถขายผักอีกคัน แต่เมื่อต้องแยกกันทำงาน เวลาว่างจึงไม่ค่อยตรงกัน เมียเริ่มติดโซเชียลมีเดียและมักอัปโหลดวิดีโอเซ็กซี่พร้อมแคปชัน 18+ ลง TikTok จนมีปากเสียงกันหลายครั้ง วันหนึ่งผัวกลับจากขายผัก เห็นเมียยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ขณะกำลังไถหน้าจอมือถือ ก็คิดว่าเมียคุยกับชายชู้ จึงคว้ามีดหั่นผักใกล้มือตรงไปจ้วงแทงเมียถึง 16 แผล จนเสียชีวิตคาที่ แต่มาทราบภายหลังว่าเมียไม่ได้มีชู้แต่อย่างใด
โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันหาคู่ยังสะท้อนถึงความเหงาและความโดดเดี่ยวของชีวิตในเมือง โดยเฉพาะคดีที่ ‘เจ้นัท’ LGBTQ+ รายหนึ่งใช้มีดแทงนักศึกษาหนุ่มที่นัดพบกันที่หน้าผาก คาง และกลางอกจนเสียชีวิต แล้วจุดไฟเผาอำพรางก่อนจะหลบหนีไปพร้อมกับสมาร์ตโฟน สมาร์ตวอตช์ และแท็บเลตของผู้ตาย คดีนี้ทั้งสะท้อนว่าการหาสายสัมพันธ์บนโลกดิจิทัลเพื่อคลายเหงากลายเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ซึ่งเป็น ‘ตลาดจัดหาคู่’ ที่ตอบสนองต่อทุกรสนิยมทางเพศ อย่างไรก็ตาม โลกดิจิทัลที่ซ้อนทับกับโลกจริงก็ยังซุกซ่อนภัยอันตรายและเสี่ยงต่อความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้หญิงหรือเพศทางเลือก ในอีกด้านหนึ่ง โลกออนไลน์ไทย รวมถึงสื่อมวลชนอาชีพก็ยังสลัดอคติทางเพศไม่พ้น โดยเฉพาะช่องข่าวหนึ่งที่เรียกผู้ก่อเหตุว่ากระเทยอ้วนใจเหี้ยม ราวกับว่าเพราะเป็นอาชญากรจึงถูกเลือกปฏิบัติและเหยียดเพศได้ อนึ่ง ข่าวอาชญากรรมอีกหลายคดีแสดงให้เห็นว่าผู้ตกเป็นเหยื่อของการต้มตุ๋นออนไลน์ (online scammer) มีได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักใช้การพูดคุยแบบโรแมนติก และรูปภาพที่ดึงดูดใจเพื่อหว่านล้อม ก่อนจะบงการความรู้สึกและฉวยประโยชน์จากเหยื่อ เช่น หนุ่มรายหนึ่งตีสนิทสาวโรงงานวัย 40 จนตายใจแล้วมีเพศสัมพันธ์ด้วยหลายครั้ง วันหนึ่งเขาชวนเธอไปพบพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด ให้เอาทรัพย์สินมีค่าใส่รถ แต่ทำทีว่าลืมซื้อของสำคัญจึงจอดแวะเซเว่นแล้วขอให้เธอลงไปซื้อให้ เมื่อกลับมาก็ไม่พบทั้งรถทั้งคนและทรัพย์ของตน
ข่าวอาชญากรรมในครัวเรือนและความรุนแรงที่เกิดจากความสัมพันธ์ของมนุษย์มักเกี่ยวพันกับอคติทางวัฒนธรรมและปัญหาทางเศรษฐกิจ (หนี้สิน) เรื่องราวสะเทือนใจที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่เหตุการณ์ที่แยกจากกัน แต่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง และสะท้อนค่านิยม ความคาดหวังทางสังคม ความล้มเหลวเชิงระบบในการจัดการปัญหาที่ครอบครัวต้องเผชิญ ตลอดจนภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีดิจิทัล
เอกสารอ้างอิง
มติชนสุดสัปดาห์. (2567). เปิดคำสารภาพ ‘ทอย’ ฆ่าเผาอำพราง ‘น้องนุ่น’ ลงมือ-ต่อหน้าลูกน้อย ความรุนแรงในครอบครัว. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_749420. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
ไทยรัฐออนไลน์. (2567). ไอ้ทอย ผัวโหดฆ่าน้องนุ่น เปิดต้นตอพฤติกรรมเหี้ยม อย่ามาอ้างแค้นสะสม. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2765097. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
ไทยรัฐออนไลน์. (2567). ผัวหึงโหด คว้ามีดปอกผลไม้กระหน่ำแทงเมีย ดับสลด. สืบค้นจาก. https://www.thairath.co.th/news/crime/2824988 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
ผู้จัดการออนไลน์. (2567). คุม “เจ๊นัท” กะเทยเหี้ยมทำแผน คว้ามีดกะซวกอก นศ.หนุ่มก่อนเผาร่าง ปิดปากเงียบไม่ตอบคำถามสื่อ. สืบค้นจาก https://mgronline.com/crime/detail/9670000073027 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
มองสัตว์เห็นคน มองคนเห็นสัตว์: สำรวจโลกหลากสายพันธุ์
ปิยนันท์ จินา
ตลอดปี 2567 แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียไถหน้าฟีดแล้วจะไม่เจอภาพหรือมีม (meme) ของลูกฮิปโปแคระเพศเมียจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น เดิน วิ่ง สะบัดตัวหลังอาบน้ำ ทำหน้าเด๋อ หรือ ‘สวบ’ พี่เลี้ยง ‘หมูเด้ง’ ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับการโหวตจากชาวเน็ตกว่า 20,000 ราย กลายเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ดังไกลถึงต่างประเทศ แม้แต่สื่อระดับโลกยังต้องเขียนถึง ทำให้สวนสัตว์มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมและมีผู้ติดตามบนโลกเสมือนจริงเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ความน่ารักน่าเอ็นดูของหมูเด้งส่วนหนึ่งอาจมาจากลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ฮิปโปแคระ กล่าวคือมีขนาดกะทัดรัด (เมื่อโตเต็มวัยมีน้ำหนักเฉลี่ย 250-300 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับฮิปโปทั่วไปที่อาจหนักถึง 3 ตัน) มีความดุ๊กดิ๊กเพราะมีขนตามตัวน้อย ผิวเรียบลื่น เนื่องจากผิวหนังไวต่อแสงแดด สัตว์ชนิดนี้จึงมีถิ่นที่อยู่ริมแม่น้ำ ลำธาร หรือหนองบึง ใช้เวลาส่วนใหญ่แช่น้ำหรือโคลนเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย และจะขึ้นจากน้ำในเวลากลางคืน พลบค่ำ หรือรุ่งสาง เพื่อออกหาของกิน ได้แก่ ใบไม้ หญ้า หน่อไม้ รากไม้ หรือผลไม้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ป่าฝนเขตร้อนชื้นในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยเดิม ถูกทำลายและรุกรานจากการทำไร่เพาะปลูกพืชเกษตร อาทิ ปาล์ม โกโก้ ยางพารา ถึงแม้รัฐบาลหลายประเทศจะจัดเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า แต่ฮิปโปแคระก็ยังถูกรบกวนจากการลอบทำเหมืองแร่ รวมถึงชนพื้นเมืองบางกลุ่มที่ยังล่าฮิปโปแคระเพื่อกินเนื้อด้วย ทำให้ฮิปโปแคระถูกจัดเป็นสปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ที่มีอยู่ในธรรมชาติเพียง 2,000 กว่าตัวเท่านั้น สวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีโครงการอนุรักษ์สัตว์จึงรับเอาสปีชีส์นี้ไว้ในการดูแล ฮิปโปแคระจึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ มีพี่เลี้ยงคอยให้อาหาร ล้างบ่อ อาบน้ำ รวมถึงถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียด้วย จึงเป็นที่มาของความเด้งดึ๋งน่ารักตะมุตะมิที่เราเห็น
อย่างไรก็ดี น่าตั้งข้อสังเกตว่า ความน่ารักของหมูเด้งช่วยให้มนุษย์มองทะลุไปยังปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาวะโลกรวน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ด้วยไหม หรือเห็นเพียงแค่มีมและแฟนอาร์ต ซึ่งเป็นเพียงสินค้าของทุนนิยมสัญญะ
สลับฉากมาที่ดาราสัตว์ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่พบได้ทั่วไปสำหรับคนเมืองอย่างแมวและสุนัข กรณีที่โด่งดังก็คงไม่พ้นแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว ที่มีฉากทดสอบยาพิษในน้ำชาโดยใช้แมว แต่น้องแมวดันเล่นสมบทบาทเกิน ชักกระตุกต่อหน้ากล้องก่อนแน่นิ่งไป ทำเอาคนรักสัตว์รับไม่ได้ และตั้งคำถามว่า ใช้วิธีการใดวางยาสลบแมว ได้ทำตามขั้นตอนที่เหมาะสม เช่น ตรวจร่างกายก่อนและหลัง งดอาหาร สอดท่อช่วยหายใจ หรือมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาหรือไม่ เนื่องจากยาสลบอาจกดการทำงานของระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดทำให้แมวสำลักหรือเสี่ยงต่อชีวิตได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือการตั้งคำถามว่า น้องเป็นแมวมีเจ้าของหรือเป็นแมวจร ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาสุนัขและแมวจรที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเมืองในปัจจุบัน
อีกกรณีคือ ‘หมวยเล็ก’ หมาไซบีเรียนที่ถูกเจ้าของล่ามไว้ในห้องน้ำก่อนเอาน้ำร้อนราดอย่างทารุณ ทั้งที่น้องกำลังตั้งท้องอยู่ โดยให้เหตุผลว่าหมวยเล็กดื้อ ซน ทำลายข้าวของแถมยังแอบขโมยกินขนมของคน วิดีโอดังกล่าวกลายเป็นที่ติเตียนของสังคมออนไลน์ บางส่วนเห็นว่าหากไม่พร้อมก็ไม่ควรมีสัตว์เลี้ยง และกดดันจนเจ้าของต้องมอบหมวยเล็กให้คนอื่นดูแลต่อ ประเด็นน่าสนใจคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นได้ทั้งเพื่อนแก้เหงา เครื่องนำทาง เครื่องตรวจสอบระเบิด เครื่องค้นหาอาชญากร หรืออุปกรณ์กีฬา (กรณีสุนัขแข่ง) หากแต่ความสัมพันธ์จะราบรื่น (ต่อมนุษย์) ได้ก็ต่อเมื่อสัตว์นั้นได้รับการฝึกตามเงื่อนไขที่เหมาะสม (การให้รางวัล การลงโทษ การกระตุ้น) แต่เสียงโซเชียลอีกด้านก็มองว่า สุนัขไม่ใช่ทรัพย์สินหรือเครื่องมือ แต่เป็นครอบครัวและมีสถานะเท่าเทียมกับมนุษย์ เราจึงควรปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเคารพมากขึ้น
ข่าวไฟไหม้ตลาดจตุจักรที่คร่าชีวิตสัตว์นับร้อยจึงกลายเป็นเรื่องสะเทือนใจไม่น้อยในสังคมไทย แต่ก็เตือนให้เราครุ่นคิดว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงมีลักษณะเหมือนกับความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันหรือไม่? อย่างน้อยก่อนที่จะเป็นสมาชิกในครอบครัว สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ก็มาจากการซื้อขายในฐานะสินค้า และยังย้ำเตือนว่า ในพื้นที่หนึ่ง ๆ เช่น เมือง อาจไม่ได้มีมนุษย์เพียงลำพัง หากแต่เป็นพื้นที่แห่งการพบปะ ปะทะ ติดต่อ (contact zone) และสร้างสัมพันธ์กันระหว่างหลากหลายสายพันธุ์ (multispecies space) ที่แต่ละสายพันธุ์ล้วนทั้งสร้างผลกระทบและได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์อื่น
ข้อถกเถียงเรื่องการเลี้ยงสัตว์ (domestication) ระหว่างจุดยืนที่มองสัตว์เป็นเพื่อนร่วมโลกกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชีวิตกับแรงงาน ยังปรากฏผ่านข่าวน้ำท่วมปางช้างแม่ริม เมื่อมีความจำเป็นต้องอพยพช้างของมูลนิธิรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเลี้ยงแบบ ‘ธรรมชาติ’ ไม่ได้รับการฝึกให้มีปฏิสัมพันธ์หรือสร้างสายสัมพันธ์ (bonding) กับควานช้างที่เป็นคน เพราะมองว่าการใช้อุปกรณ์ เช่น ตะขอ รวมถึงอำนาจในการออกคำสั่งใด ๆ กับช้าง เป็นสิ่งที่รุนแรงเกินไปสำหรับความสัมพันธ์แบบสหายต่างสายพันธุ์ ช้างเหล่านี้จึงไม่คุ้นกับควานช้าง และเนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่อาจก่ออันตรายและความเสียหายแก่มนุษย์และทรัพย์สินของมนุษย์ การช่วยเหลือจึงยากลำบาก หากไม่ใช้ยาซึมเพื่อเคลื่อนย้ายสู่พื้นที่ปลอดภัย ควานก็เสี่ยง แต่หากใช้ ช้างก็อาจจมน้ำ ทำให้เกิดสงครามวิวาทะขนาดย่อมบนโลกออนไลน์
บรรดาตึกแถวที่มีห้องพักหลายร้อยห้องในตัวเมืองลพบุรีแทบกลายเป็นอาคารร้าง เมื่อฝูงลิงแสมที่อพยพเข้ามาหากินในย่านชุมชนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สร้างความเสียหายและเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้คนจนต้องย้ายหนี ส่วนคนที่ยังจำใจอยู่ก็เพราะไม่มีที่ให้ไปและติดสัญญาเช่า ถึงแม้ลิงจะเป็นสัญลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวแบบลพบุรีมา 30 กว่าปี รวมทั้งยังมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนลิงประจำปีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่คนที่เดือดร้อนก็เห็นว่าต้องควบคุมประชากรลิง เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการค้าขาย เช่น ลิงมักแย่งขนม อาหาร หรือสิ่งของจากมือมนุษย์ โดยเฉพาะเด็ก เพราะคิดว่าเป็นของกิน หรือมักบุกรุกบ้านคนเพื่อค้นหาของกิน คนท้องถิ่นจึงต้องติดกรงเหล็กรอบบ้าน (กลายเป็นคนอยู่ในกรง ขณะที่ลิงอยู่ด้านนอก) บางส่วนก็พกอาวุธประจำกายเพื่อขู่ลิงอย่างที่มักปรากฏเป็นมีมว่า เด็กวัดถือปืนคุ้มกันพระขณะบิณฑบาต ตำรวจฝึกใช้หนังสติ๊กเพื่อไล่ลิง หรือภาพเด็กนักเรียนหญิงถือปืนประจันหน้ากับลิง (ซึ่งก็มีภาพลิงถือปืนนั่งเฝ้าอาณาเขตของมันเหมือนกัน) ความสัมพันธ์ต่างสายพันธุ์ในเมืองแบบกระทบกระทั่งเป็นไปอย่างดุเดือด และไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาวะคน แต่ยังเป็นภัยต่อสุขภาวะลิงด้วย เช่น ขาดสารอาหาร รับเชื้อโรคจากเศษขยะหรือแมลงวัน ที่สำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลิงยังอาจข้ามสู่มนุษย์ได้ เช่น โรคอุบัติใหม่จากคนสู่สัตว์ (Zoonoses) ในที่สุดก็มีปฏิบัติการกวาดล้างและจัดระเบียบลิง ราวกับลิงมีพื้นที่ในเมืองลพบุรีที่สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ไม่ได้อีกต่อไป
แต่ปัญหาเหล่านี้ก็คือการมองจากจุดยืนของมนุษย์ ซึ่งเป็นเพียงมุมมองหนึ่งในโลกหลากสายพันธุ์เท่านั้น ลิงไม่ใช่แค่สัตว์รังควาน แต่เป็นตัวแสดงในฉากสังคมและระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน ใช่หรือไม่ว่าป่าที่ลิงเคยหากินล้วนได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ หากไม่เปลี่ยนเป็นเมืองก็กลายเป็นเรือกสวนไร่นาในภาคเกษตรกรรม ลิงที่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์ก็กลับมาส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์อีกทอด สรรพชีวิตจึงอยู่ในการพัวพัน (entanglement) ที่ไม่มีสปีชีส์ใดควบคุมหรือบงการความสัมพันธ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ นักมานุษยวิทยาร่วมสมัยจึงไม่เพียงสนใจว่า มนุษย์ได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร แต่ยังพิจารณาว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์ ทั้งมีส่วนสร้างและได้รับผลกระทบจากพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของกันและกันอย่างไร เมื่อเรากลับมาตั้งคำถามกับความเป็นผู้กระทำการ (agency) เสียใหม่ ก็น่าคิดว่า คนกับสัตว์จะมีความสัมพันธ์แบบอื่น นอกจากหากไม่ใช่มิตรก็เป็นศัตรู ได้หรือไม่? ซึ่งอาจรวมถึงกรณีของสัตว์ที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (invasive alien species) ทั้งที่มนุษย์บางกลุ่มก็มีส่วนในการนำเข้าอย่างปลาหมอสีคางดำหรืออิกัวนาเขียว
เมื่อเรามองสัตว์จึงเห็นคน เมื่อเรามองคนก็ย่อมเห็นสัตว์ด้วย ที่ผ่านมา มนุษย์ถือตนว่ามีสถานะเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นและเข้าไปฉวยใช้ประโยชน์ เปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ซึ่งมีสายพันธุ์อื่นอยู่ด้วย เช่น ทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่ สร้างนิคมอุตสาหกรรม หรือพัฒนาเมือง ทั้งยังมองสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของ เป็นวัตถุรองรับการกระทำของมนุษย์อย่างเฉื่อยชา เช่น วัตถุแห่งการจ้องมองที่จัดแสดงในสวนสัตว์ สัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อการดำรงชีพ หรือทรัพยากรที่ต้องจัดการ แต่กลับมองไม่เห็นว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นก็มีส่วนสร้างความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรม และสังคม หาใช่เพียงฉากหลังของปรากฏการณ์ทางสังคมเท่านั้น มิหนำซ้ำยังจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งมีชีวิตอย่างตายตัว เช่น สัตว์ป่า สัตว์เชื่อง สัตว์เลี้ยงหรือศัตรู ทั้งที่จริง โลกหลากสายพันธุ์อาจมีความเลื่อนไหลมากกว่าความเข้าใจของมนุษย์
คำถามนานัปการที่สมควรร่วมกันหาคำตอบใหม่ เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวัฒนธรรมหรือสังคมมนุษย์ไม่ได้แยกขาดจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของสายพันธุ์อื่น (nature-culture) ถ้าผู้กระทำการไม่ได้มีแต่มนุษย์ หรือถ้าการเข้าใจมนุษย์ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการศึกษาสังคมมนุษย์เท่านั้น ดังนั้น สรรพสัตว์ในปี 2567 ไม่ได้เป็นเพียงแค่มีมหรือตัวละครในโลกดิจิทัล แต่ยังเป็นรูปแบบชีวิตอื่น (life form) ที่ในบ้างด้านก็เหมือนมนุษย์ แต่ในอีกหลายด้านก็แตกต่างจนแทบเข้าใจกันไม่ได้ และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ย้ำเตือนให้เราสะท้อนย้อนคิดเกี่ยวกับตัวแสดงและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ตัดข้ามเส้นแบ่งวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกสมัยใหม่ (อาทิ การกลายเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และเทคโนโลยีดิจิทัล) กระแสทฤษฎีที่เรียกว่า มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ (posthuman anthropology) เสนอให้เราขบคิดถึงการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ติดต่อเหล่านี้ เพราะถึงอย่างไร มนุษย์ก็ไม่อาจแยกตัวเองออกจากสายพันธุ์อื่นหรือไม่สามารถถอนตัวออกจากโลกหลากสายพันธุ์นี้ได้
เอกสารอ้างอิง
BBC NEWS ไทย. (2567). เหตุใดพฤติกรรมการทารุณกรรมสัตว์อาจเป็นสัญญาณความรุนแรงภายในครอบครัวได้. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/c3ggk6yy724o เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
L’Officiel. (2567). ‘หมูเด้ง’ ดาราคนใหม่ของประเทศไทย. สืบค้นจาก. https://lofficielthailand.com/2024/09/moodeng-new-star-thailand/ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
Thai PBS. (2567). เปิดเบื้องหลัง! วันแยกย้าย “ลิง-คน” จับย้ายบ้าน ก่อนลพบุรีเป็นเมืองร้าง. สืบค้นจาก. https://www.thaipbs.or.th/news/content/340508 เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
Thai PBS. (2567). ไฟไหม้จตุจักร เจ้าของร้านโอดสัตว์ตายนับร้อย สูญ 3 ล้าน. สืบค้นจาก. https://www.thaipbs.or.th/news/content/340907 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
ผู้จัดการออนไลน์. (2567). “หมูเด้งฟีเวอร์” ซุปตาร์สัตว์จากไทยดังกระฉ่อนโลก เพื่อนบ้านไม่พลาดเคลมเป็น “กระเด้ง จรุก”. สืบค้นจาก https://mgronline.com/travel/detail/9670000086975 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567.
ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ชัชชล อัจนากิตติ (บก.) (2564). มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
‘ต่างด้าว’ ‘เคลม’ ‘แบน’: การแย่งยึด การไล่รื้อ และการปะทะกันของชาตินิยมออนไลน์
วิมล โคตรทุมมี
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR): แรงงานผิดกฎหมาย การเคลม (claim) และการแบน (ban)
ปัญหาระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาโดยมากเกี่ยวกับแรงงานผิดกฎหมายที่ยังไม่ถูกแก้ไข แต่ประเด็นที่เป็นแรงกระเพื่อมปีนี้คือการอภิปรายข้อเรียกร้องการช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานเมียนมาในด้านต่าง ๆ โดย สส.พรรคประชาชน1 ข้อเรียกร้องดังกล่าวสะท้อนความต้องการจัดระบบแรงงานต่างชาติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแรงงานเมียนมาที่เรื้อรังมาตลอด แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้แก่คนหลายกลุ่มโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งทางการเมือง ด้านสถานการณ์แรงงานลาวอาจไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับแรงงานเมียนมา แต่ก็ปรากฏข่าวการจับกุมแรงงานลาวผิดกฎหมายอยู่เสมอ สถานการณ์ระหว่างไทยเมียนมาและลาวคล้ายคลึงกันในแง่ของการเป็นปัญหาความเป็นพลเมืองที่ผิดกฎหมาย คาบเกี่ยวกับมิติชนชั้นแรงงานต่างประเทศ
ส่วนกรณีประเทศไทยและกัมพูชา ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศในโลกออนไลน์ก็ดูจะไม่ราบรื่นนัก มีการอ้างสิทธิอย่างไม่ชอบธรรม (claim) ของชาวกัมพูชาต่อชาวไทยในหลายเรื่อง เช่น มวยไทย โขน สงกรานต์ ขนมครก การเคลมคนที่มีชื่อเสียง เช่น พิธา บัวขาว หรือลิซ่าก็ถูกอ้างว่ามีเชื้อชาติกัมพูชา2 ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าเป็น “เขมรเคลม” หรือการอ้างความดั้งเดิมของวัฒนธรรมเขมรที่มีมาก่อนวัฒนธรรมไทย นักวิชาการประวัติศาสตร์ชี้ว่านี่เป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ระหว่างสองชาติที่มีความคล้ายคลึงกันจึงเกิดการอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของวัฒนธรรม และเมื่อเป็นวัฒนธรรมของชาติก็เท่ากับว่ามันคือการอ้างความเป็นชาติของตนด้วย3
ในปี 2567 ยังมีข่าวเชิงลบที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ สืบเนื่องมาจากการถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศแม้ทำตามเงื่อนไขกฎหมายครบทุกประการ ผนวกกับพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการลุกลามการเหยียดเชื้อชาติ4 ก่อให้เกิดกระแส #แบนเที่ยวเกาหลี ของชาวเน็ต5 ความเข้มงวดของตม. เกาหลีใต้ส่วนหนึ่งมากจากปัญหาการลักลอบเป็นแรงงานผิดกฎหมายของชาวไทย อีกทั้งตลาดการท่องเที่ยวไทยมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เจ้าหน้าที่ตม.เกาหลีจึงกังวลเรื่องแรงงานผิดกฎหมายมากกว่า
ชาตินิยมออนไลน์: กระจกสังคมเรื่องระหว่างชาติ
การทำความเข้าใจกับกระแสชาตินิยมเริ่มหันมาทำความเข้าใจชาตินิยมในแพลตฟอร์มใหม่ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลหรือโลกโซเซียล Mihelj and Jiménez-Martínez (2021) ชี้ว่าการเติบโตการเมืองบนสื่อสร้างบทบาทเชิงบวกแก่ชุมชนเทคโนโลยีของชาติ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ชาตินิยมออนไลน์ก่อให้เกิดการคืนชีพความเป็นชาติแนวใหม่ที่ผันตามนิเวศวิทยาของโลกดิจิทัล (digital ecology) เทคโนโลยีดิจิทัลอนุญาตให้ผู้กระทำการหลายกลุ่มสามารถแสดงหรือสร้างจินตนาการความเป็นชาติแนวใหม่ ในกรณีสังคมไทยความเป็นชาตินิยมแนวใหม่ที่ว่าเห็นได้ชัดเมื่ออธิบายบนความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา ปัญหา‘การเคลม’ (claim) อัตลักษณ์วัฒนธรรมไม่ได้ถูกกำหนดโดยบทบาทรัฐ ชาตินิยมได้ถูกเปลี่ยนมือสู่ปฏิบัติการของประชาชน การเคลมวัฒนธรรมชาติจึงเป็นปฏิบัติการแบบชาตินิยมออนไลน์ที่ประชาชนชาวเน็ตช่วงชิงและ/หรือปกป้องความหมายความเป็นชาติของพวกเขา
กรณี #แบนเกาหลี หรือปัญหาแรงงานเมียนมา สถานการณ์เหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นต่างบริบท ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเมียนมาและเกาหลีใต้มีลักษณะเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน กล่าวคือ คนไทยเป็นทั้งพวกเรากับคนอื่นของเมียนมาและเกาหลีใต้
พิจารณาตามมิติชาตินิยม ปัญหาของสามประเทศนี้สัมพันธ์กับความศิวิไลซ์ทางเชื้อชาติที่สถาปนาอำนาจ และความชอบธรรมในการกีดกันให้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของพลเมือง กระทั่งนำไปสู่การตีตราลำดับชั้นที่ต่ำกว่า คนไทยจึงเป็น‘ผีน้อย’ของคนเกาหลี และคนเมียนมาก็เป็น‘ต่างด้าว’ของคนไทย ในขณะที่‘เรา’ตอบโต้เกาหลีใต้ที่ลดทอนความเป็นชาติไทยในฐานะ’กลุ่มคนที่เป็นปัญหา’ แต่เราก็กีดกันและตอกย้ำเสมอว่าชาวเมียนมาเป็น‘ต่างด้าว’ในประเทศ
การแตกกระจายตัวของชาติในฐานะการแย่งยึดและการไล่รื้อ
ในปัจจุบันชาตินิยมมีลักษณะใกล้ชิดกับปฏิบัติการของผู้คนในระดับชีวิตประจำวันมากขึ้น การตอบโต้กับระหว่างคนไทยและคนชาติอื่นเป็นปฏิบัติการออนไลน์อันสะท้อนให้เห็นถึงการแตกกระจายตัวของชาติในมิติต่าง ๆ (Mihelj and Jiménez-Martínez, 2021) และชาตินิยมจึงมีความคลุมเครือและยึดโยงกับผู้คนในชีวิตประจำวัน การศึกษาอาจต้องเสริมกระบวนทัศน์อื่นเพื่อให้เข้าใจความทับซ้อนของมิติปัญหาจากประเด็นชาตินิยมซึ่งเป็นเปลือกชั้นบนสุดของภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน
Ullah and Chattoraj (2023) อธิบายว่าหลายประเทศในอาเซียนกำลังเผชิญปัญหาการไล่รื้อ (displacement) หรือการบังคับให้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากผลกระทบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงทางเชื้อชาติ หรือปัญหาทางการเมือง สงคราม และภาวะทางเศรษฐกิจ กรณีของประเทศเมียนมาที่อพยพเข้ามาในไทย ปัญหาที่มาจากการบังคับเคลื่อนย้ายของผู้คนจากปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองและความรุนแรงทางสงคราม ทำนองเดียวกันกับการเป็นผีน้อยในประเทศเกาหลีใต้หรือการที่คนลาวเป็นแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย การย้ายถิ่นฐานเกิดจากสภาวะจำยอมทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นให้พวกเขาไม่มีทางเลือกการตัดสินใจ และบีบบังคับ (forced) ให้พวกเขากลายเป็นคนผิดกฎหมายหรือแรงงานต่างด้าว
ด้านปัญหาการเคลมวัฒนธรรมอันเป็นปฏิบัติการแบบชาตินิยมออนไลน์ในการช่วงชิงความหมายความเป็นชาติของคนกัมพูชา นักประวัติศาสตร์อย่าง David Chandler ชี้ว่าประวัติศาสตร์กัมพูชาต้องเผชิญการปฏิรูปสังคมขนานใหญ่ นับตั้งแต่การเข้ามาของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จวบจนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาการเมืองกลายเป็นวาระหลักที่ทำให้ละเลยการฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่หลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาจึงมุ่งฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาติใหม่ (Chandler, 2008) ปัจจัยเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่สร้างแนวโน้มการแย่งยึดหรืออ้างเอาวัฒนธรรมจากที่อื่นที่ใกล้เคียงภายหลังจากการถูกพรากสิทธิหรืออำนาจของตนในด้านต่าง ๆ จากที่ดิน ทรัพย์สิน อำนาจอธิปไตย ความเป็นพลเมือง หรือแม้แต่ความเป็นชาติ (Ullah and Chattoraj, 2023) ซึ่งเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ชาติกัมพูชา ปฏิบัติการการเคลมหรือการอ้างสิทธิทางวัฒนธรรมชาติอื่นเป็นชาติของตนไม่ต่างจากความพยายามแย่งกลับจากสิ่งที่พวกเขาเคยสูญเสีย อย่างน้อยก็เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่ของวัฒนธรรมพวกเขา แม้ว่าในหลาย ๆ ครั้งมันได้สร้างความขัดแย้งระหว่างชาติ
กล่าวโดยสรุป ข่าวปี 2567 ด้านหนึ่งเป็นปรากฏการณ์ชาตินิยมระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามความเป็นชาติในบางครั้งก็มีลักษณะย้อนแย้ง ผู้เขียนจึงไม่ได้เพียงแต่อธิบายสถานการณ์ดังกล่าวในมิติของความเป็นชาติเพียงอย่างเดียว ปรากฏการณ์เหล่านี้เกี่ยวโยงกับภาวะสงคราม การอพยพ ประวัติศาสตร์ การเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แรงบีบคั้น ความคาดหวัง ตลอดจนสภาวะจำยอมทางเศรษฐกิจ
รายการอ้างอิงข่าว
1. PPTVTH36, ดรามา! "สส.แก้วตา" จี้ไทยรับรองชาวเมียนมาหนีสงคราม แฮชแท็กพรรคประชาชนพม่า (18 ก.ย. 2567) < https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/232922> สืบค้นวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
2. ผู้จัดการออนไลน์, กัมพูชาขยันเคลม! ล่าสุด “ลิซ่า” เป็นคนกัมพูชา ไม่ใช่คนไทยแล้ว (18 เม.ย. 2567) <https://mgronline.com/entertainment/detail/9670000033592> สืบค้นวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
3. BBC ไทย, กุน ขแมร์ : วัฒนธรรมไทย-เขมร ย้อนดูประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นเหตุก่อ ‘ดรามา’ ของสองชาติ (28 ม.ค. 2566) <https://www.bbc.com/thai/articles/cj5m5rqzmm4o> สืบค้นวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
4. Sanook, สรุปดราม่า #แบนเกาหลี เดือดอีกรอบ สาวเล่าติด ตม. – นักข่าวทำคลิปแซะคนไทย (4 ก.ย. 2567) <https://www.sanook.com/news/9537842/> สืบค้นวันที่ 3 ธันวาคม 2567
5. WorkPoint Today, ส่องดราม่า #แบนเที่ยวเกาหลี เมื่อมาตรการสกัด ‘ผีน้อย’ ทำนักท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบ (31 ต.ค. 2566) <https://workpointtoday.com/sk-is-to-be-banned/ > สืบค้นวันที่ 3 ธันวาคม 2567.
บรรณานุกรม
Ullah A, Akm and Chattoraj Diotima . (2023). The Unheard Stories of The Rohingyas: Ethnicity, Diver and Media. Bristol: Bristol University Press.
Chandler, David. (2008). A History of Cambodia. 4th ed. Colorado: Westview Press.
Mihelj, Sabina and Jiménez-Martínez, Cesar. (2021). Digital Nationalism: Understanding The Role of Digital Media in The Rise of ‘New’ Nationalism. Nation and Nationalism, 27(2), 331-346.
ButterBear และ Art Toy: วัฒนธรรมสมัยนิยมของความน่ารัก
วิมล โคตรทุมมี
หมีเนยและอาร์ตทอย การเติบโตของวัฒนธรรมสมัยนิยมแนวน่ารัก
ในบรรดา Pop Culture ปี 2567 กระแสน้องหมีเนย (ButterBear) และ Art Toy น่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมและเป็นกระแสในข่าวหรือสื่อออนไลน์มาโดยตลอด ‘หมีเนย’ หรือแฟนด้อมมักเรียกว่า‘น้องเนย’ มาสคอตหมีสีน้ำตาลไอดอลสาว‘ฉามขวบ’ที่มีแฟนด้อมทั่วประเทศ ความสำเร็จของหมีเนยเกิดขึ้นจากกลยุทธ์การตลาดมาสคอตในแบบ Cute Marketing1 น้องเนยสร้างปรากฏการณ์‘ห้างแตก’ทุกครั้งที่ปรากฏตัว มีการร่วมงานกับศิลปินระดับโลก กระทั่งจัดงาน Butterbear's 1st Fam Meeting Adventure Awaits ที่เชิญศิลปินดาราไทย 10 กว่าคนร่วมเป็นแขกรับเชิญ และมีแฟนด้อมเข้าชมเต็มฮอลล์นับหมื่นกว่าคน
ด้านอาร์ตทอย เป็นของเล่นของสะสมหลายรูปแบบตามความสร้างสรรค์ของศิลปินและวัสดุที่สร้าง2 อาร์ตทอยมีราคาอยู่ที่ 100-3,000 บาท ในบรรดาอาร์ตทอยทั้งหมด ลาบูบู้เป็นที่นิยมมากที่สุดเนื่องจากเป็นของสะสมของศิลปินลิซ่า ลาบูบู้มีลักษณะเป็นปีศาจตัวน้อย ตาโต ฟันแหลม พร้อมรอยยิ้มเจ้าเลห์ Art Toy อื่น เช่น Crybaby มีลักษณะเป็นเด็กผู้หญิงร้องไห้ หรือ Molly ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเด็กผู้หญิง ตาโต จือปาก หรือค่าย Amitofo โมเดลอาร์ตทอยพระพุทธเจ้าที่คนไทยเรียกว่า“หลวงเจ๊”
ความนิยมของหมีเนยและอาร์ตทอยเกิดขึ้นหลายปัจจัยโดยเฉพาะการสร้างรูปลักษณะ (character) และการปรับแต่ง (customize) และการสร้างเรื่องเล่าเพื่อนำเสนอความเป็นตัวตนแก่แฟนคลับ แต่จุดเด่นที่เทียบเคียงได้อย่างคล้ายคลึงกันคือการสร้างคุณค่าและคุณลักษณะร่วมจากความน่ารักทำให้เกิดการกำหนดทิศทางความหมายของความน่ารักอย่างยืดหยุ่น (flexible cuteness)
ความน่ารักสมัยนิยม การก้าวข้ามจาก Passive Object สู่ปริมณฑล Agency
Joshua Paul Dale (2016) อธิบายว่าความน่ารักเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่กำลังกลายเป็นเทรนด์ของวัฒนธรรมป๊อบทั่วโลก การศึกษาความน่ารัก (cute studies) แรกเริ่มนิยมพิจารณาผ่านแบบแผนความน่ารักของเด็ก วัตถุหลายชนิดที่มีลักษณะตาโต แก้มใหญ่ หรือตาเล็กปากเล็กจึงกลายเป็นสิ่งรับรู้ของความน่ารัก อย่างไรก็ตามมิติความน่ารักก็อยู่ใต้ร่มของการมีส่วนร่วมทางสังคม ด้านหนึ่งความน่ารักจึงมีแรงกระตุ้นในตัวเอง และมีนัยยะที่สามารถมองพ้นจากการเป็นวัตถุที่เฉยเมยรอการตอบสนองจากสิ่งอื่น
การศึกษาความน่ารักจึงไม่ใช่การอธิบายข้อเท็จที่ตอบสนองต่อความน่ารัก แต่ความน่ารักเกี่ยวข้องกับการรู้การเข้าใจ (cognition) และความสัมพันธ์ระหว่าง Subject กับ Cute Object ที่ไม่ได้แยกตัวจากโครงสร้างสังคม กระทั่งสุนทรียศาสตร์ของความน่ารักก็ขยับขยายขอบเขตของความหมายออก ความน่ารักจึงมีความยืดหยุ่น และคลอบคลุมหมวดหมู่ของความตรงกันข้าม อันได้แก่ ความพิสดาร ความน่าเกลียด และความน่ารักแบบขยะแขยง (Dale, 2016)
วัฒนธรรมสมัยนิยมปี 2567 น่าจะสะท้อนความหมายของความน่ารักตามนัยยะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีลาบูบู้ที่มีความหน้าร้ายแต่ก็เป็นความน่ารักอีกแบบ3 หรือกรณีของ Crybaby เห็นได้ว่าศิลปินใช้ความเศร้าหรือการร้องไห้เป็นภาพแทนของความน่ารักและเป็นจุดขายโมเดล หรืออาร์ตทอยอย่าง ‘หลวงเจ๊’ ค่าย Amitofo ที่สร้างมาตราฐานความน่ารักแบบใหม่ โดยการเปลี่ยนความหมายของสิ่งสูงส่งศาสนาสู่สิ่งน่ารักแบบ ‘ตะมุตะมิ’ ในขณะเดียวกันก็มีความเสียดสีหรือความล้อเลียนในกรอบของความน่ารัก
ความน่าสนใจอีกประการของอาร์ตทอยคือ การทำรูปแบบกล่องสุ่มสำหรับการครอบครองอาร์ตทอยตัวพิเศษที่หายาก (rare) ระบบนี้สร้างมิติ (dimension) ของความน่ารักและเปลี่ยนคุณค่าของอาร์ตทอยจากวัตถุที่รอเจ้าของมาซื้อขายกลายสถานะเป็นผู้กระทำการที่เย้ายวน เป็นสิ่งลึกลับที่ต้องค้นหา ในแง่นี้ผู้ครอบครองอาร์ตทอยตัวพิเศษจึงรู้สึกว่า‘ตัวแรร์’ของเขามีความน่ารักมากกว่าตัวอื่น
ด้านน้องเนย ความน่ารักน้องเนยลึกซึ้งมากกว่ารูปลักษณ์มาสคอตที่ปรากฏ ผู้เขียนมองว่าน้องเนยเป็นผู้กระทำการทางสังคมที่สามารถกำกับและกำหนดความน่ารักให้อยู่เหนือคุณค่าของวัตถุที่ถูกสร้างให้เป็นสิ่งของความน่ารักแบบ Passive Object
ความสำเร็จของน้องเนยด้านหนึ่งเกิดขึ้นภายใต้การผสานตัวตนและการวาดลวดลายอย่างสัมพันธ์ลึกซึ่งระหว่างของคนกับรูปร่างมาสคอตและปฏิสัมพันธ์ต่อแฟนด้อม ตัวตนของน้องเนยเป็นภาพสะท้อนการสร้างความน่ารักเชิงกระบวนการที่สัมพันธ์กับการปรับเปลี่ยนรูปวัตถุ ได้แก่ ชุด เสื้อผ้า การแต่งกาย ซึ่งผันตามบริบทสังคม และสัมพันธ์กับกลไกการแสดงออกของท่าทาง อิริยาบท ในการสวมบทบาทเป็น‘เด็กฉามขวบ’ที่มีความสามารถในการเต้น หรือเป็นลูกสาวร่างหมีที่น่ารักซุกซน ฉะนั้นไม่แปลกนักที่ท่าทางความน่ารักของน้องเนยจะทำให้แฟนด้อมเชื่อว่าน้องเนยคือหมีจริง ๆ ไม่ใช่ Mascot และไม่มีใครอยู่ข้างใน4
ความหมายของการนิยมความน่ารัก และอารมณ์ของ Social Life
ทำไมสังคมต้องสมาทานความน่ารัก? การนิยมความน่ารักในวัฒนธรรมป๊อบไทยชี้ให้เห็นถึงการปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์และชีวิตทางสังคมที่มีต่อปัจเจกและอัตลักษณ์ร่วม นัยยะของการแสดงออกร่วมเป็นผลสะท้อนเชิงอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการภายในสังคม อารมณ์จึงมีส่วนในการกำหนดหรือแบ่งปันคุณค่าทางสังคม ทำนองเดียวกันสังคมก็มีผลต่อปรากฏการณ์เชิงอารมณ์ด้วย (phenomenon of emotions) (Bevilacqua, 2023) กรณีความนิยมน้องหมีเนยเป็นภาพสะท้อนระดับความสุขของคนหมู่มากที่เผชิญความเปลี่ยวเหงาและความเหงาแบบเรื้อรัง (chronic loneliness) พฤติกรรมความคลั่งรักน้องหมีเนยเป็นจุดเจ็บปวดของผู้บริโภคที่ต้องการผู้สร้างความสุขในชีวิตประจำวัน5 ในแง่นี้ แม้อาจมีการจ่ายทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนความรักในบางลักษณะ แต่ด้านหนึ่งผลตอบแทนการพึ่งพิงของความรักแนวนี้ไม่ทำให้เกิดความผิดหวังหรือเป็นความรักที่ไม่ต้องกังวลว่าจะสูญเสียความรู้สึก ดังประโยคที่ว่า รักน้องเนยไม่เจ็บเลยสักวัน
ด้านอาร์ตทอย แม้คล้ายคลึงกับการพนันที่ต้องใช้ดวงในการเล่นเพื่อค้นหาตัวแรร์ แต่วัฒนธรรมป๊อบแนวนี้เป็นความสุขของการเสี่ยงโชครูปแบบหนึ่ง อีกทั้งเป็นวัฒนธรรมเสี่ยงโชคแบบปลอดภัยที่ผู้เล่นไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์มากมายแลกกับความพอใจในการครอบครองสินค้า ด้านหนึ่งกล่องสุ่มอาร์ตทอยจึงมีลักษณะเป็นภาพสะท้อนการเผชิญความเสี่ยงทางสังคม หรือเป็นภาพสะท้อนแรงปราณาที่สามารถไขว่คว้าได้ภายใต้ข้อจำกัดทุนทรัพย์ การสุ่มกล่องสุ่มจึงกลายเป็นพื้นที่ที่รู้สึกมีความปลอดภัยในการเสี่ยงโชค แม้อาจไม่ได้ตัวแรร์แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นเจ้าของอาร์ตทอยสุด Cute ที่ตัวเองเลือก
รายการอ้างอิงข่าว
1. The People, ปรากฏการณ์ ‘น้องหมีเนย’ จากร้าน Butterbear การตลาด Cute Marketing น่ารักอย่างไรให้ห้างแตก? (5 มิ.ย. 2567) <https://www.thepeople.co/business/game-changer/53591> สืบค้นวันที่ 4 ธันวาคม 2567.
2.Thai PBS, รู้จัก Art toy ของเล่นที่กลายเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ (17 เม.ย. 2567)<https://www.thaipbs.or.th/now/content/1049> สืบค้นวันที่ 4 ธันวาคม 2567.
3. The 101. World, จากลาบูบู้ถึงหมีเนย : เมื่อความหน้าร้ายกลายเป็นความน่ารัก (27 ม.ค. 2567) <https://www.the101.world/labulu-butterbear-expression/ > สืบค้นวันที่ 4 ธันวาคม 2567.
4. Brandbuffet, ส่อง 5 ปรากฏการณ์ “หมีเนย” มาสคอตสุด (คิวท์) ไวรัล ที่ปลุกทราฟฟิกให้ Emsphere เพิ่ม 30% (3 ก.ค. 2567) <https://www.brandbuffet.in.th/2024/07/how-butterbear-mascot-effect-to-emsphere/> สืบค้นวันที่ 4 ธันวาคม 2567.
5. SME Thailand Club, ปรากฏการณ์คลั่งรัก "น้องหมีเนย" สะท้อนอะไรในพฤติกรรมผู้บริโภค 2024 (10 ก.ค. 2567) <https://www.smethailandclub.com/marketing/9578.html> สืบค้นวันที่ 4 ธันวาคม 2567.
บรรณานุกรม
Bevilacqua, Emiliano. (2023). The Relationship Between Social Life and Emotions. Adam Ferguson and Sociology. Frontiers in Sociology, 1-9. doi: 10.3389/fsoc.2023.1194280.
Dale, Joshua P. (2016). Cute Studies: An Emerging Field. East Asian Journal of Popular Culture, 2(1), 5-13.
เพศ Non Binary แต่สังคม Binary : มุมสะท้อน Sexuality ในสังคมไทย ปี 2567
วิมล โคตรทุมมี
ปี พ.ศ. 2567 เพศวิถีในสังคมไทยเคลื่อนตัวหลายทิศทางอย่างมีนัยยะสำคัญ รายงานชิ้นนี้จัดทำขึ้นจากการตระหนักถึงเรื่องเพศไทยในฐานะมุมของอัตลักษณ์ที่ผสานสัมพันธ์กับประสบการณ์และพลวัตทางสังคม และน่าจะเป็นมุมมองที่เปิดเผยให้เห็นถึงทิศทางเรื่องเพศที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันก็มีความย้อนแย้ง การขัดกัน และความซับซ้อนมิติเชิงลึกในปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวเรื่องเพศ โดยจะประเมินผ่านการจำแนกประเด็นและพื้นที่ของสถานการณ์ อันได้แก่‘เพศนอกกฎหมาย’ อันเป็นกระแสความเคลื่อนไหวเรื่องเพศในข่าวที่ยึดโยงอยู่กับสังคมชีวิตประจำวัน กับ‘เพศในกฎหมาย’ ความเกี่ยวข้องเรื่องเพศกับกฎหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม
การสวนทางกันของสถานการณ์เพศวิถีไทยในพื้นที่กฎหมาย
การผลักดันการสมรสเท่าเทียมมีความพยายามเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2544 และสะดุดลงภายหลังการรัฐประหารปี 2557 กระทั่งปี 2563 พรรคก้าวไกลได้ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมอีกครั้ง พรบ.สมรสเท่าเทียมล้มลุกคลุกคลานในสภาหลายปี จวบจน พ.ศ. 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ. กฎหมายสมรสเท่าเทียม และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในวันที่ 22 มกราคม 2568 พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมสำคัญในแง่ของการมีสิทธิประโยชน์ตามข้อบทกฎหมาย และเป็นความภูมิใจของชาติในฐานะที่เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศด้านกฎหมายได้
ผู้เขียนทดลองเสนอการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจดทะเบียนสามีภรรยากลายเป็น‘คู่สมรส’อาจสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ แก่รูปแบบครอบครัวไทย หรือเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบครอบครัว (trans-families) จากการสร้างครอบครัวผู้ปกครองร่วม (coparent) ความเป็นคุณแม่ร่วม (co-mothers) หรือความเป็นพ่อเกย์ร่วม ซึ่งเป็นรูปแบบครอบครัวที่พ้นจากความเป็นพ่อ-แม่หรือผู้ชาย-ผู้หญิง อันเป็นฐานรากบรรทัดฐานคู่ตรงข้ามทางเพศแบบ Masculine และ Feminine (Biblarz and Savci, 2010) การเปิดโอกาสให้ความหลากหลายทางเพศก้าวขึ้นมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบครอบครัวอาจเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมทัศนคติเรื่องเพศแก่เด็กใหม่ และอาจเป็นความสั่นคลอนต่อประเพณีธรรมเนียมเรื่องเพศในครอบครัวไทยแบบเดิม หรือสร้างค่านิยม ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศแบบใหม่ อีกทั้งอาจทำลายกำแพงของทัศนคติเพศสภาพ (gender attitude) ในขณะเดียวกันอาจทำให้เด็กซึมซับมิติความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในขณะที่กลุ่ม LGBTQ+ กำลังตั้งตารอการจดทะเบียนสมรส และวางแผนการแต่งงานภายหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ตรงกันข้ามคนไทยทั่วประเทศหลายคนกลับตัดสินใจที่จะเป็นโสด ไม่สมรส หรือไม่แต่งงาน จำนวนการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเป็น 22%1 และจำนวนคนโสดมีถึง 40.5% ความเป็นโสดแม้ดูเป็นเรื่องปัจเจกแต่ก็เกี่ยวโยงกับสังคมทั้งในเชิงสาเหตุและผลกระทบ อีกทั้งสัมพันธ์กับสังคมทั้งทางตรงทางอ้อมระยะสั้นระยะยาว ด้านหนึ่งความเป็นโสด (single) จึงสัมพันธ์กับระดับของความสุขของสังคม และเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกกลั่นกรองโดยปัจจัยทางสังคมหลาย ๆ อย่าง (Kislev: 2019) เพศวิถีในพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายในสังคมไทยปี 2567 ดูจะไปคนละทิศทาง ในสถานการณ์ที่หลายคนหันหลังให้กับการแต่งงาน กฏหมายสมรสฉบับใหม่กลับกำลังถูกสนับสนุน เป็นที่น่าสังเกตุและน่าสนใจว่าการผลักดันการสมรสเท่าเทียมแท้จริงแล้วมีวาระอย่างไรกันแน่
‘PrideMonth’ ‘ศึกกะเทยข้ามชาติ’ ‘บาร์โฮส’ ‘นัดผ่านแอพฯ’: ทางแยก (junction) เรื่องเพศในสังคม
กะเทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด2: ประโยคพาดหัวข่าวของสำนักข่าว The101World ภายหลังจากเหตุการณ์การยกพวกปะทะกันระหว่างกะเทยไทยและกะเทยฟิลิปปินส์บนถนนสุขุมวิทกลางกรุงเทพฯ วันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เหตุการณ์กะเทยผ่านศึกเกี่ยวโยงกับอิทธิพลของกลุ่มทุนสีเทาข้ามชาติที่กำลังขยายธุรกิจการค้าประเวณีในไทย3 อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวจบลงอย่างรวดเร็วภายหลังอดีตนายกในขณะนั้นชี้แจงว่าเป็นปัญหาคนส่วนน้อยที่ไม่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ4 การคลี่คลายสถานการณ์อย่างรวดเร็วแท้จริงเป็นการบรรเทาความขัดแย้งเพื่อต้อนรับการเฉลิมฉลองงาน Bangkok Pride Festival 2024 และงาน Love Pride Parade 2024 ในเดือนมิถุนายน โดยในปีนี้มีการจัดงาน Pride ในเมืองต่าง ๆ อย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ มีการสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่นหลายภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อหมุดหมายสำคัญคือการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ซึ่งเป็นงานมหกรรมการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศระดับโลก ด้วยเหตุนี้บทบาทรัฐบาลจึงอาจมีแนวโน้มเพิ่มการสนับสนุนกิจกรรมทางเพศและมุ่งควบคุมความขัดแย้งที่อาจจะสร้างแรงกระเพื่อมหรือความกังวลต่อการสร้างภาพลักษณ์การก้าวสู่การเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ซึ่งเป็นประเทศแรกของอาเซียน
ภายใต้ความภูมิอกภูมิใจของรัฐที่หันมาสนับสนุนความหลากหลายของกลุ่ม LGBTQ+ เพศวิถีในสังคมไทยระดับชีวิตประจำวันกลับมีพลวัตอันสลับซับซ้อน เช่น ข่าวบาร์โฮสต์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าสื่อเป็นระยะ กระแสการเที่ยวบาร์โฮสต์ได้รับความนิยม5 ในฐานะพื้นที่การหาความสุขของคนที่รู้สึกเปลี่ยวเหงาของคนทุกเพศ6 บาร์โฮสต์จึงเป็นสถานที่ที่ผู้ชายหรือผู้หญิงสามารถแสวงหาความสุขและความพอใจแบบไม่บังคับและไม่ต้องยึดติดความผูกพันธ์ทางสถานะ การเผชิญหน้าทางเพศแนวนี้เป็นวัฒนธรรมแบบ Hook up ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่อาจเป็นคนแปลกหน้าหรือคนที่เพิ่งรู้จักกันในช่วงเวลาสั้น ๆ ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นแบบแค่นัดเจอพบปะ หรือเป็นทั้งแบบที่มีความสัมพันธ์ทางเพศลึกซึ้ง (Paul et al., 2000) เพศแนวนี้มีความคลุมเครือในการนิยามความหมาย บางครั้งก็เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชน เพื่อน (FWB) หรือเกิดขึ้นนอกการสมรสหรือคนที่มีคู่ครองอยู่ (Garcia et al, 2012) และเมื่อพิจารณาร่วมกับข่าวการนัดเจอกันผ่าน‘แอพหาคู่’ ซึ่งอาจเป็นข่าวเชิงลบเสียมาก7 แต่ก็สะท้อนทิศทางเดียวกันว่าวัฒนธรรมเพศแบบ Hook Up กำลังเป็นที่นิยมในการจัดวางความสัมพันธ์ทางเพศแนวใหม่ แม้จะมีความคลุมเครือในปัญหาทางศีลธรรม แต่โดยมากก็เกิดจากความพอใจ การตกลงกันด้วยพันธะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บทสรุปมุมสะท้อนเพศวิถีไทย
สถานการณ์เรื่องเพศไทยในปี 2567 ปีเดียวสะท้อนทิศทางเพศวิถีที่หลากหลาย ความย้อนแย้งของเพศแบบ Hook Up ถ้าเป็นการกระทำจากผู้ชายมักไม่ถูกตั้งคำถามกระทั่งถูกนำมาเป็นเรื่องขบขันด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นข่าวจากผู้หญิงมักจะโดนวิจารณ์หรือโดน‘ทัวร์ลง’อย่างเสียมิได้ ส่วนกรณีความขัดแย้งกะเทยสองประเทศนั้น สะท้อนมิติความเป็นเพศในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพศวิถีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงมิติเรื่องเพศแต่ผสานสัมพันธ์มิติทางสังคมต่าง ๆ ทำนองเดียวกันด้านการผลักดันสมรสเท่าเทียม สังคมไทยกำลังเฉลิมฉลองและรอคอยการบังคับใช้การสมรสเท่าเทียม ตรงกันข้ามหลายคนกลับกำลังถอยห่างจากการสมรสและอยู่เป็นโสด
ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เพศวิถีในชีวิตประวันสลายตัวออกจากคู่ตรงข้ามและมีชีวิตทางสังคมในหลายเฉดสี มันกลับสวนทางอย่างแปลกแยกแตกต่างกับการดำเนินการภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการสร้างภาพลักษณ์เรื่องเพศระดับประเทศ ผู้เขียนได้แต่สงสัยว่าการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เรื่องเพศจะยังอยู่ในความสนใจภาครัฐหรือไม่?
รายการอ้างอิงข่าว
1. ฐานเศรษฐกิจ, สศช. แนะรัฐทำ Matching คนโสด พบคนไทย 40% ไร้คู่ หนุนเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ (27 พ.ค. 2567) <https://www.thansettakij.com/business/economy/597062> สืบค้นวันที่ 2 ธันวาคม 2567.
2. The 101. World, กะเทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด: ศึกกะเทยแห่งชาติ และการรบบนสมรภูมิของ ‘ผู้มีอิทธิพล’ ใน #สุขุมวิท 11 (14 มี.ค. 2567) <https://www.the101.world/sukhumvit-11/> สืบค้นวันที่ 2 ธันวาคม 2567.
3. The Standard, สรุปเหตุ ‘4 มีนาคม วันกะเทยผ่านศึก’ สมรภูมิรบไทย-ฟิลิปปินส์ที่ไม่ใช่แค่สางแค้น (5 มี.ค. 2567) <https://thestandard.co/the-conflict-in-soi-sukhumvit-11/> สืบค้นวันที่ 2 ธันวาคม 2567.
4. The Journalist Club, ไทยเดินหน้าจัด Bangkok World Pride ไม่สนศึกสาวสอง สุขุมวิท 11 (6 มี.ค. 2567) <https://thejournalistclub.com/lady-boy-news-fighting-bangkok-06032024/> สืบค้นวันที่ 2 ธันวาคม 2567.
5. ไทยรัฐออนไลน์, ฮอตเอาเรื่อง ซี ศิวัฒน์ เป็นหนุ่มบาร์โฮสต์ ถูกซื้อ 150 ดริ๊งก์ เอมี่ ยังสู้ไม่ได้ (คลิป) (6 ก.ค. 2567) <https://www.thairath.co.th/entertain/news/2798669> สืบค้นวันที่ 2 ธันวาคม 2567.
6. ผู้จัดการออนไลน์, “บาร์โฮสต์” แดนสวรรค์คนเหงา โอ้..ลัลล้า ซื้อดริ้งค์ เปย์ฉ่ำๆๆๆ (13 ก.ค. 2567) <https://mgronline.com/daily/detail/9670000059436> สืบค้นวันที่ 2 ธันวาคม 2567.
7. อมรินทร์, หนุ่มวัย18 หนีตาย หลังนัดสาวผ่านแอปหาคู่ ไม่ถึงชั่วโมงนัดเจอหน้ากันครั้งแรก (4 ก.ย. 2567) <https://www.amarintv.com/news/social/230754> สืบค้นวันที่ 2 ธันวาคม 2567.
บรรณานุกรม
Biblarz, Timothy and Savci, Evren. (2010). Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Families. Journal of Marriage and Family, 72, 480-497.
Garcia, Justin. et al. (2012). Sexual Hookup Culture: A Review. Review of General Psychology, 16(2), 161-176.
Kislev, Elyakim. (2020). Social Capital, Happiness, and the Unmarried: a Multilevel Analysis of 32 European Countries. Applied Research in Quality of Life, 15(5), 1475-1492.
Paul, Elizabeth. et al. (2000). “Hookups”: Characteristics and correlates of college students' spontaneous and anonymous sexual experiences. Journal of Sex Research, 37(1), 76–88.
เซฟทับลาน: เมื่อสังคมมองป่าไม่เหมือนกัน
ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข
ใน พ.ศ. 2567 ข่าวเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นข่าวเรื่องกระแสเซฟทับลาน ความน่าสนใจของกระแสเซฟทับลานคือการที่สังคมมีความคิดในเรื่อง “คนกับป่า” แตกต่างกันออกไป และเกิดการปะทะขัดแย้งกันซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
กระแสเซฟทับลานเกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานตามมาตรฐานของแผนที่ One Map บริเวณจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี โดยให้มีการเฉือนพื้นที่ 265,266 ไร่ของอุทยาน เพื่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทำการจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีที่ดินทำกินต่อไป จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ส่งผลให้สังคมส่วนหนึ่งเกิดความกังวลว่ารัฐกำลังละเลยความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้และหันไปมุ่งเน้นเพียงการนำทรัพยากรป่าไม้มาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การออกมาแสดงตนเพื่อเรียกร้องให้รัฐหยุดการเฉือนป่าทับลานจึงเกิดขึ้นอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะตามสื่อสังคมออนไลน์ (The Matter, 8 กรกฎาคม 2567) ทว่าในอีกไม่กี่วันต่อมา ก็เกิดกระแสสังคมอีกชุดหนึ่งขึ้นมาปะทะกับกระแสเดิมซึ่งต่อต้านการเฉือนป่าทับลาน โดยกระแสใหม่นี้มองว่า การต่อต้านการเฉือนป่าทับลานนั้น มองไม่เห็นข้อเท็จจริงที่ว่ามีชาวบ้านส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าทับลานมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่ารัฐต้องมีมาตรการเยียวยาและส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน นับจากนั้นมา กระแสเซฟทับลานจึงขยายตัวไปเป็นความขัดแย้งที่ยังไม่สามารถหาบทสรุปอย่างชัดเจนได้จนถึงปัจจุบัน (The active, 9 กรกฎาคม 2567)
ในข่าวกระแสเซฟทับลานนั้น มีกระแสความคิดของสังคมในเรื่องคนกับป่าซึ่งแตกต่างและปะทะขัดแย้งกัน โดยในที่นี้อาจจำแนกกว้าง ๆ ได้อย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่หนึ่ง คือ กรมป่าไม้ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และประชาชนทั่วไป ที่ให้ความสำคัญต่อการคงสภาพป่าให้เป็นป่า ไม่สมควรให้มนุษย์เข้าไปข้องเกี่ยว ทั้งนี้ พวกเขาไม่ไว้ใจอย่างยิ่งต่อกลุ่มนายทุน เพราะโครงการของรัฐซึ่งต้องข้องเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้นั้น มักเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนด้วย
กลุ่มที่สอง คือ รัฐบาล และประชาชนทั่วไป ที่ให้ความสำคัญต่อการคงสภาพป่าให้เป็นป่าเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องรู้จักการใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลด้วย ทั้งนี้ ในกลุ่มที่สอง อาจรวมถึงกลุ่มนายทุนซึ่งส่งเสริมการนำทรัพยากรป่าไม้มาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่านายทุนพยายามเจรจาต่อรองให้เปลี่ยนที่ดินของ สปก. ให้เป็นโฉนดทองคำให้แก่นายทุนหลังจากทำการเฉือนป่าทับลานสำเร็จด้วย (Thai PBS, 11 กรกฎาคม 2567) อย่างไรก็ตาม กลุ่มนายทุนอาจไม่ได้เชื่อเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้มากเท่ากับคนอื่น ๆ ในทั้งสองกลุ่ม เพียงแต่พวกเขาจำเป็นต้องสนับสนุนเพื่อแลกกับภาพลักษณ์และผลประโยชน์ที่จะได้
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ มิได้จัดให้อยู่ในกลุ่มใด เนื่องจากยังไม่พบการแสดงความคิดเห็นของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ก็อาจอนุมานได้ว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับป่าได้พร้อมไปกับการอนุรักษ์
หากจะมองในเชิงรายละเอียด ความแตกต่างและการปะทะขัดแย้งของกระแสความคิดเรื่องคนกับป่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการที่สังคมมีความแตกต่างกันในเรื่องของการรับรู้ที่มีต่อป่าในฐานะที่เป็นทรัพยากรอันมีค่า โดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กรมป่าไม้ และประชาชนบางส่วน รับรู้ว่าทรัพยากรป่าไม้มีความสำคัญต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ มนุษย์จึงไม่สมควรเข้าไปทำกิจกรรมรบกวนระบบนิเวศ การรับรู้เช่นนี้มักเริ่มต้นจากในระบบการศึกษาทั่วไปก่อน สำหรับรัฐบาลและกลุ่มนายทุน รับรู้ว่าป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีค่าในทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นกระแสความคิดที่เริ่มเกิดขึ้นในยุคพัฒนาช่วงทศวรรษ 2500 และยังคงเป็นกระแสความคิดหลักของรัฐบาลและกลุ่มนายทุนมาจนถึงทุกวันนี้ แม้กระทั่งการสงวนทรัพยากรป่าไม้ก็เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ รับรู้ว่าป่าไม้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นทรัพยากรซึ่งพวกเขาใช้ประโยชน์มาทั้งชีวิต การอนุรักษ์ป่าไม้จึงสามารถทำควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านได้1
และโดยที่แต่ละกลุ่มของสังคม มีการรับรู้ในเรื่องป่าแตกต่างกันไป ย่อมส่งผลต่อการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าด้วย กล่าวคือ
1. แนวคิดการอนุรักษ์ป่าไม้ของรัฐและกลุ่มนายทุนโดยมุ่งเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจนั้น เป็นการดึงชาวบ้านในพื้นที่ออกจากการใช้ชีวิตร่วมกับป่า เพราะป่ากลายเป็นพื้นที่สำหรับการใช้ประโยชน์ของรัฐและกลุ่มนายทุนไปแล้ว การออกกฎหมายสงวนทรัพยากรป่าไม้ฉบับต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้เอง ในกรณีของการเฉือนป่าทับลาน หากกระแสข่าวที่ว่ามีกลุ่มนายทุนอยู่เบื้องหลังการเฉือนป่านั้น มีมูลความจริง ก็็ต้องจับตาดูต่อไปว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับสิทธิที่ดินทำกินจริงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน โดยชาวบ้านเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อการเฉือนป่าได้อย่างชอบธรรมเหมือนเดิม
2. แนวคิดการอนุรักษ์ป่าไม้ขององค์กรพัฒนาเอกชน กรมป่าไม้ และประชาชนบางกลุ่ม ที่มองว่าป่าควรคงสภาพเป็นป่า ก็ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้เช่นเดียวกัน กรณีกระแสเซฟทับลานก็มีลักษณะเดียวกันคือสังคมส่วนหนึ่งให้ความสำคัญต่อการปกป้องป่า แต่อาจมิได้มองว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งกำลังประสบปัญหาในที่ดินทำกินหรือไม่ อันที่จริงชาวบ้านเหล่านี้ยังถูกมองว่าเป็นผู้เข้าไปทำลายทรัพยากรป่าไม้ด้วย
ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ความต้องการในการคงสภาพป่าให้เป็นป่านั้น ในบางครั้ง ก็เป็นการตอบสนองต่อความต้องการบางอย่างซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์จริง ๆ ก็ได้ ตัวอย่างเช่น เป็นการตอบสนองต่อความนิยมของกระแสท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ถือเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มนายทุนเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเพื่อประกอบธุรกิจบ้านพักตากอากาศซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็กลายเป็นการรุกพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมายอันปรากฎให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ใน พ.ศ. 2567 นี้ กรณีการรุกป่าเพื่อเข้าไปตั้งบ้านพักตากอากาศและร้านกาแฟบนเกาะสมุยซึ่งดูเหมือนจะมีมากขึ้นในปัจจุบัน (สำนักข่าวอิศรา, 9 กุมภาพันธ์ 2567; เดลินิวส์, 5 มิถุนายน 2567) ก็เป็นข่าวสำคัญเรื่องหนึ่งที่สังคมควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ
บททิ้งท้าย
กระแสเซฟทับลานคือเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะขัดแย้งของสังคมในเรื่องความเหมาะสมของการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า การปะทะขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปตราบเท่าที่สังคมยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าควรจัดวางความสัมพันธ์ดังกล่าวแบบใดจึงจะก่อให้เกิดความเหมาะสมยั่งยืนมากที่สุด ดังนั้นแล้ว สังคมไทยต้องกลับมาเริ่มคิดพิจารณากันอย่างจริงจังถึงเรื่องของนิเวศวิทยาสังคม กล่าวคือ สังคมจะมีการรับรู้และนิยามความสำคัญของป่าอย่างไร การรับรู้และการนิยามของแต่ละกลุ่มจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และป่าดำเนินไปในทิศทางใดบ้าง และสุดท้าย สังคมควรจะมีการรับรู้และปฏิบัติอย่างไรเพื่อทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนแท้จริง
บรรณานุกรม
สำนักข่าวอิศรา. “ป.ป.ช. สุราษฎร์ฯ สั่งรื้อบ้านพักตากอากาศบนเกาะสมุย หลังพบสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต.” สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567 จาก https://isranews.org/article/isranews-short-news/126179-isranews-1000-773.html (9 กุมภาพันธ์ 2567).
เดลินิวส์. “วิลล่า “เขาแหว่ง” สมุย.” สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.dailynews.co.th/articles/3499329/ (5 มิถุนายน 2567).
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. นิเวศประวัติศาสตร์: พรมแดนความรู้. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545.
Thai PBS. “ถอย 2 เสียงไม่ร่วมรัฐบาล “ดำรงค์” ค้านเอื้อโฉนดทองคำทับลาย.” สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567. จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/341919 (11 กรกฎาคม 2567).
The active. “ป่าทับลานหรือป่าทับคน? ต้อง save คน หรือ save ป่า?.” สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567 จาก. https://theactive.net/data/tublan-social-listening/ (9 กรกฎาคม 2567).
The Matter. “#เซฟทับลาน คืออะไร? สรุปการเฉือนพื้นที่อุทยานฯทับลาน 2.6 แสนไร่ที่อาจกลายเป็นของนายทุน.” สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567 จาก https://thematter.co/brief/recap/what-happening-thap-lan-national-park/228580 (8 กรกฎาคม 2567).
อภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย: สิ่งซึ่งฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข
อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายเป็นสิ่งซึ่งพบเห็นได้บ่อยครั้งในสังคมไทย อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายคืออภิสิทธิ์ของผู้มีอำนาจซึ่งจะกระทำการใด ๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขัดแย้งกับกฎหมาย สำหรับ พ.ศ. 2567 นี้ ข่าวอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายซึ่งได้รับความสนใจจากสังคมก็คือกรณีของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ถึงแม้ทักษิณ ชินวัตร ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศเป็นเวลามากกว่าสิบปีเนื่องจากต้องโทษทางการเมืองหลายคดี แต่เขาก็ยังคงมีอำนาจรวมศูนย์และบทบาทสำคัญในการจัดตั้งคณะรัฐบาลปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อคณะรัฐบาลจัดตั้งแล้ว ทักษิณจึงสามารถกลับสู่ประเทศไทยได้สำเร็จ ความผิดต่าง ๆ ที่ทักษิณจะต้องได้รับ ลดเหลือเพียงการอยู่ในเรือนจำ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ทักษิณก็ไม่สามารถอยู่ในเรือนจำได้โดยให้เหตุผลว่ามีอาการป่วย ทักษิณจึงได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องผู้ป่วยระดับวีไอพี กระทั่งเมื่อครบกำหนดที่ต้องอยู่ในเรือนจำแล้ว 6 เดือน ทักษิณจึงยื่นขอพักโทษกรณีพิเศษและขอตัวออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่บ้านของตน (BBC News Thai, 16 กุมภาพันธ์ 2567) นับจากนั้นมา อาการป่วยของทักษิณจึงดีขึ้น และแสดงให้สังคมเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าตนอยู่เบื้องหลังการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล ถึงแม้ตนยังถูกคาดโทษอยู่ก็ตาม ปัจจุบัน มีแรงกดดันจากสังคมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทักษิณป่วยจริงหรือไม่ (กรุงเทพธุรกิจ, 13 พฤศจิกายน 2567)
กรณีของทักษิณคือตัวอย่างสำคัญของการมีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีลักษณะของสังคมชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมกัน อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายเป็นสิทธิพิเศษจำกัดเฉพาะชนชั้นนำเท่านั้น ขณะที่ประชาชนทั่วไปย่อมไม่ถูกนับรวมให้มีอภิสิทธิ์นี้ เนื่องจากเงินและบารมีส่วนตัวไม่มากพอ2 เห็นได้จากกรณีที่ยังมีผู้ต้องหาทางการเมืองเป็นจำนวนมากอยู่ในเรือนจำ บางคนก็เสียชีวิตภายในเรือนจำแล้วเช่นกรณีของเนติพร เสน่ห์สังคม ซึ่งเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง (BBC News ไทย, 14 พฤษภาคม 2567) ทั้งนี้ บางคนก็เคยต้องโทษอยู่ในเรือนจำเพราะเคยช่วยเหลือทักษิณในระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองมาก่อน เช่นกรณีของ จตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและหันกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ
ทั้งนี้ จะยังเห็นได้อีกว่า อภิสิทธ์เหนือกฎหมายของชนชั้นนำยังเกี่ยวพันกับสิทธิที่จะสืบทอดอำนาจการปกครองให้แก่บุคคลใกล้ชิดเพื่อเป็นการรับประกันว่าอำนาจและอภิสิทธิ์ต่าง ๆ จะยังคงอยู่ในกลุ่มของตนเอง ในกรณีของทักษิณเป็นการสืบทอดอำนาจการปกครองให้แก่บุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน3 การสืบทอดตำแหน่งสำคัญทางการเมืองของตระกูลชินวัตร อาจไม่จำเป็นต้องพิจารณาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากนัก หากแต่เป็นบุคคลในตระกูลเดียวกันก็ถือว่าใช้ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พ.ศ.2554-2557) ก็มาจากการเป็นน้องสาวของทักษิณ หรือกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตร (พ.ศ.2567-ปัจจุบัน) ก็มาจากการเป็นบุตรสาวของทักษิณ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจพิจารณาจากคำกล่าวของทักษิณในที่ประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อไทยก่อนที่แพทองธารจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า
“ผมมั่นใจว่าอุ๊งอิ๊งสามารถที่จะนำทีมพลิกเกมได้ไม่ยาก คือเป็นดีเอ็นเอระหว่างผมกับคุณหญิงผสมกันเป็นอุ๊งอิ๊ง เพราะฉะนั้นเขาเอาส่วนความเข้มแข็งอดทนเด็ดขาดมาจากคุณหญิง แต่เขาเอาส่วนที่เป็นคน out going คือพบปะผู้คนทำการเมืองเข้าใจการเมืองเนี่ยแบบผม แล้วเขาก็เรียนรู้จากแม่จากพ่อมาเพราะว่าเขาเป็นลูกคนเล็กมาทั้งสองทาง ผมเชื่อว่าเขาเป็นผู้นำที่ดีได้ ไม่ใช่มาเชียร์ลูกนะ ในเมื่อผมทำได้ ดีเอ็นเอผมก็ต้องทำได้ แล้วเขามีดีเอ็นเอแม่เขาด้วย เขาต้องทำได้ดีกว่าผมด้วย”
(Workpoint Today, 5 เมษายน 2567)
อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายของชนชั้นนำซึ่งปรากฎให้เห็นบ่อยครั้งจนเสมือนเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้วนั้น เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงปฏิกิริยาของสังคมก็พบว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่เช่นกัน ในกรณีของทักษิณนั้น นอกจากการรวมกลุ่มเพื่อกดดันและเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินคดีกับทักษิณแล้ว ยังพบว่าการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องตามสื่อต่าง ๆ ก็เป็นกิจกรรมที่คึกคัก ทั้งนี้ การ์ตูนล้อเลียน ตลอดจนการตัดต่อภาพและคำพูดของทักษิณและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อมาทำเป็นภาพมีมล้อเลียน (MEME) ตามสังคมออนไลน์ ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีต่อเรื่องปัญหาอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายของทักษิณ โดยใช้สื่อประเภทการ์ตูนล้อเลียนและภาพมีมต่าง ๆ ในสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นว่าสังคมมิได้เพิกเฉยต่อวัฒนธรรมอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายไปโดยสิ้นเชิง การทำให้เรื่องที่มีความอ่อนไหวในสังคมกลายมาเป็นเรื่องขำขัน มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำให้ผู้รับสารโดยทั่วไปเข้าใจง่าย แพร่หลายได้เร็ว และลดความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในสังคมที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมาได้มากนัก (จันทรวรรณ ตระกูลผิว, พ.ศ.2563, หน้า 49-50)
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของประชาชนเหล่านี้ก็อาจยังมิได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อวัฒนธรรมอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายมากนัก จะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวส่วนมากยังจำกัดอยู่ในระดับของการเสียดสีหรือจิกกัดเล็กน้อยซึ่งมักพบเห็นตามสื่อสังคมออนไลน์ ทักษิณยังคงเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายยังคงใช้ได้อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ และคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อพิสูจน์ว่าความเคลื่อนไหวของประชาชนจะสร้างผลกระทบได้มากน้อยเพียงใด
บททิ้งท้าย
“คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” เป็นวลีอมตะซึ่งยังคงใช้ได้เสมอในสังคมไทยปัจจุบัน การที่อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายยังคงเป็นสิ่งซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคม แสดงให้เห็นถึงการที่สังคมยังมุ่งให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ แก่ชนชั้นนำที่มีอำนาจบารมีมากกว่าผู้อื่น สังคมถือว่าชนชั้นนำเป็นเจ้าของอำนาจและทรัพยากรทั้งหลาย จึงย่อมมีสิทธิพิเศษซึ่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถมีได้
คำถามสำคัญประการต่อมาคือ แล้วประชาชนจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อสลายสภาพการณ์ของสังคมเช่นนี้ ?เรารับรู้จากข่าวประจำวันว่าสังคมเต็มไปด้วยความอยุติธรรม เรารับรู้ว่าความ อยุติธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะสังคมยังให้คุณค่าต่อชนชั้นผู้มีอำนาจบารมีมากที่สุด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเรารับรู้ว่าต้นตอของปัญหาแห่งความอยุติธรรมนั้นคืออะไร แต่สุดท้ายแล้ว เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปฏิบัติตามสำนวนที่ว่า “ช้างในห้อง” เหมือนที่ผ่านมา คือรับรู้ว่าสิ่งนี้มีอยู่ แต่ก็ปล่อยให้ดำเนินต่อไปเสมือนไม่รับรู้ เพราะตัวเราเองก็มีอำนาจน้อยเกินไปที่จะต่อต้านสิ่งเหล่านี้เช่นกัน
บรรณานุกรม
กรุงเทพธุรกิจ. “อนุฯ ชง ป.ป.ช.ชุดใหญ่ถกคดี “ทักษิณ” ชั้น 14 พ.ย.นี้ลุ้นสอบ-ตีตก ก.พ.68.”. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/politics/1153326 (13 พฤศจิกายน 2567).
จันทรวรรณ ตระกูลผิว. “การล้อเลียนในเพจเฟซบุ๊กประเภทเสียดสีการเมือง.” ใน วารสารการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 3:1 (มกราคม-เมษายน 2563).
BBC News Thai. “จาก 8 ปี สู่ 180 วัน เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง 6 เดือนที่ทักษิณถูกคุมขัง.” สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.bbc.com/thai/articles/c3g49y09jllo (16 กุมภาพันธ์ 2567).
BBC News ไทย. “บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตแล้ว หลังอดอาหารประท้วง-ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นวันที่ 110.” สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.bbc.com/thai/articles/c51nnjm2k00o (14 พฤษภาคม 2567).
David Streckfuss. Trust on trial in Thailand. New York: Routledge, 2011.
Workpoint Today. “DNA “เพื่อไทย” ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ “ทักษิณ” มั่นใจ “เศรษฐา” นำพาประเทศได้ดัน “อุ๊งอิ๊ง” พลิกเกม.” สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2567 https://workpointtoday.com/politics-pheuthaiparty-2/ (5 เมษายน 2567).
รัฐกับการแจกเงิน: ฤาจะสิ้นมนต์ขลัง?
ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข
การแจกเงิน เป็นนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลไทย วัตถุประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ การแจกเงินยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคะแนนความนิยมของรัฐบาลด้วย โดยใน พ.ศ. 2567 นี้ นโยบายแจกเงินซึ่งสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็คือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย
ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่รัฐบาลจะแจกเงินเป็นจำนวน 10,000 บาทให้แก่ประชาชน พรรคเพื่อไทยชูนโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายดังกล่าวถูกวาดฝันไว้สูงมาก เพราะเป็นนโยบายที่จะแจกเงินหมื่นให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นช่วงวัยทำงานตามกฎหมาย และจะจัดทำผ่านระบบเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลสมัยใหม่อย่างบล็อกเชน (Blockchain) อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและเริ่มวางแผนนโยบายนั้น ก็เกิดข้อกังวลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมว่าไม่สามารถทำได้ เพราะจะเกิดปัญหาเรื่องวินัยการคลัง การเพิ่มภาระหนี้สินของประเทศ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในระบบจัดเก็บข้อมูล (กรุงเทพธุรกิจ, 23 เมษายน 2567) และไม่ได้ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืนจริง ๆ (ฐานเศรษฐกิจ, 16 สิงหาคม 2567) โดยข้อกังวลเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลประสบพบเจอในทันที ส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับแก้เงื่อนไขการแจกเงินอยู่หลายรอบ จนกระทั่งถูกเข็นออกมาใช้ในสภาพที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่ตรงปก” หรือไม่เหมือนที่หาเสียงไว้ เพราะสุดท้ายแล้ว รัฐบาลก็แจกเงินให้ประชาชนเฉพาะบางกลุ่มเป็นรอบ ๆ ไป และก็เป็นการแจกเงินผ่านบัญชีธนาคารตามปกติ
จากกรณีของดิจิทัลวอลเล็ต สะท้อนให้เห็นถึง 2 ประเด็น ได้แก่
1. การเมืองไทยอยู่ในสภาวะที่อำนาจการปกครองของรัฐเกิดความอ่อนแอ รัฐบาลจึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการ “ให้” เพื่อสร้างคะแนนความนิยมให้แก่ตนเอง หากกล่าวในรายละเอียดแล้ว สภาพของการเมืองไทยในปัจจุบัน ถูกปกครองโดยรัฐบาลผสมซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการต่อรองและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างพรรคต่าง ๆ ดังนั้น ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้นำรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยจะมีข้อจำกัดในการจัดทำนโยบายต่าง ๆ ทั้งยังมีผลกระทบต่อการขยายฐานคะแนนความนิยมอีกด้วย การแจกเงินจึงถือเป็นนโยบายซึ่งพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าทำได้ง่ายที่สุดและต้องลงมือทำก่อนทันที4
2. การออกมาคัดค้านนโยบายการแจกเงินครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมรับรู้ว่าการเมืองแบบให้ทาน ไม่สามารถทำให้ประชาชนทั้งหมดต้องรับมาด้วยความอิ่มเอมใจและสำนึกในพระคุณของรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมาแล้ว กลับกัน พวกเขากลับรับรู้ถึงปัญหาของการเมืองแบบให้ทานนี้มากขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบัน งานวิจัยสาขามานุษยวิทยาการเมืองแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งชาวบ้านในชนบทซึ่งรัฐไทยมักสร้างวาทกรรมว่าเป็นกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้นั้น ที่จริงแล้ว ก็ไม่ได้มีชีวิตเพียงเพื่อรอการช่วยเหลือหรือการแจกเงินของรัฐบาล เนื่องจากชาวบ้านเหล่านั้นก็มีความคิดและอุดมการณ์เป็นของตนเอง ในหลายครั้ง พวกเขายังแสดงออกถึงการเรียนรู้ในประสบการณ์ทางการเมือง สามารถรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับผู้มีอำนาจรัฐได้ (ประจักษ์ ก้องกีรติ, 2558, หน้า 85-93)
อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่านโยบายแจกเงินจะไม่ทำให้รัฐบาลประสบความสำเร็จโดยสิ้นเชิง ในหลายครั้งก็มีข่าวที่ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่อยู่ห่างไกลจากธนาคารในตัวเมือง ยอมเดินทางมาต่อแถวรับเงิน บางคนมีความดีใจเป็นอย่างมากเนื่องจากพวกเขาแทบไม่เคยได้สัมผัสกับเงินหมื่น (ไทยรัฐออนไลน์, 25 กันยายน 2567) บางคนมีความกังวลว่าจะผิดหวังที่ไม่ได้รับเงิน เพราะเงินหมื่นนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระความเป็นอยู่ของตนและครอบครัวได้มากจริง ๆ (ไทยรัฐออนไลน์, 16 กันยายน 2567) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีประชาชนบางส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นเช่นเดียวกันว่า รัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการแจกเงิน ไม่สามารถหานโยบายอื่น ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินของประชาชนได้ การที่สื่อมวลชนให้ข่าวว่ามีประชาชนบางคนรับเงินเพื่อไปซื้อสุราเป็นหลัก (PPTV Online, 27 กันยายน 2567; Khaosod Online, 15 ตุลาคม 2567) ยิ่งกระตุ้นให้เห็นถึงสภาพของปัญหานี้
บททิ้งท้าย
ถึงแม้จะมีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากเพียงใดก็ตาม แต่นโยบายแจกเงินของรัฐก็คือสิ่งที่ยังคงปรากฎอยู่ในสังคมไทย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการฟื้นฟูอำนาจการปกครองที่เริ่มเสื่อมลงของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองแบบให้ทาน ก็เริ่มถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมมากขึ้นจนดูเหมือนว่าการเมืองแบบให้ทานอาจไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการประเทศที่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม นโยบายแจกเงินของรัฐก็จะคงดำเนินอยู่ต่อไปตราบที่รัฐบาลยังไม่สามารถหานโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
แล้วสังคมจะทำอย่างไรต่อไป ? กล่าวคือถึงแม้จะเห็นด้วยว่าการเมืองแบบให้ทานมีปัญหาอยู่มาก แต่เราควรปล่อยให้การเมืองแบบให้ทานดำรงอยู่ต่อไป เพราะเรายังไม่สามารถหาวิธีที่เหมาะสมในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย แม้แต่เราเองก็ควรยินดีบ้าง เพราะเราก็ได้ประโยชน์จากการแจกเงินนั้นเหมือนกัน ? หรือหากเราเห็นด้วยว่าสังคมควรก้าวข้ามให้พ้นการเมืองแบบให้ทาน เราควรมีการเคลื่อนไหวอย่างไร ตลอดจนการร่วมกันอย่างไรเพื่อคิดหานโยบายส่งเสริมทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง ?
บรรณานุกรม
กรุงเทพธุรกิจ. “เสียงค้าน ธปท. ไม่เป็นผล “เปิด 4 ข้อกังวล” ครม.ไม่ควรอนุมัติ “เงินดิจิทัล”.” สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1123537 (23 เมษายน 2567).
ฐานเศรษฐกิจ. “นักวิชาการแนะรัฐบาลอุ๊งอิ๊งทบทวนเงินดิจิทัล-ลดประชานิยม-กู้เศรษฐกิจ.” สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567 จาก https://www.thansettakij.com/business/economy/604413 (16 สิงหาคม 2567).
ไทยรัฐออนไลน์. “ธนาคารแทบแตก ชาวบ้านแห่เปิดบัญชี-ผูกพร้อมเพย์ รอรับเงิน 10,000 “ดิจิทัลวอลเล็ต.” สืบค้น เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.thairath.co.th/news/society/2814739 (16 กันยายน 2567).
ไทยรัฐออนไลน์. “กลุ่มเปราะบางคึกคัก แห่รอคิวถอนเงิน 10,000 บาท หลังได้รับโอนเข้าบัญชีวันแรก.” สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2816309 (25 กันยายน 2567).
เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน. “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก.” ใน ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา.นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. “มายาคติและการเมืองของนิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท.” ในประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรงและความยุติธรรม. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558.
Khaosod Online. “หนุ่มโรงงานน้ำปลาได้เงินหมื่นมา ถอนซื้อเหล้ากินทุกวันจนเสียชีวิต.” สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_9460688 (15 ตุลาคม 2567).
PPTV Online. “หนุ่มฉลอง รัฐจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เมาตกน้ำ ดวงไม่ถึงฆาต รอดตายหวุดหวิด” สืบค้น เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84% E0%B8%A1/233480 (27 กันยายน 2567).
1 ความแตกต่างในเรื่องการรับรู้ที่มีต่อป่า สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. นิเวศประวัติศาสตร์: พรมแดนความรู้. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545.
2 การให้คุณค่าต่อผู้มีอำนาจบารมี ยังสามารถอธิบายได้ว่ามีต้นตอมาจากอิทธิพลความคิดของศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือกันอีกด้วย เนื่องจากแนวคิดพื้นฐานประการหนึ่งของศาสนาพุทธคือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ย่อมเกิดมาไม่เท่ากันอยู่แล้วตามระดับของการสั่งสมผลบุญ มีงานที่ศึกษาถึงประเด็นนี้หลายเล่ม ตัวอย่างเช่น David Streckfuss. Trust on trial in Thailand. New York: Routledge, 2011.
3 บางครั้งก็อาจเรียกการสืบทอดในลักษณะนี้ว่าเป็น “รัฐราชสมบัติ” (Patrimonial State) กล่าวคือ ในสมัยโบราณ สังคมมีความเชื่อว่าอำนาจและทรัพย์สินบนผืนแผ่นดินนี้ย่อมเป็นของกษัตริย์ และมีสิทธิ์สืบทอดต่อ ๆ กันมาภายในราชวงศ์ได้ ทั้งนี้ ในสังคมไทยสมัยใหม่ สิ่งนี้ก็ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่
4 ควรกล่าวด้วยว่า สังคมที่ให้คุณค่ากับชนชั้น มีผลให้ชนชั้นปกครองมีทัศนคติว่าการแจกเงิน เป็นการเพิ่มพูนความชอบธรรมของอำนาจได้เช่นกัน สังคมที่ให้คุณค่ากับชนชั้นนั้น ถือว่าอำนาจการปกครองและทรัพยากรทั้งหลายในดินแดนนี้เป็นของชนชั้นปกครอง ไม่ใช่ของประชาชนทั่วไป ดังนั้น เพื่อไม่ให้ถูกต่อต้านมากจนเกินไป ชนชั้นปกครองจึงต้องสร้างภาพลักษณ์ความชอบธรรมให้แก่ตนเอง รวมไปถึงการแสดงให้เห็นว่าตนเป็นผู้ให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมอุปถัมภ์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ไม่มีอำนาจและทรัพยากรเป็นของตนเองด้วย ดังที่ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ตั้งข้อสังเกตว่า ในสังคมไทยซึ่งมีการปกครองแบบคณาธิปไตยนั้น ชนชั้นปกครองรู้จักการสร้างความชอบธรรมโดย “การให้” กล่าวคือ ชนชั้นปกครองจะนิยมนำทรัพยากรต่าง ๆ ที่ถือครอง มาแจกให้แก่ประชาชนเพื่อแลกกับความภักดี นอกจากนั้น ชนชั้นปกครองยังได้พยายามส่งต่อความเชื่อว่า เป็นเพราะประชาชนส่วนมากมีความด้อยพัฒนา การแจกของจึงเสมือนการช่วยเหลือแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยังคงมีความสำคัญจำเป็นต่อไป อ้างอิงจาก เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน. “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก.” ใน ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558, หน้า 241.
ผู้เขียน
ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ผู้จัดการ
ปิยนันท์ จินา นักวิจัย
วิมล โคตรทุมมี นักวิจัย
ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข นักวิจัย